วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

พุทธศาสนาในเนปาล





















บทความนักศึกษา ปเอก พุทธสาสน์ศึกษา
พุทธศาสนิกชนทั่วไปมักจะมีความรู้ในประวัติของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ว่าทรงประสูติที่ลุมพินีวัน เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโทธนะกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และพระมารดาสิริมหามายาพระราชธิดาของกษัตริย์กรุงเทวะทะหะซึ่งเป็นดินแดนในชมพูทวีปยุคพุทธกาล แต่หากถามว่าประเทศเนปาลในปัจจุบันมีความสำคัญอย่างไรต่อพระพุทธศาสนา? เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยที่อาจเกิดความงุนงงสงสัยว่าเนปาลมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาด้วยหรือ เพราะได้รับรู้มาว่าเหตุการณ์สำคัญๆทางพุทธประวัติในยุคพุทธกาลล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในชมพูทวีปทั้งสิ้น แต่ถ้าบอกว่าสถานที่ประสูติและเมืองพุทธบิดาและพุทธมารดาของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล แน่นอนว่าทุกคนต้องยอมรับในทันทีว่าประเทศเนปาลมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเพราะเป็นหนึ่งในสี่ของสังเวชนียสถานสำคัญของพระพุทธศาสนา( สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน) ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงถึงสถานที่ควรสังเวช 4 ที่หากภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาได้จาริกไป มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายลงก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ( มหาปรินิพพานสูตร ในทีฆนิกาย มหาวรรค ) นั่นเอง

ในยุคสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนอกจากจะเสด็จไปสักการะสถานที่ประสูติพร้อมกับได้ให้
จารึกศิลาเป็นหลักฐาน ณ ลุมพินีวันดังที่ได้กล่าวไว้ในส่วนแรกแล้วนั้น พระองค์ยังได้สร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาในดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ด้วยการยกพระราชบุตรีพระนามจารุมตีให้อภิเษกกับเจ้าชายเทวปาลแห่งราชวงศ์เนปาลพร้อมกับได้นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ผ่านชนชั้นสูงของเนปาล แล้วยังขยายต่อไปถึงทิเบตผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างสองราชวงศ์ในกาลต่อๆมาจนทำให้พระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาประจำชาติของทิเบตอย่างมั่นคงมาจวบจนปัจจุบัน

นอกจากจะนำพระพุทธศาสนาเข้าไปตั้งมั่นในเนปาลผ่านความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์แล้ว
พระเจ้าอโศกมหาราชยังได้ส่งคณะพระสมณะทูตนำโดยพระมัชฌิมเถระไปประกาศพระพุทธศาสนา(เถรวาท)แก่ประชาชนชาวเนปาลจนเกิดความเลื่อมใสจนทำให้พระพุทธศาสนาเริ่มเจริญรุ่งเรืองในเนปาลอย่างแพร่หลายทั้งชนชั้นสูงและชนทั่วไป จึงกล่าวได้ว่ายุคทองของพระพุทธศาสนาหลังพุทธกาลในเนปาลได้เริ่มต้นในยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชด้วยกลยุทธ์การเผยแผ่อันแยบคายนี้เอง เมื่อได้กล่าวถึงกลวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราชดังกล่าวแล้วจำเป็นต้องย้อนกลับไปศึกษาพุทธวิธีการประกาศพระศาสนาในยุคพุทธกาลเป็นการเปรียบเทียบระหว่างสองยุคสมัยที่ถือว่าพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นคงเพื่อให้เกิดภูมิปัญญายิ่งขึ้นกล่าวคือ วิธีการประกาศศาสนธรรมของพระบรมศาสดานั้นจะทรงเลือกที่จะเผยแผ่แก่ชนสองกลุ่มต่อไปนี้ก่อน ได้แก่

1. นักบวช ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มุ่งดีและเป็นผู้คงแก่เรียนมาแล้วในศาสนาอื่น
2. คฤหัสถ์ที่เป็นหัวหน้าคน เช่น พระมหากษัตริย์ มหาอำมาตย์ และพราหมณ์
คฤหัสถ์ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียน

ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าบุคคลทั้งสองประเภทดังกล่าวเป็นผู้มีพื้นฐานความรู้และความตั้งใจดี
และเมื่อบุคคลเหล่านี้ได้ดวงตาเห็นธรรมและรับนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว คนอื่นๆในอาณัติหรือสาวกก็จะนับถือตามไปด้วยหรือไม่ก็จะเกิดความสนใจใคร่รู้ นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังทำให้พระพุทธศาสนาไม่ไปข้องแวะกับการเมืองและมีความปลอดภัยเพราะทรงมุ่งประกาศผ่านผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจึงได้รับการคุ้มครองและสนับสนุนจากชนชั้นปกครองนั่นเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองยุคหลังพุทธกาลกว่า 300 ปีอีกครั้งนั้น นอกจากจะเกิดจากมีผู้นำที่เป็นพุทธมามกอย่างมั่นคงดังเช่นพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว พระองค์ยังได้อาศัยกุศโลบายการเผยแผ่ตามแนวทางของพระพุทธองค์มาใช้อีกด้วยคือการเผยแผ่ผ่านชนชั้นสูงที่เป็นผู้นำด้วยการผูกความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ควบคู่ไปกับการเผยแผ่ในระดับมวลชนโดยพระธรรมทูต รวมถึงการใช้พระราโชบายการปกครองแบบ ‘ ธรรมาธิปไตย ’ มาเป็นเครื่องมือการปกครองอาณาจักรด้วยการใช้หลักพุทธธรรมประยุกต์ให้สังคมเกิดความสงบร่มเย็นตามหลักธรรม ‘ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ’ [1]

กลยุทธ์การเผยแผ่พระศาสนาที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงนี้ควรนำมาปรับใช้เป็น
แบบอย่างสำหรับการเผยแผ่ในยุคโลกาภิวัตน์ด้วย โดยเฉพาะการมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นปัญญาชนและชนชั้นผู้นำสังคม / ชุมชนเป็นลำดับแรกรวมทั้งการเผยแผ่พุทธธรรมที่กลุ่มเป้าหมายสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันเป็นลำดับแรก แม้ว่าประเทศไทยจะยึดถือเป็นราชประเพณีว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกอยู่แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากพัฒนาทางการเมืองการปกครองที่ต้องอนุวรรตไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ความเป็นพุทธมามกโดยพระราชประเพณีนั้นจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่สืบทอดมาแต่โบราณเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่เป็นพุทธศาสนิกเพียงการสืบทอด ดังนั้นหากมีการผลักดันให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ กำหนดให้ผู้นำประเทศต้องนับถือพุทธศาสนา และมีการนำหลักพุทธธรรมไปปรับใช้เป็นกฎหมายเพื่อจูงใจหรือผลักดันให้มีการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธธรรมอย่างเข้มงวดจริงจังด้วยแล้ว เชื่อได้ว่าพระพุทธศาสนาจะยังมีความมั่นคงอยู่ในประเทศไทยอีกตราบนานเท่านาน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศเนปาลจะมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาในฐานะเป็น
สังเวชนียสถานหนึ่งในสี่แห่งจากการเป็นสถานที่ประสูติของพระบรมศาสดาและเป็นที่ตั้งของเมืองพุทธบิดาและพุทธมารดาที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นดินแดนที่ให้กำเนิดพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับกรุงเยรูซาเล็มอันเป็นสถานที่เกิดของพระเยซูผู้ไถ่บาปของคริสตศาสนิกดังกล่าวแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาจะมีความรุ่งเรืองมั่นคงในดินแดนพุทธภูมินี้ ตรงกันข้ามเนปาลกลับต้องเผชิญกับปัญหาความผันผวนทางสังคมและอิทธิพลจากสถานการณ์ต่างๆจากชมพูทวีปจนในที่สุดพระพุทธศาสนาที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิมจำต้องปรับเปลี่ยน

ตามสภาพอิทธิพลกระแสต่างๆเพื่อความอยู่รอดจนแทบจะสูญสลายไปจากดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้เช่นเดียวกับความเสื่อมสลายไปของพระพุทธศาสนาในดินแดนชมพูทวีป

ทั้งนี้ เหตุการณ์และสถานการณ์ที่ยังความผันผวนที่ส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาใน
ประเทศเนปาลเกิดขึ้นได้อย่างไร? และปัจจุบันพระพุทธศาสนามีสถานภาพเช่นไร? และจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรในดินแดนอันเป็นชาติภูมิของศากยวงศ์แห่งนี้นั้น จะได้นำเสนอเป็นลำดับต่อไป
[1] ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม (มาใน องฺ อฎฺฐก. 23 / 144 / 289 ) เป็นหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขในปัจจุบันที่บุคคล
พึงปฏิบัติให้ถึงพร้อม 4 อย่างคือ อุฏฐานสัมปทา(ถึงพร้อมในความขยันหมั่นเพียรในการงานอันสุจริต) อารักขสัมปทา(ถึง
พร้อมด้วยการรู้จักรักษาโภคทรัพย์หรือผลงานที่เกิดจากความขยันหมั่นเพียรไม่ให้เสื่อมเสีย) กัลยณมิตตตา(ถึงพร้อมด้วยมิตร
ที่เป็นคนดีมีศีลธรรม) และสมชีวิตา(ถึงพร้อมด้วยความเป็นอยู่และการใช้จ่ายที่เหมาะสมแก่ฐานะ)
(อ่านต่อใน phd.mbu.ac.th)

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Dhamma Talk
















กิจกรรม เสวนาธรรมาธิปไตยในพุทธวจนะ
เป็นกิจกรรมของนักศึกษาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา รุ่นที่ ๓
มีวิทยากรคือ พระคึกฤทธิ์ โสตถิผโล
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
อาจารย์อำนวย สุวรรณคีรี
ดำเนินการเสวนาโดย ดร.คงชิต ชินสิญจน์
๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๒

วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๕)


บทที่สอง
ทุรชน

อาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาลูกหนึ่ง จนกลายเป็นร่มเงาธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ทำให้ความร้อนผ่อนคลายลงบ้าง ในยามเที่ยงเช่นนี้ประกายแสงอันเจิดจ้าร้อนแรงแผดเผาสรรพสิ่ง ต้นไม้ใบหญ้าไหม้เกรียม


นั่นเป็นความสมดุลแห่งชีวิตเช่นกัน บางครั้งก็สงบเย็น บางครั้งก็เล่าร้อน บางครั้งก็แทบไม่อยากเชื่อและนึกไม่ถึงว่า แท้จริงยังมีเรื่องราวเช่นนี้อยู่หรือ? เพราะโลกเป็นจริงเช่นนี้จึงมีผู้คนร้องไห้ และผู้คนจึงหัวเราะ


ทินเล่อยากตั้งคำถาม ไฉนดวงอาทิตย์ที่นี่กับดวงอาทิตย์ที่ดินแดนของตนจึงแตกต่างกัน? ใช่ดวงอาทิตย์ดวงเดียวกันหรือไม่ ใยดวงอาทิตย์ที่ราลโปช่างส่องแสงนุ่มนวล ดุจมีน้ำใจ สายลมก็เย็นบางครั้งก็เหน็บหนาว แต่ที่นี่กลับรุนแรง แผดร้อน สาดแสงลงมาคล้ายดั่งต้องการเผาใหญ่ทุกสิ่งบนโลกมอดไหม้เป็นจุณ


