วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

ทางแห่งพุทธะ















โศลกที่สามสิบ "ทางแห่งพุทธะ"

หยุดแสวงหาทางได้แล้ว
เส้นทางมีให้แล้ว
วิธีการก็ชัดเจนแล้ว
เหลือแต่ผู้ปฏิบัติ
ไม่ต้องอ้างสิ่งใดอีก
เพียงมีลมหายใจ
เพียงตั้งใจปฏิบัติ
เพียงเข้าไปกำหนด
เพียงหยั่งพิจารณาสู่
ลมหายใจและความรู้สึก
สภาพจิตและลำดับธรรม
ความว่างในตนย่อมปรากฏ
นี่เป็นทางแห่งพุทธะ





ผู้คนบนโลกนี้มีอุปนิสัยชอบสนใจสิ่งข้างนอกตนเป็นต้นทุน สิ่งใดที่มีอยู่แล้วในมือของตนมักไม่ได้รับความสนใจ สิ่งใดที่มีอยู่ในมือของผู้อื่นนั่นแหละคือสิ่งที่เขามองเห็นและใส่ใจ ด้วยเหตุนี้ คุณค่าและโทษในตนเองมักเป็นเรื่องที่เห็นได้ยาก แต่กลับมองเห็นคุณค่าและโทษของผู้อื่นเสมอ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสายตาอันประกอบด้วยตัณหานั้นส่งออกไปข้างนอกเสมอ


นั่นเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงอัตตาให้เจริญเติบโต ยิ่งเห็นก็ยิ่งอยากได้ เห็นแล้วยิ่งอยากมี เห็นแล้วก็ยิ่งอยากเป็น อยากครอบครอง หรือเห็นแล้วไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น อยากขจัดให้พ้น อยากหลีกให้ไกล ความอยากล้วนแล้วแต่เป็นอาหารประเภทต่างๆ ของอัตตาทั้งนั้น อัตตากินอาหารรสชาติอย่างนี้ไม่เมนูใดก็เมนูหนึ่งเสมอ

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี” ยากยิ่งที่จะถมตัณหาด้วยตัณหา เพราะยิ่งถมเข้าไปตัณหายิ่งทวีคูณ ยิ่งสนองตัณหา ก็ยิ่งจมหายไป ดุจดังมหาสมุทรที่ไม่อิ่มด้วยน้ำฉะนั้น อย่าได้เข้าใจว่า จะสนองตัณหาให้มันเบื่อไปข้างหนึ่ง นั่นเป็นเพียงเล่ห์กลของมันเท่านั้นเอง ความเบื่อหน่ายไม่ได้เกิดจากการสนองตัณหา หรือการเติมสารอาหารให้อัตตา มีหรือที่เราจะเบื่ออาหารที่กินอยู่ทุกวัน เป็นไปไม่ได้ที่จะกินให้อิ่มเต็มที่เสียวันนี้เพื่อว่าวันพรุ่งนี้จะได้ไม่ต้องทาน



มีหรือเราจะเสพสนองกามราคะให้อิ่มเสียวันนี้ เผื่อว่าวันพรุ่งนี้จะได้เบื่อไม่ต้องเสพอีก นั่นเป็นเพียงอุบายเล่ห์กลของอัตตาเท่านั้น ก็อัตตานั้นยิ่งเสพยิ่งเติบโต ยิ่งเสพยิ่งติด ยิ่งเสพยิ่งมีพลัง มีหรือยิ่งเสพแล้วจะยิ่งเบื่อหน่าย ท่านลองให้อำนาจแก่คนดูสิ ให้ความสุขแก่คนดูสิ ให้ความสะดวกแก่คนดูสิ ท่านจะรู้ว่าอัตตานั้นจะเติบโตมีพลังอย่างไร

ในการปฏิบัติต่ออัตตานั้นก็คือการไม่ยอมให้อาหารแก่มัน ก็เท่านั้นเอง ไม่ให้ด้วยวิธีการอย่างไร ก็ด้วยการสลายคำว่า “อยาก” ออกไปเสียก่อน เพราะตัวอยาก (ตัณหา) เป็นท่อน้ำเลี้ยงของอัตตา อัตตาอาศัยท่อน้ำเลี้ยงนี้หล่อเลี้ยงตัวของมันให้อ้วน ให้มีกำลัง ประการแรก ลดทอนพลังของมันก่อนด้วยการปรับจากความอยากให้เป็นเพียงความพอใจ (ฉันทะ) ประการต่อไป แล้วค่อยถอนฉันทะนั้นอีกทีหนึ่ง

โศลกว่า “เส้นทางมีให้แล้ว วิธีการก็ชัดเจนแล้ว” มีเรื่องแปลกอยู่เรื่องหนึ่งเล่ากันว่า มีชายผู้หนึ่งซัดเซพเนจรเดินทางไปทั่วแคว้นเพื่อต้องการน้ำดื่ม เขาหิวกระหายอย่างยิ่งแทบจะทรงตัวอยู่ไม่ได้ จนกระทั่งเขาได้ยืนอยู่ที่ริมแม่น้ำใหญ่ แต่แทนที่เขาจะตักน้ำในแม่น้ำนั้นทานแก้กระหาย กลับหันหลังให้แล้วขุดหาน้ำอีก ผู้คนเกือบหมดโลกก็เป็นเช่นชายผู้นี้ ได้รับความทุกข์อันเกิดจากการบีบคั้นของตัณหา



เขาแสวงหาทางดับทุกข์คือตัณหานั้นไปทั่วทุกหนแห่ง จนกระทั่งมาพบพระพุทธศาสนาซึ่งเปรียบเสมือนแม่น้ำสายใหญ่ มาพบทางพ้นจากตัณหานั้นแล้ว แต่แทนที่จะปฏิบัติตามทางในพระพุทธศาสนา กลับหันหลังให้แล้วไปขุดหาน้ำใหม่ แสวงหาทางใหม่อยู่อีก บอกไปผู้ใดเชื่อว่าเราท่านเป็นเช่นนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทางไว้อย่างชัดเจนแล้ว ทรงชี้ทางไว้อย่างดีแล้ว ทั้งเชิญชวน ทั้งตอกย้ำ ทั้งชี้แนะ ทั้งบัญญัติ ทำทุกวิถีทางที่จะให้ผู้คนทั้งหลายมาปฏิบัติตามทางสายเอก ทางสายแห่งการหลุดพ้น ไม่น่าเชื่อว่า ผู้คนพอเอาเข้าจริงกลับกลัวที่จะพ้นจากตัณหานั้น กลัวจะพ้นจากความหิวกระหายที่บีบคั้นนั้น กลัวว่า ตนเองจะอยู่ได้อย่างไรถ้าหากพ้นจากความอยาก กลัวว่าโลกจะอยู่ได้อย่างไรถ้าทุกคนปล่อยวางเสีย เศรษฐกิจการเมือง สังคม วัฒนธรรม การศึกษาทั้งหลาย อาชีพทั้งหลายจะอยู่ได้อย่างไร



ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงหันหลังให้กับแม่น้ำคงคา เพียงเพราะมีผู้บอกว่า เป็นไปไม่ได้ว่าแม่น้ำจะทานได้ เพราะแม่น้ำใหญ่เกินไป เพียงเพราะมีผู้บอกว่า เส้นทางนี้ตรงเกินไปไม่น่าจะใช่ เส้นทางนี้จะทำให้พวกเราจมน้ำหายไป อย่าเลยจงแสวงหาเส้นทางใหม่เถอะ หรือถึงแม้จะเชื่อว่าน้ำในแม่น้ำนี้ทานได้ ดับกระหายได้จริง แต่ผู้คนก็ประวิงเวลาว่า ทานเมื่อไหร่ก็ได้ ทนหิวไปก่อน ให้อยู่กับลูกกับเมียก่อน อยู่กับสมบัติพัสถานก่อน อยู่กับตำแหน่งที่เพิ่งได้มาใหม่ๆ ก่อน อยู่กับโลกนี้ไปก่อน

นอกจากนั้นยังมีคนประกาศบอกว่า ใครที่อยากจะหลุดพ้นก็เดินตามทางของพระพุทธเจ้าเถิด แต่ถ้าใครอยากรวยให้มาทางนี้ ท่านคิดว่าคนในโลกนี้จะเลือกเดินตามเส้นทางใด ไม่แปลกเลยกับคำประกาศของเจ้าลัทธิผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยพุทธกาล คือ ครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร ที่ประกาศบอกว่า ใครที่ฉลาดก็ไปหาพระพุทธเจ้าเถิด ส่วนใครที่โง่ก็มาหาเรา ไม่น่าเชื่อว่า ผู้คนจำนวนมากที่ยอมตนเป็นคนโง่ ไม่กล้าที่จะประกาศตนเป็นคนฉลาด


ดังนั้น คนในสำนักของท่านจึงมีมาก ไม่แปลกเลยว่าคนเข้าสำนักบอกใบ้ให้หวยจึงมาก ไปหาหมอดูทำนายจึงมาก ไปตลาดหลักทรัพย์จึงมาก ไปห้างสรรพสินค้าจึงมาก หากไม่เชื่อท่านลองประกาศไปตอนนี้ว่า “เส้นทางนี้มีให้แล้ว วิธีการก็ชัดเจนแล้ว มาปฏิบัติกันเถิด ปฏิบัติตามเส้นทางของพระพุทธเจ้าเถิด” ท่านจะพบกับความประหลาดใจ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนบอกว่า “ไม่ละ พวกเราขอปฏิบัติตามครู อาจารย์ พ่อ แม่ เพื่อน นักร้อง ดารา นักคิด นักเขียน Idol ของเราดีกว่า” นี่แหละคือผู้คนบนโลกนี้หละ

โศลกว่า“เพียงมีลมหายใจ เพียงตั้งใจปฏิบัติ” ความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติและไม่ปฏิบัติมีขีดเส้นคั่นนิดเดียวเท่านั้น คนที่มีชีวิตกับคนเข้าถึงชีวิตนั้นต่างกันนิดเดียว แต่ความต่างกันของขีดเส้นคั่นทั้งสองด้านนั้น แม้ว่าจะเพียงนิดเดียว แต่กลับเดินกันไปคนละด้าน ไม่ได้เดินเข้าหากัน ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะบรรจบกันได้ เหมือนกับคำว่า “ทหารมืออาชีพ กับอาชีพทหาร” “ผู้บริหารมืออาชีพ อาชีพบริหาร” “หายใจได้ กับหายใจเป็น” มีความใกล้เคียงกันมากในขีดเส้นคั่น แต่กลับห่างไกลกันในความเป็นจริง

การทำอะไรอย่างเชี่ยวชาญ อย่างมีวิจารณญาณ อย่างมีประสบการณ์ มีทักษะ มีภูมิธรรม ภูมิความรู้ จึงได้รับเรียกว่า “ทำอย่างมืออาชีพ (Professional) แต่ถ้าตรงกันข้าม เพียงแต่ทำตามอย่างที่เขาทำ ทำไปอย่างนั้น ทำไปเพราะอาชีพต้องทำ ทำไปเพราะเสียไม่ได้ เรียกว่า “มีอาชีพทำ Career”
ไม่เพียงแต่การทำงานโดยทั่วไปเท่านั้น แม้แต่การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน นั่งเช่นไรเป็นการนั่งปฏิบัติธรรม นั่งเช่นไรเป็นเพียงคนนั่ง ยืนเช่นไรเป็นการยืนปฏิบัติธรรม ยืนเช่นไรเป็นเพียงแค่คนยืน หายใจเช่นไรเป็นการหายใจปฏิบัติธรรม กับหายใจแค่เพียงคนหายใจมีชีวิตอยู่ หลับตาเช่นไรเป็นการหลับตาปฏิบัติธรรม กับการหลับตาของคนหลับ การปฏิบัติธรรมกับไม่ปฏิบัติธรรมนั้นมีคุณลักษณะต่างกัน

การหายใจที่เป็นการปฏิบัติธรรมนั้นต้องประกอบไปด้วยสติรู้เท่าทันลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ความสั้น ยาวของลมหายใจเข้าออก คนทั่วไปไม่รู้หรอกถึงลมหายใจที่เข้าออกรูจมูกของเขา แต่เขาทราบแน่ว่าเขามีลมหายใจอยู่ เพราะเขามีชีวิต
ถามว่า ทำไมเพียงแค่นี้จึงเป็นการปฏิบัติธรรม ก็เพราะการมีสติเข้าไปกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเช่นนี้ทำให้จิตนั้นไม่กวัดแกว่งไปสู่อารมณ์อันหลากหลาย ความคิดไม่แล่นไปสู่เรื่องโน้นเรื่องนี้ อุปกิเลสอันจรมากับความคิดนั้นก็เข้ามาสู่จิตไม่ได้ “กามทั้งหลายเกิดจากการดำริ” นี่คือต้นตอของมัน การที่กำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นการปิดช่องไม่ให้เกิดความดำริขึ้น ให้เหลือแต่ลมหายใจที่เข้าออกที่รู้เท่าทันเสมอ

โศลกว่า “ความว่างในตนย่อมปรากฏ” ความเพียรเครื่องเผากิเลสคือการปฏิบัติอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ช่องแก่กิเลสที่จรมา สลายความอยากที่มองออกไปข้างนอก แต่เข้าไปหยั่งพิจารณาภายในตน คำว่า ตนในที่นี้หมายถึง หยั่งพิจารณาเข้าไปในลมหายใจ ไม่มีความอยาก ไม่มีความไม่อยาก ไม่มีท่อน้ำเลี้ยงให้แก่อัตตา ไม่เติมตัณหา อันเป็นสารอาหารให้อัตตา เพราะการมีสติสัมปชัญญะในลมหายใจนี้ ไม่หลงเหลือเชื้อให้ก่อเกิดความอยากขึ้น มีแต่ความเพียรภาวนาไปเรื่อยๆ ความร้อนแห่งตบะนั้นย่อมมีพลังแก่กล้าขึ้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์แก่กล้าเกิดเป็นพลังขึ้นมา อินทรีย์ที่กลายเป็นพลังย่อมเข้าไปเห็นชัดในกายนี้เป็นเพียงแค่กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่ความว่างเท่านั้น ความว่างนั้นเป็นความจริงแท้ที่อยู่เบื้องหลังสรรพสิ่ง

ในโลกวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายกำลังสนใจสสารที่เรียกว่า “ควาร์ก Quark” ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่าอะตอม ตัวอย่างคือเมื่อมีสิ่งๆ หนึ่งล่วงล้ำเข้าสู่อาณาเขตของหลุมดำ หากมันมีความเร็วน้อยกว่าหรือเท่ากับแสง มันจะถูกดูดและบดขยี้ทันที โดยจะถูกบดจนกลายเป็นอะตอม และถูกบดอีกจนกลายเป็นควาร์ก และไม่สามารถแยกย่อยได้อีก ถือเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กที่สุดในจักรวาล


จะเห็นได้ว่า นักวิทยาศาสตร์นั้นกำลังนำควาร์กมาศึกษากันอย่างจริงจัง เพราะควาร์กนั้นมีอานุภาพมหาศาลหากค้นพบกรรมวิธีใช้ ไม่ว่าจะเป็นควาร์กแบบอัพ (up) และดาวน์ (down) แบบชาร์ม (charm) และสเตรนจ์ (strange) และแบบท็อป (top)และบ็อทท็อม (bottom) คุณสมบัติของควาร์กนั้นเป็นประจุไฟฟ้า ประจุสี สปิน และมวล ควาร์กสามารถมีปฏิกิริยากับแรงพื้นฐานได้ครบหมดทั้ง ๔ ชนิด ได้แก่ แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงโน้มถ่วง อันตรกิริยาอย่างเข้ม และอันตรกิริยาอย่างอ่อน ทุกๆ อนุภาคของควาร์กนั้นมีคู่ปฏิอนุภาค เรียกชื่อว่า แอนติควาร์ก นี่เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในโลกวิทยาศาสตร์

แต่โลกพุทธศาสตร์นั้น พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนานแล้ว สิ่งที่พระพุทธองค์ค้นพบก็คือ นิพพาน ซึ่งก็คือความว่าง คือ อนัตตา คือ ศูนยตา คือสิ่งสุดท้ายของสรรพสิ่ง แต่การจะเข้าถึงความว่างได้นั้นต้องผ่านกรรมวิธีเสียก่อน แม้ความว่างจะเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่งที่สูงสุดก็ตาม แต่ถ้าหากยังไม่เข้าถึงความว่างนี้ ความว่างนี้ก็ไม่แสดงอานุภาพออกมา

เปรียบเหมือนแร่ยูเรเนียม ตัวมันเองมีพลังมหาศาล แต่ถ้าหากไม่ผ่านกรรมวิธีก็เป็นเพียงก้อนแร่ธรรมดา จิตก็เหมือนกัน มีพลังมหาศาล แต่ถ้าไม่ผ่านกรรมวิธีคือบำเพ็ญตบะแล้ว จิตก็เป็นเพียงจิตธรรมดาเท่านั้น กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว สสาร (รูป) ทางวิทยาศาสตร์ ในที่สุดแล้วก็จะพบกับความว่างที่มีอานุภาพสลายสสารได้ (หลุมดำ) ส่วนจิต (นาม) ในพระพุทธศาสนา ในที่สุดแล้วก็ต้องเข้าถึงความว่าง จึงจะสลายจิตได้ (นิพพาน) หลุดพ้นจากสังสารวัฏได้ นี่คือความลงตัวของสรรพสิ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ต้องมาจบลงที่ “ความว่าง”

นี่คือ โศลกที่สามสิบแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา