วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

๓. อาหารปกาสินี

ทั้งสามภูมิสัตว์หาแต่อาหาร
เป็นอาการตัณหาความกระหาย
เพื่อเติมเต็มชีวะก่อนจะตาย
แต่เมื่อได้เสริมสารชีวันคง
กวฬิงการะผัสสาหาร
อีกวิญญาณเจตนาก็มาส่ง
อนุเคราะห์หมู่สัตว์ตามชั้นลง
จนใหลหลงภาวะอัตตาตน


          อาหารชื่อว่าหนึ่ง” ที่ชื่อว่า หนึ่ง เพราะสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงดำรงอยู่ด้วยอาหาร “สพฺเพ สตฺตา    อาหารฏฺฐิติกา” (ที.ปาฏิ.๑๑/๒๒๖/๑๙๕) ที่นำข้อความนี้ขึ้นต้นก็เพราะอาหารเป็นเรื่องสำคัญในกาลทุกเมื่อ โดยเฉพาะโลกยุคปัจจุบัน ปัญหาเกิดขึ้นทั้งทรัพยากรเกี่ยวกับอาหารจะไม่เพียงพอเนื่องจากประชากรของโลกเพิ่มขึ้น ปัญหาวัสดุสารปนเปื้อนอาหาร การใช้วัสดุเติมแต่งสีสัน บรรจุภัณฑ์ การใช้สารในการเก็บรักษาอาหาร การอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ การสร้างอาหารขึ้นด้วยสารเคมี รวมทั้งอาหารเสริมต่าง ๆ ล้วนเป็นปัญหาเกี่ยวกับอาหารทั้งสิ้น นอกจากนั้น ยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับนิสัยการทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นิสัยการทานอาหารเพื่อสังคม และเป็นสารตั้งต้นให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บประการต่าง ๆ ด้วย จำเป็นอย่างยิ่งต้องสนใจอาหารให้มากขึ้นจริงๆ มิฉะนั้นก็กลายเป็นโรค “โอษฐภัย” คือภัยอันเกิดจากการกินหรือรับประทาน
          สำหรับอาหารในทัศนะของพระพุทธศาสนานั้นได้รับการจัดให้เป็นหนึ่ง เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลายที่วนเวียนอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ทั้ง ๓๑ ภูมินี้ล้วนต้องอาศัยอาหารทั้งสิ้น แต่อาหารสำหรับแต่ละภูมินั้นแตกต่างกันไปตามประเภทของอาหารที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในสังยุตนิกาย อาหารสูตรว่า “จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อาหารา ภูตานํ วา สตฺตานํ ฐิติยา สมฺภเวสีนํ วา อนุคฺคหาย...กวฬีกาโร อาหาโร โอฬาริโก วา สุขุโม วา ผสฺโส ทุติโย มโนสญฺเจตนา ตติยา วิญฺญาณํ จตุตฺถํ” ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้วหรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด...คือ
๑. กวฬิงการาหาร (อาหาร คือ คำข้าว) ทั้งหยาบและละเอียด
๒. ผัสสาหาร (อาหาร คือ ผัสสะ)
๓. มโนสัญเจตนาหาร (อาหาร คือ มโนสัญเจตนา)
๔. วิญญาณาหาร (อาหาร คือ วิญญาณ) (สํ.นิ.๑๖/๒๘/๑๒)
          สัตว์ที่เกิดในกามภพมีอาหารครบทั้ง ๔ ประการนี้ เทพและพรหมทั้งหลายมีอาหาร ๓ ประการ ขาดแต่กวฬิงการาหาร ส่วนพรหมอสัญญสัตตะเป็นอเหตุกะไม่มีอาหารไม่มีผัสสะ มีฌานเป็นอาหาร ดุจดังสัตว์นรกมีปาปกรรมเป็นอาหาร
กล่าวถึงเฉพาะมนุษย์ที่มีอาหารทั้ง ๔ เป็นอาหาร แต่มนุษย์ให้ความสนใจแต่อาหารที่หยาบประเภทเดียว ได้แก่ อาหารที่ให้สารอาหารทุกประการ ซึ่งเป็นเหตุให้มนุษย์ได้รับพิษจากอาหารที่เหลืออีก ๓ ประการ ได้แก่ อาหารที่ตก ณ จุดกระทบทำให้เกิดปฏิกิริยาเชิงการดำรงชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส ใจรับอารมณ์ นี่คือผัสสาหาร ความตั้งใจทุกประการเป็นมโนสัญเจตนาหาร ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ การรับรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นทางอายตนะเป็นวิญญาณาหารทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ สังเกตได้จากคนที่ไม่ได้ทานข้าวปลาอาหารเพราะตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่งอย่างมุ่งมั่น แสดงถึงกำลังทานมโนสัญเจตนาหาร หรือคนที่รู้สึกเพลิดเพลินไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่ทานอาหารได้ กำลังเสพผัสสาหาร หรือคนที่รับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ทั้งสุข หรือทุกข์ ก็ไม่อาจทานข้าวปลาอาหารได้ เพราะได้ทานวิญญาณาหารเข้าไปแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ประเด็นอยู่ที่ว่าเฉพาะช่องทางเดียวคือ ต้องแสวงหาอาหารคือ โภชนาการทั้งหลาย มนุษย์ก็ตกเป็นทาสอาหารอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว แต่นี่เป็นทาสของอาหารอีก ๓ ช่องทาง จึงทำให้ยากต่อการเป็นอิสระจากผู้บงการให้มนุษย์ต้องทานอาหาร และเป็นทาสอย่างสมบูรณ์
          พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องอาหารไว้เพื่อแสดงให้เห็นสาเหตุแห่งอาหารทุกประการ โดยมีจุดมุ่งหมายให้หาทางออกจากผู้บงการอาหารเสียได้ มิฉะนั้น ก็ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งผู้บงการนี้ แล้วผู้บงการที่ให้สัตว์ทั้งหลายต้องทานและเสพอาหารคืออะไร ในเนื้อหาพระสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อิเม จตฺตาโร อาหารา ตณฺหานิทานา ตณฺหาสมุทยา ตณฺหาชาติกา ตณฺหาปภวา” (สํ.นิ.๑๖/๒๙/๑๒) อาหาร ๔ อย่างนี้มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด”
จากข้อความนี้ก็ทำให้เห็นว่า เมื่อจับต้นตอของผู้บังคับบัญชาผลักดันให้สัตว์ทานอาหารได้แล้วก็สืบหาต้นตาของผู้บงการอีกทีว่าอะไรเป็นต้นตอของตัณหาอีกที ก็พบว่า คือ เวทนา คือ ผัสสะ คือ สฬายตนะ สืบเนื่องขึ้นไปจนถึงต้นตอใหญ่คือ อวิชชา เมื่อพบสาเหตุและต้นตออย่างนี้ก็ทำให้มีหนทางในการออกจากวงจรแห่งทุกข์ได้ด้วยการเข้าสู่กระบวนการสายดับ พระพุทธศาสนามุ่งหมายให้ชีวิตพ้นจากทุกข์ ไม่มีจุดมุ่งหมายอื่นอีก เพราะทั้งหมดของพระพุทธศาสนาคือ เรื่องทุกข์ กับการดับทุกข์ หรือเรียกว่า สายเกิด กับสายดับเท่านั้น
พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นถึง ๔ สิ่งที่ประเสริฐไว้มรรควรรคแห่งขุททกนิกาย ธรรมบทว่า
มคฺคานฏฺฐงฺคิโก มคฺโค     สจฺจานํ จตุโร ปทา
วิราโค เสฏฺโฐ ธมฺมานํ      ทิปทานญฺจ จกฺขุมา. (ขุ.ธ.๒๕/๓๐/๔๖)
บรรดาทางทั้งหลาย ทางมีองค์ ๘ ประเสริฐ, บรรดาสัจจะทั้งหลาย บท ๔ ประเสริฐ,
บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะประเสริฐ, บรรดาสัตว์ ๒ เท้าทั้งหลาย พระตถาคตผู้มีจักษุประเสริฐ
          ในที่สุดแห่งการแสดงสาเหตุแห่งอาหารจากนั้นพระพุทธเจ้าตรัสความเป็นเลิศแห่งธรรม คือ วิราคะไว้ในอาหารสูตร ในฐานะธรรมที่เป็นความไม่เหลือแห่งอวิชชาด้วยวิราคะธรรม สังขารจึงดับ “อวิชฺชาย เต̣วว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ...” (สํ.นิ.๑๖/๒๙/๑๒) เหตุใดวิราคะธรรมจึงเป็นสำคัญ เพราะวิราคะธรรมเป็นมรรค มีวิมุติเป็นผล ในขณะที่ผู้เข้ากระแสแห่งพระนิพพานนั้นมีความเห็นชอบในอริยสัจ ๔ ย่อมคลายออกจากมิจฉาทิฏฐิทั้งปวง คลายออกจากกิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาทิฐินั้น คลายออกจากการยึดมั่นในขันธ์ และคลายออกจากสรรพนิมิตภายนอก มีวิราคะ (มรรค) มีวิราคะ (นิพพาน) เป็นอารมณ์ มีวิราคะเป็นโคจร เข้ามาประชุมในวิราคะ ตั้งอยู่ในวิราคะ ประดิษฐานอยู่ในวิราคะ คือทั้งนิพพานและธรรมที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ (ขุ.ปฏิ.๓๑/๕๘๘/๓๙๒)
          เมื่อใดก็ตามพระโยคาวจรเข้าไปพิจารณาเห็นความเป็นหนึ่งแห่งอาหาร ทั้งที่เป็นตัวอาหารและปัจจัยแห่งอาหารก็ดี พิจารณาสัตว์ต้องอาศัยอาหารเป็นไปก็ดี ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในความหน่าย (นิพพิทา) ได้ เพราะผู้พิจารณาย่อมเห็นเหตุแห่งอนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยงในอาหารและเห็นอนิจจตาในสังขารทั้งหลายที่เข้าใจกันว่าสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้โดยลำดับและบรรลุความบริสุทธิ์ในปรมัตถธรรมในที่สุด
          ด้วยเหตุนี้ในพระพุทธศาสนานั้นมุ่งเน้นให้บริโภคและเสพอาหารด้วยสติ ด้วยอาการแห่งปฏิกูลของอาหาร “อาหาเร ปฏิกูลสัญญา” ไม่เข้าไปหลงใหลในอาหารทั้ง ๔ ประเภท ความเป็นปฏิกูลแห่งอาหารที่พอกระทบกับอัตภาพนี้เท่านั้นก็กลายเป็นของไม่น่าหลงใหล น่าใคร่ น่าพอใจ ไม่ว่าจะกลายเป็นสารอาหาร หรือมีกระบวนการย่อย รวมถึงกระบวนการแห่งอาหารอื่น ๆ แต่การบริโภคอาหารทั้งมวลนั้นเพื่อความยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็เมื่อไม่เข้าไปหลงใหลในอาหาร เวทนาที่เป็นแดนเกิดของตัณหาก็ดับลง ตัณหาก็ส่งเชื้อไปสู่ความอยากอาหารไม่ได้อีกต่อไป เมื่อนั้นวงจรสายดับจึงปรากฏ เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์
  

จบอาหารปกาสินี


ไม่มีความคิดเห็น: