วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ให้ละทิ้งอารมณ์เดิม


อย่าได้นำจิตไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์เดิม
เพราะจะทำให้จิตยึดเอาอารมณ์เดิมมาพัวพัน
ทำให้ใจไม่ก้าวหน้าในการภาวนา
ยิ่งละทิ้ง ยิ่งปล่อยวาง

ยิ่งว่าง กลับยิ่งเจริญมาก
พึงระมัดระวังอย่าหลงติดกับ
กับดักอันแยบยลนี้
มันคือเล่ห์เหลี่ยมของจิต




คำว่า อารมณ์ ในทางปฏิบัติมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง และมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ในการปฏิบัติจึงใช้คำว่า อารมณ์กัมมัฏฐาน เพราะอารมณ์ตัวนี้เองที่จะเป็นอุปกรณ์โน้มนำจิตให้เชื่อง มีพลัง และเป็นจิตที่เหมาะแก่การงาน การงานในที่นี้ก็คือ เหมาะแก่การนำไปพิจารณาธรรมเพื่อให้เห็นแจ้งในขันธ์ตามความเป็นจริง

พึงทราบประการแรกก่อนว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่จิตนำเข้ามาประกอบกับจิตให้จิตได้ยึดถือเอาเป็นเครื่องดำรงอยู่ของจิต เมื่อจิตได้อารมณ์จะทำให้จิตเคล้าคลึงกับอารมณ์นั้นอยู่ได้ ไม่ไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งใดอีก จิตจึงอยู่ปราศจากอารมณ์ไม่ได้ในแง่นี้ เป็นเหมือนกับเด็กที่เมื่ออยู่กับของเล่นแล้วก็ไม่งอแง จับสิ่งนั้นคลึงไปมา พึงพอใจกับสิ่งนั้น อยู่ตรงนั้นได้นานๆ ไม่ร้องไห้ ไม่วุ่นวาย เพราะถ้าหากจิตไม่อยู่กับอารมณ์แล้วละก็ จิตจะทำให้หน้าที่ของมันเองทันที ได้แก่การคิด จิตที่คิดเป็นจิตที่ทำงานหนักมาก ไม่ได้พักผ่อน ในขณะที่จิตคิด จิตได้เติมพลังเข้าไปสู่อัตตา ปรุงแต่งอัตตาด้วยอาหารนานาชนิด ไม่รู้จักจบสิ้น



ดังที่มีเรื่องเล่าในพระพุทธศาสนาว่า พระสังฆรักขิตะผู้เป็นหลานของพระเถระรูปหนึ่งยืนพัดพระเถระอยู่ข้างหลัง ในขณะที่พัดหลวงลุงตนเองอยู่นั้น ก็ปล่อยจิตล่องลอยไปตามครรลองของจิตที่ทำหน้าที่คิด จากเรื่องนั้นสู่เรื่องนี้ จากเรื่องนี้สู่เรื่องโน้น จนกระทั่งมาสู่เรื่องที่ว่า ถ้าเราลาสิกขาออกไป ทำงานขายผ้าแล้วได้เงินมาเอาไปซื้อแม่แพะสักตัว พอแม่แพะได้ลูกมาก็จะขายลูกแพะนั้นเพื่อเป็นต้นทุนต่อไป จากนั้นก็หาสาวสวยสักคนแต่งงานเป็นภรรยา ไม่นานเราทั้งสองก็คงมีลูกด้วยกัน เราจะได้พาเธอพร้อมกับลูกมากราบหลวงลุงที่วัด ในขณะที่จะไปหาหลวงลุง เราจะอุ้มลูกไปหาท่าน แต่เธอแย้งว่าเธอจะเป็นคนอุ้มเอง เราทั้งสองโต้เถียงกันเรื่องลูก จนแล้วจนรอดก็เธอโกรธที่ไม่ได้อุ้มลูกเอง จึงปล่อยลูกไว้ที่ทางเดิน เราโกรธจัดเพราะเธอปล่อยลูกไว้ทางเดิน รถจะมาชนลูกได้ จึงใช้ไม้ตีเธอเข้าให้เพราะไม่พอใจที่เธอทำเช่นนั้น แต่ผู้ที่พระภิกษุรูปนี้ตีก็คือ หัวพระเถระผู้เป็นลุงที่ตนยืนพัดอยู่นั่นเอง

นี่คือตัว อย่างของการปล่อยจิตให้คิด เมื่อปล่อยจิตคิดไป จิตจะปรุงแต่งให้เป็นเรื่องราว สืบสาวไปจากไม่มีอะไร ให้มีอะไรขึ้น ในขณะที่ปรุงไป อารมณ์ก็สั่นไหวไปตามสิ่งที่ปรุงนั้น ถ้าดีก็พอใจ ถ้าไม่ดีก็ไม่พอใจ เป็นอย่างนี้ตลอด ดังนั้นจึงสมควรขยับจิตให้พ้นระดับความคิด เข้าไปสู่ระดับแห่งอารมณ์ เพราะระดับอารมณ์จะลึกเข้าไปอีกระดับหนึ่ง

ก่อนอื่นให้ทราบระดับของจิตไว้ก่อนก็ดี ระดับของจิตนั้นมีความลึกลงเป็นลำดับดังนี้
๑. ระดับรับรู้ เป็นปรากฏการณ์
๒. ระดับปรุงแต่ง เป็นความคิด
๓. ระดับรู้สึก เป็นอารมณ์
๔. ระดับปล่อยวาง เป็นความว่าง

ผู้คนทั้งหลายในโลก โดยมากดำรงตนอยู่ในระดับความคิดนี้เท่านั้น โดยเฉพาะนักปรัชญาทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า นักคิดทั้งหลายนั่นเอง ความคิดเหล่านี้เป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตให้ดำเนินไปได้ โดยมากแล้วเป็นบุรุษภาวะ นักคิดโดยมากเป็นผู้ชาย ในขณะเดียวกันก็มีคนที่ดำรงอยู่อาศัยความรู้สึก หรืออารมณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอัตตาให้เจริญงอกงาม ผู้ที่ใช้อารมณ์ทั้งหลายโดยมากเป็นอิตถีภาวะ หรือเป็นผู้หญิงเสียส่วนมาก

อาวุธของความคิด ก็คือเหตุผล ผู้ชายมักใช้เหตุผลเพื่อให้ผู้หญิงยินยอม
อาวุธของอารมณ์ ก็คือน้ำตา ผู้หญิงทั้งหลายมักใช้น้ำตาเพื่อให้ผู้ชายยินยอม




โศลกที่หนึ่งจึงแสดงไว้ว่า ในการปฏิบัติอย่าได้นำจิตไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์เดิม ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องความคิด ซึ่งผ่านพ้นมาระดับหนึ่ง นักปฏิบัติพึงระวังความคิด และระวังจิตที่ไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์เดิม อารมณ์เดิมของการปฏิบัติได้แก่อารมณ์สุข อารมณ์พึงพอใจที่เคยมีมาก่อน ที่เคยปฏิบัติมาก่อน อารมณ์นี้จะทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เนื่องจากจิตจะผูกติดกับอารมณ์นั้นซึ่งเป็นอดีต อตีตารมณ์เป็นอาหารของอัตตาเช่นกัน กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นอนาคตารมณ์ หรืออตีตารมณ์ก็ล้วนแล้วแต่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น

นักปฏิบัติธรรม พระโยคาวจรทั้งหลายจะต้องล่วงพ้นความคิดซึ่งเป็นอนาคตารมณ์ และล่วงพ้นอารมณ์ ซึ่งเป็นอตีตารมณ์ทั้งสองส่วน แต่พึงมีสติปฏิบัติอยู่ในขณะปัจจุบัน ให้พิจารณาอาการที่ดำรงอยู่ รู้ตัวอยู่กับลมหายใจ อยู่กับอาการเคลื่อนไหวทั้งมวล การดำรงอยู่ในอาการที่เป็นปัจจุบันทำให้จิตก้าวล่วงเข้าถึงระดับความว่าง เพราะในขณะที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน อัตตาจะหายไป ไม่เหลืออดีต ไม่เหลืออนาคต มีแต่ปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันนี้เองที่ไม่เหลืออะไรให้ได้เกาะเกี่ยว เพราะทุกขณะเป็นเพียงอาการปัจจุบันที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่หลงเหลืออัตตาดำรงอยู่ได้

ผู้ปฏิบัติที่เข้าถึงสภาวะแห่งความว่างนี้ พึงรักษาความว่างนี้ไว้ให้ยาวนาน การภาวนาย่อมเจริญขึ้นมาก ภาวนาคือการอบรมปัจจุบันขณะให้ยาวนาน หรือกระทำให้มากนี่เอง การทำให้ปัจจุบันขณะให้ดำเนินไป สติก็เจริญตาม เครื่องมือของการภาวนาก็คืออารมณ์ สิ่งที่ใช้เครื่องมือนั้นก็คือ สติ ที่สำคัญอย่าได้ถูกจิตวางกับดักล่อไว้ เพราะในขณะที่จิตอยู่ในความว่างนี้ แม้เพียงเล็กน้อยจิตจะสร้างมโนภาพให้เข้าไปยึดและให้เข้าไปหลงใหล เช่น ความสงบสุข ปีติ ปราโมช สัมผัสพิเศษต่างๆ นี่คือ เล่ห์เหลี่ยมของจิตที่ทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในภาวนาที่แท้ และไม่ให้เข้าถึงจุดหมายที่แท้ของการภาวนา คือ จิตที่ควรแก่การงาน

นี่คือ โศลกที่สี่ของคัมภีร์สุวิญญมาลา