วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

Greenheart Effect




ภาวะใจกระจก (Greenheart Effect)

ภาวะใจกระจก (Greenheart Effect) คือ ภาวะที่ใจถูกรมด้วยกิเลสอันหยาบ ภาวะที่ใจบกพร่องในการหักห้าม ละเมิดต่อมนุษยธรรมทั้ง ๕ ประการได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดลูกเมียผู้อื่น โกหก และเสพสิ่งเสพติด ทำให้สิ่งแวดล้อมทางใจเป็นพิษ เกิดภาวะใจร้อน (Mental Warming)

เมื่อใจร้อน เกิดภาวะเรือนกิเลส (Defilement House Effect) ภาวะใจกระจกนั้นเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของสิ่งเร้าภายนอก (อายตนะภายนอก) กระทบ (ผัสสะ) กับเครื่องรับภายใน (อายตนะภายใน) กระตุ้นความรู้สึก (เวทนา) ให้อยากได้ กระหาย (ตัณหา) เมื่อได้มาแล้วก็ครอบครองยึดมั่น (อุปาทาน) ส่งทอดกระแสซึ่งกันและกัน อย่างนี้ เป็นภาวะที่เป็นระบบ เป็นกระบวนการลูกโซ่ (Negative Circle)


โดยปกติใจนั้นทำหน้าที่รู้สึก จำได้ หมายรู้ ปรุงแต่ง เมื่อปรุงแต่งเสร็จแล้วก็เกิดการรับรู้ แต่หลังจากที่ใจนั้นถูกความพอใจอย่างยิ่ง (อิฏฐารมณ์) และความไม่พอใจอย่างยิ่ง (อนิฏฐารมย์) เข้าครอบงำ อันเป็นกระแสกิเลสที่แรงเข้าทำลายระบบ พลังตัณหาก็เริ่มสร้างระดับความเข้มข้นมากขึ้น


เมื่อตัณหาเข้มข้น พลังการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นก็มีระดับเข้มข้นตาม พลังแห่งตัณหาและอุปาทานได้สร้างบรรยากาศใจกระจกขึ้นมาทันที กลายเป็นพลังพิษ พลังพิษนี้ทำลายระบบคุ้มครองใจของมนุษย์ที่เรียกว่า หิริและโอตตัปปะเสียสิ้น ทำให้คลื่นแห่งอกุศลจิตเข้าสู่ระบบของจิตอย่างเต็มที่ ใจก็สูญเสียศักยภาพที่จะซึมซับเอากระแสแห่งธรรมสัญญา (เหตุผล) ไว้ได้

ตามธรรมดา ใจก็มีพลังของมันในตัว เป็นพลังขับเคลื่อนให้มนุษย์สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างวิจิตรพิสดาร พลังสร้างสรรค์ในทางบวกนี้เรียกว่า “ฉันทะ” ขณะที่ฉันทะทำงาน ก็จะสร้างกระแสศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาขึ้นตามลำดับ แต่พอถูกคลื่นความพอใจอย่างแรงต่ออิฏฐารมย์และความไม่พอใจอย่างแรงต่ออนิฏฐารมย์เข้ามาเท่านั้น พลังทางลบก็เข้ามาทันที ตัณหาเข้ามารับช่วงพอดีทำปฏิกิริยาทางกรรมเคมี เกิดการยึดมั่นถือมั่นอย่างจริงจัง

เมื่อนั้นภพและชาติจึงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน อัตตาเริ่มทำงานอย่างกำลังความสามารถ เริ่มมีการครอบครองหรือเริ่มมีการทำลายล้างขึ้นมาทันที ดุจดังภาวะเรือนกระจกของโลกที่เกิดจากการสร้างอุตสาหกรรม ปล่อยมลพิษ ตัดไม้ ทำลายป่า

กระบวนการปกติของโลกก็ทำปฏิกิริยารูปแบบใหม่ขึ้น ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสมีมากขึ้น ก๊าซเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้มข้นของไอน้ำในบรรยากาศจนเกิดเป็นภาวะเรือนกระจก ทำลายระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตบนโลกไป ฉะนั้น


(อ่านต่อในดุษฎีบัณฑิตยานุสรณ์ ๕๓)



ไม่มีความคิดเห็น: