ลาว: มุมมองด้านภาษา
Laos: A Perspective on Language
โดย เสน่ห์ เดชะวงศ์
บทนำ
บทความนี้เป็นผลจากการไปทัศนศึกษาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชนลาวกับคณะ
นักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เมื่อได้
ยินคำว่า “ลาว” หลายคนมักจะโยงไปถึงความนึกคิด(Notion) อื่นๆ เช่น ความซื่อ ความไร้
เดียงสา ความเป็นคนบ้านนอก รวมถึงการหยุดความเจริญด้านวัตถุและสิ่งก่อสร้างไว้เหมือน
เชียงใหม่เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ไม่ว่าเราจะโยงคำว่า “ลาว” กับความคิดอะไรก็ตาม แต่ในความรู้สึกของคนลาวเกือบเจ็ดล้านคนคือความภาคภูมิใจในแผ่นดิน เผ่าพันธุ์ ภาษาและอารยธรรมของตนเอง
ความเชื่อในประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวลาวคล้ายกับชาวไทย คือ ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๘ ชาวลาวได้อพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน แล้วตั้งบ้านเรือนตามที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ ๑๔ จึงได้สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นที่ล้านช้างแล้วสถาปนาเป็นอาณาจักรล้านช้าง ในศตวรรษที่ ๑๗ ล้านช้างตกเป็นเมืองขึ้นของไทยในสมัยสุโขทัย ภายหลังเมื่อฝรั่งเศสได้ครอบครองประเทศเวียตนามแล้วก็ขยายอาณาจักรลงมาถึงเวียงจันทน์ ท้ายที่สุดประเทศลาวก็หลุดพ้นจากการปกครองของไทยไปอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เมื่อเวียตนามขับไล่ฝรั่งเศสออกจากดินแดนของตนได้ ลาวก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่ลาวก็ยังไม่สิ้นวิบากกรรม คือยังคงต่อสู้กับคนชาติเดียวกันอีกนานหลายปี จนกระทั่งปี ๒๕๑๘ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ลาว เป็นการเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบบกษัตริย์มาเป็นระบบคอมมิวนิสต์ และเปลี่ยนชื่อประเทศลาวมาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
จะอย่างไรก็ตาม ถือว่าลาวได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบการปกครอง ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และภาษา ในที่นี้จะกล่าวถึงลาวในแง่ของภาษา เพราะภาษาลาวมีส่วนที่คล้ายคลึงกับภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทยภาคอีสาน จนเคยมีคำกล่าวว่า “ไทยลาวเป็นพี่น้องกัน” และ “เป็นบ้านพี่เมืองน้อง” แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “เพื่อนบ้านและสหายกัน” เพราะไม่รู้จะให้ใครเป็นพี่เป็นน้องดี
ภาษากับการสื่อสาร
ภาษาคือเครื่องมือที่มนุษย์แสดงความในใจเพื่อให้ผู้ที่ตนต้องการสื่อสารถึงได้รู้ เพราะฉะนั้น ภาษาพูดจึงมีองค์ประกอบอยู่ ๒ อย่าง คือ เสียงและความหมาย พูดง่ายๆก็คือ เมื่อพูดออกมาแล้วจะต้องสื่อความหมายได้ แต่จะมีสาระหรือไม่มีสาระก็ได้ นักภาษามองว่า “ภาษา” หมายถึงระบบของเสียงหรือเสียงที่ถูกจัดระบบแล้วมนุษย์นำมาใช้สื่อสารกัน ภาษาอาจจะมาในรูปของเสียงหรือตัวอักษรก็ได้ ระบบของเสียงหมายถึงแต่ละภาษาก็มีระบบหรือระเบียบของเสียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ถ้าวางตำแหน่งเสียงผิดก็จะทำให้ความหมายเปลี่ยนไป หรือทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดและไม่เข้าใจเลยก็ได้ เช่นคนไทยจะรู้โดยอัตโนมัติว่าเสียง /ว/ และ /ร/ จะเกิดตามหลังเสียงไหนได้บ้าง ในมุมมองของนักภาษาจะบอกว่า ถ้าเราต้องการอธิบายลักษณะของภาษาให้สมบูรณ์ เราต้องศึกษาเรื่องเสียง (Sound) รูปคำ (Form) และความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบภาษากับสถานการณ์ที่เราเปล่งเสียงนั้นออกมา
แม้ภาษาจะเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น การเลียนเสียงธรรมชาติ การอุทาน การเปล่งเสียงตามธรรมชาติของเด็ก และการคิด-สร้างคำใหม่ขึ้นมา แต่เป้าหมายของภาษาก็คือความต้องการสื่อสารถึงผู้ฟังหรือผู้รับสาร สื่อที่ใช้แทนเสียงพูดอาจจะเป็นอากัปกิริยา (Gesture) หรือภาษาใบ้ เมื่อคนนั้นเป็นใบ้จริงๆ หรือในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเป็นใบ้เพราะสื่อภาษากันไม่รู้เรื่อง บางทีเราก็ใช้วิธีเขียนรูปให้ดู รวมถึงการตีเกราะเคาะกะลา ทั้งหมดนี้คือสื่อที่ใช้เพื่อบอกความในใจของผู้พูด เพราะฉะนั้น เราอาจจะเขียนเป็นผังแสดงได้ว่า
ผู้พูด → ภาษา/สื่อแทนภาษา → ผู้ฟัง
ผู้พูด ← ภาษา/สื่อแทนภาษา ← ผู้ฟัง
ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็ตาม เมื่อทำได้อย่างนี้ถือว่าทำหน้าที่ของภาษาได้สมบูรณ์แล้ว
(อ่านต่อจากหนังสือของบัณฑิตวิทยาลัย มมร เร็วๆ นี้)