วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

BV 4M ทฤษฎีสร้างวัฒนธรรมไทย

แผนพัฒนาวัฒนธรรมด้วยปณิธานพระโพธิสัตว์








ทฤษฎี BV 4M เป็นทฤษฎีที่ได้จากการทำ SWOT วัฒนธรรมไทย จึงขอเสนอแนวทางพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมไทยด้วยหลักปณิธาน ๔ ของพระโพธิสัตว์

KEYWORDS


BV = Bodhisatva Vows หมายถึง ปณิธาน ๔ ของพระโพธิสัตว์
CM = Compassion Management หมายถึงการใช้หลักจิตอาสา ช่วยเหลือด้วยจิตกรุณาต่อสรรพสัตว์ถ้วนหน้า
KM = Knowledge Management หมายถึง การศึกษาหาความรู้ที่ถูกต้อง และใช้ความรู้นั้นเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสังคม
EM = Emotion Management หมายถึง การจัดการอารมณ์ที่ควบคุมด้วยกิเลสด้วยการพิจารณาให้เห็นความเป็นจริง ละความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์
TM = Target Management หมายถึง การจัดการเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้อง เป็นระดับ คือ เป้าหมายปัจจุบัน เป้าหมายอนาคต และเป้าหมายสูงสุดโดยการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ในรูปแบบการบรรลุ ๓ มิติ คือ มิติอนุพุทธะ มิติปัจเจกพุทธะ และมิติสัมมาสัมพุทธะ



มีคำอธิบายทฤษฎี ดังนี้
๑. ต่อวัฒนธรรมด้านคติธรรม ให้ใช้ฐานศรัทธาจริตของคนไทยมาเป็นประโยชน์ โดยการเพิ่มระดับของสื่อและการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจถึงศรัทธาที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล แต่เป็นเพียงระดับหนึ่งของการสร้างสรรค์สังคม ทำให้สังคมรู้จักหวั่นเกรงต่อสิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผล ต้นไม้ใหญ่จะได้หลงเหลือเพราะเชื่อว่ามีรุกขเทวดา ป่าดอนปู่ตา ก็จะเหลือเพราะเกรงผีจะทำร้าย แต่ปัจจุบันไม่เหลือสิ่งใดให้ได้หวั่นเกรงอีก



๒. วัฒนธรรมด้านวัตถุธรรม สิ่งก่อสร้างใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ด้านประติมากรรม และจิตรกรรม สร้างแบบมีความหมายทางจิตวิญญาณระดับสูง เป็นไปตามปรัชญามหายานไม่ว่าจะเป็น เจดีย์ ๔ เหลี่ยม หรือ ๘ เหลี่ยม เจดีย์ทำเป็นดอกบัวซ้อน บัวสี่กลับ ดอกบัวใหญ่ ประดับอลังการ เจดีย์ที่สร้างพระพุทธรูปล้อมรอบ แล้วมีกรุตรงกลาง หรือเจดีย์ ๓ ยอดบนฐานเดียวกัน ห้ายอด หรือ เก้ายอด เจดีย์แบบพระปรางค์ มีความหมายทางสัญลักษณ์ศาสตร์ชั้นสูง มิใช่สร้างอย่างไร้ความหมาย หรือเอาประโยชน์เป็นหลักแต่ไร้จิตวิญญาณ ไร้เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

๓. ต่อวัฒนธรรมด้านเนติธรรม ใช้กรอบแห่งเงื่อนไขทางศิลปวิทยา วิชชาความรู้ เวทมนต์ อาคม เครื่องรางของขลังเป็นสื่อ แต่แฝงเงื่อนไขทางเนติธรรมไว้ให้สังคมดูแลสังคม ใช้กรอบความเชื่อในจารีตประเพณีอันถูกต้องมาเป็นเครื่องยับยั้งชั่งใจ ไม่กล้าทำผิดเพราะเกรงเภทภัยแต่ตนและสังคม มิใช่ใช้กฎหมายมาเป็นกรอบแต่คนไม่ได้เข้าใจกฎหมาย กฎหมายจึงกลายเป็นเครื่องมือทำผิดของผู้ดูแลเสียเอง

๔. ต่อวัฒนธรรมด้านสหธรรม เป็นการสร้างความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กันในสังคม ตามหลักของทิศ ๖ เป็นการปฏิบัติต่อกันภายใต้กรอบแห่งการทำ พูด คิดด้วยความเคารพรัก แบ่งปันเกื้อกูลกัน ร่วมกันรักษาหน้าที่ ร่วมกันสร้างสรรค์สังคม
เนื้อทางวัฒนธรรมทั้ง ๔ ด้านนี้ นำเข้าสู่กระบวนการจัดการตามทฤษฎี “BV 4M” (Bodhisatva Vows in 4 Managements)
CM ใช้จิตอาสา ช่วยเหลือด้วยจิตกรุณาต่อสรรพสัตว์ถ้วนหน้า
KM ใช้หลักวิชาความรู้ที่ถูกต้อง
EM ขจัดอารมณ์ขุ่นหมองและเป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาสังคม
TM กำหนดเป้าหมายให้ถูกต้อง เป็นระดับ


เมื่อนำทฤษฎีนี้ไปใช้จะทำให้วัฒนธรรมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี เป็นการสร้างโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่เหมาะสมกับภูมิหลังและลักษณะนิสัยของคนไทย



(รายละเอียดติดตามวารสารบัณฑิตศาส์น มมร ฉบับต่อไป)