วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561



๙. ขันธญาณปกาสินี

กองขันธ์พลันมี ณ ที่ไหน
อาศัยเชื้ออะไรจึงไม่ดับ
หมดสิ้นสิ่งไหนจึงหายลับ
ญาณจับจึงรู้เชื้ออยู่นี่
เพราะมีอวิชชาเป็นอาหาร
ไหลสู่ท่อธารความทุกขี
วนเวียนเก่าใหม่อยู่ในที
ฉะนี้เสมอกันเทพสัตว์คน
อาศัยวิราคะอวิชชาดับ
สายโยงร่วงลับมากับผล
กองทุกข์สลายไปจากตน
หลุดพ้นเพราะเพียรไม่เปลี่ยนใจ
สัจธรรมล้ำค่าบนผืนโลก
คือทางสิ้นโศกนำทุกข์ใส่
แจ่มแจ้งขันธญาณะนัย
ฝากไว้แด่ชนฝึกฝนเทอญ

         
          ทศพลญาณและเวสรัชชญาณของพระพุทธเจ้า เป็นญาณปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์ผู้หนึ่งจะพึงมีได้ เป็นญาณที่ทะลุปรุโปร่งในขันธ์แต่ละขันธ์อย่างไม่มีอะไรติดค้างหลงเหลือ ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ของผู้ใดภายใต้ไตรภูมิ เพราะทุกขันธ์ต่างก็ตกอยู่ภายใต้การอาศัยกันเกิด อาศัยกันดับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอะไร ดับไปเพราะอะไร พรหมจักรญาณของพระพุทธเจ้าแทงตลอดขันธ์เหล่านั้น
คำว่า “อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ, อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปชฺชติ. อิมสฺมึ อสติ, อิทํ น โหติ, อิมสฺส นิโรธา, อิทํ นิรุชฺฌติ.” (สํ.นิ. ๑๖/๖๔/๒๘) คำเพียง ๘ คำนี้ คือ “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป” เป็นมัชเฌนธรรมที่สมบูรณ์ที่สุดในใต้หล้าอันจะหาหลักการใดเสมอเหมือนจะพึงมี ทศพลญาณนี้เห็นแจ้งมัชเฌนธรรรมในขันธ์ ได้ช่วยปลดปล่อยสรรพสัตว์ให้มีทางออกจากวัฏฏะ
ถามว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ก็อะไรคือสิ่งนี้มี”
ตอบว่า “ก็เพราะอวิชชามี สังขารจึงมี”
ถามว่า “เพราะอะไรเกิด สิ่งนี้จึงเกิด
ตอบว่า “เพราะสังขารเกิด วิญญาณจึงเกิด”
ถามว่า “เมื่อไม่มีอะไร จึงไม่มีอะไร”
ตอบว่า “เมื่อไม่มีวิญญาณ นามรูปจึงไม่มี”
ถามว่า “เพราะอะไรดับไป จึงทำให้อะไรดับไปด้วย”
ตอบว่า “เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับไปด้วย...”
สายหนึ่งเป็นสายเกิด เป็นสายทางที่นำไปสู่ทุกข์ ส่วนอีกสายหนึ่งเป็นสายที่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์
เพียงแค่พระดำรัส ๘ ประโยค สั้น ๆ ง่าย ๆ ประกอบกับลำดับปัจจการ ๑๒ ที่แฝงอยู่ภายในขันธ์นี้ พระองค์ตรัสว่า “ธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้ว เป็นธรรมเข้าใจง่าย เปิดเผย ประกาศไว้แล้ว เป็นดุจผืนผ้าเก่า...” (สํ.นิ.๑๖/๖๖/๒๙) ข้อความนี้นั้นสื่อสะท้อนอะไร สื่อสะท้อนให้เห็นว่า ถ้อยคำที่ง่าย ชัดเจนเช่นนี้ เป็นเหมือนกับเรื่องที่เราท่านทั้งหลายเห็นกันอยู่แล้ว แต่ไม่ทราบว่า ขันธ์นี้เกิดดับอย่างไร หรือ เมื่อทราบความเกิดดับอย่างนี้แล้ว จะทำอย่างไรต่อ เป็นเหมือนเราท่านเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกกันเป็นประจำ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจถึงการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ที่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งนักดาราศาสตร์ที่เข้าใจการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์แล้ว แต่จะทำไงต่อไปกับการหมุนไปของโลกและดวงอาทิตย์ได้ ก็เพียงเข้าใจและปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น ดุจดังนักศึกษาพระพุทธศาสนาที่พอจะเข้าใจการเกิดดับของขันธ์ รู้ลำดับของปัจจยการ แต่จะทำยังไงได้ ก็คงตกอยู่ภายใต้คำว่า “รู้หมด อดไม่ได้”
เมื่อทราบถึงหลักการแห่งมัชเฌนธรรม คือ ขันธ์นี้อาศัยเหตุและปัจจัยเกิดดับ เข้าใจกระบวนธรรมเหล่านี้แล้ว จะต้องปรับตนให้เข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา คือ การปฏิบัติสายกลาง เพื่อให้การปฏิบัติของตนสอดคล้องกับหลักการ การปฏิบัติตามหลักทางสายกลางนั้นต้องอาศัยพลังความเพียรขั้นสูง ต้องมีมหาปณิธานอันยิ่งใหญ่ว่า “เนื้อและเลือดในร่างกายจะเหือดแห้งไป จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที ผลใดพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ (ปุริสถาเมน) ด้วยความเพียรของบุรุษ (ปุริสวิริเยน) ด้วยความบากบั่นของบุรุษ (ปุริสปรกฺกเมน) (ถ้า) ไม่บรรลุผลนั้น ก็จักไม่หยุดความเพียรของบุรุษ” เพราะถ้าหากไม่มีความตั้งใจสูง ก็ไม่อาจข้ามพ้นพลังผลักดันของสัญชาตญาณไปได้
อะไรคือ พลังสัญชาตญาณของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ “อาหารนิทฺทา ภยเมถุนญฺจ สามญฺเมตปฺปสุภี นรานํ” กล่าวคือ “อาหาร นอนหลับ กลัวภัย และสืบพันธุ์เป็นสามัญของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย”  สัญชาตญาณทั้ง ๔ ประการนี้เป็นพลังผลักดันที่มีอำนาจมาก สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของพลังสัญชาตญาณนี้จนหมดสิ้น ที่เลวร้ายถึงกับ “แย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส แย่งอำนาจกันครอง” ที่ไม่เลวร้ายก็ต้องถูกอาหารบีบคั้นมนุษย์ให้แสวงหามาทานให้ได้ ไม่เพียงเฉพาะอาหารคือคำข้าวเท่านั้น แต่รวมหมายเอาอาหารทั้ง ๔ ด้วย
          เมื่อใดที่ถูกความหิวกระหายบีบคั้น เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า พลังแห่งอาหารนั้นรุนแรงเพียงไหน นั่นยังเพียงแค่อาหารที่เป็นขาทนียะ โภชนียะ เท่านั้น ขยับเข้ามาสู่ผัสสาหารบ้าง เพียงแค่อยู่ห่างโทรศัพท์ก็รู้สึกไม่มั่นใจในชีวิตแล้ว ไปไหนไม่ได้ เมื่อจักขวาหาร โสตาหาร ไม่ได้เสพ จะเกิดอาการกระสับกระส่าย ทำอะไรไม่ถูก ยิ่งปัจจุบัน มือถือเป็นกล่องอาหารชั้นเยี่ยม นี่คือสารเสพติดของมนุษย์ยุคปัจจุบัน การจะออกห่างจากกล่องอาหารเสพติดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายของมนุษย์ ไม่ต้องพูดถึงมโนสัญเจตนาหารและวิญญาณาหาร ที่ละเอียดอ่อนมาก มนุษย์เสพเข้าไปโดยไม่รู้ตัว และเป็นพลังผลักดันที่แฝงอำนาจอยู่ภายในที่ไม่อาจต้านทาน
ข้อควรตระหนักอย่างยิ่งมีว่า “น ภิกฺขเว หีเนน อคฺคสฺส ปตฺติ โหติ, อคฺเคน จ อคฺคสฺส ปตฺติ โหติ.” ประโยคนี้มีความสำคัญอย่างมากทีเดียว “การบรรลุธรรมที่เลิศ ด้วยธรรมอันเลว หามีไม่ การบรรลุธรรมที่เลิศ ด้วยธรรมที่เลิศ จึงมีได้” เปรียบเหมือน การล้างสิ่งสกปรกด้วยน้ำสกปรก หามีไม่ แต่การล้างสิ่งสกปรกด้วยน้ำสะอาด จึงมีได้ การตำหนิผู้อื่น เพื่อให้ตนดี การทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้ตนรอด การได้ของคนอื่นมา ให้ตนมั่งมี ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง การปฏิบัติทางสายกลางในพระพุทธศาสนานั้นเป็นน้ำสะอาด ยิ่งฟอก ยิ่งล้าง ยิ่งชำระ ความหมดจดแห่งจิต ความสะอาดแห่งจิตก็มีมากขึ้น มลทินแห่งขันธ์ก็ลดน้อยลง ย่อมถึงธรรมที่ยังไม่ถึงถึง บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่แจ้ง ทางสายกลางเป็นธรรมที่เลิศ เป็นธรรมที่นำไปสู่การบรรลุธรรมที่เลิศได้
ทางสายกลางปฏิบัติอย่างไร ก็ปฏิบัติให้เป็นธรรมสมังคีกับขันธ์ กล่าวคือ การมีสติ สัมปชัญญะ ความเพียรเครื่องเผากิเลส (อาตาปะ) เห็นขันธ์ทำงานสัมพันธ์กันและกัน รู้ทันขันธ์ที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง เห็นจิตคือวิญญาณทำงานร่วมกันกับเจตสิก คือ เวทนา สัญญา สังขาร แสดงอาการผ่านไปสู่รูป ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเคลื่อนไหวอวัยวะ กำกับดูแลให้เกิดความไม่หวั่นไหวไปกับเจตสิก  จนเกิดเป็นอุเบกขาธรรม เป็นศูนยตธรรม เป็นอนัตตธรรม ดังนั้น กระบวนธรรมแห่งจิต เจตสิก รูป และนิพพาน (ว่าง-ดับ) จึงเกิดขึ้นกับขันธ์นี้นั่นเอง โดยอาศัยความเพียร
ข้อสำคัญในขณะที่เวทนาเกิดขึ้นเชื้อแห่งเวทนาโดยเส้นทางจะนำไปสู่ตัณหา ถ้าหากเป็นความสุข  ก็อยากได้ อยากมี อยากเป็น ถ้าเป็นความทุกก็ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เส้นทางสายเกิดก็ปรากฏขึ้น โดยอัตโนมัติตามเหตุปัจจัยที่อาศัยกันและกันเกิดอย่างนี้ มัชฌิมาปฏิปทาอยู่ตรงนี้ ในขณะที่เวทนาเกิด ก็เห็นเวทนานั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา มีแต่การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา เวทนาก็เป็นสักว่า เวทนา สัญญา ก็เป็นสักว่า สัญญา สังขารก็เป็นสักว่า สังขาร มีสติ สัมปชัญญะ และความเพียรเห็นอยู่ นี่คือกระบวนการสายดับปรากฏ เป็นทางที่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์ ไม่มีอะไรยืนโรงในขันธ์ เป็นแต่กระบวนธรรมล้วน ๆ ที่ทำงานสัมผัสสัมพันธ์จนไม่เหลือช่องว่างให้สรรพสัตว์ได้สังเกตเห็น จึงเข้าใจกันว่า มีบุคคล หรือมีผู้ มีอัตตา แฝงอยู่ในขันธ์ ทำให้ขันธ์เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ได้ตามเจตจำนงของ “ผู้” ที่ซ่อนอยู่ภายในขันธ์นั้น
ความรู้แจ้งในขันธ์เช่นนี้ เรียกว่า ขันธญาณ เป็นทั้งหมดของทสพลญาณ กล่าวคือ รู้ความตื้นลึก หนาบาง ฐานะและมิใช่ฐานะของขันธ์ รู้ถึงการทำงานและผลของการทำงานของขันธ์ รู้ความสิ้นสุดของขันธ์ รู้ต้นราก เหตุปัจจัยของขันธ์ รู้ความเป็นใหญ่ของแต่ละขันธ์ที่ทำงาน รู้ความสั่นไหวของขันธ์ รู้ความเป็นอดีตของขันธ์ รู้ความเป็นอนาคตของขันธ์ รู้ความหลุดพ้นจากอำนาจขันธ์ เพราะการรู้แจ้งขันธ์อย่างนี้ เรียกว่า ขันธญาณปกาสินี จงมีความเพียร บำเพ็ญตนเพื่อรู้ทันขันธ์เถิด เมื่อนั้นความสิ้นไปแห่งทุกข์อย่างสมบูรณ์จึงมีขึ้นได้

         


จบขันธญาณปกาสินี

ไม่มีความคิดเห็น: