๔. มิจฉาปุจฉาปกาสินี
อย่าหลงผิดคิดถามความสงสัย
ว่าเป็นใครกลืนกินจิตตาหาร
หรือเป็นใครยึดฮุบอุปาทาน
นี่คือม่านบังตาต้องหาคน
หามีใครแฝงอยู่จงรู้เถิด
สาเหตุเกิดดับไปปัจจัยสน
สืบเป็นสายเคล้าคละและปะปน
ออกเป็นผลดอกทุกข์เพาะปลูกเอง
ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของสัตว์ทั้งหลายใน
๓ แดนโลกธาตุเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้สัตว์ทั้งหลายจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสารอยู่นี้เรื่อยไป
มาพิจารณาสำหรับมนุษย์ สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ยึดมั่นถือมั่น เนื่องจากมนุษย์ทุกคนมองเห็นเพียง
๒ ลักษณะใหญ่ ๆ ในการดำเนินชีวิต คือ ตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นในระดับโครงสร้างที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ก็จะมีเพียง
๒ ประการนี้ เช่น หลักภาษาก็จะมีตนเองและผู้อื่น ผม-คน ผม-เขา ผม-พวกเขา เรียกว่า
บุรุษที่ ๑ และบุรุษที่ ๒ เพื่อร้องเรียก หรือคำที่กลายเป็นประโยคคำถามสำคัญ คือ
ใคร ทำไม อะไร... ล้วนแต่ต้องหาบุคคล เวลา และสถานที่ให้ได้
นอกจากนั้นในแง่ของปรัชญาก็จะมีปรัชญาว่าด้วยอัตตวิสัย
และปรวิสัย หมายถึง อาศัยตนเองเป็นฐาน และอาศัยผู้อื่นเป็นฐาน หรือแม้แต่นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์คนสำคัญของฝรั่งเศส
ได้แก่ เรอเน เดการ์ต (René
Descartes คศ. ๑๖๑๖) เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักคิด
"แห่งยุคสมัยใหม่" คนแรกในฐานะผู้วางรากฐานทางปรัชญาให้กับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
โดยก้าวข้ามพ้นประสาทสัมผัสเข้าสู่จิต
เพราะประสาทสัมผัสนั้นไม่สามารถให้ความจริงได้ วาทะที่โด่งดังของเขาคือ “ถ้าฉันถูกหลอกได้
นั่นแปลว่า "ฉัน" จะต้องมีอยู่จริง กลายเป็นบทสรุปของความคิดว่า “cogito
ergo sum, I think therefore I am เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” ก็ยิ่งตอกย้ำให้มนุษย์เข้าไปติดกับดักของความคิดอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
และเป็นมานานนับกัปกัลป์
พระยามิลินท์ (Menander I
Soter ๑๖๕ – ๑๕๕ ก่อน ค.ศ.) กษัตริย์อินโด-กรีก ปกครองเมืองสาคละ
หรือเมือง Sailkot ในปากีสถานปัจจุบัน พระองค์นับว่าเป็นนักปรัชญาคนหนึ่งที่สนใจภูมิปัญญาที่มีอยู่ในขณะนั้นของทุกปรัชญาและศาสนา
จนได้มาสนทนากับพระนาคเสนในคัมภีร์ที่เรียกว่า ปัญหาพระยามิลินท์ บรรดาคำถามเหล่านั้น
มีคำถามหนึ่งที่สื่อถึงการต้องการหาผู้กระทำให้ได้ว่า เหตุใดพระนาคเสนจึงกล่าวไม่มีนาคเสน
พระยามิลินท์ได้ทีในคำตอบของพระนาคเสนจึงได้ช่องจู่โจมทันทีว่า
“ขอให้ชาวโยนกทั้ง
๕๐๐ นี้และพระภิกษุสงฆ์ ๘ หมื่นองค์นี้ จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้าเถิด
พระนาคเสนนี้กล่าวว่า เพื่อนพรหมจรรย์เรียกอาตมาภาพว่า “นาคเสน”
ก็แต่ว่าไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอันใดอยู่ในคำว่า “นาคเสน” นั้น ข้าแต่พระนาคเสน
ถ้าไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอยู่แล้ว บุคคลเหล่าใดถวายบาตร จีวร อาหาร
ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และวัตถุที่เก็บเภสัชไปแล้ว
บุญกุศลก็ต้องไม่มีแก่บุคคลเหล่านั้นน่ะซิ ผู้ใดผู้หนึ่งคิดว่า
จะฆ่าพระผู้เป็นเจ้า โทษปาณาติบาตก็เป็นอันไม่มีน่ะซิ ถ้าบุคคลตัวตนเราเขาไม่มีอยู่แล้ว
ก็ใครเล่าจะถวายจีวร อาหาร ที่อยู่ ยา และที่ใส่ยา แก่พระผู้เป็นเจ้า
ใครเล่าจะบริโภคสิ่งเหล่านั้น ใครเล่ารักษาศีล ใครเล่ารู้ไปในพระไตรปิฎก
ใครเล่าเจริญภาวนา ใครเล่ากระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผล นิพพาน ใครเล่ากระทำปาณาติบาต
ใครเล่ากระทำอทินนาทาน ใครเล่าประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร ใครเล่ากล่าวมุสาวาท
ใครเล่าดื่มสุราเมรัย ใครเล่ากระทำอนันตริยกรรมทั้ง ๕ เพราะฉะนั้น
ถ้าสัตว์บุคคลตัวตนไม่มีแล้ว กุศลก็ต้องไม่มี อกุศลก็ต้องไม่มี ผู้ทำหรือผู้ให้ทำซึ่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มี
ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มี ข้าแต่พระนาคเสน
ผู้ใดฆ่าพระผู้เป็นเจ้าโทษปาณาติบาตก็ไม่มีแก่ผู้นั้น
เมื่อถืออย่างนั้นก็เป็นอันว่าอาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มีอุปัชฌาย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี
อุปสมบทของพระผู้เป็นเจ้าก็ไม่มี คำใดที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า
พวกเพื่อนพรหมจรรย์เรียกอาตมภาพว่า " นาคเสน " อะไรเป็นนาคเสนในคำนั้น
เมื่อโยมถามพระผู้เป็นเจ้าอยู่อย่างนี้ พระผู้เป็นได้ยินเสียงถามอยู่หรือไม่ ?”
(มิลินท.๑/๒)
ข้อความทั้งหมดนี้สื่อให้เห็นว่า
มนุษย์ทั่วไปก็อย่างนี้มุ่งหมายเอาแต่ว่า ใครเป็นเจ้าของ ใครเป็นผู้กระทำ ใครเป็นผู้รับผลการกระทำ
และก็ใคร ๆๆๆ ไปเรื่อย จนไม่อาจจะถอยคืน ความไม่มีใคร หรือความไม่มีตัวตนได้อีกเลย
ในโมลิยผัคคุนสูตรแห่งสุตตันตปิฎกก็เช่นกัน
พระโมลิยผัคคุนะเมื่อได้ฟังเกี่ยวกับอาหารที่สัตว์ทั้งหลายต้องทานเข้าไป
ก็เกิดความสงสัยว่าใครเป็นผู้ทานอาหารเหล่านั้น กล่าวคือ ใครทานกวฬิงการาหาร
ผัสสาหาร วิญญาณาหาร และมโนสัญเจตนาหาร จึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “โก นุ โข
ภนฺเต วิญญาณาหารํ อาหาเรติ” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครหนอย่อมกลืนกินวิญญาณหาร” พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“น กลฺโล ปญฺโหติ ภควา อโวจ อาหาเรตีติ อหํ น วทามิ อาหาเรติ” ปัญหานี้ไม่สมควรถาม
เรามิได้กล่าวว่า ย่อมกลืนกิน” (สํ.นิ.๑๖/๓๒/๑๓)
ความสำคัญอยู่ตรงนี้นี่เอง
ในพระพุทธศาสนานั้นมุ่งแยกแยะให้เห็นถึงเหตุปัจจัยทั้งสายเกิดและสายดับ ในส่วนที่เป็นระดับปรมัตถ์
ในระดับสมมตินั้นถ้ามุ่งหมายในการสื่อสารก็ไม่ต้องนำมาปะปน ในที่นี้ท่านพระโมลิยผัคคุนะ
พอได้ยินเรื่องอาหารที่พระพุทธเจ้ามุ่งหมายในระดับปรมัตถ์ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า
แล้วอาหารเหล่านั้นใครเป็นคนทาน
เพราะในเรื่องอาหารที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นไม่ได้มีคำว่า คนกลืนกิน แต่ได้ตรัสว่า อาหารนั้นมีอะไรเป็นแดนเกิด
ไม่เกี่ยวกับการรับประทานเข้าไป
เพราะปัญหาเรื่องใครทานอาหารนั้นเป็นการตั้งสมมติฐานผิดในส่วนนี้และไม่จำเป็นต้องหาใครมาเป็นผู้ทาน
แต่ต้องการทราบว่า อาหารเหล่านั้นมีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ต้องกินอาหาร ก็พบว่า
มีตัณหาเป็นเหตุเป็นปัจจัย
พระพุทธเจ้าจึงตรัสชี้แจงคำถามที่ไม่ควรถามว่า
ใครเป็นผู้ทาน หรือใครเป็นผู้เสวย แต่คำถามที่ควรถามคือ “วิญญาณาหารมีเพื่ออะไร...อะไรเป็นปัจจัย
ผัสสะจึงมี...อะไรเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี...อะไรเป็นปัจจัย
ตัณหาจึงมี...อะไรเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี นี่จึงเป็นปัญหาสมควรถาม...”
เพราะจะทำให้เห็นกระบวนการเกิดอาหารและการดับอาหารไปในที่สุด
เรื่องการตั้งคำถามผิดนี้เป็นเรื่องสำคัญ
เพราะถ้าหากตั้งคำถามผิดย่อมทำให้เกิดการผิดประเด็นไปกันอีกไกล
และมีการต่อประเด็นนั้นไปอีก ก็ยิ่งทำให้ไกลไปกันใหญ่ เปรียบเหมือนเกมการต่อคำกระซิบ
จากเรื่องหนึ่งอาจนำไปสู่เรื่องอื่นได้
เรื่องความเชื่อการมีตัวตนเป็นผู้เสวยนี้ก็คงเช่นเดียวกันเนื่องจากมีการตอบคำถามต่อการตั้งประเด็นผิดมานานจนทำให้ความเป็นอัตตาและการยึดมั่นอัตตากลายเป็นของคู่โลกไปในที่สุด
แต่พระพุทธเจ้านั้นไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าหากมีการตั้งคำถามผิดประเด็นไปพระพุทธองค์จะทักและให้เปลี่ยนคำถามใหม่
ดังที่มีข้อความในพระสูตรข้างต้น นอกจากนั้น ยังมีปริพาชกชื่อติมพรุกขะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและตั้งคำถามผิดเช่นกัน
ดังในติมพรุกขสูตรว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม สุขและทุกข์ ตนกระทำเองหรือ...ผู้อื่นกระทำให้หรือ...ตนเองทำด้วย
ผู้อื่นกระทำด้วยหรือ (ทั้ง ๒ ฝ่าย)...มิใช่ทั้งตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำหรือ
(เกิดขึ้นลอย) ...สุขทุกข์ไม่มีหรือ...พระโคดมไม่รู้ ไม่เห็นสุขและทุกข์หรือ...”
สำหรับคำตอบนี้ถ้าหากหมายเอาดังที่ติมพรุกขะประสงค์ว่ามีผู้เสวยเวทนา
พระพุทธศาสนาไม่เข้าไปตกอยู่ในเกมความเชื่อนี้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบว่า “เมื่อบุคคลถืออยู่ว่า
นั่นเวทนา นั่นผู้เสวยเวทนา ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า
สุขและทุกข์ตนกระทำเอง เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทง อยู่ว่าเวทนาอย่างหนึ่ง ผู้เสวย
เป็นอีกคนหนึ่ง ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ผู้อื่นกระทำให้
ติมพรุกขะ ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ...
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ
สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ...” (สํ.นิ.๑๖/๕๔-๕๕/๒๒-๒๓)
การตั้งหลักไว้ที่ต้องมีผู้เสวยเวทนา
ผู้เสวยผลของเวทนา ที่เป็นตัวตนนั้นนำไปสู่การยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อแห่งสัสสตทิฏฐิได้ง่าย
เมื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วย่อมไม่สามารถออกจากวงจรแห่งความคิดผิดนั้นได้โดยง่าย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่สอนธรรมในพระพุทธศาสนาจำเป็นต้องระมัดระวังให้มาก
อย่าตกอยู่ในวงวนของคำถามที่ผิดและนำไปสู่การสอนและการตอบที่ผิด
จะต้องยึดหลักแห่งปฏิจจสมุปบาทให้ดี เพราะหลักนี้สามารถรักษาหลักทางสายกลางในพระพุทธศาสนาได้
ไม่ตกไปทั้งที่เป็นความมี (อัตถิ) และความไม่มี (นัตถิ)
แนวคิดที่เชื่อว่าโลกมีอยู่ เป็นแนวคิดของสัสสตทิฏฐิ ส่วนแนวคิดว่าโลกไม่มี
เป็นแนวคิดของอุจเฉททิฏฐิ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระกัจจานโคตรว่า “ทฺวยนิสฺสิโต
โขยํ กจฺจาน โลโก เยภุยฺเยน อตฺถิตญฺจ นตฺถิตญฺจ” (สํ.นิ.๑๖/๔๓/๑๗) “กัจจานะ
โดยมากโลกนี้อาศัยที่สุด ๒ อย่าง คือ (๑) ความมี (๒) ความไม่มี” และตรัสไว้เป็นพุทธพจน์ที่ชัดเจนว่า
“ทุกฺขเมว อุปฺปชฺชมานํ อุปฺปชฺชติ ทุกฺขํ นิรุชฺฌมานํ นิรุชฺฌตีติ น กงฺขติ น
วิจิกิจฺฉติ อปรปฺปจฺจยา ญาณเมวสฺส เอตฺถ โหติ” (สํ.นิ.๑๖/๔๓/๑๗) (พระอริยสาวกเมื่อ) “ไม่เคลือบแคลงสงสัย
ไม่สงสัยว่า ‘ทุกข์นั้นแล เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับ ย่อมดับไป
อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องโดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย”
ในข้อความนี้หมายความว่า
หมู่ชนในโลกนี้ยังติดอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นแนวคิดทั้ง ๒ ส่วนนี้
อย่างเหนียวแน่นต่อเนื่อง ผู้ที่เห็นว่าโลกมี ก็ยืนยันในส่วนของตน
ผู้ที่เห็นว่าโลกไม่มี ก็ยืนยันในส่วนของตน จึงเป็นต้นเหตุของ ๒ แนวคิดหลักของโลก
คือ โลกเที่ยงและโลกศูนย์ แต่พระอริยะทั้งหลายนี้ไม่เข้าไปยึดทางสุดโต่งทั้ง ๒
สายที่โลกเขายึดกันอยู่ พระอริยะนั้นเดินตามทางสายกลางคือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี...ในทางกลับกัน
เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ
วิญญาณจึงดับ...นี่เป็นมัชเฌนธรรมที่ไม่ตกไปในทางแห่งความมีและไม่มี
โดยการมองเห็นสายเกิดด้วยปัญญาอันชอบ ย่อมป้องกันแนวคิดสัสสตทิฏฐิ
เมื่อมองเห็นสายดับด้วยปัญญาอันชอบ ย่อมป้องกันการตกไปในอุจเฉททิฏฐิ
เมื่อตั้งอยู่บนฐานที่ถูกต้องแล้ว
ก็ต้องปฏิบัติตามฐานที่ถูกต้องด้วย เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ การมีสติ
มีสัมปชัญญะ มีอาตาปะ ต่อจุดกระทบอันได้แก่ ตาเห็นรูป ก็ไม่เข้าไปผูกจิตชอบหรือไม่ชอบ
เห็นชอบด้วยญาณถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของตาและรูป ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่านั่นเป็นเรา
เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา เป็นแต่สักว่าผัสสะ เป็นสักแต่ว่าเห็น
ดุจดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนแด่พระพาหิยะว่า “ตสฺมาติห เต พาหิย เอวํ สิกฺขิตพฺพํ
ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ภวิสฺสติ สุเต สุตมตฺตํ ภวิสฺสติ มุเต มุตมตฺตํ ภวิสฺสติ วิญฺญาเต
วิญฺญาตมตฺตํ ภวิสฺสติ...” (ขุ.อุ.๒๕/๔๙/๗๔) ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล
ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็น จักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง
เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง...หลังจากที่พระพาหิยะพิจารณาเช่นนั้นแล้วจึงบรรลุธรรมถึงที่สุดแห่งทุกข์
นี่คือการเข้าใจถูก ไม่ตั้งคำถามผิดจนนำไปสู่ความพลาดจากทางสายกลาง
จบมิจฉาปัญหาปกาสินี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น