วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความเจ็บที่มีค่า















โศลกที่ยี่สิบสาม "ความเจ็บที่มีค่า"

สมาธินี้มีคุณค่ามาก
นักปฏิบัติพึงรักษาไว้
ยอมให้กายแหลกเหลว
ยอมให้ขันธ์ถูกทำลาย
ไม่ยอมเลิกล้มการปฏิบัติกลางคัน
ผู้ไม่ปฏิบัติย่อมไม่เข้าใจ
แมลงตัวหนึ่งจับที่แขน
กำหนดจิตแผ่เมตตาให้
หากเคยทำไว้ก็ให้ทำคืน
แมลงตัวนั้นก็กัดทีหนึ่ง
กัดนี้จะมีเจตนาตอบสนอง
หรือมาทดสอบความตั้งใจ
นี่เป็นความเจ็บในธรรมครั้งแรก
เห็นความเจ็บจากกายแล่นเข้าใจ
ความเจ็บที่กลายเป็นอารมณ์ธรรม
ยอมเจ็บไม่ยอมทิ้งสมาธิ
นี่เป็นเจ็บที่งดงามเหลือเกิน




ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้จำนวนมากถึงบุคคลผู้กระทำอะไรอย่างไม่ย่อท้อ กระทำไปจนสุดกระบวนการ กระทำไปด้วยความพากเพียรพยายาม ฝ่าฟันอุปสรรคนานาที่เกิดขึ้น ตามสำนวนจีนที่ว่า “น้ำมากั้นทำนบ ศึกมาตั้งทัพสู้” หมายความว่า ในขณะที่ทำงานไปนั้นจะพบกับปัญหาหลากหลาย ปัญหาใดมาก็แก้ไข การจะไม่ให้มีปัญหานั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ประวัติบุคคลผู้ประสบความสำเร็จทั้งหลายบ่งบอกเสมอว่า ก่อนที่เขาจะประสบความสำเร็จมานั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง คนที่อ่านประวัติผู้อื่นแล้วเข้าใจว่าเป็นเรื่องง่ายก็ลองทำดู แต่ละขั้นตอนแลกมาด้วยค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายไปเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอดหลับอดนอน ไม่ว่าจะลืมทานข้าวทานปลา ไม่ว่าจะเป็นการจากบ้านจากเรือน ไม่ว่าจะเป็นขาดการติดต่อกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นยอมแลกกับคนที่ตนรัก ทุกค่าตอบแทนเหล่านี้ผู้ที่ขึ้นไปยืนอยู่บนความสำเร็จผ่านมาทั้งสิ้นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง


ยังไม่ต้องพูดถึงความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม เป็นการใช้ทุกค่าตอบแทนที่กล่าวไว้ทั้งหมดและยังเพิ่มอีกประการหนึ่งคือ แลกมาด้วยชีวิต เมื่อเปรียบเทียบระหว่างชีวิตกับธรรมแล้วเป็นสิ่งที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ ชีวิตมีค่าอยู่ที่ธรรม เนื่องด้วยธรรม เป็นไปด้วยธรรม ธรรมในที่นี้หมายเอาการปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรม ขันธ์นี้ ชีวิตนี้ไม่ได้มีความหมายอะไรมากมาย เป็นเพียงแค่กองสังขารที่ดำเนินไปตามพลังกรรมที่สะสมไว้ จุดหมายปลายทางและหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนก็คือการใช้ขันธ์นี้ทำลายขันธ์นี้ให้สิ้นสุดลงก็เท่านั้น ไม่ให้เวียนว่ายตายเกิดอีก เป็นการหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสารอันยาวนานนี้ ไม่พึงพอใจกับการเวียนว่ายตายเกิดอีก มีแต่สั่งสมบารมีให้เต็มเปี่ยมเท่านั้น


ประวัติชีวิตของพระพุทธเจ้าตอนที่บำเพ็ญเพียรในชาติขันติวาทดาบส ก็ใช้ความอดทนอย่างยิ่งยวดในการบำเพ็ญเพียรบารมีธรรม เพื่อให้ธรรมนี้เจริญ รักษาไว้ซึ่งธรรม ไม่ยอมทิ้งธรรม ไม่ยอมมีจิตหวั่นไหว ละทิ้งธรรมในยามได้รับทุกข์ เหตุการณ์เกิดขึ้นดังนี้ พระราชาองค์หนึ่งมีโอรสสองพระองค์ พระโอรสองค์โตนั้นเป็นพระโพธิสัตว์มีอุปนิสัยชอบบำเพ็ญเพียรสมณธรรมสั่งสมบารมี จึงไม่รับตำแหน่งเป็นอุปราช พระราชาบังคับอย่างไรก็ไม่ยินยอม ถึงกับยอมตาย ในที่สุดพระราชาก็ยินยอม และยกราชสมบัติให้กับพระราชโอรสองค์เล็กสืบต่อ เหตุการณ์ผ่านไปหลายปี พระราชาองค์ใหม่เสด็จประพาสป่าแล้วพลัดหลงกับข้าราชบริพารทั้งหลาย เหล่าข้าราชบริพารหลงทางไปพบกับฤาษีผู้เป็นพระโอรสองค์โต ทำความเคารพนอบน้อมฟังธรรมอยู่อย่างสงบ เมื่อพระราชามาพบภาพนั้น ก็เกิดความไม่พอพระทัยที่ข้าทาสบริพารของตนไปให้ความเคารพนอบน้อมต่อฤาษีเช่นนั้น พระองค์จึงกล่าวตู่ฤาษีว่า เป็นผู้ล่อลวงให้ข้าทาสบริพารทั้งหลายเชื่อ แม้ฤาษีจะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น อธิบายเหตุผลให้ฟัง พระราชาก็ไม่ยอมรับ พร้อมกับใช้กำลังขู่ให้ฤาษียอมรับในการล่อลวง เมื่อฤาษีไม่ยอมรับ พระราชาจึงได้ใช้พระขรรค์ตัดอวัยวะของฤาษีออกทีละชิ้นเพื่อให้ยอมรับ เมื่อทำเช่นนั้นแล้วพระราชาก็จากไป


ด้วยผลแห่งการกระทำอันรุนแรงต่อท่านขันติวาทดาบส บ้านเมืองก็เกิดทุพภิกขภัย เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว ชาวเมืองทั้งหลายรู้ว่าสาเหตุนี้เป็นเพราะพระราชาได้ทำร้ายพระโพธิสัตว์นั่นเอง จึงขอให้พระราชาไปขอโทษต่อฤาษี พระราชาหลังจากที่ได้ทำบาปกรรมนั้นก็มีพระทัยหม่นหมอง ทุกข์ระทม สำนึกได้ในผลกรรมชั่วที่ทำลงไปจึงได้เข้าป่าไปขอขมาต่อขันติวาทดาบส ท่านดาบสโพธิสัตว์ได้ตั้งสัจอธิษฐานต่อหน้าพระพักตร์ว่า หากแม้พระองค์มีจิตใจอาฆาตมาดร้าย หรือไม่พอใจต่อการกระทำของพระราชาแม้แต่นิดเดียว ขอให้อวัยวะที่ขาดไปอย่าได้กลับมาเหมือนเดิม แต่ถ้าตรงกันข้ามก็ขอให้อวัยวะที่ขาดไปกลับมา ด้วยสัจอธิษฐานนั้น อวัยวะของท่านฤาษีโพธิสัตว์ก็กลับมาเหมือนเดิม นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะทนทุกข์อย่างไร ไม่ว่าจะแลกมาด้วยชีวิตอย่างไร ก็ไม่อาจเปรียบเทียบกับธรรมที่ตนบำเพ็ญได้เลย ไม่อาจละทิ้งธรรมที่บำเพ็ญ


โศลกว่า “ไม่ยอมเลิกล้มการปฏิบัติกลางคัน” เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมได้ดำรงตนตั้งมั่นอยู่ในธรรมแล้ว ก็ไม่ยอมให้ธรรมที่ตนรักษานั้นขาดไปได้โดยง่าย ล้มเลิกโดยง่าย ละทิ้งไปโดยง่าย เหมือนกับใครที่ได้ทำธุรกิจของตน ได้ลงทุนไปเป็นจำนวนมาก การที่จะยอมล้มเลิกกิจการกลางคันง่ายๆ ไม่ใช่วิสัยของนักธุรกิจ ไม่ใช่วิสัยของพ่อค้า เฉกเช่นผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อได้ตั้งใจทำ อธิษฐานใจปฏิบัติธรรม ลงมือทำ ก็ต้องทำไปให้ถึงที่สุดจนกว่าจะได้พบกับผลอันน่าชื่นใจ จะให้ละเลิกง่ายๆ จะยอมละทิ้งธรรมง่ายๆ นั้นไม่ใช่วิสัยที่พระโยคาวจรพึงทำ ไม่ใช่วิสัยของวิญญูชน


ในประวัติศาสตร์มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระโคธิกะ ท่านได้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรมจนกระทั่งได้ฌานสมาบัติ แต่พอหยุดบำเพ็ญ ฌานก็เสื่อมถอย ภาวะแห่งวิถีปุถุชนก็เข้าครอบงำเหมือนเดิม เป็นอย่างนี้บ่อยๆ ท่านรู้สึกว่า การบำเพ็ญเพียรสมณธรรมของท่านนั้นยังไม่สมบูรณ์พอ ไม่เข้มแข็งพอ ไม่ถึงที่สุดพอ แต่จะทำอย่างไรให้การบำเพ็ญเพียรนี้ถึงที่สุดได้ ไม่มีทางอื่นนอกจากเชือดคอตนเองให้สิ้นชีวิตไปเสีย ดีกว่าจะยอมให้ฌานนั้นเสื่อมไปอีก เมื่อตกลงใจดังนั้นท่านจึงได้ใช้มีดเชือดคอตนเองอยู่ที่หน้าผา ในขณะที่ท่านเชือดคอตนเองใกล้สิ้นชีวิตนั้น อาศัยเวทนาเป็นกำลังกล้ามาพิจารณาธรรม ท่านจึงได้บรรลุธรรมพร้อมกับสิ้นชีวิตไป

ตัวอย่างนี้ย่อมอาจเป็นที่น่าสงสัยและแปลกใจสำหรับผู้ไม่ได้ปฏิบัติธรรมว่า ทำไมท่านจึงทำอย่างนั้น นี่เป็นการฆ่าตัวตาย นี่เป็นการกระทำที่สุดโต่ง นี่เป็นการทำที่อยู่ในทางสายกลางหรือไม่ นี่เป็นการเบียดเบียนตนหรือไม่ แต่วิสัยของผู้ปฏิบัติธรรมย่อมเป็นที่เข้าใจผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกันดี อย่าได้นำวิสัยของคนธรรมดา ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปมาตัดสินการกระทำของผู้ปฏิบัติธรรม เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นวิสัยของพระโยคาวจรและพระโพธิสัตว์

โศลกว่า “กำหนดจิตแผ่เมตตาให้” การปลูกความเอื้ออารีให้เจริญงอกงามลงในใจนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจำเป็นต้องทำ ต้องทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ต้องทำให้มากเข้าไว้ เพราะจิตที่เอื้ออารีนี้ย่อมนำมาซึ่งผลอันน่าชื่นใจเสมอ ใครที่ให้ความรักความเมตตาต่อผู้อื่นย่อมได้ความรักความเมตตาตอบ ความเมตตาเป็นความรักประเภทหนึ่ง แต่เป็นความรักในระดับมิติที่สี่ ความรักนั้นมี ๔ ระดับด้วยกัน คือ

๑. ความรักระดับกายภาพ คือ ความรักแบบเพศสัมพันธ์ (Sexual Love) ความรักในระดับนี้เป็นการตอบสนองความต้องการทางกาย (Handily or Physical needs) เมื่อมีความต้องการทางเพศขึ้นก็เริ่มมีความรัก เป็นความรักแบบหนุ่มสาว แบบคู่ครอง แบบชู้รักนั่นเอง เป็นความรักที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเรื่องเพศเท่านั้น รักในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความรักแบบกายภาพนี้ ตราบใดที่ยังได้รับการสนองทางเพศสัมพันธ์ ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็ยังคงความรักอยู่ได้ แต่พอไม่ได้รับการสนอง ความรักก็เริ่มเปลี่ยนไปทันที

๒) ความรักระดับจิตภาพ เป็นความรักแบบเหตุผล (Rational Love) เป็นความรักที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิด ความรักที่มีคำจำกัดความ เป็นความรักที่ตั้งอยู่บนฐานของความลงตัวทางเหตุผล และประโยชน์ (Headily or Thoughtful Love) ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลในเชิงไหน บางคนก็รักกันตามเหตุผลเชิงธุรกิจ บางคนรักกันตามเหตุผลประเพณีวัฒนธรรม บางคนรักกันตามเหตุผลเชื้อชาติ ศาสนา บางคนรักกันบนเหตุผลชอบเหมือนๆ กัน ล้วนแล้วแต่ใช้ความคิดเป็นตัวแสดงความรักทั้งสิ้น ความรักระดับเหตุผลนี้ พอเหตุผลลงตัว ประโยชน์ลงตัว เรียกว่า “win win situation” ก็รักกันตราบนั้น แต่พอไม่ลงตัวก็จบกัน

๓) ความรักระดับอารมณ์ เป็นความรักแบบรู้สึก (Emotional Love) เป็นความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เป็นความรักของเพื่อนที่มีต่อเพื่อน เป็นความรักความผูกพันที่ให้ต่อกันและกันตามสายใยที่เกิดขึ้น (Heartily or Relative Love) เช่น สายใยแห่งญาติพี่น้อง สายใยแห่งชนชาติเผ่าพันธุ์ สายใยแห่งศาสนา เป็นความรู้สึกที่มีให้กับผู้ที่มีสายใยต่อกัน ความรักระดับอารมณ์นี้ก็รักตามสายใย ถ้าต่างสายใยก็ทำใจรักไม่ได้ ถ้าเป็นลูกตนเองก็รักได้ แต่พอลูกคนอื่นทำใจรักไม่ได้ ถ้าเป็นเผ่าพันธุ์ ศาสนาตนเอง ก็รักได้ แต่พอต่างเผ่าพันธุ์ ต่างศาสนาก็ทำใจรักไม่ได้

๔) ความรักระดับเมตตา เป็นความรักแบบเอื้ออารี (Loving Kindness) เป็นความรักของผู้มีจิตเมตตา ไม่มีขอบเขตขวางกั้น เป็นการให้ธรรมคือความเอื้ออารีนี้แผ่ขยายไปในทุกคน (Spiritually or Universal Love) เป็นความรักระดับที่เท่าเทียมกัน ไม่มีแบ่งชั้นวรรณะ ไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศ วัย ระหว่างพืชสัตว์ คน เทพ สิ่งของ เป็นการแสดงความเป็นเพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ และตาย ความรักระดับเมตตานี้ ยิ่งแผ่เมตตาไป เมตตาก็ยิ่งเพิ่มพูน ยิ่งให้ความเอื้ออารี ก็ยิ่งทวีความเอื้ออารีอย่างไม่มีสิ้นสุด ยิ่งมีมิตรไมตรี ก็ยิ่งมีแต่ความเมตตาในใจงอกงาม

ในการบำเพ็ญเพียรสมณธรรม ให้แผ่เมตตาคือความรักระดับเอื้ออารีนี้ มีแต่จิตที่งดงามให้แก่กันและกัน แม้ว่าจะมีการเบียดเบียนกันเกิดขึ้นจากผู้อื่นหรือสัตว์อื่น ผู้ที่แผ่เมตตากลับทวีความเมตตาให้ เพราะความเมตตายังไม่มากพอ เขาจึงเบียดเบียน หรืออาจเป็นเพราะตนได้เคยเบียดเบียนเขาไว้ในกาลก่อน เขาจึงมาตอบแทนผลนั้น เมื่อรู้ดังนี้ก็ยินยอมพร้อมใจให้เขาทดแทน เมื่อทดแทนเสร็จแล้วก็ให้มีความรักความเมตตาต่อกันใหม่ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องตั้งจิตเมตตาไว้เสมอ ไม่สนองตอบการเบียดเบียนนั้น เพราะการสิ้นสุดแห่งเวรภัยย่อมไม่มีด้วยการกระทำตอบ แต่มีด้วยการอภัย แผ่เมตตาอารี เอื้อเฟื้อ อาทรต่อกันและกัน




โศลกว่า “นี่เป็นความเจ็บในธรรมครั้งแรก เห็นความเจ็บจากกายแล่นเข้าใจ” พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติย่อมสามารถแยกแยะเวทนาออกจากจิตได้ เวทนาก็เป็นเวทนา ความรู้สึกเจ็บก็เป็นส่วนเจ็บ ไม่นำมาปนกับจิตที่ปรุงแต่งต่อ จะเห็นได้จากผู้ที่ปฏิบัติจนถึงขั้นแล้วย่อมสามารถกำหนดจิตในการละสังขารได้ ขั้นที่หนึ่งละส่วนกายภาพ (Body) จากนั้นก็เป็นละความความคิด (Head) ความรู้สึก (Heart) และก็สุดท้ายก็เป็นจิตวิญญาณ (Soul) ใครก็ตามพิจารณาเห็นความเจ็บที่ไหลเข้าสู่กับรับรู้ของวิญญาณได้แสดงว่า เข้าถึงการแยกรูปนามได้


โดยปกติผู้คนทั้งหลายย่อมรับรู้ระหว่างความรู้สึกกับการรับรู้เป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากไม่สามารถเข้าใจกระบวนการเกิดของทั้งสองสิ่งนี้และไม่สามารถมีสติกำหนดทันถึงกระบวนการที่เกิดขึ้น ความรู้สึกเป็นเวทนา กระบวนการรับรู้เป็นอยู่ในขั้นปัญจวิญญาณสัมผัสชา เมื่อเกิดการรับรู้ขึ้นจากช่องทางใดช่องทางหนึ่งของขันธ์ ๕ ความรู้สึกจึงเกิด (ผัสสะทำให้เกิดเวทนา) ผู้ปฏิบัติย่อมกำหนดเห็นความเจ็บที่เกิดขึ้นกับกายไหลเข้าสู่กระแสความรู้สึกได้ ดุจดังการใช้เครื่องแยกแสงสว่างออกจากกระแสไฟได้ ในยามที่หลอดไฟติดแล้วก็รู้ว่า แสงสว่างมาพร้อมกับกระแสไฟฟ้า ความเจ็บที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัตินี้เป็นความเจ็บที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรม เพราะเป็นความเจ็บที่ถูกใช้มาพิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยมากเมื่อมีความเจ็บเกิดขึ้น ก็นำไปสู่การปรุงแต่งทั้งสิ้น ไม่ได้นำมาพิจารณาเช่นนี้ ความเจ็บกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับตัวเรา ตัวเราคือผู้เจ็บ ความเจ็บเป็นเรา แต่พอเป็นความเจ็บในธรรมนั้น ความเจ็บก็เป็นส่วนเจ็บ วิญญาณที่รับรู้ความเจ็บก็เป็นส่วนวิญญาณ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ดังนั้น ไม่ได้มีบุคคลผู้เจ็บอยู่ภายในนั้น แต่ด้วยความไม่รู้ว่าความเจ็บกับผู้เจ็บเป็นอะไร มีกระบวนการอย่างไร จึงตกอยู่ภายใต้มายานี้เสมอมา



เมื่อมีสติกำหนดเห็นความเจ็บที่เกิดขึ้นแล้วไหลเข้าไปสู่การรับรู้ความเจ็บนั้น ก็เป็นความงดงามของกระแสสิ่งที่เกิดขึ้นก็เท่านั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไร ความเจ็บที่เกิดขึ้นกับกายนี้เป็นปกติที่ต้องมี ถ้าไม่มีเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นความงดงาม เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ชีวิตย่อมมีความเจ็บปวดเป็นธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจ็บปวดที่เกิดจากการกระทำของสัตว์มีพิษในขณะปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นยุง เหลือบ ริ้น ไร มด แมลง ชีวิตนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อสัตว์ทั้งหลายก็เป็นธรรมชาติ ทุกอย่างจึงงดงามไม่มีอะไรให้ต้องวิตกกังวลในความเจ็บปวดทั้งสิ้น กลับยินดีที่ทำให้ได้นำความเจ็บนั้นมาพิจารณาในธรรมได้อีก
ความเจ็บปวดที่เป็นปัญหา ก็คือความเจ็บปวดที่เกิดจากความคิดของตนเองต่างหากที่อันตราย ผู้คนทั้งหลายสามารถฆ่ากันได้เพียงเพราะวาจาถากถาง ฆ่ากันได้เพียงแค่เหยียบหัวแม่เท้าของกัน ฆ่ากันได้เพียงแค่ได้ยินเขานินทา ฆ่ากันได้เพราะคำตำหนิเล็กน้อย ฆ่ากันได้เพราะจอดรถขวางทาง นั่นเพราะอะไร ก็เพราะความเจ็บที่เกิดจากความคิดของตนเองทั้งนั้น ไม่ได้เป็นความเจ็บที่งดงาม เป็นความเจ็บที่อัปลักษณ์อย่างยิ่ง ไม่ใช่ความเจ็บที่มีจริง เป็นแต่การสร้างขึ้นของจิตที่คิดเท่านั้น เป็นเพียงมายา แต่มายานี้กลับมีพลังสามารถทำให้คนเป็นบ้าได้ ทำให้คนโหดเหี้ยมได้ ทำให้คนเป็นโรคจิตได้ พวกนักจิตวิทยาทั้งหลายมีงานทำก็เพราะต้องมาแก้ไขความเจ็บประเภทนี้




การสร้างความเจ็บขึ้นมาเองของความคิดเป็นเรื่องที่แปลกและเป็นโศกนาฏกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ เป็นเรื่องอันตรายมากสำหรับมนุษย์ ถ้าสัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่น ไม่ว่าเป็นสุนัข แมว วัว ควาย ช้าง ม้า รู้ว่ามนุษย์คือสัตว์ประเภทเดียวที่สร้างความเจ็บปวดขึ้นมาเองได้แล้วก็คร่ำครวญต่อความเจ็บปวดนั้นเสียเอง พวกมันคงหัวเราะเยาะกันไปทั่วว่า ทำไมต้องทำอย่างนั้น ความเจ็บปวดนั้นไม่ได้มีจริงสักนิด เป็นแต่ความคิดสร้างขึ้นมาแล้วก็ยึดเอาว่านั่นแหละความเจ็บปวดที่ถูกผู้อื่นกระทำ ช่างน่าขำโดยแท้ ถ้าหากเป็นแผลอันเกิดจากการได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่เห็นต้องเข้าไปทุกข์ระทมกับมันเลย นั่นก็เป็นปกติของชีวิต พึงเห็นเป็นความงดงาม เป็นความบาดเจ็บที่งดงาม มันเกิดได้ก็หายได้ อย่าได้ถูกความคิดลวงเอาเลย อย่าได้ถูกพิษจิตปรุงแต่งทำร้ายเอาเลย พึงนำเอาความเจ็บที่จริงๆ มาพิจารณาเถิด



นี่คือ โศลกที่ยี่สิบสามแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา



ไม่มีความคิดเห็น: