วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ขบธรรม เห็นธรรม











โศลกที่ยี่สิบสี่ "ขบธรรม เห็นธรรม"

พิจารณาธรรมเพียงสี่ฐาน
ในกาย เวทนา จิต ธรรม
ใช้สติพิจารณาไม่ใช้ความคิด
เป็นทางมุ่งตรงต่อพระนิพพาน
เป็นทางทำลายการยึดมั่นถือมั่น
เห็นลมหายใจที่อยู่ในกายนี้
เห็นความรู้สึกที่อยู่ในเวทนานี้
เห็นความผ่องใสที่อยู่ในจิตนี้
เห็นความว่างที่อยู่ในธรรมนี้
เห็นความว่างในกายเวทนาจิตเช่นนี้
สัจธรรมย่อมปรากฏ
มายาย่อมสิ้นไป
วิชชาย่อมปรากฏ
อวิชชาย่อมสลายไป


เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งในคำสอนของพระพุทธศาสนา เมื่อเกี่ยวกับการบรรลุธรรมขั้นสูงสุดแล้วต้องปฏิบัติตามทางสายกลางเท่านั้น ไม่มีทางอื่น ความเข้าใจเกี่ยวกับทางสายกลางในประเทศไทย และชาวพุทธทั้งหลายไม่แน่ว่าจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง โดยมากก็เข้าใจไปตามตัวหนังสือ หรือไม่ก็เข้าใจตามที่สอนต่อๆ กันมา
เรื่องมรรคมีองค์แปด แยกออกเป็นปัญญา ศีล สมาธิ เพราะความไม่เข้าใจอรรถแห่งทางสายกลางอย่างลึกซึ้งนี่เอง ทำให้ชาวพุทธไม่สามารถปฏิบัติตนตั้งอยู่ในทางสายกลางแม้แต่นิดเดียว


โดยมากตกไปสู่ขั้วใดขั้วหนึ่งทั้งนั้น เป็นเหมือนลูกตุ้มนาฬิกาที่เขาแกว่งไปก็จะไปสู่ข้างโน้น ข้างนี้ ไม่อาจดำรงอยู่อย่างท่ามกลางได้ การหมุนไปของชีวิตในสังสารวัฏนี้ก็เป็นเหมือนนาฬิกาที่หมุนไปเพราะลูกตุ้มนั้น นาฬิกายังเดินได้เพราะลูกตุ้มที่แกว่งไปมาฉันใด ชีวิตก็ดำเนินไปเพราะการแกว่งไปมาระหว่างขั้วทั้งสองฉันนั้นเหมือนกัน หากถามว่า ถ้าลูกตุ้มหยุดแกว่งจะเป็นอย่างไร นาฬิกาก็ตาย ถ้าหากชีวิตหยุดตกขั้วละ ชีวิตก็ตาย นาฬิกาตายก็พ้นจากความเป็นนาฬิกาอีกเท่ากับเป็นเศษเหล็ก ชีวิตที่ตายก็พ้นจากความเป็นชีวิตอีก เท่ากับเป็นเบญจขันธ์เท่านั้น ไม่ต้องเกิดอีก พ้นจากสังสารวัฏนี้


ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า ทำไมต้องเป็นสายกลาง คำตอบก็เพราะปฏิเสธทางส่วนสุดทั้งสอง จึงเรียกว่า สายกลาง ส่วนสุดทั้งสองนั้นเป็นทวิภาวะ การจะปฏิเสธส่วนสุดทั้งสองนั้นไม่ใช่เราเป็นผู้ปฏิเสธ เพราะเมื่อมีเราเป็นผู้ปฏิเสธเมื่อใด ก็ต้องตกอยู่ในทวิภาวะทันทีโดยไม่รู้ตัว เพราะเราก็คือความคิด ความคิดเป็นเรา ความคิดไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากการเข้าไปยึดส่วนสุดได้ เพราะความคิดมีธรรมชาติยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์เสมอ

การเข้าไปยึดของความคิดเมื่อใด ก็ตกลงสุดขั้วเมื่อนั้น เมื่อไม่มีอะไรยึด ความคิดจะหายไปทันที การปฏิเสธส่วนสุดนั้นกระทำได้ก็ต่อเมื่อไม่มีเรา เป็นการปฏิเสธระหว่างเรา เขา ระหว่างมี ไม่มี ระหว่างข้างนี้ ข้างนั้น ระหว่างชอบ ไม่ชอบ ระหว่างมาก น้อย ระหว่างโลกกับหลีกจากโลก ระหว่างรัก เกลียด เป็นต้น การที่คนๆ หนึ่งจะตกไปสู่ส่วนสุดข้างใดข้างหนึ่งนั้นเป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน


การที่จะดำรงอยู่ในทางสายกลางนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับการทานอาหาร ทานให้อิ่มนั้นง่าย แต่ทานให้พอประมาณนี้ยาก ความอ้วนนั้นง่าย แต่ทำให้ผอมนั้นยาก จมน้ำนั้นง่าย แต่ลอยในน้ำนั้นยาก พูดมากนั้นง่าย แต่ไม่พูดมากนั้นยาก ติฉินคนอื่นง่าย ไม่ตำหนิผู้อื่นนั้นยาก สำหรับทางสายกลางนั้นกลับอยู่ตรงกลางระหว่างสภาวะทั้งสองที่กล่าวมานี้ นี่คือ ความลึกซึ้งของทางสายกลางประการแรก

ประการต่อมา ทางสายกลางเป็นศาสตร์ชั้นสูง เป็นไตรสภาวะ (Triangle) เป็นตรียาน เป็นตรีจักร เป็นตรีภาวะที่ทำให้หลุดพ้นจากความเป็นทวิภาวะได้ เป็นพุทธศาสตร์แห่งการหลุดพ้นโดยแท้ เป็นการพ้นจากอำนาจกายและอำนาจจิต ได้แก่ การดำรงอยู่ท่ามกลางอำนาจกายและอำนาจจิตได้ รักษาสมดุลไม่ให้อำนาจกายและจิตเข้ามาบงการได้ เมื่อนั้นมัจจุราชก็ไม่อาจเห็น มัจจุราชเห็นได้เฉพาะผู้ที่ตกอยู่อำนาจความต้องการทางกาย และผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจทางจิตเท่านั้น




ปัญญาคือกุญแจทำให้พ้นจากอำนาจกายด้วยศีล ทำให้พ้นจากอำนาจใจด้วยสมาธิ ปัญญาเป็นตัวควบคุมให้กายและใจไม่แสดงฤทธิ์ออกมาได้ ฤทธิ์ของกายก็คือความต้องการสนองทางกาย (Physical Needs) ฤทธิ์ของใจก็คือความต้องการสนองทางใจ (Mental Needs) อำนาจทางกายก็เป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง อำนาจทางใจก็เป็นส่วนสุดอีกขั้วหนึ่ง ดังนั้น การดำรงอยู่ท่ามกลางระหว่างกายและจิตได้จึงเป็นตรีภาวะ นี่เป็นพุทธศาสตร์ ภาวะแห่งปัญญา ศีล สมาธิ ภาวะที่ปรับสมดุลให้ดำรงอยู่ท่ามกลางได้

โศลกว่า “ใช้สติพิจารณาไม่ใช้ความคิด” การฝึกเพื่อให้ดำรงอยู่ในทางสายกลางก็คือ การฝึกมีสติอยู่เสมอ เพราะในขณะที่มีสตินั้นตัวตนจะหายไป เมื่อตัวตนหายไปก็พ้นจากทวิภาวะได้ เพราะตัวตนคืออัตตานี้ต้องอาศัยส่วนสุดข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้นจึงดำรงอยู่ได้ ตัวตนอยู่ไม่ได้ในท่ามกลาง ในท่ามกลางนั้นมีแต่สติเท่านั้นที่อยู่ได้ พาหะของตัวตนที่ขับเคลื่อนอยู่ภายในก็คือ ความคิด เมื่อใดคิด เมื่อนั้นมีตัวตนขึ้นมาทันที เมื่อใดมีสติอยู่กับปัจจุบัน เมื่อนั้นตัวตนจะหายไปทันที ทางสายกลางก็คือการดำรงอยู่ไม่ปราศจากสตินั่นเอง



ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในปัจฉิมวาจาว่า “หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โม วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีสภาพสูญสิ้นไป เธอทั้งหลายจงดำรงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด” ความไม่ประมาทในที่นี้ หมายถึง การดำรงอยู่ด้วยสติทุกเมื่อ การดำรงอยู่ด้วยสตินั้นคนทั่วไปเข้าใจได้แต่เพียงภาษา แต่ไม่ได้เข้าใจถึงอรรถที่แท้ของการดำรงอยู่เช่นนี้ได้ เมื่อใดคิดสติก็หาย เมื่อใดมีสติ ความคิดก็หายไป นี่แหละเป็นกล่าวที่ว่า ไม่ให้คิด ไม่ใช้ความคิด แต่ให้ใช้สติ



มีแต่ดำรงอยู่ด้วยสติเท่านั้นจึงทำให้ดำรงอยู่ในทางสายกลางได้ ทางสายกลางนี้เป็นทางที่ตรงต่อพระนิพพาน คือความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจทางกายและใจ ไม่ตกไปสู่ส่วนสุดทั้งสอง ไม่ตกอยู่ในทวิภาวะ (Duality) บางคนยังไม่อาจเข้าใจได้ว่า ความแตกต่างระหว่างสติกับความคิดนั้นเป็นอย่างไร สตินั้นเป็นตัวคอยสังเกตความเคลื่อนไหวทั้งหมดไม่ว่ากายหรือจิต เมื่อสติเห็นชัดเจนทุกความเคลื่อนไหวจึงทำให้มีปัญญารู้แจ้งในเหตุ ผล ความดับเหตุผล และทางที่เข้าถึงความดับเหตุผลนั้นด้วย กระบวนการนี้จะปรากฏชัด นี่คือ การดำรงอยู่อย่างไม่ประมาท นี่คือ ทางสายกลาง


เมื่อใดก็ตามดำรงอยู่บนสติ มีสติเป็นเครื่องดำเนินไป ชีวิตก็ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของโลภ โกรธ หลง อีก เพราะโลภ โกรธ หลงนี้ เกาะอยู่ในใจเท่านั้น เมื่อไม่มีใจให้เกาะ กิเลสเหล่านี้ก็ตกไปโดยปริยาย ไม่ต้องไปทำอะไรป้องกันให้วุ่นวาย ด้วยเหตุนี้ท่านเหว่ยหลาง (ฮุ่ยเหนิง) จึงมองไปที่ต้นตอ ไม่มองไปที่ว่าจะทำอย่างไร ก็เมื่อขจัดต้นตอ ก็คือ เมื่อไม่มีจิต (ความคิด) เสียแล้ว กิเลสจะมีได้แต่ที่ไหน ท่านจึงเขียนโศลกไว้ว่า

“กายมิใช่ต้นโพธิ์
ใจมิใช่กระจกใส
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่า
ฝุ่นจะจับที่ใดได้”


ที่สำคัญก็คือทำอย่างไรจึงจะให้ทุกสิ่งว่างเปล่า ก็ต้องมีสติเท่านั้น เพราะสติเป็นอาวุธอันวิเศษที่มองทะลุสิ่งต่างๆ เห็นความไม่มีความเป็นกลุ่มก้อนใดๆ เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา มองได้แต่กิริยาอาการที่ดำเนินไปเท่านั้น เมื่อสติมา อัตตาก็หาย เมื่ออัตตาหายไป ความเป็นกลางก็เกิด เมื่อความเป็นกลางเกิดขึ้น นิพพานก็ปรากฏ ความเป็นอิสรเสรีภาพที่แท้ก็เกิดขึ้น คำว่า อิสรเสรีภาพ ก็คือ การไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของโลภ โกรธ หลง ซึ่งอกุศลมูล ๓ ตัวนี้ฝังอยู่ในอัตตา เมื่อไม่มีอัตตา มันก็หาที่อยู่ไม่ได้


การใช้คำพูดบางทีก็ทำให้ไขว่เขวได้ เพราะถ้าบอกมีโลภะ โทสะ โมหะ ก็นึกว่า มีเป็นตัว มีเป็นอะไรเหมือนกับที่เห็น ที่เข้าใจ สัมผัสได้ ตรงนี้แหละที่พระพุทธศาสนามีปัญหากับการใช้คำ เพราะคนในโลกอดไม่ได้ที่จะต้องคิดเหมือนกับที่ตนมีประสบการณ์เสมอ การพูดออกไปอย่างหนึ่งก็ทำให้ตกไปสู่อีกอย่างหนึ่งได้เพราะการจะพูดทั้งสองประการนั้นยากที่จะทำให้เข้าใจได้สำหรับชาวโลก

ในพระพุทธศาสนาบางทีก็ต้องใช้บัญญัติตามโลกโวหาร โลกสมมติ แต่ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เช่นกับว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” คำว่าตนในที่นี้ก็ต้องใช้ตามโลก แต่แท้ที่จริงแล้วก็คือ การใช้ขันธ์นี้บริหารขันธ์นี้ให้ดี อย่าให้ขันธ์นี้ตกไปสู่ทุคติ การพูดให้ผู้อื่นเข้าใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามิฉะนั้นอุดมคติคงไม่เกิดขึ้น เพราะเขาไม่ทราบถึงจุดหมายของชีวิตได้


คำว่า “ไม่ใช้ความคิด” ชาวโลกฟังแล้วต้องไม่เข้าใจแน่ เพราะความคิดเป็นสิ่งที่โลกอาศัยอยู่ พอบอกไม่ให้ใช้ความคิด โลกย่อมสับสนแน่นอน เหมือนกับคำว่า “ไม่หายใจ” ชาวโลกย่อมไม่เข้าใจว่า ไม่หายใจแล้วจะอยู่ได้อย่างไร เผลอๆ ถูกมองว่า “บ้า” หรือ “เพี้ยน” ไปแน่นอน หรือไม่ก็ถูกพวกนักศึกษาอภิธรรมพากันแย้งกันเป็นแถวเป็นแนวว่า ก็จิตมีปกติคิด ไม่คิดแล้วจะมีจิตยังไง เป็นไปไม่ได้ พวกนักบาลีก็จะเสริมอีกว่า จิตมีสภาพรับอารมณ์ แล้วจะไม่ให้มีความคิดได้อย่างไร ก็ต้องให้ใช้ตามภาษาโลกไป
ดุจดังเต่าที่ขึ้นได้ทั้งบนบกและลงในน้ำ แล้วอธิบายเรื่องบนบกให้ปลาฟัง มีหรือปลาจะเข้าใจเรื่องที่เต่ากำลังอธิบาย สู้บอกไปตามที่ปลาเข้าใจดีกว่า คือ ให้คิดดี คิดสิ่งที่มีประโยชน์ คิดรอบคอบ คิดแยบคาย คิดแบบโยนิโสมนสิการ อย่างนี้ไปดีกว่า เพราะโลกเข้าใจอย่างนี้ เหมือนกับการสอนเรื่องกรรม ก็ต้องบอกแต่เรื่องกรรมดี เว้นกรรมชั่ว แต่ที่พระพุทธศาสนาเน้น คือ ให้พ้นดี พ้นชั่ว คนทั่วไปก็ต้องถามแน่นอน “แล้วมันดียังไง” อีกนั่นแหละ

การไม่ให้ใช้ความคิด เพราะความคิดนำไปสู่ส่วนสุด เพราะความคิดออกมาจากอัตตา แต่ให้ใช้สติพิจารณา สติพิจารณาโดยใช้จิตเป็นเครื่องมือ ดุจดังที่กล่าวไว้แล้วว่า ปัญญาเป็นตัวที่ตัดกระแสแห่งความคิดได้ ดูแลความคิดได้ ไม่ให้ความคิดนั้นเป็นกรรมต่อไป เป็นได้แต่เพียงกิริยา แต่เมื่อใดที่กระทำด้วยจิตเป็นตัวนำพาแล้ว เมื่อนั้นการกระทำต้องตกสู่ส่วนสุดแน่นอน ไม่ข้างใดก็ข้างหนึ่ง


ในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการปรุงแต่งด้วยบุญ การปรุงแต่ด้วยบาป การปรุงแต่งเพื่อฌาน ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมทั้งสิ้น ต้องไม่ให้เป็นกรรม การไม่ให้เป็นกรรมก็คือไม่ให้จิตปรุงแต่ง มีแต่สติเท่านั้นที่ดูแลอยู่ตลอด เป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วๆ ไป แต่ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้มีอินทรีย์เต็มเปี่ยม


โศลกว่า “เห็นความว่างในกายเวทนาจิตเช่นนี้” ความเข้าใจของคนทั้งโลกย่อมไม่อาจแยกแยะได้ว่า กาย เวทนา จิต นี้เชื่อมสัมพันธ์กันแต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะเมื่อกายเจ็บ ก็คือเราเจ็บ เราเจ็บก็คือ ใจเจ็บ มีแต่สติเท่านั้นจึงจะเห็นความว่างที่ซ่อนอยู่ในระดับที่ ๔ ของกาย เวทนา และจิต เพราะทุกสภาวะย่อมเป็นธรรมที่มีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์บีบคั้น และมีสภาพว่างเปล่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็พิจารณาคลายความยึดมั่น ถือมั่นเสีย คลายความยินดี ยินร้ายเสีย เมื่อคลายจนสิ้นแล้วก็เป็นอันจบกระบวนการแห่งความยึดมั่น สิ้นสุด จากนั้นก็ปล่อยวางไว้อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระมาลุงกยบุตรโดยใจความว่า แนะมาลุงกยบุตร! รูปที่ยังไม่เคยเห็น ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น เสียงที่ยังไม่เคยได้ยินและไม่คิดว่าจะได้ยิน กลิ่นและรสที่ยังไม่เคยรู้สึก และไม่คิดว่าจะได้รู้สึกนั้น เธอเข้าไปยินดีกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่

พระมาลุงกยบุตรกราบทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าจึงตรัสอีกโดยใจความว่า ดูกร มาลุงกยบุตร! บรรดาสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้รู้ ได้ทราบ ก็ให้เป็นเพียงจักแค่เห็น แค่ได้ยิน แค่ได้รู้สึก และแค่ได้ทราบ เมื่อใดที่เธอมีแค่เห็น ได้ยิน ได้รู้สึก ได้ทราบ เมื่อนั้นเธอ (ตัวตน) ก็ไม่มีด้วยนั่น เมื่อ (ตัวตน) ไม่มี ก็ไม่มีที่นั่น ก็ไม่มีที่โน่น ไม่มีที่นี่ ไม่มีระหว่างที่นี่และที่โน่นนั่นแหละ คือ จุดจบของทุกข์”
พระมาลุงกยบุตรเมื่อได้ฟังเช่นนั้นก็แสดงความเข้าใจของตนออกไปมีใจความว่า “พอเห็นรูปแล้วไม่มีสติเข้าไปปรุงแต่ว่าน่ารัก ติดใจ ชอบใจ มีความสุขกับสิ่งนั้น เวทนา (สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์=โมหะ) ก็เกิดจากรูปนั้น ขยายผลไปเพิ่มขึ้น จิตก็สั่งสมความทุกข์อย่างนี้เรียกว่า ไกลนิพพาน (ใช่หรือไม่) แต่ถ้าเห็นรูปแล้วมีสติ ไม่ติดในรูป เสวยเวทนาไปก็ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งอารมณ์นั้น ทุกข์ก็มีแต่สิ้นไป ไม่สั่งสมอีกอย่างนี้เรียกว่า ใกล้นิพพาน (ใช่หรือไม่)...”(สํ.สฬา. ๑๘/๑๔๒-๑๔๕)


พระพุทธเจ้าก็ตรัสรับรองความเข้าใจของพระมาลุงกยบุตรรูปนั้นว่าถูกต้องแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่า สติเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความว่างขึ้นในกาย เวทนาและจิต เพราะในขณะที่มีสตินั้นตัวตนก็ไม่มี ก็เมื่อไม่มีตัวตนแล้ว ก็ไม่มีอะไร อะไรให้ต้องเข้าไปยึด ไม่มีฐานที่ตั้งแห่งทุกข์ แห่งสุข ไม่มีที่นี่ ที่โน่น หรือที่ไหนๆ อีก เมื่อนั้นก็ย่อมถึงจุดจบแห่งทุกข์ คือนิพพาน ในทางกลับกัน ถ้าหากไม่มีสติ การหลงเข้าไปยึดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ว่ามีอยู่ ทุกข์ก็เกิดจากตรงนั้น


นี่คือ โศลกที่ยี่สิบสี่แห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา


วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความเจ็บที่มีค่า















โศลกที่ยี่สิบสาม "ความเจ็บที่มีค่า"

สมาธินี้มีคุณค่ามาก
นักปฏิบัติพึงรักษาไว้
ยอมให้กายแหลกเหลว
ยอมให้ขันธ์ถูกทำลาย
ไม่ยอมเลิกล้มการปฏิบัติกลางคัน
ผู้ไม่ปฏิบัติย่อมไม่เข้าใจ
แมลงตัวหนึ่งจับที่แขน
กำหนดจิตแผ่เมตตาให้
หากเคยทำไว้ก็ให้ทำคืน
แมลงตัวนั้นก็กัดทีหนึ่ง
กัดนี้จะมีเจตนาตอบสนอง
หรือมาทดสอบความตั้งใจ
นี่เป็นความเจ็บในธรรมครั้งแรก
เห็นความเจ็บจากกายแล่นเข้าใจ
ความเจ็บที่กลายเป็นอารมณ์ธรรม
ยอมเจ็บไม่ยอมทิ้งสมาธิ
นี่เป็นเจ็บที่งดงามเหลือเกิน




ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้จำนวนมากถึงบุคคลผู้กระทำอะไรอย่างไม่ย่อท้อ กระทำไปจนสุดกระบวนการ กระทำไปด้วยความพากเพียรพยายาม ฝ่าฟันอุปสรรคนานาที่เกิดขึ้น ตามสำนวนจีนที่ว่า “น้ำมากั้นทำนบ ศึกมาตั้งทัพสู้” หมายความว่า ในขณะที่ทำงานไปนั้นจะพบกับปัญหาหลากหลาย ปัญหาใดมาก็แก้ไข การจะไม่ให้มีปัญหานั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ประวัติบุคคลผู้ประสบความสำเร็จทั้งหลายบ่งบอกเสมอว่า ก่อนที่เขาจะประสบความสำเร็จมานั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง คนที่อ่านประวัติผู้อื่นแล้วเข้าใจว่าเป็นเรื่องง่ายก็ลองทำดู แต่ละขั้นตอนแลกมาด้วยค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายไปเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอดหลับอดนอน ไม่ว่าจะลืมทานข้าวทานปลา ไม่ว่าจะเป็นการจากบ้านจากเรือน ไม่ว่าจะเป็นขาดการติดต่อกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นยอมแลกกับคนที่ตนรัก ทุกค่าตอบแทนเหล่านี้ผู้ที่ขึ้นไปยืนอยู่บนความสำเร็จผ่านมาทั้งสิ้นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง


ยังไม่ต้องพูดถึงความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม เป็นการใช้ทุกค่าตอบแทนที่กล่าวไว้ทั้งหมดและยังเพิ่มอีกประการหนึ่งคือ แลกมาด้วยชีวิต เมื่อเปรียบเทียบระหว่างชีวิตกับธรรมแล้วเป็นสิ่งที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ ชีวิตมีค่าอยู่ที่ธรรม เนื่องด้วยธรรม เป็นไปด้วยธรรม ธรรมในที่นี้หมายเอาการปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรม ขันธ์นี้ ชีวิตนี้ไม่ได้มีความหมายอะไรมากมาย เป็นเพียงแค่กองสังขารที่ดำเนินไปตามพลังกรรมที่สะสมไว้ จุดหมายปลายทางและหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนก็คือการใช้ขันธ์นี้ทำลายขันธ์นี้ให้สิ้นสุดลงก็เท่านั้น ไม่ให้เวียนว่ายตายเกิดอีก เป็นการหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสารอันยาวนานนี้ ไม่พึงพอใจกับการเวียนว่ายตายเกิดอีก มีแต่สั่งสมบารมีให้เต็มเปี่ยมเท่านั้น


ประวัติชีวิตของพระพุทธเจ้าตอนที่บำเพ็ญเพียรในชาติขันติวาทดาบส ก็ใช้ความอดทนอย่างยิ่งยวดในการบำเพ็ญเพียรบารมีธรรม เพื่อให้ธรรมนี้เจริญ รักษาไว้ซึ่งธรรม ไม่ยอมทิ้งธรรม ไม่ยอมมีจิตหวั่นไหว ละทิ้งธรรมในยามได้รับทุกข์ เหตุการณ์เกิดขึ้นดังนี้ พระราชาองค์หนึ่งมีโอรสสองพระองค์ พระโอรสองค์โตนั้นเป็นพระโพธิสัตว์มีอุปนิสัยชอบบำเพ็ญเพียรสมณธรรมสั่งสมบารมี จึงไม่รับตำแหน่งเป็นอุปราช พระราชาบังคับอย่างไรก็ไม่ยินยอม ถึงกับยอมตาย ในที่สุดพระราชาก็ยินยอม และยกราชสมบัติให้กับพระราชโอรสองค์เล็กสืบต่อ เหตุการณ์ผ่านไปหลายปี พระราชาองค์ใหม่เสด็จประพาสป่าแล้วพลัดหลงกับข้าราชบริพารทั้งหลาย เหล่าข้าราชบริพารหลงทางไปพบกับฤาษีผู้เป็นพระโอรสองค์โต ทำความเคารพนอบน้อมฟังธรรมอยู่อย่างสงบ เมื่อพระราชามาพบภาพนั้น ก็เกิดความไม่พอพระทัยที่ข้าทาสบริพารของตนไปให้ความเคารพนอบน้อมต่อฤาษีเช่นนั้น พระองค์จึงกล่าวตู่ฤาษีว่า เป็นผู้ล่อลวงให้ข้าทาสบริพารทั้งหลายเชื่อ แม้ฤาษีจะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น อธิบายเหตุผลให้ฟัง พระราชาก็ไม่ยอมรับ พร้อมกับใช้กำลังขู่ให้ฤาษียอมรับในการล่อลวง เมื่อฤาษีไม่ยอมรับ พระราชาจึงได้ใช้พระขรรค์ตัดอวัยวะของฤาษีออกทีละชิ้นเพื่อให้ยอมรับ เมื่อทำเช่นนั้นแล้วพระราชาก็จากไป


ด้วยผลแห่งการกระทำอันรุนแรงต่อท่านขันติวาทดาบส บ้านเมืองก็เกิดทุพภิกขภัย เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว ชาวเมืองทั้งหลายรู้ว่าสาเหตุนี้เป็นเพราะพระราชาได้ทำร้ายพระโพธิสัตว์นั่นเอง จึงขอให้พระราชาไปขอโทษต่อฤาษี พระราชาหลังจากที่ได้ทำบาปกรรมนั้นก็มีพระทัยหม่นหมอง ทุกข์ระทม สำนึกได้ในผลกรรมชั่วที่ทำลงไปจึงได้เข้าป่าไปขอขมาต่อขันติวาทดาบส ท่านดาบสโพธิสัตว์ได้ตั้งสัจอธิษฐานต่อหน้าพระพักตร์ว่า หากแม้พระองค์มีจิตใจอาฆาตมาดร้าย หรือไม่พอใจต่อการกระทำของพระราชาแม้แต่นิดเดียว ขอให้อวัยวะที่ขาดไปอย่าได้กลับมาเหมือนเดิม แต่ถ้าตรงกันข้ามก็ขอให้อวัยวะที่ขาดไปกลับมา ด้วยสัจอธิษฐานนั้น อวัยวะของท่านฤาษีโพธิสัตว์ก็กลับมาเหมือนเดิม นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะทนทุกข์อย่างไร ไม่ว่าจะแลกมาด้วยชีวิตอย่างไร ก็ไม่อาจเปรียบเทียบกับธรรมที่ตนบำเพ็ญได้เลย ไม่อาจละทิ้งธรรมที่บำเพ็ญ


โศลกว่า “ไม่ยอมเลิกล้มการปฏิบัติกลางคัน” เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมได้ดำรงตนตั้งมั่นอยู่ในธรรมแล้ว ก็ไม่ยอมให้ธรรมที่ตนรักษานั้นขาดไปได้โดยง่าย ล้มเลิกโดยง่าย ละทิ้งไปโดยง่าย เหมือนกับใครที่ได้ทำธุรกิจของตน ได้ลงทุนไปเป็นจำนวนมาก การที่จะยอมล้มเลิกกิจการกลางคันง่ายๆ ไม่ใช่วิสัยของนักธุรกิจ ไม่ใช่วิสัยของพ่อค้า เฉกเช่นผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อได้ตั้งใจทำ อธิษฐานใจปฏิบัติธรรม ลงมือทำ ก็ต้องทำไปให้ถึงที่สุดจนกว่าจะได้พบกับผลอันน่าชื่นใจ จะให้ละเลิกง่ายๆ จะยอมละทิ้งธรรมง่ายๆ นั้นไม่ใช่วิสัยที่พระโยคาวจรพึงทำ ไม่ใช่วิสัยของวิญญูชน


ในประวัติศาสตร์มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระโคธิกะ ท่านได้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรมจนกระทั่งได้ฌานสมาบัติ แต่พอหยุดบำเพ็ญ ฌานก็เสื่อมถอย ภาวะแห่งวิถีปุถุชนก็เข้าครอบงำเหมือนเดิม เป็นอย่างนี้บ่อยๆ ท่านรู้สึกว่า การบำเพ็ญเพียรสมณธรรมของท่านนั้นยังไม่สมบูรณ์พอ ไม่เข้มแข็งพอ ไม่ถึงที่สุดพอ แต่จะทำอย่างไรให้การบำเพ็ญเพียรนี้ถึงที่สุดได้ ไม่มีทางอื่นนอกจากเชือดคอตนเองให้สิ้นชีวิตไปเสีย ดีกว่าจะยอมให้ฌานนั้นเสื่อมไปอีก เมื่อตกลงใจดังนั้นท่านจึงได้ใช้มีดเชือดคอตนเองอยู่ที่หน้าผา ในขณะที่ท่านเชือดคอตนเองใกล้สิ้นชีวิตนั้น อาศัยเวทนาเป็นกำลังกล้ามาพิจารณาธรรม ท่านจึงได้บรรลุธรรมพร้อมกับสิ้นชีวิตไป

ตัวอย่างนี้ย่อมอาจเป็นที่น่าสงสัยและแปลกใจสำหรับผู้ไม่ได้ปฏิบัติธรรมว่า ทำไมท่านจึงทำอย่างนั้น นี่เป็นการฆ่าตัวตาย นี่เป็นการกระทำที่สุดโต่ง นี่เป็นการทำที่อยู่ในทางสายกลางหรือไม่ นี่เป็นการเบียดเบียนตนหรือไม่ แต่วิสัยของผู้ปฏิบัติธรรมย่อมเป็นที่เข้าใจผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกันดี อย่าได้นำวิสัยของคนธรรมดา ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปมาตัดสินการกระทำของผู้ปฏิบัติธรรม เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นวิสัยของพระโยคาวจรและพระโพธิสัตว์

โศลกว่า “กำหนดจิตแผ่เมตตาให้” การปลูกความเอื้ออารีให้เจริญงอกงามลงในใจนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจำเป็นต้องทำ ต้องทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ต้องทำให้มากเข้าไว้ เพราะจิตที่เอื้ออารีนี้ย่อมนำมาซึ่งผลอันน่าชื่นใจเสมอ ใครที่ให้ความรักความเมตตาต่อผู้อื่นย่อมได้ความรักความเมตตาตอบ ความเมตตาเป็นความรักประเภทหนึ่ง แต่เป็นความรักในระดับมิติที่สี่ ความรักนั้นมี ๔ ระดับด้วยกัน คือ

๑. ความรักระดับกายภาพ คือ ความรักแบบเพศสัมพันธ์ (Sexual Love) ความรักในระดับนี้เป็นการตอบสนองความต้องการทางกาย (Handily or Physical needs) เมื่อมีความต้องการทางเพศขึ้นก็เริ่มมีความรัก เป็นความรักแบบหนุ่มสาว แบบคู่ครอง แบบชู้รักนั่นเอง เป็นความรักที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเรื่องเพศเท่านั้น รักในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความรักแบบกายภาพนี้ ตราบใดที่ยังได้รับการสนองทางเพศสัมพันธ์ ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็ยังคงความรักอยู่ได้ แต่พอไม่ได้รับการสนอง ความรักก็เริ่มเปลี่ยนไปทันที

๒) ความรักระดับจิตภาพ เป็นความรักแบบเหตุผล (Rational Love) เป็นความรักที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิด ความรักที่มีคำจำกัดความ เป็นความรักที่ตั้งอยู่บนฐานของความลงตัวทางเหตุผล และประโยชน์ (Headily or Thoughtful Love) ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลในเชิงไหน บางคนก็รักกันตามเหตุผลเชิงธุรกิจ บางคนรักกันตามเหตุผลประเพณีวัฒนธรรม บางคนรักกันตามเหตุผลเชื้อชาติ ศาสนา บางคนรักกันบนเหตุผลชอบเหมือนๆ กัน ล้วนแล้วแต่ใช้ความคิดเป็นตัวแสดงความรักทั้งสิ้น ความรักระดับเหตุผลนี้ พอเหตุผลลงตัว ประโยชน์ลงตัว เรียกว่า “win win situation” ก็รักกันตราบนั้น แต่พอไม่ลงตัวก็จบกัน

๓) ความรักระดับอารมณ์ เป็นความรักแบบรู้สึก (Emotional Love) เป็นความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เป็นความรักของเพื่อนที่มีต่อเพื่อน เป็นความรักความผูกพันที่ให้ต่อกันและกันตามสายใยที่เกิดขึ้น (Heartily or Relative Love) เช่น สายใยแห่งญาติพี่น้อง สายใยแห่งชนชาติเผ่าพันธุ์ สายใยแห่งศาสนา เป็นความรู้สึกที่มีให้กับผู้ที่มีสายใยต่อกัน ความรักระดับอารมณ์นี้ก็รักตามสายใย ถ้าต่างสายใยก็ทำใจรักไม่ได้ ถ้าเป็นลูกตนเองก็รักได้ แต่พอลูกคนอื่นทำใจรักไม่ได้ ถ้าเป็นเผ่าพันธุ์ ศาสนาตนเอง ก็รักได้ แต่พอต่างเผ่าพันธุ์ ต่างศาสนาก็ทำใจรักไม่ได้

๔) ความรักระดับเมตตา เป็นความรักแบบเอื้ออารี (Loving Kindness) เป็นความรักของผู้มีจิตเมตตา ไม่มีขอบเขตขวางกั้น เป็นการให้ธรรมคือความเอื้ออารีนี้แผ่ขยายไปในทุกคน (Spiritually or Universal Love) เป็นความรักระดับที่เท่าเทียมกัน ไม่มีแบ่งชั้นวรรณะ ไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศ วัย ระหว่างพืชสัตว์ คน เทพ สิ่งของ เป็นการแสดงความเป็นเพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ และตาย ความรักระดับเมตตานี้ ยิ่งแผ่เมตตาไป เมตตาก็ยิ่งเพิ่มพูน ยิ่งให้ความเอื้ออารี ก็ยิ่งทวีความเอื้ออารีอย่างไม่มีสิ้นสุด ยิ่งมีมิตรไมตรี ก็ยิ่งมีแต่ความเมตตาในใจงอกงาม

ในการบำเพ็ญเพียรสมณธรรม ให้แผ่เมตตาคือความรักระดับเอื้ออารีนี้ มีแต่จิตที่งดงามให้แก่กันและกัน แม้ว่าจะมีการเบียดเบียนกันเกิดขึ้นจากผู้อื่นหรือสัตว์อื่น ผู้ที่แผ่เมตตากลับทวีความเมตตาให้ เพราะความเมตตายังไม่มากพอ เขาจึงเบียดเบียน หรืออาจเป็นเพราะตนได้เคยเบียดเบียนเขาไว้ในกาลก่อน เขาจึงมาตอบแทนผลนั้น เมื่อรู้ดังนี้ก็ยินยอมพร้อมใจให้เขาทดแทน เมื่อทดแทนเสร็จแล้วก็ให้มีความรักความเมตตาต่อกันใหม่ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องตั้งจิตเมตตาไว้เสมอ ไม่สนองตอบการเบียดเบียนนั้น เพราะการสิ้นสุดแห่งเวรภัยย่อมไม่มีด้วยการกระทำตอบ แต่มีด้วยการอภัย แผ่เมตตาอารี เอื้อเฟื้อ อาทรต่อกันและกัน




โศลกว่า “นี่เป็นความเจ็บในธรรมครั้งแรก เห็นความเจ็บจากกายแล่นเข้าใจ” พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติย่อมสามารถแยกแยะเวทนาออกจากจิตได้ เวทนาก็เป็นเวทนา ความรู้สึกเจ็บก็เป็นส่วนเจ็บ ไม่นำมาปนกับจิตที่ปรุงแต่งต่อ จะเห็นได้จากผู้ที่ปฏิบัติจนถึงขั้นแล้วย่อมสามารถกำหนดจิตในการละสังขารได้ ขั้นที่หนึ่งละส่วนกายภาพ (Body) จากนั้นก็เป็นละความความคิด (Head) ความรู้สึก (Heart) และก็สุดท้ายก็เป็นจิตวิญญาณ (Soul) ใครก็ตามพิจารณาเห็นความเจ็บที่ไหลเข้าสู่กับรับรู้ของวิญญาณได้แสดงว่า เข้าถึงการแยกรูปนามได้


โดยปกติผู้คนทั้งหลายย่อมรับรู้ระหว่างความรู้สึกกับการรับรู้เป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากไม่สามารถเข้าใจกระบวนการเกิดของทั้งสองสิ่งนี้และไม่สามารถมีสติกำหนดทันถึงกระบวนการที่เกิดขึ้น ความรู้สึกเป็นเวทนา กระบวนการรับรู้เป็นอยู่ในขั้นปัญจวิญญาณสัมผัสชา เมื่อเกิดการรับรู้ขึ้นจากช่องทางใดช่องทางหนึ่งของขันธ์ ๕ ความรู้สึกจึงเกิด (ผัสสะทำให้เกิดเวทนา) ผู้ปฏิบัติย่อมกำหนดเห็นความเจ็บที่เกิดขึ้นกับกายไหลเข้าสู่กระแสความรู้สึกได้ ดุจดังการใช้เครื่องแยกแสงสว่างออกจากกระแสไฟได้ ในยามที่หลอดไฟติดแล้วก็รู้ว่า แสงสว่างมาพร้อมกับกระแสไฟฟ้า ความเจ็บที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัตินี้เป็นความเจ็บที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรม เพราะเป็นความเจ็บที่ถูกใช้มาพิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยมากเมื่อมีความเจ็บเกิดขึ้น ก็นำไปสู่การปรุงแต่งทั้งสิ้น ไม่ได้นำมาพิจารณาเช่นนี้ ความเจ็บกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับตัวเรา ตัวเราคือผู้เจ็บ ความเจ็บเป็นเรา แต่พอเป็นความเจ็บในธรรมนั้น ความเจ็บก็เป็นส่วนเจ็บ วิญญาณที่รับรู้ความเจ็บก็เป็นส่วนวิญญาณ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ดังนั้น ไม่ได้มีบุคคลผู้เจ็บอยู่ภายในนั้น แต่ด้วยความไม่รู้ว่าความเจ็บกับผู้เจ็บเป็นอะไร มีกระบวนการอย่างไร จึงตกอยู่ภายใต้มายานี้เสมอมา



เมื่อมีสติกำหนดเห็นความเจ็บที่เกิดขึ้นแล้วไหลเข้าไปสู่การรับรู้ความเจ็บนั้น ก็เป็นความงดงามของกระแสสิ่งที่เกิดขึ้นก็เท่านั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไร ความเจ็บที่เกิดขึ้นกับกายนี้เป็นปกติที่ต้องมี ถ้าไม่มีเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นความงดงาม เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ชีวิตย่อมมีความเจ็บปวดเป็นธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจ็บปวดที่เกิดจากการกระทำของสัตว์มีพิษในขณะปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นยุง เหลือบ ริ้น ไร มด แมลง ชีวิตนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อสัตว์ทั้งหลายก็เป็นธรรมชาติ ทุกอย่างจึงงดงามไม่มีอะไรให้ต้องวิตกกังวลในความเจ็บปวดทั้งสิ้น กลับยินดีที่ทำให้ได้นำความเจ็บนั้นมาพิจารณาในธรรมได้อีก
ความเจ็บปวดที่เป็นปัญหา ก็คือความเจ็บปวดที่เกิดจากความคิดของตนเองต่างหากที่อันตราย ผู้คนทั้งหลายสามารถฆ่ากันได้เพียงเพราะวาจาถากถาง ฆ่ากันได้เพียงแค่เหยียบหัวแม่เท้าของกัน ฆ่ากันได้เพียงแค่ได้ยินเขานินทา ฆ่ากันได้เพราะคำตำหนิเล็กน้อย ฆ่ากันได้เพราะจอดรถขวางทาง นั่นเพราะอะไร ก็เพราะความเจ็บที่เกิดจากความคิดของตนเองทั้งนั้น ไม่ได้เป็นความเจ็บที่งดงาม เป็นความเจ็บที่อัปลักษณ์อย่างยิ่ง ไม่ใช่ความเจ็บที่มีจริง เป็นแต่การสร้างขึ้นของจิตที่คิดเท่านั้น เป็นเพียงมายา แต่มายานี้กลับมีพลังสามารถทำให้คนเป็นบ้าได้ ทำให้คนโหดเหี้ยมได้ ทำให้คนเป็นโรคจิตได้ พวกนักจิตวิทยาทั้งหลายมีงานทำก็เพราะต้องมาแก้ไขความเจ็บประเภทนี้




การสร้างความเจ็บขึ้นมาเองของความคิดเป็นเรื่องที่แปลกและเป็นโศกนาฏกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ เป็นเรื่องอันตรายมากสำหรับมนุษย์ ถ้าสัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่น ไม่ว่าเป็นสุนัข แมว วัว ควาย ช้าง ม้า รู้ว่ามนุษย์คือสัตว์ประเภทเดียวที่สร้างความเจ็บปวดขึ้นมาเองได้แล้วก็คร่ำครวญต่อความเจ็บปวดนั้นเสียเอง พวกมันคงหัวเราะเยาะกันไปทั่วว่า ทำไมต้องทำอย่างนั้น ความเจ็บปวดนั้นไม่ได้มีจริงสักนิด เป็นแต่ความคิดสร้างขึ้นมาแล้วก็ยึดเอาว่านั่นแหละความเจ็บปวดที่ถูกผู้อื่นกระทำ ช่างน่าขำโดยแท้ ถ้าหากเป็นแผลอันเกิดจากการได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่เห็นต้องเข้าไปทุกข์ระทมกับมันเลย นั่นก็เป็นปกติของชีวิต พึงเห็นเป็นความงดงาม เป็นความบาดเจ็บที่งดงาม มันเกิดได้ก็หายได้ อย่าได้ถูกความคิดลวงเอาเลย อย่าได้ถูกพิษจิตปรุงแต่งทำร้ายเอาเลย พึงนำเอาความเจ็บที่จริงๆ มาพิจารณาเถิด



นี่คือ โศลกที่ยี่สิบสามแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา



วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สายโลก สายธรรม

โศลกที่ยี่สิบสอง "สายโลก สายธรรม"



ทางที่เน้นจิตวิญญาณ
ทางที่เน้นประสาทสัมผัส
ทางสายโลกกับสายธรรม
ทางสองสายที่สวนทางกัน
ทางสายโลกไม่คำนึงผลภพชาติ
ทางสายธรรมเกรงภัยในวัฏฏะทางที่นำไปสู่ผลอันน่ากลัว
ทางธรรมจึงระวังภัยให้ทางโลก
ทางสองสายมาบรรจบกันได้
ทางสายโลกรู้ทางสายธรรม
ทางสายธรรมเชื่อมทางสายโลก
ทางสองสายหลอมรวมกัน
ทางทั้งสองคือทางเดียว
ทางแห่งการหลุดพ้น


ท่านพระนาคารชุน พระนักปราชญ์อัจฉริยะในพระพุทธศาสนายุค ๖๐๐ ปี หลังพุทธกาล ถูกถามเสมอๆ ว่า “ถ้าทุกอย่างว่างเปล่าแล้วนรก สวรรค์ จะมีได้อย่างไร” ไม่แปลกเลยที่คนทั้งหลายจะถามคำถามนี้ขึ้นมา คนทั้งหลายไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ความว่างดำรงอยู่อย่างไร ถ้าทุกสิ่งมีแต่ความว่างเปล่าแล้วเหตุใดจึงมีความดี ความชั่ว มีนรก สวรรค์ มีบาป บุญ คุณ โทษ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะด้านหนึ่งแสดงในแง่ของปรมัตถ์ อีกด้านหนึ่งเข้าใจได้แต่สมมติ ก็ทางสองสายที่ไปคนละด้าน สวนทางกัน ไม่เข้ามาบรรจบกัน


ฝ่ายหนึ่งกำลังยกทางสายสมมติมาแสดงในแง่ปรมัตถ์ แล้วพยายามทำให้ฝ่ายที่เข้าใจได้แต่เฉพาะสมมติเข้าใจในปรมัตถ์ที่ตนสื่อแสดง อีกฝ่ายหนึ่งก็มองเห็นได้แต่เพียงสมมติเท่านั้น จึงเข้าใจไม่ได้ สงสัยว่าอีกฝ่ายกำลังนำเสนออะไรที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากข้อจำกัดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางมิติแล้ว ยังมีข้อจำกัดด้านภาษาอีก ภาษาที่ใช้กันอยู่ และที่มีอยู่ไม่สามารถแสดงออกมาให้เห็นมิติที่สูงเกินได้ ก็ภาษาเหล่านี้เป็นภาษาในระดับสมมติเท่านั้น การใช้ภาษาสมมติจึงไม่อาจทำให้เข้าใจปรมัตถ์ได้อย่างครอบคลุม บางครั้งอาจทำให้คลาดเคลื่อนไปด้วยซ้ำ

ทางสายโลกใช้ความคิด (Head) เป็นเครื่องนำพา คำนวณเอาตามมิติที่ตนคุ้นเคย ไม่เคยข้ามพ้นไปสู่มิติอื่น ไม่เคยแม้กระทั่งยอมรับว่ามีมิติอื่นอยู่ด้วย แม้จะกล่าวว่ามีมิติเช่นนั้นอยู่ แต่ก็ต้องผ่านความคิดเสียก่อนจึงจะเชื่อ จึงจะเข้าใจได้ ก็มิติแห่งความว่างนั้นอยู่ในมิติที่สี่ กลายเป็นว่า การใช้มิติที่สองคือ ระดับความคิดเข้าถึงมิติที่สี่ คือความว่าง จึงเป็นการเข้าถึงได้ทางความคิดเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ความว่างที่แท้



เปรียบเหมือนคนฝันไปว่าร่ำรวย ฝันไปว่าไปต่างประเทศ ฝันไปว่าได้เป็นพระราชา ฝันไปว่าได้แต่งงานกับเจ้าสาวที่แสนสวย สุดท้ายก็เป็นได้แต่ในความฝัน เพียงแต่ฝันนั้นช่างเป็นจริงเป็นจังเสียเหลือเกิน ไม่เพียงแต่ฝันในยามหลับเท่านั้น แม้ยามตื่นแล้วก็ยังฝันอีก ในยามหลับนั้นฝันออกมาเป็นภาพ แต่ในยามตื่นผู้คนฝันเป็นตัวหนังสือ บุคคลเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับพวกนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่ไม่ยอมเชื่ออะไรที่ล่วงพ้นไปจากประสาทสัมผัสที่สามารถพิสูจน์ได้ (Hand) และก็ไม่ต่างไปกับพวกนักปรัชญาที่ไม่ยอมเชื่ออะไร หากสิ่งนั้นไม่มีเหตุผล เข้าไม่ได้กับตรรกะที่ตนคิดใคร่ครวญไว้ (Head)



ดังนั้น ทางสายโลกนี้จึงประกอบไปด้วยทางทั้งสองสาย คือ ทางสายที่ใช้วัตถุสัมผัสเป็นเครื่องนำพา และทางสายที่ใช้ความคิดเป็นเครื่องนำพา ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือนักปรัชญาทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่อยู่ในระดับมิติที่หนึ่งและมิติที่สอง หากใครก็ตามกล่าวอะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ตามแนววิทยาศาสตร์ และพิสูจน์ไม่ได้ตามแนวปรัชญา ล่วงพ้นการพิสูจน์ด้วยประสาทสัมผัสและพ้นจากความคิดของเขาไป ก็ถูกปฏิเสธทั้งสิ้น

พระนาคารชุนได้ใช้มิติที่สี่มาแสดงให้แก่ทางสายโลก จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะเข้าใจได้ง่ายๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยึดในทางสายโลกของตนอย่างแนบแน่น กอดไว้ไม่ยอมปล่อย ท่านพยายามแสดงให้เห็นว่า เมื่อใดก็ตามถ้าหากเข้าถึงมิติที่สี่จึงจะข้ามพ้นดี ชั่ว บุญ บาป นรก สวรรค์ ถ้าหากยังไม่เข้าถึงก็ต้องตกอยู่ภายใต้สมมตินี้อยู่ต่อไป ก็ในเมื่อเรายังไม่สามารถเห็นสรรพสิ่งเป็นความว่างได้


ตราบนั้นก็ยังคงตกอยู่ในการยึดมั่นของตนอยู่นั่นเอง ก็ยังคงมีดี ชั่ว มีบุญ บาป มีนรก สวรรค์ อยู่ต่อไป เพราะสิ่งเหล่านี้มีขึ้นก็ต่อเมื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่น กลายเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ท่านพุทธทาสก็ได้ใช้ทางสายธรรม มิติที่สี่สื่อแสดงในประเทศไทยเกือบตลอดชีวิตของท่าน ก็พบอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากความคลาดเคลื่อนทางมิตินี่เอง

คำว่า สายธรรม ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมด้วยความคิด แต่หมายถึง ผู้ปฏิบัติธรรมด้วยสติ ก็ในเมื่อเข้าถึงมิติที่สี่ด้วยการปฏิบัติบำเพ็ญให้เกิดปัญญาแล้ว ก็ไม่มีอะไรหลงเหลืออีก ไม่มีอะไรสงสัยอีก ทุกอย่างมีแต่ความว่างเท่านั้นคงอยู่ เมื่อทุกอย่างว่างแล้วจะมีนรก สวรรค์ บุญ บาป ดี ชั่ว จากที่ไหนอีก ด้วยเหตุนี้พระอริยเจ้าทั้งหลายจึงข้ามพ้นบุญ บาป นรก สวรรค์ ดี ชั่วไปได้ ที่เราท่านยังมีบุญ บาป มีนรก สวรรค์ ก็เพราะยังไม่สามารถเข้าถึงมิติที่สี่นี่เอง

โศลกว่า “ทางสายโลกไม่คำนึงผลภพชาติ” ก็ในเมื่อทางสายโลกนั้นยังต้องตกอยู่ภายใต้ภัยของวัฏฏะ การกระทำทุกอย่างที่ทำลงไปมีผลทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภัยที่เกิดกับสายธรรมอีกด้วยแล้ว ยิ่งเป็นภัยอันน่ากลัว มีผลมาก หากพลาดพลั้งไปครั้ง ผลที่เกิดกับเขายาวนาน ดุจดังการปล่อยให้เด็กที่ไม่รู้จักไฟ จับไฟ ผลของการจับไฟทำให้มือพุพอง มือไหม้ กว่าจะหาย เมื่อหายแล้วก็ไม่เป็นปกติ บางครั้งแผลนั้นปรากฏเป็นแผลเป็นตลอดชีวิตเพราะไฟไหม้เพียงครั้งเดียว ด้วยเหตุนี้สายธรรมจึงต้องคอยระวังสายโลกมิให้ทำผิดพลาดเข้ามาจับไฟให้เสียเอง คือ ต้องยกไฟหนีเสียเอง เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย เกรงว่าจะเป็นภัยต่อผู้ที่ไม่ปฏิบัติจึงต้องระมัดระวังตนเอง ไม่ให้เกิดภัยต่อผู้ไม่ปฏิบัติอื่น

ภัยในภพชาตินั้นน่ากลัวกว่าภัยที่ปรากฏนี้หลายเท่า เพราะหากเกิดพลาดพลั้งต่อผู้ทรงศีล ภัยที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ชีวิตต้องเป็นไปตามผลของกรรมนั้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเขายังตกอยู่ในมิติที่หนึ่งและมิติที่สอง มิติทั้งสองนี้ยังคงมีความมีอะไรอยู่ในนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือ เชื้อแห่งการกระทำ คือกรรมนั้นยังมีอยู่ เมื่อกระทำ ย่อมมีผลของการกระทำเสมอ นี่เป็นกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เรียกว่า กฎแห่งกรรม ต้องข้ามพ้นกรรมนี้ไปก่อนจึงจะข้ามพ้นกฎนี้ จะข้ามพ้นได้อย่างไร ก็ต้องข้ามพ้นด้วยการมีสติกับการกระทำ สติที่อยู่กับการกระทำย่อมทำให้เข้าถึงมิติที่สี่ได้ เพราะสติทำให้ไม่หลงเข้าไปยึดในความคิด ไม่หลงเข้าไปยึดในประสาทสัมผัส ไม่หลงเข้าไปยึดในอารมณ์ สุดท้ายก็คือ ไม่หลงเข้าไปยึดในขันธ์ ๕ นี่เอง


ก็เมื่อเข้าถึงความว่างในขันธ์ ๕ การไม่หลงเข้ายึดในขันธ์ ๕ เมื่อไม่ยึดในขันธ์ ๕ ก็ไม่เหลืออะไรที่เป็นผลต่อไปอีก การไม่หลงเข้าไปยึดก็เพราะมีสติอยู่ตลอดในการกระทำ เมื่อการกระทำมีสติอยู่ตลอดเวลา การกระทำก็ไม่เป็นกรรมอีกต่อไป เป็นแต่เพียงกิริยาอาการเท่านั้น พระพุทธศาสนาเน้นย้ำเหลือเกินให้ชาวพุทธเดินตามทางสายนี้ การสอนเรื่องกรรมมิใช่ให้เดินตามกรรม แต่ให้พ้นจากกรรม ทางที่เป็นกรรม ก็คือ ทางสายดี ชั่ว แต่พระพุทธศาสนาเน้นย้ำให้พ้นดี พ้นชั่ว เป็นกรรมไม่ดำไม่ขาวเท่านั้น

โศลกว่า “ทางสายโลกรู้ทางสายธรรม ทางสายธรรมเชื่อมทางสายโลก” การที่พระอริยสงฆ์ในพระพุทธศาสนาพยายามเผยแผ่พระพุทธศาสนาในภาษาของโลกนั้นก็เพื่อให้ทางสายโลกเข้าใจสายธรรม ถ้าไม่บอกให้เขาเข้าใจเป็นมโนภาพไว้ก่อนก็ไม่สามารถที่จะสร้างศรัทธาในการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรม คือ ความว่างได้ เช่น การยกตัวอย่างบุคคลที่ได้รับผลของความดี และความชั่วที่ปรากฏให้เห็นในโลกนี้ หรือในปรโลก ถ้าเป็นตัวอย่างของคนดีก็ให้กระทำตาม เพราะภาพนั้นเป็นความสุข เป็นความสบาย สะดวก แต่ถ้าเป็นตัวอย่างคนชั่ว ก็ให้เกรงกลัว ละเว้น เพราะเป็นความทุกข์ เดือดร้อน ลำบาก การเชื่อมความรู้เช่นนี้ทำให้ทางสายโลกเข้าไปรับรู้ในทางสายธรรมไว้ก่อน

ทางสายธรรมก็เชื่อมทางสายโลกไว้ไม่ให้หลุดขั้ว จุดเชื่อมที่แสดงให้เห็นภาพเพื่อสร้างเสริมศรัทธาให้สายโลกเข้าใจสายธรรม ก็คือ การแสดงหลักอนุปุพพิกถา ได้แก่ ถ้อยอธิบายที่ลาดลึกลงไปตามลำดับจากระดับมิติที่หนึ่ง ไปสู่มิติที่สอง ลึกสู่มิติที่สาม และเข้าถึงมิติที่สี่ ลำดับแห่งถ้อยคำอธิบายนี้เป็นการสะสมบารมีความเข้าใจไปเรื่อยๆ เป็นการสร้างพื้นฐานให้คนที่อยู่ในระดับที่หนึ่ง สอง สาม ได้มีความเข้าใจจุดเชื่อมมิติที่สี่ได้

กระบวนการสร้างฐานที่ ๑ กระบวนการสร้างฐานช่วยเหลือกันและกัน การแบ่งปัน เอื้อเฟื้อต่อกัน การอุปถัมภ์ อุปัฏฐาก ดูแล บุคคลที่เคารพนับถือ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายให้แก่ตนเองและผู้อื่นให้ได้รับความสะดวก สบาย นอกจากนั้นให้สร้างฐานมิติที่หนึ่งด้วยการเคารพกฎเกณฑ์กติกาสังคม ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นทั้งทางกายและวาจา รู้จักสิทธิและหน้าที่ของกันและกัน นอกจากนั้นยังไม่ทำลายสุขภาพร่างกายตนเองด้วยการดื่มและทานสิ่งอันเป็นพิษ เป็นโทษ เป็นภัย ทำให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น นี่เป็นการสร้างฐานที่ ๑ กระบวนการนี้เป็นการสร้างฐานมิติที่หนึ่งอันเป็นทางด้านกายภาพ

กระบวนการสร้างฐานที่ ๒ กระบวนการสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้น เป็นการแสดงตัวอย่างให้คิดเอาได้ ตรองเอาได้ พิจารณาเอาได้ กระบวนการนี้เป็นกระบวนการคิดถึงผลที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตและสังคม ใช้เหตุผลอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ใช้ตรรกะ อนุมานเอาได้ ทั้งการอนุมานฝ่ายบวกและฝ่ายลบ ฝ่ายบวกก็เป็นคุณงามความดี ฝ่ายลบก็เป็นความชั่วโทษภัย สามารถแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ

๑) การอนุมานเอาจากภายในจิตใจ ถ้าเป็นทางบวกก็เป็นความยินดี เป็นความสุข เป็นความเบิกบาน บันเทิง ยิ้มแย้ม แจ่มใส ไม่วิตกกังวล ถ้าเป็นด้านลบก็เป็นตรงกันข้าม คือ มีแต่ความทุกข์ระทม หวาดผวา นั่งไม่เป็นสุข นอนไม่เป็นสุข ทุรนทุราย มีแต่ความเครียด ภายในใจของตนเป็นเช่นไร อนุมานเอาได้ของผู้อื่นก็เป็นเช่นนั้น

๒) การอนุมานเอาจากภายนอก เป็นภาพที่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตา ด้วยหู ก็อนุมานเอาได้ถึงความสุขหรือความทุกข์ได้ ถ้าเป็นทางบวก ก็สามารถเห็นทรัพย์สินศฤงคาร ยศถาบรรดาศักดิ์ บริวารห้อมล้อมคอยช่วยเหลือ ได้ยินแต่วาจาสุภาพหวานหู มีแต่ความสะดวกสบายทุกประการ ไม่ขัดสนกับการดำเนินชีวิตทุกด้าน แต่ถ้าเป็นทางลบก็ตรงกันข้าม มีแต่ความลำบากขัดสนนานาประการ

๓) การอนุมานจากภพอื่น เป็นการอนุมานพ้นจากภาพที่เห็นปัจจุบัน เป็นเรื่องอนาคต แต่ก็สามารถคาดคะเนได้ ถ้าหากเขามีความสุขอย่างนี้วันนี้ วันพรุ่งนี้ก็คงมีความสุขเช่นนั้น ชาตินี้มีความสุขอย่างนี้ ชาติหน้าก็ได้รับความสุขอย่างนั้น ฐานทำไว้ในวันนี้ดีวันพรุ่งนี้ก็อนุมานเอาได้ตามเหตุนั้น สถานอันเป็นที่รื่นรมย์และสะดวกสบายย่อมรอรับเขาแน่นอนถ้าหากทำดี ตรงกันข้ามหากทำเหตุไว้ไม่ดี ก็อนุมานเอาได้ว่า คงต้องได้รับผลแห่งความไม่ดีในวันอื่น สถานอันเป็นที่ลำบากต้องปรากฏแก่เขาแน่นอนถ้าหากทำไม่ดี นี่คือ ๓ มิติของฐานที่ ๒

กระบวนการสร้างฐานที่ ๓ ความเคลื่อนไหวทางอารมณ์เป็นตัวแปรที่สำคัญทำให้สิ่งที่ดำรงอยู่ ครอบครองอยู่หมุนเวียนเปลี่ยนแปร จากสุขเป็นทุกข์ จากทุกข์เป็นสุข ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน เพราะความทุกข์มิใช่มีช่องทางเดียวที่จะเกิดขึ้น ไม่อะไรก็อะไรสักอย่างเป็นแน่ อย่างน้อยก็ทุกข์เพราะความแก่ ความเจ็บ ทั้งมาจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้อารมณ์ไม่คงที่ได้


เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความอยากเป็นตัวขับเคลื่อนที่อยู่ภายในได้ชักจูงอารมณ์เหล่านั้นเข้ามา ถ้าได้ตามที่คาดหมายก็พอใจ ถ้าไม่ได้ตามที่คาดหมายก็เสียใจ ทุกข์ใจ แล้วอะไรละที่จะยืนยงดำรงอยู่อย่างนั้นตลอดไป แม้กระทั่งตนเอง สุดท้ายก็ต้องละขันธ์นี้ไว้ ละสรรพสิ่งทั้งหลายที่ครอบครองไว้ แล้วจากไปอย่างเดียวดาย การเชื่อมฐานนี้เองที่ทำให้โน้มสายโลกเข้ามาแตะทางธรรม

กระบวนการสร้างฐานที่ ๔ เมื่อสายโลกแตะสายธรรมได้แล้ว ครานี้ก็เป็นหน้าที่ของสายธรรมสายเดียวที่จะต้องทำหน้าที่ สายธรรมนี้มิใช่ธรรมะที่เรียกว่าทวิภาวะอีกต่อไป ธรรมะในที่นี้เรียกเอกภาวะที่เป็นความว่างที่ดำรงอยู่อย่างนั้น ความว่างนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างฐานไว้เชื่อมระหว่างสายโลกและสายธรรมบรรจบกันในระดับที่ ๓ ไว้ก่อนแล้ว กระบวนการแห่งการสร้างสติให้เกิดขึ้น เมื่อสติเกิดขึ้นก็เป็นความว่างทันที สติที่จะมีพลังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสร้างฐานในแต่ละระดับไว้ก่อน เพราะฐานแต่ละฐานนั้นจะช่วยกัน กั้น และขจัดเมฆหมอกแห่งสมมติออกไป ความรู้ตัวที่ไม่ผ่านความคิดนั่นแหละเป็นความรู้ตัวที่แท้ ส่วนคิดรู้ตัวยังมิใช่รู้ตัวที่แท้จริง

โศลกว่า “ทางทั้งสองคือทางเดียว” จุดสำคัญของการเชื่อมโยงทางทั้งสองสายให้มาบรรจบกันเพื่อแสดงให้เห็นว่า แท้จริงนั้นทางทั้งสองสายมีเพียงสายเดียวเท่านั้นที่พระพุทธศาสนาแสดงไว้ในโลกใบนี้ ก็คือ ทางแห่งการปฏิบัติตนล่วงพ้นจากความดี ความชั่ว พ้นจากสุข ทุกข์ พ้นจากบุญ บาป พ้นจากนรก สวรรค์ เหลือแต่เพียงการปฏิบัติที่ไม่อะไรให้เข้าไปยึดถือ สิ่งต่างๆ เป็นเพียงการประกอบกันขึ้นของขันธ์ การเข้าไปยึดในขันธ์จึงมีบุญ บาป ดี ชั่ว เป็นทวิภาวะขึ้นมา แต่พอมีสติสลายขันธ์ ทุกอย่างก็เอกเป็นเอกภาวะ เป็นภาวะแห่งความว่างที่สงบเย็นบริสุทธิ์เท่านั้น นี่คือ “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ เอสมคฺโค วิสุทธิยา”

เมื่อกล่าวถึงทางสายเอก ก็คือทางสายกลาง ความเป็นกลางของทางสายนี้ก็คือ การไม่ตกไปสู่ส่วนที่เรียกว่า สุข หรือ ทุกข์ เป็นทางที่พ้นจากส่วนสุดทั้งสองประการ ส่วนสุดที่เป็นทวิภาวะ มีเพียงเอกภาวะเท่านั้น จักรของการปฏิบัติที่พร้อมเพรียงกันไม่ก่อนไม่หลัง จากสามเป็นหนึ่ง (Trinity in Unity)


จักรใบหนึ่งคือ จักรแห่งความเต็มเปี่ยมทางกายภาพ ได้แก่ว่าง จักรใบที่สองคือ จักรแห่งความเต็มเปี่ยมทางจิตภาพ ได้แก่ว่าง จักรใบที่สามคือ จักรแห่งความเต็มเปี่ยมของปัญญภาพ ได้แก่ ความรู้แจ้งแห่งอนัตตภาวะ เมื่อจักรแห่งความว่างทั้งสามใบหมุนพร้อมกันจึงกลายเป็นเอกภาวะ ไม่เหลือช่องว่างของทวิภาวะให้เข้ามาแทรกได้อีกเลย เรียกภาวะนี้ว่า มรรคสมังคี ความพร้อมเพรียงกันแห่งมรรคนั่นเอง

นี่คือ โศลกที่ยี่สิบสองแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ผลิดอก ออกผล



โศลกที่ยี่สิบเอ็ด "ผลิดอก ออกผล"

ก่อนรุ่งอรุณอากาศสดชื่น
เป็นช่วงเวลาเหมาะสมปฏิบัติ
บ่ออารมณ์ยังไม่กระทบมาก
ตั้งจิตเข้าสู่สนามฝึก
บำเพ็ญเพียรสมณธรรม
เป็นงานเฝ้าดูรู้ลมหายใจ
เวลาสัปปายะอย่างนี้มีน้อย
จงใช้อย่างคุ้มค่าเต็มที่
อานิสงส์แห่งจิตภาวนา
มีคุณค่าเกินคณานับ
ความสุขที่เราสัมผัสได้
ก้าวหน้าดีทั้งจิตและธรรม






งานของผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรม เป็นงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพียงแต่เข้าไปกำหนดตั้งสติไว้ที่ลมหายใจรู้สั้น ยาว เข้า ออก รู้ความสงบเย็นแห่งลม ก็เท่านั้น เริ่มต้นตามภาษาบาลีว่า ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา, อุชุกายํ ปณิธาย ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายให้ตรง เข้าไปตั้งสติไว้ก่อน ก็หมายความว่า ตั้งสติไว้ที่ลมหายใจ สั้น ยาว เข้า ออก รู้อาการที่ลมหายใจเท่านี้เอง งานมีอยู่เท่านี้เองจริงๆ ทำไปให้ตลอด ทำไปอย่างต่อเนื่อง ทำไปอย่างไม่ลดละ ทำไปไม่หยุด นี่เองที่เป็นการอบรมจิตภาวนา ความง่ายนี้มันง่ายในวิธีการ แต่ความยากมันอยู่ที่สตินั้นไม่อาจตั้งมั่นยาวนานให้อยู่กับลมหายใจ เพราะใจนั้นจะซัดส่ายกวัดแกว่งไปตามที่ที่มันอยากจะไปอดีตบ้าง อนาคตบ้าง เมื่อซัดส่ายไปสามารถเกาะเกี่ยวอะไรได้ก็จะเข้าไปปรุงสิ่งนั้น นี่แหละความยากอยู่ที่นี่ อาศัยความไวแห่งจิตนี้เองจึงทำให้งานง่ายๆ กลายเป็นงานยากขึ้นมาได้



หลักการสำคัญของการทำงานนี้ก็คือ ไม่ไหลไปกับจิตที่มันกวัดแกว่งไปมา มันจะไปมาก็เรื่องของมันไม่ต้องไปใส่ใจ กลับมาอยู่ที่ลมหายใจสั้น ยาว เข้า ออก อย่างนี้ตลอด จนกระทั่งกาลเวลาผ่านไป เวลาผ่านไปตรงนี้ไม่สามารถบอกได้ว่า ประมาณเท่าใดขึ้นอยู่กับความสามารถ (วสี) ของผู้ฝึก บุญบารมีของผู้ฝึก อินทรีย์ของผู้ฝึก ในขณะที่ทำงานนี้อยู่ สติก็จะเริ่มมีวิวัฒนาการก่อตัวเป็นพลังขึ้นมา ตามหลักแห่งอินทรีย์ที่กลายเป็นพลัง เรียกว่า “ภาวนา” แล้ว ก็คือ สติเจริญแล้ว เมื่อสติเจริญ โอกาสที่จะให้จิตกวัดแกว่งไปก็ทำได้ยากขึ้น จิตไม่กวัดแกว่งไป จิตก็สลายไป เหลือแต่สติอยู่กับลมหายใจ ต้องระมัดระวังอยู่ตามกำหนดไปที่จิต (ความคิด) ที่กวัดแกว่งไป เพราะความไวของจิตที่เคลื่อนที่นั้น เกินกว่ากำลังสติจะเข้าไปจับได้ทัน มันกระโจนจากสิ่งนี้ไปสิ่งนั้น จากที่นั้นไปที่โน้น จากอดีต สู่อนาคต อย่างนี้จึงไม่ควรนำสติไปไล่กำหนดตาม




หน้าที่หลักก็คือ กลับมาที่ลมหายใจนั่นแหละดีที่สุด จิตจะไปไหนก็ปล่อยมันไป แต่เราไม่ใส่ใจ สติเราจะอยู่กับลมหายใจสั้นยาว เข้าออก เท่านั้น เมื่อผ่านช่วงเวลาปรับตัวไปแล้ว เข้าสู่ช่วงภาวนาเต็มที่ เมื่อนั้นความแจ่มกระจ่างในการทำงานจะปรากฏขึ้น อะไรกันที่แจ่มกระจ่าง ก็ลมหายใจยังไงที่แจ่มกระจ่าง เมื่อลมแจ่มกระจ่าง ลมหายใจก็เป็นเพียงลมหายใจเท่านั้นที่เข้าออก ไม่เหลือความสั้นยาวอีกต่อไป เมื่อกาลเวลาแห่งความแจ่มกระจ่างของลมหายใจนี้ผ่านไป จนเหมาะแก่กาลเปลี่ยนแปลง ลมหายใจก็เข้าสู่ภาวะสงบเย็น เรียกว่า สงบระงับ (กายสังขารัง ปัสสัมภยัง)




รอกาลเปลี่ยนแปลง คำนี้มีความหมายมาก ไม่เพียงเฉพาะการทำงานอะไรก็แล้วแต่ รอกาลสุกงอมของแต่ละสิ่ง ทุกสิ่งนั้นมีจังหวะและช่วงเวลาของมันอยู่ เปรียบเหมือนการเปิดหน้าหนังสือจากหน้าหนึ่งไปสู่อีกหน้าหนึ่ง เปรียบเหมือนการรอกาลเปลี่ยนแปลงของคน ช่วงเช้าแจ่มใส พอสายขุ่นมัวสับสน กาลเบ่งบานแห่งบัวที่รอแสงตะวัน คำว่ารอไม่ใช่หมายถึงไม่ทำอะไร แล้วรอ นั่นไม่ถูกต้อง การรอในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจิตใจเฝ้ารอ แต่เป็นการก่ออิฐซ้อนไปมาจนกลายเป็นผนังบ้าน ความเป็นอิฐก็หายไปในขณะนั้น ผนังบ้านเกิดขึ้นมาแทนที่ นั่นคือกาลเปลี่ยนแปลง เมื่ออิฐเปลี่ยนเป็นผนังบ้าน ผนังบ้านจะมีลักษณะของผนังบ้านไม่ใช่
ลักษณะของอิฐ มีความสามารถ หน้าที่ และภาวะต่างไปจากอิฐ เช่นเดียวกันกับลมหายใจที่แปรเปลี่ยนเป็นสงบระงับเย็น ลมหายใจก็มีภาวะอีกต่างหากของลมหายใจ มิใช่ลมหายใจตอนต้น ตอนนี้ลมหายใจผ่านกาลเปลี่ยนแปลงมาแล้ว สติพึงโน้มนำยกขึ้นสู่ภาวะแห่งพิจารณา ขณะนี้เองเรียกว่า “กายอันเหมาะแก่การงาน”



โศลกว่า “บ่ออารมณ์ยังไม่กระทบมาก” ตามปกติพลังแห่งความรู้สึก (Sensibility) ของทุกคนนั้นมีความฉับไวมาก และเป็นพลังความรู้สึกที่เป็นไปกับธรรมชาติที่ดำรงอยู่ในสรรพสิ่ง สัมผัสได้ทั้งสายลม แสงแดด ดินฟ้าอากาศ พืช ไม้ ใบหญ้า สิงสาลาสัตว์ แต่พอพลังแห่งสัมผัสนี้ถูกกระทบมากๆ เข้า พลังแห่งความรู้สึกนี้ก็สิ้นสุดความเป็นธรรมชาติไป กลายเป็นพลังความรู้สึกที่ถูกตัณหาผลักดันเสียสิ้น พลังแห่งความอยากนี้ได้ทำลายจิตสัมผัสนั้นไป ด้วยเหตุนี้การฝึกปฏิบัติของพระโยคาวจรทั้งหลายจึงต้องฝึกปฏิบัติในที่อันสงบ สงัด วิเวก เพราะต้องการทำให้จิตสัมผัสนี้กลับมาเป็นธรรมชาติอีกครั้ง กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง กลับมามีจิตวิญญาณอีกครั้ง เมื่อใดที่มีแต่พลังของตัณหาเต็มพื้นที่ จิตสัมผัสนั้นก็รับเอาพลังตัณหานั้นเข้ามาหล่อเลี้ยง พลังตัณหานั้นได้ทำลายพลังแห่งผัสสะนั้นไป สังเกตดูได้ในป่าคนในเมือง จิตสัมผัสของคนเมืองนั้นไม่หลงเหลือจิตสัมผัสนั้นอีกแล้ว กลายเป็นวัตถุเดินได้ไปแล้วทั้งสิ้น ความรู้สึกที่มีต่อธรรมชาติไม่หลงเหลืออยู่อีกเลย ผู้คนไม่รับรู้ถึงความหิวโหยของคน ไม่รับรู้ถึงความรักของคน ไม่รับรู้ถึงความเดือดร้อนของธรรมชาติใดๆ อีกต่อไป นี่คือความสูญสิ้นไปและตายไปของจิตสัมผัส เหมือนคำที่ใช้กันในโลกของคนเสพกามว่า “พวกกามตายด้าน” เช่นเดียวกันกับ “พวกสัมผัสตายด้าน”


มีแต่ช่วงเวลาที่บ่อสัมผัสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่กับธรรมชาติ ไม่ถูกกระทบด้วยพลังทำลายผัสสะเหล่านั้น จึงจะทำให้ผัสสะเหล่านี้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ตามธรรมชาติ บ่อสัมผัสของแต่ละบ่อนั้นมีพลังแห่งผัสสะที่เป็นธรรมชาติ มีความไวต่อธรรมชาติ จึงไม่แปลกที่ในโบราณมีแต่เรื่องเล่าว่า มนุษย์สื่อสารพูดคุยกับสิงสาลาสัตว์ ต้นไม้ใบหญ้าได้ ก็เพราะทุกสิ่งใช้ผัสสะแห่งธรรมชาตินั้นสื่อสารกัน ตราบเมื่อผัสสะนี้ของมนุษย์ถูกทำลายไปด้วยพลังอำนาจตัณหา พลังแห่งผัสสะนั้นก็ถูกทำลายไปพร้อมด้วย

ในยามที่ความเงียบสงบแห่งธรรมชาติดำรงอยู่ บ่อพลังผัสสะทั้ง ๖ ยังไม่กระทบด้วยพลังแห่งตัณหามากนัก เมื่อนั้นจึงเป็นเวลาที่เหมาะแก่การสร้างความสามารถแห่งผัสสะนั้นให้กลับคืนมา เพื่ออะไร ก็เพื่อให้สติกำหนดได้อย่างชัดเจน เมื่อสติกำหนดบ่อแห่งผัสสะนั้นชัดเจน เห็นจุดกระทบแห่งผัสสะนั้น เห็นความเป็นธรรมชาติแห่งผัสสะนั้น ปัญญาก็จะเกิดขึ้นเมื่อสติเห็นผัสสะนั้นชัด ปัญญาเกิดขึ้นก็ทำให้เข้าใจบ่อแห่งผัสสะนั้นว่า เป็นแต่เพียงผัสสะเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดอื่นอีก ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อยู่ในนั้น เมื่อนั้นย่อมเข้าถึงความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดขึ้น แต่เมื่อใดที่บ่อแห่งผัสสะนี้เริ่มถูกกระแสแห่งตัณหาเข้ามากระทบ เมื่อนั้นผัสสะนี้ก็เริ่มสูญเสียพลังผัสสะไป ผัสสะก็ไม่เป็นธรรมชาติอีก

ในยามก่อนรุ่งอรุณ ทุกสรรพสิ่งเงียบสงัด เป็นช่วงเวลาที่กระแสพลังตัณหาเบาบางที่สุด เป็นเวลาที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรสมณธรรม ต้นไม้ใบหญ้ากำลังจะเบ่งบานรับแสงตะวัน สิงสาลาสัตว์ทั้งหลายกำลังตื่นตัว ผัสสะกำลังตื่นตัว เป็นผัสสะที่บริสุทธิ์เป็นธรรมชาติมากที่สุดในยามนี้ สติที่จับผัสสะที่เป็นธรรมชาติได้ทำให้เห็นความเป็นธรรมชาติแห่งพลังผัสสะที่ยังไม่ถูกเจอปนนี้ได้ นั่นเท่ากับกำลังสร้างสมรรถภาพของผัสสะขึ้นมาอีกครั้ง ผัสสะที่ไร้ความขุ่นมัวของกระแสตัณหาเข้ามาเจือปนมาก จึงเป็นผัสสะที่ใสสะอาดในความสามารถแห่งจุดกระทบ กล่าวได้ว่าเป็นผู้ตอบสนองต่อความรู้สึกได้ไวและตรงไปตรงมา ไม่ถูกกระแสใดเข้าไปเจือจนให้ความไวแห่งความรู้สึกนี้ลดสมรรถภาพลง


โศลกว่า “ความสุขที่เราสัมผัสได้” ไร้เสียงที่เป็นพลังปั่นป่วน ไร้พลังจิตที่ส่งออกมาของผู้คนจำนวนมาก ไร้สิ่งรบกวนต่อการกระโดดเข้าไปโลกภายใน การก้าวเข้าไปสู่โลกภายในต้องการความสมบูรณ์แห่งความรู้สึก สมรรถภาพแห่งพลังผัสสะอย่างยิ่ง เพราะสมรรถภาพแห่งความรู้สึกจะทำให้เข้าไปสัมผัสได้กับความจริงที่ไม่ต้องคิด ดังที่แสดงไว้แล้วว่า ความคิดนั้นขัดขวางต่อพลังผัสสะที่แท้จริง เป็นแต่พลังผัสสะปลอมๆ และผัสสะปลอมเหล่านี้ล้วนผสมเจือปนด้วยตัณหาทั้งนั้น ตัณหานั้นมาจากการคิด
พึงทราบว่า ระดับของความจริงนั้นมี ๔ ระดับ




ความจริงระดับกายภาพ (Physical Truth) เป็นความจริงที่ผิวเผินที่สุด ไม่ต้องอาศัยอะไรเลย อาศัยแต่เพียงปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เป็นไปภายนอก นั่นแหละความเป็นจริงระดับกายภาพ คนส่วนมากก็ตกอยู่ภายใต้ความจริงระดับนี้ ถือเอาความจริงระดับนี้เป็นเครื่องยังชีพ สุขทุกข์ก็อาศัยความจริงระดับนี้เป็นเครื่องตัดสิน เช่น เห็นคนรวย ก็เข้าใจว่า นั่นแหละเป็นความสุข เห็นคนจนก็ตัดสินแล้วว่า นั่นแหละเป็นความทุกข์ คนค่อนโลกไม่เข้าใจความจริงของสุขทุกข์ เห็นคนของบางประเทศเขาอยู่อย่างธรรมชาติ ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ก็เข้าใจว่า คนเหล่านี้มีความทุกข์ ส่วนคนของบางประเทศที่เห็นคนเขาอยู่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย หรูหรา ก็เข้าใจว่าเขาเหล่านั้นมีความสุข เขาเหล่านี้ใช้ความจริงระดับนี้แสดงความสุขของตน


ความจริงระดับจิตภาพ (Headily Truth or Thoughtful Truth) เป็นความจริงที่สำคัญ เพราะเป็นความจริงที่กล่าวถึงกันที่สุด และครอบครองโลกมนุษย์นี้มากที่สุด ถึงกับในพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “จิตฺเตน นียติ โลโก โลกเป็นไปตามความคิด” เมื่อคิดอย่างไรโลกก็เป็นไปอย่างนั้น ผู้คนทั้งหลายยอมจำนนให้กับความคิดนี้ ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ใช้ความคิดนี่แหละตัดสิน ความจริงระดับนี้เป็นระดับสมอง เป็นความจริงระดับความคิด ระดับเหตุผล คนบางคนใช้ความคิดเป็นเครื่องตัดสินสุขทุกข์ ยินยอมให้ความเชื่อถือแก่คนที่มีความฉลาด (Intellectual Needs) รู้จักให้เหตุผลที่ดี มีความคิดหลายระดับ เห็นว่าคนที่เป็นนักคิดเหล่านี้แหละที่เป็นผู้มีความสุข คนที่ไม่มีความคิดอย่างนี้เป็นผู้มีความทุกข์


ความจริงระดับอารมณ์ (Sensible Truth or Heartful Truth) เป็นความจริงที่อยู่ลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง เป็นความจริงที่น่ากลัวในสายตาของมนุษย์ แต่ผิดกับสัตว์อื่นๆ ที่เห็นความจริงระดับนี้แหละที่เป็นความจริงแท้ เพราะเป็นความจริงที่ไม่บิดเบี้ยว รู้สึกอย่างไรก็เป็นความจริงอย่างนั้น แสดงออกอย่างนั้น ตรงๆ ไม่เสแสร้ง ไม่มารยา เมื่อร้อน ก็ร้อน เมื่อง่วง ก็นอน เมื่อหิว ก็ทาน เมื่อมีความรัก ก็แสดงความรัก เมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์ ก็มีเพศสัมพันธ์ เมื่อโกรธ ก็โกรธ ทุกอย่างตรงไปตรงมา


ความสุขที่เกิดจากความรู้สึกนี้บริสุทธิ์ ไม่บิดเบี้ยว ไม่มีความคิดผสม สัตว์ทั้งหลายจะรู้สึกแปลกทันทีถ้ามนุษย์บอกว่า เวลานี้ไม่ควรหิวคนอยู่มาก เวลานี้ไม่ควรสืบพันธุ์ผิดธรรมเนียม สัตว์จะยิ่งแปลกใจเมื่อเห็นมนุษย์ผูกใจเจ็บ คิดเข่นฆ่าผู้อื่นเป็นร้อยเป็นพัน ทั้งที่โกรธคนๆ เดียว หรือบางทีก็ไม่ได้โกรธ แต่เป็นเพราะเขาขัดขวางผลประโยชน์ก็ต้องกำจัด ความรู้สึกของคนถูกความคิดข่มขืนจนเสียความบริสุทธิ์ไปเสียแล้ว




ความสุขอันเกิดจากความรู้สึกนี้สูญสิ้นไปแล้วนับตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีนักปรัชญา เริ่มมีนักคิด เริ่มมีนักจิตวิทยา เริ่มมีนักวิทยาศาสตร์ เพราะคนเหล่านี้จะอธิบายบอกว่า ความรู้สึกนั้นไม่จริง เชื่อไม่ได้ อันตราย แท้จริงสิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือความคิดนั่นแหละ ความรู้สึกอย่างมากก็สนองความรู้สึกให้เพียงพอ ก็จบกัน แต่ความคิดสิ ไม่มีทางพอแน่นอน

การปฏิบัติธรรมก็เพื่อให้เข้าถึงความรู้สึกนี้ ไม่ต้องการให้อยู่ภายใต้ความคิด ความรู้สึกคือ เวทนา เวทนานั้นไม่ได้หลอกเรา เวทนานั้นแสดงออกตรงๆ ปวดเมื่อยก็ปวดเมื่อย เป็นทุกข์ก็ทุกข์ ปวดก้น ก็ปวดก้น เป็นสุขก็สุข เห็นทุกข์และเห็นทุกข์ตรงๆ งดงาม บริสุทธิ์ ไม่ต้องผ่านความคิด ความคิดนั่นแหละที่ทำให้ความจริงบิดเบี้ยว ความสุขที่เกิดจากความรู้สึกนี้เป็นความสุขที่ชัดเจน มีตัวแห่งความสุข น่าทะนุถนอม


ความจริงระดับความว่าง (Nothingness Truth or Spiritual Truth or Being Truth) ความจริงระดับนี้เป็นความจริงระดับสูงสุด เป็นความจริงที่หยั่งลงทะลุผ่านอารมณ์ที่เกิดขึ้น หยั่งลงภายในอารมณ์นั้น เห็นถึงความว่างที่ดำรงอยู่อย่างนั้น ไม่มีอะไรอยู่ภายในนั้น มีแต่การดำรงอยู่อย่างนั้นของเบญจขันธ์ มีแต่ความไม่มีอะไร เป็นความว่าง เป็นความบริสุทธิ์ ไร้ตัวแห่งความสุข ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการเห็นความจริงนี้ เป็นความเย็น ว่าง สงบ เป็นความสุขที่จะเกิดขึ้นหลังจากผ่านขั้นแห่งความรู้สึกนั้นมา ความสุขที่ว่านี้มีแต่ความว่างที่เห็นเท่านั้น ไม่มีอะไรให้ต้องเข้าไปหลงใหล ยึดมั่น ให้ความสุขนั้นดำรงอยู่ ก็เพราะทุกอย่างมันมีแต่สิ่งนี้เท่านั้นที่หลงเหลือในที่สุด


ประสบการณ์ที่เข้าถึงความสุขระดับนี้เท่านั้นที่จะทำให้เข้าใจจิตสัมผัสเช่นนี้ได้ และทำให้เข้าใจได้ว่า พระอริยะทั้งหลายเหตุใดจึงพร่ำสอนแต่เรื่อง “ความสุขในความสงบ” เพราะในความสงบนั้นไม่หลงเหลือสิ่งใดให้ต้องยึดถือเอาเป็นของๆ ตนอีก ทุกอย่างว่างเปล่า เป็นสัจธรรมที่ดำรงอยู่อย่างนั้น มีอยู่อย่างนั้น ก็ทุกอย่างมีแต่ความว่าง การที่ความว่างผสมผสานกับความว่างจึงกลายเป็นสัจธรรมที่ดำรงอยู่อย่างนั้น (ยถาภูตะ) นี่คือ ความสุขที่สัมผัสได้


นี่คือ โศลกที่ยี่สิบเอ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา



วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เคล็ดไม่ลับ



โศลกที่ยี่สิบ "เคล็ดไม่ลับ"

กินน้อย นอนน้อย
พูดน้อย ปฏิบัติมาก
นี่เป็นแนวทางของการปฏิบัติ
ที่จะได้ผลมากและรวดเร็ว
สิ่งที่พึงระวังคือ วาจา
เพราะวาจาเป็นแม่เหล็กดึงดูด
เกาะเกี่ยวอารมณ์ได้ดียิ่ง
ยิ่งพูดมากก็ยิ่งฟุ้งมาก
ฟุ้งมากก็เสียพลังงานมาก
เทคนิคในการปฏิบัติ
ความนิ่งเป็นแรงขับที่ดีที่สุด




“สุขใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี” เป็นพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ พระโยคาวจรต่างปฏิบัติเพื่อให้ได้เข้าถึงความสงบที่อยู่ภายใน ความสงบนี้เป็นสภาวะที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกลงไปภายในความเป็นอยู่ของจิตนี้ เป็นความสงบที่เย็นยิ่ง ความเย็นนี้ไม่มีภาษาใดเข้าถึง แม้แต่ภาษาที่ใช้ในภาษาบาลี สันติและปัสสัทธิ ก็ไม่ได้ตรงกับสภาวะความเย็นนี้ได้เลย ความเย็นนี้มีอยู่ภายในขันธ์นี้นั่นแหละ แต่จะทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงความเย็นนี้ได้ ความเย็นนี้เกิดจากการไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ เกิดจากการเข้าถึงความว่างในขันธ์นี้ ความว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์นั่นแหละเป็นความเย็นที่กล่าวนี้ เป็นความสงบอย่างแท้จริง


ความสงบเงียบนี้เป็นสิ่งสุดท้ายที่มีอยู่ในตน และเป็นพื้นฐานของชีวิตที่แท้ แต่ภายในความเงียบนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวของจิต เพราะในความเงียบนั้นไม่เหลืออะไรให้ยึดได้อีก จิตจึงไม่สามารถจะอยู่ได้ ด้วยเหตุนี้คนทั้งหลายจึงพากันแสวงหาผู้หนึ่งผู้ใดเพื่อเป็นที่ยึดเกาะ แม้ว่าแสวงหาบุคคลไม่ได้ เขาก็แสวงหาสิงห์สาลาสัตว์มาเป็นเพื่อน มาให้จิตได้เป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยว ถ้าหาสิ่งใดไม่ได้อีก เขาก็ต้องแสวงหาหน้าที่ การงาน กวี บทเพลง ภาพวาด ศิลปะ จมอยู่กับสิ่งนั้นๆ โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร หรือแม้ไม่สนใจในสิ่งเหล่านี้ เขาก็อยู่กับตนเอง พูดอยู่กับตนเอง สนทนากับตนเอง ความเงียบนี้ใกล้เคียงกับความบ้า เพราะเมื่อใดที่ยิ่งเงียบท่านก็ดูเหมือนใกล้บ้าเท่านั้น เพราะท่านจะได้ยินตัวท่านเองกำลังสนทนากับตัวของท่าน แล้วท่านก็จะเริ่มพูดกับตัวท่านเอง หรือไม่ท่านก็เริ่มได้ยินต้นไม้ใบหญ้า ได้ยินก้อนหิน แม่น้ำ ลำธาร พูดด้วยกับท่าน นี่แหละที่แสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งท่านอยู่เพียงผู้เดียว ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านกำลังเข้าถึงความเงียบสงบที่อยู่เบื้องลึกภายในชีวิตของท่านเลย ด้วยเหตุนี้ภาษาจึงมีความหมายขึ้นมาเพื่อที่จะสื่อสารกับทุกสิ่งที่อยู่รอบข้างท่าน เพื่อไม่ให้ท่านรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกถึงความเงียบที่อยู่ข้างใน มิฉะนั้นท่านกำลังจะบ้านั่นเอง



โศลกว่า “สิ่งที่พึงระวังคือ วาจา” ความเงียบสงบจากศัพท์สำเนียงที่ก้องกังวานอยู่ภายในจิตใจนี่แหละคือเส้นทางนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง วาจาที่กล่าวออกไปนั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงออกทางเสียงเท่านั้น แท้จริงมันพรั่งพรูออกมาจากความคิดที่อยู่ภายในอันมหาศาล มันถูกคุมขังอยู่ภายในจิตใจนี้ ทำให้จิตใจนี้เต็มไปด้วยถ้อยคำนับไม่ถ้วน สิ่งที่ต้องระวังก็คือวาจานี้ ไม่เพียงเฉพาะวาจาที่พูดออกไปทางปาก แต่เป็นวาจาที่ใจคิดพูด บางคนไม่พูดทางปาก แต่ถ้อยคำนั้นไหลออกมาอย่างไม่หยุดหย่อนทางใจ อย่างนี้ไหนเลยจะสงบได้ ไหนเลยจะมีความสุขที่แท้จริงได้

วาจาเป็นแม่เหล็กที่ดูดเอาทุกสิ่งเข้ามา เพราะวาจาเป็นสิ่งที่ใช้เชื่อมระหว่างสิ่งต่างๆ เข้ามาถึงกันและกัน เข้ามาเกี่ยวข้องกันและกัน จะรู้สึกได้ว่า ยิ่งพูดมากก็ยิ่งฟุ้งมาก ยิ่งฟุ้งมากก็ยิ่งเสียพลังงานมาก พลังงานที่สั่นสะเทือนทางวาจาได้เป็นกระแสแม่เหล็กดูดเอาทุกสิ่งเข้ามา และยังถูกพลังวาจาของผู้อื่นดูดไปด้วย กระแสแม่เหล็กนี้จะถูกนำมาปั่นภายในจิตใจอีก กลายเป็นกระแสไฟฟ้าหมุนปั่นอยู่ภายในจิตใจ เป็นไดนาโมที่มีพลัง ยิ่งปั่นก็ยิ่งไม่สงบ ยิ่งเกิดอารมณ์ ความรู้สึกดีใจ เสียใจไปกับวาจานั้น




โศลกว่า “เทคนิคในการปฏิบัติ ความนิ่งเป็นแรงขับที่ดีที่สุด” การฝึกสงบปาก สงบคำ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการปฏิบัติธรรมที่สำคัญมาก เพราะในขณะที่ไร้ศัพท์สำเนียงในจิต เมื่อนั้นก็ย่อมเข้าถึงความดำรงอยู่ เป็นเพียงความว่างแห่งขันธ์ เป็นเพียงความว่างที่เรียกว่า รูปเป็นอนัตตา เวทนาก็อนัตตา สัญญาก็อนัตตา สังขารก็อนัตตา วิญญาณก็เป็นอนัตตา การเข้าถึงความเป็นอนัตตาของขันธ์นี้ ความสงบนิ่งที่รักษาไว้นี้จะนำมาซึ่งพลังอันยิ่งใหญ่ เป็นเหมือนการนำความขุ่นออกจากน้ำ เมื่อนั้นน้ำก็ใสสะอาด น้ำที่ใสสะอาดเป็นน้ำบริสุทธิ์ มีประสิทธิภาพมาก มีประโยชน์มาก มีคุณค่ามาก

คนโดยมากมี ๒ ประเภทที่ใช้ความคิดและภาษาเข้ามาอธิบายความบริสุทธิ์ไร้ความขุ่นนี้

ประเภทหนึ่ง อธิบายว่าความบริสุทธิ์นี้ไม่มีความสำคัญอะไร ความขุ่นที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นว่าขุ่นตรงไหน ก็ไม่เห็นเป็นอะไรกับการอยู่ในความขุ่นที่ว่านั้น

ประเภทที่สอง อธิบายความบริสุทธิ์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีอะไรที่ดีหลังจากที่ทำให้น้ำบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรอีก จะเฝ้ารออะไรเกิดจากน้ำบริสุทธิ์นั้นเป็นเรื่องเหลวไหล น้ำก็คือน้ำเท่านั้นเอง

คนทั้ง ๒ ประเภทนี้ก็คือ คนทั้งหลายที่อยู่ภายในโลกนี้ ประเภทหนึ่งปฏิเสธการปฏิบัติที่ให้อยู่อย่างเงียบสงบ มองความเงียบสงบเป็นการสูญเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ประเภทที่สอง ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรพิเศษจากความความเงียบสงบ มองเห็นว่าเบื้องหลังความเงียบสงบจะมีอะไรเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล

ในการปฏิบัติ พลังแห่งความสงบนิ่งนั้นมีประโยชน์อย่างมากในการขับเคลื่อนให้เข้าถึงขีดขั้นของการดำรงอยู่เท่านั้น เป็นเพียงการดำรงอยู่ ไม่มีตัวตน ไม่มีความคิด ไม่มีอารมณ์ มีแต่การดำรงอยู่ที่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง สงบเท่านั้น พลังแห่งความสงบนั้นเป็นตัวช่วยลดไดนาโมที่ปั่น ให้พลังแม่เหล็กที่ดูดพลังภายนอกเข้ามา แต่กลับเป็นการใช้แม่เหล็กนั้นให้เป็นประโยชน์เสียเอง แม่เหล็กนั้นมีความเย็นในตัวของมัน ก็ใช้ความเย็นของแม่เหล็กนั้นให้ดำดิ่งเข้าไปภายในที่ลึกลงไป ความเย็นของแม่เหล็กจะทำให้เห็นทะลุตัวตน ทะลุความคิด ทะลุอารมณ์ว่า เป็นแต่เพียงความว่างเท่านั้น เป็นแต่ความสงบระงับเท่านั้น นี่แหละความสุขที่ไม่มีสุขใดยิ่งกว่า

มีเหตุการณ์หนึ่ง หลังจากที่พระเจ้าอชาตศัตรูสำนึกผิดที่ได้กระทำบาปหนัก คือ การกระทำปิตุฆาต ปลงพระชนม์พระราชบิดา จึงได้เที่ยวแสวงหานักปราชญ์เพื่อให้ได้ธรรมโอสถรักษาความเร่าร้อนแห่งบาปกรรมนั้น เสด็จไปหาครูที่โด่งดังสำนักต่างๆ แล้วก็ไม่สามารถบรรเทาความทุกข์นั้นได้ จนกระทั่งพระองค์ได้รับคำแนะนำจากหมอชีวกโกมารภัจจ์ให้เสด็จไปหาพระพุทธเจ้าที่สวนมะม่วงดู เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเข้าไปในสวนมะม่วงที่ร่มรื่น พระองค์ทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงประทับที่นี่พร้อมกับพระภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป แต่เหตุไฉนจึงไม่ได้ยินเสียงสนทนา พูดคุย หรือปรึกษากันบ้าง จิตที่หวาดกลัวก็เกิดขึ้นเกรงว่าจะเป็นกลลวงพระองค์มาฆ่าของหมอชีวกและพวกหรือไม่ จึงได้ตรัสถามหมอชีวกถึงความเงียบสงบดังกล่าว หมอชีวกจึงได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายนั้นโปรดความเงียบสงบ


มิใช่เป็นการโปรดความเงียบสงบเหมือนกับคนที่ชอบอยู่ในที่เงียบๆ แต่เป็นความเงียบสงบโดยธรรมชาติที่เกิดจากความสงบแห่งขันธ์นี้ เป็นความเบิกบานแห่งจิตที่สงบระงับ เป็นความว่างที่บริสุทธิ์สะอาด สรรพสิ่งประสานสัมพันธ์กันและกัน ขันธ์คือธรรมชาติ ธรรมชาติคือขันธ์ ธรรมชาติคือความสงบเย็น ความสงบเย็นก็เป็นธรรมชาติ ผู้ที่ปฏิบัติจนบรรลุถึงขีดขั้นของการดำรงอยู่ ย่อมดำรงอยู่ในความเงียบสงบนี้ทั้งนั้น ย่อมดำรงอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เพราะความเงียบนี้เป็นธรรมชาติที่ดำรงอยู่เบื้องลึกพื้นฐานของการดำรงอยู่ ไม่มีแม้แต่ความศัพท์สำเนียงภายในใจ ไหนเลยจะกลายเป็นวาจาออกมาได้


ด้วยเหตุนี้ พลังแห่งความสงบนี้ได้กลายเป็นพลังที่สูงสุดแล้ว ส่วนผู้ใดที่เริ่มปฏิบัติก็ต้องอาศัยพลังแห่งความเงียบสงบนี้เป็นเทคนิคในการปฏิบัติ ดังนั้น เรือนว่างก็ดี ถ้ำก็ดี โคนไม้ก็ดี จึงเป็นสถานที่ปฏิบัติอันเหมาะแก่การหยั่งลงในความเงียบสงบทั้งกาย วาจา ใจได้อย่างรวดเร็ว

นี่คือ โศลกที่ยี่สิบแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา