วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะทั่วสากล



















ภาระหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นถือเป็นภาระหลักของศาสนทายาทในพระพุทธศาสนา
โดยยึดพระดำรัสที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ที่พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในตาน้อย มีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม”

ก็หมายความว่าให้จาริกไปเพื่อประกาศพระสัจธรรม หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะ (ความรู้แจ้ง) ลงในจิตของเหล่าเวไนยสัตว์ที่พร้อมจะรองรับเมล็ดพันธุ์นี้ การสร้างเครื่องมือในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นกระทำได้ด้วยกิจกรรมอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และสถานสงเคราะห์อื่นๆ หรือแม้แต่กิจกรรมที่เรียกว่า “จิตอาสา” (Service Mind)

ลักษณะการทำงานในรูปแบบขององค์กรจิตอาสานี้กระทำกันมากในประเทศฝ่ายมหายาน เขาจะใช้ตัวกิจกรรมสาธารณะนี้เป็นเกณฑ์ในการวัดความอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเหล่าเวไนยสัตว์ ถือปณิธานตามองค์พระอวโลกิเตศวร คือ โปรดสัตว์ทั่วสากล ทำให้โลกนี้เป็นแดนสุขาวดี คือแดนที่มีแต่ความสงบร่มเย็น เป็นการสร้างสวรรค์บนพื้นพิภพ

อย่างไรก็ตาม ผลสัมฤทธิ์ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ย่อมมีเบื้องหลัง คำกล่าวที่ว่า “อย่าดูที่ผล จงดูที่เหตุ” เป็นคำเตือนสติผู้ทำงาน เพราะกว่าที่จะมีวันนี้ได้ มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้ท่านเผยแผ่พุทธธรรมสู่สากล ปลูกหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะลงจิตแห่งเวไนย์ ผูกบุญสัมพันธ์ไปทั่วหล้า นอกเหนือจากความมุ่งมั่นจิตปณิธานแล้ว สถานการณ์ก็สร้างโพธิบุรุษเช่นกัน ให้ถือปณิธานที่ว่า “อาศัยความสงสารปณิธานเป็นคันไถ อาศัยความอดทนพากเพียรเป็นจอบเสียม คราดไถทะเลทรายที่แห้งแล้งให้กลายเป็นดินแดนสุขาวดีที่ต้นโพธิออกดอกผล” เป็นคำปณิธานของท่านภิกษุชิงหวิน ทุกขณะของการปฏิบัติงานคือ การบำเพ็ญจิต

ดังที่หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ธรรมคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ การปฏิบัติธรรมมิใช่ต้องเข้าไปสู่ห้องเงียบๆ เข้าไปหลีกเร้นในวัด จึงจะปฏิบัติธรรมได้ ก็หน้าที่ที่ตนเองกระทำนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม การเผยแผ่ธรรมะคือการปฏิบัติธรรม อย่าถือโลกธรรมเป็นตัวสกัดกั้นการทำความดี ลบเลือนปณิธาน เพราะในไม่ช้าต่างคนก็ต่างไป คำครหานินทาเป็นของคู่โลก ชั่วก็ไม่ดี ดีก็ไม่ได้ นี่คือนิสัยมนุษย์สามัญ ผู้คนทั่วไปเคยชินการวอนขอ ต่อว่า ระแวงสงสัย ผู้ประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์มีใครบ้างไม่ถูกกล่าวหา มีใครบ้างรอดพ้นการนินทา ในไม่ช้าต่างคนก็ต่างไป เมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะที่หว่านปลูกลงในใจของเหล่าเวไนย์ต่างหากที่คงอยู่ชั่วนิรันดร์

การเผยแผ่พระพุทธศาสนามาถึงปัจจุบันบางครั้งรูปแบบควรเปลี่ยนไป แต่หลักการต้องเป็นเช่นเดิม องค์ทะไลลามะได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้สรุปความได้ว่า “พระพุทธศาสนาเมื่อจะแผ่ไปสู่ที่ไหน ก็ต้องเคารพสิทธิ์ของบุคคลในประเทศนั้น หลักธรรมในพระพุทธศาสนาสามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาย่อมได้ประโยชน์ทวีคูณ และยังทำให้พระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับจากสังคมนั้นๆ ง่ายขึ้น ขอเพียงหลักธรรมพื้นฐานของพระพุทธศาสนาคงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง การหลอมรวมเช่นนี้มีแต่ประโยชน์ถ่ายเดียว เมื่อยึดถือพุทธธรรม ควรเรียนรู้เคารพศรัทธาของผู้อื่นด้วย การบำเพ็ญเพียรและการพัฒนาเป็นเรื่องของภายใน สำคัญกว่าภาพลักษณ์ภายนอกมากนัก”

ขอเพียงมุ่งมั่นรักษาโพธิจิตนี้ไว้ กุศลธรรมทั้งหลายก็จะไพบูลย์งอกงาม
โลกเป็นเวทีให้สรรพสัตว์ได้มาบำเพ็ญเพื่อเพิ่มพูนบุญกุศล
อย่าได้ใช้โลกนี้เป็นสถานที่ก่อกรรมทำเข็ญ
ผู้ที่มองเห็นสรรพสัตว์ด้วยใจกรุณาปราณี เอื้อเฟื้อ อนุเคราะห์
เมล็ดพันธุ์แห่งโพธินี้จะงดงามเบ่งบาน

(อ่านฉบับเต็มในเอกสารมหายานวัดโฟวกวงซาน)

ไม่มีความคิดเห็น: