วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552
ตามรอยคันธาระ : เส้นทางแห่งพุทธศาสนา
ตามรอยคันธาระ : เส้นทางแห่งพุทธศาสนา
ดร.สุวิญ รักสัตย์
***********
ประเทศปากีสถาน พอเอ่ยคำนี้ก็เป็นที่ทราบว่า เป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวพุทธจึงไม่ค่อยมีใครสนใจและไม่ทราบความยิ่งใหญ่ของประเทศนี้ในอดีต ซึ่งมีเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ทั้งทางด้านอารยธรรม ศิลปะ และการศึกษาพระพุทธศาสนา เพียงเอ่ยคำว่า มหาวิทยาลัยตักสิลา ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนามีหรือไม่รู้จักชื่อนี้ จนกระทั่งมาถึงกาลบัดนี้รัฐบาลปากีสถานโดยเฉพาะรัฐมนตรีการท่องเที่ยวกำลังจะเปิดเส้นทางนี้ให้ชาวพุทธได้ตามรอยอารยธรรมพุทธศาสนากันอีกครั้ง
วัตถุประสงค์ของการเดินทาง
เนื่องด้วยรัฐมนตรีการท่องเที่ยวแห่งประเทศปากีสถาน นางนิโลฟาร์ บัขเตียร์ (Mrs.Nilofar Bukhtiar) ได้จัดโครงการ “ความจริงบนเส้นทาง สัปดาห์แห่งอารยธรรมยุคคันธาระ” (The Truth of the Path, Gandhara Week Pakistan) เพื่อที่จะส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศปากีสถานให้ชาวโลกได้รู้จักอารยธรรมยุคคันธาระซึ่งเป็นมรดกโลกโดยการประกาศของ UNESCO รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ ของประเทศด้วย ด้วยเหตุนี้ทางสถานทูตปากีสถานประจำประเทศไทยจึงได้กราบอาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไทย อาจารย์ และผู้สื่อข่าวไปร่วมกิจกรรมโครงการสัปดาห์การท่องเที่ยวอารยธรรมยุคคันธาระดังกล่าว
คณะบุคคลที่ร่วมเดินทาง
ในการเดินทางไปร่วมงานในครั้งนี้ รัฐบาลปากีสถาน ได้อาราธนาและเรียนเชิญบุคคลทางศาสนา วัฒนธรรม และสื่อมวลชนจากหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี ประเทศมาเลเซีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา ประเทศเนปาล ประเทศภูฐาน
สำหรับคณะผู้ที่ได้เดินทางไปตามคำอาราธนานิมนต์และเรียนเชิญครั้งนี้สำหรับประเทศไทยมีจำนวน ๙ รูป/คน ดังนี้
๑. พระเทพญาณกวี เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ เป็นประธาน
๒. พระครูปลัดสัมพิพัฒนเมธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดโกเมศรัตนาราม รองอธิการบดีฝ่ายเผยแผ่และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
๓. พระภิกษุจากวัดพระศรีมหาธาตุ ๒ รูป
๓. ดร.สุวิญ รักสัตย์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
๔. สื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์
๕. นักข่าวจากสถานโทรทัศน์ TITV
๖. ผู้ติดตามพระเทพญาณกวี
กำหนดการ
ในการเดินทางไปในครั้งนี้ตามกำหนดการที่รัฐบาลปากีสถานจัดนั้นตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม – ๑ เมษายน ๒๕๕๐ แต่คณะจากประเทศไทยนั้นสามารถไปได้ตามกำหนดการเดินทางได้เพียง ๒๖-๓๐ มีนาคม โดยมีกำหนดการดังนี้
๒๖ มีนาคม เวลา ๑๙.๐๐ น. สายการบินไทย TG 506 กรุงเทพ-อิสลามาบัด
๒๗ มีนาคม เวลา ๐๘.๐๐ น. เดินทางจากที่พักเมืองเปชวาร์ไปที่ตักสิลา
๒๘ มีนาคม เวลา ๐๘.๐๐ น. ไปเมืองอุทยาน (ในประวัติศาสตร์) ปัจจุบันเรียกเมือง สวัต (Swat Vallay)
๒๙ มีนาคม เวลา ๐๘.๐๐ น. ออกจากเมืองสวัต กลับตักสิลา เข้าร่วมพิธีสวดมนต์เวียนเทียนปทักษิณรอบธรรมราชิกสถูป
๓๐ มีนาคม เวลา ๐๘.๐๐ น. เดินทางไปเมืองละหอร์ ชมพิธีชักธงชาติลงจากเสาของประเทศปากีสถานและประเทศอินเดียที่ชายแดนของทั้ง ๒ ประเทศ
เวลา ๒๑.๐๐ น. เดินทางกลับประเทศไทยที่สนามบินละหอร์ ด้วยสายการบิน TG 509
พุทธสถานและสถานที่สำคัญ
ประเทศปากีสถาน
ประเทศปากีสถาน มีดินแดนติดต่อกับประเทศต่างๆ ดังนี้
ทิศเหนือติดประเทศอาฟกานิสถาน ทาจิสถาน และจีน ทิศใต้ติดประเทศอินเดีย ทิศตะวันออกติดประเทศอินเดีย ทิศตะวันตกติดประเทศอาฟกานิสถาน มีพลเมืองทั้งหมดประมาณ ๑๔๐ ล้านคน พลเมืองนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนมาก มีพลเอกปาเวส มูชาราฟ เป็นประธานาธิบดี ดินแดนภูมิประเทศมีทั้งภูเขา หิมะ ทะเลทราย ที่ราบ และทะเล ประเทศปากีสถานตั้งแต่เหนือจดใต้ในอดีตมีพุทธสถานปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก
อารยธรรมยุคคันธาระ
อารยธรรมยุคคันธาระ ดินแดนแห่งเกสรดอกไม้ ความหอมและความงดงาม เป็นอู่อารยธรรมศิลปะที่มีความงดงามอ่อนช้อยรวมศิลปะจากกรีกและอินเดียเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ยุคสมัยประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ จนกระทั่งถึง พ.ศ.๑๓๐๐ ศิลปะคันธาระนี้พบบริเวณทางตะวันตกของแม่น้ำสินธุและทางเหนือของแม่น้ำกาบูร กินอาณาบริเวณกว้างตั้งแต่ประเทศอาฟกาสนิสถานจนถึงเมือง ปัญจาบทางตะวันตกของประเทศอินเดีย มีความสำคัญเคียงคู่กันมากับศิลปะอารยธรรมมถุรา ทางตอนเหนืองของเมืองเดลีประเทศอินเดีย
ศิลปะคันธาระเริ่มเสื่อมลงหลังจากที่เผ่าฮันส์ (Huns) เผ่าเติร์ก และก็ศิลปะอิสลามจากตะวันออกกลางเข้ามาแทนที่
เมืองตักสิลา (Taxila)
ตักสิลา ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำฮินดูและแม่น้ำเชลัม เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีต เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมถึง ๓ เส้นทางที่มาบรรจบกัน หนึ่งจากศูนย์กลางอินเดีย สองจากเปอร์เซีย สามจากจีน เป็นจุดพักของขบวนคาราวานค้าขายสินค้า จึงทำให้เป็นเมืองที่เป็นที่ต้องการของผู้เข้ามาครอบครองเพื่อที่จะควบคุมเส้นทางการค้าบริเวณแถบนี้ไว้
เชื่อกันว่า เมืองนี้สร้างโดยพระเจ้าภารตะซึ่งเป็นน้องของพระรามซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุ และให้ชื่อเมืองนี้ว่า ตักสะ ตามชื่อโอรสของตนตามประวัติในมหากาพย์มหาภารตะของอินเดีย
ตามหลักฐานในพระพุทธศาสนา เมืองตักสิลานั้น เป็นเมืองแห่งการศึกษา และได้รับเรียกว่า เป็นมหาวิทยาลัยตักสิลา โดยมีอาจารย์ทิศาปาโมกข์เป็นผู้บริหาร ตักสิลามีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะวิทยา ศาสตร์ต่างๆ ปรากฏมาทั้งในชาดกคือก่อนพุทธกาลและในพุทธกาล ในครั้งพุทธกาลบุคคลที่มีชื่อเสียงต่างก็มาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยตักสิลาทั้งสิ้น
เมื่อครั้งพระเจ้าอเลกซานเดอร์ได้กรีฑาทัพเข้าสู่อินเดียก็ยึดเมืองตักสิลาแห่งนี้ไว้ แต่ไม่ได้มีการสู้รบจึงทำให้เมืองไม่ได้รับความเสียหาย ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์ก็ได้มาปกครองที่นี่ หลังจากที่ได้ปกครองปาฏลีบุตรและได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้สร้างมหาเจดีย์ใหญ่ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่นี่ เรียกว่า “ธรรมราชิกสถูป”
ในช่วงเย็นของวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๐ คณะผู้เดินทางทั้งหมดได้มาประชุมรวมกัน ณ มหาเจดีย์ โดยมีรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยว คณะทูตานุทูตของประเทศต่างๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลปากีสถานมาร่วมพิธีการสวดมนต์เวียนเทียนปทักษิณรอบมหาสถูปแห่งนี้
ตักสิลาจึงเป็นสถานที่ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและประวัติศาสตร์โลก เมืองตักสิลาในปัจจุบันยังมีร่องรอยแห่งเค้าเดิมหลงเหลืออยู่บ้าง กล่าวคือ การแกะสลักหิน ซากวัดจูเลี่ยน (Julian Monastry (ชื่อในปัจจุบัน) เซอร์กับ (Sirkap) ซากเมืองตักสิลาที่ ๒ เมืองตักสิลาเก่าถูกทำลายไป และชิ้นส่วนต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองแห่งศิลปะคันธาระที่ตักสิลาซึ่งเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์
สำหรับธรรมราชิกสถูปก็ได้รับการขึ้นทะเบียนชื่อไว้เป็นมรดกโลกโดยองค์การ UNESCO และกำลังจะได้รับการบูรณะจากรัฐบาลปากีสถานเพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางพุทธศาสนา เหมือนพุทธสถานในประเทศอินเดียต่อไป
เมืองเปชวาร (Peshawar)
เมืองนี้ชื่อเดิมในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาคือ เมืองปุรุษปุระ ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศปากีสถานเป็นเมืองสำคัญมากอีกเมืองบหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาประมาณ ๖๐๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน เนื่องจากเป็นสถานที่จัดทำสังคายนาครั้งที่ ๔ ตามบันทึกของฝ่ายมหายาน ซึ่งตอนนั้นปกครองโดยพระเจ้ากนิษกะมหาราช แห่งราชวงศ์กุษาณะ
ตามประวัติศาสตร์หลังจากที่พระเจ้ากนิษกะได้แผ่อำนาจทางบ้านเมืองไปทั่วบริเวณแถบนี้แล้ว ก็ได้หันมาสนใจเรื่องศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา จนกระทั่งเป็นประธานอุปถัมภ์การทำสังคายนาและมีท่านพระปารศวะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ หลังจากเสร็จการทำสังคายนาก็ได้สร้างมหาเจดีย์ใหญ่สูง ๕๕๐ ฟุต ไว้เพื่อบรรจุพระไตรปิฎกที่จดจารึกด้วยภาษาสันสกฤต จำนวน ๓ แสนโศลก เมื่อครั้งที่พระถังซำจังเดินทางมาที่สู่ประเทศอินเดียเมื่อประมาณพ.ศ. ๑๑๙๙ โดยใช้เส้นทางนี้และก็ได้กราบนมัสการมหาเจดีย์ใหญ่นี้ด้วย นอกจากนั้นยังมีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่เกิด ณ เมืองนี้หลายท่าน เช่น ท่านพระอสังคะ ท่านพระวสุพันธุ ท่านพระอารยเทพ เป็นต้น
ปัจจุบันนี้ ชิ้นส่วนของมหาเจดีย์ พระพุทธรูปแกะสลักหินยุคคันธาระจำนวนมากและหลักฐานชิ้นส่วนอื่นๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและเกี่ยวกับพระเจ้ากนิษกะได้เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่เมือง เปชวารแห่งนี้
มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่ตาขท์ อี ไภ (Takht E Bhai)
สถานที่แห่งนี้ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนายังไม่ทราบว่าเรียกชื่ออะไร ไม่ปรากฏในบันทึกของพระถังซำจั๋ง แต่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า ตาขท์ อี ไภ ซึ่งอยู่ที่เมืองมาร์ดาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศปากีสถาน เป็นซากพุทธสถานของวัดในพระพุทธศาสนาที่ใหญ่มาก ตั้งอยู่บนภูเขาสูงประมาณ ๕๐๐ ฟุต จากพื้นราบ เป็นวัดที่อยู่ด้านนอกของเทือกเขาฮินดูกูฏ
วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ศึกษาศิลปะวิทยาต่างๆ มหาวิทยาลัยที่มีบริเวณกว้างใหญ่ มีลักษณะการสร้างเหมือนวัดต่างๆ ในยุคสมัยนั้น คือ มีเจดีย์อยู่ตรงกลาง รอบๆ เป็นห้องสวดมนต์และเป็นห้องประชุมสังฆกรรม
เมืองหุบเขาสวัต (Swat Vallay)
เมืองในที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาหิมะและแม่น้ำสวัต หรือที่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาว่า เมืองอุทยาน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศปากีสถาน ข้ามเทือกเขาฮินดูกูฏ ซึ่งมีความสูงถึง ๑๕๐๐ ฟุต เป็นเมืองที่เป็นเหมือนศูนย์รวมของพระพุทธศาสนาหลายนิกาย ได้แก่ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน เป็นเมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่ในเอเชียกลาง ประเทศจีนและทิเบต พระภิกษุนักแสวงบุญเดินทางมาสู่ดินแดนพระพุทธศาสนาต่างก็มุ่งหวังที่จะได้มาเห็นเมืองนี้
ตามประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่เมืองนี้ แต่เชื่อกันทางอภินิหารว่า พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาทรมานพญานาคราชแล้วประทับรอยพระบาทไว้ ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง ท่านกล่าวว่า เมืองนี้เป็นเมืองที่มีความงดงามทั้งสถานที่ มีดอกไม้ สายน้ำ ภูเขา และผู้คน เต็มไปด้วยวัดวาอาราม มีบันทึกว่า มีวัดถึง ๑๔๐๐ วัด มีพระภิกษุสงฆ์ถึง ๑๘,๐๐๐ รูป พระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายวัชรยาน มีเมืองหลวงชื่อว่า มิงโคละ หรือมังคละโฆษะ
เมืองอุทยานเป็นสถานที่เกิดของบุคคลสำคัญของวัชรยาน ผู้ที่นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่สู่ประเทศเป็นผลสำเร็จ ได้แก่ ท่านคุรุปัทมสัมภวะ (คุรุริมโปเช่) ผู้ก่อตั้งนิกายญิงมะในประเทศทิเบต
ณ เส้นทางที่จะเข้าไปสู่เมืองอุทยาน พระเจ้าอุตตรเสนสร้างมหาสถูปไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามประวัติเล่าว่า เมื่อพระองค์ได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดียแล้ว อัญเชิญมาด้วยช้างเผือก พอมาถึงที่นี่ช้างเผือกไม่ยอมไปต่อ ดังนั้นพระองค์จึงสร้างไว้ ณ ที่นี้ ปัจจุบันอยู่หมู่บ้านชิงการ์ดาร์ ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า ชิงการ์ดาร์สถูป (Shingkardar Stupa)
สรุป
การเดินทางไปสู่ประเทศปากีสถานในครั้งนี้ ก็เพื่อไปชมพุทธสถานซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากจากเหนือจดใต้ ถือได้ว่ามีทั้งทางด้านคุณค่าต่อจิตใจและคุณทางทางการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ทราบถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในบริเวณแถบนี้ ที่แผ่ไปจนถึงประเทศอาฟกานิสถาน
เจตนารมณ์ของประเทศปากีสถานที่ได้อาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์จากหลายประเทศและเชิญบุคคลจากประเทศต่างๆ ไปในโครงการการท่องเที่ยวสัปดาห์คันธาระ ก็เพื่อต้องการให้ชาวพุทธในประเทศต่างๆ ได้เข้าไปเที่ยวกราบนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาเหล่านี้อันเป็นการรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไปด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม จิตวิญญาณพุทธศาสนาที่แฝงอยู่ในศิลปะต่างๆ ที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ก็ดี ที่ถูกทิ้งไว้ในโบราณสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศจากเหนือจรดใต้ทำให้เห็นภาพแห่งความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่ไม่ทราบจะกลับมาได้หรือไม่ แม้ว่าจะไม่อาจทำให้ภาพเหล่านั้นกลับมาได้ แต่ก็ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของทุกๆ ด้านที่พระพุทธศาสนาฝากไว้ใน “ตามรอยคันธาระ” ยุคปัจจุบัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น