วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

มัชเฌนปฏิสัมภิทา : กระบวนทัศน์ไร้กาล



ความเป็นกลาง ความสมดุล ทั้งหลักการและวิธีการมิใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นลอยๆ จะต้องมีกระบวนการพัฒนาอบรม (Systematic Cultivation) ให้เกิดขึ้น กระบวนการนี้เองเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้คนหันมาเข้าใจกันและกันได้อย่างไร จะปรับระดับไปสู่การพัฒนากระแสความคิดของคนแต่ละยุคทำได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะทำให้บุคคลไม่ตกไปสู่กระบวนทัศน์อื่นๆ อย่างฝังหัว ที่พยายามกระทำกันอยู่ก็คือชี้ให้เห็นผลอันจะเกิดจากการยึดถือในกระบวนทัศน์ของตนอย่างเหนียวแน่น สุดท้ายก็ทำลายล้างกัน มีสงครามเป็นเครื่องตัดสิน แต่ไม่ได้บอกกระบวนการพัฒนาให้เข้าถึงกระบวนทัศน์ที่ ๕ ถึงแม้จะทราบว่า “การยึดมั่นถือมั่นเป็นทางแห่งความทุกข์” “การไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นทางแห่งความสุข” เปลี่ยนจากแนวคิด “อิทเมวสัจจัง โมฆมัญญัง มาเป็น สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” ก็ตาม แต่กระบวนการพัฒนาสู่จุดปรัชญานี้ยังไม่มี นี่เองที่เป็นจุดบกพร่องของกระบวนทัศน์ที่ ๕ เหล่านี้คือ ปัญหาหลัก และเป็นความยากนักปรัชญาหลังนวยุคกำลังค้นหา ในที่นี้จะแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเหล่านั้นมีทางออก


เมื่อพิจารณาแก่นแท้แห่งกระแสความคิดของกระบวนทัศน์ที่ ๕ ได้แก่ “การไม่ยึดมั่นถือมั่น (Non-Attachment)” จะทำอย่างไรจึงจะไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ต้องความเข้าใจความจริง (Right Thought in the Truth) และมีเมตตาบริสุทธิ์ (Pure Loving Kindness and Compassion) แต่การจะเข้าใจความจริงและทำให้เกิดความรักบริสุทธิ์ไปสู่ระดับเมตตาได้อย่างไรนั้นมีกระบวนการ ดังนี้


ประการแรกสุด คือ เปิดใจ (Open Mind) ยอมรับฟังข้อมูล การรับฟังข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ได้แก่กัลยาณมิตร กัลยาณมิตรในที่นี้เป็นได้ทั้งบุคคลและตำรา เรียกว่า ปรโตโฆสะ การได้ยินได้ฟังจากผู้อื่น (ธัมมสากัจฉา บัณฑิตเสวนา) ความรู้ที่เกิดจากการฟัง การอ่าน การเขียน (สุตมยปัญญา)จากนั้นก็นำข้อมูลต่างๆ ไปพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายด้วยตนเอง เรียกว่า โยนิโสมนสิการ (Self Realization) ว่าสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง นั้นควรค่าแก่การปฏิบัติ เชื่อถือหรือไม่ โดยการเทียบเคียงหลักการ ๘ ประการ ได้แก่ สิ่งนั้น เรื่องนั้น นำไปสู่อารมณ์ผ่อนคลาย ปล่อยวาง เสียสละ มักน้อย สันโดษ สงบ บำเพ็ญเพียร และใช้ชีวิตเรียบง่ายหรือไม่ นักปราชญ์ ราชบัณฑิตสรรเสริญหรือไม่ เมื่อเทียบเคียงได้อย่างนี้ก็ลงมือปฏิบัติได้ หากมีประเด็นใดน่าสงสัย ก็ใช้หลักสังเกตดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในเกสปุตตสูตรว่า อย่าเชื่อโดยยืนยันส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ให้เชื่อเมื่อพิจารณารู้ด้วยตนนั่นแลว่า สิ่งนั้นเป็นอกุศลธรรม มีโทษ ผู้รู้ติเตียน ไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ ก็ให้ละทิ้ง เลิกปฏิบัติ แต่ตรงกันข้าม สิ่งใดเป็นกุศล มีประโยชน์ ผู้รู้สรรเสริญ ก็ควรประพฤติให้เต็มที่ ย่อมนำไปเพื่อความสุข นอกจากนั้นจะต้องมีใจประกอบด้วยอัปปมัญญา ๔ ประการคือ มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา และมีอุเบกขา


ประการต่อไป ให้ใช้หลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือวิมุตติปฏิปทา ได้แก่แนวทางของการควบคุมตนเอง การมีสติอยู่ทุกเมื่อ และการพิจารณาเห็นแจ้งด้วยปัญญาตามความเป็นจริง หลักการควบคุมตนเอง ก็คือ หลักแห่งการระมัดระวังกาย วาจาและใจ ระวังกายคือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น ไม่ลักทรัพย์ ไม่แย่งชิงคนรัก คนหวงแหนของผู้อื่น ระวังวาจาได้แก่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้า ไม่พูดคำหยาบ และระวังใจได้แก่ ไม่คิดอยากได้ของผู้อื่น ไม่พยาบาทคิดปองร้ายผู้อื่น ไม่คิดเห็นผิดเป็นชอบ เมื่อปฏิบัติตามกรอบของศีลธรรมได้ ก็เข้าสู่กระบวนการพัฒนาสติโดยการระลึกรู้อยู่ในตนทุกขณะที่ทำ พูด และคิด อย่างชัดเจน จากนั้นให้ใช้สติที่ปราดเปรียวรู้เท่าทันสิ่งที่เคลื่อนไหว เห็นตลอดสาย ดุจดังนายแพทย์ผู้ฉลาดรักษาโรค ดุจดังนายช่างผู้สร้างบ้าน ดุจดังจิตรกรวาดภาพ ที่เห็นตลอดในทุกส่วนของเรื่องนั้นๆ


มัชฌิมาปฏิปทานี้สามารถเลือกใช้ได้ทุกส่วน จะเริ่มจากส่วนไหน หรือองค์ประกอบใดได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับบริบทที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ว่าจะเริ่มที่มีความเห็นที่ถูกต้องตามคลองธรรม คิดอย่างมีความพรหมวิหาร พูดจาไพเราะ ทำด้วยความระมัดระวัง พากเพียรเลิกสิ่งไม่ดี ทำสิ่งดี รักษาสิ่งที่ดีไว้ และระวังไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามาอีก ฝึกสติให้เข้มแข็ง ดำรงสภาวะที่มั่นคงทางจิตไว้ไม่ให้กระเพื่อม ทุกองค์ประกอบจะสัมพันธ์กันและกันกลายเป็นพลวัตที่มีอานุภาพ นี่คือกระบวนการฝึกฝนอบรมมัชฌิมวิธีให้เป็นมัชเฌนปฏิสัมภิทา


ใช้หลักทฤษฎี “ตรีวัต” (Three-fold Dynamic Theory) ได้แก่ “ศีล สมาธิ ปัญญา” แล้วหมุนไปทุกด้าน ทุกส่วน ทุกองค์ประกอบ เมื่อปฏิบัติตามนี้ได้ ชื่อว่า เข้าสู่คลองแห่งมัชฌิมาปฏิปทา ในขณะที่ปฏิบัติอยู่จะไม่เห็นสภาพความสมดุลและความเป็นกลาง แต่เมื่อถอนตัวออกมาจากการปฏิบัติแล้วมองลงไป จะพบว่า ทุกองค์ประกอบจะสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง และจะเกื้อหนุน ส่งเสริมกันและกันเพื่อให้มีพลัง เข้าถึงเป้าหมาย แกนกลางของทั้งสามองค์ประกอบคือ ศีล สมาธิ และปัญญา แล้วใช้หมุนไปทั่วทิศก็สามารถจะเป็นแกนกลางของกระบวนทัศน์ที่ ๕ ได้ ไม่มีทางอื่น นอกจากทางนี้ เพราะทางนี้เป็นทางที่เจาะเข้าไปภายในแล้วขยายมาสู่ภายนอก


เมื่ออินทรีย์เป็นกระบวนทัศน์ที่ ๕ (Internal perfection) การแสดงออกย่อมเป็นกระบวนทัศน์ที่ ๕ เอง (External perfection) มิฉะนั้นก็เข้าตำรา พูดอย่าง ทำอย่าง ปากบอกไม่ยึดมั่นถือมั่น บอกเป็นนักคิดหลังนวยุค แต่กลับพูดให้ผู้อื่นทำ ตนเองไม่ทำ มีแต่คุณ นะ ทำ ไม่ใช่คุณธรรม วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดผู้อื่น แต่แนวคิดตนใครแตะต้องไม่ได้ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ตนสมควรทำ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นกลับไม่ทำ กลายเป็นกระบวนทัศน์จอมปลอม เป็นกระบวนทัศน์แกมโกง (Cunning Paradigm) ไม่เป็นกระบวนทัศน์แห่งสัจจะ (Truth Paradigm) ไม่ทนต่อการพิสูจน์ หากพัฒนาตนเป็นคนกระบวนทัศน์ที่ ๕ โดยมีความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมัชเฌนปฏิสัมภิทา ไม่ว่าจะทำ พูด คิด ก็เปี่ยมด้วยคุณค่า ทนต่อการพิสูจน์ เข้าถึงโลกแห่งสัจจะเดียวกัน เป็นกระบวนทัศน์ที่ข้ามพ้นกระบวนทัศน์ (Supra-Mundane Paradigm) ในที่สุด ไม่ว่าทำเมื่อใดก็เห็นผลเมื่อนั้น

(อ่านต่อในวารสารบัณฑิตศาส์น มมร)