การเข้าถึงสภาวะที่เป็นความสมดุลจะเกิดมิติทางปรากฏการณ์อีกหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องที่เป็นรูปธรรมไปจนถึงเรื่องนามธรรม สุดท้ายแม้กระทั่งการบรรลุธรรมก็ต้องอาศัยความสมดุลนี้ ลองดูจากการแสดงกิจกรรมกายกรรมทั้งหลายต่างอาศัยความสมดุลทั้งสิ้นจึงจะทำได้ มิฉะนั้นก็ต้องล้มหรือทำไม่ได้เป็นแน่
ศาสตร์แห่งความสมดุลนี้เป็นศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่มาก สมควรที่ต้องมีการศึกษากันให้จริงจัง เป็นหลักสูตร เป็นหลักวิชาการ พูดว่าวิชาการไม่ได้สิ เพราะแม้แต่บอกวิชาการก็ตกไปสู่ส่วนสุดแล้ว คือไม่เป็นกลาง
ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นศาสตร์แห่งความสมดุล ปัจจยการภาษา ใช้รื้อถอนโครงสร้างที่มนุษย์ตกไปสู่ส่วนความคิดสองด้าน คือมีและไม่มี ในที่นี้ต้อง เข้าใจว่าการรื้อถอนไม่ใช่ล้มเลิกหรือปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ แต่เป็นการนำเอาสิ่งที่มีอยู่ให้อยู่ในที่ๆ เหมาะสม ไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง คือไม่ให้มีความคิดแบ่ง แยกเป็นขั้วทั้งที่ความเป็นจริงแล้วความคิดแบ่งแยกนี้มีอยู่เสมอ
ในปรัชญาจีนนั้น เข้าใจสภาวะที่แบ่งเป็นขั้วบวกและลบเช่นนี้ โดยเรียกว่า สภาวะหยินและหยาง เมื่อใดก็ตามที่หยินแรงหยางอ่อน ก็จะทำให้เกิดความอะลุ่มอล่วย จนทำให้เกิดความใจอ่อน ความไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ กลัว ไม่เข้มแข็ง เมื่อใดที่หยางแรง ก็จะทำให้มีความกระด้างกระเดื่อง ความห้าวหาญ รุนแรง มุทะลุ ทำอย่างไรจึงจะปรับสภาวะเช่นนี้ให้สมดุลได้ ในเมื่อความจริงแล้วสภาวะเช่นนี้มีอยู่ ดังนั้น จึงมีการเสริมธาตุให้อยู่ในภาวะสมดุล เป็นดุลยภาพ แห่งขั้วธาตุหยินหยาง
ในพุทธปรัชญายิ่งเด่นชัดขึ้นไปอีก เนื่องจาก พุทธปรัชญาถือหลักสภาวะสมดุลในการดำรงอยู่ หรืออาจเรียกว่า ปรัชญาสายกลาง (มัชฌิมฐาน) ก็ได้ เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ดำรงตนตกไปขั้วใดขั้วหนึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อเนื่อง นำไปสู่เส้นทางที่ผิดพลาดในที่สุด
ข้อความในธรรมจักกัปปวัตนสูตร ในฐานะเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ สรุปกรอบความคิดที่สมบูรณ์ที่สุดเอาไว้ ใจความที่ปรากฏเป็นภาษาบาลีบางตอนว่า “เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา โย จายํ กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค หีโน คมฺโม โปถุชฺชนิโก อนริโย อนตฺถสญฺหิโต โย จายํ อตฺตกิลมถานุโยโค ทุกฺโข อนริโย อนตฺถสญฺหิโต” เมื่อแปลโดยความหมายก็คือ การดำรงชีวิตที่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง เป็นทาง ที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่
๑. การดำรงชีวิตที่หนักไปทางบริโภคนิยม หมกมุ่นอยู่ในกามคุณ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นทางต่ำ (สำหรับผู้ต้องการหลุดพ้น) เป็นการอยู่ อย่างชาวบ้านธรรมดา เป็นความประพฤติของปุถุชน ไม่ประกอบด้วยประโยชน์สูงสุด
๒. การดำรงชีวิตที่เน้นหนักไปในทางเข้มงวดต่อร่างกายตนเอง ทรมานร่างกายให้ได้รับความทุกข์ ก็ไม่เป็นการปฏิบัติของนักปราชญ์ ไม่ประกอบไปด้วย ประโยชน์เช่นกัน
แนวทางที่จะนำไปสู่การดำรงชีพที่เหมาะสม คือ ไม่ดำรงตนตามทางที่สุดโต่งทั้ง ๒ นั้น เรียกว่า “ทางสายกลาง” เป็นการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง ไม่นำไปสู่ความเดือดร้อน เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งเพื่อพระนิพพาน (ความสุขนิรันดร์) ข้อความในภาษา บาลีว่า “เอเต เต ภิกฺขเว อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ”
จากการประมวลปรัชญาพุทธศาสนาเบื้องต้นก็ได้ คำตอบว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ตกไปสู่สภาวะแบ่งขั้ว ที่มีอยู่แล้วและไม่อาจขจัดขั้วเหล่านี้ได้ ก็ดำเนินชีวิต ให้อยู่บนทางสายกลาง ไม่ตกไปสู่ขั้วใดขั้วหนึ่ง ลักษณะ แห่งการแบ่งแยกหรือ แบ่งขั้วนี้แหละเป็นตัวสำคัญ ที่จะทำให้ชีวิตที่ไม่ว่าจะคิดกันอย่างไร แก้ไขกันอย่างไร ถ้าไม่รู้จักการทำให้เกิดสภาวะสมดุล ดำเนินตามทางสายกลาง ก็ไม่สามารถหลุดไปจากวงจรของความขัดแย้งชีวิตก็ยังมุ่งสู่หายนะอยู่ดี
เส้นทางแห่งการบรรลุ
๑. ไม่ทำความเพียรก็ไม่บรรลุ
๒. ทำความเพียรมากก็ไม่บรรลุ
๓. ต้องทำความเพียรจนสูญสิ้นอยากทำความเพียรจึงบรรลุ
(อ่านต่อในวารสารบัณฑิตศาส์น มมร)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น