วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บรรยากาศเก่าๆ



ชมอุทยานคุนหมิงเมืองไทย
จ.เลย











ประชุมสัมมนาที่เลย




ทีมในฝัน มีที่นี่ที่เดียว บว.มมร.

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บุคลากรคุณภาพ คือหัวใจของความสำเร็จ

Man Power

ในการจะพัฒนา หรือบริหารองค์กรใดก็ตามปัจจัยที่สำคัญที่สุดในองค์กรนั้นคือ “คน” ในองค์กรพระพุทธศาสนาก็เช่นกัน หากต้องการให้พระพุทธศาสนาเข้มแข็งบุคคลในองค์กรจะต้องมีความเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ กองทัพทุกกองทัพประการแรกสุดต้องฝึกฝนคนในกองทัพให้มีความพร้อมทุกๆ ด้าน ทุกๆ สถานการณ์เสียก่อน เมื่อฝึกฝนจนเข้มแข็งแล้วจึงสามารถปรับกระบวนทัพได้ดังที่มุ่งหมาย เผชิญกับการต่อสู้ได้ทุกรูปแบบ แต่ถ้าทหารทั้งหลายขาดการฝึกฝน อย่าว่าแต่ปรับกระบวนทัพเลย เพียงแค่เดินไกลๆ ก็ล้มตายกันแล้ว


การพัฒนาคนให้มีคุณภาพนับเป็นเป้าหมายและกลยุทธ์หลักในการพัฒนาประเทศ สถาบันหรือองค์กรให้ก้าวไกล ประเทศไทยมีการวางเป้าหมายและกลยุทธ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ และฉบับที่ ๙ โดยเน้นไปที่ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพสามารถรับความเปลี่ยนแปลงได้

องค์กรพุทธศาสนาก็ต้องมีแผนพัฒนาบุคลากรให้ได้รับการศึกษาที่สูงและมีความรู้ในด้านการบริหารจัดการอย่างถูกต้องรวมทั้งสร้างเสริมความพร้อมให้มีศักยภาพที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมยุคใหม่ ทันต่อกระแสโลกสากล และสามารถยกระดับขีดความสามารถในการดำรงอยู่ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลง และแข่งขันได้อย่างปลอดภัย หากต้องการเห็นเช่นนั้น ก็หมายความว่า บุคลากรในสถาบันศาสนาต้องมีคุณภาพ ต้องประกอบด้วยความรู้ ความสามารถ ความเข้าใจศาสตร์ของมนุษย์ เข้าใจเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ของมนุษย์กับสังคมและสภาพแวดล้อม สามารถวิเคราะห์ประเมิน และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีระบบ มีความคิดสร้างสรรค์และมีวิสัยทัศน์ สามารถนำความรู้เชิงทฤษฎีไปประยุกต์สู่การปฏิบัติและการพัฒนางาน เพื่อเพิ่มศักยภาพของคนและขีดความสามารถในการพัฒนายั่งยืน


การจะทำการใดๆ ต้องดูที่คนก่อนเพราะถือว่าเป็นปัจจัยตัวแรกที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ปัจจัยองค์ประกอบอื่นๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะหากคนไม่มีคุณภาพ ต่อให้มีหลักการอย่างไรก็ไม่ได้ผล คนตามหลักองค์การจัดการต้องประกอบไปด้วย “4Hs +1B” ได้แก่

Head หมายถึง มีสติปัญญาดี มีความฉลาด มีไหวพริบ ช่างสังเกต
Heart หมายถึงมีกำลังใจดี มีความทุ่มเท รักการทำงาน มุ่งมั่น มีฉันทะในการทำงาน
Hand หมายถึงมีความเชี่ยวชาญ ชำนาญ มีทักษะ มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ
Health หมายถึง มีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์แข็งแรงร่างกายพร้อม ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน มีการดูแลรักษาสุขภาพเสมอ
Behavior หมายถึง ความพร้อมทางด้านพฤติกรรมที่ดี มีความกตัญญู อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ก้าวร้าว ไม่ประพฤตินอกกฎเกณฑ์


เมื่อได้บุคลากรลักษณะนี้แล้วจะต้องนำมาเข้า Course ฝึกอบรม เชิงปฏิบัติการให้พร้อมทุกๆ ด้านเพื่อจะได้ตัวแทนขององค์กรที่มีคุณภาพ เหมาะสำหรับการทำงาน เหมาะสำหรับการบริหารงาน เหมาะสำหรับการนำองค์ประกอบที่เหลือไปดำเนินการ เชื่อมั่นได้ว่า องค์กรนั้นๆ ย่อมต้องประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
ในพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ฝึกฝนพระสงฆ์สาวกของพระองค์ให้ประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติเหล่านั้น เรียกหลักการจัดการนั้นสั้นๆ ว่า “วิชชา จรณสัมปันโน” คือถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ


จะเห็นได้ว่าก่อนที่พระพุทธเจ้าจะส่งสาวกออกไปเผยแผ่นั้นจะต้องฝึกฝนให้สาวกเข้าถึงธรรมเสียก่อน เมื่อเผชิญกับปัญหาหนักหนาสาหัสเพียงใดก็อดทนต่อสู้ได้ ในส่วนของพระพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็จะส่องพระญาณในตอนเช้าว่าจะโปรดผู้ใดดี กล่าวคือ แสวงหาบุคคลที่มีสติปัญญาจะรับฟังฝึกฝนตามหลักธรรมได้ ดังนั้น พระเถระที่เป็นตัวแทนของพุทธศาสนานั้นจึงเป็นพระอริยสาวกเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นกองทัพธรรมที่มีคุณภาพชั้นเยี่ยม จึงทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองภายในระยะเวลาอันสั้น และแผ่ขยายไปไกลในเวลาอันรวดเร็ว ก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ คนต้องพร้อม

ถ้าหากใช้แนวที่พระพุทธเจ้ามาปรับในปัจจุบัน ก็ได้แก่การแสวงหาบุคคลที่จะมาเป็นชาวพุทธ การเข้าไปให้ทุนสร้างบุคคลที่มีสมองและสติปัญญาดีมาใช้งาน การดึงคนคุณภาพเข้ามาใช้งาน การเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรมาตรฐานที่เขามีอยู่แล้วให้เข้ามาเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การหาซื้อตัวนักฟุตบอลที่มีแววมาช่วยทีม เสริมทีม และทำทีม


ทำงานเป็นทีมขององค์กรพุทธ
การทำงานเป็นทีม (Team Work) มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการองค์กรยุคใหม่ ยุคที่มีองค์ประกอบทางสังคมซับซ้อน ดังนั้นจำเป็นต้องมีการประสานงาน สำหรับองค์กรพุทธก็เช่นเดียวกันจะต้องปรับการทำงานภายในองค์กรการทำงานที่เรียกว่า “One Man Show” นั้นไม่เหมาะสมกับยุคสมัยนี้ ในยุคสมัยก่อนๆ อาจจะยังพอประคับประคองไปได้

ก่อนนั้นสำนักเรียนบาลี นักธรรม โรงเรียนปริยัติสามัญ หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์อาจแข่งขันกันและกันแต่ปัจจุบันควรมีการทำงานเป็นทีมจึงจะอยู่รอด องค์กรพุทธต้องแข่งขันต่อโลกที่กำลังไล่ล่าคณะสงฆ์ ทุกส่วนต้องหันมาทำงานเป็นทีมและสร้างทีมงานเสริมได้แก่การสร้างสมณะทายาทรุ่นต่อไป (Next Dharma Generation) ให้ทัน

การทำงานเป็นทีมต้องมีโรงเรียนฝึกฝน การทำงานเป็นทีมจะทำให้องค์กรนั้นดำรงอยู่ได้นาน และมีความเข้มแข็ง ไม่ใช่พอหมดผู้นำที่มีไฟ ก็เป็นต้องล้มลุกคลุกคลานหาทายาทกันใหม่ เริ่มต้นกันใหม่ การจะสร้างคนมิใช่สร้างเสร็จภายในวันสองวัน ต้องสร้างกันยาวนาน ดังนั้น จำเป็นจะต้องสำรองหาทายาทที่มีไฟและอุดมการณ์เดียวกันไว้บริหารองค์กร สืบทอดเจตนารมณ์ ถ้าหากองค์กรเข้มแข็ง ทีมงานเข้มแข็งระบบจะผลักดันผู้ที่เข้ามาทำงานได้เอง เพราะถ้าบุคคลผู้เข้ามาทำงานไม่พร้อมก็จะอยู่ในระบบไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงกระทำเป็นตัวอย่างทำไว้แล้วในการตั้งเอตทัคคะของพระอสีติมหาเถระในการปฏิบัติงานตามความสามารถ การบริหารงานจึงดำเนินไปได้ แม้ไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่ก็ตาม แต่ระบบคือ พระธรรมวินัย เป็นระบบที่ดีให้คณะสงฆ์ต้องปฏิบัติตามนั้นเป็นไปเพื่ออุดมการณ์อันสูงสุด

ในการทำงานเป็นทีม ตัวอย่างในกระบวนการของ 6 Zigma จะใช้กลุ่มบุคคลที่ถือว่าเป็น Team Leaders ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบนี้ได้แก่


๑. Champion หมายถึง ผู้สนับสนุน ได้แก่ผู้จัดการอาวุโสที่มีส่วนในการสนับสนุน อนุมัติเงินมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันต่อผลสำเร็จของการจัดการบุคคลในกลุ่มที่หนึ่งนี้ต้องได้รับการอบรม และผ่านการคัดเลือกมาแล้ว
๒. Master Black Belt หมายถึง ผู้มีความชำนาญเชิงสถิติ มีความเป็นผู้นำ มีหน้าที่ฝึกฝนบุคคลในบุคลากรให้อยู่ในระดับสายดำ
๓. Back Belt คือ ผู้บริหารที่เป็นTeam Work ที่ได้รับการฝึกฝนจากกลุ่มบุคคลระดับที่สอง
๔. Green Belt คือ สมาชิกของทีมที่ ๓ มีหน้าที่ทำงานตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย

จะเห็นได้ว่า บุคคลทั้ง ๔ กลุ่มนี้คือ ผู้ขับเคลื่อนงาน (Run) ให้มุ่งไปสู่ทิศทางที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพหากปรับระดับนี้มาสู่วิธีการทำงานขององค์กรพุทธก็นับว่า เป็นการทำงานที่มีชีวิต มีแรงกระตุ้นที่มหาศาล ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตใจ ด้านปฏิสัมพันธ์ ด้านสถานที่ต่อพุทธศาสนิกชนจนเป็นที่นับถือศรัทธายิ่งขึ้น แน่นแฟ้นในหลักธรรม ไม่สั่นคลอนง่ายๆ เคลื่อนไหวในรูปของพลังมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด





















(อ่านในหนังสือสารัตถะวิชาการพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มมร)






Anti-Virus for Thai Society

“Anti Virus for Thai Society”
ความเบื้องต้น

สังคมไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมองผ่านสายตาของนักปรัชญาหลังนวยุคแล้ว ก็แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท ได้แก่
๑. ประเภทยึดโชคลาง
๒. ประเภทยึดเทพไท้เทวา สวรรค์ นิพพาน
๓. ประเภทยึดคัมภีร์ ตำรา แหล่งการศึกษา ครูอาจารย์
๔. ประเภทยึดเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
๕. ประเภทยึดอุดมคติปัจเจกสุดขั้วและพวกประนีประนอม
แต่ละประเภทนั้นมีสัดส่วนไม่เท่ากัน และในคนๆ เดียวอาจมีหลายประเภทด้วยกัน เพียงแต่ประเภทไหนจะสะท้อนออกมามากน้อยเท่านั้น เมื่อมองผ่านสายตานี้ก็พบว่า บัดนี้คนในสังคมไทยนั้นกำลังเปลี่ยนถ่ายความคิดที่ได้รับจากแหล่งวัฒนธรรมอื่น มันคือระลอกของการเปลี่ยนถ่ายวัฒนธรรม ในช่วงนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากไม่มีหลักในการปรับเปลี่ยนก็ทำให้วัฒนธรรมไทยเสียศูนย์ไปได้



ศูนย์ที่เสียไปของสังคมไทย
การเสียศูนย์ก็คือ การขาดความสมดุล ทำให้แนวทางในการดำเนินชีวิต การพัฒนาประเทศ และการกระทำทุกอย่างผิดพลาดไปจากเป้าหมายที่พึงเป็น เมื่อตรวจสอบสังคมไทยก็พบว่า มีการเสียศูนย์หลายประการ โดยจะแสดงไว้ตามประเด็น ดังนี้


๑. การเสียศูนย์ด้านข้อมูล
ศูนย์ที่เสียไปทางด้านนี้นั้นก็คือ คนไทยขาดการแสวงหาข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมากใช้ฐานความรู้จากความคิดของคนเป็นหลัก ซึ่งยังไม่เพียงพอ เพราะความคิดของบุคคลที่แสดงออกมานั้นโดยมากแสดงออกจากความรู้สึกนึกคิดของตน ความคิดนี้เป็นลักษณะปัจเจกมีความโน้มเองไปตามอคติสูง ตนเองคิดและเชื่ออย่างไรก็จะให้ข้อมูลตามนั้น ถูกผิดไม่ทราบ ผู้ที่รับความคิดนี้ไปจะต้องกลั่นกรองก่อน เพราะบางอย่างผิดจากความจริงมาก ยิ่งมาจากครูอาจารย์ ผู้เคารพนับถือ และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย คนไทยนั้นไม่สงสัยเลยในวาจา ถ้อยคำ ข้อมูลที่ออกจากบุคคลเหล่านี้ ทำให้เสียศูนย์กันอย่างมาก

๒. การเสียศูนย์ด้านความคิดวิเคราะห์
ศูนย์ที่เสียไปด้านนี้ก็คือ คนไทยขาดการคิดแยกแยะ ซึ่งก็ต่อเนื่องจากศูนย์ที่เสียไปข้อที่ ๑ นั่นเอง เพราะไม่มีข้อมูลให้คิดเปรียบเทียบ วิเคราะห์ แยกแยะ ก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นฐานในการวิเคราะห์ การจะวิเคราะห์อะไรได้จะต้องมีฐานข้อมูลพอสมควร จากนั้นก็ฝึกตั้งคำถามกับข้อมูลเหล่านั้น
๓. การเสียศูนย์ด้านมองให้รอบด้าน
ศูนย์ที่เสียไปในด้านนี้ก็คือ คนไทยมักมองเห็นประเด็นเดียว ด้านเดียว แล้วยึดแต่เพียงด้านนั้น ย้ำเฉพาะประเด็นนั้นเพื่อให้ด้านนั้นมีความชอบธรรมสมเหตุสมผลในความคิดของตน หาเหตุผลมาสนับสนุนด้านเดียวของตน เพื่อให้สังคมยอมรับ
จากศูนย์ที่เสียไปทั้ง ๓ ด้านนี้ก็เพียงพอที่จะทำลายระบบความคิดของคนไทย สังคมไทยไปอย่างสบาย การสูญเสียระบบความคิดก็เท่ากับเสียศูนย์ทั้งหมด เพราะจะไม่สามารถก่อสร้างสังคมให้เข้มแข็งได้ จะถูกไวรัสเหล่านี้บั่นทอนความคิดความอ่านให้กลายเป็นเพียงขยะทางความคิดเท่านั้น ไม่มีอะไรน่าชื่นชมยินดี


Anti Virus for Thai Society
ในการปราบไวรัสที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย จนทำให้สังคมไทยอ่อนเปลี้ย เสียศูนย์ทั้ง ๓ ด้าน ดังที่กล่าวไว้แล้ว ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจความเป็นตนเองให้ชัดเจนก่อน อย่าได้จับตามกระแสของไวรัสที่แทรกแซง ป่วนเข้ามาจากแหล่งต่างๆ จึงขอเสนอเป็นขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑
กลับมาสู่เกมของตนเองให้ได้ หมายความว่า ต้องเข้าใจตนเอง เกมของตนเองให้ชัด ต้องกลับมาสู่เกมของตนให้ได้ก่อน เกมของสังคมไทย ก็คือ เกมแห่งการเล่นตามฐานพระพุทธศาสนา เมื่อรู้จักตัวตนที่แท้ของคนไทยและสังคมไทยแล้วค่อยดำเนินการขั้นต่อไป

ขั้นตอนที่ ๒

ใช้หลักที่โดดเด่นของตนออกมา หมายความว่า หลักที่โดดเด่นของคนไทย บรรพชนไทยที่รักษาไว้โดยตลอด ก็คือ “ศรัทธาและปัญญา” หลักทั้งสองประการนี้เองที่สามารถสร้างสรรค์เกมให้กับสังคมไทยนับแต่อดีตจนถึงเกือบปัจจุบัน ที่ใช้คำว่า เกือบปัจจุบันก็เพราะในปัจจุบัน หลักทั้ง ๒ นี้ได้ถูกบั่นทอนทำลายไป ให้หนักไปข้างใดข้างหนึ่งจนทำให้เสียศูนย์ดังกล่าว


ขั้นตอนที่ ๓
เสริมตัวปรับสมดุลที่เรียกว่า ตัว Anti-Virus ในที่นี้ขอเสนอแนวทางแห่ง “ทฤษฎีโพธิสัตวจรรยามรรค” ทฤษฎีนี้เกิดจากการเข้าถึงพลังสร้างสรรค์อันเกิดจากปณิธานของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของแนวทางการนำไปสู่การเป็นผู้รู้แจ้งมาปรับสมดุลวัฒนธรรมไทย

๑. มหากรุณาโพธิสัตวจรรยามรรค มองเห็นสรรพสัตว์เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องช่วยเหลือกันและกัน
๒. สัจธรรมโพธิสัตวจรรยามรรค เป็นพหูสูต ศึกษาข้อมูลและสัจธรรมทั้งหลายให้แจ่มแจ้ง เข้าใจ
๓. กิเลสโพธิสัตวจรรยามรรค รู้จักข่ม ระงับ กำจัด สลายกิเลสหรืออารมณ์ด้านลบให้หยุดลงหรือหมดไป
๔. พุทธภูมิโพธิสัตวจรรยามรรค ตั้งเป้าให้เป็นระดับจนถึงเป้าหมายสูงสุดไว้

ขั้นตอนที่ ๔ วิธีการใช้ Anti-Virus
Anti-Virus ตัวที่ ๑ เมื่อฉีดหรือใส่โปรแกรมเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดความสมดุล ปรับศูนย์ที่เสียในด้านกระบวนทัศน์ การปรับกระบวนทัศน์ อย่างน้อยให้ปรับมาสู่ขั้นที่ ๕ ก่อนที่เรียกว่า กระบวนทัศน์หลังนวยุค เฉพาะกระบวนทัศน์นี้จะเป็นเครื่องมือในการอยู่ในสังคมร่วมกันและกันได้ อันเนื่องมาจากความเข้าใจฐานกระบวนทัศน์อื่นๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่ตกไปยึดในฐานทั้ง ๔ ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ยึดมั่น ถือมั่น ขัดแย้ง อันตราย เพราะเมื่อเข้าใจว่า สรรพสัตว์นั้นร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ใส่ป้ายเข้าไปว่า เป็นศาสนานั้น ศาสนานี้ เป็นเผ่านั้น เผ่านี้ เป็นพวกนั้น พวกนี้ เพียงแต่เห็นเป็นคนด้วยกัน

Anti-Virus ตัวที่ ๒ เมื่อฉีดเข้าไป หรือใส่โปรแกรมเข้าไป จะทำให้เกิดสมดุล ปรับศูนย์ที่เสียในด้านความด้อยทางข้อมูล เพราะจะทำให้เกิดการศึกษา เรียนรู้ เข้าใจหลักที่เรียกว่า หลักวิชา และหลักความจริง หลักวิชานั้นสามารถเลี้ยงชีพได้ แต่หลักความจริงนั้นทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างเป็นสุข สัจธรรมเป็นสิ่งที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นของชาติ เผ่าพันธุ์ วรรณะ ศาสนา สถาบันทางความรู้ใด เมื่อถึงเวลาแก้ไขปัญหาก็มองออกว่า ผู้ใดใช้ความรู้หรือผู้ใดใช้ความรู้สึก ก็จะได้ตั้งหลักไว้ที่ ๒ หลักนั้น คือ บางปัญหาใช้หลักวิชา บางปัญหาใช้หลักสัจธรรม

Anti-Virus ตัวที่ ๓ เมื่อฉีดเข้าไป หรือใส่โปรแกรมเข้าไปจะทำให้เกิดความสมดุล ปรับศูนย์ที่เสียทางด้านอคติ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นอันเกิดจากความพอใจ ไม่พอใจ ความกลัวและไม่รู้ เพราะจะทำให้เข้าใจว่า การที่ตนเองยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง และยึดคนอื่นเป็นศูนย์กลาง เมื่อยึดตนและผู้อื่นก็เกิดอารมณ์ที่เรียกว่า อคติทันที อันเนื่องจากการปรุงแต่งของจิตที่มีความไม่เข้าใจเป็นพื้นฐาน Anti-Virus ตัวนี้จะเข้าไปสลายการยึดมั่นศูนย์กลางทั้งตนและผู้อื่น เมื่อไม่มีใคร อารมณ์และกิเลสก็ได้ประสิทธิผลทันที

Anti-Virus ตัวที่ ๔ เมื่อฉีดเข้าไป หรือใส่โปรแกรมเข้าไปจะทำให้เกิดความสมดุล ปรับศูนย์ที่เสียทางด้านการมองรอบด้าน เป้าหมายในแต่ละระดับอย่าพึงละเลย การมองรอบด้านใน ๔ มิติ ๓ ระดับ ๓ ระยะ นั้นจะต้องมีในใจเสมอ ๔ มิติ คือ มืด สว่าง หัวค่ำ และหัวรุ่ง ๓ ระดับ คือระดับตน ระดับผู้อื่น และระดับทั้งตนและผู้อื่น ๓ ระยะ คือ ปัจจุบัน อนาคต และหลุดพ้นจากกาลทั้ง ๒

ขอขยายประเด็นนี้ให้เห็นชัดอีกนิด การมองรอบด้าน ๔ มิติ คือ สิ่งบางสิ่ง คนบางคน เรื่องบางเรื่องนั้นมีทั้ง ดี ไม่ดี เกือบเสีย และเกือบดี เราต้องทราบมิฉะนั้นเราจะเหมาเข่งตลอด เพราะบางคนไม่ใช่คนดี แต่ก็ไม่ใช่คนชั่ว เมื่อดูพฤติกรรมแล้วค่อนข้างเกือบดี ก็แปลว่า ต้องช่วยส่งเสริม หรือมีพฤติกรรมค่อนข้างเกือบชั่ว ก็ช่วยพยุง

มอง ๓ ระดับ ก็คือ สิ่งบางสิ่ง คนบางคน เรื่องบางเรื่องนั้นมีประโยชน์สำหรับตน แต่ไม่มีสำหรับผู้อื่น หรือมีเฉพาะผู้อื่น หรือมีทั้ง ๒ ก็ต้องรับรู้ เข้าใจ ยอมรับ

มอง ๓ ระยะ ก็คือ สิ่งบางสิ่ง คนบางคน เรื่องบางเรื่องนั้นมีประโยชน์เฉพาะปัจจุบัน ไม่มีในอนาคต หรือมีเฉพาะในอนาคตแต่ไม่มีในปัจจุบัน หรือว่า มีทั้ง ๒ ระยะ และมีเป้าหมายไปถึงขั้นสูงสุด คือการหลุดพ้นที่ยั่งยืน ก็ต้องรู้ เข้าใจ และยอมรับ