ต้นไม้บนภูเขาเตี้ยๆ ก็เป็นเพียงต้นไม้เล็กๆ กระแสลมได้พัดม้วนฝุ่นสีแดงคละคลุ้งกระจายไป สายลมหอบเอาไอร้อนกระทบใบหน้า ทำให้พลอยเกลียดสายลมที่เคยรักมาแต่เดิม
นี่เป็นดินแดนใด?!
หรือนี่คือ…..ทะเลทราย

เพียงชั่วครู่ที่ได้หลบร้อนอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งภูเขา ช่วงเวลาเช่นนี้มักผ่านไปรวดเร็ว ไม่นานดวงอาทิตย์โผล่ออกมาเยือนมันอีก คล้ายดั่งสาดส่องเพื่อมันเพียงผู้เดียว
ผู้คนมักเป็นเช่นนี้ ในยามประสบทุกข์
หรือได้รับหายนะมักคาดคิดว่า ไม่มีผู้ใดเลวร้ายกว่าตนอีกแล้ว
ชายร่างกายกำยำสามคนกำลังมุ่งตรงมาที่มันยืนอยู่ ร่างกายพวกมันทำจากเหล็กกล้าหรือไร?
แสงอาทิตย์ไม่อาจทำอะไรพวกมันได้?
ท่าทีที่พวกมันมาคล้ายดั่งหนีบางสิ่งมา
“เจ้าจะไปในหมู่บ้านหรือ?” ชายผู้หนึ่ง นุ่งเพียงผ้าผืนเปราะเปื้อนฝุ่นผืนหนึ่ง เอ่ยถามอย่างร้อนรน
“ใช่” มันตอบอย่างไม่แน่ใจนักว่า ชายผู้นี้มีจุดประสงค์ใด “ข้าเพียงอยากได้อาหาร อยากได้น้ำดื่ม และอยากอาศัยร่มเงาพักผ่อนเท่านั้น”
“ไม่ว่าเจ้าจะมีจุดประสงค์ใด พวกเราขอบอกเจ้าว่า อย่าได้ไปดีกว่า ไปกับพวกเราเถอะ”
“ทำไมเราต้องไปกับพวกท่าน”
“เพราะนี่คือ ทางรอด”
“ทางรอดใด?” มันยิ่งสงสัยมากขึ้น
“ภายในหมู่บ้านถูกพวกทหารมองโกลทำลายไปแล้ว พวกมันต้อนผู้คนไปทำงานในค่าย พวกมันกำลังจะทำสงครามกับเมืองปุรุสปุระ”
“ทำไมท่านจึงหนีมาได้”
“เพราะพวกเราไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน” ชายอีกคนหนึ่งกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ คล้ายการจากมาของมันเป็นความผิดฉะนั้น
“แล้วผู้อื่นเล่า!”
“เจ้าอย่าได้ถามเลย” ชายอีกคนหนึ่งชิงตอบขึ้น “ขอเตือนเจ้าอย่าได้ไปเท่านั้น”
“ขอบคุณในความหวังดีของพวกท่าน” ทินเล่ กล่าวขอบคุณพวกมัน พร้อมทั้งให้เหตุผล “ข้าไม่ใช่พวกทหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้ใด ข้าต้องการเดินทางไปสู่วิกรมศิลา คงไม่เป็นไร พวกท่านไปเถอะ”
“เจ้าประเมินผู้อื่นเป็นวิญญูชนเกินไป” กล่าวเสร็จพวกมันจึงหลีกไปโดยเร็ว “อย่าได้บอกว่าเจอพวกเราละ”
“การประผู้อื่นเป็นวิญญูชนมีที่ใดไม่ดี?” ทินเล่ไม่ทันกล่าวคำนี้ออกไป แต่มันก็คิดไม่ออกว่า การมองผู้อื่นในแง่ดีนั้นไม่ดีตรงไหน
วิญญูชน มักประเมินผู้อื่นมีจิตใจงดงามเช่นตน


หารู้ไม่ว่ายังมีคนที่ตนคาดคิดไม่ถึงอีกมากนักด้วยเหตุนี้วิญญูชน มักถูกทำร้ายอยู่เสมอ

วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กะเทาะตถาทัศนะมหายาน











บทความนี้อยู่ในหนังสือ ตถาทัศนมหายาน กำลังจะวางแผงเร็วๆ นี้






กะเทาะตถาทัศนะมหายาน

ข้อพึงระวัง
พระพุทธศาสนามหายานเป็นการใส่ยี่ห้อลงไป การใส่ยี่ห้อลงไปในแนวทางปฏิบัติเช่นนี้ต้องระมัดระวังเพราะจะนำมาซึ่งการยึดติดในยี่ห้อ เมื่อนานวันเข้าผู้ที่มีสติปัญญาอันน้อยก็ไม่สามารถแยกแยะออกได้ว่า แท้จริงคืออะไร ไม่เพียงเฉพาะพระพุทธศาสนามหายาน แม้แต่พระพุทธศาสนาเถรวาทเองก็ตาม การใส่คำว่า เถรวาทเข้าไปตามหลังคำพระพุทธศาสนาก็เป็นเหตุให้สงสัยว่า เหตุใดต้องเถรวาท บุคคลที่ไม่เข้าใจและมีสติปัญญาตามไม่ทันก็จะยึดติดในคำ “เถรวาท” ถ้าไม่ใช่เถรวาทก็จะไม่ยอมรับ อาการยึดติดยี่ห้อนี้มีมานานนับพันปี ทำให้พระพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายานนั้นไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมองเห็นความบกพร่องของกันและกัน จวบจนกระทั่งไม่นานมานี้เอง ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในการทำงานร่วมกันได้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความรู้สึกไม่แยกแยะกันและกันออกได้ก็คือ การรู้สึกลืมยี่ห้อของตนออกไป มีแต่เพียงความรู้สึกว่า “เราคือพระพุทธศาสนา”
พระพุทธศาสนาย่อมมีหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา หลักการสำคัญนั้นก็คือ การละความชั่ว การทำความดี และการชำระจิตของตนให้ผ่องใส งดงาม ไม่ว่าจะเป็นนิกายไหน สำนักอะไรถ้าเป็นพระพุทธศาสนาแล้วหลักการนี้จำเป็นต้องมีอยู่เสมอ จะเห็นได้จากพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้าทุกคนต่างบำเพ็ญเพียรกระทำคุณงามความดีทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นอยู่เสมอ ก็เมื่อมีวิถีเดียวกันก็ไม่ต้องไปสนใจอะไรประการอื่นเพราะเพียงเท่านั้นก็เท่ากับได้ตั้งตนไว้ชอบตามหลักการในพระพุทธศาสนาแล้ว




อุดมคติ

ปัญหาเรื่องอุดมคติก็กลายเป็นเรื่องที่คอยจะรบกวนความรู้สึกของชาวพุทธทั้งหลายเหมือนกัน เพราะเพียงอุดมคติไม่เหมือนกันก็พลอยทำให้ไม่เข้าใจกันและพลอยทำให้มองเห็นความบกพร่องในอุดมคติของกันและกันขึ้นมาทันที ให้พิจารณาตัวอย่างนี้ดูว่า สมควรที่จะมองให้เป็นปัญหาหรือไม่ สมมติว่า ครอบครัวนายพุทธซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มีลูก ๒ คน คือ นายวาท และนางสาวโพธิ์ นายพุทธบอกแนวทางแห่งความเป็นคนดีที่สุดไว้ ๓ ทาง คือ

๑. เป็นผู้ใหญ่บ้าน
๒. เป็นนายกองค์กรอิสระ
๓. เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
พร้อมกับบอกเงื่อนไขไว้พร้อมว่า การเป็นผู้ใหญ่บ้านนั้นเป็นได้ทันที เพราะพ่อจะคอยอบรมให้ และให้ยึดแนวทางที่พ่อสอนตลอดไป แต่ว่าการทำคุณประโยชน์ต่อสังคมอาจมีจำกัด คือต้องช่วยเหลือพ่อทำประโยชน์ต่อไป ส่วนการเป็นนายกองค์กรอิสระนั้น เป็นได้โดยการทำความดีไว้ให้มากๆ ขึ้นก็จะเป็นได้เองต่อไป และเป็นเพียงผู้เดียว ไม่ต้องคอยช่วยเหลือใคร และไม่ต้องคอยใครช่วยเหลือ ข้อจำกัดคือ ไม่สามารถวางนโยบายช่วยเหลือสังคมได้ แต่ก็เป็นตัวแทนชักนำสังคมทำความดีได้ ส่วนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเหมือนพ่อนั้นต้องทำความดีให้มากๆ ยิ่งขึ้น ก็จะเป็นได้เอง และต่มีสิทธิพิเศษ คือสามารถสร้างองค์การช่วยเหลือสังคมได้มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้ง ๓ เส้นทางนี้ ผู้จะเป็นได้ต้องผ่านการตรวจปลอดเชื้อโรค ๑๐ ประการก่อนทั้งนั้น ถ้ามีเชื้อโรคอยู่ก็ไม่สามารถเป็นได้ทั้ง ๓ ตำแหน่ง

ลูกชายนายวาทบอกกับพ่อว่า ขอเป็นผู้ช่วยเหลือพ่อดีกว่า พร้อมที่จะได้รับการอบรมพร่ำสอนจากพ่อ เพื่อความสะดวกต่อการดำรงชีวิตที่เหลืออยู่ เหลือชีวิตเท่าไรก็ทำเท่านั้นไม่ต้องการที่จะขวนขวายสิ่งอื่นใดอีก สิ่งที่สำคัญคือ พยายามให้ปลอดเชื้อโรค ๑๐ ประการแล้วก็พอ ด้วยวิธีการตามมัชฌิมาปฏิปทาและมัชเฌนธรรม
ส่วนลูกสาวโพธิ์บอกกับพ่อว่า จะดำเนินรอยตามพ่อที่เป็นผู้ว่า จะขอปรารถนาตั้งใจเป็นผู้ว่าคนต่อไป จะได้ช่วยเหลือคนได้มากๆ ดังที่พ่อทำอยู่ขณะนี้ แม้ว่าจะยังไม่ปลอดเชื้อโรคตอนนี้ แต่ก็จะพยายามขจัดเชื้อโรคนี้ต่อไปในกาลข้างหน้า ขอเพียงพ่อบอกวิธีขจัดโรคไว้ก็พอ นั่นก็คือ การบำเพ็ญบารมี ๖ ประการ

อยู่ต่อมา เมื่อพ่อสิ้นไปแล้ว ลูกชายกับลูกสาวเริ่มมีปากเสียงกันเรื่องสถานะใดดีกว่ากัน นายวาทบอกกับน้องว่า เธอนี้โง่ เชื้อโรคติดอยู่ก็ไม่ยอมขจัดให้หมดไปโดยเร็ว แถมยังหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะเป็นผู้ว่าอีก ทำตัววัดรอยเท้าพ่อคิดเกินตัวไปหน่อยนะ นางสาวโพธิ์ก็ตอกกลับพี่ว่า ก็ความคิดแคบๆ ได้แค่นี้ ขอแค่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านช่วยพ่อเท่านั้น มันจะสักเท่าไหร่เชียว ไม่เห็นจะใช้ความพยายามอะไร ดีแต่กลัวว่าตนเองจะไม่ปลอดเชื้อถึงกับยอมหลบลี้หนีหน้าไปรักษาตัว อาศัยเพื่อนๆ ช่วยกันประคองหมู่บ้านให้ ทั้งที่พ่อเราทำเป็นตัวอย่างไว้แล้วแทนที่จะทำตามกลับไม่มีใครจะรักษาอุดมการณ์ไว้บ้างเลย แล้วอย่างนี้ประชาชน สรรพสัตว์จะสงบสุขอย่างไร

ลูกทั้งสองคนของผู้ว่าราชการจังหวัดพุทธยิ่งนับวันก็ยิ่งไม่ลงรอยกันมากขึ้น ฝ่ายลูกชายก็พยายามรักษาคำสอนที่พ่อพร่ำสอนไว้ไม่ให้ผิดเพี้ยนสูญหาย ฝ่ายลูกสาวพยายามเข้าถึงชาวบ้านช่วยเหลืออะไรก็ทำทุกอย่าง เพื่อทำตนให้เหมือนที่พ่อเคยทำมาก่อนจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ในที่สุดครอบครัวของนายพุทธก็ต่างคนต่างทำ ไม่ร่วมมือกันทั้งที่ทำงานลักษณะเดียวกันคือ ช่วยเหลือสารทุกข์ของชาวบ้าน ทำไปก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปในทีว่า สิ่งที่แต่ละคนทำนั้นไม่ถูกต้อง

จากเหตุการณ์สมมตินี้พอจะมองออกถึงลักษณะของพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานที่มีมาตลอดระยะเวลานับ ๒๐๐๐ ปี คือไม่สามารถจะร่วมมือกันได้ เพียงเพราะอุดมคติไม่ใช่อันเดียวกัน ทั้งที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้วางแนวทางไว้ อยู่ที่ใครจะเลือกแนวทางไหนเท่านั้น แต่ไม่ว่าแนวทางไหนต่างก็ต้องขจัดโรค ๑๐ ประการออกไปให้หมด ซึ่งก็ได้แก่สังโยชน์ทั้ง ๑๐ นั่นเอง

เพียงแค่ปรับทัศนคติเพียงนิดเดียวก็สามารถช่วยเหลือกันและกันอย่างกลมกลืน คือ ยึดการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นที่ตั้ง และเพียรพยายามรักษาโรคของตนให้เบาบางและให้หมด ส่วนใครปรารถนาจะเป็นผู้ใหญ่บ้านช่วยพ่อหรือใครจะเดินตามรอยพ่อนั้นเป็นสิทธิของใครของมันไม่ควรนำมาเป็นข้อเปรียบเทียบ เพราะไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ไม่สำคัญสำคัญอยู่ที่อุทิศตนช่วยเหลือสรรพสัตว์และรักษาตนให้พ้นโรคเท่านั้น ส่วนใครจะปลอดโรคตอนไหนเมื่อไหร่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องเหลือวิสัย สำหรับสถานะตำแหน่งนั้นเป็นได้ทันทีที่ปรารถนา ส่วนจะมีใครรับรองว่าเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องของอนาคตกาล อยู่ที่ปลอดโรคทั้ง ๑๐ เมื่อใดก็เมื่อนั้น ถ้าหากปรับทัศนคติกันเท่านี้ก็จะทำให้ครอบครัวนี้กลับมาสร้างสรรค์โลกนี้ให้เกิดความสงบสุข ช่วยเหลือกันและกันมากขึ้น

หรืออาจจะเปรียบเป็นศิลปินในค่าย ศิลปินอิสระ และเจ้าของค่ายศิลปะ ต่างก็มีความเด่นเฉพาะตนคือ ความเป็นศิลปินทั้งนั้น เพียงแต่เงื่อนไขอาจจำกัดต่างกัน ไม่ควรนำข้อจำกัดนั้นมาเป็นเงื่อนไขพัฒนางานศิลป์ เพียงแต่ใครที่ปรารถนาจะเป็นอะไรก็เป็นไปได้และพร้อมจะชื่นชมความตั้งใจนั้น ศิลปินในค่ายก็คือ สาวกยาน ศิลปินอิสระก็คือ ปัจเจกโพธิยาน ส่วนผู้ตั้งค่ายศิลปะก็คือ โพธิสัตวยาน สิ่งที่สำคัญอยู่ที่การพัฒนางานศิลป์และการได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปิน ก็เท่านั้น


การดำรงอยู่ร่วมกัน
สิ่งที่พระพุทธศาสนายังคงเป็นศาสนาที่รักสันติและไม่เคยมีความรุนแรงเกิดขึ้นมา แม้ว่าจะไม่เข้าใจกันก็ตาม ก็เพราะพระพุทธศาสนายึดมั่นในหลักสาราณียธรรม ซึ่งเป็นหลักที่สามารถสร้างสังคมให้เป็นสังคมอุดมปัญญาที่แท้จริง นั่นก็คือ
๑. ทำอะไรก็ทำด้วยเมตตา
๒. พูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา
๓. คิดอะไรก็คิดด้วยเมตตา
๔. มีอะไรก็เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน
๕. ประพฤติตนไปในทิศทางเดียวกัน (ขจัดโรค)
๖. คิดไปในทิศทางเดียวกัน (ช่วยเหลือสรรพสัตว์)
นี่เป็นจุดหมายสูงสุดในการจะสร้างสังคมให้สงบสุข ไม่มีทางอื่นอีกแล้ว และปัจจุบันความคิดสากลกำลังจะกลับมาถึงแนวทางนี้ เพราะโลกกำลังถูกบีบคั้นจากหลายๆ ด้าน ทั้งภัยธรรมชาติ ภัยอันเกิดจากมนุษย์ ภัยอันเกิดจากโรค สมควรแล้วที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Post Modernism



ไม่ได้เคลื่อนไหวเสียนาน ไม่รู้ว่าหายกันไปไหนหรือเปล่า ก็เผื่อว่าจะได้ประเทืองปัญญากันไปก่อน

ก็ขอนำบทความของอาจารย์กีรติ บุญเจือมาลงไว้ให้อ่านกันก่อนนะครับ





ปรัชญาหลังนวยุค
จุดนัดพบระหว่างศาสนา?
โดย กีรติ บุญเจือ*
ผู้วิจัยไม่ฟันธง แต่ขอทำตัวเป็นสื่อกลางนำความเห็นของฝ่ายต่างๆมาเสนอพร้อมด้วยเหตุผลของแต่ละฝ่ายให้ท่านผู้อ่านรับฟัง แล้วใช้วิจารณญาณแห่งกาลามสูตรตัดสินเอาเอง พระพุทธองค์ตรัสผ่านกาลามสูตรว่า “อย่าเชื่อข่าวลือ” แต่พระองค์มิได้ทรงห้ามฟัง มิฉะนั้นอาจจะเป็นคนตกข่าว และตกยุคในที่สุด ข่าวลือบางทีก็จำเป็นต้องรับรู้ว่าเขาลืออะไรกัน เพื่อเราจะได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมการไว้รับมือ หากมีภัยอันตรายที่ไม่ควรเลินเล่อเผลอไผล เรื่องที่ผู้วิจัยจะเสนอต่อไปนี้อาจเป็นเพียงข่าวลือก็ควรรับฟัง หรืออาจจะมีมูลเหตุก็ควรสอบสวนมูลคดี หากเป็นจริงก็ดีไป ที่จริงแม้จะถือคติวางใจเป็นกลางในงานรายงานเชิงวิชาการ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมีใจลำเอียงอยากให้เป็นเช่นนั้น การศึกษาศาสนาเปรียบเทียบจะได้มีเรื่องสนุกสนานเสนอจากฝ่ายต่างๆให้รับฟังอย่างมากมายเกินคาดกว่าที่เคยทำกันมา
ผู้วิจัยได้ศึกษามาแต่ปรัชญาตะวันตกล้วนๆ ครั้นบรรจุเข้าเป็นอาจารย์สอนปรัชญาตะวันตกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 42 ปีมาแล้ว ก็ได้รับเชิญมาบรรยายในวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ในฐานะอาจารย์พิเศษบรรยายปรัชญาตะวันตก ได้ถือโอกาสศึกษาทั้งภาษามคธและพระพุทธศาสนา ก็รู้สึกชอบและไม่รู้สึกว่ามีอะไรขัดแย้งกับปรัชญาตะวันตกที่กระผมได้ศึกษาและค้นคว้ามาแต่ประการใด เพียงแต่รู้สึกว่าพูดกันคนละสำนวนเท่านั้น กระผมสนใจทฤษฏีภาษาคนภาษาธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แต่ก็ยังมองไม่เห็นทางว่าภาษาธรรมตามคำอธิบายของท่านจะเป็นจุดนัดพบของศาสนาต่างๆได้อย่างไรอย่างน่าพอใจ แม้ท่านจะเปรียบให้ฟังว่าศาสนาเป็นเหมือนลำต้นของต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีหลายกิ่ง นั่นคือมีหลายศาสนารวมกันที่การทำดี ก็ได้เพียงแค่นี้ ยังหาทางต่อยอดไปทางไหนให้ทุกศาสนาพอใจได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ไม่มีศาสนาใดยอมเป็นกิ่ง ทุกศาสนาต้องการเป็นลำต้น ศาสนาใดจะมาขอเป็นกิ่งก็คงไม่ยอมให้เป็น และจริงๆก็คือไม่มีใครยอมเป็นกิ่งของใคร
ผู้วิจัยได้ไปเรียนรู้ปรัชญาหลังนวยุคเมื่อ 10 ปีมานี่เอง โดยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญออกทุนให้ไปหาความรู้เพิ่มเติมในมหาวิทยาลัยที่วอชิงตันดีซี พอไปถึงจึงรู้ว่าเป็นแหล่งเผยแพร่ปรัชญาหลังนวยุคที่สำคัญ กระผมได้รู้จักกับ ดร.มากลีโอลา (Magliola) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญปรัชญาหลังนวยุคผู้หนึ่งและสนใจพระพุทธศาสนา ทั้งๆที่ท่านนับถือศาสนาคริสต์และอยู่ในสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นคนแรกที่แนะนำกระผมให้รู้จักใช้ปรัชญาหลังนวยุคเข้าใจพระพุทธศาสนา ท่านว่าจะเห็นอะไรดีๆเยอะเลยทีเดียว ตัวท่านเองท่านคิดว่าพระพุทธเจ้าคิดอย่างหลังนวยุค ถ้าไม่พยายามเข้าใจคำสอนของพระองค์อย่างนักหลังนวยุค ก็จะเข้าใจได้ไม่ดีเท่าที่ควร กระผมถามท่านว่า แล้วพระอรหันต์ทุกองค์เข้าใจธรรมะแบบหลังนวยุคเช่นนั้นหรือ จึงได้บรรลุมรรคผล ท่านว่าท่านคิดอย่างนั้น เพราะท่านมั่นใจว่าถ้าไม่เข้าใจธรรมะอย่างหลังนวยุคก็มองปัญหาไม่ทะลุ กระผมถามท่านต่อไปอีกว่า แล้วตัวท่านเองท่านคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ท่านปฏิเสธเป็นพัลวัลว่า “ยังๆ” เพราะเป็นพระอรหันต์ต้องสิ้นกิเลส ท่านเองเพียงแต่รู้สึกว่าใช้ปรัชญาหลังนวยุคมองแล้วเข้าใจธรรมะดีกว่าเดิมเท่านั้น สาธุ! โล่งอกไปที
ท่านให้หนังสือกระผมมาอ่านเล่มหนึ่งที่ท่านเขียนเอง ชื่อ Derrida on the Mend, 1984 (แดร์ริดากำลังแก้ปัญหา) แดร์ริดา (Jacques Derrida 1930-2004) เป็นนักปรัชญาหลังนวยุคชั้นนำ แต่สำหรับ ดร.มากลีโอลานั้น แดร์ริดาเป็นสุดยอดนักคิดหลังนวยุค แดร์ริดาไม่แสดงว่าเชื่อหรือนับถือศาสนาใดเลย แต่ท่านบอกว่าแดร์ริดาคิดแบบเป็นกลางดี และท่านคิดว่าหากนักปราชญ์ของศาสนาต่างๆคิดแบบแดร์ริดา ศาสนาต่างๆจะมีจุดนัดพบร่วมกัน คือคุยกันรู้เรื่องได้อย่างดียิ่ง โดยไม่มีฝ่ายใดต้องอ่อนข้อหรือสูญเสียคุณค่าใดๆในศาสนาของตนแต่ประการใดเลย กระผมพยายามเชื่อท่านและพยายามอ่านหนังสือของท่าน แต่รู้สึกว่าความคิดค่อนข้างสับสนและเข้าใจยากมากๆ ก็เลยยังมองไม่ออกว่าคำพูดของท่านนั้นหมายความว่าอย่างไร แม้จะขอให้ท่านอธิบายให้กี่ครั้งกี่หนก็ยังไม่บรรลุสักที แต่ผมไม่ย่อท้อ คิดว่าต้องพยายามเข้าใจความคิดแบบหลังนวยุคให้ดีๆเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแดร์ริดาที่ท่านยกย่องมากๆ โดยหวังว่าจะเข้าใจความหมายของท่าน เพราะอย่างไรเสียก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเป็นไปได้มันน่าจะดีมากๆ ทิ้งไว้เฉยๆก็น่าเสียดาย
ต่อมาได้อ่านหนังสือ Buddhism and Deconstructions, 2006. ซึ่งจินปาร์ค (Jin Y. Park) เป็นบรรณาธิการ เธอเองเขียนหลายบทความ เธอเป็นชาวเกาหลีใต้ เชี่ยวชาญปรัชญาหลังนวยุคและพระพุทธศาสนาเซนของเกาหลี ชื่อหนังสือก็บ่งบอกว่าเป็นการศึกษาพุทธศาสนาทุกรูปแบบโดยเทียบกับปรัชญาหลังนวยุคของแดร์ริดา มากลีโอลาก็ร่วมเขียนด้วย แสดงว่าเขาต้องรู้จักกันดีและเข้าใจความคิดของกันและกัน
จินปาร์คเป็นชาวพุทธมหายานที่สนใจปรัชญาหลังนวยุคจนสามารถใช้ปรัขญาหลังนวยุคของแดร์ริดามาทำความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี อ่านคำชี้แจงของเธอแล้วค่อยรู้สึกปลอดโปร่งหน่อย พอจะเข้าใจอะไรได้บ้าง ก็อยากจะนำมาแฉเป็นภาษาไทยตามที่เข้าใจว่า ณ ขณะนี้ผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อความคิดกันนั้น เขาคิดว่าปรัชญาหลังนวยุคอันเป็นที่นิยมในหมู่นักคิดรุ่นใหม่ของทางตะวันตกนั้น เขาจะเข้าใจพระพุทธศาสนากันอย่างไร ฟังไว้เป็นข่าวลืออย่างหนึ่งของกาลามสูตรก็แล้วกัน ฟังไว้เพื่อรู้ทันโลกาภิวัตน์ ไม่จำเป็นต้องเชื่อตาม หากจะคล้อยตามเรื่องใดก็ขอให้เห็นว่ามีคุณค่าจริงๆ มิฉะนั้นก็ฝากไว้อยู่ในประเภท “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม”
เพื่อให้ติดตามได้ตามลำดับขั้นตอน จะขอทำความเข้าใจเรื่องกระแสความคิดหลังนวยุคสักพอสมควรก่อน
นักหลังนวยุคแบ่งความคิดของมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันออกเป็น 5 กระบวนทรรศน์ แต่ละกระบวนทรรศน์ก็ย่อมจะมีวิธีตีความและเข้าใจคัมภีร์ศาสนาที่ตนเชื่อและไม่เชื่อตามกระบวนทรรศน์ของตน จะขอยกมาสาธยายพอเข้าใจเป็นแนวทางนำร่องเพื่อเข้าใจความคิดของจินปาร์คและคณะดังต่อไปนี้
1. กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ มองว่าโลกไม่มีกฎ และอะไรก็ไม่มีกฎ ทุกอย่างเป็นไปตามน้ำพระทัยของเบื้องบน แม้แต่น้ำพระทัยของเบื้องบนเองก็ไม่มีกฎ จึงเผด็จการทุกอย่างได้แบบตามใจฉัน
ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้หากมีคัมภีร์อ่านก็คงตีความตามตัวอักษรเฉพาะคำ เฉพาะประโยค และเฉพาะตอน ที่ถือว่าเป็นคัมภีร์ก็เพราะเชื่อว่าเป็นวิถีทางแสดงน้ำพระทัยของเบื้องบน ซึ่งอาจจะเพิ่มคัมภีร์ ลดคัมภีร์ หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในคัมภีร์ได้ตามความพอพระทัย และทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้า และไม่จำเป็นต้องมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่ายกเลิกของเดิมอย่างไรและตั้งแต่เมื่อใด ความหมายขัดแย้งไม่ถือว่าสำคัญสำหรับมนุษย์ดึกดำบรรพ์ เพราะมนุษย์ดึกดำบรรพ์จะเพ่งเล็งเฉพาะหน้าเท่านั้น ข้อความบางข้อความอาจจะมีมนต์ขลังเป็นคาถาอาคมเฉพาะหน้าจนกว่าจะเสื่อมมนต์ขลัง
การตีความคัมภีร์ของมนุษย์ดึกดำบรรพ์จึงยึดเอาความเข้าใจตามตัวอักษรเป็นหลัก และเป็นที่ยอมรับเฉพาะขณะที่มีมนต์ขลัง สิ้นมนต์ขลังเมื่อไรก็ไร้ความหมายเชิงศาสนาเมื่อนั้น
2. กระบวนทรรศน์โบราณ มองว่าเอกภพมีกฎตายตัว กฎทุกกฎของเอกภพเป็นกฎนิรันดร จึงตายตัว แต่ยังไม่รู้วิธีการวิทยาศาสตร์จึงไม่มีใครกล้ายืนยันว่า ใครๆก็สามารถเข้าถึงกฎของเอกภพด้วยตนเอง ในช่วงนี้จึงมีเจ้าสำนักเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด ใครอยากได้ความจริงต้องยึดเจ้าสำนักที่ตนพอใจเป็นหลัก และหันหลังให้เจ้าสำนักอื่นๆทั้งหมด
ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ให้ตีความ ก็จะยึดหลักการตีความของเจ้าสำนักเป็นหลัก และปฏิเสธการตีความของสำนักอื่นทั้งหมด ใครเป็นศิษย์หลายสำนักถือว่าเลวมาก ถูกตำหนิว่าเหยียบเรือสองแคม ชายหลายโบสถ์ คบไม่ได้
3. กระบวนทรรศน์ยุคกลาง มองว่าเอกภพมีกฎตายตัวก็จริง แต่ให้เพียงความสุขเจือความทุกข์ จึงเชื่อตามศาสดาที่ยืนยันว่า ความสุขในโลกหน้าเท่านั้นที่เที่ยงแท้ถาวร และยินดีทำทุกอย่างเพื่อได้ความสุขในโลกหน้าตามที่ศาสดาสอน
ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ให้ตีความ ก็จะตีความให้เข้าล็อคดังกล่าว มิฉะนั้นก็ไม่สนใจ และถือว่าเป็นประเด็นย่อยส่งเสริมประเด็นหลัก ถ้ามองไม่เห็นก็ทิ้งไว้ก่อนจนกว่าจะเห็น
4. กระบวนทรรศน์นวยุค มองว่าเอกภพมีกฎประสานกันเป็นระบบเครือข่ายที่รู้ได้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์และเหตุผล
ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ต้องตีความ ก็จะตีความให้สอดคล้องกับการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่ายของความจริง หากเรื่องใดตีความให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ไม่ได้จริงๆ ก็จะอธิบายว่าเป็นเรื่องที่พระเจ้าแทรกไว้ในคัมภีร์เพื่อทดลองความเชื่อ ความวางใจ และความรักของผู้มีศรัทธาในพระองค์ เพื่อเป็นมาตรการคัดสรรมิให้ผู้ขึ้นสวรรค์มีมากนัก
5. กระบวนทรรศน์หลังนวยุค มองว่าเอกภพมีกฎเป็นระบบเครือข่ายที่ประกอบด้วยปมข่าย ใยข่าย และตาข่าย
ปมข่าย (netpoint) รู้ได้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์
ใยข่าย (netline) รู้ได้ด้วยกฎตรรกะและกฎคณิตศาสตร์
ตาข่าย (neteye) รู้ได้ด้วยการหยั่งรู้ เพ่งญาณ หรือวิวรณ์
ผู้ถือกระบวนทรรศน์นี้ หากมีคัมภีร์ต้องตีความ ก็มีแนวโน้มที่จะตีความแบบพหุนิยม (pluralism) ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่สนใจเจตนาของผู้เขียนเท่ากับเจตนาขององค์การศาสนาที่เลือกเอาตัวบทนั้นมาเป็นคัมภีร์ของตน และตนเองก็มีหน้าที่เข้าใจและตีความให้ได้คุณภาพชีวิตสูงสุดตามเป้าหมายของศาสนาโดยรวม คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างดีที่สุดที่ปรัชญาหลังนวยุคจะคิดได้ โดยถือว่าเป้าหมายเช่นนี้มีแฝงอยู่แล้วในทุกคัมภีร์ หากแต่ศาสนิกจะต้องพยายามเข้าถึงให้มากที่สุดโดยอาศัยศรัทธาเป็นพลังขับเคลื่อน

อ่านต่อในวารสารบัณฑิตวิทยาลัย มมร