วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทบาทพระพุทธศาสนาในอาเซียน


บทบาทพระพุทธศาสนาในประชาคมอาเซียน

ผศ.ดร.สุวิญ  รักสัตย์[1]
บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย


ความนำ
          ปัจจุบันโลกไม่อาจอยู่ได้เพียงลำพัง ทุกส่วนของโลกกำลังแสวงหาภาคีเครือข่ายสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนเอง เพื่อประโยชน์ร่วมกันของชาติในภาคีสมาชิก จะเห็นได้ว่า โลกได้แบ่งออกเป็นกลุ่มหลากหลาย มีกลุ่มทางการค้า เศรษฐกิจ น้ำมัน ความมั่นคง การปกป้องธรรมชาติ เป็นต้น แต่ละกลุ่มก็พยายามมีบทบาทในการต่อรองกับกลุ่มอื่น หรือภูมิภาคอื่นให้รับฟังกลุ่มตนเองและต้องรับเงื่อนไข นี่คือโลกปัจจุบัน กลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พิจารณาเห็นว่า ภูมิภาคนี้มีทรัพยากรสำคัญจำนวนมากที่สามารถสร้างเป็นเครื่องมือต่อรองกับโลก สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นเองเพื่อใช้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศของตนได้ แต่หากไม่สร้างเป็นกลุ่มภาคีเครือข่าย ก็ขาดอำนาจในการต่อรอง นับว่าเป็นความขับเคลื่อนโลกยุคใหม่ คือยุคของการรวมกลุ่มกันทำงาน
ปัจจุบันโลกได้กลายเป็นลักษณะของครอบครัวเดียวกันที่เรียกว่า Global Village โดยอาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด การติดต่อสัมพันธ์กันในโลกนี้มีความใกล้ชิดดุจดังอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้มองเห็นโอกาสของความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคใหม่นี้จึงรวมกันและร่วมกันคิดและร่วมกันตัดสินใจดุจดังผู้ถือหุ้นร่วมกันของบริษัทหนึ่งเท่านั้นเอง นอกจากนั้นแต่ละประเทศยังต้องการแสดงให้เห็นจุดเด่นของตนเพื่อขยายไปสู่โอกาสอื่นด้วย ด้วยเหตุนี้นี่เองจึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ ASEAN จึงก่อสร้างตัวขึ้นเป็นบริษัทหนึ่งที่มี ๑๐ ประเทศเข้ามาร่วมหุ้นกันโดยใช้ยุทธศาสตร์ทางเขตแดนเป็นกรอบร่วมกัน (Regional Group) ก็เพราะโลกได้มายุคนี้แล้ว ASEAN เริ่มตอนนี้ยังถือว่ายังไม่สายเกินไปนักในแง่ของบริษัทในครอบครัวโลกใบนี้

ประชาคมอาเซียน
          ในฐานะที่กล่าวถึงอาเซียน ก็ขอเขียนถึงความเป็นมาเล็กน้อยเพื่อเป็นประวัติศาสตร์ทางเอกสาร แม้ว่าปัจจุบันจุดกำเนิดของประชาคมอาเซียนเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันแล้ว “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) เกิดจากสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations-ASEAN) เริ่มจาก “ปฏิญญากรุงเทพฯ” (Bangkok Declaration) ซึ่งมีประเทศสมาชิกตอนนั้นเพียง ๕ ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร ต่อมาอาเซียนได้เพิ่มสมาชิกในภูมิภาคขึ้นอีก ๕ ประเทศ ได้แก่ ประเทศบรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา รวมเป็น ๑๐ ประเทศ จนครบในปี ๒๕๔๐ โดยผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสาร วิสัยทัศน์อาเซียน ๒๐๒๐” และร่วมกันกำหนดเป้าหมายหลัก ๔ ประการ ได้แก่  
๑) ด้านการเมืองและความมั่นคง (ASC)
๒) ด้านเศรษฐกิจ (AEC)
๓) ด้านสังคมและวัฒนธรรม (ASCC)
๔) ด้านโครงสร้างองค์การ (ASAC)
ทั้ง ๔ เป้าหมายนี้อาเซียนต้องทำให้สำเร็จภายในปี ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) แต่ปัจจุบันในด้านเศรษฐกิจ (AEC) เริ่มก่อนกำหนด ๕ ปี จึงเป็นปี พ.ศ.๒๕๕๘
          ประชาคมอาเซียนจึงเป็นการร่วมมือกันสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นในโลกยุคใหม่ โลกแห่งการจับกลุ่มกันทำงานเพื่อสร้างเสถียรภาพทางความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม สร้างมูลค่าเพิ่มในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มอำนาจในการต่อรอง การขยายตลาด และที่สำคัญคือสร้างความเข้าใจกันทางสังคมและวัฒนธรรมต่อกันและกัน

การดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในอาเซียน
          จากเสาหลักที่ ๓ ของอาเซียนทำให้หน่วยงานทางศาสนาต่างขยับตัวเพื่อเตรียมตัวในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนี้ในแง่มุมที่แตกต่างกันไป สำหรับพระพุทธศาสนาก็เป็นศาสนาหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะต้องมองหาจุดร่วมสงวนจุดต่างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอาเซียนทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีกรอบอยู่ ๖ ด้าน ได้แก่
             ๑.   การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
             ๒.   การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม
             ๓.   สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม
             ๔.   ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
             ๕.   การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
๖.   การลดช่องว่างทางการพัฒนา
ก่อนที่จะแสดงถึงแนวทางในการแสดงบทบาทในอาเซียนของพระพุทธศาสนา เป็นที่ทราบกันว่า พระพุทธศาสนามีประวัติศาสตร์ยาวนานในดินแดนแห่งประชาคมอาเซียนหรือสุวรรณภูมิแห่งนี้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกือบทุกประเทศรวมถึงประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนาที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาได้ผูกพันกับวิถีชีวิตของประชาชนในแถบนี้และได้ช่วยสร้างสรรค์อารยธรรมความรุ่งเรืองของประชาคมอาเซียนหลายประเทศภายใต้แนวคิดสังคมแห่งสันติภาพและภราดรภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานั้นยังคงมีการติดต่อสร้างความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา มีการประชุมแลกเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาสังคม มีการดำเนินการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางเพื่ออำนวยสันติสุขแก่มหาชนชาวอาเซียนมากยิ่งขึ้น เช่น มีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำพุทธศาสนาแห่งโลก (World Buddhist Summit) มีการจัดการประชุมในวันสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ วัน วิสาขบูชาในระดับโลก เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทางพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแสวงหาแนวทางเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาและความสงบสุขของประชาคม นอกจากนี้ในระดับประชาชนก็ยังคงมีการติดต่อร่วมประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาของประชาชนภายในกันเสมอ
...
สรุป
บทบาทพระพุทธศาสนาในประชาคมอาเซียนจึงควรมีกรอบที่ชัดเจนโดยยึดสังคมวัฒนธรรมของแต่ละประเทศเป็นหลัก แต่เชื่อมด้วยกรอบทางวัฒนธรรมตามแนวพระพุทธศาสนาทั้ง ๔ ด้านเป็นแกน ก็จะทำให้บทบาทนี้ไม่ได้เป็นการครอบงำวัฒนธรรมของกันและกัน แต่ยิ่งทำให้พระพุทธศาสนาในแต่ละประเทศมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น สิ่งที่จำเป็นก็คือ การสร้างกรอบการส่งเสริมให้ชัดเจนในการสร้างบทบาทพระพุทธศาสนาใน ๔ มิติให้ได้รับการยอมรับร่วมกันก่อนจึงจะทำให้มีพลังและมีความเป็นรูปธรรม ไม่กระทำดังเช่นผ่านมาที่แต่ละประเทศต่างก็ทำในส่วนของตน ประเทศไหนมีแรงมากก็ทำได้ดี ประเทศไหนมีแรงน้อยก็ทำได้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่ได้กระทำในความเข้าใจที่เป็นอาเซียน แต่ต่อไปจะต้องร่วมมือกันในนามอาเซียน เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในความหลากหลาย เพื่อวัตถุประสงค์ทั้ง ๓ ด้านคือ สังคมดี สังคมสันติสุข และสังคมเสมอภาค ผู้ที่จะผลักดันบทบาทเหล่านี้ทั้งหมดก็ต้องอาศัยผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน เชื่อมั่นว่า การรวมตัวกันของประชาคมอาเซียนจะไม่ใช่การแข่งขันกันเอง แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กันและกันตามเจตนารมณ์ของผู้คิดวางแผนในการสร้างประชาคมอาเซียน


(บทความเต็มติดตามอ่านต่อในเอกสารวิชาการบัณฑิตวิทยาลัย มมร)



[1]ผศ.ดร.สุวิญ  รักสัตย์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เลขานุการบัณฑิตวิทยาลัย, อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสน์ศึกษา ระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต, มีงานเขียนพระพุทธศาสนามหายาน, และเป็นเจ้าของนามปากกา ปุ๊ซินเนี่ยน นวนิยายจีนอิงธรรมเรื่องคัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล.

ไม่มีความคิดเห็น: