วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555




โศลกที่สามสิบห้า "บูรณาการแห่งธรรม"

ในอานาปานสติทั้งสี่มิติ
เข้าถึงลมหายใจขั้นที่สาม-สี่
เข้าถึงความรู้สึกขั้นที่สาม-สี่
เข้าถึงจิตสภาวะขั้นที่สาม-สี่
เป็นความสงบเย็นกายสังขาร
เป็นความสงบเย็นจิตสังขาร
เป็นการทำจิตสภาวะให้ตั้งมั่น
ก็ถึงช่วงเวลาเดินวิปัสสนา
ใช้ธรรมสี่มิติเข้าบูรณาการ
สติย่อมมีพลังในการเดินวิปัสสนา
เห็นแจ้งอนิจจตาในกายเวทนาจิต
คลายความหลงใหลในกายเวทนาจิต
สิ้นความยึดมั่นกายเวทนาและจิต
ปล่อยวางกาย เวทนา และจิตไปตามธรรมชาติ
นี่เป็นแนวทางเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรม
นี่เป็นบูรณาการแห่งธรรมในอานาปานสติ





“บูรณาการ” คำๆ นี้กำลังได้รับการความสนใจในหลายๆ วงการ โดยเฉพาะวงการศึกษาได้ใช้คำนี้มาสักระยะหนึ่งแล้วและความเห่อนั้นกำลังจะหายไป แต่ไม่ว่าจะหายไปหรือไม่อย่างไร บูรณาการก็เป็นวิธีการที่เหมาะสมกับทุกศาสตร์ ศัพท์ว่า บูรณาการ (integration) คือ การทำให้สมบูรณ์ กล่าวให้ชัดคือ การนำองค์ประกอบหนึ่งไปรวมกับองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ หรือการมองทั้งระบบที่โยงใยสัมพัทธ์และสัมพันธ์กันแล้วจัดการให้สมบูรณ์ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดตามเป้าหมาย ไม่ได้หมายถึงนำหนึ่งบวกสอง บวกสาม แต่อาจหมายถึงหนึ่งบวกสี่ สองบวกสามหรือกระทำอื่นใดก็ได้ในระบบนั้นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ เพียงแต่ต้องเป็นไปอย่างมีระบบ ไม่ใช่ทำอย่างสะเปะสะปะ ความสมบูรณ์ที่เป็นบูรณาการนั้นมีปรากฏอยู่แล้วเพียงแต่ไม่ได้นำมาศึกษา เช่น บูรณาการของอาหาร บูรณาการของวงดนตรี การบูรณาการของยา การบูรณาการของไอแพท-ไอโฟน เป็นต้น ระบบต่างๆ ที่กำหนดไว้สามารถเชื่อมโยงกันทุกจุดขององค์ประกอบเพื่อประมวลผลออกมาอย่างสมบูรณ์



การบูรณาการนั้นมีความสำคัญอยู่ที่การเข้าใจหน้าที่ของตนๆ ยกตัวอย่างเรื่องดนตรี ดนตรีตัวไหนเป็นตัวนำจังหวะ ตัวไหนเป็นตัวทำนอง ตัวไหนเป็นตัวเคล้าตัวโน๊ต การทำหน้าที่ของแต่ละดนตรีนั้นผู้ทำดนตรีต้องทราบว่า จะให้ทำหน้าที่ตอนไหน เครื่องดนตรีตัวไหนเล่นกับตัวไหน ตัวไหนหยุดในขณะไหน ตอนไหนเล่นร่วมกันทั้งหมด ทุกอย่างมีระบบเพื่อความไพเราะของดนตรี มีทั้งเล่นเอง เล่นกับพวก มีทั้งหยุด มีทั้งส่ง มีทั้งรับ เป็นต้น



ระบบบูรณาการที่สุดมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบบูรณาการของร่างกายนี่เอง จะเห็นได้จากการทำงานของอวัยวะแต่ละส่วนนั้นทำงานประสานกันได้อย่างเป็นระบบ เรียกว่าบูรณาการกันอย่างลงตัว หากมีส่วนไหนบกพร่องก็จะเกิดอาการติดขัดทันที ที่เรียกว่า “ป่วย” “ไม่สบาย” เป็นการฟ้องว่า มีอวัยวะบางชิ้นส่วนไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ทำงานไม่สมบูรณ์ หรือทำงานบกพร่อง ต้องได้รับการดูแล ต้องได้รับการซ่อมแซมบำรุงให้เป็นปกติ ระบบกายก็มีองค์ประกอบของกาย ระบบจิตก็มีองค์ประกอบของจิต เมื่อพิจารณาการบูรณาการของทั้ง ๒ ระบบนี้ภายใต้ระบบใหญ่ที่เรียกว่า “ระบบสากล”(Holistic System)






กายตกอยู่ภายใต้กฎอุตุ (Physical Law) และพีชะนิยาม (Bio-Physical Law) จิตตกอยู่ภายใต้กฎจิต (Psychic Law) และกรรมนิยาม (Karmic Law) แต่ทั้งกายและจิตนั้นตกอยู่ภายใต้กฎธรรมนิยาม (Universal Law) นิยามทั้ง ๕ นั้นก็ทำงานสัมพัทธ์กันเป็นบูรณาการผลักดันให้ขันธ์นี้ดำเนินไป หมุนวนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าหากไม่รู้จักวิธีดับกระแสระบบนี้ ก็ไม่มีทางเลยที่จะหยุดยั้งการหมุนวนแห่งขันธ์นี้ได้ ความเป็นระบบเป็นสิ่งที่วิเศษ ถ้าเข้าใจระบบการทำงานของแต่ละส่วนได้ ก็จะสามารถเข้าไปจัดการกับระบบนั้นได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะทำให้ระบบทำงานดีขึ้นหรือทำให้ระบบหยุดทำงานลง แต่ถ้าหากไม่เข้าใจระบบ การกระทำต่อระบบก็จะผิดพลาด แทนที่จะทำให้ระบบเดินไปด้วยดี แต่กลับแทรกแซงและทำลายระบบอย่างไม่ถูกวิธี ด้วยคิดว่า จะหยุดยั้งระบบนั้นได้ ผลก็คือกลับยิ่งทำให้ระบบยิ่งหมุนไว ซับซ้อน ยิ่งทำยิ่งห่างไกลจากการหยุดระบบยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับคนผิดหวังแล้วฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็ฆ่าคนที่ทำให้ตนผิดหวัง ด้วยคาดหวังว่าจะหยุดระบบ แต่หารู้ไม่ว่านั่นแหละเป็นการกระทำต่อระบบที่ผิด ระบบจะยิ่งซับซ้อนตามพลังแรงกรรมที่ทำให้ระบบหมุนมากขึ้น


โศลกว่า “ก็ถึงช่วงเวลาเดินวิปัสสนา ใช้ธรรมสี่มิติเข้าบูรณาการ”


ก่อนอื่นให้ทราบระบบของกายและจิตให้สมบูรณ์ก่อน กายเป็นเรื่องของรูป (Material Qualities) ระบบของรูปต้องได้รับสารอาหารหล่อเลี้ยง ต้องได้รับการดูแลจากดินฟ้าอากาศหรือจากโรคภัยไข้เจ็บที่มีผลต่อรูป รูปซึ่งมีฐานอยู่ ๔ ส่วน ได้แก่




๑. ส่วนประกอบที่เป็นของแข็ง ไม่ว่าจะเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น
๒. ส่วนประกอบที่เป็นของเหลว ไม่ว่าจะเป็น ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ น้ำลาย เป็นต้น
๓. ส่วนประกอบที่เป็นอุณหภูมิ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ทำให้ร่างกายแก่ชรา ทำให้เป็นไข้ ทำให้อาหารย่อย เป็นต้น
๔. ส่วนประกอบที่เป็นอากาศ ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ ลมในท้อง ลมในไส้ การหาว เรอ ผายลม ลมทั่วร่างที่ทำให้ร่างกายไหวไปมาได้ เป็นต้น




ส่วนประกอบทั้ง ๔ นี้เป็นฐานของกาย ซึ่งต้องได้รับการดูแลให้มีความเป็นปกติ ในแต่ละฐาน ไม่ให้มาก ไม่ให้น้อย ไม่ให้ได้รับความเสียหาย และต้องบำรุงด้วยสารอาหารให้เพื่อให้ส่วนประกอบทั้ง ๔ นี้ ทำงานไปได้ตามปกติ นอกจากนั้นฐานของรูปกายทั้ง ๔ นี้ ยังเป็นที่ประกอบของรูปอื่นๆ อีก ๒๔ ประเภทซึ่งไม่จำเป็นต้องแสดงไว้ในที่นี้


ส่วนของจิต (Psychic Qualities) ส่วนนี้ก็ต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกับทางกาย อันได้แก่ ดูแลช่องทางรับสารอาหารให้ดี ซึ่งมีทางถึง ๓ ทาง ไม่ให้สูญเสียสภาพ ฐานของจิตมี ๒ ฐาน ได้แก่


๑. ส่วนประกอบที่เป็นสภาพของจิตเอง แยกย่อยออกได้ถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ลักษณะ แต่รวมแล้วก็คือ สภาพที่รู้อารมณ์ เห็น ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัส รู้สึกนึกคิด
๒. ส่วนส่วนที่ประกอบกับจิตนี้ แยกย่อยออกได้ถึง ๕๒ ลักษณะ แต่รวมแล้วก็คือ ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ รัก โลภ โกรธ หลง เมตตา ดีใจ หดหู่ เบิกบาน เป็นต้น ปรุงแต่งจิตไปเพื่อให้เกิดการกระทำออกมา


ในขณะเดียวกัน จิตนั้นก็มีระบบการทำงานของตนเอง เรียกว่า จิตวิถี หรือระบบการทำงานของจิต ๑๗ ขั้นตอน รวมแล้ว มีขั้นตอนรักษาภพ ขั้นตอนรับรู้อารมณ์ภายใน ภายนอก รับทราบอารมณ์ เสพอารมณ์ และก็ส่งอารมณ์ไปเก็บไว้


การที่กายสัมพันธ์กับการทำงานของจิตอย่างเป็นระบบเช่นนี้จึงต้องย้อนไปดูระบบปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลที่ปรากฏ การนำผลที่ปรากฏนั้นไปทำปฏิกิริยาทางจิตเคมีให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอีกที นี่คือ การศึกษาระบบการทำงานของกายและจิต จุดที่สำคัญในโศลกนี้อยู่ที่ว่า เมื่อทราบขั้นตอนการทำงานของกายและจิตแล้ว ก็ใช้ระบบแห่งกรรม ซึ่งมีกฎอยู่ที่ว่า เหตุ=ผล ใส่อะไรเข้าไป ผลก็ออกมาเช่นนั้น ใส่เข้าไปในไหน ก็ป้อนเข้าไปให้เป็นอาหารของจิต ให้จิตได้เสพสิ่งนั้น


ในที่นี้ก็คือ เมื่อบำเพ็ญเพียรสมณธรรมเจริญสติภาวนา ปัจจัยนำเข้าได้แก่ ลมหายใจ ความรู้สึก สภาวจิต เป็นตัวป้อนเข้าสู่ระบบ ระบบทำงานได้แก่ สติที่พิจารณาเห็นปัจจัยนำเข้าเหล่านี้ตลอดสาย ผลที่เปลี่ยนแปลงก็เกิด ได้แก่ ความเย็นกาย ความเย็นจิต ความตั้งมั่นของจิต การกำหนดจิตให้เสพลมหายใจ ความรู้สึก และสภาวะจิตเอง จนกระทั่งเข้าสู่ระดับที่สาม ที่สี่ ของทุกปัจจัยนำเข้า การหายใจก็จะหายไป เหลือแต่ลมที่เข้าออกระหว่างภายในกับภายนอก ร่างกายก็จะหายไปเหลือแต่ธาตุที่ผสมผสานกันของธาตุทั้ง ๔ ปีติสุขก็หายไป เหลือแต่ความเย็นแห่งจิต สภาวะจิตที่เสพตัวมันเองอยู่หายไป เหลือแต่ความตั้งมั่นและความเป็นจิตสลายไปเหลือแต่ความว่าง ขณะนี้ชื่อว่า ผลปรากฏแล้ว เมื่อนั้นก็ใช้ผลที่ปรากฏนี้เป็นตัวผลักดันให้จิตทำงานโดยมีสติเป็นตัวควบคุมอยู่ตลอด



ในขณะนี้แหละที่เหมาะแก่การต้องใช้ระบบบูรณาการแห่งธรรม ๔ มิติ ให้เหมาะสม คือการบูรณาการความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของกาย เวทนา และจิต (อนิจจตา) บูรณาการความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นถือมั่นใน กาย เวทนา จิต และแม้กระทั่งธรรมที่เป็นตัวพิจารณาเอง (วิราคา) บูรณาการการไร้ที่ตั้งแห่งกาย เวทนา และจิต (นิโรธา) และบูรณาการการปล่อยวางไว้อย่างนั้น (ปฏินิสสัคคา) เมื่อบูรณาการธรรมทั้งสี่มิติด้วยสติอันคมกล้า สติอันเข้มแข็ง สติที่เต็มเปี่ยม อินทรีย์ทุกส่วนก็เต็มเปี่ยมแก่กล้ากลายเป็นกำลัง (พละ) ที่สมบูรณ์


โศลกว่า “เห็นแจ้งอนิจจตาในกายเวทนาจิต คลายความหลงใหลในกายเวทนาจิต”


เมื่อบูรณาการธรรมทั้งสี่มิติเข้าไปในกระบวนการเช่นนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมเห็นแจ้งด้วยญาณทัสสนะซึ่งความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปร ความไม่มีแก่นอัตตาในกาย เวทนา และจิต เมื่อเห็นแจ้งเช่นนี้ก็ย่อมเห็นภัยที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในกาย เวทนา และจิตนั้น เมื่อเห็นแจ้งด้วยปัญญาญาณเช่นนี้ก็ย่อมคลายความหลงใหลในกาย เวทนา และจิตนั้นเสียได้ เมื่อคลายออกจนสุด คลายออกจนไม่เหลือ ถอนความยึดมั่นจนหมดสิ้นแล้ว ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญาซึ่งความดับไม่เหลือของกาย เวทนา และจิตนั้น ปัญญาเกิดแล้ว วิชชาเกิดแล้ว ญาณเกิดแล้ว ความสว่างเกิดแล้ว จากนั้นก็ปล่อยให้สรรพสิ่งเคลื่อนไหวไปอย่างธรรมชาติ ปล่อยวางกาย เวทนา จิต และธรรมไปตามธรรมชาติอยู่เช่นนั้น



พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปัตตนมฤคทายวันว่า


ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา... เวทนาเป็นอนัตตา... สัญญาเป็นอนัตตา... สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา ถ้าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อม ไม่ได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย


(ก็ในเมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ...เธอทั้งหลายพึงพิจารณารูป เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา


ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟัง ได้พิจารณาอยู่อย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัดจิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นก็ทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


การมีสติที่ดิ่งลงในการพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมเช่นนี้ ก็ย่อมเข้าถึงการหลุดพ้นจากสิ่งร้อยรัดทั้งหลาย การบูรณาการแห่งธรรมนี้เป็นสิ่งสูงสุดในการหลุดออกจากวัฏฏะได้


นี่คือ โศลกที่สามสิบห้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา