วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สายโลก สายธรรม

โศลกที่ยี่สิบสอง "สายโลก สายธรรม"



ทางที่เน้นจิตวิญญาณ
ทางที่เน้นประสาทสัมผัส
ทางสายโลกกับสายธรรม
ทางสองสายที่สวนทางกัน
ทางสายโลกไม่คำนึงผลภพชาติ
ทางสายธรรมเกรงภัยในวัฏฏะทางที่นำไปสู่ผลอันน่ากลัว
ทางธรรมจึงระวังภัยให้ทางโลก
ทางสองสายมาบรรจบกันได้
ทางสายโลกรู้ทางสายธรรม
ทางสายธรรมเชื่อมทางสายโลก
ทางสองสายหลอมรวมกัน
ทางทั้งสองคือทางเดียว
ทางแห่งการหลุดพ้น


ท่านพระนาคารชุน พระนักปราชญ์อัจฉริยะในพระพุทธศาสนายุค ๖๐๐ ปี หลังพุทธกาล ถูกถามเสมอๆ ว่า “ถ้าทุกอย่างว่างเปล่าแล้วนรก สวรรค์ จะมีได้อย่างไร” ไม่แปลกเลยที่คนทั้งหลายจะถามคำถามนี้ขึ้นมา คนทั้งหลายไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ความว่างดำรงอยู่อย่างไร ถ้าทุกสิ่งมีแต่ความว่างเปล่าแล้วเหตุใดจึงมีความดี ความชั่ว มีนรก สวรรค์ มีบาป บุญ คุณ โทษ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะด้านหนึ่งแสดงในแง่ของปรมัตถ์ อีกด้านหนึ่งเข้าใจได้แต่สมมติ ก็ทางสองสายที่ไปคนละด้าน สวนทางกัน ไม่เข้ามาบรรจบกัน


ฝ่ายหนึ่งกำลังยกทางสายสมมติมาแสดงในแง่ปรมัตถ์ แล้วพยายามทำให้ฝ่ายที่เข้าใจได้แต่เฉพาะสมมติเข้าใจในปรมัตถ์ที่ตนสื่อแสดง อีกฝ่ายหนึ่งก็มองเห็นได้แต่เพียงสมมติเท่านั้น จึงเข้าใจไม่ได้ สงสัยว่าอีกฝ่ายกำลังนำเสนออะไรที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากข้อจำกัดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางมิติแล้ว ยังมีข้อจำกัดด้านภาษาอีก ภาษาที่ใช้กันอยู่ และที่มีอยู่ไม่สามารถแสดงออกมาให้เห็นมิติที่สูงเกินได้ ก็ภาษาเหล่านี้เป็นภาษาในระดับสมมติเท่านั้น การใช้ภาษาสมมติจึงไม่อาจทำให้เข้าใจปรมัตถ์ได้อย่างครอบคลุม บางครั้งอาจทำให้คลาดเคลื่อนไปด้วยซ้ำ

ทางสายโลกใช้ความคิด (Head) เป็นเครื่องนำพา คำนวณเอาตามมิติที่ตนคุ้นเคย ไม่เคยข้ามพ้นไปสู่มิติอื่น ไม่เคยแม้กระทั่งยอมรับว่ามีมิติอื่นอยู่ด้วย แม้จะกล่าวว่ามีมิติเช่นนั้นอยู่ แต่ก็ต้องผ่านความคิดเสียก่อนจึงจะเชื่อ จึงจะเข้าใจได้ ก็มิติแห่งความว่างนั้นอยู่ในมิติที่สี่ กลายเป็นว่า การใช้มิติที่สองคือ ระดับความคิดเข้าถึงมิติที่สี่ คือความว่าง จึงเป็นการเข้าถึงได้ทางความคิดเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ความว่างที่แท้



เปรียบเหมือนคนฝันไปว่าร่ำรวย ฝันไปว่าไปต่างประเทศ ฝันไปว่าได้เป็นพระราชา ฝันไปว่าได้แต่งงานกับเจ้าสาวที่แสนสวย สุดท้ายก็เป็นได้แต่ในความฝัน เพียงแต่ฝันนั้นช่างเป็นจริงเป็นจังเสียเหลือเกิน ไม่เพียงแต่ฝันในยามหลับเท่านั้น แม้ยามตื่นแล้วก็ยังฝันอีก ในยามหลับนั้นฝันออกมาเป็นภาพ แต่ในยามตื่นผู้คนฝันเป็นตัวหนังสือ บุคคลเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับพวกนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่ไม่ยอมเชื่ออะไรที่ล่วงพ้นไปจากประสาทสัมผัสที่สามารถพิสูจน์ได้ (Hand) และก็ไม่ต่างไปกับพวกนักปรัชญาที่ไม่ยอมเชื่ออะไร หากสิ่งนั้นไม่มีเหตุผล เข้าไม่ได้กับตรรกะที่ตนคิดใคร่ครวญไว้ (Head)



ดังนั้น ทางสายโลกนี้จึงประกอบไปด้วยทางทั้งสองสาย คือ ทางสายที่ใช้วัตถุสัมผัสเป็นเครื่องนำพา และทางสายที่ใช้ความคิดเป็นเครื่องนำพา ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือนักปรัชญาทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่อยู่ในระดับมิติที่หนึ่งและมิติที่สอง หากใครก็ตามกล่าวอะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ตามแนววิทยาศาสตร์ และพิสูจน์ไม่ได้ตามแนวปรัชญา ล่วงพ้นการพิสูจน์ด้วยประสาทสัมผัสและพ้นจากความคิดของเขาไป ก็ถูกปฏิเสธทั้งสิ้น

พระนาคารชุนได้ใช้มิติที่สี่มาแสดงให้แก่ทางสายโลก จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะเข้าใจได้ง่ายๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยึดในทางสายโลกของตนอย่างแนบแน่น กอดไว้ไม่ยอมปล่อย ท่านพยายามแสดงให้เห็นว่า เมื่อใดก็ตามถ้าหากเข้าถึงมิติที่สี่จึงจะข้ามพ้นดี ชั่ว บุญ บาป นรก สวรรค์ ถ้าหากยังไม่เข้าถึงก็ต้องตกอยู่ภายใต้สมมตินี้อยู่ต่อไป ก็ในเมื่อเรายังไม่สามารถเห็นสรรพสิ่งเป็นความว่างได้


ตราบนั้นก็ยังคงตกอยู่ในการยึดมั่นของตนอยู่นั่นเอง ก็ยังคงมีดี ชั่ว มีบุญ บาป มีนรก สวรรค์ อยู่ต่อไป เพราะสิ่งเหล่านี้มีขึ้นก็ต่อเมื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่น กลายเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ท่านพุทธทาสก็ได้ใช้ทางสายธรรม มิติที่สี่สื่อแสดงในประเทศไทยเกือบตลอดชีวิตของท่าน ก็พบอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากความคลาดเคลื่อนทางมิตินี่เอง

คำว่า สายธรรม ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมด้วยความคิด แต่หมายถึง ผู้ปฏิบัติธรรมด้วยสติ ก็ในเมื่อเข้าถึงมิติที่สี่ด้วยการปฏิบัติบำเพ็ญให้เกิดปัญญาแล้ว ก็ไม่มีอะไรหลงเหลืออีก ไม่มีอะไรสงสัยอีก ทุกอย่างมีแต่ความว่างเท่านั้นคงอยู่ เมื่อทุกอย่างว่างแล้วจะมีนรก สวรรค์ บุญ บาป ดี ชั่ว จากที่ไหนอีก ด้วยเหตุนี้พระอริยเจ้าทั้งหลายจึงข้ามพ้นบุญ บาป นรก สวรรค์ ดี ชั่วไปได้ ที่เราท่านยังมีบุญ บาป มีนรก สวรรค์ ก็เพราะยังไม่สามารถเข้าถึงมิติที่สี่นี่เอง

โศลกว่า “ทางสายโลกไม่คำนึงผลภพชาติ” ก็ในเมื่อทางสายโลกนั้นยังต้องตกอยู่ภายใต้ภัยของวัฏฏะ การกระทำทุกอย่างที่ทำลงไปมีผลทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภัยที่เกิดกับสายธรรมอีกด้วยแล้ว ยิ่งเป็นภัยอันน่ากลัว มีผลมาก หากพลาดพลั้งไปครั้ง ผลที่เกิดกับเขายาวนาน ดุจดังการปล่อยให้เด็กที่ไม่รู้จักไฟ จับไฟ ผลของการจับไฟทำให้มือพุพอง มือไหม้ กว่าจะหาย เมื่อหายแล้วก็ไม่เป็นปกติ บางครั้งแผลนั้นปรากฏเป็นแผลเป็นตลอดชีวิตเพราะไฟไหม้เพียงครั้งเดียว ด้วยเหตุนี้สายธรรมจึงต้องคอยระวังสายโลกมิให้ทำผิดพลาดเข้ามาจับไฟให้เสียเอง คือ ต้องยกไฟหนีเสียเอง เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย เกรงว่าจะเป็นภัยต่อผู้ที่ไม่ปฏิบัติจึงต้องระมัดระวังตนเอง ไม่ให้เกิดภัยต่อผู้ไม่ปฏิบัติอื่น

ภัยในภพชาตินั้นน่ากลัวกว่าภัยที่ปรากฏนี้หลายเท่า เพราะหากเกิดพลาดพลั้งต่อผู้ทรงศีล ภัยที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ชีวิตต้องเป็นไปตามผลของกรรมนั้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเขายังตกอยู่ในมิติที่หนึ่งและมิติที่สอง มิติทั้งสองนี้ยังคงมีความมีอะไรอยู่ในนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือ เชื้อแห่งการกระทำ คือกรรมนั้นยังมีอยู่ เมื่อกระทำ ย่อมมีผลของการกระทำเสมอ นี่เป็นกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เรียกว่า กฎแห่งกรรม ต้องข้ามพ้นกรรมนี้ไปก่อนจึงจะข้ามพ้นกฎนี้ จะข้ามพ้นได้อย่างไร ก็ต้องข้ามพ้นด้วยการมีสติกับการกระทำ สติที่อยู่กับการกระทำย่อมทำให้เข้าถึงมิติที่สี่ได้ เพราะสติทำให้ไม่หลงเข้าไปยึดในความคิด ไม่หลงเข้าไปยึดในประสาทสัมผัส ไม่หลงเข้าไปยึดในอารมณ์ สุดท้ายก็คือ ไม่หลงเข้าไปยึดในขันธ์ ๕ นี่เอง


ก็เมื่อเข้าถึงความว่างในขันธ์ ๕ การไม่หลงเข้ายึดในขันธ์ ๕ เมื่อไม่ยึดในขันธ์ ๕ ก็ไม่เหลืออะไรที่เป็นผลต่อไปอีก การไม่หลงเข้าไปยึดก็เพราะมีสติอยู่ตลอดในการกระทำ เมื่อการกระทำมีสติอยู่ตลอดเวลา การกระทำก็ไม่เป็นกรรมอีกต่อไป เป็นแต่เพียงกิริยาอาการเท่านั้น พระพุทธศาสนาเน้นย้ำเหลือเกินให้ชาวพุทธเดินตามทางสายนี้ การสอนเรื่องกรรมมิใช่ให้เดินตามกรรม แต่ให้พ้นจากกรรม ทางที่เป็นกรรม ก็คือ ทางสายดี ชั่ว แต่พระพุทธศาสนาเน้นย้ำให้พ้นดี พ้นชั่ว เป็นกรรมไม่ดำไม่ขาวเท่านั้น

โศลกว่า “ทางสายโลกรู้ทางสายธรรม ทางสายธรรมเชื่อมทางสายโลก” การที่พระอริยสงฆ์ในพระพุทธศาสนาพยายามเผยแผ่พระพุทธศาสนาในภาษาของโลกนั้นก็เพื่อให้ทางสายโลกเข้าใจสายธรรม ถ้าไม่บอกให้เขาเข้าใจเป็นมโนภาพไว้ก่อนก็ไม่สามารถที่จะสร้างศรัทธาในการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรม คือ ความว่างได้ เช่น การยกตัวอย่างบุคคลที่ได้รับผลของความดี และความชั่วที่ปรากฏให้เห็นในโลกนี้ หรือในปรโลก ถ้าเป็นตัวอย่างของคนดีก็ให้กระทำตาม เพราะภาพนั้นเป็นความสุข เป็นความสบาย สะดวก แต่ถ้าเป็นตัวอย่างคนชั่ว ก็ให้เกรงกลัว ละเว้น เพราะเป็นความทุกข์ เดือดร้อน ลำบาก การเชื่อมความรู้เช่นนี้ทำให้ทางสายโลกเข้าไปรับรู้ในทางสายธรรมไว้ก่อน

ทางสายธรรมก็เชื่อมทางสายโลกไว้ไม่ให้หลุดขั้ว จุดเชื่อมที่แสดงให้เห็นภาพเพื่อสร้างเสริมศรัทธาให้สายโลกเข้าใจสายธรรม ก็คือ การแสดงหลักอนุปุพพิกถา ได้แก่ ถ้อยอธิบายที่ลาดลึกลงไปตามลำดับจากระดับมิติที่หนึ่ง ไปสู่มิติที่สอง ลึกสู่มิติที่สาม และเข้าถึงมิติที่สี่ ลำดับแห่งถ้อยคำอธิบายนี้เป็นการสะสมบารมีความเข้าใจไปเรื่อยๆ เป็นการสร้างพื้นฐานให้คนที่อยู่ในระดับที่หนึ่ง สอง สาม ได้มีความเข้าใจจุดเชื่อมมิติที่สี่ได้

กระบวนการสร้างฐานที่ ๑ กระบวนการสร้างฐานช่วยเหลือกันและกัน การแบ่งปัน เอื้อเฟื้อต่อกัน การอุปถัมภ์ อุปัฏฐาก ดูแล บุคคลที่เคารพนับถือ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายให้แก่ตนเองและผู้อื่นให้ได้รับความสะดวก สบาย นอกจากนั้นให้สร้างฐานมิติที่หนึ่งด้วยการเคารพกฎเกณฑ์กติกาสังคม ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นทั้งทางกายและวาจา รู้จักสิทธิและหน้าที่ของกันและกัน นอกจากนั้นยังไม่ทำลายสุขภาพร่างกายตนเองด้วยการดื่มและทานสิ่งอันเป็นพิษ เป็นโทษ เป็นภัย ทำให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น นี่เป็นการสร้างฐานที่ ๑ กระบวนการนี้เป็นการสร้างฐานมิติที่หนึ่งอันเป็นทางด้านกายภาพ

กระบวนการสร้างฐานที่ ๒ กระบวนการสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้น เป็นการแสดงตัวอย่างให้คิดเอาได้ ตรองเอาได้ พิจารณาเอาได้ กระบวนการนี้เป็นกระบวนการคิดถึงผลที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตและสังคม ใช้เหตุผลอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ใช้ตรรกะ อนุมานเอาได้ ทั้งการอนุมานฝ่ายบวกและฝ่ายลบ ฝ่ายบวกก็เป็นคุณงามความดี ฝ่ายลบก็เป็นความชั่วโทษภัย สามารถแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ

๑) การอนุมานเอาจากภายในจิตใจ ถ้าเป็นทางบวกก็เป็นความยินดี เป็นความสุข เป็นความเบิกบาน บันเทิง ยิ้มแย้ม แจ่มใส ไม่วิตกกังวล ถ้าเป็นด้านลบก็เป็นตรงกันข้าม คือ มีแต่ความทุกข์ระทม หวาดผวา นั่งไม่เป็นสุข นอนไม่เป็นสุข ทุรนทุราย มีแต่ความเครียด ภายในใจของตนเป็นเช่นไร อนุมานเอาได้ของผู้อื่นก็เป็นเช่นนั้น

๒) การอนุมานเอาจากภายนอก เป็นภาพที่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตา ด้วยหู ก็อนุมานเอาได้ถึงความสุขหรือความทุกข์ได้ ถ้าเป็นทางบวก ก็สามารถเห็นทรัพย์สินศฤงคาร ยศถาบรรดาศักดิ์ บริวารห้อมล้อมคอยช่วยเหลือ ได้ยินแต่วาจาสุภาพหวานหู มีแต่ความสะดวกสบายทุกประการ ไม่ขัดสนกับการดำเนินชีวิตทุกด้าน แต่ถ้าเป็นทางลบก็ตรงกันข้าม มีแต่ความลำบากขัดสนนานาประการ

๓) การอนุมานจากภพอื่น เป็นการอนุมานพ้นจากภาพที่เห็นปัจจุบัน เป็นเรื่องอนาคต แต่ก็สามารถคาดคะเนได้ ถ้าหากเขามีความสุขอย่างนี้วันนี้ วันพรุ่งนี้ก็คงมีความสุขเช่นนั้น ชาตินี้มีความสุขอย่างนี้ ชาติหน้าก็ได้รับความสุขอย่างนั้น ฐานทำไว้ในวันนี้ดีวันพรุ่งนี้ก็อนุมานเอาได้ตามเหตุนั้น สถานอันเป็นที่รื่นรมย์และสะดวกสบายย่อมรอรับเขาแน่นอนถ้าหากทำดี ตรงกันข้ามหากทำเหตุไว้ไม่ดี ก็อนุมานเอาได้ว่า คงต้องได้รับผลแห่งความไม่ดีในวันอื่น สถานอันเป็นที่ลำบากต้องปรากฏแก่เขาแน่นอนถ้าหากทำไม่ดี นี่คือ ๓ มิติของฐานที่ ๒

กระบวนการสร้างฐานที่ ๓ ความเคลื่อนไหวทางอารมณ์เป็นตัวแปรที่สำคัญทำให้สิ่งที่ดำรงอยู่ ครอบครองอยู่หมุนเวียนเปลี่ยนแปร จากสุขเป็นทุกข์ จากทุกข์เป็นสุข ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน เพราะความทุกข์มิใช่มีช่องทางเดียวที่จะเกิดขึ้น ไม่อะไรก็อะไรสักอย่างเป็นแน่ อย่างน้อยก็ทุกข์เพราะความแก่ ความเจ็บ ทั้งมาจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้อารมณ์ไม่คงที่ได้


เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความอยากเป็นตัวขับเคลื่อนที่อยู่ภายในได้ชักจูงอารมณ์เหล่านั้นเข้ามา ถ้าได้ตามที่คาดหมายก็พอใจ ถ้าไม่ได้ตามที่คาดหมายก็เสียใจ ทุกข์ใจ แล้วอะไรละที่จะยืนยงดำรงอยู่อย่างนั้นตลอดไป แม้กระทั่งตนเอง สุดท้ายก็ต้องละขันธ์นี้ไว้ ละสรรพสิ่งทั้งหลายที่ครอบครองไว้ แล้วจากไปอย่างเดียวดาย การเชื่อมฐานนี้เองที่ทำให้โน้มสายโลกเข้ามาแตะทางธรรม

กระบวนการสร้างฐานที่ ๔ เมื่อสายโลกแตะสายธรรมได้แล้ว ครานี้ก็เป็นหน้าที่ของสายธรรมสายเดียวที่จะต้องทำหน้าที่ สายธรรมนี้มิใช่ธรรมะที่เรียกว่าทวิภาวะอีกต่อไป ธรรมะในที่นี้เรียกเอกภาวะที่เป็นความว่างที่ดำรงอยู่อย่างนั้น ความว่างนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างฐานไว้เชื่อมระหว่างสายโลกและสายธรรมบรรจบกันในระดับที่ ๓ ไว้ก่อนแล้ว กระบวนการแห่งการสร้างสติให้เกิดขึ้น เมื่อสติเกิดขึ้นก็เป็นความว่างทันที สติที่จะมีพลังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสร้างฐานในแต่ละระดับไว้ก่อน เพราะฐานแต่ละฐานนั้นจะช่วยกัน กั้น และขจัดเมฆหมอกแห่งสมมติออกไป ความรู้ตัวที่ไม่ผ่านความคิดนั่นแหละเป็นความรู้ตัวที่แท้ ส่วนคิดรู้ตัวยังมิใช่รู้ตัวที่แท้จริง

โศลกว่า “ทางทั้งสองคือทางเดียว” จุดสำคัญของการเชื่อมโยงทางทั้งสองสายให้มาบรรจบกันเพื่อแสดงให้เห็นว่า แท้จริงนั้นทางทั้งสองสายมีเพียงสายเดียวเท่านั้นที่พระพุทธศาสนาแสดงไว้ในโลกใบนี้ ก็คือ ทางแห่งการปฏิบัติตนล่วงพ้นจากความดี ความชั่ว พ้นจากสุข ทุกข์ พ้นจากบุญ บาป พ้นจากนรก สวรรค์ เหลือแต่เพียงการปฏิบัติที่ไม่อะไรให้เข้าไปยึดถือ สิ่งต่างๆ เป็นเพียงการประกอบกันขึ้นของขันธ์ การเข้าไปยึดในขันธ์จึงมีบุญ บาป ดี ชั่ว เป็นทวิภาวะขึ้นมา แต่พอมีสติสลายขันธ์ ทุกอย่างก็เอกเป็นเอกภาวะ เป็นภาวะแห่งความว่างที่สงบเย็นบริสุทธิ์เท่านั้น นี่คือ “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ เอสมคฺโค วิสุทธิยา”

เมื่อกล่าวถึงทางสายเอก ก็คือทางสายกลาง ความเป็นกลางของทางสายนี้ก็คือ การไม่ตกไปสู่ส่วนที่เรียกว่า สุข หรือ ทุกข์ เป็นทางที่พ้นจากส่วนสุดทั้งสองประการ ส่วนสุดที่เป็นทวิภาวะ มีเพียงเอกภาวะเท่านั้น จักรของการปฏิบัติที่พร้อมเพรียงกันไม่ก่อนไม่หลัง จากสามเป็นหนึ่ง (Trinity in Unity)


จักรใบหนึ่งคือ จักรแห่งความเต็มเปี่ยมทางกายภาพ ได้แก่ว่าง จักรใบที่สองคือ จักรแห่งความเต็มเปี่ยมทางจิตภาพ ได้แก่ว่าง จักรใบที่สามคือ จักรแห่งความเต็มเปี่ยมของปัญญภาพ ได้แก่ ความรู้แจ้งแห่งอนัตตภาวะ เมื่อจักรแห่งความว่างทั้งสามใบหมุนพร้อมกันจึงกลายเป็นเอกภาวะ ไม่เหลือช่องว่างของทวิภาวะให้เข้ามาแทรกได้อีกเลย เรียกภาวะนี้ว่า มรรคสมังคี ความพร้อมเพรียงกันแห่งมรรคนั่นเอง

นี่คือ โศลกที่ยี่สิบสองแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

ไม่มีความคิดเห็น: