วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กายนี้ก็เท่านั้น














โศลกที่ยี่สิบห้า "กายนี้ก็เท่านั้น"

รูปขันธ์อันวิเศษ
รักษานามขันธ์อีกสี่ประการไป
ก่อเกิดเป็นปัจจัยสืบภพชาติ
มีแต่ขันธ์นี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลง
พึงบริหารรูปขันธ์นี้ให้เป็นเครื่องมือ
เข้าไปกำหนดรู้ชัดลมหายใจเข้าออก
ระยะที่หนึ่งรู้ชัดลมสั้น เข้าออก
ระยะที่สองรู้ชัดลมยาว เข้าออก
ระยะที่สามหยั่งรู้เพียงลม เข้าออก
ระยะที่สี่หยั่งรู้ความสงบเย็น เข้าออก
รูปขันธ์สงบ นามขันธ์ก็ระงับ
ความสัมพันธ์แห่งธรรมชาติปรากฏ
นามรูปเป็นเพียงขันธ์เกิดดับ
การสั่งสมกองทุกข์จะมีไฉน!



กายนี้เป็นองค์ประกอบแห่งสรีรยนต์ที่น่าอัศจรรย์ ทุกองค์ประกอบนั้นทำหน้าที่ของตนไปอย่างพร้อมเพียงประสานกันเป็นหนึ่งเดียว มีวงจรไฟฟ้าคือเส้นประสาทที่วิเศษเชื่อมโยงไปทั่วร่างกายนี้ ไม่ว่าเกิดความผิดปกติตรงไหน อย่างไร ก็จะส่งผลไปสู่ตัวควบคุมหลัก (Mainframe) ให้ตรวจสอบแก้ไขเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความดัน เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด หรือ ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) และอะไรต่อมิอะไรอีกจำนวนมากที่เป็นความผิดปกติ แม้กระทั่งเศษหนามเพียงนิดเดียวที่ติดเกี่ยวเข้าไปในเนื้อที่เท้า ก็สร้างความผิดปกติส่งผลไปที่ส่วนควบคุมให้ไปดูแลดำเนินการให้เป็นปกติด้วย นอกจากนั้นยังมีต่อมมีท่อ ต่อมไร้ท่อที่แสดงปฏิกิริยาทันทีที่มีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา สร้างทั้งภูมิคุ้มกันและทำลายตัวมันเองได้ วิเศษเหลือเกินสรีรยนต์นี้



ในพระพุทธศาสนามองร่างกายนี้เป็นสรีรยนต์อันหนึ่งที่มีจักร ๔ คือ อิริยาบถทั้ง ๔ ได้แก่ ยืน เดิน นั่ง และนอน เป็นตัวขับเคลื่อนสรีรยนต์นี้ มีเครื่องยนต์ ๙ สูบ และเป็นท่อไอเสียไปในตัว ที่เรียกว่า ทวาร ๙ ได้แก่ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ท่อปัสสาวะ ๑ และท่ออุจจาระ ๑ ด้วยเหตุนี้ในพุทธกาลนั้น เวลาพบปะทักทายกันจึงมีวัฒนธรรมเฉพาะว่า “ขมนียัง อาวุโส” หรือ “ขมนียัง ภันเต” แปลว่า “ท่านผู้มีอายุ หรือ ท่านผู้เจริญ สรีรยนต์อันมีจักร ๔ มีทวาร ๙ พอทนได้ดีไหม” คำทักทายนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง มีแต่ในพระพุทธศาสนาที่ใช้คำทักทายแสดงให้เห็นถึงการแยกแยะให้เห็นกระบวนการทำงานของร่างกายนี้ชัดเจน ก็อิริยาบถทั้ง ๔ นี้ ย่อมมีความผิดปกติเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา อิริยาบถทั้ง ๔ นี้ยังใช้ได้เป็นปกติดีอยู่หรือไม่ มีอะไรต้องให้ทนกับอิริยาบถทั้ง ๔ หรือไม่ เดินดีอยู่หรือไม่ นอนหลับดีอยู่หรือไม่ นอกจากนั้น ทวารทั้ง ๙ ละ มีอะไรเป็นปัญหาหรือไม่ ตายังดูได้ดีอยู่หรือไม่ อุจจาระยังระบายดีอยู่ไหม ถ้าทุกอย่างเป็นปกติก็แปลว่า สบายดี ถ้าตรงไหนเริ่มติดขัดก็แสดงว่า ไม่สบายดี สรีรยนต์คือกายนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เป็นสิ่งที่ต้องดูแลให้เป็นไปตามปกติจึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ที่เรียกว่า สุขกาย (ทำให้) สบายใจ


ร่างกายนี้มีความสมบูรณ์มาก วิเศษมาก ถ้าหากใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล แต่ถ้าใช้ไปในทางที่เป็นโทษ ก็เป็นโทษอย่างอนันต์ ไล่ตามลำดับฝ่ายประโยชน์ก็ตั้งแต่ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ จนถึงนิพพานสมบัติ ถ้าไล่ตามลำดับฝ่ายโทษ ก็ตั้งแต่เป็นดิรัจฉานวิบัติ เปรตวิบัติ อสุรกายวิบัติ จนถึงนรกวิบัติ ผู้มีปัญญาต้องอาศัยร่างกายนี้บำเพ็ญเพียรเพื่อเข้าถึงสมบัติทั้งหลายตามลำดับไป เรียกว่า “ใช้ขันธ์นี้บริหารขันธ์นี้ให้สิ้นขันธ์” เพราะการสิ้นไปแห่งกองทุกข์ก็คือ การสิ้นไปแห่งกองแห่งขันธ์นี้นั่นเอง


กายนี้มีการตอบสนองอย่างตรงไปตรงมามาก ไม่มีอะไรเป็นวาระซ่อนเร้น ไม่มีอะไรซ่อนเงื่อนเป็นเล่ห์กล ไม่มีอะไรเป็นพิษเป็นภัย ต้องการอะไร จำเป็นต่อสิ่งไหน กายก็จะแสดงออกมาอย่างนั้น หิว กระหาย กระเพาะก็จะเรียกร้องเอง หนาว ร้อน ผิวหนังนี้ก็จะแสดงออกเอง ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ท่ออุจจาระและท่อปัสสาวะก็จะทำหน้าที่เอง ถ้าง่วง ตาก็จะแสดงอาการ ร่วมกับการหาว ตาเริ่มปิด คอเริ่มตกตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทั้งหมดแสดงอาการหลับโดยอัตโนมัติ หรือแม้แต่ความต้องการทางเพศ เมื่อถึงเวลาร่างกายจะเรียกร้องโดยหลั่งฮอร์โมนทางเพศออกมา ทุกอย่างมีระบบชัดเจนไม่ต้องตีความอะไรทั้งสิ้น นี่คือความสมบูรณ์แบบของร่างกายนี้


จนกระทั่งเมื่อมนุษย์เริ่มมีความกลัวต่อร่างกายที่ทำหน้าที่ได้อย่างชัดเจนเหลือเกิน เกินกว่าที่ใจจะรับได้เพราะมันตรงไปตรงมาเกินไป ใจจึงสร้างความคิดขึ้นเข้าไปตีความระบบร่างกายให้แปรเปลี่ยนไป แปรเปลี่ยนไปตามความเชื่อ ตำรา วัฒนธรรม คำสอน การศึกษา เช่น ถ้าร่างกายต้องการระบายลม (ตดหรือผายลม) ใจจะบอกกายว่าต้องดูก่อนที่นี่ที่ไหน เสียมารยาทหรือเปล่า จะตดต้องดูที่ ตรงนี้ผายลมไม่ได้ต้องระงับยับยั้งไว้ หรือแม้แต่ใจอนุญาตให้ทำได้ แต่ต้องทำอย่างเบาๆ ช้าๆ แนบเนียน ห้ามมีเสียง เพราะนั่นบ่งบอกถึงความไม่เป็นผู้ดี



“ความเป็นผู้ดี” ความคิดได้ตีความไว้ให้ร่างกายต้องกระทำตาม มิฉะนั้นจะถูกประณามว่าไร้การศึกษา ไร้ความเป็นผู้ดี ร่างกายต้องสูญเสียอิสรภาพไปแล้วเพราะความคิดอย่างนี้ เมื่อร่างกายสูญเสียอิสรภาพ ร่างกายก็ต้องตอบสนองคืนให้เป็นโรคลมพิษตีกลับ เพราะการผายลม (ตด) เป็นการระบายลมพิษที่มีในร่างกายออก แต่ถ้าไม่สามารถระบายได้อย่างเต็มที่ลมพิษนั้นก็จะตีกลับ มีการสำรวจคนอังกฤษ เป็นโรคเกี่ยวกับระบบลมพิษมาก เพราะคนอังกฤษอั้นตดไม่ให้ออกมาตามธรรมชาติของร่างกาย


อีกแง่มุมหนึ่ง ร่างกายไม่ได้ต้องการอาหาร ไม่หิว กระเพาะไม่ได้เรียกร้องอะไร แต่ความคิดบอกว่า “อยากทาน” เป็นการข่มขืนร่างกายให้กระทำตาม ถ้าไม่กระทำตาม ใจจะคิดทันทีว่า ไม่เห็นแก่ความเป็นเพื่อนไม่ได้ เดี๋ยวเพื่อนบ่น เดี๋ยวเพื่อนว่าเอาได้ ชวนแล้วทำเป็นเล่นตัว ความคิดที่กลัวเพื่อนว่า กลัวเสียมารยาท กลัวเขาจะเลิกคบ กลัวครั้งหน้าเขาไม่ชวน หรือแม้แต่ไม่ได้กลัวใคร แต่ก็แสดงถึงความเป็นใหญ่กว่ากาย ว่าถ้าฉันอยากแล้วต้องทาน ต้องหยิบเข้าปากให้กับฉัน นี่เป็นพฤติกรรมที่ใจข่มขืนกายให้กระทำตาม แม้ว่า กายไม่มีได้แสดงออกว่าหิวสักนิดก็ต้องทำ หยิบอาหารว่างเข้าปาก กินของกินเล่น ขบเคี้ยวไปพลางๆ นั่นแหละเข้าข่ายนี้ทั้งนั้น ผลจึงปรากฏว่า เกิดโทษภัยอันเกิดจากปาก ตายเพราะปาก คือ “โอษฐภัย” กันมากต่อมาก เป็นกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคอะไรต่อมิอะไรมากมายที่เกิดจากการยัดเยียดเข้าไปทางปาก


ส่วนเรื่องที่มีปัญหามากอีกปัญหาหนึ่ง คือปัญหาเรื่องการมีเซ็กส์ เรื่องนี้มีการตีความมาก มีการแปรความไปมากตามความคิดที่ให้ไว้ ความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ ตำราต่างๆ วิชาความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคิดทางตะวันตกหรือตะวันออก ลองพิจารณาให้ดี ถ้ามองกันให้ชัด มนุษย์ก็เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่มีระบบสรีระร่างกายทำงานเหมือนเดียวกันกับสัตว์ทั้งหลาย ที่เรียกว่ากันว่า “มีการสืบพันธุ์”

นอกจากมีการสืบพันธุ์แล้ว สัตว์ก็ยังแสดงความรักต่อกันด้วยอิริยาบถต่างๆ ด้วย การสืบพันธุ์เกิดจากฮอร์โมนทางเพศทำงาน สารเคมีเกี่ยวกับเพศจะหลั่งออกมาให้ร่างกายตอบสนอง เมื่อได้รับการตอบสนองแล้วร่างกายก็หยุดทำงาน แต่การแสดงความรักยังคงแสดงได้ต่อไป เพราะการแสดงความรักเป็นความรู้สึกที่ทำงาน มิใช่ต่อมเพศ แต่มนุษย์ได้แปรเปลี่ยนระบบของเพศให้เข้ามาสู่ระบบทางความคิดของสังคม ศาสนา วัฒนธรรม ร่างกายไม่ทราบหรอกว่า สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นอย่างไร คิดกันอย่างไร เมื่อถึงเวลา ร่างกายก็ต้องแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา

แต่ความคิดได้แปรผลความต้องการทางร่างกายไปเป็นอื่น เช่นแปรผลไปตามสังคมว่า การมีเซ็กส์ทำให้ประชากรล้นโลก การมีเซ็กส์ทำให้ขาดดุลทางทรัพยากร การมีเซ็กส์ทำให้โรคระบาด แปรผลไปตามศาสนาว่า การมีเซ็กส์เป็นที่มาของกิเลส ความต้องการทางเพศทำให้จิตใจเสื่อมทราม การมีเซ็กส์ทำให้ซาตานคืนชีพ แปรผลไปตามวัฒนธรรมว่า การมีเซ็กส์ทำให้เสียความเป็นผู้ดี ความต้องการทางเพศทำให้วัฒนธรรมเสียหาย ความต้องการทางเพศทำให้ขาดอารยธรรม เป็นมนุษย์ที่ไม่เจริญ


การตีความทุกอย่างเหล่านี้คือการที่ความคิดได้ใส่ร้ายต่อร่างกายอย่างไม่เป็นธรรม อย่างไม่น่าให้อภัย นอกจากนั้นบางคนทนไม่ได้กับความคิดที่ใส่ร้ายต่อการมีเซ็กส์เช่นนี้ก็ทำการประชดเสียเลย โดยการสำส่อนไปทั่ว มั่วเซ็กส์ไปทั่ว หื่นไปทั่ว ทั้งที่ร่างกายไม่ได้แสดงอาการแม้สักนิดว่าต้องทำอย่างนั้น แต่ความคิดได้สั่งการบอกว่า เมื่อฉันต้องการแล้วร่างกายต้องปฏิบัติตาม นี่ก็เป็นอีกด้านหนึ่งของการข่มขืนร่างกายนี้ด้วยความคิด


แน่นอนอยู่แล้ว เมื่อมีการยัดเยียดและข่มขืนร่างกายอย่างนี้ก็ย่อมมีผลกระทบต่อร่างกายทันที ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเพื่อแสดงความต้องการนั้นจะแปรเปลี่ยนเป็นพิษผสมเข้ากับฮอร์โมนตัวอื่น เพราะเกิดความผิดปกติขึ้นต่อระบบร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นในร่างกาย คนที่เก็บกดทางเพศมักมีความเครียด มักมีปัญหาทางจิต มักมีอคติต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ มักมีความเบี่ยงเบนทางเพศ มักมีอารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด ส่วนผู้ที่สนองตามความคิดก็ทำให้เกิดโรคติดเชื้อต่างๆ ทำให้ร่างกายขาดความสมดุลของเลือดขาว เป็นโรคผอมเหลือง และยังเกิดความทุกข์จากการถูกย่ำยีทางเพศอีก ทั้งหมดนี้คือ การกระทำต่อร่างกายไม่ถูกต้องทั้งสิ้น


โศลกว่า “พึงบริหารรูปขันธ์นี้ให้เป็นเครื่องมือ” ศาสตร์โบราณได้แบ่งระดับแห่งรูปขันธ์หรือร่างกายนี้ออกเป็น ๗ ระดับ แต่ละระดับก็มีความหมายสื่อไปถึงการใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการเชื่อมประสานให้กายและจิตไปด้วยกัน ทำงานร่วมกัน เป็นศาสตร์ที่สร้างความสมดุลขึ้นทางกายและใจ ไม่ให้ตกไปสู่ขั้วใดขั้วหนึ่ง ไม่ให้ตกไปสู่อำนาจทางกายและอำนาจทางใจ แต่เป็นการใช้พลังกายเพื่อเอื้อถึงพลังใจ ใช้พลังใจเสริมสร้างพลังกาย แปรเปลี่ยนพลังขั้วลบและขั้วบวกในกายพัฒนาระดับขึ้น จุดหมายก็คือหลุดพ้นจากขอบเขตของกายและใจ เป็นอิสระทั้งกายและใจ


กายฐานที่หนึ่ง ฐาน “มูลธร” หรือฐาน “กุณฑาลินี” ฐานนี้อยู่ระหว่างอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก เป็นฐานที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ เชื่อมโยงระหว่างกายกับชีวิต มูลธรฐานรักษาไว้ซึ่งพลังชีวิตและความตื่นตัว ถ้าสะกดทางเพศ ความตื่นตัวก็หายไปด้วย หรือถ้าปล่อยไปตามพลังเพศ ความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณก็หดหาย วิธีการปฏิบัติก็คือต้องแปรสภาพของพลังนี้ ยืมพลังเพศมาสร้างพลังการตื่นตัว พึงเข้าใจว่า พลังเพศนี้สร้างสรรพสิ่งขึ้นมา ไม่ต่อต้าน ไม่ยอมตาม แต่เข้าใจ ใช้พลังนี้เข้าสู่พลังการตื่นตัว จิตวิญญาณก็ก้าวหน้า กายฐานอื่นๆ ก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย

กายฐานที่สอง ฐาน “สวาธิษฐาน” เป็นฐานที่อยู่ปลายก้นกบ เป็นศูนย์กลางพลังอารมณ์ความรู้สึก สวาธิษฐานรักษาพลังอยู่ ๒ ด้าน ด้านหนึ่งนั้นเป็นพลังลบ คือความกลัว ความเกลียด ความโกรธ และความรุนแรง อีกด้านหนึ่งคือ ความรัก ความเมตตา ความกล้า ความเป็นมิตร เป็นพลังด้านบวก สำหรับพลังด้านลบมีเองโดยอัตโนมัติ แต่ด้านบวกต้องแปรเปลี่ยน ต้องพัฒนาจึงจะมีได้ คนทั่วไปกระทำต่อพลังลบนี้เป็น ๒ ทาง หนึ่งปลดปล่อยพลังลบออกมา เรียกว่า ระบายอารมณ์ หนึ่งคือเก็บกักพลังลบไว้ เรียกว่า ข่มอารมณ์ การปฏิบัติต่อพลังลบอย่างนี้ ไม่ถูกต้อง ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเข้าไปรับรู้ ยอมรับ เพ่งเข้าไปสู่ศูนย์กลางของมัน แทนที่จะระบายความโกรธ หรือสะกดกลั้นไว้ แต่กลับพิจารณาตัวมัน การทำเช่นนี้พลังสายบวกจะพัฒนาขึ้นมาได้ ความรัก ความเมตตา อภัย ไมตรี ความกล้าจะปรากฏขึ้นมาได้


กายฐานที่สาม ฐาน “มณีปุระ” ฐานกายนี้ตั้งอยู่ตำแหน่งบั้นเอว ตรงสะดือ เป็นศูนย์กลางพลังความคิดพื้นฐาน มณีปุระฐานรักษาไว้ซึ่งพลัง ๒ สายเช่นกัน พลังลบก็คือ ความสงสัย ส่วนพลังบวก คือ ความเชื่อมั่น สำหรับพลังด้านลบ คือ ความสงสัยมีเองโดยอัตโนมัติ แต่ด้านบวกปัญญาวินิจฉัยต้องแปรเปลี่ยนจึงจะได้มา คนทั่วไปกระทำต่อพลังลบนี้เป็น ๒ ทาง หนึ่งสงสัยอยู่อย่างนั้น เรียกว่า ไม่กล้าตัดสินใจ ลังเล คิดวนไปวนมา หนึ่งคือ ไม่สงสัย เรียกว่า เชื่องมงาย ไม่ตะขิดตะขวางใจ ไม่ฉุกคิด ไม่คิดมาก การปฏิบัติต่อพลังลบอย่างนี้ ไม่ถูกต้อง ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเข้าไปรับรู้ ยอมรับ เพ่งเข้าไปสู่ศูนย์กลางของมัน แทนที่จะสงสัย หรือเชื่อทันที แต่กลับพิจารณาตัวความคิด ตัวความสงสัย การทำเช่นนี้ ตัวความสงสัยจะหายไป แต่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นความจริงแทน เมื่อเป็นความจริงก็กลายเป็นพลังศรัทธา ความเชื่อมั่น ส่วนพลังสายบวกคือความคิดใคร่ครวญก็จะพัฒนาขึ้นมาเป็นปัญญาวินิจฉัย เป็นความคิดสมบูรณ์ เป็นโยนิโสมนสิการได้



กายฐานที่สี่ ฐาน “อนหตะ” ฐานนี้ตั้งอยู่ตรงกลางกระดูกสันหลัง ระดับที่ตรงกับหัวใจ ตรงกับ Thymus gland เป็นฐานของหัวใจ (Heart) เกี่ยวกับระบบหมุนเวียนโลหิต เป็นศูนย์กลางพลังความฝันและจินตนาการ อนหตะฐานรักษาไว้ซึ่งพลัง ๒ สายเช่นกัน พลังลบก็คือ ความฝัน ส่วนพลังบวก คือ เจตคติ สำหรับความฝันนั้นมีเอง แต่จินตนาการต้องพัฒนาขึ้น เจตคตินั้นมีเอง แต่วิสัยทัศน์ต้องพัฒนาขึ้น คนทั่วไปกระทำต่อพลังลบนี้เป็น ๒ ทาง หนึ่งก็ฝันหวานไปอย่างนั้น เรียกว่า พวกเฟ้อฝัน พวกฝันกลางวัน หนึ่งคือพวกไม่มีอะไรให้ฝัน ไม่ใฝ่ฝัน ไม่สร้างวิมานในฝัน การปฏิบัติต่อพลังลบอย่างนี้ ไม่ถูกต้อง ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเข้าไปรับรู้ ยอมรับ เพ่งเข้าไปสู่ศูนย์กลางของมัน แทนที่จะฝันเฉย แต่กลับพิจารณาความฝัน เป็นความใฝ่ฝัน การทำเช่นนี้ ตัวความฝันจะหายไป แต่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นจินตนาการแทน เมื่อเป็นจินตนาการ ฝันก็จะเป็นจริงขึ้นมาได้ ส่วนพลังสายบวกคือเจตคติ ในที่สุดก็จะพัฒนาขึ้นมาเป็นวิสัยทัศน์ขึ้นมาได้ พวกนอนข้างถนนฝันว่าบินได้กับนักบินอวกาศต่างกันตรงนี้


กายฐานที่ห้า ฐาน “วิสุทธิ” กายฐานนี้อยู่ตำแหน่งกระดูกต้นคอ ตรงกับต่อมไทรอยด์ (Thyroid Grand) เป็นฐานของปอดเกี่ยวกับลมหายใจ เป็นศูนย์กลางพลังบริสุทธิ์ พลังจิตวิญญาณ นับตั้งแต่ฐานนี้ไปไม่มีพลังสองสายปะทะกันแล้ว ไม่มีขั้วบวก ขั้วลบแล้ว ไม่มีทวิภาวะเหลืออยู่ในฐานนี้ แต่มีความเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาวะ ไม่ต้องปรับพลังอะไรอีกต่อไป แต่ให้กำหนดหยั่งลงไปในลมหายใจเท่านั้น เป็นฐานแห่งสติที่ตื่นตัวอยู่เสมอ ลมหายใจเป็นที่ตั้งแห่งความบริสุทธิ์ เป็นพลังจิตวิญญาณบริสุทธิ์ ไม่มีชายหญิง ไม่มีทวิภาวะ มีแต่ลมหายใจ มีแต่ความชัดเจน มีแต่สติที่แจ่มใส ไม่ว่าหลับหรือตื่นก็มีสติ กายหลับก็หลับไป แต่สติยังแจ่มใสเหมือนเดิม รู้ชัดแล้วว่าตนเป็นใคร อัตตา (I or Ego) ได้สลายไปแล้ว ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว และความสงสัยได้แล้ว ไม่เลือกเดินทางสุดโต่งทั้งพลังสายบวกและสายลบแล้ว


แต่อันตรายยังมีอยู่สำหรับผู้ที่เข้าถึงกายฐานวิสุทธินี้ เพราะเมื่อเข้าถึงฐานนี้ย่อมเกิดความสุขขึ้น เป็นภาวะแห่งการดื่มด่ำกับสิ่งที่ไม่เคยประสบมาก่อน ทำให้ไม่อยากไปไหนอีก อยากจะดำรงอยู่ภายในฐานนี้เท่านั้น พูดง่ายๆ ว่า “กำลังติดสุข” ความทุกข์ไม่เคยทำร้ายใคร แต่ความสบายได้ทำร้ายคนมานักต่อนัก ยาจกสละกะลาขอทานได้ง่าย แต่พระราชาสละมงกุฎได้ยาก การหนีออกจากความวุ่นวายในตลาดสดยังทำได้ง่าย แต่การหลบออกจากเสียงดนตรีอันไพเราะในโบสถ์นั้นยาก ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย โดยมากมักจะหยุดอยู่ที่ฐานนี้ แล้วเลิกบำเพ็ญเพียรต่อไป ในฐานที่ ๕ นี้ ความเข้าใจว่า “ตัวฉัน” (อัตตา Ego-Ness) นั้นหายไปแล้ว แต่ความรู้สึกว่า “เป็นฉัน” หรือ “อสฺสมิตา” หรือ “มานะ” (Am-Ness) นั้นยังคงอยู่ ด้วยเหตุนี้ฉันจึงมีความสุขได้

ฐานกายที่หก ฐาน “อัชนะ” ฐานนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางหน้าผาก ตรงกับ Pituitary gland (ต่อมใต้สมอง) เป็นฐานของสมองส่วนล่างเกี่ยวกับระบบประสาท ฐานอัชนะนี้เป็นที่รวมของปัญญา เป็นดวงตาที่สาม เป็นพาหนะแห่งญาณวิเศษ ติดต่อกับเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนได้ ฐานนี้คือฐานกายจักรวาล ความเป็นเรา “อัสสมิตา” ไม่หลงเหลืออะไรให้ติดค้างอีก ไม่มีทั้งฉันและความเป็นฉันอยู่ในฐานนี้ มีแต่ความเป็นเช่นนั้นเอง ความเป็นสัจธรรม ความสมบูรณ์พร้อมแห่งสติ เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลได้แล้ว ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ผู้ปฏิบัติอีกส่วนหนึ่งก็มาติดอยู่ขั้นนี้ อันเกิดจากความยิ่งใหญ่แห่งกายนี้นั่นเอง เพราะกายนี้ปกคลุมหมดแล้ว ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ไม่มีขอบเขต ไม่มีจุดจบ ไม่มีที่ไหนให้ต้องไปอีก ไม่มีอะไรให้ต้องแสวงหา ไม่มีอะไรให้ต้องค้นพบ ทุกสิ่งปกคลุมหมดแล้ว การเดินทางจึงหยุดอยู่ที่ฐานนี้สิ้นชาติไม่ถ้วน


