วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560



๗. นานากรณปกาสินี

สังเกตเหตุแบ่งความแตกต่าง
วิธีวิถีทางที่แก้
ตัณหาแรงผลักเข้ารังแก
พ่ายแพ้ชนะจงมาดู
พาลเล่าหลงเพลินเตลิดล่อง
สุขทุกข์เผากองกายร้องอยู่
เปิดช่องผัสสะทุกประตู
ไม่รู้พรหมจรรย์คืออันใด
บัณฑิตคิดแก้ปิดแผลสด
เวทนาราดรดกำหนดใหม่
ละสิ้นตัณหาตัวพาไป
นี่ใช่ความต่างระหว่างชน

          คำกล่าวว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” เป็นคำที่ทำให้เห็นชัดว่า ในยามใดที่เกิดสถานการณ์คับขัน ก็จะมีคน ๒ ประเภทนี้เกิดขึ้น คนประเภทหนึ่งยอมแพ้ต่อเหตุการณ์นั้นแบบที่ยังไม่ได้ลุกขึ้นสู้แต่ประการใด เพราะคำนวณแล้วว่า สู้ไปก็เสียเวลาเปล่า ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น แม้หากต้องตาย ก็ตายกันอยู่แล้ว ก็ไม่ใช่เฉพาะเราเท่านั้นที่ต้องเผชิญ คนอื่น ๆ ก็ด้วย
นั่นอาจเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายจึงได้คิดอย่างนั้น แต่มาดูสถานการณ์ปกติบ้าง ก็สื่อสะท้อนถึงคนประเภทนี้ และมีให้เห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ยอมกระทำอะไร โดยคิดว่า ธุระไม่ใช่ ปล่อยให้เป็นภาระของใครสักคนดีกว่า เช่น ถนนหน้าบ้านสกปรก ทุกคนจะปิดประตูเงียบ อยู่แต่ภายในบ้านของตน และบ่นด่าคนที่จะมาเก็บกวาดว่าทำไมไม่มาสักที กลิ่นก็เหม็นเข้ามาในบ้านของทุกคน รอคอยว่าเมื่อใดกลิ่นจะหายไป ความสกปรกจะหมดไป ความคิดนี้ก็กระจายจากบ้านไปสู่ชุมชน สู่สังคม และสู่ประเทศ ในที่สุดก็กลายเป็นประเทศที่รอคอยใครสักคนมาแก้ไข โดยที่ตนเองคอยนั่งดู ยืนดูว่าจะแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็บ่นด่า ถ้าได้ก็ให้ถือเป็นภาระของเขา เขาต้องทำให้ดี
ในทางกลับกัน คนอีกประเภทหนึ่งที่ถือว่า ตนเองต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะเป็นระดับไหน ประเด็นอยู่ที่ว่า ตนเองต้องมีส่วนรับผิดชอบ และต่างก็มีความรู้สึกอย่างนี้ร่วมกัน คำว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ในความหมายนี้ไม่ได้หมายถึงวีรบุรุษเพียงคนใดคนหนึ่ง หรือคนเดียว หรือที่เรียกว่า บุรุษขี่ม้าขาวมาช่วย เหมือนในภาพยนตร์ แต่หมายถึง การให้ทุกคนเป็นวีรบุรุษ คือ ทุกคนต้องเตือนตนเองเสมอว่า สถานการณ์เช่นนี้เรานี่แหละคือวีรบุรุษ บุรุษผู้กล้าออกมาขจัดปัญหาร่วมกัน ดังตัวอย่างก่อน คือ สิ่งสกปรกตกถนนหน้าบ้าน ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันออกมาช่วยทำความสะอาดถนนหน้าบ้านของตน ๆ โดยที่ไม่ต้องรอให้ใครสักคนมาทำแล้วยืนดู ทำเฉพาะส่วนที่เป็นบ้านของตน ๆ เท่านั้นก็พอแล้ว และทุกคนก็เห็นแต่ละบ้านออกมาทำ ใช้เวลาไม่นาน เพียง ๑ ชั่วโมง ความสกปรกและกลิ่นเหม็นก็หายไปทันที นี่คือ ความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อสถานการณ์
จากเหตุการณ์นี้ขยายผลไปถึง สถานการณ์เชิงสังคม บุคคล ๒ ประเภทนี้จะคิดและทำต่างกัน กรณีสถานการณ์อบรมเลี้ยงดูบุตรหลานของตน คนที่มีเงินทองมากก็คิดแต่จะให้ลูกของตนได้รับการศึกษาสูง ๆ จะได้มีโอกาสหาเงินทองได้มาก ๆ จะได้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นนักธุรกิจ จะได้มีพนักงานในบริษัทมาก ๆ และทุกคนก็จะคิดเหมือน ๆ กัน ไม่ว่าจะจนหรือรวย แล้วผลักภาระให้กับผู้ที่มีหน้าที่ดูแลลูกหลานของตน ตั้งแต่สถานดูแลเด็กก่อนเกณฑ์ จนถึงสถาบันการศึกษา หวังว่า สถานที่เหล่านั้นจะช่วยบุตรหลานของตนให้เก่ง ให้ดีได้ โดยที่ทุกคนฝากความหวัง และคอยตำหนิ บ่น ด่า ถ้าหากสถานที่เหล่านั้นทำให้บุตรหลานของตนไม่เป็นไปตามคาดหวัง นี่คือ กลุ่มคนที่ผลักภาระรับผิดชอบออกไปจากตนเอง นี่คือ คนประเภทหนึ่ง
ส่วนคนอีกประเภทหนึ่ง ไม่ต้องรอว่าใครจะมาช่วยดูแลบุตรหลานของตน แต่ร่วมมือกันคัดเลือกดูว่า ใครคือคนที่สังคมและชุมชนลงความเห็นจะเป็นผู้มีความสามารถดูแลบุตรหลานของตนในชุมชนที่ดีสุด ดีทั้งความรู้และคุณธรรม ถ้าหากหาไม่ได้ในที่ของตน ก็ต้องลงทุนพัฒนาบุคคลเช่นนั้นขึ้นมาเพื่อให้มาช่วยดูแลบุตรหลานของตน เป็นความร่วมมือกันดูแลบุคลากรในชุมชนให้มีคุณภาพ ทุกคนคิดว่า บุตรหลานของตนนั้นจะต้องได้รับการดูแลที่ดีที่สุดจากบุคคลที่มีความสามารถที่ดีที่สุดที่ทุกคนลงความเห็น แล้วมอบหมายให้คน ๆ นั้น เช่น ผู้ที่อบรมเลี้ยงดูบุตรหลานของเขามีความรู้ มีคุณธรรม มีจิตอาสา ก็เลือกบุคคล ๆ นั้น ไม่ต้องรอให้ใครก็ไม่รู้ที่ตนไม่เห็นวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลานมาก่อน และไม่เคยมีประสบการณ์ดูแลเด็กมาก่อนให้มาดูแล นี่คือ คนที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน ในอดีตสังคมไทยก็เคยใช้วิธีการนี้ และในประเทศจีนโบราณก็ใช้วิธีการนี้ กล่าวคือ วิธีคัดเด็กที่มีความรู้และความสามารถในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอของตนเข้าไปเรียนในเมืองหลวง หรือไปสอบรับตำแหน่งในเมืองหลวง เช่น ตำแหน่งจองหงวน เพื่อให้ได้คนดีมีความรู้กลับมาดูแลหมู่บ้าน ตำบล อำเภอของตน
ความคิดและการกระทำของบุคคล ๒ ประเภทนี้ ในพระพุทธศาสนาแบ่งออกไว้ชัด เรียกว่า ความคิดและการกระทำระหว่างคนพาลและบัณฑิต อะไรเป็นเกณฑ์พิจารณาลักษณะความแตกต่างของคนทั้ง ๒ ประเภทนี้ ในสถานการณ์ใดก็ตาม ขณะที่ตาเห็นรูป ฟังเสียง สูดกลิ่น ลิ้มรส กายสัมผัส และอารมณ์กระทบจิต เมื่อตนเองถูกอวิชชาขัดขวาง ตัณหาชักนำไปสู่ความสุข ความทุกข์ ก็เสวยสุขทุกข์เหล่านั้นอย่างไม่มีความรู้ว่าอะไร เป็นอะไร คอยแต่เสวยสุข เมื่อมีสถานการณ์ที่เป็นสุข ยึดติดความสุข หวงแหนความสุข ป้องกัน กีดกัน ขจัดคู่แข่งความสุขของตน คอยแต่เสวยทุกข์ เมื่อมีสถานการณ์ที่เป็นทุกข์ อยากหลีกหนี อยากพ้น โทษทุกคนที่ทำให้ทุกข์ โทษชะตา ฟ้า ดิน กรรม หวังคอยว่าจะมีใครมาช่วยเหลือตน เฝ้าคอยเวลาให้ทุกข์หายไป ชีวิตของเขาย่อมล่องลอยไปตามกระแสแห่งสังสารวัฏ ไม่พ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไร รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ กล่าวคือ ไม่มีความรับผิดชอบต่อตนเองอะไรเลย ปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์ล้วน ๆ เช่นนี้เรียกว่า ลักษณะแห่งคนพาล
ในทางกลับกันกับอีกบุคคลหนึ่ง เมื่อสถานการณ์บีบคั้นเพราะตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกสูดกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส และอารมณ์กระทบจิต เมื่อตนเองถูกอวิชชาขัดขวาง ตัณหาชักนำไม่สู่ความสุข ความทุกข์เช่นนี้ ก็รู้ก็เข้าใจสถานการณ์ที่บีบคั้นตนอยู่ ไม่หลงใหลไปกับกระแสแห่งอวิชชาตัณหาที่มาบีบคั้นผัสสะและเวทนา เขาตั้งสติกำหนดเห็นกระแสนั้น เข้าไปจับกระแสแห่งความอยาก ความไม่อยากนั้นไว้ แล้วย่อยสลายกระแสแห่งความอยาก (อภิชฌา) และไม่อยาก (โทมนัส) นั้นด้วยปัญญา คือ ความเห็นแจ้งว่า เวทนานี้เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย เวทนาก็สักว่าเป็นเพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เวทนามีแต่เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เวทนานี้อาศัยผัสสะปรากฏขึ้นเท่านั้น ตั้งอยู่ และดับไป นี่เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ เขาจึงไม่ตกไปสู่วังวนแห่งความทุกข์ในภพ ชาติ อีก เช่นนั้นเรียกว่า ลักษณะแห่งบัณฑิต ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อยํ โข ภิกฺขเว วิเสโส อยํ อธิปฺปายโส อิทนฺนานากรณํ ปณฺฑิตสฺส พาเลน ยทิทํ พฺรหมจริยวาโส” (๑๖/๕๙/๒๕) “ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความแปลกกัน นี้เป็นความแตกต่างกัน นี้เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างบัณฑิตกับคนพาล กล่าวคือ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์”
คำที่มักได้ยินในขณะที่เกิดเหตุการณ์คับขันจากสิ่งบีบคั้นรอบด้าน ก็คือ “มีสติไว้” เช่นเหตุการณ์รถยางแตกลงเขา ทีมฟุตบอลถูกโหมบุก นักมวยถูกคู่ต่อสู้ได้เปรียบกระหน่ำ นักสนุ๊กเกอร์ถูกวางสนุ๊กหลายชั้น ข้าศึกโจมตีหลายด้าน ปัญหารุมเร้าหลายเรื่อง รัฐบาลถูกฝ่ายตรงข้ามสร้างสถานการณ์ พลัดตกแม่น้ำไหล แต่ละเหตุการณ์นั้นต้องอาศัยความสามารถขั้นสูงในการพยุงเอาตัวให้รอดจากสถานการณ์นั้น ๆ ในแต่ละสถานการณ์ไม่มีเวลาให้คิดมากนัก ต้องอาศัยการตัดสินใจ คนพาลก็มักจะปล่อยให้มันเป็นไปตามสภาพ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด แต่บัณฑิตกลับพิจารณาทางที่ดีที่สุดที่จะพ้นจากสถานการณ์นั้น สติเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการเรียกพละกำลัง ความตื่นตัวขั้นสูงกลับมา จากนั้นก็อาศัยปัญญาดูช่องที่จะพ้นภัย บางครั้งอาจต้องปล่อยให้ไหลไปก่อนในขณะที่พลัดตกน้ำ เพราะไม่อาจฝืนแล้วค่อยหาจังหวะเกาะเกี่ยว บางครั้งอาจต้องอาศัยการยกแขนเป็นการ์ดปกป้องจุดสำคัญไปก่อนของนักมวย บางครั้งยินยอมแทงผิดเสีย ๔ แต้มดีกว่าเสียหายของนักสนุ๊กเกอร์ หรือบางครั้งยินยอมชนสิ่งกีดขวางเพื่อไม่ให้ตกเขา ทุกอย่างนั้นอยู่ในการตัดสินใจของตนทั้งสิ้น
ตัวอย่างสำคัญในเหตุการณ์เรือล่มของพระมหาชนก ชาวเรือคนอื่น ๆ แตกตื่นลนลาน เอะอะโวยวาย คิดคนถึงคนนั้นคนนี้ กล่าวโทษคนนั้นคนนี้ โทษโชคชะตาราศี อ้อนวอนเทพเทวาขอให้ปลอดภัย แต่พระมหาชนก กลับตั้งสติคิดว่า การจะอยู่ในทะเลได้ต้องทำอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะพ้นภัยจากสัตว์ร้ายในทะเล นั่นคือวิธีคิดของบัณฑิต คือต้องหาทางออกให้ได้ ท่านจึงใช้น้ำมันทาตัว และขึ้นบนปลายเสากระโดงเรือ กระโดดไปให้ไกล ๆ จากจุดนั้น เพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อของปลาร้าย จากนั้นก็ว่ายไป ๗ วัน ๗ คืน จนเกิดวาทะเด็ดของพระมหาชนกสำหรับผู้ไม่พ่ายแพ้ที่กล่าวแก่เทพธิดาเมขลาว่า
“เทพธิดา เราพิเคราะห์เห็นธรรมเนียมของโลกและอานิสงส์ของความเพียรพยายาม เพราะฉะนั้น ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง เราจึงพยายามว่ายอยู่ในท่ามกลางสมุทร”
เทพธิดา ผู้ใดรู้ว่างานสุดวิสัยเกินตัวแล้ว ไม่รักษาชีวิตของตน ถ้าผู้นั้นคลายความเพียรเสีย ก็จะพึงรู้ผลของงานนั้น
เทพธิดา คนบางพวกในโลกนี้พิจารณาเห็นผลของความมุ่งประสงค์ของตนจึงประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตามที
เทพธิดา ท่านก็เห็นผลแห่งงานประจักษ์แก่ตนแล้วมิใช่หรือ คนอื่น ๆ พากันจมน้ำแล้ว เราคนเดียวเท่านั้นยังว่ายข้ามอยู่และยังได้เห็นท่านอยู่ใกล้เรา เรานั้นจักพยายามตามกำลังความสามารถจักไปให้ถึงฝั่งแห่งมหาสมุทรด้วยความเพียรอย่างลูกผู้ชาย (ของคน)” (๒๘/๑๒๔-๑๓๑/๒๐๓-๒๐๔)
ประเด็นสำคัญมิใช่อยู่แค่เรื่องความเพียรพยายามเท่านั้น แต่อยู่ที่ว่า เมื่อมีสถานการณ์บีบคั้นควรทำอย่างไร คนพาลกับบัณฑิตจะกระทำต่างกัน ถ้าหากใช้แนวของคนพาลก็จะง่าย ไม่ต้องทำอะไรเลย และบางครั้งก็อาจต้องต่อสู้กับกลุ่มคนที่มีความคิดเช่นนั้นด้วย ถ้าหากทำอย่างบัณฑิตก็จะพบว่า เป็นเรื่องท้าทายความสามารถ ไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างให้กระแสความอยากย่ำยีอยู่เสมอ ลองฝืนดูบ้าง ทดสอบ ทดลองกำลังกันดูบ้าง หากจะต้องพ่ายแพ้เพราะได้ทดสอบทดลองแล้ว ก็น่าสรรเสริญ น่าประทับใจ อีกประเด็นหนึ่งที่สื่อสะท้อนในเรื่องนี้ก็คือ การไม่ยอมผลักภาระให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดชอบ ทุกคนต้องรับผิดชอบด้วยกัน สังคมเป็นเรื่องที่ทุกคนดำรงอยู่ สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยการดำรงอยู่ของทุกคน ถ้าหากผลักภาระให้เป็นเรื่องคนใดคนหนึ่งแล้ว นั่นเท่ากับเป็นการไปประพฤติสิ่งที่ดีที่ควร ผลเสียที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งนั้นมาจากตนเอง อย่าได้กล่าวถึงผู้ใด ให้นับหนึ่งที่ตนเอง “ชะตาอยู่ในกำมือตน มิใช่ผูกไว้ในมือผู้อื่น” ความแตกต่างระหว่างพาลและบัณฑิตวัดกันตรงนี้


จบนานากรณปกาสินี


วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560






๖. ธัมมีกถาปกาสินี

เพียงวาจากล่าวคำเป็นธรรมหรือ
หรือแท้คือคำกล่าวคาดเดาส่ง
คำเสียดแทงมักขะมานะคง
คำไม่หลงเป็นธรรมเพราะคำใคร
วจีธรรมคำพูดพิสูจน์ศัพท์
เพื่อรองรับปฏิบัติยึดมั่นไหม
ทุกองค์ธรรมตามควรทุกส่วนไป
วิราคะเลื่อนไหลนั่นสายธรรม
เหตุปัจจัยเกิดดับมิกลับเกิด
นั่นคือเลิศกถามิพาต่ำ
ชื่อนิพพานวาจาครองค่าคำ
ทุกคืนค่ำคำกล่าวเพื่อเบาบาง

          การเป็น “นักร้อง” “นักพูด” “นักปลุกระดม” “นักบรรยาย” “นักเทศน์” ลักษณะความสามารถพิเศษทั้ง ๕ นี้ต้องกำหนดให้ชัด เพราะบางครั้งนำไปปะปนกันจนทำให้เกิดความสับสนในตัวผู้พูดเอง และในบทบาทที่จะพึงทำ พึงเป็น วาจาหรือการพูดเป็นศาสตร์และศิลป์ประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จในชีวิต ผู้ที่มีความรู้ดี แต่ไม่มีวิธีพูด ก็ไม่สามารถสร้างสำเร็จขั้นสูงได้ ในทางกลับกัน ผู้ไม่มีความรู้ดี แต่มีวิธีพูดจนดูดี ก็สามารถสร้างความเชื่อให้กับสังคมจนตนเองได้รับการยกย่องได้ ตัวอย่างมีให้เห็นจำนวนมาก วาทะของหลวงวิจิตรวาทการถึงกับบอกว่า “ถ้าท่านลุกขึ้นยืนพูดต่อหน้าที่ฝูงชนไม่ได้ อย่าปรารถนาเป็นผู้นำ”  ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ที่มีในตนให้กับผู้อื่นได้รับรู้และเกิดความซาบซึ้ง รู้ตาม และเห็นตามได้มิใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจึงเกิดวิชาวาทศิลป์ หรือวาทการขึ้น เพื่อจะได้รู้หลักภาษาและสื่อสารได้อย่างดี ดังคำเรียกขานผู้ที่มีความเก่งในการใช้เสียงในหลากหลายลักษณะตามที่ยกไว้เบื้องต้น ดังนี้
          “นักร้อง” ผู้ที่เป็นนักร้องนั้นจัดอยู่ในผู้มีศิลปะในการสื่อสารขั้นสูงที่สามารถใช้เสียงประกอบทำนอง ดนตรีแล้วทำให้ผู้คนทั้งหลายฟังจนติดหู ประทับใจ รับเอาเพลงนั้นไว้ในสัญญาจนขับร้องตามได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นช่วงอารมณ์สนุก อารมณ์เศร้า อารมณ์ซึ้ง อารมณ์รัก ก็มักนึกถึงบทเพลงนั้น ๆ ขึ้นมา คำของเขากลายเป็นตำนานในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้ เช่น พรหมลิขิต สิบหกปีแห่งความหลัง มนต์เพลงคาราบาว เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้ที่อยู่ในยุคนั้น ๆ จำได้ดี แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของคำที่นักร้องนำมาใช้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต
“นักพูด”  ประเภทนี้จะมีมาก เพราะใคร ๆ ก็พอจะเป็นนักพูดได้ กล่าวคือ พูดแล้วทำให้คนติด อยากฟัง อยากติดตามอีกเมื่อเขาพูด นักพูดที่ไปถึงระดับที่สามารถเป็น “นักทอลค์โชว์” ได้นับว่าเป็นผู้มีศิลปะในการดึงคนให้คล้อยตามสิ่งที่เขาพูดได้อย่างน่าฟัง และทำให้คนจำนวนมากมีส่วนร่วมกับคน ๆ หนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้คำ ผูกคำ เล่นคำ เลียนคำ จนผู้ฟังนั้นทั้งหัวเราะ ทั้งซาบซึ้ง ร้องให้ ทั้งคล้อยตาม ไม่เพียงแต่คำเท่านั้น แม้แต่กิริยาอาการเขาก็แสดงออกไปกับคำ เขาจึงเป็นนักแสดงอยู่ในตัวด้วย นับได้ว่า คำของนักพูดนี้ติดหูอยู่ไม่หาย เช่น “ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย เพราะไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” หรือ คำว่า “การกระทำดังกว่าคำพูด” “ผมเป็นคนเดินช้า แต่ผมไม่เคยเดินถอยหลัง” “จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้” ทุกครั้งที่เจอปัญหา ให้มองว่ามันเกิดขึ้นมาเพื่อสอนอะไรเรา มันอยากให้เราเรียนรู้อะไรจากมัน” “ถ้าคุณหัวเสีย คุณจะเสียหัว” เป็นต้น คำเหล่านี้เป็นวลีเด็ดของเหล่านักพูดทั้งหลายที่ต้องการให้คนติดในวาทะของเขาจนกลายเป็นคำมีอิทธิพลต่อวิถีคิดและวิธีทำ
“นักปลุกระดม” นักพูดประเภทนี้มักมาในสายการเมืองเป็นหลัก เพราะถ้อยคำที่เขาใช้นั้นนำไปสู่การต่อสู้ฝ่าฟัน เอาชนะคู่ต่อสู้อีกฝ่ายหนึ่ง ต้องการปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ ต้องการได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ต้องการดำรงอยู่ในอำนาจนาน ๆ คำของนักการเมืองจึงเป็นเรื่องของการเสียดสี เป็นเรื่องของการปลุกเร้า กระตุ้นต่อราคะ อยากได้ อยากรวย กระตุ้นโทสะ อยากทำลาย ขจัดคู่แข่ง กระตุ้นโมหะ กล่อมให้ทุกคนลุ่มหลงในอนาคต เช่นคำว่า “ข้าพเจ้ายอมทรยศโลก ดีกว่าให้โลกทรยศข้าพเจ้า” “ถึงตาย ก็พูดไม่ได้” “พลังเป็นของประเทศชาติ อำนาจเป็นของปัจเจกชน” “การเมืองไม่มีมิตรและศัตรูถาวร” “หน้าที่ต่างกัน สัมพันธ์เหมือนเดิม” “ขอกันกินมากกว่านี้” “ประชาธิปไตยคือการให้โอกาสเลือกคนที่คุณไม่ชอบน้อยที่สุด” เป็นต้น ทุกคำนั้นจะปลุกให้เกิดความฮึกเหิมเพื่อต่อสู้ ฝ่าฟันไปให้ได้อำนาจมาทั้งนั้นจนทำให้มีวลีเด็ดเชิงภาษาบาลีว่า “วโส อิสฺริยํ โลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก”
“นักบรรยาย” คำของนักบรรยายก็จะเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดเชิงความรู้ที่ตนมีอยู่ให้มาก จึงมีคำมักกล่าวว่า มือใหม่พูดทุกอย่างที่มี มือเก่าพูดทุกอย่างที่เตรียม มือเก๋าพูดเฉพาะที่อยากพูด มือเจ๋งพูดเฉพาะที่เวลาอำนวย มือเซียนพูดเฉพาะที่ผู้อยากฟัง คำกล่าวของนักบรรยายโดยมากเป็นคำที่มีในหลักวิชาที่กำหนดไว้ เป็นหัวข้อ เป็นแนวทาง เป็นกฎเกณฑ์ กติกา เป็นคำสอนทั้งของศาสนาและของบุคคลสำคัญทั่วไป เป็นทฤษฎี คำของนักบรรยายจึงราบเรียบ แต่ปนไปด้วยเนื้อหาสาระที่มุ่งหมายผู้เก็บเอาไปตามที่จะเก็บได้ คำของนักบรรยายมักมีว่า “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน” “เรื่องนี้ผมคิดว่า” “หลักเกณฑ์ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า” “จากหลักฐานข้อมูลพบว่า” เป็นต้น โดยมากกลุ่มนี้จะมีอยู่ ๒ มาตรฐานคือ อ้างอิงจากที่ใดที่หนึ่ง และขอใช้ความคิดตนเอง อย่างนี้ไปจนจบเรื่อง
“นักเทศนา” เป็นนักแสดงธรรม คำของนักเทศนา คือ คำที่เป็นธรรม การแสดงธรรมเป็นการแสดงคำสำคัญที่สื่อให้ผู้ฟังนั้นเข้าใจในเนื้อหาแห่งธรรมที่เป็นจุดหมายสูงสุดในศาสนา ถ้อยคำของนักแสดงธรรมจึงมีลักษณะพิเศษมุ่งเน้นทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เรียกว่า ธัมมีกถา คือ ถ้อยคำอันประกอบด้วยธรรม เบื้องต้นผู้แสดงต้องยึดถือหลักแห่งการแสดงธรรม ๕ ประการ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ที่กราบทูลเรื่องการแสดงธรรมของพระอุทายีที่วัดโฆสิตารามว่า “อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่กระทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่นพึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ในตนแล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น คือ ภิกษุภิกษุพึงตั้งใจว่า
๑. เราจักแสดงไปตามลำดับ (อนุปุพฺพิกถํ)
๒. เราจักยกเหตุผลแสดงให้เข้าใจ (ปริยายทสฺสาวี)
๓. เราจักแสดงไปด้วยจิตเมตตา (เอ็นดู) (อนุทยตํ ปฏิจฺจ)
๔. เราจักไม่แสดงเพราะเห็นแก่อามิส (น อามิสฺสนฺตโร)
๕. เราจักแสดงไม่กระทบตนและผู้อื่น (อตฺตานญฺจ ปรญฺจ อนุปหจฺจ) (องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๕๙/๒๐๖)
เมื่อผู้แสดงธรรมประกอบด้วยหลักยึด ๕ ประการแล้ว คำใดล่ะที่นับว่าเป็นธรรม เพราะธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมีจำนวนมาก แต่สำหรับผู้ที่จะเป็นนักเทศนาได้นั้นต้องเข้าใจจุดนี้เสียก่อน มิฉะนั้นก็จะเป็นได้แค่นักร้อง นักพูดคำคม นักปลุกระดม หรือนักบรรยาย เท่านั้น
พระภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “ผู้ที่จะเป็นธรรมกถึกได้ ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง” พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า “ชรามรณสฺส เจ ภิกฺขู นิพฺพิทาย วิราคาย นิโรธาย ธมฺมํ เทเสติ ธมฺมกถิโก ภิกฺขูติ อลํ วจนาย...อวิชฺชาย เจ ภิกฺขู นิพฺพิทาย วิราคาย นิโรธาย ธมฺมํ เทเสติ ธมฺมกถิโก ภิกฺขูติ อลํ วจนาย...” (สํ.นิ.๑๖/๔๖/๑๘) หมายความว่า “ภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุแสดงธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับชราและมรณะ...เพื่อดับอวิชชา ควรเรียกได้ว่า “ภิกษุเป็นธรรมกถึก”
คำอันประกอบด้วยธรรมก็ดี ผู้แสดงธรรมก็ดี ย่อมขึ้นอยู่กับการคำว่า “ธรรม” ดังนั้น ธรรมในที่นี้จึงมุ่งหมายเอาปฏิจจสมุปบาทในสายดับเป็นฐาน ผู้ใดแสดงให้เห็นสายดับของวงจรชีวิต คือ ปฏิจจสมุปบาท โดยปฏิโลม ที่ทำให้ผู้ฟังนั้นเห็นความจำเจของโลกที่หมุนวนไปมาอย่างนั้นจนไม่มีที่สิ้นสุด จนเกิดความปล่อยวางจากการยึดมั่นถือมั่นโลก คือ ขันธ์นี้ นี่จึงนับได้ว่า ผู้กล่าวธัมมีกถา เป็นธรรมกถึกโดยแท้ เพราะเมื่อกล่าวธรรมเช่นนี้ย่อมนำไปสู่การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน) ก็คือ การปฏิบัติที่นำไปสู่ความเบื่อหน่าย คลายกำหนด ดับชรามรณะ ดับอวิชชาต่อไป เมื่อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ย่อมนำไปสู่ที่สุดแห่งการปฏิบัติธรรม ก็คือ การดำรงอยู่ในนิพพานปัจจุบัน (ทิฏฺฐธมฺมนิพฺพานปยุตฺโต)
เนื่องด้วยว่า ผู้ที่แสดงธรรมมิได้เน้นจุดนี้จึงทำให้พระพุทธศาสนามีแต่นักพูดเต็มไปหมด เพราะเมื่อมีแต่นักพูดก็จะพบแต่ถ้อยคำไพเราะทั้งหลายเต็มไปหมด โดยเฉพาะปัจจุบันนี้มีการนำคำคมของบุคคลสำคัญ ๆ มาโพสต์ลงในไลน์ ในสื่อโซเชียลมีเดียทุกวัน คำเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นคำของนักพูดที่ประดิดประดอยขึ้นจนงดงาม แต่คำเหล่านั้นไม่นับว่าเป็น “ธัมมีกถา” เพราะไม่นำไปสู่องค์ประกอบและกระบวนการดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ธรรมที่แสดงให้เห็นความดับไปแห่งชราและมรณะ เพราะความดับไปแห่งชาติ ที่ชาติดับไป เพราะความดับแห่งภพ ที่ภพดับไป เพราะอุปาทานดับไป ที่อุปาทานดับไป เพราะตัณหาดับ...จนถึงที่สังขารดับ เพราะอวิชชาดับ เมื่อถ้อยคำอันประกอบด้วยธรรมอย่างนี้มีอยู่ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี้ก็จะมีอยู่ เมื่อการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี้มีอยู่ ผู้ดำรงอยู่ในนิพพานปัจจุบันนี้ก็จะมีอยู่
การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึง การตั้งสติ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ อยู่กับธรรม คือ อายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นสำคัญ เพื่อดับเสียซึ่งเชื้อที่ส่งทอดไปหากันและกันจนจะเกิดเป็นตัณหา คือ ความชอบ ไม่ชอบ อยาก ไม่อยาก น่าใคร่ ไม่น่าใคร่ น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ น่ายินดี ไม่น่ายินดี มีอุเบกขธรรมกำหนดเห็นความเป็นสัจจะแห่งธรรมเหล่านี้ที่มีแต่ความเกิดดับเป็นธรรมดา เป็นแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คลายความยึดมั่นถือมั่นเสียในธรรมเหล่านั้นเสีย เป็นการสมควรแก่ธรรม คือ สมควรเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เกิดเป็นญาณทัสนะขึ้นในจิต
“ธัมมีกถา” นี้ มิใช่เกิดขึ้นได้โดยง่าย เป็นการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในแต่ละพุทธกาล ของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ ที่ตรัสแสดงไว้ มีเพียงหนึ่งเดียวที่มนุษย์ เทพ มาร พรหม ทั้งหลายในยุคนั้น ๆ จึงพึงได้ยินได้ฟัง จากนั้นก็เป็นยุคพุทธันดรที่จะไม่ได้ยินอีกเลย จะนานเพียงไหนไม่ทราบ คำอื่น ๆ ใดนอกจากนี้นั้นไม่ห่างหายไปจากโลกเลย ตราบใดที่มนุษย์ยังสื่อสารกันได้ ก็จะมีคำคม คำให้กำลังใจ คำไพเราะ คำหวานซึ้ง อยู่เสมอมา แต่คำที่ไม่ประกอบด้วยธรรม นำไปสู่การสิ้นทุกข์เลย จงหันมาให้ความสนใจคำอันประกอบด้วยธรรม (ธัมมีกถา) เพื่อการดำรงอยู่ในนิพพานปัจจุบันกันเถิด


          


จบธัมมีกถาปกาสินี


วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560




๕. มัคคามัคคปกาสินี

เพราะว่าไม่รู้เกิดอยู่ไหน
หรือดับอย่างไรก็ไม่เห็น
มิแจ้งปฏิปทาที่มาเป็น
เกิดดับสลับเร้นจึงมืดมน
เพียงเห็นชรามีสาเหตุ
ก่อเลศแปลงสารพาสัตว์ป่น
รู้ทางดับสลายพาให้วน
จึงพ้นวัฏฏะสมุทัย

          แนวทางการแสวงหาต้นตอของเรื่องหรือสิ่งต่าง ๆ นั้น มีมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพราะเป็นแรงผลักดันของมนุษย์ผู้มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นปกติวิสัย จนกระทั่งเกิดเป็นแนวทางวิทยาศาสตร์ที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในโลกตะวันตกในปัจจุบัน และมีวิธีการแสวงหาเชิงสาเหตุได้อย่างลงตัวมากขึ้น เนื่องจากวิทยาศาสตร์มุ่งหมายอยากเอาชนะธรรมชาติ และมุ่งหมายเพื่อสร้างและพัฒนาทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดนั้นให้มีมูลค่ายิ่งขึ้น วิธีการต่าง ๆ ที่จะค้นหาเชิงสาเหตุและการนำไปพัฒนาชีวิตและสังคมในด้านวัตถุครอบคลุมมนุษย์ในยุคนี้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กระแสวิทยาศาสตร์จึงคลุมโลกไปทั่ว หนึ่งในกระบวนวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้กันก็คือ กระบวนการหาปัจจัย (Factor Analysis Research) ไม่ว่าจะในรูปแบบการสำรวจ (EFA) หรือการยืนยัน (CFA) ต่างก็ต้องการหาองค์ประกอบที่แท้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง ปัจจัยไหนเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องบ้าง ที่เกี่ยวข้องมีปัจจัยเท่าไร อะไรบ้าง อาศัยการวิเคราะห์ของโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ทำให้ค้นพบปัจจัยที่ซับซ้อนได้ง่าย และมีความแม่นยำสูง นี่เป็นกระบวนการหาคำตอบจากทางสถิติและจากทางการทดสอบทดลองต่าง ๆ จนสามารถสร้างเป็นทฤษฎีได้มากขึ้นในทุกวงการ
          ลองนึกย้อนกลับไปผ่านยุคสมัยก่อน ก็จะพบว่า การค้นหาปัจจัยว่ามาจากสาเหตุอะไรนั้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม อัจฉริยภาพทางสมองของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะคาดคำนวณได้ว่า มีความสามารถเพียงไหน ยิ่งผู้ที่จิตอยู่ในภาวะแห่งฌานด้วยแล้ว ยิ่งไม่อาจคาดคิดคำนวณด้วยความคิดธรรมดาได้ ภาวะแห่งจิตในฌานนั้นมีค่าเทียบกับระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชั้นสูง ที่สามารถแยกแยะปัจจัยได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่สัมพันธ์กับจิตที่มีความสลับซับซ้อนสูง ถ้าจับเหตุและปัจจัยผิดผลาดก็นำไปสู่กรงขังของโลก แต่ถ้าจับเหตุและปัจจัยถูกก็สามารถหลุดพ้นจากกรงขังของโลกหรือวัฏฏะได้
          ทางกับไม่ใช่ทางเท่านี้เอง มีอะไรเป็นปัจจัย (มคฺคปจฺจโย) โจทย์อยู่ที่ความถึงที่สุดแห่งทุกข์กับการไหลไปสู่ความมีทุกข์ (อิมสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิรุชฺฌนฺติ/สมุทโย โหติ) นักปราชญ์ นักการศาสนา เจ้าลัทธิและครูทั้งหลายใช้ชีวิตทั้งชีวิตพยายามแสวงหาทางออกจากทุกข์ดังกล่าว แต่เนื่องจากไม่อาจประมวลสาเหตุได้อย่างถูกต้อง ต่างยึดจับสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นแนวทางแห่งการพ้นทุกข์ บ้างก็มุ่งไปที่การบูชาเทพเจ้า บ้างมุ่งไปที่การทรมานตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ บ้างฝึกฝนทางจิตด้วยการเข้าฌานสมาบัติ บ้างมุ่งไปที่การพยายามหักห้ามกรรมของตน ด้วยคาดหมายว่า การหยุดยั้งกรรมเก่า ไม่ทำกรรมใหม่ แต่กลับไม่ทราบว่า การไม่ทำกรรมใหม่นั้นต้องทำอย่างไร ก็กลายเป็นเหตุปัจจัยแห่งกรรมสืบเนื่องกันไปอีก
          สำหรับกรณีผู้ที่ได้ถึงฌานที่ ๘ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้น นับได้ว่ามีความก้าวหน้าในสมาธิขั้นสูงที่สุดในยุคหนึ่ง ต่างก็เชื่อว่า นั่นเป็นที่สุดแห่งกระบวนการทางจิตที่ถึงการหลุดพ้น เพราะอยู่ในสภาพที่กึ่งมีจิตและกึ่งไม่มีจิต โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสัญญา ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ฌานนี้สัมปยุตด้วยสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีสัญญาที่หยาบ และชื่อว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะสัญญาที่ละเอียดยังมีอยู่ และเป็นอายตะด้วย คือ มนายตนะและธรรมายตนะ รวมทั้งเวทนา วิญญาณ ผัสสะก็มีเหมือนไม่มีด้วย (วิสุทธิ.อารุปปนิเทศ ๒/๖๐๓) ลองคิดดูเถิดว่า ผู้ที่ดำรงจิตอยู่ในขั้นนี้นั้นจะมีความสุขสงบมากเพียงไหน จะไม่เข้าใจว่า ตนบรรลุถึงจุดสูงสุดได้อย่างไร พระพุทธเจ้าตอนที่ไปฝึกฝนอยู่ในสำนักของครูทั้ง ๒ ได้เคยผ่านมาแล้ว แต่พระองค์ได้พิจารณาโดยสาเหตุแล้วว่า นี่ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ จนเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วจึงได้หวนระลึกถึงครูทั้ง ๒ เพื่อที่จะไปโปรดเพราะทั้งสองท่านนั้นเป็นบัณฑิตผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยมานาน แต่พอรู้ว่า ครูทั้งสองได้สิ้นชีวิตไปแล้วไม่นานพระองค์ถึงกับดำริว่า “มหาชานิโย โข” (วิ.๔/๑๐/๑๐) เป็นผู้มีความเสื่อมนานหนอ คือ ต้องไปเกิดในอักขณะภพ ที่มีชีวิตยืนยาวในภพนั้นกว่าจะได้กลับมาเกิดเพื่อเห็นธรรมได้อีกนั้นเป็นเวลาที่แสนจะยาวนาน
          ประเด็นที่กล่าวในที่นี้หมายถึงผู้ที่เข้าใกล้ทางที่สุดแล้ว แต่แล้วก็ยังพลาดจากทางอีก ยังไม่ต้องพูดถึงผู้ที่ไม่เข้าใกล้ทางอย่างใดเลย จะมีเส้นทางแห่งวัฏฏะนั้นยาวไกลมากเพียงไหน จุดสำคัญของทางและไม่ใช่ทางนั้นมีจุดตัดกันอยู่ที่เป็นไปตามสายเกิดหรือเป็นไปสู่สายดับ กระบวนการพิจารณาตรวจสอบหาปัจจัยเชิงสาเหตุนี้เองที่ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็เป็นเช่นเดียวกัน เพราะล่วงรู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งสายเกิดและสายดับ กล่าวคือ รู้ว่าชรา มรณะเป็นอะไร มีสาเหตุจากอะไร ดับไปได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะดับลงไปได้ “ชรามรณํ ปชานนฺติ ชรามรณสมุทยํ ปชานนฺติ ชรามรณนิโรธํ ปชานนฺติ ชรามรณนิโรธคามินีปฏิปทํ ปชานนฺติ...” (๑๖/๓๙/๑๕) ก็ผู้ใดก็ตามที่เข้าไปรู้ว่า ก็เพราะชาติเป็นปัจจัยนั่นเอง ชรามรณะจึงมี เมื่อชาติดับไป ชรามรณะก็ดับไปด้วย แต่ชาติจะดับไปได้อย่างไร ก็เมื่อภพดับไปก่อน ภพจะดับไปได้อย่างไร ก็เพราะอุปาทานดับไปนั่นเอง ส่วนทางที่ทำให้ถึงการดับไปแห่งชรามรณะนั้นได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ทางที่นำไปสู่การสิ้นทุกข์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ชาตินิโรธา ชรามรณนิโรโธ อยเมว อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค ชรามรณนิโรธคามินีปฏิปทา เสยฺยถีทํ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโน สมฺมาอาชีโว สมฺมาอาชีโว สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ...” (๑๖/๘๙/๔๒) เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ อริยะมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ชื่อว่า ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับไปแห่งชราและมรณะ”
          ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นมรรคสมังคี เป็นธรรมสมังคี มิได้หมายถึงการนำไปอธิบายเป็นแต่ละองค์ธรรม แต่หมายรวมเอากิจกรรมทางการบำเพ็ญที่ประกอบไปด้วยอริยมรรคทั้ง ๘ นี้ อิริยาบถทุกขณะไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ล้วนประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยเหตุนี้วิธีที่จะทำให้มีอริยมรรคมี ๘ อยู่เสมอก็ต้องเจริญในอานานาปานสติ เพราะทำให้สติปัฏฐาน ๔ เจริญ สติปัฏฐานเมื่อเจริญแล้ว ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ เจริญ เมื่อโพชฌงค์เจริญแล้วย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติเจริญ “สนฺติ ภิกฺขเว ภิกฺขู อิมสฺมึ ภิกฺขุสงฺเฆ อานาปานสติภาวนานุโยคมนุยุตฺตา วิหรนฺติ. อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา. อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา        จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปูเรนฺติ...วิชฺชาวิมุตฺตึ ปริปูเรนฺติ. (๑๔/๒๘๗/๑๖๔) กระบวนแห่งมรรคมีองค์ ๘ นั้นประกอบพร้อมอยู่ในอานาปานสติ สติปัฏฐาน โพชฌงค์ วิชชา และวิมุตติ โดยเฉพาะพลวัตแห่งองค์ธรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนมรรคสมังคีให้ดำเนินไป คือ อาตาปี สัมปชาโน สติมา ที่มีอยู่ทุกขณะแห่งการดำเนินชีวิต อยู่ทุกกิจกรรม เพราะเป็นธรรมที่ทำให้จิตตั้งอยู่บนอุเบกขธรรมที่ไม่ให้จิตตกไปสู่ความยินดี (อภิชฺฌา) และความยินร้าย (โทมนัส) กระบวนแห่งปฏิจจสมุปบาทก็จะเข้าสู่กระแสดับทันที เพราะไม่มีเชื้อส่งต่อไปสู่สายเกิด อาหารทั้งหลายที่มีตัณหาเป็นแดนเกิดก็หยุดกระบวนการอันเนื่องจากเวทนาดับไปตัณหาจึงดับ
          คำว่า “ดับ” ในภาษาบาลีใช้คำว่า “นิโรธ” เป็นคำพิเศษที่ไม่ได้หมายถึงการดับอย่างโลกิยบัญญัติ แต่หมายถึงเชื้อที่จะส่งไปสู่กระบวนการสายเกิดดับลง เวทนาขันธ์ยังคงทำหน้าที่ไป แต่เป็นขันธวิมุตติ เป็นสักว่า เพียงเวทนา เวทนาในขันธ์กับเวทนาในปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นการกล่าวต่างกัน เพราะเวทนาในขันธ์นั้นหมายเอาเวทนาที่ทำหน้าที่รู้สึกหนาว ร้อน เย็น สงบ แต่เวทนาในปฏิจจสมุปบาทนั้นหมายเอาเวทนาที่ประกอบด้วยเชื้อที่ส่งทอดกันมา การดับเวทนาในปฏิจจสมุปบาท หมายเอาการดับเชื้อที่ทำให้เกิดตัณหาต่อไป เมื่อเวทนาเป็นสักว่าเวทนา เชื้อในเวทนาก็ดับไป ฉะนั้น มิได้หมายถึงเวทนาขันธ์หายไป มิฉะนั้นผู้ที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหลายจะมีความรู้สึกได้อย่างไร เวทนาขันธ์เป็นฐานของสัตว์ที่เกิดในภูมินี้ เป็นคุณสมบัติของสัมภเวสีสัตว์ ยกเว้นในสัตว์ที่เป็นอรูปพรหมและอสัญญีสัตว์ที่มีขันธ์ไม่ครบ ก็เป็นคุณสมบัติผู้สัตว์ผู้ไปเกิดในภพนั้น ๆ แต่เวทนาขันธ์นั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา มีความเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ทีฆานขปริพาชกว่า “สุขา อคฺคิเวสน...ทุกฺขาปิ...อทุกขมสุขาปิ...อนิจฺจตา สงฺขตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา ขยธมฺมา วยธมฺมา วิราคธมฺมา นิโรธธมฺมา...อริยสาวโก สุขายปิ เวทนาย...ทุกฺขายปิ เวทนาย...อทุกฺขมสุขายปิ เวทนาย นิพฺพินฺทติ นิพฺพิทํ วิรชฺชติ วิราคา วิมุจฺจติ วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหต ขีณา ชาติ วุสิตํ พฺรหมจริยํ กตํ กรณียํ...” (๑๓/๒๗๓/๒๒๐) อัคคิเวสสนะ สุขเวทนาไม่เที่ยง...แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง... แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา...อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งใน อทุกขมสุขเวทนา เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
          การเข้าไปทราบทางและมิใช่ทางนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่จะสื่อให้เห็นว่า ผู้ที่รู้ทางย่อมมีทางที่จะไปถึงได้ แต่ขึ้นอยู่ว่า จะเดินไปตามทางนั้นหรือไม่ สำหรับผู้ไม่รู้จักทางหรือผู้หลงทาง ย่อมไม่รู้ทางที่จะหลุดพ้นได้เลย ในกรณีผู้รู้ทางแต่ไม่เดินไปตามทางนั้นมีอยู่มาก เป็นที่สงสัยของคนในสมัยนั้นเช่นกันว่า เหตุใดจึงมีผู้ไม่ได้บรรลุธรรมมีอยู่มากทั้งที่บวชมาแล้วก็ตาม ทั้งที่ศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วก็ตาม ในเรื่องนี้ก็เพราะบางท่านเดินทางไปแล้วหยุดเสีย บางท่านหลงเพลินไปกับสิ่งต่าง ๆ ในหนทาง บางท่านรู้จักหนทางดีแต่ไม่ได้เริ่มเดินทางจึงไม่ถึง ในอีกนัยหนึ่งพระพุทธเจ้า ตรัสเปรียบเทียบกับขอนไม้ (ปฐมทารุกขันโธปมสูตร) ที่จะไหลไปถึงมหาสมุทรได้เพราะอะไร  ก็เพราะขอนไม้นั้นจะไม่ลอยเข้ามาใกล้ฝั่งนี้ (อายตนภายใน ๖)  ไม่ลอยเข้าไปใกล้ฝั่งโน้น (อายตนภายนอก ๖)  ไม่จมกลางแม่น้ำ (นันทิราคะ)  ไม่เกยตื้น (มานะ) ไม่ถูกมนุษย์นำไป (คลุกคลีคฤหัสถ์) ไม่ถูกอมนุษย์นำไป (ปรารถนาเทวสมบัติ) ไม่ถูกเกลียวน้ำวนดูดไว้ (กามคุณ ๕) ไม่ผุภายใน (ทุศีล) เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอนไม้นั้นก็จักลอยไปสู่สมุทรได้ ไหลไปสู่สมุทรได้เลื่อนไปสู่สมุทรได้ “สเจ โข ภิกฺขเว ทารุกฺขนฺโธ น โอริมํ ตีรํ อุปคจฺฉติ น ปาริมํ ตีรํ อุปคจฺฉติ น มชฺเฌ สํสีทิสฺสติ น ถเล อุสฺสาทิสฺสติ น มนุสฺสาคฺคาโห คาหิยติ น อมนุสฺสคฺคาโห คาหิยติ น อาวฏฺฏคฺคาโห คาหิยติ น อนฺโตปูติ ภวิสฺสติ...” (สฬา. สํ. ๑๘/๓๒๒/๑๘๖) ถ้าหากไม่ติดข้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ จักน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ผู้ไม่รู้จักทางย่อมเข้าไปติดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนผู้รู้จักทางและเดินไปตามทางย่อมระวังอุปสรรคขัดขวางเหล่านี้


จบมัคคามัคคปกาสินี


วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

๔. มิจฉาปุจฉาปกาสินี

อย่าหลงผิดคิดถามความสงสัย
ว่าเป็นใครกลืนกินจิตตาหาร
หรือเป็นใครยึดฮุบอุปาทาน
นี่คือม่านบังตาต้องหาคน
หามีใครแฝงอยู่จงรู้เถิด
สาเหตุเกิดดับไปปัจจัยสน
สืบเป็นสายเคล้าคละและปะปน
ออกเป็นผลดอกทุกข์เพาะปลูกเอง




       ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของสัตว์ทั้งหลายใน ๓ แดนโลกธาตุเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้สัตว์ทั้งหลายจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสารอยู่นี้เรื่อยไป มาพิจารณาสำหรับมนุษย์ สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ยึดมั่นถือมั่น เนื่องจากมนุษย์ทุกคนมองเห็นเพียง ๒ ลักษณะใหญ่ ๆ ในการดำเนินชีวิต คือ ตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นในระดับโครงสร้างที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ก็จะมีเพียง ๒ ประการนี้ เช่น หลักภาษาก็จะมีตนเองและผู้อื่น ผม-คน ผม-เขา ผม-พวกเขา เรียกว่า บุรุษที่ ๑ และบุรุษที่ ๒ เพื่อร้องเรียก หรือคำที่กลายเป็นประโยคคำถามสำคัญ คือ ใคร ทำไม อะไร... ล้วนแต่ต้องหาบุคคล เวลา และสถานที่ให้ได้
นอกจากนั้นในแง่ของปรัชญาก็จะมีปรัชญาว่าด้วยอัตตวิสัย และปรวิสัย หมายถึง อาศัยตนเองเป็นฐาน และอาศัยผู้อื่นเป็นฐาน หรือแม้แต่นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์คนสำคัญของฝรั่งเศส ได้แก่ เรอเน เดการ์ต (René Descartes คศ. ๑๖๑๖) เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักคิด "แห่งยุคสมัยใหม่" คนแรกในฐานะผู้วางรากฐานทางปรัชญาให้กับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ โดยก้าวข้ามพ้นประสาทสัมผัสเข้าสู่จิต เพราะประสาทสัมผัสนั้นไม่สามารถให้ความจริงได้ วาทะที่โด่งดังของเขาคือ “ถ้าฉันถูกหลอกได้ นั่นแปลว่า "ฉัน" จะต้องมีอยู่จริง กลายเป็นบทสรุปของความคิดว่า cogito ergo sum, I think therefore I am เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” ก็ยิ่งตอกย้ำให้มนุษย์เข้าไปติดกับดักของความคิดอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง และเป็นมานานนับกัปกัลป์
        พระยามิลินท์ (Menander I Soter ๑๖๕ – ๑๕๕ ก่อน ค.ศ.) กษัตริย์อินโด-กรีก ปกครองเมืองสาคละ หรือเมือง Sailkot ในปากีสถานปัจจุบัน พระองค์นับว่าเป็นนักปรัชญาคนหนึ่งที่สนใจภูมิปัญญาที่มีอยู่ในขณะนั้นของทุกปรัชญาและศาสนา จนได้มาสนทนากับพระนาคเสนในคัมภีร์ที่เรียกว่า ปัญหาพระยามิลินท์ บรรดาคำถามเหล่านั้น มีคำถามหนึ่งที่สื่อถึงการต้องการหาผู้กระทำให้ได้ว่า เหตุใดพระนาคเสนจึงกล่าวไม่มีนาคเสน พระยามิลินท์ได้ทีในคำตอบของพระนาคเสนจึงได้ช่องจู่โจมทันทีว่า
“ขอให้ชาวโยนกทั้ง ๕๐๐ นี้และพระภิกษุสงฆ์ ๘ หมื่นองค์นี้ จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้าเถิด พระนาคเสนนี้กล่าวว่า เพื่อนพรหมจรรย์เรียกอาตมาภาพว่า “นาคเสน” ก็แต่ว่าไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอันใดอยู่ในคำว่า “นาคเสน” นั้น ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอยู่แล้ว บุคคลเหล่าใดถวายบาตร จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และวัตถุที่เก็บเภสัชไปแล้ว บุญกุศลก็ต้องไม่มีแก่บุคคลเหล่านั้นน่ะซิ ผู้ใดผู้หนึ่งคิดว่า จะฆ่าพระผู้เป็นเจ้า โทษปาณาติบาตก็เป็นอันไม่มีน่ะซิ ถ้าบุคคลตัวตนเราเขาไม่มีอยู่แล้ว ก็ใครเล่าจะถวายจีวร อาหาร ที่อยู่ ยา และที่ใส่ยา แก่พระผู้เป็นเจ้า ใครเล่าจะบริโภคสิ่งเหล่านั้น ใครเล่ารักษาศีล ใครเล่ารู้ไปในพระไตรปิฎก ใครเล่าเจริญภาวนา ใครเล่ากระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผล นิพพาน ใครเล่ากระทำปาณาติบาต ใครเล่ากระทำอทินนาทาน ใครเล่าประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร ใครเล่ากล่าวมุสาวาท ใครเล่าดื่มสุราเมรัย ใครเล่ากระทำอนันตริยกรรมทั้ง ๕ เพราะฉะนั้น ถ้าสัตว์บุคคลตัวตนไม่มีแล้ว กุศลก็ต้องไม่มี อกุศลก็ต้องไม่มี ผู้ทำหรือผู้ให้ทำซึ่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มี ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดฆ่าพระผู้เป็นเจ้าโทษปาณาติบาตก็ไม่มีแก่ผู้นั้น เมื่อถืออย่างนั้นก็เป็นอันว่าอาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มีอุปัชฌาย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี อุปสมบทของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี คำใดที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า พวกเพื่อนพรหมจรรย์เรียกอาตมภาพว่า " นาคเสน " อะไรเป็นนาคเสนในคำนั้น เมื่อโยมถามพระผู้เป็นเจ้าอยู่อย่างนี้ พระผู้เป็นได้ยินเสียงถามอยู่หรือไม่ ?” (มิลินท.๑/๒)
        ข้อความทั้งหมดนี้สื่อให้เห็นว่า มนุษย์ทั่วไปก็อย่างนี้มุ่งหมายเอาแต่ว่า ใครเป็นเจ้าของ ใครเป็นผู้กระทำ ใครเป็นผู้รับผลการกระทำ และก็ใคร ๆๆๆ ไปเรื่อย จนไม่อาจจะถอยคืน ความไม่มีใคร หรือความไม่มีตัวตนได้อีกเลย ในโมลิยผัคคุนสูตรแห่งสุตตันตปิฎกก็เช่นกัน พระโมลิยผัคคุนะเมื่อได้ฟังเกี่ยวกับอาหารที่สัตว์ทั้งหลายต้องทานเข้าไป ก็เกิดความสงสัยว่าใครเป็นผู้ทานอาหารเหล่านั้น กล่าวคือ ใครทานกวฬิงการาหาร ผัสสาหาร วิญญาณาหาร และมโนสัญเจตนาหาร จึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “โก นุ โข ภนฺเต วิญญาณาหารํ อาหาเรติ” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครหนอย่อมกลืนกินวิญญาณหาร” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “น กลฺโล ปญฺโหติ ภควา อโวจ อาหาเรตีติ อหํ น วทามิ อาหาเรติ” ปัญหานี้ไม่สมควรถาม เรามิได้กล่าวว่า ย่อมกลืนกิน” (สํ.นิ.๑๖/๓๒/๑๓)
        ความสำคัญอยู่ตรงนี้นี่เอง ในพระพุทธศาสนานั้นมุ่งแยกแยะให้เห็นถึงเหตุปัจจัยทั้งสายเกิดและสายดับ ในส่วนที่เป็นระดับปรมัตถ์ ในระดับสมมตินั้นถ้ามุ่งหมายในการสื่อสารก็ไม่ต้องนำมาปะปน ในที่นี้ท่านพระโมลิยผัคคุนะ พอได้ยินเรื่องอาหารที่พระพุทธเจ้ามุ่งหมายในระดับปรมัตถ์ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วอาหารเหล่านั้นใครเป็นคนทาน เพราะในเรื่องอาหารที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นไม่ได้มีคำว่า คนกลืนกิน แต่ได้ตรัสว่า อาหารนั้นมีอะไรเป็นแดนเกิด ไม่เกี่ยวกับการรับประทานเข้าไป เพราะปัญหาเรื่องใครทานอาหารนั้นเป็นการตั้งสมมติฐานผิดในส่วนนี้และไม่จำเป็นต้องหาใครมาเป็นผู้ทาน แต่ต้องการทราบว่า อาหารเหล่านั้นมีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ต้องกินอาหาร ก็พบว่า มีตัณหาเป็นเหตุเป็นปัจจัย
พระพุทธเจ้าจึงตรัสชี้แจงคำถามที่ไม่ควรถามว่า ใครเป็นผู้ทาน หรือใครเป็นผู้เสวย แต่คำถามที่ควรถามคือ “วิญญาณาหารมีเพื่ออะไร...อะไรเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี...อะไรเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี...อะไรเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี...อะไรเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี นี่จึงเป็นปัญหาสมควรถาม...” เพราะจะทำให้เห็นกระบวนการเกิดอาหารและการดับอาหารไปในที่สุด
เรื่องการตั้งคำถามผิดนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าหากตั้งคำถามผิดย่อมทำให้เกิดการผิดประเด็นไปกันอีกไกล และมีการต่อประเด็นนั้นไปอีก ก็ยิ่งทำให้ไกลไปกันใหญ่ เปรียบเหมือนเกมการต่อคำกระซิบ จากเรื่องหนึ่งอาจนำไปสู่เรื่องอื่นได้ เรื่องความเชื่อการมีตัวตนเป็นผู้เสวยนี้ก็คงเช่นเดียวกันเนื่องจากมีการตอบคำถามต่อการตั้งประเด็นผิดมานานจนทำให้ความเป็นอัตตาและการยึดมั่นอัตตากลายเป็นของคู่โลกไปในที่สุด แต่พระพุทธเจ้านั้นไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าหากมีการตั้งคำถามผิดประเด็นไปพระพุทธองค์จะทักและให้เปลี่ยนคำถามใหม่ ดังที่มีข้อความในพระสูตรข้างต้น นอกจากนั้น ยังมีปริพาชกชื่อติมพรุกขะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและตั้งคำถามผิดเช่นกัน ดังในติมพรุกขสูตรว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม สุขและทุกข์ ตนกระทำเองหรือ...ผู้อื่นกระทำให้หรือ...ตนเองทำด้วย ผู้อื่นกระทำด้วยหรือ (ทั้ง ๒ ฝ่าย)...มิใช่ทั้งตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำหรือ (เกิดขึ้นลอย) ...สุขทุกข์ไม่มีหรือ...พระโคดมไม่รู้ ไม่เห็นสุขและทุกข์หรือ...”
สำหรับคำตอบนี้ถ้าหากหมายเอาดังที่ติมพรุกขะประสงค์ว่ามีผู้เสวยเวทนา พระพุทธศาสนาไม่เข้าไปตกอยู่ในเกมความเชื่อนี้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบว่า “เมื่อบุคคลถืออยู่ว่า นั่นเวทนา นั่นผู้เสวยเวทนา ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ตนกระทำเอง เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทง อยู่ว่าเวทนาอย่างหนึ่ง ผู้เสวย เป็นอีกคนหนึ่ง ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ผู้อื่นกระทำให้ ติมพรุกขะ ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ...” (สํ.นิ.๑๖/๕๔-๕๕/๒๒-๒๓)
การตั้งหลักไว้ที่ต้องมีผู้เสวยเวทนา ผู้เสวยผลของเวทนา ที่เป็นตัวตนนั้นนำไปสู่การยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อแห่งสัสสตทิฏฐิได้ง่าย เมื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วย่อมไม่สามารถออกจากวงจรแห่งความคิดผิดนั้นได้โดยง่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่สอนธรรมในพระพุทธศาสนาจำเป็นต้องระมัดระวังให้มาก อย่าตกอยู่ในวงวนของคำถามที่ผิดและนำไปสู่การสอนและการตอบที่ผิด จะต้องยึดหลักแห่งปฏิจจสมุปบาทให้ดี เพราะหลักนี้สามารถรักษาหลักทางสายกลางในพระพุทธศาสนาได้ ไม่ตกไปทั้งที่เป็นความมี (อัตถิ) และความไม่มี (นัตถิ) แนวคิดที่เชื่อว่าโลกมีอยู่ เป็นแนวคิดของสัสสตทิฏฐิ ส่วนแนวคิดว่าโลกไม่มี เป็นแนวคิดของอุจเฉททิฏฐิ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระกัจจานโคตรว่า “ทฺวยนิสฺสิโต โขยํ กจฺจาน โลโก เยภุยฺเยน อตฺถิตญฺจ นตฺถิตญฺจ” (สํ.นิ.๑๖/๔๓/๑๗) “กัจจานะ โดยมากโลกนี้อาศัยที่สุด ๒ อย่าง คือ (๑) ความมี (๒) ความไม่มี” และตรัสไว้เป็นพุทธพจน์ที่ชัดเจนว่า “ทุกฺขเมว อุปฺปชฺชมานํ อุปฺปชฺชติ ทุกฺขํ นิรุชฺฌมานํ นิรุชฺฌตีติ น กงฺขติ น วิจิกิจฺฉติ อปรปฺปจฺจยา ญาณเมวสฺส เอตฺถ โหติ” (สํ.นิ.๑๖/๔๓/๑๗)  (พระอริยสาวกเมื่อ) “ไม่เคลือบแคลงสงสัย ไม่สงสัยว่า ‘ทุกข์นั้นแล เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับ ย่อมดับไป อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องโดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย”
ในข้อความนี้หมายความว่า หมู่ชนในโลกนี้ยังติดอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นแนวคิดทั้ง ๒ ส่วนนี้ อย่างเหนียวแน่นต่อเนื่อง ผู้ที่เห็นว่าโลกมี ก็ยืนยันในส่วนของตน ผู้ที่เห็นว่าโลกไม่มี ก็ยืนยันในส่วนของตน จึงเป็นต้นเหตุของ ๒ แนวคิดหลักของโลก คือ โลกเที่ยงและโลกศูนย์ แต่พระอริยะทั้งหลายนี้ไม่เข้าไปยึดทางสุดโต่งทั้ง ๒ สายที่โลกเขายึดกันอยู่ พระอริยะนั้นเดินตามทางสายกลางคือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี...ในทางกลับกัน เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ...นี่เป็นมัชเฌนธรรมที่ไม่ตกไปในทางแห่งความมีและไม่มี โดยการมองเห็นสายเกิดด้วยปัญญาอันชอบ ย่อมป้องกันแนวคิดสัสสตทิฏฐิ เมื่อมองเห็นสายดับด้วยปัญญาอันชอบ ย่อมป้องกันการตกไปในอุจเฉททิฏฐิ
เมื่อตั้งอยู่บนฐานที่ถูกต้องแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามฐานที่ถูกต้องด้วย เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ การมีสติ มีสัมปชัญญะ มีอาตาปะ ต่อจุดกระทบอันได้แก่ ตาเห็นรูป ก็ไม่เข้าไปผูกจิตชอบหรือไม่ชอบ เห็นชอบด้วยญาณถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของตาและรูป ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่านั่นเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา เป็นแต่สักว่าผัสสะ เป็นสักแต่ว่าเห็น ดุจดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนแด่พระพาหิยะว่า “ตสฺมาติห เต พาหิย เอวํ สิกฺขิตพฺพํ ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ภวิสฺสติ สุเต สุตมตฺตํ ภวิสฺสติ มุเต มุตมตฺตํ ภวิสฺสติ วิญฺญาเต วิญฺญาตมตฺตํ ภวิสฺสติ...” (ขุ.อุ.๒๕/๔๙/๗๔) ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็น จักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง...หลังจากที่พระพาหิยะพิจารณาเช่นนั้นแล้วจึงบรรลุธรรมถึงที่สุดแห่งทุกข์ นี่คือการเข้าใจถูก ไม่ตั้งคำถามผิดจนนำไปสู่ความพลาดจากทางสายกลาง



จบมิจฉาปัญหาปกาสินี


วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

๓. อาหารปกาสินี

ทั้งสามภูมิสัตว์หาแต่อาหาร
เป็นอาการตัณหาความกระหาย
เพื่อเติมเต็มชีวะก่อนจะตาย
แต่เมื่อได้เสริมสารชีวันคง
กวฬิงการะผัสสาหาร
อีกวิญญาณเจตนาก็มาส่ง
อนุเคราะห์หมู่สัตว์ตามชั้นลง
จนใหลหลงภาวะอัตตาตน


          อาหารชื่อว่าหนึ่ง” ที่ชื่อว่า หนึ่ง เพราะสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงดำรงอยู่ด้วยอาหาร “สพฺเพ สตฺตา    อาหารฏฺฐิติกา” (ที.ปาฏิ.๑๑/๒๒๖/๑๙๕) ที่นำข้อความนี้ขึ้นต้นก็เพราะอาหารเป็นเรื่องสำคัญในกาลทุกเมื่อ โดยเฉพาะโลกยุคปัจจุบัน ปัญหาเกิดขึ้นทั้งทรัพยากรเกี่ยวกับอาหารจะไม่เพียงพอเนื่องจากประชากรของโลกเพิ่มขึ้น ปัญหาวัสดุสารปนเปื้อนอาหาร การใช้วัสดุเติมแต่งสีสัน บรรจุภัณฑ์ การใช้สารในการเก็บรักษาอาหาร การอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ การสร้างอาหารขึ้นด้วยสารเคมี รวมทั้งอาหารเสริมต่าง ๆ ล้วนเป็นปัญหาเกี่ยวกับอาหารทั้งสิ้น นอกจากนั้น ยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับนิสัยการทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นิสัยการทานอาหารเพื่อสังคม และเป็นสารตั้งต้นให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บประการต่าง ๆ ด้วย จำเป็นอย่างยิ่งต้องสนใจอาหารให้มากขึ้นจริงๆ มิฉะนั้นก็กลายเป็นโรค “โอษฐภัย” คือภัยอันเกิดจากการกินหรือรับประทาน
          สำหรับอาหารในทัศนะของพระพุทธศาสนานั้นได้รับการจัดให้เป็นหนึ่ง เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลายที่วนเวียนอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ทั้ง ๓๑ ภูมินี้ล้วนต้องอาศัยอาหารทั้งสิ้น แต่อาหารสำหรับแต่ละภูมินั้นแตกต่างกันไปตามประเภทของอาหารที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในสังยุตนิกาย อาหารสูตรว่า “จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อาหารา ภูตานํ วา สตฺตานํ ฐิติยา สมฺภเวสีนํ วา อนุคฺคหาย...กวฬีกาโร อาหาโร โอฬาริโก วา สุขุโม วา ผสฺโส ทุติโย มโนสญฺเจตนา ตติยา วิญฺญาณํ จตุตฺถํ” ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้วหรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด...คือ
๑. กวฬิงการาหาร (อาหาร คือ คำข้าว) ทั้งหยาบและละเอียด
๒. ผัสสาหาร (อาหาร คือ ผัสสะ)
๓. มโนสัญเจตนาหาร (อาหาร คือ มโนสัญเจตนา)
๔. วิญญาณาหาร (อาหาร คือ วิญญาณ) (สํ.นิ.๑๖/๒๘/๑๒)
          สัตว์ที่เกิดในกามภพมีอาหารครบทั้ง ๔ ประการนี้ เทพและพรหมทั้งหลายมีอาหาร ๓ ประการ ขาดแต่กวฬิงการาหาร ส่วนพรหมอสัญญสัตตะเป็นอเหตุกะไม่มีอาหารไม่มีผัสสะ มีฌานเป็นอาหาร ดุจดังสัตว์นรกมีปาปกรรมเป็นอาหาร
กล่าวถึงเฉพาะมนุษย์ที่มีอาหารทั้ง ๔ เป็นอาหาร แต่มนุษย์ให้ความสนใจแต่อาหารที่หยาบประเภทเดียว ได้แก่ อาหารที่ให้สารอาหารทุกประการ ซึ่งเป็นเหตุให้มนุษย์ได้รับพิษจากอาหารที่เหลืออีก ๓ ประการ ได้แก่ อาหารที่ตก ณ จุดกระทบทำให้เกิดปฏิกิริยาเชิงการดำรงชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส ใจรับอารมณ์ นี่คือผัสสาหาร ความตั้งใจทุกประการเป็นมโนสัญเจตนาหาร ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ การรับรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นทางอายตนะเป็นวิญญาณาหารทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ สังเกตได้จากคนที่ไม่ได้ทานข้าวปลาอาหารเพราะตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่งอย่างมุ่งมั่น แสดงถึงกำลังทานมโนสัญเจตนาหาร หรือคนที่รู้สึกเพลิดเพลินไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่ทานอาหารได้ กำลังเสพผัสสาหาร หรือคนที่รับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ทั้งสุข หรือทุกข์ ก็ไม่อาจทานข้าวปลาอาหารได้ เพราะได้ทานวิญญาณาหารเข้าไปแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ประเด็นอยู่ที่ว่าเฉพาะช่องทางเดียวคือ ต้องแสวงหาอาหารคือ โภชนาการทั้งหลาย มนุษย์ก็ตกเป็นทาสอาหารอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว แต่นี่เป็นทาสของอาหารอีก ๓ ช่องทาง จึงทำให้ยากต่อการเป็นอิสระจากผู้บงการให้มนุษย์ต้องทานอาหาร และเป็นทาสอย่างสมบูรณ์
          พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องอาหารไว้เพื่อแสดงให้เห็นสาเหตุแห่งอาหารทุกประการ โดยมีจุดมุ่งหมายให้หาทางออกจากผู้บงการอาหารเสียได้ มิฉะนั้น ก็ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งผู้บงการนี้ แล้วผู้บงการที่ให้สัตว์ทั้งหลายต้องทานและเสพอาหารคืออะไร ในเนื้อหาพระสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อิเม จตฺตาโร อาหารา ตณฺหานิทานา ตณฺหาสมุทยา ตณฺหาชาติกา ตณฺหาปภวา” (สํ.นิ.๑๖/๒๙/๑๒) อาหาร ๔ อย่างนี้มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด”
จากข้อความนี้ก็ทำให้เห็นว่า เมื่อจับต้นตอของผู้บังคับบัญชาผลักดันให้สัตว์ทานอาหารได้แล้วก็สืบหาต้นตาของผู้บงการอีกทีว่าอะไรเป็นต้นตอของตัณหาอีกที ก็พบว่า คือ เวทนา คือ ผัสสะ คือ สฬายตนะ สืบเนื่องขึ้นไปจนถึงต้นตอใหญ่คือ อวิชชา เมื่อพบสาเหตุและต้นตออย่างนี้ก็ทำให้มีหนทางในการออกจากวงจรแห่งทุกข์ได้ด้วยการเข้าสู่กระบวนการสายดับ พระพุทธศาสนามุ่งหมายให้ชีวิตพ้นจากทุกข์ ไม่มีจุดมุ่งหมายอื่นอีก เพราะทั้งหมดของพระพุทธศาสนาคือ เรื่องทุกข์ กับการดับทุกข์ หรือเรียกว่า สายเกิด กับสายดับเท่านั้น
พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นถึง ๔ สิ่งที่ประเสริฐไว้มรรควรรคแห่งขุททกนิกาย ธรรมบทว่า
มคฺคานฏฺฐงฺคิโก มคฺโค     สจฺจานํ จตุโร ปทา
วิราโค เสฏฺโฐ ธมฺมานํ      ทิปทานญฺจ จกฺขุมา. (ขุ.ธ.๒๕/๓๐/๔๖)
บรรดาทางทั้งหลาย ทางมีองค์ ๘ ประเสริฐ, บรรดาสัจจะทั้งหลาย บท ๔ ประเสริฐ,
บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะประเสริฐ, บรรดาสัตว์ ๒ เท้าทั้งหลาย พระตถาคตผู้มีจักษุประเสริฐ
          ในที่สุดแห่งการแสดงสาเหตุแห่งอาหารจากนั้นพระพุทธเจ้าตรัสความเป็นเลิศแห่งธรรม คือ วิราคะไว้ในอาหารสูตร ในฐานะธรรมที่เป็นความไม่เหลือแห่งอวิชชาด้วยวิราคะธรรม สังขารจึงดับ “อวิชฺชาย เต̣วว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ...” (สํ.นิ.๑๖/๒๙/๑๒) เหตุใดวิราคะธรรมจึงเป็นสำคัญ เพราะวิราคะธรรมเป็นมรรค มีวิมุติเป็นผล ในขณะที่ผู้เข้ากระแสแห่งพระนิพพานนั้นมีความเห็นชอบในอริยสัจ ๔ ย่อมคลายออกจากมิจฉาทิฏฐิทั้งปวง คลายออกจากกิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาทิฐินั้น คลายออกจากการยึดมั่นในขันธ์ และคลายออกจากสรรพนิมิตภายนอก มีวิราคะ (มรรค) มีวิราคะ (นิพพาน) เป็นอารมณ์ มีวิราคะเป็นโคจร เข้ามาประชุมในวิราคะ ตั้งอยู่ในวิราคะ ประดิษฐานอยู่ในวิราคะ คือทั้งนิพพานและธรรมที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ (ขุ.ปฏิ.๓๑/๕๘๘/๓๙๒)
          เมื่อใดก็ตามพระโยคาวจรเข้าไปพิจารณาเห็นความเป็นหนึ่งแห่งอาหาร ทั้งที่เป็นตัวอาหารและปัจจัยแห่งอาหารก็ดี พิจารณาสัตว์ต้องอาศัยอาหารเป็นไปก็ดี ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในความหน่าย (นิพพิทา) ได้ เพราะผู้พิจารณาย่อมเห็นเหตุแห่งอนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยงในอาหารและเห็นอนิจจตาในสังขารทั้งหลายที่เข้าใจกันว่าสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้โดยลำดับและบรรลุความบริสุทธิ์ในปรมัตถธรรมในที่สุด
          ด้วยเหตุนี้ในพระพุทธศาสนานั้นมุ่งเน้นให้บริโภคและเสพอาหารด้วยสติ ด้วยอาการแห่งปฏิกูลของอาหาร “อาหาเร ปฏิกูลสัญญา” ไม่เข้าไปหลงใหลในอาหารทั้ง ๔ ประเภท ความเป็นปฏิกูลแห่งอาหารที่พอกระทบกับอัตภาพนี้เท่านั้นก็กลายเป็นของไม่น่าหลงใหล น่าใคร่ น่าพอใจ ไม่ว่าจะกลายเป็นสารอาหาร หรือมีกระบวนการย่อย รวมถึงกระบวนการแห่งอาหารอื่น ๆ แต่การบริโภคอาหารทั้งมวลนั้นเพื่อความยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็เมื่อไม่เข้าไปหลงใหลในอาหาร เวทนาที่เป็นแดนเกิดของตัณหาก็ดับลง ตัณหาก็ส่งเชื้อไปสู่ความอยากอาหารไม่ได้อีกต่อไป เมื่อนั้นวงจรสายดับจึงปรากฏ เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์
  

จบอาหารปกาสินี