วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560




๕. มัคคามัคคปกาสินี

เพราะว่าไม่รู้เกิดอยู่ไหน
หรือดับอย่างไรก็ไม่เห็น
มิแจ้งปฏิปทาที่มาเป็น
เกิดดับสลับเร้นจึงมืดมน
เพียงเห็นชรามีสาเหตุ
ก่อเลศแปลงสารพาสัตว์ป่น
รู้ทางดับสลายพาให้วน
จึงพ้นวัฏฏะสมุทัย

          แนวทางการแสวงหาต้นตอของเรื่องหรือสิ่งต่าง ๆ นั้น มีมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพราะเป็นแรงผลักดันของมนุษย์ผู้มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นปกติวิสัย จนกระทั่งเกิดเป็นแนวทางวิทยาศาสตร์ที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในโลกตะวันตกในปัจจุบัน และมีวิธีการแสวงหาเชิงสาเหตุได้อย่างลงตัวมากขึ้น เนื่องจากวิทยาศาสตร์มุ่งหมายอยากเอาชนะธรรมชาติ และมุ่งหมายเพื่อสร้างและพัฒนาทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดนั้นให้มีมูลค่ายิ่งขึ้น วิธีการต่าง ๆ ที่จะค้นหาเชิงสาเหตุและการนำไปพัฒนาชีวิตและสังคมในด้านวัตถุครอบคลุมมนุษย์ในยุคนี้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กระแสวิทยาศาสตร์จึงคลุมโลกไปทั่ว หนึ่งในกระบวนวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้กันก็คือ กระบวนการหาปัจจัย (Factor Analysis Research) ไม่ว่าจะในรูปแบบการสำรวจ (EFA) หรือการยืนยัน (CFA) ต่างก็ต้องการหาองค์ประกอบที่แท้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง ปัจจัยไหนเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องบ้าง ที่เกี่ยวข้องมีปัจจัยเท่าไร อะไรบ้าง อาศัยการวิเคราะห์ของโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ทำให้ค้นพบปัจจัยที่ซับซ้อนได้ง่าย และมีความแม่นยำสูง นี่เป็นกระบวนการหาคำตอบจากทางสถิติและจากทางการทดสอบทดลองต่าง ๆ จนสามารถสร้างเป็นทฤษฎีได้มากขึ้นในทุกวงการ
          ลองนึกย้อนกลับไปผ่านยุคสมัยก่อน ก็จะพบว่า การค้นหาปัจจัยว่ามาจากสาเหตุอะไรนั้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม อัจฉริยภาพทางสมองของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะคาดคำนวณได้ว่า มีความสามารถเพียงไหน ยิ่งผู้ที่จิตอยู่ในภาวะแห่งฌานด้วยแล้ว ยิ่งไม่อาจคาดคิดคำนวณด้วยความคิดธรรมดาได้ ภาวะแห่งจิตในฌานนั้นมีค่าเทียบกับระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชั้นสูง ที่สามารถแยกแยะปัจจัยได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่สัมพันธ์กับจิตที่มีความสลับซับซ้อนสูง ถ้าจับเหตุและปัจจัยผิดผลาดก็นำไปสู่กรงขังของโลก แต่ถ้าจับเหตุและปัจจัยถูกก็สามารถหลุดพ้นจากกรงขังของโลกหรือวัฏฏะได้
          ทางกับไม่ใช่ทางเท่านี้เอง มีอะไรเป็นปัจจัย (มคฺคปจฺจโย) โจทย์อยู่ที่ความถึงที่สุดแห่งทุกข์กับการไหลไปสู่ความมีทุกข์ (อิมสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิรุชฺฌนฺติ/สมุทโย โหติ) นักปราชญ์ นักการศาสนา เจ้าลัทธิและครูทั้งหลายใช้ชีวิตทั้งชีวิตพยายามแสวงหาทางออกจากทุกข์ดังกล่าว แต่เนื่องจากไม่อาจประมวลสาเหตุได้อย่างถูกต้อง ต่างยึดจับสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นแนวทางแห่งการพ้นทุกข์ บ้างก็มุ่งไปที่การบูชาเทพเจ้า บ้างมุ่งไปที่การทรมานตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ บ้างฝึกฝนทางจิตด้วยการเข้าฌานสมาบัติ บ้างมุ่งไปที่การพยายามหักห้ามกรรมของตน ด้วยคาดหมายว่า การหยุดยั้งกรรมเก่า ไม่ทำกรรมใหม่ แต่กลับไม่ทราบว่า การไม่ทำกรรมใหม่นั้นต้องทำอย่างไร ก็กลายเป็นเหตุปัจจัยแห่งกรรมสืบเนื่องกันไปอีก
          สำหรับกรณีผู้ที่ได้ถึงฌานที่ ๘ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้น นับได้ว่ามีความก้าวหน้าในสมาธิขั้นสูงที่สุดในยุคหนึ่ง ต่างก็เชื่อว่า นั่นเป็นที่สุดแห่งกระบวนการทางจิตที่ถึงการหลุดพ้น เพราะอยู่ในสภาพที่กึ่งมีจิตและกึ่งไม่มีจิต โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสัญญา ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ฌานนี้สัมปยุตด้วยสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีสัญญาที่หยาบ และชื่อว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะสัญญาที่ละเอียดยังมีอยู่ และเป็นอายตะด้วย คือ มนายตนะและธรรมายตนะ รวมทั้งเวทนา วิญญาณ ผัสสะก็มีเหมือนไม่มีด้วย (วิสุทธิ.อารุปปนิเทศ ๒/๖๐๓) ลองคิดดูเถิดว่า ผู้ที่ดำรงจิตอยู่ในขั้นนี้นั้นจะมีความสุขสงบมากเพียงไหน จะไม่เข้าใจว่า ตนบรรลุถึงจุดสูงสุดได้อย่างไร พระพุทธเจ้าตอนที่ไปฝึกฝนอยู่ในสำนักของครูทั้ง ๒ ได้เคยผ่านมาแล้ว แต่พระองค์ได้พิจารณาโดยสาเหตุแล้วว่า นี่ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ จนเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วจึงได้หวนระลึกถึงครูทั้ง ๒ เพื่อที่จะไปโปรดเพราะทั้งสองท่านนั้นเป็นบัณฑิตผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยมานาน แต่พอรู้ว่า ครูทั้งสองได้สิ้นชีวิตไปแล้วไม่นานพระองค์ถึงกับดำริว่า “มหาชานิโย โข” (วิ.๔/๑๐/๑๐) เป็นผู้มีความเสื่อมนานหนอ คือ ต้องไปเกิดในอักขณะภพ ที่มีชีวิตยืนยาวในภพนั้นกว่าจะได้กลับมาเกิดเพื่อเห็นธรรมได้อีกนั้นเป็นเวลาที่แสนจะยาวนาน
          ประเด็นที่กล่าวในที่นี้หมายถึงผู้ที่เข้าใกล้ทางที่สุดแล้ว แต่แล้วก็ยังพลาดจากทางอีก ยังไม่ต้องพูดถึงผู้ที่ไม่เข้าใกล้ทางอย่างใดเลย จะมีเส้นทางแห่งวัฏฏะนั้นยาวไกลมากเพียงไหน จุดสำคัญของทางและไม่ใช่ทางนั้นมีจุดตัดกันอยู่ที่เป็นไปตามสายเกิดหรือเป็นไปสู่สายดับ กระบวนการพิจารณาตรวจสอบหาปัจจัยเชิงสาเหตุนี้เองที่ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็เป็นเช่นเดียวกัน เพราะล่วงรู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งสายเกิดและสายดับ กล่าวคือ รู้ว่าชรา มรณะเป็นอะไร มีสาเหตุจากอะไร ดับไปได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะดับลงไปได้ “ชรามรณํ ปชานนฺติ ชรามรณสมุทยํ ปชานนฺติ ชรามรณนิโรธํ ปชานนฺติ ชรามรณนิโรธคามินีปฏิปทํ ปชานนฺติ...” (๑๖/๓๙/๑๕) ก็ผู้ใดก็ตามที่เข้าไปรู้ว่า ก็เพราะชาติเป็นปัจจัยนั่นเอง ชรามรณะจึงมี เมื่อชาติดับไป ชรามรณะก็ดับไปด้วย แต่ชาติจะดับไปได้อย่างไร ก็เมื่อภพดับไปก่อน ภพจะดับไปได้อย่างไร ก็เพราะอุปาทานดับไปนั่นเอง ส่วนทางที่ทำให้ถึงการดับไปแห่งชรามรณะนั้นได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ทางที่นำไปสู่การสิ้นทุกข์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ชาตินิโรธา ชรามรณนิโรโธ อยเมว อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค ชรามรณนิโรธคามินีปฏิปทา เสยฺยถีทํ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโน สมฺมาอาชีโว สมฺมาอาชีโว สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ...” (๑๖/๘๙/๔๒) เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ อริยะมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ชื่อว่า ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับไปแห่งชราและมรณะ”
          ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นมรรคสมังคี เป็นธรรมสมังคี มิได้หมายถึงการนำไปอธิบายเป็นแต่ละองค์ธรรม แต่หมายรวมเอากิจกรรมทางการบำเพ็ญที่ประกอบไปด้วยอริยมรรคทั้ง ๘ นี้ อิริยาบถทุกขณะไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ล้วนประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยเหตุนี้วิธีที่จะทำให้มีอริยมรรคมี ๘ อยู่เสมอก็ต้องเจริญในอานานาปานสติ เพราะทำให้สติปัฏฐาน ๔ เจริญ สติปัฏฐานเมื่อเจริญแล้ว ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ เจริญ เมื่อโพชฌงค์เจริญแล้วย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติเจริญ “สนฺติ ภิกฺขเว ภิกฺขู อิมสฺมึ ภิกฺขุสงฺเฆ อานาปานสติภาวนานุโยคมนุยุตฺตา วิหรนฺติ. อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา. อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา        จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปูเรนฺติ...วิชฺชาวิมุตฺตึ ปริปูเรนฺติ. (๑๔/๒๘๗/๑๖๔) กระบวนแห่งมรรคมีองค์ ๘ นั้นประกอบพร้อมอยู่ในอานาปานสติ สติปัฏฐาน โพชฌงค์ วิชชา และวิมุตติ โดยเฉพาะพลวัตแห่งองค์ธรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนมรรคสมังคีให้ดำเนินไป คือ อาตาปี สัมปชาโน สติมา ที่มีอยู่ทุกขณะแห่งการดำเนินชีวิต อยู่ทุกกิจกรรม เพราะเป็นธรรมที่ทำให้จิตตั้งอยู่บนอุเบกขธรรมที่ไม่ให้จิตตกไปสู่ความยินดี (อภิชฺฌา) และความยินร้าย (โทมนัส) กระบวนแห่งปฏิจจสมุปบาทก็จะเข้าสู่กระแสดับทันที เพราะไม่มีเชื้อส่งต่อไปสู่สายเกิด อาหารทั้งหลายที่มีตัณหาเป็นแดนเกิดก็หยุดกระบวนการอันเนื่องจากเวทนาดับไปตัณหาจึงดับ
          คำว่า “ดับ” ในภาษาบาลีใช้คำว่า “นิโรธ” เป็นคำพิเศษที่ไม่ได้หมายถึงการดับอย่างโลกิยบัญญัติ แต่หมายถึงเชื้อที่จะส่งไปสู่กระบวนการสายเกิดดับลง เวทนาขันธ์ยังคงทำหน้าที่ไป แต่เป็นขันธวิมุตติ เป็นสักว่า เพียงเวทนา เวทนาในขันธ์กับเวทนาในปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นการกล่าวต่างกัน เพราะเวทนาในขันธ์นั้นหมายเอาเวทนาที่ทำหน้าที่รู้สึกหนาว ร้อน เย็น สงบ แต่เวทนาในปฏิจจสมุปบาทนั้นหมายเอาเวทนาที่ประกอบด้วยเชื้อที่ส่งทอดกันมา การดับเวทนาในปฏิจจสมุปบาท หมายเอาการดับเชื้อที่ทำให้เกิดตัณหาต่อไป เมื่อเวทนาเป็นสักว่าเวทนา เชื้อในเวทนาก็ดับไป ฉะนั้น มิได้หมายถึงเวทนาขันธ์หายไป มิฉะนั้นผู้ที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหลายจะมีความรู้สึกได้อย่างไร เวทนาขันธ์เป็นฐานของสัตว์ที่เกิดในภูมินี้ เป็นคุณสมบัติของสัมภเวสีสัตว์ ยกเว้นในสัตว์ที่เป็นอรูปพรหมและอสัญญีสัตว์ที่มีขันธ์ไม่ครบ ก็เป็นคุณสมบัติผู้สัตว์ผู้ไปเกิดในภพนั้น ๆ แต่เวทนาขันธ์นั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา มีความเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ทีฆานขปริพาชกว่า “สุขา อคฺคิเวสน...ทุกฺขาปิ...อทุกขมสุขาปิ...อนิจฺจตา สงฺขตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา ขยธมฺมา วยธมฺมา วิราคธมฺมา นิโรธธมฺมา...อริยสาวโก สุขายปิ เวทนาย...ทุกฺขายปิ เวทนาย...อทุกฺขมสุขายปิ เวทนาย นิพฺพินฺทติ นิพฺพิทํ วิรชฺชติ วิราคา วิมุจฺจติ วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหต ขีณา ชาติ วุสิตํ พฺรหมจริยํ กตํ กรณียํ...” (๑๓/๒๗๓/๒๒๐) อัคคิเวสสนะ สุขเวทนาไม่เที่ยง...แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง... แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา...อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งใน อทุกขมสุขเวทนา เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
          การเข้าไปทราบทางและมิใช่ทางนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่จะสื่อให้เห็นว่า ผู้ที่รู้ทางย่อมมีทางที่จะไปถึงได้ แต่ขึ้นอยู่ว่า จะเดินไปตามทางนั้นหรือไม่ สำหรับผู้ไม่รู้จักทางหรือผู้หลงทาง ย่อมไม่รู้ทางที่จะหลุดพ้นได้เลย ในกรณีผู้รู้ทางแต่ไม่เดินไปตามทางนั้นมีอยู่มาก เป็นที่สงสัยของคนในสมัยนั้นเช่นกันว่า เหตุใดจึงมีผู้ไม่ได้บรรลุธรรมมีอยู่มากทั้งที่บวชมาแล้วก็ตาม ทั้งที่ศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วก็ตาม ในเรื่องนี้ก็เพราะบางท่านเดินทางไปแล้วหยุดเสีย บางท่านหลงเพลินไปกับสิ่งต่าง ๆ ในหนทาง บางท่านรู้จักหนทางดีแต่ไม่ได้เริ่มเดินทางจึงไม่ถึง ในอีกนัยหนึ่งพระพุทธเจ้า ตรัสเปรียบเทียบกับขอนไม้ (ปฐมทารุกขันโธปมสูตร) ที่จะไหลไปถึงมหาสมุทรได้เพราะอะไร  ก็เพราะขอนไม้นั้นจะไม่ลอยเข้ามาใกล้ฝั่งนี้ (อายตนภายใน ๖)  ไม่ลอยเข้าไปใกล้ฝั่งโน้น (อายตนภายนอก ๖)  ไม่จมกลางแม่น้ำ (นันทิราคะ)  ไม่เกยตื้น (มานะ) ไม่ถูกมนุษย์นำไป (คลุกคลีคฤหัสถ์) ไม่ถูกอมนุษย์นำไป (ปรารถนาเทวสมบัติ) ไม่ถูกเกลียวน้ำวนดูดไว้ (กามคุณ ๕) ไม่ผุภายใน (ทุศีล) เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอนไม้นั้นก็จักลอยไปสู่สมุทรได้ ไหลไปสู่สมุทรได้เลื่อนไปสู่สมุทรได้ “สเจ โข ภิกฺขเว ทารุกฺขนฺโธ น โอริมํ ตีรํ อุปคจฺฉติ น ปาริมํ ตีรํ อุปคจฺฉติ น มชฺเฌ สํสีทิสฺสติ น ถเล อุสฺสาทิสฺสติ น มนุสฺสาคฺคาโห คาหิยติ น อมนุสฺสคฺคาโห คาหิยติ น อาวฏฺฏคฺคาโห คาหิยติ น อนฺโตปูติ ภวิสฺสติ...” (สฬา. สํ. ๑๘/๓๒๒/๑๘๖) ถ้าหากไม่ติดข้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ จักน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ผู้ไม่รู้จักทางย่อมเข้าไปติดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนผู้รู้จักทางและเดินไปตามทางย่อมระวังอุปสรรคขัดขวางเหล่านี้


จบมัคคามัคคปกาสินี


ไม่มีความคิดเห็น: