๗. นานากรณปกาสินี
สังเกตเหตุแบ่งความแตกต่าง
วิธีวิถีทางที่แก้
ตัณหาแรงผลักเข้ารังแก
พ่ายแพ้ชนะจงมาดู
พาลเล่าหลงเพลินเตลิดล่อง
สุขทุกข์เผากองกายร้องอยู่
เปิดช่องผัสสะทุกประตู
ไม่รู้พรหมจรรย์คืออันใด
บัณฑิตคิดแก้ปิดแผลสด
เวทนาราดรดกำหนดใหม่
ละสิ้นตัณหาตัวพาไป
นี่ใช่ความต่างระหว่างชน
คำกล่าวว่า
“สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” เป็นคำที่ทำให้เห็นชัดว่า
ในยามใดที่เกิดสถานการณ์คับขัน ก็จะมีคน ๒ ประเภทนี้เกิดขึ้น คนประเภทหนึ่งยอมแพ้ต่อเหตุการณ์นั้นแบบที่ยังไม่ได้ลุกขึ้นสู้แต่ประการใด
เพราะคำนวณแล้วว่า สู้ไปก็เสียเวลาเปล่า ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น แม้หากต้องตาย
ก็ตายกันอยู่แล้ว ก็ไม่ใช่เฉพาะเราเท่านั้นที่ต้องเผชิญ คนอื่น ๆ ก็ด้วย
นั่นอาจเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายจึงได้คิดอย่างนั้น
แต่มาดูสถานการณ์ปกติบ้าง ก็สื่อสะท้อนถึงคนประเภทนี้ และมีให้เห็นได้ทั่วไป
โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ยอมกระทำอะไร โดยคิดว่า ธุระไม่ใช่
ปล่อยให้เป็นภาระของใครสักคนดีกว่า เช่น ถนนหน้าบ้านสกปรก ทุกคนจะปิดประตูเงียบ
อยู่แต่ภายในบ้านของตน และบ่นด่าคนที่จะมาเก็บกวาดว่าทำไมไม่มาสักที
กลิ่นก็เหม็นเข้ามาในบ้านของทุกคน รอคอยว่าเมื่อใดกลิ่นจะหายไป ความสกปรกจะหมดไป
ความคิดนี้ก็กระจายจากบ้านไปสู่ชุมชน สู่สังคม และสู่ประเทศ ในที่สุดก็กลายเป็นประเทศที่รอคอยใครสักคนมาแก้ไข
โดยที่ตนเองคอยนั่งดู ยืนดูว่าจะแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็บ่นด่า
ถ้าได้ก็ให้ถือเป็นภาระของเขา เขาต้องทำให้ดี
ในทางกลับกัน
คนอีกประเภทหนึ่งที่ถือว่า ตนเองต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะเป็นระดับไหน ประเด็นอยู่ที่ว่า ตนเองต้องมีส่วนรับผิดชอบ
และต่างก็มีความรู้สึกอย่างนี้ร่วมกัน คำว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ”
ในความหมายนี้ไม่ได้หมายถึงวีรบุรุษเพียงคนใดคนหนึ่ง หรือคนเดียว หรือที่เรียกว่า
บุรุษขี่ม้าขาวมาช่วย เหมือนในภาพยนตร์ แต่หมายถึง การให้ทุกคนเป็นวีรบุรุษ คือ
ทุกคนต้องเตือนตนเองเสมอว่า สถานการณ์เช่นนี้เรานี่แหละคือวีรบุรุษ
บุรุษผู้กล้าออกมาขจัดปัญหาร่วมกัน ดังตัวอย่างก่อน คือ สิ่งสกปรกตกถนนหน้าบ้าน ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว
ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันออกมาช่วยทำความสะอาดถนนหน้าบ้านของตน ๆ
โดยที่ไม่ต้องรอให้ใครสักคนมาทำแล้วยืนดู ทำเฉพาะส่วนที่เป็นบ้านของตน ๆ
เท่านั้นก็พอแล้ว และทุกคนก็เห็นแต่ละบ้านออกมาทำ ใช้เวลาไม่นาน เพียง ๑ ชั่วโมง
ความสกปรกและกลิ่นเหม็นก็หายไปทันที นี่คือ
ความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อสถานการณ์
จากเหตุการณ์นี้ขยายผลไปถึง
สถานการณ์เชิงสังคม บุคคล ๒ ประเภทนี้จะคิดและทำต่างกัน
กรณีสถานการณ์อบรมเลี้ยงดูบุตรหลานของตน คนที่มีเงินทองมากก็คิดแต่จะให้ลูกของตนได้รับการศึกษาสูง
ๆ จะได้มีโอกาสหาเงินทองได้มาก ๆ จะได้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นนักธุรกิจ จะได้มีพนักงานในบริษัทมาก
ๆ และทุกคนก็จะคิดเหมือน ๆ กัน ไม่ว่าจะจนหรือรวย แล้วผลักภาระให้กับผู้ที่มีหน้าที่ดูแลลูกหลานของตน
ตั้งแต่สถานดูแลเด็กก่อนเกณฑ์ จนถึงสถาบันการศึกษา หวังว่า
สถานที่เหล่านั้นจะช่วยบุตรหลานของตนให้เก่ง ให้ดีได้ โดยที่ทุกคนฝากความหวัง
และคอยตำหนิ บ่น ด่า ถ้าหากสถานที่เหล่านั้นทำให้บุตรหลานของตนไม่เป็นไปตามคาดหวัง
นี่คือ กลุ่มคนที่ผลักภาระรับผิดชอบออกไปจากตนเอง นี่คือ คนประเภทหนึ่ง
ส่วนคนอีกประเภทหนึ่ง
ไม่ต้องรอว่าใครจะมาช่วยดูแลบุตรหลานของตน แต่ร่วมมือกันคัดเลือกดูว่า
ใครคือคนที่สังคมและชุมชนลงความเห็นจะเป็นผู้มีความสามารถดูแลบุตรหลานของตนในชุมชนที่ดีสุด
ดีทั้งความรู้และคุณธรรม ถ้าหากหาไม่ได้ในที่ของตน ก็ต้องลงทุนพัฒนาบุคคลเช่นนั้นขึ้นมาเพื่อให้มาช่วยดูแลบุตรหลานของตน
เป็นความร่วมมือกันดูแลบุคลากรในชุมชนให้มีคุณภาพ ทุกคนคิดว่า
บุตรหลานของตนนั้นจะต้องได้รับการดูแลที่ดีที่สุดจากบุคคลที่มีความสามารถที่ดีที่สุดที่ทุกคนลงความเห็น
แล้วมอบหมายให้คน ๆ นั้น เช่น ผู้ที่อบรมเลี้ยงดูบุตรหลานของเขามีความรู้
มีคุณธรรม มีจิตอาสา ก็เลือกบุคคล ๆ นั้น ไม่ต้องรอให้ใครก็ไม่รู้ที่ตนไม่เห็นวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลานมาก่อน
และไม่เคยมีประสบการณ์ดูแลเด็กมาก่อนให้มาดูแล นี่คือ คนที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน
ในอดีตสังคมไทยก็เคยใช้วิธีการนี้ และในประเทศจีนโบราณก็ใช้วิธีการนี้ กล่าวคือ
วิธีคัดเด็กที่มีความรู้และความสามารถในหมู่บ้าน ตำบล
อำเภอของตนเข้าไปเรียนในเมืองหลวง หรือไปสอบรับตำแหน่งในเมืองหลวง เช่น
ตำแหน่งจองหงวน เพื่อให้ได้คนดีมีความรู้กลับมาดูแลหมู่บ้าน ตำบล อำเภอของตน
ความคิดและการกระทำของบุคคล
๒ ประเภทนี้ ในพระพุทธศาสนาแบ่งออกไว้ชัด เรียกว่า
ความคิดและการกระทำระหว่างคนพาลและบัณฑิต อะไรเป็นเกณฑ์พิจารณาลักษณะความแตกต่างของคนทั้ง
๒ ประเภทนี้ ในสถานการณ์ใดก็ตาม ขณะที่ตาเห็นรูป ฟังเสียง สูดกลิ่น ลิ้มรส กายสัมผัส
และอารมณ์กระทบจิต เมื่อตนเองถูกอวิชชาขัดขวาง ตัณหาชักนำไปสู่ความสุข ความทุกข์
ก็เสวยสุขทุกข์เหล่านั้นอย่างไม่มีความรู้ว่าอะไร เป็นอะไร คอยแต่เสวยสุข
เมื่อมีสถานการณ์ที่เป็นสุข ยึดติดความสุข หวงแหนความสุข ป้องกัน กีดกัน ขจัดคู่แข่งความสุขของตน
คอยแต่เสวยทุกข์ เมื่อมีสถานการณ์ที่เป็นทุกข์ อยากหลีกหนี อยากพ้น
โทษทุกคนที่ทำให้ทุกข์ โทษชะตา ฟ้า ดิน กรรม หวังคอยว่าจะมีใครมาช่วยเหลือตน เฝ้าคอยเวลาให้ทุกข์หายไป
ชีวิตของเขาย่อมล่องลอยไปตามกระแสแห่งสังสารวัฏ ไม่พ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย
ความโศก ความร่ำไร รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ กล่าวคือ
ไม่มีความรับผิดชอบต่อตนเองอะไรเลย ปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์ล้วน ๆ เช่นนี้เรียกว่า
ลักษณะแห่งคนพาล
ในทางกลับกันกับอีกบุคคลหนึ่ง
เมื่อสถานการณ์บีบคั้นเพราะตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกสูดกลิ่น ลิ้นลิ้มรส
กายถูกต้องสัมผัส และอารมณ์กระทบจิต เมื่อตนเองถูกอวิชชาขัดขวาง
ตัณหาชักนำไม่สู่ความสุข ความทุกข์เช่นนี้ ก็รู้ก็เข้าใจสถานการณ์ที่บีบคั้นตนอยู่
ไม่หลงใหลไปกับกระแสแห่งอวิชชาตัณหาที่มาบีบคั้นผัสสะและเวทนา เขาตั้งสติกำหนดเห็นกระแสนั้น
เข้าไปจับกระแสแห่งความอยาก ความไม่อยากนั้นไว้ แล้วย่อยสลายกระแสแห่งความอยาก
(อภิชฌา) และไม่อยาก (โทมนัส) นั้นด้วยปัญญา คือ ความเห็นแจ้งว่า เวทนานี้เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย
เวทนาก็สักว่าเป็นเพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
เวทนามีแต่เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เวทนานี้อาศัยผัสสะปรากฏขึ้นเท่านั้น ตั้งอยู่
และดับไป นี่เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ เขาจึงไม่ตกไปสู่วังวนแห่งความทุกข์ในภพ ชาติ
อีก เช่นนั้นเรียกว่า ลักษณะแห่งบัณฑิต ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อยํ โข
ภิกฺขเว วิเสโส อยํ อธิปฺปายโส อิทนฺนานากรณํ ปณฺฑิตสฺส พาเลน ยทิทํ
พฺรหมจริยวาโส” (๑๖/๕๙/๒๕) “ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความแปลกกัน
นี้เป็นความแตกต่างกัน นี้เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างบัณฑิตกับคนพาล กล่าวคือ
การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์”
คำที่มักได้ยินในขณะที่เกิดเหตุการณ์คับขันจากสิ่งบีบคั้นรอบด้าน
ก็คือ “มีสติไว้” เช่นเหตุการณ์รถยางแตกลงเขา ทีมฟุตบอลถูกโหมบุก นักมวยถูกคู่ต่อสู้ได้เปรียบกระหน่ำ
นักสนุ๊กเกอร์ถูกวางสนุ๊กหลายชั้น ข้าศึกโจมตีหลายด้าน ปัญหารุมเร้าหลายเรื่อง รัฐบาลถูกฝ่ายตรงข้ามสร้างสถานการณ์
พลัดตกแม่น้ำไหล แต่ละเหตุการณ์นั้นต้องอาศัยความสามารถขั้นสูงในการพยุงเอาตัวให้รอดจากสถานการณ์นั้น
ๆ ในแต่ละสถานการณ์ไม่มีเวลาให้คิดมากนัก ต้องอาศัยการตัดสินใจ คนพาลก็มักจะปล่อยให้มันเป็นไปตามสภาพ
อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด
แต่บัณฑิตกลับพิจารณาทางที่ดีที่สุดที่จะพ้นจากสถานการณ์นั้น สติเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการเรียกพละกำลัง
ความตื่นตัวขั้นสูงกลับมา จากนั้นก็อาศัยปัญญาดูช่องที่จะพ้นภัย
บางครั้งอาจต้องปล่อยให้ไหลไปก่อนในขณะที่พลัดตกน้ำ เพราะไม่อาจฝืนแล้วค่อยหาจังหวะเกาะเกี่ยว
บางครั้งอาจต้องอาศัยการยกแขนเป็นการ์ดปกป้องจุดสำคัญไปก่อนของนักมวย บางครั้งยินยอมแทงผิดเสีย
๔ แต้มดีกว่าเสียหายของนักสนุ๊กเกอร์ หรือบางครั้งยินยอมชนสิ่งกีดขวางเพื่อไม่ให้ตกเขา
ทุกอย่างนั้นอยู่ในการตัดสินใจของตนทั้งสิ้น
ตัวอย่างสำคัญในเหตุการณ์เรือล่มของพระมหาชนก
ชาวเรือคนอื่น ๆ แตกตื่นลนลาน เอะอะโวยวาย คิดคนถึงคนนั้นคนนี้ กล่าวโทษคนนั้นคนนี้
โทษโชคชะตาราศี อ้อนวอนเทพเทวาขอให้ปลอดภัย แต่พระมหาชนก กลับตั้งสติคิดว่า
การจะอยู่ในทะเลได้ต้องทำอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะพ้นภัยจากสัตว์ร้ายในทะเล นั่นคือวิธีคิดของบัณฑิต
คือต้องหาทางออกให้ได้ ท่านจึงใช้น้ำมันทาตัว และขึ้นบนปลายเสากระโดงเรือ
กระโดดไปให้ไกล ๆ จากจุดนั้น เพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อของปลาร้าย จากนั้นก็ว่ายไป ๗
วัน ๗ คืน จนเกิดวาทะเด็ดของพระมหาชนกสำหรับผู้ไม่พ่ายแพ้ที่กล่าวแก่เทพธิดาเมขลาว่า
“เทพธิดา เราพิเคราะห์เห็นธรรมเนียมของโลกและอานิสงส์ของความเพียรพยายาม
เพราะฉะนั้น ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง เราจึงพยายามว่ายอยู่ในท่ามกลางสมุทร”
เทพธิดา
ผู้ใดรู้ว่างานสุดวิสัยเกินตัวแล้ว ไม่รักษาชีวิตของตน
ถ้าผู้นั้นคลายความเพียรเสีย ก็จะพึงรู้ผลของงานนั้น
เทพธิดา คนบางพวกในโลกนี้พิจารณาเห็นผลของความมุ่งประสงค์ของตนจึงประกอบการงานทั้งหลาย
การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตามที
เทพธิดา
ท่านก็เห็นผลแห่งงานประจักษ์แก่ตนแล้วมิใช่หรือ คนอื่น ๆ พากันจมน้ำแล้ว เราคนเดียวเท่านั้นยังว่ายข้ามอยู่และยังได้เห็นท่านอยู่ใกล้เรา เรานั้นจักพยายามตามกำลังความสามารถจักไปให้ถึงฝั่งแห่งมหาสมุทรด้วยความเพียรอย่างลูกผู้ชาย
(ของคน)” (๒๘/๑๒๔-๑๓๑/๒๐๓-๒๐๔)
ประเด็นสำคัญมิใช่อยู่แค่เรื่องความเพียรพยายามเท่านั้น
แต่อยู่ที่ว่า เมื่อมีสถานการณ์บีบคั้นควรทำอย่างไร คนพาลกับบัณฑิตจะกระทำต่างกัน ถ้าหากใช้แนวของคนพาลก็จะง่าย
ไม่ต้องทำอะไรเลย และบางครั้งก็อาจต้องต่อสู้กับกลุ่มคนที่มีความคิดเช่นนั้นด้วย
ถ้าหากทำอย่างบัณฑิตก็จะพบว่า เป็นเรื่องท้าทายความสามารถ
ไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างให้กระแสความอยากย่ำยีอยู่เสมอ ลองฝืนดูบ้าง ทดสอบ
ทดลองกำลังกันดูบ้าง หากจะต้องพ่ายแพ้เพราะได้ทดสอบทดลองแล้ว ก็น่าสรรเสริญ น่าประทับใจ
อีกประเด็นหนึ่งที่สื่อสะท้อนในเรื่องนี้ก็คือ
การไม่ยอมผลักภาระให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดชอบ ทุกคนต้องรับผิดชอบด้วยกัน
สังคมเป็นเรื่องที่ทุกคนดำรงอยู่ สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยการดำรงอยู่ของทุกคน
ถ้าหากผลักภาระให้เป็นเรื่องคนใดคนหนึ่งแล้ว
นั่นเท่ากับเป็นการไปประพฤติสิ่งที่ดีที่ควร ผลเสียที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งนั้นมาจากตนเอง
อย่าได้กล่าวถึงผู้ใด ให้นับหนึ่งที่ตนเอง “ชะตาอยู่ในกำมือตน
มิใช่ผูกไว้ในมือผู้อื่น” ความแตกต่างระหว่างพาลและบัณฑิตวัดกันตรงนี้
จบนานากรณปกาสินี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น