สรุป
Anti-Virus นี้จะทำให้สังคมไทย วัฒนธรรมไทยมีความเข้มเข็ง อยู่ในท่ามกลาง Virus ทั้งหลายได้ ถ้ามันแรง ก็พอกระทบบ้าง แต่ก็ไม่เสียศูนย์ แต่ถ้าเป็นตัวธรรมดา ก็ไม่มีผลใดๆ ขอให้ทุกคนกรุณา Download Anti-Virus “โพธิสัตวจรรยามรรค”กันทุกคน จะได้อยู่รอดปลอดภัยจากไวรัสร้ายทั้งหลายในสังคม

วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

Greenheart Effect Solution


แนวทางการแก้ปัญหาภาวะใจกระจก
สำหรับแนวทางแก้ไขภาวะใจกระจก ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้โลกกายภาพและโลกแห่งจิตภาพรอดพ้นจากหายนะ ในที่นี้จะได้แสดงแนวทางทั้งที่เป็นระดับหลักการ วิธีการ และแนวทางปฏิบัติไว้ ดังนี้

๑. ระดับหลักการ

ในระดับนี้ คือ ระดับสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อน อยู่ในขั้นปรับทัศนคติให้ตรงกัน ในการปรับทัศนคตินั้น ต้องปรับที่กระบวนทัศน์ (Paradigm) ให้เข้าถึงกระบวนทัศน์ที่เรียกว่า กระบวนทัศน์ไม่ยึดมั่นถือมั่น (Non-Attachment Paradigm) หรือที่เรียกว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” เป็นกระบวนทัศน์ที่ให้ความสำคัญต่อธรรมชาติทุกส่วน มองเห็นธรรมชาติสัมพันธ์กันและกันระหว่างกายภาพและจิตภาพ เข้าใจสรรพสิ่งอิงอาศัยกันและกันเกิดและดับ อาศัยระบบใยข่ายเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงและใช้ปัจจยการภาษาในการสื่อสารค้นหาความจริง

กระบวนทัศน์ที่ถูกต้องในระดับนี้ทำให้เข้าใจระบบของสรรพสิ่งอย่างถูกต้องตามลักษณะของระบบนิเวศคือ “ของเสียเท่ากับศูนย์” ทุกอย่างเป็นอาหารของกันและกัน กายภาพเป็นอาหารของจิตภาพ จิตภาพก็เป็นอาหารของกายภาพ หล่อเลี้ยงกันไปอย่างนี้

ถ้าหากกายภาพเป็นพิษ จิตภาพก็เสพอาหารพิษ จิตภาพที่เป็นพิษ ก็สร้างการทำลายล้างกายภาพต่อไป นี่เป็นภาวะใจกระจก ดังนั้นต้องสร้างวงจรห่วงโซ่อาหารของกายและจิตให้มีประโยชน์ บริสุทธิ์ สะอาด และสมดุล กายและจิตก็จะมีประโยชน์ บริสุทธิ์ สะอาด สงบ และสมดุล นี่เป็นระบบชีวิตนิเวศ (Bio-Ecology)


ในระดับหลักการนี้สิ่งที่จำเป็นก็คือ การคิดใคร่ครวญให้เห็นคุณ เห็นโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ให้เด่นชัด หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นโทษและไม่เป็นประโยชน์ สิ่งนี้เป็นตัวสร้างเรือนกระจก ในระดับความคิดนี้มีกรอบคือ
๑) ควบคุมความอยากที่มีต่อสิ่งที่พึงพอใจ (อิฏฐารมณ์) และสิ่งอันไม่พึงพอใจ (อนิฏฐารมณ์)
๒) ไม่มองเห็นสรรพสิ่งเป็นศัตรูที่จะต้องเอาชนะ เป็นการส่งเสริมอัตตา
๓) ไม่ปรุงแต่งจิตให้เห็นผิดเป็นชอบ


ในด้านหลักการนี้โดยสรุปก็คือ วิสัยทัศน์เชื่อมโยงและการคิดที่ถูกต้อง เมื่อตั้งฐานจิตไว้ชอบเช่นนี้ได้ ภาวะใจกระจกก็จะลดลงและเป็นไปตามวงจรปกติ


(อ่านต่อในดุษฎีบัณฑิตยานุสรณ์)



Greenheart Effect




ภาวะใจกระจก (Greenheart Effect)

ภาวะใจกระจก (Greenheart Effect) คือ ภาวะที่ใจถูกรมด้วยกิเลสอันหยาบ ภาวะที่ใจบกพร่องในการหักห้าม ละเมิดต่อมนุษยธรรมทั้ง ๕ ประการได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดลูกเมียผู้อื่น โกหก และเสพสิ่งเสพติด ทำให้สิ่งแวดล้อมทางใจเป็นพิษ เกิดภาวะใจร้อน (Mental Warming)

เมื่อใจร้อน เกิดภาวะเรือนกิเลส (Defilement House Effect) ภาวะใจกระจกนั้นเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของสิ่งเร้าภายนอก (อายตนะภายนอก) กระทบ (ผัสสะ) กับเครื่องรับภายใน (อายตนะภายใน) กระตุ้นความรู้สึก (เวทนา) ให้อยากได้ กระหาย (ตัณหา) เมื่อได้มาแล้วก็ครอบครองยึดมั่น (อุปาทาน) ส่งทอดกระแสซึ่งกันและกัน อย่างนี้ เป็นภาวะที่เป็นระบบ เป็นกระบวนการลูกโซ่ (Negative Circle)


โดยปกติใจนั้นทำหน้าที่รู้สึก จำได้ หมายรู้ ปรุงแต่ง เมื่อปรุงแต่งเสร็จแล้วก็เกิดการรับรู้ แต่หลังจากที่ใจนั้นถูกความพอใจอย่างยิ่ง (อิฏฐารมณ์) และความไม่พอใจอย่างยิ่ง (อนิฏฐารมย์) เข้าครอบงำ อันเป็นกระแสกิเลสที่แรงเข้าทำลายระบบ พลังตัณหาก็เริ่มสร้างระดับความเข้มข้นมากขึ้น


เมื่อตัณหาเข้มข้น พลังการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นก็มีระดับเข้มข้นตาม พลังแห่งตัณหาและอุปาทานได้สร้างบรรยากาศใจกระจกขึ้นมาทันที กลายเป็นพลังพิษ พลังพิษนี้ทำลายระบบคุ้มครองใจของมนุษย์ที่เรียกว่า หิริและโอตตัปปะเสียสิ้น ทำให้คลื่นแห่งอกุศลจิตเข้าสู่ระบบของจิตอย่างเต็มที่ ใจก็สูญเสียศักยภาพที่จะซึมซับเอากระแสแห่งธรรมสัญญา (เหตุผล) ไว้ได้

ตามธรรมดา ใจก็มีพลังของมันในตัว เป็นพลังขับเคลื่อนให้มนุษย์สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างวิจิตรพิสดาร พลังสร้างสรรค์ในทางบวกนี้เรียกว่า “ฉันทะ” ขณะที่ฉันทะทำงาน ก็จะสร้างกระแสศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาขึ้นตามลำดับ แต่พอถูกคลื่นความพอใจอย่างแรงต่ออิฏฐารมย์และความไม่พอใจอย่างแรงต่ออนิฏฐารมย์เข้ามาเท่านั้น พลังทางลบก็เข้ามาทันที ตัณหาเข้ามารับช่วงพอดีทำปฏิกิริยาทางกรรมเคมี เกิดการยึดมั่นถือมั่นอย่างจริงจัง

เมื่อนั้นภพและชาติจึงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน อัตตาเริ่มทำงานอย่างกำลังความสามารถ เริ่มมีการครอบครองหรือเริ่มมีการทำลายล้างขึ้นมาทันที ดุจดังภาวะเรือนกระจกของโลกที่เกิดจากการสร้างอุตสาหกรรม ปล่อยมลพิษ ตัดไม้ ทำลายป่า

กระบวนการปกติของโลกก็ทำปฏิกิริยารูปแบบใหม่ขึ้น ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสมีมากขึ้น ก๊าซเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้มข้นของไอน้ำในบรรยากาศจนเกิดเป็นภาวะเรือนกระจก ทำลายระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตบนโลกไป ฉะนั้น


(อ่านต่อในดุษฎีบัณฑิตยานุสรณ์ ๕๓)



วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553


การศึกษาหลักปรัชญาเพื่อการตีความทางพระพุทธศาสนา

นายยศพล สัจจะธีระกุล


-----------------------------------------------------------------------------

การศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจในพระธรรมคำสอนของพระพุทธบรม
ศาสดาที่ได้จารึกไว้ในพระไตรปิฎกคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกนั้นมักเกิดปัญหาอย่างน้อย 2 ประเด็นที่เป็นอุปสรรคแก่ผู้สนใจใคร่รู้หรือเข้าถึงความจริงตามนัยทั้งจากการศึกษาด้วยตัวเองและฟังการถ่ายทอดจากผู้รู้คือ

1. อุปสรรคจากภาษาและวิธีการสื่อสารที่ให้ความหมายได้หลายนัยหรือไม่
แจ่มแจ้งเพราะพระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกที่ฝ่ายเถรวาทยึดถือเป็นคัมภีร์ถูกจารึกด้วยภาษาบาลีซึ่งถือเป็นภาษาทางธรรมก่อน แล้วจึงถูกแปลไปเป็นภาษาท้องถิ่นหรือภาษาทางโลก(เช่น ภาษาไทย เป็นต้น) แบบคำต่อคำ จึงมีโอกาสเกิดความผิดเพี้ยนด้วยข้อจำกัดของธรรมชาติภาษาหรืออักขระที่ไม่สามารถแสดงความหมาย ความรู้สึกได้แม่นตรงตามนัยได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้ต้องอาศัยการอธิบายแจกแจงขยายความจากอรรถกถาจารย์หรือผู้รู้เพิ่มเติมแสดงไว้เป็นอรรถกถาประกอบพุทธวจนะซึ่งมักจะเป็นภาษาบาลีรวมถึงโยชนาเพื่อขยายความอรรถกถาต่อๆไปอีก ปัญหานี้ได้ก่อให้เกิดผลใน 2 ลักษณะคือ

ด้านบวก เป็นการช่วยทำให้เกิดความกระจ่างถูกต้องตามนัยพระธรรมยิ่งขึ้น หรือ
ด้านลบ เป็นการเพิ่มความสับสนหรือเข้าใจผิดเพี้ยนจากการตีความพระไตรปิฎกของอรรถกถาจารย์ หรือผู้ศึกษาเองตีความคำอธิบายของอรรถกถาจารย์คลาดเคลื่อนเพราะเหตุจากภาษา โดยเฉพาะการศึกษาที่ยึดอรรถกถาเป็นคัมภีร์หลัก


อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดพระธรรมคำสอนเป็นภาษาบาลี
เองก็เกิดจากการบันทึกตามความทรงจำ(มุขปาฐะ)ของพระอริยบุคคลในครั้งสังคายนาหลังพุทธกาล จึงมีโอกาสเกิดความความคลาดเคลื่อนหรือความไม่สมบูรณ์ครบถ้วนผ่านกระบวนการถ่ายทอดสื่อสารได้เช่นกัน

2. อุปสรรคจากความศรัทธาที่มากกว่าปัญญาจนทำให้กลายเป็นความงมงาย
ขาดความยืดหยุ่นต่อการสร้างความสมดุลทำให้เกิดวิปลาส [1] เพราะเหตุความยึดมั่นถือมั่นในความคิดหรือความรู้ของตน กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าหลักปรัชญาตะวันตกยังอยู่ในข่ายของความวิปลาสนี้ด้วยเพราะองค์ความรู้ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าถึงความจริงตามความเป็นจริงได้อย่างสัมบูรณ์และอย่างสัมพันธ์ ทำให้การนำความรู้ที่มีอยู่มาทำความเข้าใจให้ตรงกับความเป็นจริงจึงยังมีความต่างกันและส่งผลให้เกิดความแปลกแยกทางความคิดความเชื่อต่อไป

การตีความหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาด้วยกระบวนทัศน์ที่ 5 หรือ Postmodernism ตามหลักปรัชญาที่จะช่วยให้เข้าถึงนัยหรือแก่นกระพี้ของหลักธรรมนั้น จึงต้องอยู่บนฐานคติของการใช้ปัญญาอันเกิดจากการเปิดใจกว้าง ยึดหลักกาลามสูตร ไม่ติดกับดักในภาษาวาทกรรมหรือปทัสถานทางสังคมจนทำให้หลงทิศทางที่ถูกต้อง เห็นความสวยงามและโอกาสพัฒนาปัญญาจากความแตกต่าง และยึดผลลัพธ์ให้เป็นไปตามเป้าหมายสูงสุดอย่างแน่วแน่(End - result Oriented)

ดังนั้นผู้เขียนจึงมีความเห็นว่ากระบวนทัศน์ที่ 5 ซึ่งเป็นผลิตผลทาง
ความคิดแบบนอกกรอบหรือสังเคราะห์องค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม(Reject None, React All) มาเป็นเครื่องมือทำความเข้าใจในความจริงแท้ของเหตุการณ์สำคัญๆที่มีอิทธิพลต่อความสงบสันติของประชาคมโลกในอดีต(กระบวนทัศน์ที่ 1 – 4 ) แล้วนำมาแสวงหา Core Values เพื่อลดช่องว่างของความแปลกแยกทางความคิดความเชื่อเหล่านั้นให้เหลือแคบลงๆแบบ Win – win Solution

จนในที่สุดความแตกต่างที่เหลืออยู่นั้นไม่มีนัยสำคัญที่จะนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งได้อีกต่อไป นั่นคือการยอมรับในความแตกต่างของกันและกันที่คงต้องมีอยู่ตามความเป็นจริงได้อย่างเข้าใจ ซึ่งแนวคิดนี้ผู้เขียนมองว่าเป็นวิธีการที่จะทำให้เส้นคู่ขนานมีโอกาสมาบรรจบพบกันได้จริงในโลกปฏิบัติตามสมมติฐานทางคณิตศาสตร์สมัยใหม่

เหตุผลที่ผู้เขียนมีมุมมองดังกล่าวก็เนื่องมาจากฐานคติของกระบวนทัศน์
ที่ 5 และการนำเทคนิคการจัดการปัญหาแบบบูรณาการที่มุ่งสัมฤทธิผลแบบ win – win เช่นกันนั่นคือหลักการ ‘แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง สมานจุดอ่อน สะท้อนจุดยืน และสลายอัตตา’ ด้วยการขจัดความคิดเห็นที่แตกต่างแบบสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็จะต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างที่มีอยู่นั้นโดยไม่ถือว่าเป็นความแปลกแยกหรือเป็นศัตรู แล้วมุ่งมั่นเสริมสร้างให้มีการเรียนรู้อย่างรอบด้าน(Knowledge) พร้อมกับแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันเพื่อให้รู้ตามจริง(Insight) ตามกลยุทธ์ ‘รู้เขา รู้เรา’ เพื่อลดความหวาดระแวงและความกลัวอันเกิดจากความไม่รู้จริงของกันและกัน ซึ่งการสร้างเครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้หรือ Learning Society Network ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งโลกจะถือว่าเป็นผลิตผลของกระบวนทัศน์ที่ 5ได้หรือไม่ ?


----------------------------------------------------------------------------------------


[1] วิปลาส หรือ วิปัลลาส 4 หมายถึง ความรู้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง(distortion ) มี 3 ระดับ คือ
สัญญาวิปลาส(สัญญาหมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริงหรือเข้าใจผิด) จิตตวิปลาส(ความคิดที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง) และ ทิฏฐิวิปลาส(ความเชื่อ ความเห็นที่เกิดต่อเนื่องขยายวงตามสัญญาวิปลาสหรือจิตตวิปลาส กล่าวคือเป็นวิปลาสใน 4 ด้านคือ วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข วิปลาสในสิ่งที่ไม่เป็นตัวตนว่าเป็นตัวตน และวิปลาสในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ) มาในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เล่มที่ 21 ข้อ 49 หน้า 66

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๑๒)



บทที่สาม
พลังพิสดาร

อาทิตย์บ่ายคล้อยแล้ว
ทินเล่ทุ่มเทพลังแกะสลักรูปพระมหาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
ยิ่งรูปสลักใกล้เสร็จสมบูรณ์มากเท่าไหร่
มันก็ยิ่งภาคภูมิใจมากขึ้นเท่านั้น
ความภาคภูมิใจเป็นเสมือนสิ่งมีค่าบางอย่างที่ไม่อาจตีเป็นราคาได้แต่ทราบว่ามันยิ่งใหญ่

“อืม!!” คำรำพึงสั้นๆ ที่บ่งบอกความหมายมากมายดังขึ้นข้างหลังมัน

สิ้นสุดเสียง ทินเล่หันไปทำความเคารพเจ้าของเสียง เป็นท่านเจ้าอาวาสนั่นเอง
ท่านยืนเอามือไพล่หลัง ดูมั่นคงสง่ายิ่งนัก

สายตาของท่านยังไม่ละจากรูปแกะสลัก
แววตานั้นบ่งบอกถึงความเคารพนับถือหลายส่วน พลันกล่าวขึ้นด้วยใบหน้าพึงพอใจ
“หกเดือน…เป็นหกเดือนที่เนิ่นนานยิ่ง”
ทินเล่กลับถอนหายใจยาวๆ
“ช่างเป็นช่วงเวลารวดเร็วเกินไปจริงๆ”
ที่แท้กาลเวลา เนิ่นนานหรือรวดเร็วกันแน่?!

กับผู้หนึ่งที่รีบเร่งกระทำในเรื่องที่พึงกระทำ
ช่างไม่มีเวลาเหลือให้เลย
“กลับไปทานข้าวเถอะ”
ท่านเจ้าอาวาสมาถึงที่นี่เพียงเพื่อมาบอกมันแค่นี้?
ทินเล่สงบฟังคำกล่าวต่อไปและท่านเจ้าอาวาสก็กล่าวแล้วจริงๆ
“ถึงเวลาที่เจ้าจะได้ฝึกฝนขั้นต่อไป”
ทินเล่มองตามท่านเจ้าอาวาสที่เดินจากไป
มันคล้ายมีวาจาจะกล่าวแต่แล้วทุกถ้อยคำก็สลายไปในห้องสมองที่ว่างเปล่า

[[[[[


ยืนบนเส้นทางโบราณ
ซาบซึ้งในเสียงพิณ
ใหม่เก่าบอกเล่าตำนาน
ใครเล่าจะได้ยิน
ได้พบดั่งเป็นวาสนา
กลัวฝันมลายสิ้น
เราเป็นเพียงคนธรรมดา
คงเศร้าในชีวิน..
เสียงเพลงดังผ่านแนวไผ่ที่มีสีเหลือง
ใบไผ่ที่ใกล้จะร่วงหล่นจนหมดต้น

ใบไผ่ที่ร่วงหล่นเฉกเช่นวิถีชีวิตคน
ชีวิตคนแล้วคนเล่าที่ร่วงหล่นไป!



เสียงเพลงดังมาจากเรือนท้ายสุดแนวไผ่อีกด้านหนึ่งของอาราม
เป็นเสียงขับขานของสตรีนางหนึ่ง
ผู้ฟังแม้ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดขับขาน
แต่ก็รู้สึกเข้าใจในบทเพลงของนาง

บทเพลง พระจันทร์ ความรัก ไม่เคยล้าสมัย
บทเพลงยิ่งไพเราะซาบซึ้ง ความรักยิ่งล้ำลึก
คงมีแต่ผู้เคยมีความรักเท่านั้นจึงเข้าใจประโยคนี้แจ่มแจ้ง
เฉกเช่นคำกล่าว
“โศกนาฏกรรมที่เกิดกับตนเท่านั้น จึงเป็นโศกนาฏกรรมที่แท้จริง”

นางขับเพลงบรรเลงพิณหาใช่เพื่อผู้ใด แต่กลับเพื่อตัวนางเอง
บางครั้งบทเพลงคือ
ทางระบายความอัดอั้นตันใจประการหนึ่งของผู้คน
หากโลกนี้ไร้เสียงเพลง คาดว่ามนุษยชาติคงมีชีวิตสั้นกว่านี้

เสียงเท้าเหยียบใบไม้ดังขึ้น
เสียงขับขานบทเพลงพลันหยุดลง
เป็นผู้ใดเข้ามา?
เป็นผู้มีใบหน้ายิ้มแย้มผู้หนึ่ง
แต่เสื้อที่มันสวมใส่กลับเปื้อนไปด้วยฝุ่นผงและคราบไคล
เรื่องที่น่าปีติยินดี มีแต่บุคคลที่ท่านรักเท่านั้นจึงควรได้ฟังเป็นบุคคลแรก
ทินเล่ไม่ยอมไปทานอาหาร แต่มันกลับมาบอกนาง
หรือบัดนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว?

หอน้อยที่ปลูกซ่อนอยู่ในสวนเบญจมาศขาว
ช่างเป็นสถานที่เหมาะสมกับสตรีที่งามสะคราญโดยแท้
แต่ไม่ใช่นาง เพราะนางเองก็ไม่เคยเห็นใบหน้าของตนเป็นเช่นไร
นางเป็นเพียงสตรีธรรมดาคนหนึ่ง
เป็นสตรีที่อยู่ในโลกมืดตลอดกาลผู้หนึ่ง
ผู้อยู่ในโลกมืดมาตั้งแต่กำเนิดไหนเลยทราบความหมายของความงดงามได้
บางครั้งดูเหมือนฟ้าจะไม่ยุติธรรมเสียเลยจริงๆ
มธุวรรษณี เป็นชื่อที่มารดาของนางตั้งให้ก่อนที่นางจะจากธิดาของตนไป
เมื่อธิดาน้อยอายุได้เพียงหกปี
เป็นเวลาสิบสองปีแล้วที่มธุวรรษณีอยู่กับบิดา
มีแต่บิดาที่ยังเป็นความหวัง
เป็นที่พึ่งที่ทำให้นางไม่รู้สึกเดียวดาย
และไม่รู้สึกว่าชะตาของตนโหดร้ายรันทดเกินไป


เบญจมาศในยามนี้กำลังเบ่งบาน
สายลมพัดเรี่ยยอดและดอกเบาๆ ทำให้ดอกใบเคลื่อนไหวไม่รุนแรง
เบญจมาศแกว่งไกว ใช่ดุจดังจิตใจของผู้คนที่กำลังเปลี่ยนไปหรือไม่?

จิตใจของผู้คนใยมิใช่คล้ายสายลมที่ยากจะคาดคะเนว่ามันจะพัดมาเมื่อใด
และขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าสายลมจากไปเมื่อใด

ผู้ยึดถือสายลมเป็นของตนน่ากลัวจะต้องทำใจตนให้เข้มแข็งอย่างยิ่ง

สายลมกับจิตใจของบุรุษสตรีที่อยู่ด้วยกันเพียงลำพัง
ยิ่งคล้ายสายลมที่กำลังปั่นป่วน
ไหนเลยผู้อยู่ในสายลมจะไม่หวั่นไหวได้

มธุวรรษณีบัดนี้นางเป็นสตรีผู้มีความสมบูรณ์ด้วยวัยและร่างกายทุกสัดส่วน
นางอดไม่ได้ที่จะถามใจตนเองว่า
ที่แท้นี่เป็นความรู้สึกใด? นี่มีความหมายใด?
นางถามตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
แน่นอน..นางย่อมตอบไม่ได้ เพราะแม้แต่นางเองก็ไม่อยากเชื่อว่า
นางมีจิตผูกพันกับบุรุษหนุ่มที่มาอาศัยเรือนของบิดาของนางแล้ว

“ความรัก” เป็นพลังพิสดาร
บางครั้งแม้แต่เจ้าตัวก็ไม่ทราบว่ามันเข้ามาเยือนตั้งแต่เมื่อใด
หนึ่งเดียวที่นางตักเตือนตนเองเสมอว่า ไหนเลยเราคู่ควร เพราะเรา…
คำว่า ตาบอด แม้นางเองก็ไม่อยากเอ่ยออกมา
หากแต่ดวงตาของนางเท่านั้นที่บอด
หาใช่ดวงใจไม่ ดวงใจของนางกลับลุกโชน สว่างไสว
เรียกร้องถึงความต้องการบางประการ
มันคือ สัญชาตญาณที่ดึกดำบรรพ์ที่สุดเท่าที่มนุษยชาติมีมา
“ท่านอยู่ที่นี่ตลอดไปได้หรือไม่”
เนิ่นนานเท่าใด? กล้าหาญเพียงไหน? กว่าที่นางจะกล่าวประโยคนี้ออกมา
“ความหมายในเสียงขับขานของแม่นางน้อยน่าฟังอย่างยิ่ง”
ใช่เป็นคำตอบของมันหรือไม่ หรือนั่นเป็นคำตอบแล้ว?

“ข้าพเจ้าเข้าใจ แท้จริงไม่ควรถาม คำถามเช่นนั้นกับท่าน”

ในถ้อยคำของนางไหนเลยฟังเป็นถ้อยคำได้ ไม่ทราบทินเล่ฟังอยู่หรือไม่?
เป็นความโชคดีหรือโชคร้ายของนางที่ไม่เห็นความรู้สึกบนใบหน้าของผู้ที่นางสนทนาด้วย
ทินเล่ มันเล่า? ไม่ทราบตนเองจะทำเช่นไรในขณะนี้จึงควร


ถ้านางเป็นสตรีที่งดงามดังปกติคนหนึ่ง
มันคงผละไปจากที่นั่นง่ายดายกว่านี้
แต่เพราะนางตาบอดนี่เองทำให้มันตอบตนเองไม่ถูก

สิ่งที่มันกังวลตอนนี้หาใช่ใจของมัน แต่กลับเป็นความรู้สึกของนาง

กับผู้กล้าที่เข้มแข็งบางคน
กระทั่งกระบี่นับหมื่นนับพันในสนามรบ
มันหาได้เกรงกลัวไม่
แต่ไฉน มันกลับเกรงกลัว
ต่อความรู้สึกของสตรีเล็ก ๆ เพียงผู้หนึ่ง
กระทั่งถ้อยคำมันก็ไม่กล้าให้กระทบกระเทือนความรู้สึกนางแม้แต่น้อย
เนื่องเพราะมนุษย์มีความรู้สึกนี้เอง ทำให้มนุษย์จึงมีส่วนที่งดงามอยู่บ้าง
มีบ้างบางคนเนื่องเพราะความสงสารที่ล้ำลึกจึงกลายเป็นความรักที่ลึกซึ้ง
เพราะแท้จริง ความสงสารก็เป็นต้นตอหนึ่งของความรัก
ในที่สุด มันจับมือที่บอบบางขาวสะอาดดุจดังเบญมาศขึ้นมาประคองไว้
พร้อมกับบีบกระชับแน่นๆ คราหนึ่ง ถ้อยคำใดล้วนไม่สำคัญ
บางเวลายิ่งไม่เอ่ยวาจา
กลับแทนความหมายร้อยคำ หมื่นวจี

เฉกเช่น ความรักที่ยิ่งสารภาพออกไป
ความรักก็ยิ่งสลายไป
ความรักที่เก็บไว้จนไม่มีถ้อยคำบรรยาย
จึงเป็นความรักที่ทรงคุณค่าอันสูงส่ง
เป็นรักนิรันดร ประตูแห่งดวงใจเปิดรับสัมผัสนั้นแล้ว
เบญจมาศในยามเย็นมากเช่นนี้
บางดอกน้อมก้านลง มิทราบนั่นเป็นการแสดงความยินดี
เป็นการอำลาตะวัน หรือมีความหมายอื่นแอบแฝง!!

วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

BV 4M ทฤษฎีสร้างวัฒนธรรมไทย

แผนพัฒนาวัฒนธรรมด้วยปณิธานพระโพธิสัตว์








ทฤษฎี BV 4M เป็นทฤษฎีที่ได้จากการทำ SWOT วัฒนธรรมไทย จึงขอเสนอแนวทางพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมไทยด้วยหลักปณิธาน ๔ ของพระโพธิสัตว์

KEYWORDS


BV = Bodhisatva Vows หมายถึง ปณิธาน ๔ ของพระโพธิสัตว์
CM = Compassion Management หมายถึงการใช้หลักจิตอาสา ช่วยเหลือด้วยจิตกรุณาต่อสรรพสัตว์ถ้วนหน้า
KM = Knowledge Management หมายถึง การศึกษาหาความรู้ที่ถูกต้อง และใช้ความรู้นั้นเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสังคม
EM = Emotion Management หมายถึง การจัดการอารมณ์ที่ควบคุมด้วยกิเลสด้วยการพิจารณาให้เห็นความเป็นจริง ละความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์
TM = Target Management หมายถึง การจัดการเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้อง เป็นระดับ คือ เป้าหมายปัจจุบัน เป้าหมายอนาคต และเป้าหมายสูงสุดโดยการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ในรูปแบบการบรรลุ ๓ มิติ คือ มิติอนุพุทธะ มิติปัจเจกพุทธะ และมิติสัมมาสัมพุทธะ



มีคำอธิบายทฤษฎี ดังนี้
๑. ต่อวัฒนธรรมด้านคติธรรม ให้ใช้ฐานศรัทธาจริตของคนไทยมาเป็นประโยชน์ โดยการเพิ่มระดับของสื่อและการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจถึงศรัทธาที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล แต่เป็นเพียงระดับหนึ่งของการสร้างสรรค์สังคม ทำให้สังคมรู้จักหวั่นเกรงต่อสิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผล ต้นไม้ใหญ่จะได้หลงเหลือเพราะเชื่อว่ามีรุกขเทวดา ป่าดอนปู่ตา ก็จะเหลือเพราะเกรงผีจะทำร้าย แต่ปัจจุบันไม่เหลือสิ่งใดให้ได้หวั่นเกรงอีก



๒. วัฒนธรรมด้านวัตถุธรรม สิ่งก่อสร้างใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ด้านประติมากรรม และจิตรกรรม สร้างแบบมีความหมายทางจิตวิญญาณระดับสูง เป็นไปตามปรัชญามหายานไม่ว่าจะเป็น เจดีย์ ๔ เหลี่ยม หรือ ๘ เหลี่ยม เจดีย์ทำเป็นดอกบัวซ้อน บัวสี่กลับ ดอกบัวใหญ่ ประดับอลังการ เจดีย์ที่สร้างพระพุทธรูปล้อมรอบ แล้วมีกรุตรงกลาง หรือเจดีย์ ๓ ยอดบนฐานเดียวกัน ห้ายอด หรือ เก้ายอด เจดีย์แบบพระปรางค์ มีความหมายทางสัญลักษณ์ศาสตร์ชั้นสูง มิใช่สร้างอย่างไร้ความหมาย หรือเอาประโยชน์เป็นหลักแต่ไร้จิตวิญญาณ ไร้เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

๓. ต่อวัฒนธรรมด้านเนติธรรม ใช้กรอบแห่งเงื่อนไขทางศิลปวิทยา วิชชาความรู้ เวทมนต์ อาคม เครื่องรางของขลังเป็นสื่อ แต่แฝงเงื่อนไขทางเนติธรรมไว้ให้สังคมดูแลสังคม ใช้กรอบความเชื่อในจารีตประเพณีอันถูกต้องมาเป็นเครื่องยับยั้งชั่งใจ ไม่กล้าทำผิดเพราะเกรงเภทภัยแต่ตนและสังคม มิใช่ใช้กฎหมายมาเป็นกรอบแต่คนไม่ได้เข้าใจกฎหมาย กฎหมายจึงกลายเป็นเครื่องมือทำผิดของผู้ดูแลเสียเอง

๔. ต่อวัฒนธรรมด้านสหธรรม เป็นการสร้างความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กันในสังคม ตามหลักของทิศ ๖ เป็นการปฏิบัติต่อกันภายใต้กรอบแห่งการทำ พูด คิดด้วยความเคารพรัก แบ่งปันเกื้อกูลกัน ร่วมกันรักษาหน้าที่ ร่วมกันสร้างสรรค์สังคม
เนื้อทางวัฒนธรรมทั้ง ๔ ด้านนี้ นำเข้าสู่กระบวนการจัดการตามทฤษฎี “BV 4M” (Bodhisatva Vows in 4 Managements)
CM ใช้จิตอาสา ช่วยเหลือด้วยจิตกรุณาต่อสรรพสัตว์ถ้วนหน้า
KM ใช้หลักวิชาความรู้ที่ถูกต้อง
EM ขจัดอารมณ์ขุ่นหมองและเป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาสังคม
TM กำหนดเป้าหมายให้ถูกต้อง เป็นระดับ


เมื่อนำทฤษฎีนี้ไปใช้จะทำให้วัฒนธรรมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี เป็นการสร้างโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่เหมาะสมกับภูมิหลังและลักษณะนิสัยของคนไทย



(รายละเอียดติดตามวารสารบัณฑิตศาส์น มมร ฉบับต่อไป)






วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๑๑)





ศิลาทรายเหลืองสูงประมาณสิบเชี๊ยะพิงอยู่กับหน้าผา
ก้อนศิลาที่ไร้ความหมายบัดนี้เริ่มกลายมาเป็นรูปลักษณ์อันทรงคุณค่ายิ่งแล้ว
เสียงกระทบระหว่างแท่งเหล็กแกะสลักกับก้อนศิลา
สะท้อนก้องไปในอากาศ เสียงนั้นยังก้องอยู่ในโสตประสาท แม้บัดนี้จะไม่มีเสียงกระทบแล้วก็ตาม


ริมพระโอษฐ์ล่างหนากว่าริมพระโอษฐ์บนเล็กน้อยรับกันจนปรากฏเป็นรอยยิ้มที่เอิบอิ่มคล้ายดั่งรอยแย้มแห่งมหาเมตตาที่ประทานแด่สรรพสัตว์ทั่วหล้า ฉะนั้น
พระเกศาขมวดสูง ผ้าโพกพระเกศามีสายสร้อยประดับรัดไว้
ระหว่างกลางผ้านั้นมีรูปพระธยานีอมิตาภพุทธะประทับนั่งสมาธิอยู่
เหนือพระนลาฏะเป็นแนวอัญมณี ลักษณะพระขนงเป็นเกลียว
มีพระอุณาโลมจรดกันขอบพระเนตรบนสูง
พระหัตถ์ซ้ายทรงถืออัษมาลา และกมัณฑลุ
พระหัตถ์ขวาทรงถือบัวชมพูที่กำลังเบ่งบาน ผ้าคลุมพันรอบพระอังสะ
ผ่านไปที่ท่อนพระหัตถ์ซ้าย ส่วนผ้าปริธาณ (ผ้านุ่ง) พันผ่านจากด้านหนังมาสู่ด้านหน้า
แล้วสอดไว้ที่ประคตมีชายผ้าห้อยลง
ปลายด้านหนึ่งงอนคล้ายดั่งปลิวขึ้น
พระบาทซ้ายน้ำคู่เข้าส่วนพระบาทขวาห้อยลงเกือบถึงพื้น

เหงื่อบนใบหน้าของมันไหลผ่านร่องแก้มเข้าไปในปาก
รสเค็มของเหงื่อทำให้มันคลายสายตาที่เพ่งมองรูปสลักที่มันใช้พลังศรัทธาผสมความพากเพียรพยายามกระทำจนเกือบจะเสร็จสิ้น เหลือเพียงแต่เทพยดาน้อยสองตนด้านข้างเท่านั้น
ฝ่ามือที่เคยบอบบาง บัดนี้หยาบกร้านบางนิ้วยังมีคราบเลือดและเป็นสีศิลาทรายเหลืองที่แห้งติดในเล็บเพราะค้อนตีเหล็กแกะสลักพลาดมาถูกนั่นเองแต่มันก็หาได้ใส่ใจไม่

…โอ..อวโลกิเตศวรผู้เป็นใหญ่
ผู้ทรงพระเมตตา
ผู้ปลดปล่อยสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์
พระองค์ประทับอยู่กลางใจผู้คน
สรรพสัตว์จะเพรียกหาพระองค์จากดวงจิต..
เสียงเพรียกพระนามของพระองค์นั้นลี้ลับ
ศักดิ์สิทธิ์ดุจเสียงฟ้าเหนือมหาสมุทร
หาสิ่งใดเสมอเหมือนมิได้…

ทินเล่รำพึงต่อพระพักตร์รูปสลักพระอวโลกิเตศวร ที่เกิดจากศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของมันเอง
คำ “ศรัทธา” บางครั้งคือขุมพลังที่เป็นประโยชน์ใหญ่ บางครั้งก็คล้ายพลังที่พุ่งไปในความมืดมนอนธกาล
แต่ธรรมชาติของศรัทธามักสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้ปรากฏแก่โลกเสมอ

ขอเพียงปักใจแน่วแน่และมานะฝึกปรือ
แม้แต่ฟ้าก็ยังหลีกทางให้
“ในที่สุดเจ้าก็พิสูจน์ความตั้งใจของเจ้าให้ปรากฏแล้ว”
เสียงที่ทรงพลังเปี่ยมด้วยเมตตาดังขึ้นเบื้องหลังของมัน
แม้มันไม่เห็นว่าผู้พูดเป็นใคร แต่มันก็ทราบว่าเสียงนี้เป็นเสียงของผู้ใด


[[[[[

เรือนไม้เล็กๆ หลังหนึ่งแทรกอยู่ในดงไผ่
บริเวณพื้นกอไผ่เตียนโล่งเหมาะสำหรับการบำเพ็ญธรรมยิ่งนัก
หน่อไผ่หลายหน่อเพิ่งจะแทงทะลุดินออกมา เพื่อสืบสานดำรงพันธุ์ของมัน
ชายผู้นั้นพามันเดินผ่านแนวไผ่ และเรือนไม้ไปอีกด้านหนึ่ง
ณ ที่นี้เป็นเรือนศิลาทรายเหลือง ดูเข้มแข็งทนทาน
สมณะหนุ่มผู้หนึ่งเดินออกมาจากภายในเรือนศิลาแล้วเอ่ยขึ้น
“ประสกพาผู้ใดมาด้วย?”
“บุรุษที่เดินทางมาจากดินแดนตะวันออกผู้หนึ่ง”
“มานพน้อย เจ้ามาด้วยประสงค์ใด?”
“ยังไม่ทราบแน่ชัด” ชายผู้นั้นคล้ายนึกออกถึงการสนทนาครั้งแรกได้ จึงกล่าวคำต่อไป
“มิทราบที่นี่มีโมกขธรรมให้หารือหรือไม่ ดูเหมือนเขาจะมาเพื่อจุดประสงค์นั้น”
สมณะหนุ่มไม่กล่าวกระไรอีก ได้แต่เชิญทั้งคู่เข้าไปภายใน
โต๊ะเก่าตัวหนึ่งตั้งอยู่กลางห้อง โดยมีเก้าอี้สี่ตัวล้อมรอบ ข้าฝาผนังมีภาพวาดสมณชราแขวนอยู่
เพียงครู่..สมณะหนึ่งรูปนั้นก็พร้อมกับมันต้มถั่วเหลืองถ้วยหนึ่ง
“ประสกทานนี่ก่อนเถิด” ท่านวางมันต้มบนโต๊ะ “ขออภัยด้วยที่ต้อนรับท่านด้วยมันต้มถั่วเหลือง”
“โปรดอย่ากล่าวเช่นนั้น นับเป็นพระคุณยิ่งแล้ว มันต้มก็ประทังชีวิตได้” ทินเล่กล่าวขอบคุณ


แท้จริงแล้ว
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ดำรงชีพได้ง่ายที่สุด
แต่มนุษย์กลับทำตนเป็นสัตว์ที่อยู่ยากที่สุด
สิ่งที่กีดขวางไม่ให้มนุษย์ได้รับสิ่งดีที่สุดในชีวิตก็คือ…
การไม่รู้จักใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย
เกือบค่อนเวลาของชีวิตที่มนุษย์ใช้ไปกับการแสวงหาปัจจัยดำรงชีพ
อุทิศชีวิตเพื่อแสวงหาของเสพสนองความอยากที่ไม่จำเป็นทั้งนั้น
แทนที่จะใช้เวลาไปเพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต

[[[[[

แรมสามค่ำ เดือนสาม
จิ้งหรีดภูเขาส่งเสียงร้องดังไปทั่วบริเวณสวนไผ่
เบื้องหลังอารามแห่งนี้เป็นหน้าผาศิลาทรายเหลืองเกือบทั้งลูก
ศิลาจากเขาแห่งนี้เป็นแหล่งที่ได้มาซึ่งวัสดุเพื่อนำไปแกะเป็นเทวรูปพระโพธิสัตว์ที่พบเห็นตามมุมถนนภายในเมืองอุทกขัณฑะ
อารามการาตะปะ เป็นเพียงอารามเล็กๆ แห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง
มีภิกษุสงฆ์ภายในอารามเพียงเจ็ดรูป
เจ้าอาวาสชื่อว่า จินโตชยโฆษ อายุห้าสิบแปดปี มีพรรษาสี่สิบห้าแล้ว ท่านศึกษาตามแนวของจิตตมยมาตรสิทธิ (โยคาจาร)
ทินเล่ใช้ชีวิตอยู่ในอารามแห่งนี้เพื่อพิสูจน์ตนเอง
บทพิสูจน์ของมันคือการไปที่เชิงผาเพื่อแกะสลักรูปพระอวโลกิเตศวรองค์หนึ่ง
ชายที่นำมันมาคือผู้ที่ถ่ายทอดศิลปะการแกะสลักให้
กล่าวกันว่า การแกะสลักเป็นการฝึกความแข็งแกร่งของพลังนิ้วมือประการหนึ่ง
นิ้วมือทุกนิ้วมีส่วนเชื่อมต่อกับอวัยวะภายในร่างกาย
นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือสร้างเสริมพลังสมองช่วยให้ตัดสินใจว่องไว
ส่วนนิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อยนั้นเสริมสร้างความปราดเปรียวฉับไว คล่องแคล่วให้กับร่างกาย
จอมยุทธ์มากมาย มักมีความชำนาญในการใช้นิ้วมือของตนไปตามแขนงศิลปะหลายประการ
เช่น ดีดพิณ วาดภาพ แกะสลัก เขียนอักษร เป็นต้น
เพราะนั่นคือแนวทางแห่งการฝึกปรือพลังนิ้วของตนนั่นเอง

หกเดือนสิบสองวันที่ทินเล่ทุ่มเทชีวิตเพื่อรูปสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์นี้
พระองค์งดงามตระหง่านอยู่เบื้องหน้า
มันพรางเปล่งเสียงรำพึงที่ออกมาจากเสียงเพรียกจากดวงจิต....
เมื่อเสียงรำพึงหยุดลง เสียงหนึ่งก็ดังขึ้นมาจากด้านหลัง

[[[[[

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๑๐)

ผู้คนที่อุทกขัณฑะออกมาต้อนรับเหล่านักรบผู้กล้าของตน
บ้างดีใจที่ยังพบบุคคลที่ตนร่ำลา
แต่มีบางคนเปล่งเสียงร่ำไห้เมื่อบุคคลที่ตนรอนั้นไม่มีโอกาสได้ทักทายกับตนต่อไป
เรื่องราวเช่นนี้ ยังคงมีอยู่คู่โลกใบนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

บ้านเรือนล้วนสร้างด้วยอิฐทรายแดง แข็งแรงทนทาน
ทินเล่ ปลีกตัวไปจากกองทหาร มันสังเกตว่า
ผู้คนที่นี่มีร่างกายสูงใหญ่ ใบหน้ามีเคราดกหนา
ดวงตาโปนโต รับกับขนตาที่งอน ดวงตามีสีน้ำตาล
จมูกโด่งเป็นสัน ทั้งที่เป็นชายก็ยังมีลักษณะอันน่าเกรงขามยิ่ง
ลักษณะเช่นนี้คล้ายดั่งรูปนักปราชญ์ในตำนาน หรือไม่ก็เป็นเชื้อสายของพระเจ้ากนิษกะเป็นแน่

มันเดินมาไกลยิ่งแล้ว ไกลจนเกือบถึงอีกด้านหนึ่งของตัวเมือง
แพะสามสีตัวเดินเหยาะย่างผ่านหน้ามันไปอย่างสบายใจ
สิ่งที่มันพบอีกประการหนึ่งก็คือ
ทุกหนทุกแห่งจะมีรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
ประจำอยู่ทุกมุมกำแพงถนน
เยื้องป้อมหนึ่งไปมีสวนไผ่เรียงรายดูเป็นระเบียบอย่างยิ่ง
มันอดคิดไม่ได้ว่า ที่ผ่านมานั้นคือดินแดนนรก
บัดนี้มันได้เข้ามาสู่ดินแดนเทพเจ้าแล้ว

[[[[[

















ความร่มรื่นของธรรมชาติมักช่วยย้อมจิตใจผู้คนให้เยือกเย็นลงได้
ผู้ใดเข้าใจธรรมชาติ
ไม่แยกตนออกจากธรรมชาติ
ชื่อว่าย่อมบรรลุแก่นแท้ของธรรมชาติ
และเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง
เฉกเช่นดี ชั่ว
หากผู้ใดภายในใจยังแยกแยะมีดีมีชั่ว
ก็ยังไม่ชื่อว่าบรรลุถึงแก่นแท้สัจธรรม
เพราะแท้จริงต้องบรรลุถึงความไม่มีทั้งดีและชั่ว ข้ามพ้นดีชั่ว
ที่ยังมีดีและชั่วเนื่องจากจิตมีความเป็นเราเป็นเขา
พระอริยะทั้งหลายเข้าถึงสภาวะไม่มีนี้เองจึงหลุดพ้นได้



สายน้ำในลำธารไหลรินคละเคล้าโคลนตม
สายฝนโปรยปรายลงจากก้อนเมฆเบื้องบน
ถ้ายังแยกแยะสายน้ำกับสายฝนก็ยังไม่เข้าถึงความจริงแท้
ก็เพราะสายน้ำกับสายฝนคือสิ่งเดียวกันเพียงแต่ต่างสถานะเท่านั้น

ทางสายเล็กๆ ราบเรียบทอดยาวไปตามแนวไผ่ เสียงไผ่เสียดสีกอกลายเป็นเพลงธรรมชาติ
ชีวิตที่พ้นจากความทุกข์ยากมาได้ย่อมพบกับความเบิกบาน น่าภาคภูมิใจอยู่บ้าง สมควรที่ผู้คนควรอดทนให้ถึงวันนั้น



รางวัลสำหรับผู้อดทน ดิ้นรน ต่อสู้
มักน่าภาคภูมิใจยิ่ง หอมหวานเสมอ
หากผู้คนเพราะพันธุ์ความอดทนลงในตัวเอง
ในที่สุด…เขาจะเก็บเกี่ยวผล
ของความสำเร็จภายหลัง


ในขณะที่ทินเล่ชื่นชมธรรมชาติและยังไม่ทราบจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป
“เจ้ามาจากดินแดนตะวันออกหรือ?”
ชายวัยกลางคนผู้หนึ่ง มาตั้งแต่เมื่อไรไม่ทราบ เอ่ยวาจาขึ้น
“ท่านเคยไปที่นั่น?” ทินเล่หันไปตามเสียงนั้น พร้อมกับตั้งคำถามแทนคำตอบ
“ไม่เคย” ชายผู้นั้นมีท่าทีเฉยๆ รักษาสีหน้าไว้เป็นปกติ “แม้ข้าไม่เคยไปที่นั่น แต่เมืองของเราก็มีพ่อค้าหลายคนมาจากดินแดนตะวันออก” เขาหยุดนิดหนึ่ง คล้ายดั่งสังเกตดูทินเล่ พร้อมกับเอ่ยขึ้นอีก “เจ้ามาค้าขายที่นี่หรือ?”
“หามิได้” ทินเล่บอกจุดประสงค์ของตนเอง ซึ่งมันไม่เคยปิดบังเพราะนั่นคือปณิธาน “ข้าเดินทางหลายพันลี้มาก็เพื่อศึกษาทางแห่งโมกขธรรม”
“เอาเถอะ….ไม่ว่าเจ้าจะมาเพื่อจุดประสงค์ใด แต่ข้าก็เชื่อว่าเจ้าต้องทานอาหาร”

เขากล่าวความจริงอย่างยิ่ง
ไม่ว่ามนุษย์จะยิ่งใหญ่ปานใด
จะมีปณิธานยิ่งใหญ่ปานใด
แต่มนุษย์ก็ไม่อาจไม่กินอาหาร
มันไม่รู้จักชายผู้นี้มาก่อน
แต่ตอนนี้มันกำลังเดินตามเขาไป
ชายผู้นั้นเดินอ้อมสวนไผ่ไปอีกด้านหนึ่ง ทั้งสองเดินห่างออกไปจากตัวเมือง
เสียงน้ำในลำธารไหลเอ่ยๆ ด้านล่าง ลมสายัณหกาลพัดเบาๆ
เสียงสดใสไพเราะของธรรมชาติฟังคล้ายเทพธิดากำลังกรีดพิณโบราณบรรเลง
ฟังแล้วสามารถกล่อมเกลาจิตใจให้เคลิบเคลิ้มหลงใหลได้ไม่น้อย
ทั้งสองข้ามสะพานไม้เก่าๆ ไป


เบื้องหน้าเป็นหน้าผาหินทรายเหลือง มองดูดุจดังเป็นที่สุดสิ้นขอบโลกเด่นตระหง่านขวางกั้น
ทั้งสองหยุดที่ประตูโบราณแห่งหนึ่ง

วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๙)

ห้วงแห่งความรู้สึกลางเลือน ท้องฟ้าหมุนคว้าง
ทุกสิ่งคล้ายว่างเปล่า ไม่มีความเจ็บปวด ไม่มีความเสียใจ ก่อนที่มันจะหมดความรู้สึกลง
ภาพแห่งสตรีนางนั้นที่กำลังถูกข่มเหง นางต่อสู้ขัดขืน

เป็นมันที่เข้าไปขอร้องทหารทุรชนผู้หนึ่ง “ปล่อยสตรีนางนี้ไปเถอะ นายท่าน”
“ใครให้เจ้าเข้ามาในนี้” มันหันมาที่ทินเล่ด้วยสายตาไม่พอใจอย่างยิ่ง “เจ้าคงไม่อยากมีชีวิตเป็นแน่”
ผ่านไปเนิ่นนานเท่าใด?
ทินเล่ ลืมตาขึ้นอย่างยากเย็น บุคคลแรกที่มันเห็นคงยังเป็นนางผู้นั้น

นางยังคงใช้ผ้าเช็ดหน้าของตนเช็ดบาดแผลและใบหน้าของมันอย่างค่อยๆ
ที่นางเช็ดบางทีก็คือ น้ำตาของนางนั่นเองที่หยดลงบนใบหน้าของมัน

“แม่นางปลอดภัยใช่ไหม?”
ยังคงเป็นความห่วงใยผู้อื่นที่มันเอ่ยปากถาม
“เป็นเพราะข้าไม่ดีเองที่ทำให้ท่านต้องได้รับบาดเจ็บ” นางยังกล่าวประโยคเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“แม่นางใยต้องตำหนิตนเอง” มันปลอบให้นางสบายใจขึ้น “ที่ต้องตำหนิก็คือชะตาเราเองที่ต้องยังเกิดมาอีก หมู่บ้านซ่างซัวและผู้คนจึงต้องภัยพิบัติครั้งนี้ ข้าเองทั้งที่มีผู้เตือนแต่ก็ยังไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”
“เป็นผู้ใดเตือนท่าน”
“เป็นชายที่ไม่ได้สวมเสื้อคนหนึ่ง”
“มันรอดปลอดภัยจริง ๆ เท่านี้ข้าก็ดีใจแล้ว

ชะตาของข้ายังไม่เลวร้ายนัก อย่างน้อยผู้ที่ข้าฝากชีวิตไว้ยังอยู่”
ดูนางมีความหวัง เป็นความหวังที่ลางเลือนยิ่งนัก แต่กระนั้น ความหวังก็คือความหวัง
ความหวังเป็นดั่งประกายไฟดวงเล็ก ๆ
ที่ทำให้คนมีชีวิตอยู่เพื่อความหวังนั้น
ความหลังอันงดงามนั้น
ช่างผ่านไปรวดเร็ว
ดังนั้น ชายชราจึงผ่านเวลาอันเงียบเหงา
ที่ยาวนานผ่านไป
ด้วยการหวนคะนึงถึงความหลังนั่นเอง

****

แรมเจ็ดค่ำ เดือนหก
ใกล้ถึงชิวเทียน (ฤดูใบไม้ผลิ) อีกครั้ง
บนพื้นเริ่มเห็นติณชาติงอกงาม ผลิหน่อแตกกิ่งใบ แต่มันเป็นชีวิตที่ผลิออกบนแผ่นดินที่เป็นกรวดหินและศิลา ทำให้ติณชาติเหล่านี้ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหยั่งรากของตนลงสู่พื้นอันแข็งกระด้าง

ถึงกระนั้นพวกมันก็พึงพอใจที่จะได้มีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป
กระโจมทุกหลังถูกเทียมด้วยม้าพร้อมทุกคัน
กระโจมเคลื่อนไปทิศตะวันตกเฉียงเหลือ มองดูกระโจมที่เคลื่อนไปดุจดังสัตว์เลื้อยคลานตัวมหึมาตัวหนึ่ง
กองทหารคุ้มกันคุมขบวนกระโจมแบ่งเป็นกองหน้า กองกลาง และกองหลัง
จุดมุ่งหมายคือ บุกแคว้นกัศมีระ

*****

หน้าผาสูงชัน…
หนทางเลียบหน้าผา กระโจมไม่อาจเรียงเป็นหน้ากระดานได้
นี่ถ้าหากถูกโจมตีย่อมเป็นที่อันเหมาะสมยิ่ง แต่จะภาวนาให้ผู้ใดล่วงรู้และมาโจมตีพวกมันได้
กระโจมใหญ่ของแม่ทัพเตมูจายิน ผ่านช่องแคบผ่านไปเบื้องหน้า

แม้จะมีการระมัดระวังเพียงใดพวกมันอย่างน้อยก็มั่นใจว่า ไม่มีผู้ใดจะยกมาซุ่มกำลังไว้ ณ กลางภูเขาเช่นนี้ เพราะที่นี่ห่างจากเมืองกัศมีระมากนัก

ถ้าจะมีก็แต่เมืองอุทกขัณฑะเท่านั้นที่จะนำทหารมาทัน
แต่อุทกขัณฑะก็ไม่ได้ติดต่อกับกัศมีระไหนเลยจะนำทหารมาซุ่มได้

เมื่อฟ้าจะนำโศกนาฏกรรมมาให้แก่ผู้ใด
ฟ้าจะประทานความเงียบสงบ
ความเบิกบานบันเทิงให้แก่ผู้นั้นก่อน
ชีวิตก่อนประสบเคราะห์กรรมก็มักเป็นเช่นนี้
มักมีความรุ่งโรจน์โชติช่วงเป็นพิเศษ
นักรบผู้กล้าจากเมืองปุรุสปุระและอุทกขัณฑะ ทราบความเคลื่อนไหวของพวกมันก่อนแล้ว
เสียงตีม้าล่อดังกระหึ่มเป็นสัญญาณ เสียงกลองรบดังปานฟ้าถล่ม เสียงธนูแหวกอากาศ ความโกลาหลเกิดขึ้นเนื่องเพราะพวกมันประเมินผู้อื่นต่ำไป
ผู้ประเมินผู้อื่นต่ำไปสมควรตายทั้งสิ้น
กองหน้าและกองหลังไม่อาจคุมกันติด
และแล้วหายนะครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นเป็นพ่ายแพ้ของทหารมงโกลที่รุกรานแดนไกลของพวกมัน
ทินเล่อยากจะตั้งคำถามใครสักคนว่า ทำไมต้องรบและฆ่าฟันทำร้ายกันด้วย
แต่มันก็สรุปว่า คำตอบที่สมบูรณ์ในเรื่องนี้คงไม่มี เนื่องจากมันคือสงคราม

สงครามไม่ใช่สิ่งที่ดี ไม่ใช่สิ่งที่น่าปรารถนา
แต่ดูเหมือนว่า สงครามก็เกิดได้ทุกที่
และมีมาควบคู่กับมนุษยชาติแต่ปางบรรพ์
ในขณะที่มันยืนมองเหตุการณ์ที่มนุษย์ที่ชื่อว่า ผู้มีความคิด มีเหตุผลทำขึ้นอยู่นั้น

พลันชายผู้หนึ่งก็เข้ามาหามัน มือหนึ่งถือกระบี่ยาวสามเชี้ยะครึ่ง สวมเกราะหวายยืนมองด้วยท่าทางเศร้าเสียใจไม่แพ้กัน พลางเอ่ยขึ้น
“ดูเหมือนเราเคยพบกันแล้วใช่ไหม ?”
ทินเล่ มองดูชายผู้นั้นเพื่อทบทวนความจำว่า มันเคยพบกับชายผู้นี้หรือไม่ และมันก็จำได้
“ใช่….ท่านคือ….”
“ถูกต้อง เรามาเพื่อปลดปล่อยคนซ่างซัวให้ได้รับอิสระ”
“ที่แท้ท่านไปแจ้งข่าวการมาของพวกมองโกลให้เมืองทั้งสองทราบ”
“เพื่อความอยู่รอดของเมืองทั้งสองเอง พวกเขาหาใช่ทำเพื่อเราไม่”
“ก็นับว่า ช่างซัวและแม่นางราณิทิกามีวาสนาแล้วที่มีคนเช่นท่าน” ทินเล่ไม่ต้องการให้ชายผู้นั้นรื้อฟื้นเรื่องราวในอดีต เนื่องจากสายตาของเขามีคำถามมากมาย มันจึงกล่าว “แม่นางของท่านคงรอท่านแล้ว”
“หากมีวาสนาเราคงได้พบกันอีก”
“ใช่…หากมีวาสนาคงได้พบกัน”

มนุษย์มีเรื่องราวให้ต้องกระทำอีกมากมาย
มีผู้คนมากเหลือเกินที่จะเอาชีวิตไปฝากไว้กับอดีต
มีไม่น้อยเช่นกันที่เอาชีวิตผูกกับอนาคต
แต่ที่มุ่งกระทำในสิ่งที่พึงกระทำในขณะที่มันดำรงอยู่
กลับมีน้อยอย่างยิ่ง

พุทธศิลป์กับวัฒนธรรมไทย

พุทธศิลป์กับวัฒนธรรมไทย
ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์


คำว่า ศิลปวัฒนธรรม (Art and Culture) มักเป็นคำที่มาด้วยกัน คำนี้เป็นคำเรียกลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมอย่างรวมๆ ทั้งที่ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ทั้งที่สามารถจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ แต่ให้ความเพลิดเพลินและความซาบซึ้งและประทับใจ ศิลปวัฒนธรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญสิ่งหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นคงของชาติ การสร้างอุดมการณ์ของชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์และเข้าถึงประชาชนมากที่สุด เป็นสื่อสำคัญในการสร้างประเทศ สร้างความก้าวหน้า การรักษาศิลปวัฒนธรรมเท่ากับเป็นการรักษาเอกลักษณ์ จุดเด่น วิญญาณของชาติ อันเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา สร้างเกียรติภูมิ ตลอดจนศักดิ์ศรีแก่ประเทศชาติประชาชน

พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) ได้กล่าวถึงศิลปะว่า ครั้นเมื่อมนุษย์รู้จักผลิตขึ้นได้ดีกว่าเดิม มีความงดงาม ความเรียบร้อยตามที่ตนต้องการทางจิตใจเจริญเรื่อยเป็นลำดับมา สิ่งที่ผลิตสร้างก็เกิดเป็นศิลปกรรมขึ้น...อารมณ์สะเทือนใจเป็นตัวการทำให้เกิดศิลปะและการแสดงออกให้เกิดเป็นรูปขึ้นได้...เป็นศิลปะอันเป็นขั้นสุดท้ายของความรู้แล้วจะเกิดความสนใจ กระทำให้เป็นสุขใจที่แท้จริง ถ้าความรู้นั้นเป็นไปเพื่อความสุขแก่ส่วนรวมอันเป็นจุดหมายปลายทางแห่งชีวิต

ศิลปะเกิดจากวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมคือผลรวมแห่งชีวิตมนุษย์ เพื่อสนองตอบความต้องการทางร่างกาย ให้มีชีวิตอยู่รอดพร้อมกับความเจริญงอกงาม ในการรับรู้ทางกาย ทางสติปัญญา ทางอารมณ์ ทางสังคม ทางสุนทรียะ และการสร้างสรรค์ ศิลปะช่วยกล่อมเกลาและสนองตอบความต้องการของวิถีชีวิตมนุษย์ได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะสุนทรียะหรือความงามที่ในรูปแบบที่มากหลาย ด้วยรูปแบบของศิลปะที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ เครื่องประดับ และรูปเคารพมาโดยตลอดแต่ดึกดำบรรพ์ มีวิถีชีวิตของมนุษย์เป็นตัวกำหนดทั้งทางตรงและทางอ้อม

ตราบใดที่ศิลปะยังเป็นการสร้างผลงานของมนุษย์เพื่อมนุษย์เช่นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับวัฒนธรรมก็ยังคงเดินคู่กันไปเช่นนี้ เพราะความที่ต่างก็เป็นเหตุและผลของกันและกัน พุทธศิลป์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการทางกายทางใจสำหรับมนุษย์ ที่พอใจกับการได้เห็น ได้ยิน ได้ใช้สอย สิ่งดีงาม ไพเราะเหมาะสม ไม่ว่าประยุกต์ศิลป์ หรือ วิจิตศิลป์ ต่างก็มีวัตถุประสงค์ทางการสร้างสรรค์อันแน่ชัดว่า เพื่อมนุษย์ด้วยกันได้เกิดการรับรู้ถึงความงาม ความไพเราะ ความซาบซึ้ง ที่โอนอ่อนผ่อนคลายทางใจและอารมณ์ รู้จักที่จะปฏิบัติตน แต่งกาย บำรุงตัว ตามแบบแผนของวัฒนธรรมแห่งยุค ใช้มือให้รู้จักทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ดีงาม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัฒนธรรมทั้งสิ้น มีพุทธศิลป์เป็นตัวแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่คอยโน้มนำและชี้มุมสะท้อนของจิตนิยมทางวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย

ศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกได้อย่างชัดเจนได้แก่ พุทธศิลป์ คืองานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นจิตรกรรมประติมากรรม หรือสถาปัตยกรรม ก็ล้วนแล้วแต่เรียกได้ว่าเป็น พุทธศิลป์ ทั้งสิ้น เกิดขึ้นนับแต่มีการค้นพบศิลปวัตถุชิ้นแรกจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ถือเป็นยุคทองของสมัยกรุงสุโขทัย เนื่องจากได้เกิดแบบแผนความเจริญทางวัฒนธรรมที่เป็นของไทย ซึ่งความเจริญทางวัฒนธรรมดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับ ๓ รูปแบบ คือ พุทธศาสนา ภาษาไทย และศิลปะ งานสร้างสรรค์ทางศิลปะของกรุงสุโขทัย เช่น พระพุทธรูป เจดีย์จิตรกรรม มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยดัดแปลงรูปแบบศิลปกรรมจากขอมให้มีลีลาอ่อนช้อยงดงาม ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปปางลีลา ยิ่งกว่านั้นแล้วพุทธศาสนายังมีบทบาทสำคัญต่องานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมด้วย ดังตัวอย่างบทพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) คือ ไตรภูมิพระร่วง โปรดให้พิมพ์รอยพระพุทธบาทจำลอง ทรงสร้างพระมหาธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากศรีลังกา ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกาไว้หลังพระมหาธาตุ

ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาพุทธศาสนาและศิลปะได้รับอิทธิพลจากขอม ศาสนาพราหมณ์ ที่แพร่หลายอยู่ก่อนหน้าการเข้ามาของพุทธศาสนาอยู่มาก การผสมผสานกันของพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์จึงเป็นลักษณะสำคัญของศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสะท้อนให้เห็นใน ศิลปกรรมต่างๆ สถาปัตยกรรมของสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกวังให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ ทรงสร้างวัดจุฬามณีและพระวิหาร ทรงหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ พระชาติ ส่วนศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากขอมและสุโขทัย เช่น พระปรางค์วัดพุทไธสวรรค์ วัดราชบูรณะ เป็นต้น ส่วนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นเจดีย์แบบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เช่น เจดีย์วัดภูเขาทอง วัดชุมพลนิกายาราม เป็นต้น ประติมากรรม พระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมเรียกว่า พระพุทธรูปสมัยอู่ทองและตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยานิยมสร้างพระพุทธรูปแบบทรงเครื่อง อย่างไรก็ตามสมัยกรุงศรีอยุธยาพระพุทธรูปมีลักษณะน่าเกรงขามและไม่งดงามเท่าสมัยสุโขทัย

สมั­­ยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ คือการสร้างพระบรมมหาราชวัง ประติมากรรมชิ้นเอก คือ การแกะสลักประตูกลางด้านหน้าพระวิหารวัดสุทัศน์ และงานตกแต่งหน้าบรรณพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

งานจิตรกรรมที่สำคัญ เช่น ภาพเขียนในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น ต่อมามีการปรับปรุงประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก แทนที่จะปรับปรุงประเทศตามแบบอยุธยา อย่างเช่นที่เคยเป็นมา การปรับปรุงประเทศของพระองค์ เป็นการปรับปรุงเพื่อเตรียมรับอารยธรรมตะวันตก ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลอยู่ในขณะนั้น ในเวลาต่อมารัชกาลที่ ๕ ได้ทำการปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณีและส่งเสริมวรรณกรรมและศิลปกรรมอีกหลายประการ ถึงแม้จะมีการผสมผสานกับวัฒนธรรมทางตะวันตกบ้างแต่ก็ยังมีรากฐานจากพระพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น

จึงกล่าวได้ว่า พุทธศิลป์ได้ผสมผสานและมีความสำคัญกับพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยตลอดมาจนกลายเป็นวิถีชีวิตอันเป็นศิลปวัฒนธรรมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ได้กล่าวไว้ว่า “ศิลปกรรมไทยในอดีตนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานความเข้าใจในพุทธปรัชญาอันลึกซึ้งที่หยั่งรากลึกลงในสายเลือดและจิตวิญญาณ ศิลปินทำงานด้วยแรงศรัทธาปสาทะอันมั่นคง โดยมุ่งหวังพระนิพพานอันเป็นเบื้องปลายของการหลุดพ้น”

อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า “ศิลปินไทยใช้ศิลปะเป็นสื่อเพื่อก้าวไปสู่จริยธรรม และศาสนาในสังคม ศิลปะเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเนรมิตความเป็นมนุษย์ของเราให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ศิลปกรรมจะเป็นสื่อวิเศษให้เราเข้าใจแก่นของความเป็นจริงได้อย่างซาบซึ้งและลึกซึ้ง...เป็นสื่อวิเศษ ช่วยน้อมใจเราให้ประจักษ์ซึ้งถึงองค์คุณค่าทิพย์ในพุทธปรัชญา ซึ่งแสดงออกมาอย่างเป็นทิพย์ที่สุดในแง่ศิลปะได้อย่างดี

สังคมไทยมีรากฐานทุกอย่างมาจากพระพุทธศาสนาไม่ว่าประเพณี วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ แม้กระทั่งลักษณะนิสัยใจคอของคนไทยก็มีพื้นฐานมาจากคำสอนทางพระพุทธศาสนา

ร่องรอยวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัฒนธรรมของยุคต่างๆ ได้ถูกบันทึกไว้ว่า มีสติปัญญาความสามารถเพียงใด ด้วยผลงานศิลปะนั้นเอง ศิลปะจึงเป็นรูปธรรมทางวัตถุและเป็นรูปธรรมทางจิตใจซึ่งแสดงออกมา ศิลปะกับวัฒนธรรมต่างเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ศิลปะเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์แห่งสังคมสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ปรากฏเพื่อแสวงหาผลที่จะได้รับทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ให้เกิดการยอมรับเพื่อความเข้าใจ การตัดสินใจ และการกระทำที่ถูกต้องดีงามจากผู้ชื่นชม คุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในศิลปะ จะมิใช่วัตถุที่มีเพียงความงามทางศิลปะเท่านั้น แต่จะเป็นสัญลักษณ์องค์แห่งการรับรู้ ช่วยแผ่ขยายพฤติกรรมทางจิตใจให้เกิดมโนภาพ ความคิดรวบยอด จินตนาการ และเป้าหมายที่ชัดเจนมั่นคง ซึ่งเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ให้มากกว่าเรื่องของความงามและความพึงพอใจ

เนื่องจากวัฒนธรรม เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่สังคมแต่ละยุคแต่ละกลุ่มยอมรับว่าดีงาม มีคุณค่าเป็นมรดกแห่งสังคมที่ควรรักษา และวัฒนธรรมก็มีสถานภาพเป็นนามธรรมทางจิตนิยม โดยศิลปะเองก็มีฐานะเป็นรูปธรรมของวัฒนธรรมนั้นๆ จึงชอบที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมแห่งยุคด้วยกรอบแห่งแบบแผนตามนั้น หลายอย่างของแต่ละยุคย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อแนวคิดและวัสดุสำหรับใช้ในการสร้างสรรค์ได้รับการคิดค้นให้แปลกออกไป บนความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ แท้จริงคือ การสะท้อนภูมิปัญญาความสามารถแห่งยุค

คนไทยและวัฒนธรรมไทยนั้นมีที่มาที่หลากหลายรวมกันอยู่ ณ บริเวณที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ แหลมทองแห่งนี้ ก่อนนั้นประเทศไทยไม่ได้กำหนดตามแผนที่ในปัจจุบันจึงเห็นได้ว่า บุคคลที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมแบบไทยที่อยู่ในประเทศไทยแห่งนี้มีอยู่ในประเทศอื่นๆ โดยรอบ ก็ถือได้ว่า คนไทยนั้นมีความยิ่งใหญ่ดังความหมายของคำว่า “ไท” ที่ใช้ในอดีต แต่ต่อมาคำว่า “ไทย” ได้ใช้ในความหมายว่า “เป็นอิสระ” มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยาเป็นต้นมา

วัฒนธรรมไทยเป็นลักษณะพหุวัฒนธรรม คือหลอมรวมวัฒนธรรมจากแหล่งอื่นๆ เข้าด้วยกับวัฒนธรรมเดิมของตน โดยรวมแล้ววัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาเป็นหลัก แต่ก็ประกอบด้วยวัฒนธรรมอื่นด้วย เช่น วัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมตะวันตก และตะวันออกกลาง ในส่วนของวัฒนธรรมที่ได้รับจากพระพุทธศาสนานั้นยังแบ่งเป็นพระพุทธศาสนาแบบมหายานและเถรวาท เดิมนั้นได้รับจากพระพุทธศาสนามหายาน จากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ต่อมาในกาลภายหลังนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา วัฒนธรรมไทยก็ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาเถรวาทมาโดยตลอด

วัฒนธรรมเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้คนไทยมีลักษณะผสมผสาน กลายเป็นอุปนิสัยของไทยที่โดยรวมแล้วเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนโยน สนใจทางจิตวิญญาณ คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รักในอิสระ รักสงบ ชอบสนุก ยิ้มง่าย เบิกบานง่าย ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอื่นได้ง่าย ปรับตัวตามสภาพได้ง่าย ลักษณะเช่นนี้มีส่วนให้คนไทยขาดความเป็นตัวของตัวเอง แต่กลับทำให้คนไทยอยู่ได้ในทุกที่