วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

พัฒนาความสามารถแห่งปัจเจก “ต่อมทางจริยธรรม”

พัฒนาความสามารถแห่งปัจเจก “ต่อมทางจริยธรรม”





เกริ่นนำ


สังคมไทยกำลังตกอยู่ภายใต้บรรยากาศที่เรียกว่า “ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ” หากหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไม่ตั้งหลักให้ดีก็จะเลี้ยวไปผิดทิศผิดทางยากต่อการแก้ไข ยากต่อการนำพาประเทศให้เจริญไปอย่างมีทิศมีทาง ยิ่งถลำลึกเข้าไปมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เสียเวลากลับคืนมามากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันมีการแข่งขันกันระหว่างประเทศแถบอาเซียนอยู่ในที ถ้าหากประเทศไทยยังไม่สามารถตั้งหลักเดินได้อย่างมีความมั่นคงและมีทิศทางที่ชัดเจน ประเทศไทยก็จะเดินช้ากว่าประเทศอื่นๆ ใกล้เคียงไปเรื่อยๆ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจึงเป็นช่วงที่สำคัญที่จะเริ่มต้นให้ดี สังเกตได้จากช่วงที่ผ่านมานั้นมีปัญหาเกิดขึ้นกับประเทศไทยมากมาย ส่วนใหญ่เป็นปัญหาอันเกิดจากความขัดแย้งกันของระบบความคิด ปัญหานี้รุกรามไปทั่วประเทศจนแทบจะทำให้ประเทศพังอยู่แล้ว สุดท้ายก็ถือว่าโชคดีที่ทุกฝ่ายกลับมาสู่ฐานเดิม ก็คือ การเลือกตั้งบุคคลเข้ามาบริหารประเทศได้ แม้จะเสียสละชีวิตและทรัพย์สินของคนในชาติเป็นเครื่องสังเวยต่อความขัดแย้งนั้นก็ตาม


ปัญหาทางความคิดเป็นเรื่องที่ต้องนำขึ้นมาสู่การพิจารณากันให้ถ้วนถี่ ถ้าหากไม่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์ วิจารณ์ และสังเคราะห์ให้ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างแท้จริงก็รังแต่จะทำให้เกิดวังวนเดิมอีกเช่นเคย ปัญหาที่จบลงมิใช่เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่เกิดจากความสงบลงแห่งเชื้อในเตาไฟเท่านั้น หากมีเชื้อใส่เข้าไปใหม่อีกเมื่อไร ไฟก็พร้อมที่จะประทุขึ้นทุกเมื่อเมื่อนั้น ทางที่ดีต้องรีบดับเชื้อในเตานั้นเสีย แต่จะดับกันอย่างไรที่ไม่ใช่นำเชื้อไปใส่ใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและนำขึ้นมาพิจารณากันอย่างจริงจังเพื่อผลประโยชน์แห่งประเทศชาติ


ในสายตาของนักปรัชญาแล้ว ปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้นั้นเป็นปัญหาทางปรัชญาแน่นอน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาทางความคิด ระบบคิด และร่องทางความคิด ปัญหาทางปรัชญาก็ต้องแก้ไขด้วยปรัชญาจึงจะสามารถแก้ไขได้ ไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีอื่น เพราะจะเป็นการแก้ไขไม่ถูกจุด แต่เนื่องจากประเทศไทยของเราไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องของการศึกษาปรัชญามานานพอสมควรจึงทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ถึงต้นสายปลายเหตุแห่งปัญหาต่างๆ ได้อย่างชัดเจน สายตานักแก้ปัญหาทั้งหลายมองไปเฉพาะจุด เฉพาะส่วนที่เป็นปัญหาขัดแย้งเท่านั้น เช่น มองเป็นเรื่องการเมือง เรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เรื่องสองมาตรฐาน เรื่องทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น แก้เรื่องหนึ่งก็ยังอีกเรื่องหนึ่ง แก้เรื่องหนึ่งก็มีปัญหางอกขึ้นมาอีกหลายปัญหา ก็เพราะไม่ทราบถึงแนวปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาทางปรัชญา ต้องแก้กันที่ปรัชญาจึงจะเป็นการแก้ทั้งระบบได้


ปรัชญาที่ยังเป็นปัญหา


ปัจจุบันนี้ทราบไหมว่า โลกกำลังอยู่ในแนวปรัชญาอะไร ก่อนนั้นโลกแห่งปรัชญานั้นสนใจเรื่องของอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ปรัชญาประจักษ์นิยม (Empiricism) เหตุผลนิยม (Rationalism) เป็นต้น จนมาถึงปรัชญาประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาการศึกษา ปรัชญาการเมือง ปรัชญาศาสนา ปรัชญาสังคม จิตวิทยา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยแล้วคำว่า ปรัชญาได้ถูกละเลยไปจนไม่เหลือรากฐานให้ต่อติด มีแต่ให้ความสำคัญเรื่องปากท้อง การค้า การขาย การลงทุน การแข่งขัน การปราบยาเสพติด การปราบคอรัปชั่น เป็นต้น เท่านั้น ความสูงส่งแห่งปรัชญาที่เป็นที่ตกลงกันในความคิดนั้นไม่อยู่ในฐานการศึกษาของประเทศไทยมานานนับทศวรรษแล้ว ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ การพูดถึงปรัชญาแทบจะเป็นเรื่องแปลกของนักศึกษา จึงไม่แปลกที่ไม่สามารถตอบได้ว่า ปัจจุบันโลกกำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับปรัชญาอะไร


ปรัชญาที่โลกให้ความสนใจในปัจจุบันนี้ก็คือ ปรัชญาหลังนวยุค (Post Modernism) ปรัชญานี้มาพร้อมกับความซับซ้อนของสังคม โดยเฉพาะสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุและการบริโภคเป็นอย่างมาก ปรัชญานี้แทรกขึ้นมาเพื่อมองเข้าไปในความเจริญเหล่านี้ว่ามีปัญหาเชิงปรัชญาอะไรอยู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีแหล่งที่มาจากอะไร และจะนำไปสู่จุดจบอย่างไร ในที่สุดก็พบว่า ปัญหาที่อยู่ในสังคมที่ซับซ้อนนั้นคือ ปัญหาความกระทบกันของวัฒนธรรม (Cultural Conflict) เพราะสังคมแห่งพหุวัฒนธรรมกำลังไหลเข้าหากัน ปัญหานี้นำไปสู่การกระทบกระทั่งกันทางความคิด และก็จะเกิดความขัดแย้งกันและเกิดการทำร้ายและทำลายกันในที่สุด นี่เป็นปัญหาที่นักปรัชญาสมัยนี้ให้ความสำคัญ


นอกจากปัญหาใหญ่ทางวัฒนธรรมนี้แล้ว ยังมีความซับซ้อนของวัฒนธรรมที่คนสมัยปัจจุบันกำลังอยู่ในกระแสวังวนอยู่ เป็นวัฒนธรรมการดำรงชีวิตในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้วิถีชีวิตของคนนั้นปรับไปโดยไม่รู้ตัว กระแสที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้คือกระแสบริโภคสัญญะ สังคมไทยเข้ามาสู่สังคมที่เรียกว่า “สังคมบริโภคสัญญะ” กันมากขึ้นทุกวัน กล่าวให้เห็นภาพก็คือ สังคมที่เสพสโลแกนที่โดนใจเท่านั้น ไม่สนใจเรื่องของคุณค่าของสิ่งของ ขอเพียงยึดมั่นเชื่อถือในคำโดนๆ ในโฆษณาก็ใช้ได้ ก็สามารถเรียกกำลังซื้อของคนในสังคมได้แล้ว


ปัญหาเรื่องของสังคมเสมือนจริงและสังคมบริโภคสัญญะนี้เป็นปัญหาของสังคมโลกยุคใหม่นี้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุคโมเดิร์น (Modernism) ที่มุ่งเน้นให้คนในสังคมเสพในสิ่งที่เป็นวัตถุมากกว่าทางจิตใจ แม้กระทั่งการเสพทางจิตใจก็เป็นเพียงการเสพสัญญะ คือคำโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดความมั่นใจในสิ่งของสิ่งนั้นเท่านั้น ฌอง โบดริยารด์ (Jean Baudrillard) นักปรัชญาหลังนวยุคคนหนึ่งกล่าวว่า วัฒนธรรมในนวยุค (Modernism) เป็น “วัฒนธรรมฉบับสำเนา” ในมุมมองของฌอง โบดริยารด์ มองว่า ปัจจุบันนี้โลกเข้าสู่โลกเสมือนจริง (Simulation) หรือเกินจริง (Hyper-Reality) สิ่งที่เสมือนจริงและเกินจริงได้รับความสนใจยิ่งกว่าสิ่งที่จริงๆ ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อคนให้ความสนใจสิ่งที่เกินจริงมากกว่าสิ่งที่เป็นจริง จึงมีการผลิตสิ่งที่เกินจริงออกมามากๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ คนไม่สนใจสิ่งที่จริง เพราะสิ่งเสมือนจริงใช้ได้ดีกว่าอีก ไม่ต้องกลัวสิ้นเปลือง ไม่ต้องกลัวเสียหาย จ่ายได้หาได้ตลอด สังคมกำลังอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอัดสำเนานี้


อ่านต่อบัณฑิตศาส์น มมร (ฉบับล่าสุด)
 
 

เรียนท่านผู้อ่านทุกท่าน

เรียนท่านผู้อ่านทุกท่าน

คัมภีร์สุวิญญมาลานั้น ได้นำเสนอผ่าน webblog มาถึง โศลกที่ ๓๖ แล้ว
แต่เนื่องจาก webblog มีปัญหา ไม่สามารถนำเสนอได้อย่างเดิม จึงขอเก็บส่วนที่เหลือไว้
จนกว่าจะแก้ไขให้ดีดุจเดิม
ผู้ที่สนใจคัมภีร์สุวิญญมาลา โปรดติดตามอ่านจากคัมภีร์ที่จะวางแผงในปลายปีนี้
เพื่อให้คัมภีร์นี้เป็นการเติมเต็มจิตวิญญาณ
หวังว่าผู้ติดตามทุกท่านจะได้ไว้ครอบครองนะครับ
หลังจากนี้ไปจะลงบทความอื่นๆ ตามโอกาสให้ได้ติดตามกัน
ด้วยจิตบำเพ็ญ
ผู้บำเพ็ญ