วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๙)

ห้วงแห่งความรู้สึกลางเลือน ท้องฟ้าหมุนคว้าง
ทุกสิ่งคล้ายว่างเปล่า ไม่มีความเจ็บปวด ไม่มีความเสียใจ ก่อนที่มันจะหมดความรู้สึกลง
ภาพแห่งสตรีนางนั้นที่กำลังถูกข่มเหง นางต่อสู้ขัดขืน

เป็นมันที่เข้าไปขอร้องทหารทุรชนผู้หนึ่ง “ปล่อยสตรีนางนี้ไปเถอะ นายท่าน”
“ใครให้เจ้าเข้ามาในนี้” มันหันมาที่ทินเล่ด้วยสายตาไม่พอใจอย่างยิ่ง “เจ้าคงไม่อยากมีชีวิตเป็นแน่”
ผ่านไปเนิ่นนานเท่าใด?
ทินเล่ ลืมตาขึ้นอย่างยากเย็น บุคคลแรกที่มันเห็นคงยังเป็นนางผู้นั้น

นางยังคงใช้ผ้าเช็ดหน้าของตนเช็ดบาดแผลและใบหน้าของมันอย่างค่อยๆ
ที่นางเช็ดบางทีก็คือ น้ำตาของนางนั่นเองที่หยดลงบนใบหน้าของมัน

“แม่นางปลอดภัยใช่ไหม?”
ยังคงเป็นความห่วงใยผู้อื่นที่มันเอ่ยปากถาม
“เป็นเพราะข้าไม่ดีเองที่ทำให้ท่านต้องได้รับบาดเจ็บ” นางยังกล่าวประโยคเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“แม่นางใยต้องตำหนิตนเอง” มันปลอบให้นางสบายใจขึ้น “ที่ต้องตำหนิก็คือชะตาเราเองที่ต้องยังเกิดมาอีก หมู่บ้านซ่างซัวและผู้คนจึงต้องภัยพิบัติครั้งนี้ ข้าเองทั้งที่มีผู้เตือนแต่ก็ยังไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”
“เป็นผู้ใดเตือนท่าน”
“เป็นชายที่ไม่ได้สวมเสื้อคนหนึ่ง”
“มันรอดปลอดภัยจริง ๆ เท่านี้ข้าก็ดีใจแล้ว

ชะตาของข้ายังไม่เลวร้ายนัก อย่างน้อยผู้ที่ข้าฝากชีวิตไว้ยังอยู่”
ดูนางมีความหวัง เป็นความหวังที่ลางเลือนยิ่งนัก แต่กระนั้น ความหวังก็คือความหวัง
ความหวังเป็นดั่งประกายไฟดวงเล็ก ๆ
ที่ทำให้คนมีชีวิตอยู่เพื่อความหวังนั้น
ความหลังอันงดงามนั้น
ช่างผ่านไปรวดเร็ว
ดังนั้น ชายชราจึงผ่านเวลาอันเงียบเหงา
ที่ยาวนานผ่านไป
ด้วยการหวนคะนึงถึงความหลังนั่นเอง

****

แรมเจ็ดค่ำ เดือนหก
ใกล้ถึงชิวเทียน (ฤดูใบไม้ผลิ) อีกครั้ง
บนพื้นเริ่มเห็นติณชาติงอกงาม ผลิหน่อแตกกิ่งใบ แต่มันเป็นชีวิตที่ผลิออกบนแผ่นดินที่เป็นกรวดหินและศิลา ทำให้ติณชาติเหล่านี้ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหยั่งรากของตนลงสู่พื้นอันแข็งกระด้าง

ถึงกระนั้นพวกมันก็พึงพอใจที่จะได้มีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป
กระโจมทุกหลังถูกเทียมด้วยม้าพร้อมทุกคัน
กระโจมเคลื่อนไปทิศตะวันตกเฉียงเหลือ มองดูกระโจมที่เคลื่อนไปดุจดังสัตว์เลื้อยคลานตัวมหึมาตัวหนึ่ง
กองทหารคุ้มกันคุมขบวนกระโจมแบ่งเป็นกองหน้า กองกลาง และกองหลัง
จุดมุ่งหมายคือ บุกแคว้นกัศมีระ

*****

หน้าผาสูงชัน…
หนทางเลียบหน้าผา กระโจมไม่อาจเรียงเป็นหน้ากระดานได้
นี่ถ้าหากถูกโจมตีย่อมเป็นที่อันเหมาะสมยิ่ง แต่จะภาวนาให้ผู้ใดล่วงรู้และมาโจมตีพวกมันได้
กระโจมใหญ่ของแม่ทัพเตมูจายิน ผ่านช่องแคบผ่านไปเบื้องหน้า

แม้จะมีการระมัดระวังเพียงใดพวกมันอย่างน้อยก็มั่นใจว่า ไม่มีผู้ใดจะยกมาซุ่มกำลังไว้ ณ กลางภูเขาเช่นนี้ เพราะที่นี่ห่างจากเมืองกัศมีระมากนัก

ถ้าจะมีก็แต่เมืองอุทกขัณฑะเท่านั้นที่จะนำทหารมาทัน
แต่อุทกขัณฑะก็ไม่ได้ติดต่อกับกัศมีระไหนเลยจะนำทหารมาซุ่มได้

เมื่อฟ้าจะนำโศกนาฏกรรมมาให้แก่ผู้ใด
ฟ้าจะประทานความเงียบสงบ
ความเบิกบานบันเทิงให้แก่ผู้นั้นก่อน
ชีวิตก่อนประสบเคราะห์กรรมก็มักเป็นเช่นนี้
มักมีความรุ่งโรจน์โชติช่วงเป็นพิเศษ
นักรบผู้กล้าจากเมืองปุรุสปุระและอุทกขัณฑะ ทราบความเคลื่อนไหวของพวกมันก่อนแล้ว
เสียงตีม้าล่อดังกระหึ่มเป็นสัญญาณ เสียงกลองรบดังปานฟ้าถล่ม เสียงธนูแหวกอากาศ ความโกลาหลเกิดขึ้นเนื่องเพราะพวกมันประเมินผู้อื่นต่ำไป
ผู้ประเมินผู้อื่นต่ำไปสมควรตายทั้งสิ้น
กองหน้าและกองหลังไม่อาจคุมกันติด
และแล้วหายนะครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นเป็นพ่ายแพ้ของทหารมงโกลที่รุกรานแดนไกลของพวกมัน
ทินเล่อยากจะตั้งคำถามใครสักคนว่า ทำไมต้องรบและฆ่าฟันทำร้ายกันด้วย
แต่มันก็สรุปว่า คำตอบที่สมบูรณ์ในเรื่องนี้คงไม่มี เนื่องจากมันคือสงคราม

สงครามไม่ใช่สิ่งที่ดี ไม่ใช่สิ่งที่น่าปรารถนา
แต่ดูเหมือนว่า สงครามก็เกิดได้ทุกที่
และมีมาควบคู่กับมนุษยชาติแต่ปางบรรพ์
ในขณะที่มันยืนมองเหตุการณ์ที่มนุษย์ที่ชื่อว่า ผู้มีความคิด มีเหตุผลทำขึ้นอยู่นั้น

พลันชายผู้หนึ่งก็เข้ามาหามัน มือหนึ่งถือกระบี่ยาวสามเชี้ยะครึ่ง สวมเกราะหวายยืนมองด้วยท่าทางเศร้าเสียใจไม่แพ้กัน พลางเอ่ยขึ้น
“ดูเหมือนเราเคยพบกันแล้วใช่ไหม ?”
ทินเล่ มองดูชายผู้นั้นเพื่อทบทวนความจำว่า มันเคยพบกับชายผู้นี้หรือไม่ และมันก็จำได้
“ใช่….ท่านคือ….”
“ถูกต้อง เรามาเพื่อปลดปล่อยคนซ่างซัวให้ได้รับอิสระ”
“ที่แท้ท่านไปแจ้งข่าวการมาของพวกมองโกลให้เมืองทั้งสองทราบ”
“เพื่อความอยู่รอดของเมืองทั้งสองเอง พวกเขาหาใช่ทำเพื่อเราไม่”
“ก็นับว่า ช่างซัวและแม่นางราณิทิกามีวาสนาแล้วที่มีคนเช่นท่าน” ทินเล่ไม่ต้องการให้ชายผู้นั้นรื้อฟื้นเรื่องราวในอดีต เนื่องจากสายตาของเขามีคำถามมากมาย มันจึงกล่าว “แม่นางของท่านคงรอท่านแล้ว”
“หากมีวาสนาเราคงได้พบกันอีก”
“ใช่…หากมีวาสนาคงได้พบกัน”

มนุษย์มีเรื่องราวให้ต้องกระทำอีกมากมาย
มีผู้คนมากเหลือเกินที่จะเอาชีวิตไปฝากไว้กับอดีต
มีไม่น้อยเช่นกันที่เอาชีวิตผูกกับอนาคต
แต่ที่มุ่งกระทำในสิ่งที่พึงกระทำในขณะที่มันดำรงอยู่
กลับมีน้อยอย่างยิ่ง

พุทธศิลป์กับวัฒนธรรมไทย

พุทธศิลป์กับวัฒนธรรมไทย
ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์


คำว่า ศิลปวัฒนธรรม (Art and Culture) มักเป็นคำที่มาด้วยกัน คำนี้เป็นคำเรียกลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมอย่างรวมๆ ทั้งที่ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ทั้งที่สามารถจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ แต่ให้ความเพลิดเพลินและความซาบซึ้งและประทับใจ ศิลปวัฒนธรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญสิ่งหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นคงของชาติ การสร้างอุดมการณ์ของชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์และเข้าถึงประชาชนมากที่สุด เป็นสื่อสำคัญในการสร้างประเทศ สร้างความก้าวหน้า การรักษาศิลปวัฒนธรรมเท่ากับเป็นการรักษาเอกลักษณ์ จุดเด่น วิญญาณของชาติ อันเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา สร้างเกียรติภูมิ ตลอดจนศักดิ์ศรีแก่ประเทศชาติประชาชน

พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) ได้กล่าวถึงศิลปะว่า ครั้นเมื่อมนุษย์รู้จักผลิตขึ้นได้ดีกว่าเดิม มีความงดงาม ความเรียบร้อยตามที่ตนต้องการทางจิตใจเจริญเรื่อยเป็นลำดับมา สิ่งที่ผลิตสร้างก็เกิดเป็นศิลปกรรมขึ้น...อารมณ์สะเทือนใจเป็นตัวการทำให้เกิดศิลปะและการแสดงออกให้เกิดเป็นรูปขึ้นได้...เป็นศิลปะอันเป็นขั้นสุดท้ายของความรู้แล้วจะเกิดความสนใจ กระทำให้เป็นสุขใจที่แท้จริง ถ้าความรู้นั้นเป็นไปเพื่อความสุขแก่ส่วนรวมอันเป็นจุดหมายปลายทางแห่งชีวิต

ศิลปะเกิดจากวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมคือผลรวมแห่งชีวิตมนุษย์ เพื่อสนองตอบความต้องการทางร่างกาย ให้มีชีวิตอยู่รอดพร้อมกับความเจริญงอกงาม ในการรับรู้ทางกาย ทางสติปัญญา ทางอารมณ์ ทางสังคม ทางสุนทรียะ และการสร้างสรรค์ ศิลปะช่วยกล่อมเกลาและสนองตอบความต้องการของวิถีชีวิตมนุษย์ได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะสุนทรียะหรือความงามที่ในรูปแบบที่มากหลาย ด้วยรูปแบบของศิลปะที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ เครื่องประดับ และรูปเคารพมาโดยตลอดแต่ดึกดำบรรพ์ มีวิถีชีวิตของมนุษย์เป็นตัวกำหนดทั้งทางตรงและทางอ้อม

ตราบใดที่ศิลปะยังเป็นการสร้างผลงานของมนุษย์เพื่อมนุษย์เช่นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับวัฒนธรรมก็ยังคงเดินคู่กันไปเช่นนี้ เพราะความที่ต่างก็เป็นเหตุและผลของกันและกัน พุทธศิลป์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการทางกายทางใจสำหรับมนุษย์ ที่พอใจกับการได้เห็น ได้ยิน ได้ใช้สอย สิ่งดีงาม ไพเราะเหมาะสม ไม่ว่าประยุกต์ศิลป์ หรือ วิจิตศิลป์ ต่างก็มีวัตถุประสงค์ทางการสร้างสรรค์อันแน่ชัดว่า เพื่อมนุษย์ด้วยกันได้เกิดการรับรู้ถึงความงาม ความไพเราะ ความซาบซึ้ง ที่โอนอ่อนผ่อนคลายทางใจและอารมณ์ รู้จักที่จะปฏิบัติตน แต่งกาย บำรุงตัว ตามแบบแผนของวัฒนธรรมแห่งยุค ใช้มือให้รู้จักทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ดีงาม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัฒนธรรมทั้งสิ้น มีพุทธศิลป์เป็นตัวแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่คอยโน้มนำและชี้มุมสะท้อนของจิตนิยมทางวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย

ศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกได้อย่างชัดเจนได้แก่ พุทธศิลป์ คืองานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นจิตรกรรมประติมากรรม หรือสถาปัตยกรรม ก็ล้วนแล้วแต่เรียกได้ว่าเป็น พุทธศิลป์ ทั้งสิ้น เกิดขึ้นนับแต่มีการค้นพบศิลปวัตถุชิ้นแรกจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ถือเป็นยุคทองของสมัยกรุงสุโขทัย เนื่องจากได้เกิดแบบแผนความเจริญทางวัฒนธรรมที่เป็นของไทย ซึ่งความเจริญทางวัฒนธรรมดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับ ๓ รูปแบบ คือ พุทธศาสนา ภาษาไทย และศิลปะ งานสร้างสรรค์ทางศิลปะของกรุงสุโขทัย เช่น พระพุทธรูป เจดีย์จิตรกรรม มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยดัดแปลงรูปแบบศิลปกรรมจากขอมให้มีลีลาอ่อนช้อยงดงาม ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปปางลีลา ยิ่งกว่านั้นแล้วพุทธศาสนายังมีบทบาทสำคัญต่องานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมด้วย ดังตัวอย่างบทพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) คือ ไตรภูมิพระร่วง โปรดให้พิมพ์รอยพระพุทธบาทจำลอง ทรงสร้างพระมหาธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากศรีลังกา ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกาไว้หลังพระมหาธาตุ

ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาพุทธศาสนาและศิลปะได้รับอิทธิพลจากขอม ศาสนาพราหมณ์ ที่แพร่หลายอยู่ก่อนหน้าการเข้ามาของพุทธศาสนาอยู่มาก การผสมผสานกันของพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์จึงเป็นลักษณะสำคัญของศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสะท้อนให้เห็นใน ศิลปกรรมต่างๆ สถาปัตยกรรมของสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกวังให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ ทรงสร้างวัดจุฬามณีและพระวิหาร ทรงหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ พระชาติ ส่วนศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากขอมและสุโขทัย เช่น พระปรางค์วัดพุทไธสวรรค์ วัดราชบูรณะ เป็นต้น ส่วนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นเจดีย์แบบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เช่น เจดีย์วัดภูเขาทอง วัดชุมพลนิกายาราม เป็นต้น ประติมากรรม พระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมเรียกว่า พระพุทธรูปสมัยอู่ทองและตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยานิยมสร้างพระพุทธรูปแบบทรงเครื่อง อย่างไรก็ตามสมัยกรุงศรีอยุธยาพระพุทธรูปมีลักษณะน่าเกรงขามและไม่งดงามเท่าสมัยสุโขทัย

สมั­­ยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ คือการสร้างพระบรมมหาราชวัง ประติมากรรมชิ้นเอก คือ การแกะสลักประตูกลางด้านหน้าพระวิหารวัดสุทัศน์ และงานตกแต่งหน้าบรรณพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

งานจิตรกรรมที่สำคัญ เช่น ภาพเขียนในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น ต่อมามีการปรับปรุงประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก แทนที่จะปรับปรุงประเทศตามแบบอยุธยา อย่างเช่นที่เคยเป็นมา การปรับปรุงประเทศของพระองค์ เป็นการปรับปรุงเพื่อเตรียมรับอารยธรรมตะวันตก ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลอยู่ในขณะนั้น ในเวลาต่อมารัชกาลที่ ๕ ได้ทำการปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณีและส่งเสริมวรรณกรรมและศิลปกรรมอีกหลายประการ ถึงแม้จะมีการผสมผสานกับวัฒนธรรมทางตะวันตกบ้างแต่ก็ยังมีรากฐานจากพระพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น

จึงกล่าวได้ว่า พุทธศิลป์ได้ผสมผสานและมีความสำคัญกับพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยตลอดมาจนกลายเป็นวิถีชีวิตอันเป็นศิลปวัฒนธรรมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ได้กล่าวไว้ว่า “ศิลปกรรมไทยในอดีตนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานความเข้าใจในพุทธปรัชญาอันลึกซึ้งที่หยั่งรากลึกลงในสายเลือดและจิตวิญญาณ ศิลปินทำงานด้วยแรงศรัทธาปสาทะอันมั่นคง โดยมุ่งหวังพระนิพพานอันเป็นเบื้องปลายของการหลุดพ้น”

อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า “ศิลปินไทยใช้ศิลปะเป็นสื่อเพื่อก้าวไปสู่จริยธรรม และศาสนาในสังคม ศิลปะเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเนรมิตความเป็นมนุษย์ของเราให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ศิลปกรรมจะเป็นสื่อวิเศษให้เราเข้าใจแก่นของความเป็นจริงได้อย่างซาบซึ้งและลึกซึ้ง...เป็นสื่อวิเศษ ช่วยน้อมใจเราให้ประจักษ์ซึ้งถึงองค์คุณค่าทิพย์ในพุทธปรัชญา ซึ่งแสดงออกมาอย่างเป็นทิพย์ที่สุดในแง่ศิลปะได้อย่างดี

สังคมไทยมีรากฐานทุกอย่างมาจากพระพุทธศาสนาไม่ว่าประเพณี วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ แม้กระทั่งลักษณะนิสัยใจคอของคนไทยก็มีพื้นฐานมาจากคำสอนทางพระพุทธศาสนา

ร่องรอยวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัฒนธรรมของยุคต่างๆ ได้ถูกบันทึกไว้ว่า มีสติปัญญาความสามารถเพียงใด ด้วยผลงานศิลปะนั้นเอง ศิลปะจึงเป็นรูปธรรมทางวัตถุและเป็นรูปธรรมทางจิตใจซึ่งแสดงออกมา ศิลปะกับวัฒนธรรมต่างเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ศิลปะเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์แห่งสังคมสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ปรากฏเพื่อแสวงหาผลที่จะได้รับทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ให้เกิดการยอมรับเพื่อความเข้าใจ การตัดสินใจ และการกระทำที่ถูกต้องดีงามจากผู้ชื่นชม คุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในศิลปะ จะมิใช่วัตถุที่มีเพียงความงามทางศิลปะเท่านั้น แต่จะเป็นสัญลักษณ์องค์แห่งการรับรู้ ช่วยแผ่ขยายพฤติกรรมทางจิตใจให้เกิดมโนภาพ ความคิดรวบยอด จินตนาการ และเป้าหมายที่ชัดเจนมั่นคง ซึ่งเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ให้มากกว่าเรื่องของความงามและความพึงพอใจ

เนื่องจากวัฒนธรรม เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่สังคมแต่ละยุคแต่ละกลุ่มยอมรับว่าดีงาม มีคุณค่าเป็นมรดกแห่งสังคมที่ควรรักษา และวัฒนธรรมก็มีสถานภาพเป็นนามธรรมทางจิตนิยม โดยศิลปะเองก็มีฐานะเป็นรูปธรรมของวัฒนธรรมนั้นๆ จึงชอบที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมแห่งยุคด้วยกรอบแห่งแบบแผนตามนั้น หลายอย่างของแต่ละยุคย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อแนวคิดและวัสดุสำหรับใช้ในการสร้างสรรค์ได้รับการคิดค้นให้แปลกออกไป บนความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ แท้จริงคือ การสะท้อนภูมิปัญญาความสามารถแห่งยุค

คนไทยและวัฒนธรรมไทยนั้นมีที่มาที่หลากหลายรวมกันอยู่ ณ บริเวณที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ แหลมทองแห่งนี้ ก่อนนั้นประเทศไทยไม่ได้กำหนดตามแผนที่ในปัจจุบันจึงเห็นได้ว่า บุคคลที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมแบบไทยที่อยู่ในประเทศไทยแห่งนี้มีอยู่ในประเทศอื่นๆ โดยรอบ ก็ถือได้ว่า คนไทยนั้นมีความยิ่งใหญ่ดังความหมายของคำว่า “ไท” ที่ใช้ในอดีต แต่ต่อมาคำว่า “ไทย” ได้ใช้ในความหมายว่า “เป็นอิสระ” มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยาเป็นต้นมา

วัฒนธรรมไทยเป็นลักษณะพหุวัฒนธรรม คือหลอมรวมวัฒนธรรมจากแหล่งอื่นๆ เข้าด้วยกับวัฒนธรรมเดิมของตน โดยรวมแล้ววัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาเป็นหลัก แต่ก็ประกอบด้วยวัฒนธรรมอื่นด้วย เช่น วัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมตะวันตก และตะวันออกกลาง ในส่วนของวัฒนธรรมที่ได้รับจากพระพุทธศาสนานั้นยังแบ่งเป็นพระพุทธศาสนาแบบมหายานและเถรวาท เดิมนั้นได้รับจากพระพุทธศาสนามหายาน จากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ต่อมาในกาลภายหลังนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา วัฒนธรรมไทยก็ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาเถรวาทมาโดยตลอด

วัฒนธรรมเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้คนไทยมีลักษณะผสมผสาน กลายเป็นอุปนิสัยของไทยที่โดยรวมแล้วเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนโยน สนใจทางจิตวิญญาณ คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รักในอิสระ รักสงบ ชอบสนุก ยิ้มง่าย เบิกบานง่าย ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอื่นได้ง่าย ปรับตัวตามสภาพได้ง่าย ลักษณะเช่นนี้มีส่วนให้คนไทยขาดความเป็นตัวของตัวเอง แต่กลับทำให้คนไทยอยู่ได้ในทุกที่