วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ขบธรรม เห็นธรรม











โศลกที่ยี่สิบสี่ "ขบธรรม เห็นธรรม"

พิจารณาธรรมเพียงสี่ฐาน
ในกาย เวทนา จิต ธรรม
ใช้สติพิจารณาไม่ใช้ความคิด
เป็นทางมุ่งตรงต่อพระนิพพาน
เป็นทางทำลายการยึดมั่นถือมั่น
เห็นลมหายใจที่อยู่ในกายนี้
เห็นความรู้สึกที่อยู่ในเวทนานี้
เห็นความผ่องใสที่อยู่ในจิตนี้
เห็นความว่างที่อยู่ในธรรมนี้
เห็นความว่างในกายเวทนาจิตเช่นนี้
สัจธรรมย่อมปรากฏ
มายาย่อมสิ้นไป
วิชชาย่อมปรากฏ
อวิชชาย่อมสลายไป


เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งในคำสอนของพระพุทธศาสนา เมื่อเกี่ยวกับการบรรลุธรรมขั้นสูงสุดแล้วต้องปฏิบัติตามทางสายกลางเท่านั้น ไม่มีทางอื่น ความเข้าใจเกี่ยวกับทางสายกลางในประเทศไทย และชาวพุทธทั้งหลายไม่แน่ว่าจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง โดยมากก็เข้าใจไปตามตัวหนังสือ หรือไม่ก็เข้าใจตามที่สอนต่อๆ กันมา
เรื่องมรรคมีองค์แปด แยกออกเป็นปัญญา ศีล สมาธิ เพราะความไม่เข้าใจอรรถแห่งทางสายกลางอย่างลึกซึ้งนี่เอง ทำให้ชาวพุทธไม่สามารถปฏิบัติตนตั้งอยู่ในทางสายกลางแม้แต่นิดเดียว


โดยมากตกไปสู่ขั้วใดขั้วหนึ่งทั้งนั้น เป็นเหมือนลูกตุ้มนาฬิกาที่เขาแกว่งไปก็จะไปสู่ข้างโน้น ข้างนี้ ไม่อาจดำรงอยู่อย่างท่ามกลางได้ การหมุนไปของชีวิตในสังสารวัฏนี้ก็เป็นเหมือนนาฬิกาที่หมุนไปเพราะลูกตุ้มนั้น นาฬิกายังเดินได้เพราะลูกตุ้มที่แกว่งไปมาฉันใด ชีวิตก็ดำเนินไปเพราะการแกว่งไปมาระหว่างขั้วทั้งสองฉันนั้นเหมือนกัน หากถามว่า ถ้าลูกตุ้มหยุดแกว่งจะเป็นอย่างไร นาฬิกาก็ตาย ถ้าหากชีวิตหยุดตกขั้วละ ชีวิตก็ตาย นาฬิกาตายก็พ้นจากความเป็นนาฬิกาอีกเท่ากับเป็นเศษเหล็ก ชีวิตที่ตายก็พ้นจากความเป็นชีวิตอีก เท่ากับเป็นเบญจขันธ์เท่านั้น ไม่ต้องเกิดอีก พ้นจากสังสารวัฏนี้


ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า ทำไมต้องเป็นสายกลาง คำตอบก็เพราะปฏิเสธทางส่วนสุดทั้งสอง จึงเรียกว่า สายกลาง ส่วนสุดทั้งสองนั้นเป็นทวิภาวะ การจะปฏิเสธส่วนสุดทั้งสองนั้นไม่ใช่เราเป็นผู้ปฏิเสธ เพราะเมื่อมีเราเป็นผู้ปฏิเสธเมื่อใด ก็ต้องตกอยู่ในทวิภาวะทันทีโดยไม่รู้ตัว เพราะเราก็คือความคิด ความคิดเป็นเรา ความคิดไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากการเข้าไปยึดส่วนสุดได้ เพราะความคิดมีธรรมชาติยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์เสมอ

การเข้าไปยึดของความคิดเมื่อใด ก็ตกลงสุดขั้วเมื่อนั้น เมื่อไม่มีอะไรยึด ความคิดจะหายไปทันที การปฏิเสธส่วนสุดนั้นกระทำได้ก็ต่อเมื่อไม่มีเรา เป็นการปฏิเสธระหว่างเรา เขา ระหว่างมี ไม่มี ระหว่างข้างนี้ ข้างนั้น ระหว่างชอบ ไม่ชอบ ระหว่างมาก น้อย ระหว่างโลกกับหลีกจากโลก ระหว่างรัก เกลียด เป็นต้น การที่คนๆ หนึ่งจะตกไปสู่ส่วนสุดข้างใดข้างหนึ่งนั้นเป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน


การที่จะดำรงอยู่ในทางสายกลางนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับการทานอาหาร ทานให้อิ่มนั้นง่าย แต่ทานให้พอประมาณนี้ยาก ความอ้วนนั้นง่าย แต่ทำให้ผอมนั้นยาก จมน้ำนั้นง่าย แต่ลอยในน้ำนั้นยาก พูดมากนั้นง่าย แต่ไม่พูดมากนั้นยาก ติฉินคนอื่นง่าย ไม่ตำหนิผู้อื่นนั้นยาก สำหรับทางสายกลางนั้นกลับอยู่ตรงกลางระหว่างสภาวะทั้งสองที่กล่าวมานี้ นี่คือ ความลึกซึ้งของทางสายกลางประการแรก

ประการต่อมา ทางสายกลางเป็นศาสตร์ชั้นสูง เป็นไตรสภาวะ (Triangle) เป็นตรียาน เป็นตรีจักร เป็นตรีภาวะที่ทำให้หลุดพ้นจากความเป็นทวิภาวะได้ เป็นพุทธศาสตร์แห่งการหลุดพ้นโดยแท้ เป็นการพ้นจากอำนาจกายและอำนาจจิต ได้แก่ การดำรงอยู่ท่ามกลางอำนาจกายและอำนาจจิตได้ รักษาสมดุลไม่ให้อำนาจกายและจิตเข้ามาบงการได้ เมื่อนั้นมัจจุราชก็ไม่อาจเห็น มัจจุราชเห็นได้เฉพาะผู้ที่ตกอยู่อำนาจความต้องการทางกาย และผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจทางจิตเท่านั้น




ปัญญาคือกุญแจทำให้พ้นจากอำนาจกายด้วยศีล ทำให้พ้นจากอำนาจใจด้วยสมาธิ ปัญญาเป็นตัวควบคุมให้กายและใจไม่แสดงฤทธิ์ออกมาได้ ฤทธิ์ของกายก็คือความต้องการสนองทางกาย (Physical Needs) ฤทธิ์ของใจก็คือความต้องการสนองทางใจ (Mental Needs) อำนาจทางกายก็เป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง อำนาจทางใจก็เป็นส่วนสุดอีกขั้วหนึ่ง ดังนั้น การดำรงอยู่ท่ามกลางระหว่างกายและจิตได้จึงเป็นตรีภาวะ นี่เป็นพุทธศาสตร์ ภาวะแห่งปัญญา ศีล สมาธิ ภาวะที่ปรับสมดุลให้ดำรงอยู่ท่ามกลางได้

โศลกว่า “ใช้สติพิจารณาไม่ใช้ความคิด” การฝึกเพื่อให้ดำรงอยู่ในทางสายกลางก็คือ การฝึกมีสติอยู่เสมอ เพราะในขณะที่มีสตินั้นตัวตนจะหายไป เมื่อตัวตนหายไปก็พ้นจากทวิภาวะได้ เพราะตัวตนคืออัตตานี้ต้องอาศัยส่วนสุดข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้นจึงดำรงอยู่ได้ ตัวตนอยู่ไม่ได้ในท่ามกลาง ในท่ามกลางนั้นมีแต่สติเท่านั้นที่อยู่ได้ พาหะของตัวตนที่ขับเคลื่อนอยู่ภายในก็คือ ความคิด เมื่อใดคิด เมื่อนั้นมีตัวตนขึ้นมาทันที เมื่อใดมีสติอยู่กับปัจจุบัน เมื่อนั้นตัวตนจะหายไปทันที ทางสายกลางก็คือการดำรงอยู่ไม่ปราศจากสตินั่นเอง



ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในปัจฉิมวาจาว่า “หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โม วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีสภาพสูญสิ้นไป เธอทั้งหลายจงดำรงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด” ความไม่ประมาทในที่นี้ หมายถึง การดำรงอยู่ด้วยสติทุกเมื่อ การดำรงอยู่ด้วยสตินั้นคนทั่วไปเข้าใจได้แต่เพียงภาษา แต่ไม่ได้เข้าใจถึงอรรถที่แท้ของการดำรงอยู่เช่นนี้ได้ เมื่อใดคิดสติก็หาย เมื่อใดมีสติ ความคิดก็หายไป นี่แหละเป็นกล่าวที่ว่า ไม่ให้คิด ไม่ใช้ความคิด แต่ให้ใช้สติ



มีแต่ดำรงอยู่ด้วยสติเท่านั้นจึงทำให้ดำรงอยู่ในทางสายกลางได้ ทางสายกลางนี้เป็นทางที่ตรงต่อพระนิพพาน คือความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจทางกายและใจ ไม่ตกไปสู่ส่วนสุดทั้งสอง ไม่ตกอยู่ในทวิภาวะ (Duality) บางคนยังไม่อาจเข้าใจได้ว่า ความแตกต่างระหว่างสติกับความคิดนั้นเป็นอย่างไร สตินั้นเป็นตัวคอยสังเกตความเคลื่อนไหวทั้งหมดไม่ว่ากายหรือจิต เมื่อสติเห็นชัดเจนทุกความเคลื่อนไหวจึงทำให้มีปัญญารู้แจ้งในเหตุ ผล ความดับเหตุผล และทางที่เข้าถึงความดับเหตุผลนั้นด้วย กระบวนการนี้จะปรากฏชัด นี่คือ การดำรงอยู่อย่างไม่ประมาท นี่คือ ทางสายกลาง


เมื่อใดก็ตามดำรงอยู่บนสติ มีสติเป็นเครื่องดำเนินไป ชีวิตก็ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของโลภ โกรธ หลง อีก เพราะโลภ โกรธ หลงนี้ เกาะอยู่ในใจเท่านั้น เมื่อไม่มีใจให้เกาะ กิเลสเหล่านี้ก็ตกไปโดยปริยาย ไม่ต้องไปทำอะไรป้องกันให้วุ่นวาย ด้วยเหตุนี้ท่านเหว่ยหลาง (ฮุ่ยเหนิง) จึงมองไปที่ต้นตอ ไม่มองไปที่ว่าจะทำอย่างไร ก็เมื่อขจัดต้นตอ ก็คือ เมื่อไม่มีจิต (ความคิด) เสียแล้ว กิเลสจะมีได้แต่ที่ไหน ท่านจึงเขียนโศลกไว้ว่า

“กายมิใช่ต้นโพธิ์
ใจมิใช่กระจกใส
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่า
ฝุ่นจะจับที่ใดได้”


ที่สำคัญก็คือทำอย่างไรจึงจะให้ทุกสิ่งว่างเปล่า ก็ต้องมีสติเท่านั้น เพราะสติเป็นอาวุธอันวิเศษที่มองทะลุสิ่งต่างๆ เห็นความไม่มีความเป็นกลุ่มก้อนใดๆ เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา มองได้แต่กิริยาอาการที่ดำเนินไปเท่านั้น เมื่อสติมา อัตตาก็หาย เมื่ออัตตาหายไป ความเป็นกลางก็เกิด เมื่อความเป็นกลางเกิดขึ้น นิพพานก็ปรากฏ ความเป็นอิสรเสรีภาพที่แท้ก็เกิดขึ้น คำว่า อิสรเสรีภาพ ก็คือ การไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของโลภ โกรธ หลง ซึ่งอกุศลมูล ๓ ตัวนี้ฝังอยู่ในอัตตา เมื่อไม่มีอัตตา มันก็หาที่อยู่ไม่ได้


การใช้คำพูดบางทีก็ทำให้ไขว่เขวได้ เพราะถ้าบอกมีโลภะ โทสะ โมหะ ก็นึกว่า มีเป็นตัว มีเป็นอะไรเหมือนกับที่เห็น ที่เข้าใจ สัมผัสได้ ตรงนี้แหละที่พระพุทธศาสนามีปัญหากับการใช้คำ เพราะคนในโลกอดไม่ได้ที่จะต้องคิดเหมือนกับที่ตนมีประสบการณ์เสมอ การพูดออกไปอย่างหนึ่งก็ทำให้ตกไปสู่อีกอย่างหนึ่งได้เพราะการจะพูดทั้งสองประการนั้นยากที่จะทำให้เข้าใจได้สำหรับชาวโลก

ในพระพุทธศาสนาบางทีก็ต้องใช้บัญญัติตามโลกโวหาร โลกสมมติ แต่ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เช่นกับว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” คำว่าตนในที่นี้ก็ต้องใช้ตามโลก แต่แท้ที่จริงแล้วก็คือ การใช้ขันธ์นี้บริหารขันธ์นี้ให้ดี อย่าให้ขันธ์นี้ตกไปสู่ทุคติ การพูดให้ผู้อื่นเข้าใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามิฉะนั้นอุดมคติคงไม่เกิดขึ้น เพราะเขาไม่ทราบถึงจุดหมายของชีวิตได้


คำว่า “ไม่ใช้ความคิด” ชาวโลกฟังแล้วต้องไม่เข้าใจแน่ เพราะความคิดเป็นสิ่งที่โลกอาศัยอยู่ พอบอกไม่ให้ใช้ความคิด โลกย่อมสับสนแน่นอน เหมือนกับคำว่า “ไม่หายใจ” ชาวโลกย่อมไม่เข้าใจว่า ไม่หายใจแล้วจะอยู่ได้อย่างไร เผลอๆ ถูกมองว่า “บ้า” หรือ “เพี้ยน” ไปแน่นอน หรือไม่ก็ถูกพวกนักศึกษาอภิธรรมพากันแย้งกันเป็นแถวเป็นแนวว่า ก็จิตมีปกติคิด ไม่คิดแล้วจะมีจิตยังไง เป็นไปไม่ได้ พวกนักบาลีก็จะเสริมอีกว่า จิตมีสภาพรับอารมณ์ แล้วจะไม่ให้มีความคิดได้อย่างไร ก็ต้องให้ใช้ตามภาษาโลกไป
ดุจดังเต่าที่ขึ้นได้ทั้งบนบกและลงในน้ำ แล้วอธิบายเรื่องบนบกให้ปลาฟัง มีหรือปลาจะเข้าใจเรื่องที่เต่ากำลังอธิบาย สู้บอกไปตามที่ปลาเข้าใจดีกว่า คือ ให้คิดดี คิดสิ่งที่มีประโยชน์ คิดรอบคอบ คิดแยบคาย คิดแบบโยนิโสมนสิการ อย่างนี้ไปดีกว่า เพราะโลกเข้าใจอย่างนี้ เหมือนกับการสอนเรื่องกรรม ก็ต้องบอกแต่เรื่องกรรมดี เว้นกรรมชั่ว แต่ที่พระพุทธศาสนาเน้น คือ ให้พ้นดี พ้นชั่ว คนทั่วไปก็ต้องถามแน่นอน “แล้วมันดียังไง” อีกนั่นแหละ

การไม่ให้ใช้ความคิด เพราะความคิดนำไปสู่ส่วนสุด เพราะความคิดออกมาจากอัตตา แต่ให้ใช้สติพิจารณา สติพิจารณาโดยใช้จิตเป็นเครื่องมือ ดุจดังที่กล่าวไว้แล้วว่า ปัญญาเป็นตัวที่ตัดกระแสแห่งความคิดได้ ดูแลความคิดได้ ไม่ให้ความคิดนั้นเป็นกรรมต่อไป เป็นได้แต่เพียงกิริยา แต่เมื่อใดที่กระทำด้วยจิตเป็นตัวนำพาแล้ว เมื่อนั้นการกระทำต้องตกสู่ส่วนสุดแน่นอน ไม่ข้างใดก็ข้างหนึ่ง


ในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการปรุงแต่งด้วยบุญ การปรุงแต่ด้วยบาป การปรุงแต่งเพื่อฌาน ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมทั้งสิ้น ต้องไม่ให้เป็นกรรม การไม่ให้เป็นกรรมก็คือไม่ให้จิตปรุงแต่ง มีแต่สติเท่านั้นที่ดูแลอยู่ตลอด เป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วๆ ไป แต่ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้มีอินทรีย์เต็มเปี่ยม


โศลกว่า “เห็นความว่างในกายเวทนาจิตเช่นนี้” ความเข้าใจของคนทั้งโลกย่อมไม่อาจแยกแยะได้ว่า กาย เวทนา จิต นี้เชื่อมสัมพันธ์กันแต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะเมื่อกายเจ็บ ก็คือเราเจ็บ เราเจ็บก็คือ ใจเจ็บ มีแต่สติเท่านั้นจึงจะเห็นความว่างที่ซ่อนอยู่ในระดับที่ ๔ ของกาย เวทนา และจิต เพราะทุกสภาวะย่อมเป็นธรรมที่มีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์บีบคั้น และมีสภาพว่างเปล่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็พิจารณาคลายความยึดมั่น ถือมั่นเสีย คลายความยินดี ยินร้ายเสีย เมื่อคลายจนสิ้นแล้วก็เป็นอันจบกระบวนการแห่งความยึดมั่น สิ้นสุด จากนั้นก็ปล่อยวางไว้อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระมาลุงกยบุตรโดยใจความว่า แนะมาลุงกยบุตร! รูปที่ยังไม่เคยเห็น ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น เสียงที่ยังไม่เคยได้ยินและไม่คิดว่าจะได้ยิน กลิ่นและรสที่ยังไม่เคยรู้สึก และไม่คิดว่าจะได้รู้สึกนั้น เธอเข้าไปยินดีกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่

พระมาลุงกยบุตรกราบทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าจึงตรัสอีกโดยใจความว่า ดูกร มาลุงกยบุตร! บรรดาสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้รู้ ได้ทราบ ก็ให้เป็นเพียงจักแค่เห็น แค่ได้ยิน แค่ได้รู้สึก และแค่ได้ทราบ เมื่อใดที่เธอมีแค่เห็น ได้ยิน ได้รู้สึก ได้ทราบ เมื่อนั้นเธอ (ตัวตน) ก็ไม่มีด้วยนั่น เมื่อ (ตัวตน) ไม่มี ก็ไม่มีที่นั่น ก็ไม่มีที่โน่น ไม่มีที่นี่ ไม่มีระหว่างที่นี่และที่โน่นนั่นแหละ คือ จุดจบของทุกข์”
พระมาลุงกยบุตรเมื่อได้ฟังเช่นนั้นก็แสดงความเข้าใจของตนออกไปมีใจความว่า “พอเห็นรูปแล้วไม่มีสติเข้าไปปรุงแต่ว่าน่ารัก ติดใจ ชอบใจ มีความสุขกับสิ่งนั้น เวทนา (สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์=โมหะ) ก็เกิดจากรูปนั้น ขยายผลไปเพิ่มขึ้น จิตก็สั่งสมความทุกข์อย่างนี้เรียกว่า ไกลนิพพาน (ใช่หรือไม่) แต่ถ้าเห็นรูปแล้วมีสติ ไม่ติดในรูป เสวยเวทนาไปก็ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งอารมณ์นั้น ทุกข์ก็มีแต่สิ้นไป ไม่สั่งสมอีกอย่างนี้เรียกว่า ใกล้นิพพาน (ใช่หรือไม่)...”(สํ.สฬา. ๑๘/๑๔๒-๑๔๕)


พระพุทธเจ้าก็ตรัสรับรองความเข้าใจของพระมาลุงกยบุตรรูปนั้นว่าถูกต้องแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่า สติเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความว่างขึ้นในกาย เวทนาและจิต เพราะในขณะที่มีสตินั้นตัวตนก็ไม่มี ก็เมื่อไม่มีตัวตนแล้ว ก็ไม่มีอะไร อะไรให้ต้องเข้าไปยึด ไม่มีฐานที่ตั้งแห่งทุกข์ แห่งสุข ไม่มีที่นี่ ที่โน่น หรือที่ไหนๆ อีก เมื่อนั้นก็ย่อมถึงจุดจบแห่งทุกข์ คือนิพพาน ในทางกลับกัน ถ้าหากไม่มีสติ การหลงเข้าไปยึดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ว่ามีอยู่ ทุกข์ก็เกิดจากตรงนั้น


นี่คือ โศลกที่ยี่สิบสี่แห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา