ทุกขผัสสะปกาสินี
รหัสลับที่สวมในความเห็น
ล้วนกลายเป็นทิฏฐิที่ยิ่งใหญ่
หาต้นตอความทุกข์ที่ผูกใจ
คำตอบใช่สี่มุมตกหลุมมาร
ไม่เป็นเราก็ท่านผู้ปั้นแต่ง
อาจพลิกแพลงสองเราต้องเข้าหาร
หรือทุกข์รอจะเกิดแค่เปิดกาล
สี่มุมม่านชาละคลุมอนันต์
หามีผู้คนใดมาใส่ทุกข์
เพียงแค่ปลุกผัสสะกระทบขันธ์
ปัจจัยก็เลื่อนไหลสืบสายกัน
คอยแค่กั้นกระแสที่แผ่ไป
คือการปรับทิฏฐิแก้มิจฉา
เกิดปัญญาเห็นแจ้งแถลงไข
ทำลายข้อสับสนแห่งกลไก
แก้มัดให้สรรพสัตว์พ้นวัฏวน
นับเป็นหายนะแห่งธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกปิดบังด้วยความไม่รู้มานับกาลไม่ถ้วน
จนกลายเป็นความเห็นผิดแบบถาวรที่เรียกว่า วิปลาส ความเห็นผิดนี้มีอยู่ ๓ ระดับใน ๔
เรื่องด้วยกัน คือ
๑.
ระดับสัญญา เรียกว่า สัญญาวิปลาส
หมายเอาความจำได้หมายรู้ที่ผิดพลาดใน ๔ ประเด็น ได้แก่
หมายรู้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนว่า ๑) สิ่งไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ๒) สิ่งที่เป็นทุกข์
ว่าสุข ๓) สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตน ๔) สิ่งที่เป็นของปฏิกูล ว่างดงาม
๒.
ระดับจิต เรียกว่า จิตวิปลาส หมายเอา
จิตที่รับรู้ เข้าใจผิดพลาด คลาดเคลื่อนใน ๔ ประเด็น ได้แก่
หมายรู้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนว่า ๑) สิ่งไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ๒) สิ่งที่เป็นทุกข์
ว่าสุข ๓) สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตน ๔) สิ่งที่เป็นของปฏิกูล ว่างดงาม
๓.
ระดับทิฏฐิ เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส หมายเอา
การยึดมั่น ถือมั่น เชื่อตามสัญญาหรือจิตนั้น
แล้วกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผิดพลาดต่อเนื่องจนกลายเป็นความเคยชิน
และกลายเป็นวัฒนธรรมที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน เช่น ความเชื่อตามจิตตวิปลาสว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีผู้สร้าง
(ตัวตน) พอเกิดแผ่นดินไหว ก็เชื่อว่า เป็นเพราะเทพเจ้าบันดาล (พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, ๒๕๕๘ : ๑๓๘)
เพราะความเห็นผิดเข้าใจผิดอย่างนี้จนกลายเป็นธรรมชาติของมนุษย์
จึงไม่แปลกที่มีเหตุการณ์อะไรบางอย่าง บางประการเกิดขึ้นกับตนเองหรือใครก็ตาม
มนุษย์ก็ต้องมองหาสาเหตุว่า เป็นใคร เกิดจากสาเหตุอะไร โดยโยงใยไปสู่ความเห็นผิดเช่นดังกล่าว
เปรียบเหมือนคนที่ตาบอดอยู่แล้ว เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ไหนเลยคนตาบอดจะรู้ว่า
เป็นอะไร ก็ล้วนแต่เดาว่า เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ มีลักษณะอย่างนั้น อย่างนี้
ถกเถียงกันไปทั่วสังคม โดยมากก็จะมีข้อสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนนั้น
ไม่ว่าจะเป็นสุข เป็นทุกข์ ก็ตามย่อมเกิดมาจากเหตุทั้ง ๔ ประการนี้เท่านั้น คือ
๑.
สุขหรือทุกข์เป็นเพราะผู้อื่นกระทำให้เกิดขึ้นกับตน
๒.
สุขหรือทุกข์เป็นเพราะตนเองกระทำให้เกิดขึ้นเอง
๓.
สุขหรือทุกข์เป็นเพราะผู้อื่นและตนเองกระทำให้เกิดขึ้นร่วมกัน
๔.
สุขหรือทุกข์ไม่เกี่ยวกับผู้อื่นและตนเองกระทำให้เกิดขึ้นได้
คือ เกิดได้เอง
ความคิดเห็นทั้ง
๔ ประการนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ความคิดผิดที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ
กล่าวคือ ความคิดในทัศนะความมีตัวตน หรือมีสิ่งยืนโรง และความคิดผิดว่า
ไม่มีอะไรเป็นเหตุเป็นผลกันทั้งนั้น และเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นในโลก
คนทั้งหลายก็จะใช้ความคิดเห็นผิดผลาดคลาดเคลื่อนนี้เข้าไปเป็นตัวตัดสิน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเสมอ
เมื่อมองจากการหาคำตอบว่า
สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนนั้นมาจากไหน ร้อยละ ๗๐ โดยประมาณต้องบอกว่า
เป็นเพราะเขาคนนั้น เนื่องจากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มองออกไปข้างนอกเสมอแล้วก็เห็นเป็นสัตว์
บุคคล ตัวตน เรา เขา จึงไม่อาจให้คำตอบเป็นอื่นไปได้ ก็ต้องลงความเห็นว่า
เพราะคนนั้น กลุ่มนั้น ประเทศนั้นจึงทำให้เราเป็นอย่างนี้
ได้รับความทุกข์หรือสุขอย่างนี้ แต่ก็มีประมาณร้อยละ ๑๕ ที่มองว่า
เป็นเพราะตัวเราทำตนเอง คำที่มักจะได้ยินว่า “ก็เพราะเขาทำร้ายตัวเขาเอง” หรือ
“เพราะฉันมันไม่ดีเอง” จึงเป็นคำที่สรุปว่า เป็นเพราะตนเองก็ทำขึ้นมาจึงได้รับผลอย่างนั้น
แต่ก็มีบ้างประมาณร้อยละ ๑๐ ที่ลงความเห็นว่า เป็นเพราะทั้ง ๒ ฝ่ายทำร่วมกัน
ดังที่เรามักได้ยินคำพูดว่า “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” กล่าวคือ
ไม่ว่าสุขหรือทุกข์นั้นก็เพราะทั้ง ๒ ฝ่ายทำขึ้นมา จึงได้รับผลอย่างนั้น
ยังคงเหลืออีกประมาณร้อยละ ๕ ที่มองว่า ไม่ว่ายังไง
สุขทุกข์นั้นไม่เกี่ยวกับใครทั้งนั้น ดังที่เรามักได้ยินคำพูดว่า “อะไรมันจะเกิด
มันก็ต้องเกิด” คือ สุขทุกข์เป็นอิสระ ไม่เกี่ยวกับสิ่งไหน ไร้เหตุผลโยงใย
มันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ปัญหานี้มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในปัจจุบัน
ในอดีตก็มีผู้สงสัยและสนใจอยากรู้
ดังข้อความที่เหล่าปริพาชกถามพระสารีบุตรที่เข้าไปพบปะทักทายเวลาเช้าก่อนออกบิณฑบาตว่า
“ท่านพระสารีบุตร
มีสมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเอง อนึ่ง
สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำให้
สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเองด้วย
และเป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำให้ด้วย อนึ่ง สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า
ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุที่ตนกระทำเองก็มิใช่และคนอื่นกระทำให้ก็มิใช่ท่านพระสารีบุตร
ก็ในวาทะเหล่านี้ พระสมณโคดมตรัสไว้อย่างไร ตรัสบอกไว้อย่างไร
และพวกข้าพเจ้าจะตอบอย่างไร จึงจะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระสมณโคดมตรัสไว้
ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระสมณโคดมด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลทั้งไม่มีการคล้อยตามคำเช่นนั้นที่จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้”
(สํ.นิ. ๑๖/๗๒/๓๒-๓๓)
จากข้อความนี้ประเด็นที่น่าสนใจมิใช่เพียงแต่ปัญหาที่ถามเกี่ยวกับเรื่องทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร
ใครเป็นคนทำแล้ว ปริพาชกทั้งหลายยังระมัดระวังว่า การที่ตนไม่รู้จริงว่าพระพุทธเจ้าตรัสตอบเรื่องนี้ไว้อย่างไร
แล้วนำไปกล่าวต่อ จะเป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า จะทำให้ตนเองได้รับการตำหนิเอาได้ว่า
ไม่รู้จริงแล้วกล่าวไป นี่คือ ธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของนักปราชญ์ในยุคนั้น จะไม่เป็นไปตามสำนวนที่ว่า
“ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด”
พระสารีบุตรตอบคำถามเหล่านี้โดยสรุปความว่า
“ทุกข์ที่สมณพราหณ์กล่าวว่ามีสาเหตุ ๔ ประการนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสภาวะที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
ปัจจัยนั้นก็ได้แก่ผัสสะ การตอบเช่นนี้ชื่อว่าตอบตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ถูกตำหนิได้”
พระอานนท์ได้ฟังการสนทนานั้นด้วย จึงนำมากราบทูลต่อพระพุทธเจ้าว่า
คำตอบเช่นนั้นถูกต้องหรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดีละ ดีละ อานนท์ ตามที่สารีบุตรพยากรณ์นั้น
ชื่อว่า พยากรณ์โดยชอบ...” (สํ.นิ. ๑๖/๗๔-๗๕/๓๔)
พระพุทธศาสนามีคำตอบในเรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่ต้นขั้วที่แท้จริง
มิใช่มองไปที่ปลายขั้ว หรือมองออกไปภายนอก การมองออกไปภายนอกก็จะพบสาเหตุที่เป็นคน
วัตถุ สิ่งของ พอมองไม่เห็นก็ลงความเห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นเหตุ โลกตกอยู่ภายใต้คำตอบเช่นนี้เป็นเวลานาน
ไม่เพียงแต่เป็นคำตอบเท่านั้น แต่เป็นการหาตัวการที่ผิดผลาดทำให้กระทำต่อตัวการที่ผิดพลาดไปด้วย
พวกแรกก็มักโทษผู้อื่น พวกที่สองก็มักโทษตนเอง พวกที่สามมักโทษกันและกัน
พวกที่สี่ก็ปล่อยประละเลย เมื่อเป็นเช่นนี้จะหาทางออกจากทุกข์ไม่ได้เลย
ต่างก็พากันวนเวียนอยู่ในกองทุกข์อยู่ร่ำไป
สำหรับพระพุทธศาสนามองเห็นทุกข์มีผัสสะเป็นปัจจัย
ก็เพราะการกระทบของอายตนะภายในและอายตนะภายนอก ทั้ง ๖ ประการ เวทนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ปรากฏ
ถ้าหากพอใจก็เป็นสุขเวทนา หรือมีความสุข ถ้าหากไม่พอใจก็เป็นทุกขเวทนา หรือมีความทุกข์
ถ้าหากไม่มีทั้งความพอใจหรือไม่พอใจก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา คือ เฉย ๆ การที่มองเห็นต้นขั้วของสุข
ทุกข์เช่นนี้ย่อมเห็นกระบวนการไหลไปของสายปัจจยการที่จะนำไปสู่การยึดมั่นถือมั่นเอาสุข
และทุกข์ที่เกิดในเวทนานั้นเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา จนทำให้กองทุกข์ในขันธ์ทั้งมวลเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ
เมื่อรู้สาเหตุที่แท้อย่างนี้ก็ย่อมเข้าไปตัดตอน ณ จุดกระทบได้ ก็เมื่อผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดสุข
ทุกข์ ก็ต้องเห็นอาการกระทบนั้นเป็นเพียงธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นธรรมชาติของอายตนะ
เมื่อมีอายตนะ บางครั้งเรียกว่า อินทรีย์ เพราะมีความเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ เปรียบเหมือนอากาศทั้งหลายที่ทำหน้าที่
อากาศหนาวก็ทำให้หนาว อากาศร้อนก็ทำให้ร้อน เมื่อตาเห็นรูป ก็เพราะมีตาและมีรูป
มีจุดกระทบ และมีวิญญาณรับรู้ นั่นก็เป็นธรรมชาติของปัจจยการ การที่ตากระทบรูปที่ไม่น่าพอใจนั้นเป็นอกุศลวิบาก
ส่วนที่น่าพอใจนั้นเป็นกุศลวิบาก ขณะนั้นจะต้องทำอะไร อย่างไร ก็ต้องพิจารณาเห็นถึงความเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งด้วยสติ
ปัญญา และความเพียร ตัดตอนไม่ให้เกิดผลอันเป็นกุศล หรืออกุศลเชิงสาเหตุอีกต่อไป
เมื่อเป็นกุศล อกุศล เชิงวิบากก็ให้เป็นอันเห็นและเข้าใจเท่านั้น ณ จุดนี้เป็นจุดที่ตัดตอนไม่ให้เกิดตัณหาต่อจากเวทนาอีก
เพราะเมื่อผัสสะดับ เวทนาก็ดับ ตัณหาก็ดับสืบเนื่องต่อไป
ยกตัวอย่าง
การเห็นกองขี้หมาเลอะหน้าประตูบ้าน เป็นอกุศลวิบาก ความเป็นทุกข์ก็เกิด โดยมากล้วนก็ต้องหาว่าใครทำ
หรือตัวไหนขี้ จากนั้นกระบวนการทำงานของปัจจยการก็ไหลไปตามอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา
อุปาทาน เริ่มที่จิตเป็นอกุศลกรรม วาจาที่เป็นอกุศลกรรมก็จะพรั่งพรูออกมา
จากนั้นการกระทำที่เป็นอกุศลก็จะเกิดตาม
กองทุกข์ทั้งมวลก็ไหลรวมเป็นเหตุแห่งทุกข์ต่อไป แต่พอเข้าใจเห็นผัสสะที่กระทบ
เข้าใจถึงกระบวนการสืบเนื่องทุกข์ ก็ตั้งสติ มีปัญญา ใช้ความเพียรดับปัจจยการนั้นเสีย
มองเห็นเป็นธรรมชาติของการมีอายตนะ มีผัสสะ หรือการเห็น หรือมีขันธ์ มีสุนัข มีคนอื่นหรือขันธ์อื่น
มีบ้าน มีที่ว่าง มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้นที่จะต้องมีสิ่งเหล่านี้ การที่จะไปโทษสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
ไม่ใช่ผู้มีปัญญาจะพึงกระทำ ดึงกลับเข้าสู่คลองแห่งธรรมชาติ พลังแห่งอวิชชา ตัณหา
อุปาทานก็ลดทอน ถึงขั้นไม่อาจทำงานให้เป็นปัจจยการได้อีกต่อไป ตรงนี้เองที่เรียกเป็นภาษาธรรมแห่งผู้บรรลุว่า
“เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน”
การที่จะทันความไวของจิตที่ทำงานตามปกตินั้นเป็นไปได้ยากมากสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาก่อน
แต่สำหรับผู้ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ก็มีความเป็นไปได้
ความไวของจิตมีเท่าใด ความไวของสติก็มีไวเท่านั้น
เพราะสติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตทันทีเช่นกัน ขอเพียงได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างถูกต้อง
ถูกทาง ตามธรรมสมควรแก่ธรรม สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ก็ทำงานไปร่วมกันเพื่อระงับยับยั้งมิให้กระแสแห่งปัจจยการที่นำไปสู่ทุกข์ทำงานได้อย่างคล่องตัว
เมื่อกระทำได้เช่นนี้เส้นทางในการเดินไปสู่การดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงก็มีได้ กระบวนแห่งปัจจยการสายปฏิโลม
หรือสายนิโรธวารก็เกิดขึ้น นี่เป็นสายการสิ้นไปแห่งทุกข์
สุข
ทุกข์ ที่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลกมีผัสสะเป็นปัจจัย ไม่ต้องไปโทษใคร ๆ
หรือตัวตนอะไรทั้งสิ้น นี่เป็นธรรมชาติแห่งขันธวิบากที่เกิดขึ้นมาแล้ว
ก็ไม่อาจหลุดรอดจากผัสสะไปได้ เปรียบเหมือนเมื่อเกิดขึ้นมาบนโลก ก็ไม่อาจหลุดรอดจากพ่อแม่
ดิน ฟ้า อากาศ สังคม สิ่งแวดล้อมไปได้ ความสำคัญอยู่ที่ว่า
เข้าใจความเป็นธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้นในแง่ที่สร้างความทุกข์ ๒ ระดับให้กับเราหรือไม่
คือ ระดับเหตุคือเวทนา และระดับผลคือทุกข์ โทมนัส อุปายาส ได้หรือไม่ ถ้าเข้าใจก็ดับเหตุเสีย
คือ ตัดตอข้อห่วงบ่วงเกี่ยวที่ผัสสะ ทุกข์ในระดับสาเหตุก็ดับ
เมื่อทุกข์ในระดับเหตุดับไป ทุกข์ในระดับผลก็ย่อมไม่มี
เปรียบเหมือนการไม่ต้องเกิดมาในโลก คือ ดาวดวงนี้ ก็ไม่ต้องพบกับสภาพธรรมชาติของดาวดวงนี้เช่นกัน
สมควรให้ทุกท่านได้ปรับมิจฉาทิฏฐิออกเสีย
ได้รู้ ได้เห็นธรรมที่เป็นสัจธรรมปรมัตถ์ และพยายามปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
คือปฏิบัติไปตามการรู้แจ้งธรรมชาติแห่งปัจจยการเช่นนี้ เห็นสาเหตุ ทางออก และกระบวนการปฏิบัติออกจากวงจรแห่งทุกข์
คือการวิปัสสนาต่อผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
และตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน...เมื่อเห็นเช่นนี้กองทุกข์ทั้งมวลก็สิ้นไป อิมัสสะ เกวลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ นิโรโธ โหติ
จบทุกขผัสสะปกาสินี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น