แม้กระนั้น ความเป็นสัจธรรมแห่งกายนี้ที่ยิ่งใหญ่เหลือเกินก็กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางได้อีก ไม่ว่าจะเป็นความมีอยู่และไม่มีอยู่แห่งกายที่ยิ่งใหญ่นั้น ก็ยังถือว่า มีอยู่นั่นเอง (เนวสัญญานาสัญญายตนะ) ความยากปรากฏขึ้นเพราะขอบเขตเริ่มลางเลือน ที่กำหนดนั้นลางเลือน ตัวตนนั้นขาดไป ความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลได้ปกคลุมไปทั่ว ไม่เหลือให้ต้องติดขัดอีก ด้วยเหตุนี้จึงยากที่จะเห็นความมีอยู่ที่ปกคลุม ดังนั้น ผู้ปฏิบัติยังต้องเดินทางต่อไป ยังต้องบำเพ็ญต่อไป


กายฐานที่เจ็ด ฐาน สหัสระ หรือ “สหัสชะ” ฐานสหัสระตั้งอยู่กลางศีรษะด้านบน เปรียบเสมือนมงกุฎดอกบัว ตรงกับ Pineal gland เป็นฐานศูนย์กลางของสมองส่วนบนเกี่ยวกับระบบประสาทโครงสร้างทั้งหมด ยังเหลือการเดินทางขั้นสุดท้าย นั่นคือ การเดินทางไปถึงความไม่ดำรงอยู่ ไม่เป็นอยู่ การดำรงอยู่เป็นเพียงเครื่องหนึ่งของเรื่อง อีกครึ่งหนึ่งคือการไม่ดำรงอยู่ แสงสว่างเป็นหนึ่งด้าน อีกหนึ่งด้านคือความมืด ชีวิตคือข้างหนึ่ง ความตายเป็นอีกข้างหนึ่ง ดังนั้น ต้องเข้าถึงความดำรงอยู่และความไม่ดำรงอยู่ เป็นเพียงความว่าง ความจริงสูงสุดต้องมีเพียงการเข้าไปรู้ถึงการดำรงอยู่และการไม่ดำรงอยู่เท่านั้น เป็นความจริงอย่างหมดเปลือก เป็นความว่างตลอดสายทั้งการดำรงอยู่และการไม่ดำรงอยู่ เป็นความสมบูรณ์พร้อม นี่แหละจึงเรียก ธรรมกาย เรียกนิพพาน

ฐานทั้ง ๗ นี้สามารถนำมาเปรียบเทียบฐานที่เกิดเสียงซึ่งเดิมเป็นศาสตร์โบราณที่เป็นรากฐานของความรู้ก่อนแปรเปลี่ยนมาเป็นแค่จะอักขระธรรมดาและเทียบได้กับโพชฌงค์ ๗ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการบรรลุรู้แจ้ง ดังนี้


ฐาน ป ได้แก่ ป ผ พ ภ ม เท่ากับ สติสัมโพชฌงค์ เชื่อมกับฐานชีวิต (กุณฑลินี)
ฐาน ต ได้แก่ ต ถ ท ธ น เท่ากับ ธัมวจยสัมโพชฌงค์ เชื่อมกับฐานอารมณ์
ฐาน ฏ ได้แก่ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ เท่ากับ วิริยสัมโพชฌงค์ เชื่อมกับฐานความเชื่อ
ฐาน จ ได้แก่ จ ฉ ช ฌ ญ เท่ากับ ปีติสัมโพชฌงค์ เชื่อมกับฐานความคิด
ฐาน ก ได้แก่ ก ข ค ฆ ง เท่ากับ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เชื่อมกับฐานความสุข
อฐาน ได้แก่ ย ร ล ว ส ห ฬ เท่ากับ สมาธิสัมโพชฌงค์ เชื่อมกับฐานความรู้ตัว
วิมุตติฐาน ได้แก่ อัง (อํ) เท่ากับอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เชื่อมกับฐานญาณ


เมื่อเข้าถึงฐานสุดท้ายแล้ว กระนั้นนิพพานคือความว่างก็ต้องวางไว้ ปล่อยวางไว้อย่างนั้น ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรอีกต่อไป “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” นี่แหละคือการใช้ขันธ์มาบริหารขันธ์เพื่อความสิ้นขันธ์อย่างแท้จริง


นี่คือ โศลกที่ยี่สิบห้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา