วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

โศลกที่ ๔๐ ผ่อนใจ ผ่อนคลาย


โศลกที่ ๔๐
ผ่อนใจ ผ่อนคลาย

ประกายในนัยน์ตาแจ่มจ้า
ชุ่มด้วยความกรุณาเอิบอิ่ม
ใจผ่อน กายผ่อน ผ่อนปรน
ยิ้มแย้ม เบิกบาน เข้าใจ ไม่กดดัน
ไม่จดจ่อ ไม่กังวล ไม่เคร่งเครียด
มองโลก มองจักรวาล เดือนดารา
เห็นดอกไม้ใบหญ้า เห็นนก เห็นแมลง
เห็นน้ำค้าง สายน้ำ ลำธาร
ราดลดเมตตาชโลมจิต
ผลแห่งการบำเพ็ญแผ่กระจาย
ปลดปล่อย อิสระ สงบ
เป็นวิถีชีวิตงดงาม

         
          “ผ่อนคลาย” เป็นกระบวนการทางจิตที่น่าทึ่ง เพราะพอผ่อนคลายลงเมื่อใด ทุกอย่างที่ยึดเกาะแน่นก็ถูกสลัดหลุด การผ่อนคลายจึงเป็นที่ต้องการของการทำงานทุกอย่าง การทำงานด้วยความผ่อนคลายทำให้มีช่องว่างสำหรับการได้มองรอบ ๆ ตัว เมื่อใดที่เห็นสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว ก็เท่ากับชีวิตยังมีทางแก้ไข ชีวิตยังเป็นชีวิต ชีวิตยังมีทางเจริญเติบโตได้อีก แต่เมื่อใดที่ไม่สามารถผ่อนคลายได้ ชีวิตก็กลายเป็นเพียงวัสดุทำงานได้ชิ้นหนึ่งเท่านั้น
          ความผ่อนคลายเป็นการผ่อนใจ ใจที่ผ่อนลงเปรียบเหมือนการผ่อนเครื่องยนต์รถที่วิ่งด้วยกำลังแรงมาโดยตลอด ใจที่ผ่อนลงทำให้เกิดความผ่อนคลาย เมื่อผ่อนคลาย สติปัญญาก็เริ่มกลับคืน ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงคิดอะไรออกตอนอยู่ในห้องน้ำ คิดอะไรออกตอนนอนแช่น้ำ คิดอะไรออกตอนที่ไม่สนใจในเรื่องที่กำลังทำอยู่ ไม่เพียงเฉพาะการทำงานตามปกติของชีวิตทั่วไป แม้กระทั่งการเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรมก็ต้องอาศัยการผ่อนใจ ผ่อนคลาย จึงจะประสบผลที่ถูกต้อง
          ความผ่อนคลาย (Relaxation) เป็นที่สุดทางของความเพียร หากไม่มีความเพียร ความผ่อนคลายก็ไม่ปรากฏ ความเพียร ความเคร่งเครียด ความเอาจริงเอาจังเป็นเรื่องที่จำเป็น หากไม่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังไหนเลยจะปรากฏผลออกมาได้ แต่ผลที่ออกมาจะไม่ปรากฏขึ้นแน่นอนหากมีแต่ความเคร่งเครียด จริงจัง มากด้วยความเพียร เช่นเดียวกันความผ่อนคลายก็ไม่ใช่ความผ่อนคลายหากไม่ได้ผ่านความเพียรอย่างเต็มกำลังเสียก่อน ลองนึกถึงชื่อคนดูสิ คนจำหน้าเขาได้ แต่นึกชื่อเขาไม่ได้ ยิ่งนึกก็ยิ่งไปกันใหญ่ แต่พอไม่สนใจ พอผ่อนปรน ออกไปทำอะไรต่อมิอะไรเสีย ชื่อนั้นก็จะปรากฏขึ้นมาเอง ความผ่อนคลายกับความเพียรเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยกันและกันจึงจะก่อเกิดผลที่งดงามขึ้น มีแต่ผ่อนคลายไม่มีความเพียรก็กลายเป็นความขี้เกียจ มีแต่ความเพียรไม่มีผ่อนคลายก็กลายเป็นโรคประสาท กระทำอย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถ ทำเต็มความมุ่งมั่นแล้วปล่อยวาง ปลดปล่อย นั่งจิบชากาแฟมองไปในท้องทุ่ง มองไปในต้นไม้ใบหญ้า มองดูมดแมลง แล้วในที่สุดช่องว่างแห่งปัญญาก็ปรากฏ หรือไม่ก็เกิดขึ้นในขณะยืนปัสสาวะ นั่งอุจจาระ หรือในขณะเอนกายลงนั่งหรือนอนนั่นแหละ
          กฎแห่งธรรมชาติมีอยู่ว่า หากสิ่งหนึ่งกำลังทำงานอยู่อีกสิ่งหนึ่งก็ไม่สามารถทำงานได้ หรือทำงานได้ไม่ดี เช่นในขณะที่ตั้งใจฟังเพลง ฮัมไปกับเสียงเพลง ซึ้งไปกับเสียงเพลง หากมีคนเดินผ่านมาผ่านไป เขาก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร และไม่ทราบด้วยว่าเดินผ่านไปกี่คน ก็เพราะหูกำลังทำงานอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกันกับจิตที่ทำงานเต็มที่ คิดอยู่เต็มที่ ความโพล่งขึ้นแห่งจิตใต้สำนึกก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกันความโพล่งแห่งจิตใต้สำนึกก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน หากไม่มีการทำงานของจิตสำนึกอย่างเต็มที่ นี่เป็นกฎการทำงานของจิต
           อีกประการหนึ่ง การทำงานด้วยความตั้งใจมากนั้นมักเต็มไปด้วยอัตตาแฝงอยู่มากตามไปด้วยเช่นกัน เพราะความทุ่มเทมาก ย่อมมีความคาดหวังมาก เมื่อคาดหวังมาก ก็ย่อมมีความกระหายให้ประสบความสำเร็จมาก ความกระหายต่อความสำเร็จนี้เป็นสิ่งปิดกั้นต่อความสำเร็จ ความสำเร็จที่กล่าวถึงนี้เป็นความสำเร็จที่เป็นการผลิดอกออกผล ไม่ได้หมายถึงความสำเร็จที่ใช้แรงกายในการทำงาน ขนของ ก่อสร้างบ้าน ทำเขื่อน เหล่านี้ เมื่อใดก็ตามละทิ้งความกระหายเหล่านั้น ละทิ้งความเพียรเหล่านั้นลง วางความคาดหวังเสียสิ้น ไม่มีอดีต อนาคต ไม่มีเป้าหมายให้พิชิต ไม่เหลือสิ่งใดให้เข้าไปยึดถืออีก เมื่อนั้นความว่างจึงปรากฏ ปัญญาจึงปรากฏ อนัตตาจึงปรากฏ
          ให้ผ่อนคลายต่อทุกสิ่ง ทุกเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นความเป็นตัวตนแห่งการดำรงอยู่ พฤติกรรม การกระทำ เดินอย่างผ่อนคลาย ทานอย่างผ่อนคลาย ยิ้มอย่างผ่อนคลาย ฟังอย่างผ่อนคลาย หายใจด้วยความผ่อนคลาย ผ่อนคลายในทุก ๆ กระบวนการขั้นตอน เคลื่อนไหวทุกอย่างด้วยความผ่อนคลาย แล้วความผ่อนคลายจะทำให้เกิดความมหัศจรรย์ขึ้น ปัญญาจะเกิดขึ้น แต่มิให้คาดหวังต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อใดคาดหวัง เมื่อนั้นก็ไม่ใช่ผ่อนคลาย
โศลกว่า “ชุ่มด้วยความกรุณาเอิบอิ่ม ใจผ่อน กายผ่อน ผ่อนปรน” ในการเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรมเป็นเหมือนการปลูกรากแห่งสมาธิลงสู่พื้นดิน เพื่อให้ราก อันได้แก่ความสงบหยั่งลงไปสู่พื้นดิน หยั่งเข้าไปแผ่กระจายลงเต็มพื้นที่เข้าไปในภายใน หยั่งลงไปให้ลึกที่สุด เพื่อให้ต้นแห่งสมาธิเจริญพ้นออกไปบนดินให้มากที่สุด ต้นแห่งสมาธิได้แก่จิตกรุณา สมาธินั้นเป็นรากแก้วแห่งต้นไม้กรุณา หากกรุณาไม่ปรากฏทั้งที่ทำสมาธิมานาน นั่นแสดงว่า มีความบกพร่องอยู่ภายในการปฏิบัติสมาธิ เจริญจิตภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรมเป็นแน่ ต้องมีการทบทวน เพราะเมื่อใดก็ตามที่หยั่งรากแห่งสมาธิลงไปในจิต ต้นกรุณา ดอกใบแห่งความเมตตาย่อมเจริญงอกงามปรากฏแผ่ไป เพราะสภาวะ ๒ สิ่งนี้เป็นความเกี่ยวเนื่องกันและกัน ยิ่งผู้มีความกรุณามากเท่าใด จิตแห่งสมาธิก็ย่อมเพิ่มพูนมากเท่านั้น ผู้เจริญสมาธิมากเท่าใด จิตกรุณาก็เจริญงอกงามแผ่ไปเช่นกัน
จิตกรุณานั้นย่อมมองเห็นผู้อื่นมีคุณค่ามากกว่าตน มีตนเป็นเครื่องมือ มีผู้อื่นเป็นเป้าหมาย อุทิศตนเป็นทางให้ผู้อื่นได้รับความสุข เห็นความสุขของผู้อื่นเป็นการบำเพ็ญของตน ยินยอมพร้อมใจรับความทุกข์ของผู้อื่นไว้ นี่เป็นจิตกรุณา ผู้จะทำอย่างนี้ได้ต้องเป็นผู้ปลูกรากแห่งสมาธิลงไปในดินจนลึกซึ้งเท่านั้น มิฉะนั้นย่อมไปผลิดอกเมตตาบนลำต้นกรุณาออกมาได้
 ผู้ฝึกสมาธิย่อมเต็มเปี่ยมด้วยความตื่นตัวเต็มที่ ในขณะที่ตื่นตัวเต็มที่เป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญงอกงามแห่งจิตกรุณา ย่อมเห็นตัวตนของตนสลายไป สลายกลายเป็นเพียงเครื่องมือทำให้ผู้อื่นประสบความสุขเท่านั้น ในขณะที่อยู่ในสมาธิเป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย แต่ในขณะที่ฝึกสมาธินั้นเป็นช่วงเวลาที่ไม่ผ่อนคลาย สมาธิคือความตื่นตัวทั่วพร้อมต้องอาศัยการเจริญทำให้มากขึ้น ฝึกให้เกิดความเป็นสมาธิ ฝึกให้ถึงจุดที่ต้องผ่อนคลาย คือระดับที่สี่แห่งอานาปานสติ เมื่อใดจิตผ่อนคลาย ความกรุณาจะเจริญเติบโต ความเมตตาจะเบ่งบาน ความกรุณาที่เจริญเติบโตก็คือชีวิตที่เจริญงอกงาม เป็นชีวิตที่มีชีวิต เป็นธรรมชาติแห่งชีวิต ไม่ใช่ชีวิตที่ถูกดองไว้ใช้งาน ไม่ใช่ชีวิตคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นใช้งานตามถนัด ถูกใช้งานเฉพาะด้าน
โศลกว่า “มองโลก มองจักรวาล เดือนดารา เห็นดอกไม้ใบหญ้า เห็นนก เห็นแมลง ชีวิตของผู้คนโดยมากแล้วไม่เคยเห็นโลก เห็นจักรวาล เห็นเดือนดารา แมกไม้นานาพันธุ์อย่างแท้จริง สิ่งที่เห็นกันทุกวันนี้เป็นการเห็นในความคิดของตน การเห็นสิ่งต่าง ๆ ผ่านความคิดของตนนั้นเป็นการเห็นผ่านเงาสะท้อนเท่านั้น ยิ่งเงาสะท้อนมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งห่างไกลจากความจริงมากขึ้นเท่านั้น เงาสะท้อนที่ว่าได้แก่ ต้องเห็นผ่านความคิดของตน พอมองโลกก็เห็นโลกตามทัศนะของตน นี่เงาสะท้อนด่านที่หนึ่ง เห็นตามฐานภูมิความรู้ในการศึกษาของตน เป็นเงาสะท้อนด่านที่สอง เห็นตามฐานศาสนาของตนเป็นด่านที่สาม เห็นตามฐานภูมิวัฒนธรรมของตน เป็นเงาสะท้อนด่านที่สี่ อย่างนี้แล้วจะเห็นโลก เห็นจักรวาลที่แท้จริงได้อย่างไร
มีแต่ผู้ปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรมเท่านั้นจึงจะเห็นโลก เห็นจักรวาลจริง เพราะสมาธิเป็นตัวขจัดเงาสะท้อนเหล่านั้นออกไป เป็นการมองเข้าไปตรง ๆ ไม่มองผ่านความคิด ไม่มองผ่านการศึกษา ไม่อิงภูมิความรู้ตำราของใคร โลกและจักรวาลในที่นี้ไม่ใช่โลกและจักรวาลที่เหล่านักวิทยาศาสตร์แสวงหาคำตอบ ไม่ใช่โลกในความหมายของนักภูมิศาสตร์ นักดาราศาสตร์ แต่เป็นโลกและจักรวาลแห่งเบญจขันธ์นี้ เห็นโลกคือชีวิต เห็นเส้นสายโยงใยชีวิตในจักรวาล เห็นดอกไม้ใบหญ้า วิหคและมวลแมลงที่เชื่อมโยงอยู่ในจักรวาลนี้ รากคือสมาธิ ลำต้นคือกรุณา ดอกใบคือเมตตา มีไว้เพื่อสรรพสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง
โศลกว่า “ปลดปล่อย อิสระ สงบ เป็นวิถีชีวิตงดงาม” การปลดปล่อยเป็นการเข้าถึงรากแห่งชีวิตและเป็นการเข้าถึงยอดแห่งชีวิต ปลดปล่อยกระแสแห่งชีวิตคือดอกไม้เมตตาให้ไหลผ่านช่องว่างระหว่างรากชีวิตและยอดชีวิต ชีวิตที่โลดแล่นไประหว่างรากและยอดชีวิตเป็นวิถีชีวิตที่งดงาม พระอริยะทั้งหลายคือผู้ที่เข้าถึงเบื้องต้นและที่สุดแห่งชีวิต เบื้องต้นคือ การเกิดขึ้น ที่สุดคือการสิ้นชีวิต พระอริยะบุคคลเข้าใจแจ่มชัดแล้วว่า ก่อนนั้นไม่รู้ชีวิตมาอย่างไร และจะไปอย่างไร แต่บัดนี้รู้แล้วว่า ชีวิตมีที่มาและที่ไปอย่างไร ไม่ต้องลอยคออยู่ในวัฏฏะสงสารอีกต่อไป
ความตายมีอยู่เมื่อมีอัตตา เมื่ออัตตาหายไปความตายก็หายไปด้วย อัตตานั้นหวาดกลัวต่อความตาย เพราะความตายนั้นได้พรากสิ่งต่าง ๆ ออกไปจากอัตตาที่เข้าไปยึด อัตตาจึงเห็นความตายเป็นข้าศึก เป็นสิ่งอันน่าเกลียดน่ากลัว เป็นภัยพิบัติอันโหดร้ายต่อชีวิต มีแต่ผู้ปลดปล่อย อิสระ สงบและเข้าถึงแก่นแท้แห่งชีวิต ก็จะพบว่า เบื้องต้นและที่สุดแห่งชีวิตนั้นเป็นเพียงฝั่งคลองที่โอบอุ้มไว้ซึ่งกระแสชีวิตให้โลดแล่นไปเท่านั้น กระแสแห่งชีวิตคือความเป็นทั้งหมดของชีวิต ไม่ใช่เพียงครึ่งหนึ่งของชีวิต ผู้มีอิสระ ปลดปล่อยย่อมหยั่งรากสมาธิไว้ลึกเพื่อให้ลำต้นและดอกใบแห่งกรุณา ความรัก ความเมตตาปกคลุมไปทั่ว ลำต้นและดอกใบเหล่านี้ทำให้เกิดความสุข สงบ ร่มเย็นทั้งแก่ผู้ปฏิบัติและผู้ที่อยู่ใกล้อาณาบริเวณ ไม่ว่าพระอริยบุคคลไปที่ไหน อยู่ที่ใดย่อมนำพาความสงบสุขไปถึงที่นั่น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระอริยบุคคลไว้ดีแล้วว่า “ผู้ถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ฉะนั้นผิวพรรณของท่านจึงผ่องใส
ผู้ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาบนทางที่ถูกต้อง ย่อมปลูกรากแห่งสมาธิลงไปในจิตก่อเกิดความกรุณาและเมตตาขึ้นย่อมเปล่งประกาย ยิ้มแย้ม ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง ผู้ใดที่โลดแล่นไปอย่างอิสระในโลกนี้ ไม่กังวลต่อสิ่งใดอีก ชีวิตนี้ไม่มีอะไรให้ต้องศึกษาอีก ย่อมเป็นผู้มีความสุขที่สุด
พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ดีแล้วว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ข้อที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ข้อที่ภิกษุผู้ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม จักบรรลุโสดาปัตติผล หรือสกทาคามิผล หรืออนาคามิผล หรืออรหัตตผล ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้”
          ผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติถูกต้อง จิตย่อมหยั่งลงสู่ความสงบสุข นี่เป็นเบื้องต้นแห่งนิพพาน ผู้ปฏิบัติถูกต้องตามสัมมัตตนิยาม ก็คืออริยอัฏฐางคิกมรรค ย่อมเข้าถึงความเป็นอริยบุคคลอย่างไม่ต้องสงสัย วิถีชีวิตที่งดงามคือวิถีแห่งพระอริยบุคคล วิถีแห่งบุคคลผู้ใช้ขันธ์นี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ วิถีแห่งบุคคลผู้มีตนเป็นเครื่องมือ มีผู้อื่นเป็นเป้าหมาย ชโลมจิตด้วยเมตตา มีกรุณาทุกอณูสรรพางค์กาย ขอความงอกงามไพบูลย์ในเมตตาและกรุณา ปฏิบัติตามแนวทางแห่งอริยอัฏฐางคิกมรรคเพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบเถิด
นี่คือ โศลกที่สี่สิบแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

1 ความคิดเห็น:

Tanagoon Boonkong กล่าวว่า...

สถานที่ท่องเที่ยวเขื่อนน้ำอูน
http://www.oonwaterattractions.com/