วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โศลกที่ ๓๙ เห็นแ้จ้งเบญจขันธ์


โศลกที่ ๓๙
เห็นแจ้งเบญจขันธ์

สัญญาค้นหาของเดิม
ยิ่งบรรยากาศเป็นใจ
สัญญินทรีย์ยิ่งได้เชื้อ
โยงใยใครที่เคยสนทนาเข้ามา
สังขารก็พากระเจิงไปไกล
ฝนตกผ่านค่าคบและใบไม้
ตกกระทบเต้นท์เป็นจังหวะ
ใช้สติสลัดหลุดสังขารลง
เฝ้าดูเบญจขันธ์อีกครา
บำเพ็ญอินทรีย์ให้เป็นพละ
สะสมให้เป็นเหตุปัจจัย
นำไปสู่ความสิ้นสุดแห่งขันธ์
         

“เบญจขันธ์ เป็นที่รวมลงแห่งการศึกษาในพระพุทธศาสนา ถ้าหากศึกษาเบญจขันธ์ได้อย่างทะลุปรุโปร่งก็สามารถจบหลักสูตรการศึกษาชีวิตในพระพุทธศาสนาได้แน่นอน เบญจขันธ์ทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ ไม่มีช่องว่าง ไม่มีข้อบกพร่อง ทำงานจากความไม่มีอะไรจนนำไปสู่ความมีอะไรขึ้นมา เมื่อเกิดความมีอะไรขึ้นมา ก็นำไปสู่ความเป็นอะไรต่อมิอะไรกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จากนั้นก็ผูกยึด โยงใย พัวพัน ติดแน่นจนไม่มีที่สุดเบื้องต้นปรากฏ
ผู้คนในโลกถูกซ้อนกลดุจดังคนถกเถียงกันเรื่องความฝัน ถกเถียงกันจนเกิดความขัดแย้ง โกรธกัน ไม่พอใจกัน ในที่สุดก็นำไปสู่การทำร้ายกัน ทั้งที่สาระแห่งความฝันมิได้มีจริง แต่ผู้คนต่างก็ยึดถือเอาความฝันเป็นจริง แล้วก็ถกเถียงกันในเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในความฝัน จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมาได้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะผู้คนถูกมายาบดบังจนไม่รู้ว่า อะไรเท็จ อะไรจริง อะไรใช่ อะไรไม่ใช่ ต่างพากันไขว่คว้า แย่งชิง เข่นฆ่า ทำลายกันและกันเพื่อแย่งชิงสิ่งมายาทั้งหลายมาครอบครอง แสวงหามายาเพื่อสนองมายา เมื่อมีสิ่งมายาใหม่ก็ไล่ล่ากันอีก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ นี่เป็นความโหดร้ายและน่าอนาถของมวลมนุษยชาติ
ก็อะไรละที่คอยเป็นตัวบดบังไม่ให้ผู้คนได้เห็นความจริง ก็สังคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมนี่แหละที่เป็นตัวปกปิดความจริงไม่ให้ใครหลุดรอดจากเงื้อมมือไปได้ สังคมเป็นด่านแรกที่ปิดบังความจริงไว้ชั้นหนึ่ง หากใครสามารถผ่านด่านสังคมออกมาได้ ก็มาติดด่านการศึกษา หากหลุดมาได้ ก็ติดด่านศาสนาอีกชั้น หรือหากใครที่ไม่สนใจศาสนาก็ต้องตกอยู่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมในที่สุด ม่านมายาเหล่านี้คอยปิดบังไม่ให้ใครต่อใครรอดพ้นไปได้ หากแม้มีใครหลุดกรอบมายาเหล่านี้ได้ เขาจะถูกสังคมประณามว่าเป็นคนทรยศสังคม การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมไปทันที คนในสังคมจะขจัดเขาให้พ้น สังคมจะรวมตัวกันกับศาสนา การศึกษา และหน่วยงานทางวัฒนธรรมตามขจัดเขา เพราะหากปล่อยให้คนที่ไม่เชื่อฟังสังคม จะพาให้สังคมจะยุ่งเหยิง สังคมจะอยู่ไม่ได้ การศึกษา สังคม ศาสนาและวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นม่านมายาคอยสะกดจิตของใครต่อใครเอาไว้เพื่อไม่ให้เข้าถึงความจริงได้
กล่าวกันว่า ในขณะที่มีการแห่พระศพของจักรพรรดิเล็กซานเดอร์ไปตามถนนนั้น หลายคนแปลกใจที่เห็นพระหัตถ์ทั้งสองข้างของพระองค์ชูออกมานอกโลง ผู้คนที่พบเห็นต่างถามหาสาเหตุ คำตอบก็คือ  ก่อนสิ้นพระชนม์พระองค์ตรัสสั่งไว้ อย่าให้ใครเอาอย่างอเล็กซานเดอร์อีก ความหมายก็คือ ที่สุดพระองค์ก็ไปแบบมือเปล่า ไม่ได้มีอะไรไปด้วย ชีวิตช่างไร้แก่นสารเมื่อถึงวินาทีสุดท้ายแห่งการจากไปมาเยือน นี่เป็นรางวัลของมายาที่มอบให้กับผู้คน ไม่ว่าจะไขว่คว้ากันไปอย่างไร ไม่ว่าจะเติมเต็มเข้าไปอย่างไร ก็ไม่สามารถเติมเต็มอัตตานี้ให้เต็มได้ อย่าว่าแต่เติมชาตินี้ทั้งชาติเลย ต่อให้เติมมาแล้วนับล้านชาติ อัตตานี้ก็ไม่มีวันเติมเต็ม ตัณหาไม่มีวันถมให้เต็มได้ อัตตานี้ไม่มีทางที่จะถมจากภายนอกเข้าไปได้ มีแต่ถมจากภายในออกมาพอจะเป็นไปได้ การถมจากภายในออกมา หมายถึง การเข้าไปรู้แจ้งอัตตาทีละนิด ๆ รู้แจ้งได้เท่าไร อัตตาก็หายไปเท่านั้น ใช้ความรู้แจ้งถมออกมาจากภายใน
โศลกว่า “ยิ่งบรรยากาศเป็นใจ สัญญินทรีย์ยิ่งได้เชื้อ โยงใยใครที่เคยสนทนาเข้ามา เหตุใดมายาจึงสามารถบดบังไม่ให้ผู้คนเห็นความจริงได้ ก็เพราะการทำงานของเบญจขันธ์นี่เองที่ทำงานได้ดีเยี่ยมจนกลายเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ เบญจขันธ์หนึ่งมองเบญจขันธ์อื่นแล้วเห็นความเป็นตัวเป็นตนของผู้อื่นขึ้นมาได้อย่างไร เบญจขันธ์ของตนก็เข้าใจความเป็นตัวเป็นตนของตนอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อมองเห็นตัวตนผู้อื่นได้ก็ไม่ต้องสงสัยที่จะไม่เห็นตัวตนของตน อวิชชาที่จัดอยู่หัวแถวได้ทำลายญาณรู้แจ้งไว้ก่อนแล้ว ทำลายจนเกือบหมดสภาพแห่งความเป็นพุทธะในตน ดุจดังนกแก้วที่ถูกตัดปีกตั้งแต่แรกเกิดฉะนั้น ไหนเลยนกแก้วจะรู้ได้ว่า ตนนั้นสามารถบินได้ ก็เข้าใจว่า ตนนั้นเป็นนกที่สวยงามอยู่ในกรงให้ผู้อื่นชมเท่านั้น แม้ปล่อยออกมาก็บินไม่ได้ ตนเป็นนกพันธุ์ที่ไม่สามารถบินได้ มนุษย์ก็เช่นกัน เข้าใจว่า เบญจขันธ์นี้ก็มีตัวมีตนอยู่อย่างนี้แหละ จะให้เป็นอย่างอื่นไปได้อีกอย่างไรเล่า การพยายามที่จะบินของนกแก้วก็ดี การพยายามที่จะเป็นอิสระจากเบญจขันธ์ก็ดีเป็นการกระทำที่โง่เขลา เป็นการกระทำที่เสียเวลาเปล่า เป็นการกระทำที่เป็นไปไม่ได้ นี่คือ ความเข้าใจของมนุษย์ที่ถูกอวิชชาลวงผ่านการทำงานของเบญจขันธ์
นอกจากความเข้าใจผิดเพราะมายาบดบังหนึ่งชั้นแล้ว ยังมีบริบทและบรรยากาศอีกที่เอื้อให้ผู้คนไม่สามารถเห็นการทำงานของเบญจขันธ์ได้ บรรยากาศยิ่งเอื้อมากเท่าไร เบญจขันธ์ก็ทำงานดีเท่านั้น บรรยากาศที่เคยสนทนากัน บรรยากาศที่เคยทานข้าวด้วยกัน บรรยากาศที่เคยเล่นหัวด้วยกัน บรรยากาศเก่า ๆ ก็ไหลเข้ามาสู่คลองแห่งสัญญา สัญญินทรีย์ทำงานอย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง หน้าที่ของสัญญาก็คือ การจำได้หมายรู้ในเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น เก็บรวบรวมภาพแห่งความทรงจำในอดีตนำออกมาฉายในขณะที่บรรยากาศเป็นใจ ตัดสินถูกผิดตามที่สัญญาเคยรับไว้ เคยรักใคร หรือเกลียดใครเมื่อสิบปีที่แล้ว สัญญาก็ยังคงรักษาไว้ไม่ให้ตกหล่น อินทรีย์ คือ สัญญาทำงานทบทวนภาพบรรยากาศเก่า ๆ ซ้ำไปซ้ำมา แล้วอย่างนี้มีหรือที่คนบนโลกจะรู้ได้ว่า สัญญินทรีย์ทำงานอยู่ ก็เข้าใจเพียงแต่ว่า เธอคนนั้น เขาคนนี้เคยหลอกลวงเรา เคยทำร้ายเรา นึกขึ้นมาทีไรก็อดแค้นใจไม่ได้สักที หรือแม้แต่จะให้อภัยทางวาจาทุกคราที่เอ่ยถึง แต่สัญญาไม่เคยลืมเลือนคำตัดสินไปแล้วว่า “เขาผิด
 โศลกว่า “สังขารก็พากระเจิงไปไกล” พอสัญญาทำหน้าที่ไปถึงจุดหนึ่ง ไปถึงจุดที่ประทับใจหรือจุดที่ไม่ประทับใจ สังขารก็รับช่วงต่อทันที ตัวสังขารนี่แหละที่นำไปสู่ความเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น จากความไม่มีอะไร สังขารจะปรุงให้มีอะไร จากสัญญาเดิมที่เคยอยู่ด้วยกัน ก็กลายเป็นความคิดเสริมต่อเนื่องจากภาพนั้นออกไป น่าจะทำอย่างนั้น น่าจะทำอย่างนี้ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ก็น่าจะได้อย่างนั้น เพราะไม่ทำอย่างนั้นจึงได้อย่างนี้ ทำให้เกิดเวทนา เป็นความสุข ความทุกข์ ความหวัง สิ้นหวัง ความเศร้า ความหวยหา ความบอบช้ำขยายผลไม่รู้จักจบสิ้น
ในขณะที่ทั้งเวทนา สัญญา สังขาร ทำหน้าที่ของตนไปอยู่อย่างนั้น อินทรีย์ที่คอยรองรับความมีอยู่จริงของเวทนา สัญญา สังขาร ก็คือ มนินทรีย์ การทำหน้าที่ของวิญญาณก็คือ การรับรู้ความมี ความเป็นของอินทรีย์เหล่านั้น รับรู้ว่ามีเราสุข เศร้า สมหวัง ดีใจ เสียใจ รับรู้ว่ามีเราเคยรัก ชอบ เกลียด โกรธ เราถูก เขาผิด รับรู้ว่า เราน่าจะบอกเขาอย่างนี้ ให้เขาทำอย่างนั้น ตอบโต้อย่างนี้ วางแผนอย่างนั้น ขยายผลจากสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้นได้ จากสิ่งที่มีก็ทำให้หายไปได้ ความมีขึ้นนี้เป็นภพ ภพนี้มีทั้งที่เป็นการกระทำขึ้นและที่เป็นการอุบัติขึ้น เช่น การคิดสร้างนวัตกรรมอะไรขึ้นมา การคิดเป็นสังขาร การกระทำให้เกิดขึ้นเป็นกรรมภพ การมี iPad ขึ้นมาจึงกลายเป็นอุปัตติภพขึ้นมาได้ iPad จึงมีขึ้นในโลกนี้ มีขึ้นในกาลบัดนี้ ให้ทำมีขึ้น เป็นขึ้นได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ไหนเลยจะไม่ถูกมายาบดบังจนมิด บังให้เข้าใจในความเป็นตัวเป็นตนของเบญจขันธ์ขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
          โศลกว่า “เฝ้าดูเบญจขันธ์อีกครา บำเพ็ญอินทรีย์ให้เป็นพละ” เมื่อสัญญินทรีย์ทำงานไปได้ขณะหนึ่ง สัญญาได้เรียบเรียงภาพความทรงจำในอดีตขึ้นมา สัญญากำลังจะขยายผลต่อไปเป็นการโหยหาบุคคลที่อยู่ในภาพนั้นให้มีขึ้น ชั่วขณะนั้น ผู้เจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรมพึงใช้สติเข้าไปเฝ้าดูสัญญา ก็จะเห็นตัวสัญญาขันธ์กำลังทำหน้าที่ เห็นสัญญานั้นทำงาน เห็นงานของสัญญา เห็นสัญญาขันธ์ พอเห็นสัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ก็สลาย สลายหน้าที่ของสัญญาขันธ์ สัญญาพอถูกสติเฝ้ามองเท่านั้นก็คลายความเป็นสัญญาขันธ์ของตน หน้าที่ที่ทำอยู่ก็สลายไป ไม่เหลืออะไรในความเป็นสัญญาขันธ์ ไม่มีเชื้อให้สังขารขันธ์ได้ทำงานต่อ ไม่มีเหตุปัจจัยให้วิญญาณได้ถือเอาว่ามี ว่าเป็น สติที่มองดูการทำงานของเบญจขันธ์นั้นช่างน่าอัศจรรย์ เป็นอาวุธที่น่าทึ่งจริง ๆ
จะมีใครเข้าใจได้อย่างแท้จริงถึงความเป็นสันตติภาวะแห่งเบญจขันธ์นี้ สรรพสัตว์ต่างล้วนตกอยู่ภายใต้การทำงานของเบญจขันธ์นี้ และถูกอินทรีย์คือการทำหน้าที่ของขันธ์ลวงเอา บดบังจนไม่เหลือช่องว่างให้เห็นความเป็นอนัตตาของเบญจขันธ์ได้เลย งานเฝ้าดูเบญจขันธ์จึงเริ่มขึ้น ภาระสำคัญของผู้เจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรมก็คือการทำให้อินทรีย์อีกประเภทหนึ่งเข้มแข็งขึ้น เจริญขึ้น เมื่ออินทรีย์ ได้แก่ ความตั้งใจ ความพยายาม การเฝ้าระวัง การตื่นรู้ การเห็นแจ้ง ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ อินทรีย์นี้ก็จะหลอมรวมเป็นพลัง พลังแห่งอินทรีย์จะเป็นกระแสปัญญาสลายเบญจขันธ์ให้สลายไป ธาตุเป็นสักว่าธาตุ รูปนามสักว่าเป็นแต่รูปนาม ปัจจัยเป็นสักว่าปัจจัย อินทรีย์เป็นสักว่าอินทรีย์ ไม่หลงเหลือให้เป็นตัวเป็นตนได้อีก
การได้เข้าสู่สนามฝึกฝนแต่ละครา เป็นการเข้ามาฝึกฝนเพิ่มพลังให้กับอินทรีย์เพื่อสลายอินทรีย์ เข้าไปฝึกใช้ขันธ์เพื่อบริหารขันธ์ให้สิ้นขันธ์ การทำหน้าที่ของศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เข้าสลายการทำหน้าที่ของรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ พละคือเครื่องมือสลายขันธ์ ฝึกฝนอินทรีย์หนึ่งให้มีกำลังเพื่อสลายอีกอินทรีย์หนึ่ง คือ เบญจขันธินทรีย์ บูรณาการทำงานของพละ เรียกว่า มรรคสมังคี นี่เป็นงานในการเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์แปดประเสริฐที่สุด บรรดาบททั้งหลาย บทสี่คืออริยสัจประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะ คือ การปราศจากความกำหนัดยินดีประเสริฐที่สุด บรรดาสัตว์สองเท้า พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด มรรคมีองค์แปดนี่แล เป็นไปเพื่อทรรศนะอันบริสุทธิ์ หาใช่ทางอื่นไม่ เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมรรคมีองค์แปดนี้ อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามมิได้ เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติเพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไป ความเพียรพยายาม เธอทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้นเมื่อปฏิบัติตนดังนี้ พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหา อุปาทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่าง ๆ สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตนเป็นของตนที่จะไม่ก่อทุกข์ ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เพียงสักว่า ๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่าง ๆ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม
ก็เมื่อใดที่ปฏิบัติตามทางสายกลางนี้ ถอนความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์เสีย มีสติเห็นแจ้งหน้าที่ของขันธ์หน้าทั้งหลาย เมื่อนั้นย่อมพ้นจากบ่วงแห่งขันธมาร มารคือความทุกข์ที่เกิดแต่เบญจขันธ์นี้ เบญจขันธ์นี้เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ทั้งมวล เบญจขันธ์ไม่หลงเหลือสิ่งใดให้ต้องเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ขันธ์นี้เป็นเพียงอนัตตา เป็นความว่าง เป็นแต่การทำงานตามหน้าที่ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีความเป็นสัต ความเป็นชีวะอยู่ภายในนั้น เมื่อเห็นแจ้งเบญจขันธ์ดังนี้ ชื่อว่า เข้าถึงความหลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร ขอผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรมทั้งหลายจงใช้ขันธ์นี้บริหารขันธ์เพื่อให้สิ้นขันธ์ บูรณาการอินทรีย์ให้เป็นพละเพื่อสลายขันธ์ กระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด
นี่คือ โศลกที่สามสิบเก้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

ไม่มีความคิดเห็น: