วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560






๖. ธัมมีกถาปกาสินี

เพียงวาจากล่าวคำเป็นธรรมหรือ
หรือแท้คือคำกล่าวคาดเดาส่ง
คำเสียดแทงมักขะมานะคง
คำไม่หลงเป็นธรรมเพราะคำใคร
วจีธรรมคำพูดพิสูจน์ศัพท์
เพื่อรองรับปฏิบัติยึดมั่นไหม
ทุกองค์ธรรมตามควรทุกส่วนไป
วิราคะเลื่อนไหลนั่นสายธรรม
เหตุปัจจัยเกิดดับมิกลับเกิด
นั่นคือเลิศกถามิพาต่ำ
ชื่อนิพพานวาจาครองค่าคำ
ทุกคืนค่ำคำกล่าวเพื่อเบาบาง

          การเป็น “นักร้อง” “นักพูด” “นักปลุกระดม” “นักบรรยาย” “นักเทศน์” ลักษณะความสามารถพิเศษทั้ง ๕ นี้ต้องกำหนดให้ชัด เพราะบางครั้งนำไปปะปนกันจนทำให้เกิดความสับสนในตัวผู้พูดเอง และในบทบาทที่จะพึงทำ พึงเป็น วาจาหรือการพูดเป็นศาสตร์และศิลป์ประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จในชีวิต ผู้ที่มีความรู้ดี แต่ไม่มีวิธีพูด ก็ไม่สามารถสร้างสำเร็จขั้นสูงได้ ในทางกลับกัน ผู้ไม่มีความรู้ดี แต่มีวิธีพูดจนดูดี ก็สามารถสร้างความเชื่อให้กับสังคมจนตนเองได้รับการยกย่องได้ ตัวอย่างมีให้เห็นจำนวนมาก วาทะของหลวงวิจิตรวาทการถึงกับบอกว่า “ถ้าท่านลุกขึ้นยืนพูดต่อหน้าที่ฝูงชนไม่ได้ อย่าปรารถนาเป็นผู้นำ”  ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ที่มีในตนให้กับผู้อื่นได้รับรู้และเกิดความซาบซึ้ง รู้ตาม และเห็นตามได้มิใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจึงเกิดวิชาวาทศิลป์ หรือวาทการขึ้น เพื่อจะได้รู้หลักภาษาและสื่อสารได้อย่างดี ดังคำเรียกขานผู้ที่มีความเก่งในการใช้เสียงในหลากหลายลักษณะตามที่ยกไว้เบื้องต้น ดังนี้
          “นักร้อง” ผู้ที่เป็นนักร้องนั้นจัดอยู่ในผู้มีศิลปะในการสื่อสารขั้นสูงที่สามารถใช้เสียงประกอบทำนอง ดนตรีแล้วทำให้ผู้คนทั้งหลายฟังจนติดหู ประทับใจ รับเอาเพลงนั้นไว้ในสัญญาจนขับร้องตามได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นช่วงอารมณ์สนุก อารมณ์เศร้า อารมณ์ซึ้ง อารมณ์รัก ก็มักนึกถึงบทเพลงนั้น ๆ ขึ้นมา คำของเขากลายเป็นตำนานในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้ เช่น พรหมลิขิต สิบหกปีแห่งความหลัง มนต์เพลงคาราบาว เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้ที่อยู่ในยุคนั้น ๆ จำได้ดี แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของคำที่นักร้องนำมาใช้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต
“นักพูด”  ประเภทนี้จะมีมาก เพราะใคร ๆ ก็พอจะเป็นนักพูดได้ กล่าวคือ พูดแล้วทำให้คนติด อยากฟัง อยากติดตามอีกเมื่อเขาพูด นักพูดที่ไปถึงระดับที่สามารถเป็น “นักทอลค์โชว์” ได้นับว่าเป็นผู้มีศิลปะในการดึงคนให้คล้อยตามสิ่งที่เขาพูดได้อย่างน่าฟัง และทำให้คนจำนวนมากมีส่วนร่วมกับคน ๆ หนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้คำ ผูกคำ เล่นคำ เลียนคำ จนผู้ฟังนั้นทั้งหัวเราะ ทั้งซาบซึ้ง ร้องให้ ทั้งคล้อยตาม ไม่เพียงแต่คำเท่านั้น แม้แต่กิริยาอาการเขาก็แสดงออกไปกับคำ เขาจึงเป็นนักแสดงอยู่ในตัวด้วย นับได้ว่า คำของนักพูดนี้ติดหูอยู่ไม่หาย เช่น “ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย เพราะไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” หรือ คำว่า “การกระทำดังกว่าคำพูด” “ผมเป็นคนเดินช้า แต่ผมไม่เคยเดินถอยหลัง” “จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้” ทุกครั้งที่เจอปัญหา ให้มองว่ามันเกิดขึ้นมาเพื่อสอนอะไรเรา มันอยากให้เราเรียนรู้อะไรจากมัน” “ถ้าคุณหัวเสีย คุณจะเสียหัว” เป็นต้น คำเหล่านี้เป็นวลีเด็ดของเหล่านักพูดทั้งหลายที่ต้องการให้คนติดในวาทะของเขาจนกลายเป็นคำมีอิทธิพลต่อวิถีคิดและวิธีทำ
“นักปลุกระดม” นักพูดประเภทนี้มักมาในสายการเมืองเป็นหลัก เพราะถ้อยคำที่เขาใช้นั้นนำไปสู่การต่อสู้ฝ่าฟัน เอาชนะคู่ต่อสู้อีกฝ่ายหนึ่ง ต้องการปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ ต้องการได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ต้องการดำรงอยู่ในอำนาจนาน ๆ คำของนักการเมืองจึงเป็นเรื่องของการเสียดสี เป็นเรื่องของการปลุกเร้า กระตุ้นต่อราคะ อยากได้ อยากรวย กระตุ้นโทสะ อยากทำลาย ขจัดคู่แข่ง กระตุ้นโมหะ กล่อมให้ทุกคนลุ่มหลงในอนาคต เช่นคำว่า “ข้าพเจ้ายอมทรยศโลก ดีกว่าให้โลกทรยศข้าพเจ้า” “ถึงตาย ก็พูดไม่ได้” “พลังเป็นของประเทศชาติ อำนาจเป็นของปัจเจกชน” “การเมืองไม่มีมิตรและศัตรูถาวร” “หน้าที่ต่างกัน สัมพันธ์เหมือนเดิม” “ขอกันกินมากกว่านี้” “ประชาธิปไตยคือการให้โอกาสเลือกคนที่คุณไม่ชอบน้อยที่สุด” เป็นต้น ทุกคำนั้นจะปลุกให้เกิดความฮึกเหิมเพื่อต่อสู้ ฝ่าฟันไปให้ได้อำนาจมาทั้งนั้นจนทำให้มีวลีเด็ดเชิงภาษาบาลีว่า “วโส อิสฺริยํ โลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก”
“นักบรรยาย” คำของนักบรรยายก็จะเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดเชิงความรู้ที่ตนมีอยู่ให้มาก จึงมีคำมักกล่าวว่า มือใหม่พูดทุกอย่างที่มี มือเก่าพูดทุกอย่างที่เตรียม มือเก๋าพูดเฉพาะที่อยากพูด มือเจ๋งพูดเฉพาะที่เวลาอำนวย มือเซียนพูดเฉพาะที่ผู้อยากฟัง คำกล่าวของนักบรรยายโดยมากเป็นคำที่มีในหลักวิชาที่กำหนดไว้ เป็นหัวข้อ เป็นแนวทาง เป็นกฎเกณฑ์ กติกา เป็นคำสอนทั้งของศาสนาและของบุคคลสำคัญทั่วไป เป็นทฤษฎี คำของนักบรรยายจึงราบเรียบ แต่ปนไปด้วยเนื้อหาสาระที่มุ่งหมายผู้เก็บเอาไปตามที่จะเก็บได้ คำของนักบรรยายมักมีว่า “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน” “เรื่องนี้ผมคิดว่า” “หลักเกณฑ์ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า” “จากหลักฐานข้อมูลพบว่า” เป็นต้น โดยมากกลุ่มนี้จะมีอยู่ ๒ มาตรฐานคือ อ้างอิงจากที่ใดที่หนึ่ง และขอใช้ความคิดตนเอง อย่างนี้ไปจนจบเรื่อง
“นักเทศนา” เป็นนักแสดงธรรม คำของนักเทศนา คือ คำที่เป็นธรรม การแสดงธรรมเป็นการแสดงคำสำคัญที่สื่อให้ผู้ฟังนั้นเข้าใจในเนื้อหาแห่งธรรมที่เป็นจุดหมายสูงสุดในศาสนา ถ้อยคำของนักแสดงธรรมจึงมีลักษณะพิเศษมุ่งเน้นทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เรียกว่า ธัมมีกถา คือ ถ้อยคำอันประกอบด้วยธรรม เบื้องต้นผู้แสดงต้องยึดถือหลักแห่งการแสดงธรรม ๕ ประการ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ที่กราบทูลเรื่องการแสดงธรรมของพระอุทายีที่วัดโฆสิตารามว่า “อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่กระทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่นพึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ในตนแล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น คือ ภิกษุภิกษุพึงตั้งใจว่า
๑. เราจักแสดงไปตามลำดับ (อนุปุพฺพิกถํ)
๒. เราจักยกเหตุผลแสดงให้เข้าใจ (ปริยายทสฺสาวี)
๓. เราจักแสดงไปด้วยจิตเมตตา (เอ็นดู) (อนุทยตํ ปฏิจฺจ)
๔. เราจักไม่แสดงเพราะเห็นแก่อามิส (น อามิสฺสนฺตโร)
๕. เราจักแสดงไม่กระทบตนและผู้อื่น (อตฺตานญฺจ ปรญฺจ อนุปหจฺจ) (องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๕๙/๒๐๖)
เมื่อผู้แสดงธรรมประกอบด้วยหลักยึด ๕ ประการแล้ว คำใดล่ะที่นับว่าเป็นธรรม เพราะธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมีจำนวนมาก แต่สำหรับผู้ที่จะเป็นนักเทศนาได้นั้นต้องเข้าใจจุดนี้เสียก่อน มิฉะนั้นก็จะเป็นได้แค่นักร้อง นักพูดคำคม นักปลุกระดม หรือนักบรรยาย เท่านั้น
พระภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “ผู้ที่จะเป็นธรรมกถึกได้ ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง” พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า “ชรามรณสฺส เจ ภิกฺขู นิพฺพิทาย วิราคาย นิโรธาย ธมฺมํ เทเสติ ธมฺมกถิโก ภิกฺขูติ อลํ วจนาย...อวิชฺชาย เจ ภิกฺขู นิพฺพิทาย วิราคาย นิโรธาย ธมฺมํ เทเสติ ธมฺมกถิโก ภิกฺขูติ อลํ วจนาย...” (สํ.นิ.๑๖/๔๖/๑๘) หมายความว่า “ภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุแสดงธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับชราและมรณะ...เพื่อดับอวิชชา ควรเรียกได้ว่า “ภิกษุเป็นธรรมกถึก”
คำอันประกอบด้วยธรรมก็ดี ผู้แสดงธรรมก็ดี ย่อมขึ้นอยู่กับการคำว่า “ธรรม” ดังนั้น ธรรมในที่นี้จึงมุ่งหมายเอาปฏิจจสมุปบาทในสายดับเป็นฐาน ผู้ใดแสดงให้เห็นสายดับของวงจรชีวิต คือ ปฏิจจสมุปบาท โดยปฏิโลม ที่ทำให้ผู้ฟังนั้นเห็นความจำเจของโลกที่หมุนวนไปมาอย่างนั้นจนไม่มีที่สิ้นสุด จนเกิดความปล่อยวางจากการยึดมั่นถือมั่นโลก คือ ขันธ์นี้ นี่จึงนับได้ว่า ผู้กล่าวธัมมีกถา เป็นธรรมกถึกโดยแท้ เพราะเมื่อกล่าวธรรมเช่นนี้ย่อมนำไปสู่การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน) ก็คือ การปฏิบัติที่นำไปสู่ความเบื่อหน่าย คลายกำหนด ดับชรามรณะ ดับอวิชชาต่อไป เมื่อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ย่อมนำไปสู่ที่สุดแห่งการปฏิบัติธรรม ก็คือ การดำรงอยู่ในนิพพานปัจจุบัน (ทิฏฺฐธมฺมนิพฺพานปยุตฺโต)
เนื่องด้วยว่า ผู้ที่แสดงธรรมมิได้เน้นจุดนี้จึงทำให้พระพุทธศาสนามีแต่นักพูดเต็มไปหมด เพราะเมื่อมีแต่นักพูดก็จะพบแต่ถ้อยคำไพเราะทั้งหลายเต็มไปหมด โดยเฉพาะปัจจุบันนี้มีการนำคำคมของบุคคลสำคัญ ๆ มาโพสต์ลงในไลน์ ในสื่อโซเชียลมีเดียทุกวัน คำเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นคำของนักพูดที่ประดิดประดอยขึ้นจนงดงาม แต่คำเหล่านั้นไม่นับว่าเป็น “ธัมมีกถา” เพราะไม่นำไปสู่องค์ประกอบและกระบวนการดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ธรรมที่แสดงให้เห็นความดับไปแห่งชราและมรณะ เพราะความดับไปแห่งชาติ ที่ชาติดับไป เพราะความดับแห่งภพ ที่ภพดับไป เพราะอุปาทานดับไป ที่อุปาทานดับไป เพราะตัณหาดับ...จนถึงที่สังขารดับ เพราะอวิชชาดับ เมื่อถ้อยคำอันประกอบด้วยธรรมอย่างนี้มีอยู่ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี้ก็จะมีอยู่ เมื่อการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี้มีอยู่ ผู้ดำรงอยู่ในนิพพานปัจจุบันนี้ก็จะมีอยู่
การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึง การตั้งสติ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ อยู่กับธรรม คือ อายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นสำคัญ เพื่อดับเสียซึ่งเชื้อที่ส่งทอดไปหากันและกันจนจะเกิดเป็นตัณหา คือ ความชอบ ไม่ชอบ อยาก ไม่อยาก น่าใคร่ ไม่น่าใคร่ น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ น่ายินดี ไม่น่ายินดี มีอุเบกขธรรมกำหนดเห็นความเป็นสัจจะแห่งธรรมเหล่านี้ที่มีแต่ความเกิดดับเป็นธรรมดา เป็นแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คลายความยึดมั่นถือมั่นเสียในธรรมเหล่านั้นเสีย เป็นการสมควรแก่ธรรม คือ สมควรเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เกิดเป็นญาณทัสนะขึ้นในจิต
“ธัมมีกถา” นี้ มิใช่เกิดขึ้นได้โดยง่าย เป็นการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในแต่ละพุทธกาล ของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ ที่ตรัสแสดงไว้ มีเพียงหนึ่งเดียวที่มนุษย์ เทพ มาร พรหม ทั้งหลายในยุคนั้น ๆ จึงพึงได้ยินได้ฟัง จากนั้นก็เป็นยุคพุทธันดรที่จะไม่ได้ยินอีกเลย จะนานเพียงไหนไม่ทราบ คำอื่น ๆ ใดนอกจากนี้นั้นไม่ห่างหายไปจากโลกเลย ตราบใดที่มนุษย์ยังสื่อสารกันได้ ก็จะมีคำคม คำให้กำลังใจ คำไพเราะ คำหวานซึ้ง อยู่เสมอมา แต่คำที่ไม่ประกอบด้วยธรรม นำไปสู่การสิ้นทุกข์เลย จงหันมาให้ความสนใจคำอันประกอบด้วยธรรม (ธัมมีกถา) เพื่อการดำรงอยู่ในนิพพานปัจจุบันกันเถิด


          


จบธัมมีกถาปกาสินี


ไม่มีความคิดเห็น: