โศลกที่สิบแปด "ธรรมมิติ"
ลมหายใจเข้าออก คือกาย
ความคิดกวัดแกว่ง คือจิต
ความรู้สึกแรงกล้า คืออารมณ์
ความใสและว่าง คือธรรม
สติกับกาย คือลม
สติกับจิต คือความคิด
สติกับความรู้สึก คืออารมณ์
สติกับธรรม คือความว่าง
ที่ผ่านมาการปฏิบัติธรรม
ยังอยู่ในมิติหนึ่ง สอง สาม
นานที่ติดอยู่ในมิติที่สอง
สลับไปมากับมิติที่หนึ่ง
น้อยครั้งขึ้นมิติที่สาม
ต้องพยายามมากขึ้น
เพื่อให้หยั่งลึกสู่มิติที่สี่
หลักการมองสรรพสิ่งในพระพุทธศาสนานั้น มีหลักการมองอยู่ที่มองเชิงลึกเข้าไปข้างในตน ไม่มองออกนอกตน การมองเข้าไปภายในตนนั้นทำให้มีความลึกซึ้งในโลกที่แท้จริง โลกในความหมายพระพุทธศาสนานั้นก็คือ โลกแห่งเบญจขันธ์นี้เท่านั้น โลกภายนอกไม่มีความหมายอะไรมากมาย เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบในการดำรงอยู่แห่งโลกภายใน สนใจไปก็ไม่ได้ทำให้จิตเกิดความบริสุทธิ์แต่อย่างใด หรือทำให้ถึงความสิ้นไปแห่งกิเลสตัณหาก็หามิได้ ยิ่งมองออกไปก็ยิ่งเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น เพราะตัณหาทั้งหลายอาศัยโลกภายนอกเป็นเครื่องดำรงอยู่ แต่เมื่อมองเข้าไปข้างในโลกคือเบญจขันธ์นี้ มีประโยชน์มาก เพราะทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น เข้าใจสรรพสัตว์มากขึ้น เข้าใจความจริงมากขึ้น ในหลักแห่งการมองเบญจขันธ์นั้นก็เพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่หลงใหลในเบญจขันธ์อันหาแก่นสารไม่ได้ เมื่อหาแก่นสารไม่ได้แล้วจะเข้าไปยึดมั่น ถือมั่นในเบญจขันธ์อีกทำไม เมื่อเบญจขันธ์เป็นแต่เพียงขันธ์ ธาตุ อายตนะ แล้วก็ไม่มีอะไรต้องให้เข้าไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา นี่คือการมองโลกในพระพุทธศาสนา
หลักสำหรับการรู้จักมองโลกในพระพุทธศาสนานั้นให้มองในรูปของมิติเชิงลึก การมองเชิงนี้ทำให้ย่อยสลายความเป็นกลุ่มก้อนให้สิ้นไป ดุจดังการใช้เครื่องมือแยกสสารให้ละเอียดจนถึงที่สุด ก็ไม่เหลืออะไรอีก เป็นความว่างเปล่า การมองในแนวราบทำให้เข้าใจเห็นแต่ข้อมูลว่ามีอะไรบ้างเท่านั้น ไม่นำไปสู่การสั่นสะเทือนตัณหา กระทบกระเทือนอัตตา ไม่นำไปสู่การเห็นแจ้ง ไม่นำไปสู่การหลุดพ้น แต่นำไปสู่ความอยากและยึดมั่นมากขึ้น เพราะเป็นการเห็นถึงความมี ความเป็น ด้วยเหตุนี้จึงมีหลักการมองโลกคือเบญจขันธ์ ดังนี้ มองเป็น ๔ มิติเชิงลึก ได้แก่ กาย เวทนา จิต และธรรม ๓ มิติเชิงซ้อน ได้แก่ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ๔ มิติเชิงย้อนกลับ ได้แก่ อนิจจา วิราคา นิโรธา และปฏินิสสัคคา
จะเห็นได้ว่า ในแต่ละมิตินั้นก็ต้องประกอบไปด้วยมิติเชิงซ้อนทั้ง ๓ นี้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมองทางกายก็ต้องประกอบไปด้วยกายนั้นไม่เที่ยง กายนั้นเป็นทุกข์ กายนั้นเป็นอนัตตา ความคิดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อารมณ์ไม่เที่ยง อารมณ์เป็นทุกข์ อารมณ์เป็นอนัตตา ธรรมนั้นเที่ยง เป็นสุข เป็นอนัตตา ในขณะเดียวกันก็มองเชิงย้อนกลับอีก ๔ มิติ โดยยกธรรมขึ้นมองกาย เวทนา และจิต กล่าวคือ กาย ไม่เที่ยง (อนิจจตา) คลายออก (วิราคา) ถอนสิ้น (นิโรธา) ปล่อยวาง (ปฏินิสสัคคา) ความคิดก็ไม่เที่ยง (อนิจจตา) คลายออก (วิราคา) ถอนสิ้น (นิโรธา) ปล่อยวาง (ปฏินิสสัคคา) อารมณ์ก็ไม่เที่ยง (อนิจจตา) คลายออก (วิราคา) ถอนสิ้น (นิโรธา) ปล่อยวาง (ปฏินิสสัคคา) ไม่ว่าจะเป็นกายก็มีธรรมมิติ เวทนาก็ต้องมีธรรมมิติ จิตก็ต้องมีธรรมมิติ แม้แต่ธรรมเองก็ต้องมีธรรมมิติ