วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โศลกที่ ๓๙ เห็นแ้จ้งเบญจขันธ์


โศลกที่ ๓๙
เห็นแจ้งเบญจขันธ์

สัญญาค้นหาของเดิม
ยิ่งบรรยากาศเป็นใจ
สัญญินทรีย์ยิ่งได้เชื้อ
โยงใยใครที่เคยสนทนาเข้ามา
สังขารก็พากระเจิงไปไกล
ฝนตกผ่านค่าคบและใบไม้
ตกกระทบเต้นท์เป็นจังหวะ
ใช้สติสลัดหลุดสังขารลง
เฝ้าดูเบญจขันธ์อีกครา
บำเพ็ญอินทรีย์ให้เป็นพละ
สะสมให้เป็นเหตุปัจจัย
นำไปสู่ความสิ้นสุดแห่งขันธ์
         

“เบญจขันธ์ เป็นที่รวมลงแห่งการศึกษาในพระพุทธศาสนา ถ้าหากศึกษาเบญจขันธ์ได้อย่างทะลุปรุโปร่งก็สามารถจบหลักสูตรการศึกษาชีวิตในพระพุทธศาสนาได้แน่นอน เบญจขันธ์ทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ ไม่มีช่องว่าง ไม่มีข้อบกพร่อง ทำงานจากความไม่มีอะไรจนนำไปสู่ความมีอะไรขึ้นมา เมื่อเกิดความมีอะไรขึ้นมา ก็นำไปสู่ความเป็นอะไรต่อมิอะไรกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จากนั้นก็ผูกยึด โยงใย พัวพัน ติดแน่นจนไม่มีที่สุดเบื้องต้นปรากฏ
ผู้คนในโลกถูกซ้อนกลดุจดังคนถกเถียงกันเรื่องความฝัน ถกเถียงกันจนเกิดความขัดแย้ง โกรธกัน ไม่พอใจกัน ในที่สุดก็นำไปสู่การทำร้ายกัน ทั้งที่สาระแห่งความฝันมิได้มีจริง แต่ผู้คนต่างก็ยึดถือเอาความฝันเป็นจริง แล้วก็ถกเถียงกันในเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในความฝัน จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมาได้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะผู้คนถูกมายาบดบังจนไม่รู้ว่า อะไรเท็จ อะไรจริง อะไรใช่ อะไรไม่ใช่ ต่างพากันไขว่คว้า แย่งชิง เข่นฆ่า ทำลายกันและกันเพื่อแย่งชิงสิ่งมายาทั้งหลายมาครอบครอง แสวงหามายาเพื่อสนองมายา เมื่อมีสิ่งมายาใหม่ก็ไล่ล่ากันอีก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ นี่เป็นความโหดร้ายและน่าอนาถของมวลมนุษยชาติ
ก็อะไรละที่คอยเป็นตัวบดบังไม่ให้ผู้คนได้เห็นความจริง ก็สังคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมนี่แหละที่เป็นตัวปกปิดความจริงไม่ให้ใครหลุดรอดจากเงื้อมมือไปได้ สังคมเป็นด่านแรกที่ปิดบังความจริงไว้ชั้นหนึ่ง หากใครสามารถผ่านด่านสังคมออกมาได้ ก็มาติดด่านการศึกษา หากหลุดมาได้ ก็ติดด่านศาสนาอีกชั้น หรือหากใครที่ไม่สนใจศาสนาก็ต้องตกอยู่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมในที่สุด ม่านมายาเหล่านี้คอยปิดบังไม่ให้ใครต่อใครรอดพ้นไปได้ หากแม้มีใครหลุดกรอบมายาเหล่านี้ได้ เขาจะถูกสังคมประณามว่าเป็นคนทรยศสังคม การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมไปทันที คนในสังคมจะขจัดเขาให้พ้น สังคมจะรวมตัวกันกับศาสนา การศึกษา และหน่วยงานทางวัฒนธรรมตามขจัดเขา เพราะหากปล่อยให้คนที่ไม่เชื่อฟังสังคม จะพาให้สังคมจะยุ่งเหยิง สังคมจะอยู่ไม่ได้ การศึกษา สังคม ศาสนาและวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นม่านมายาคอยสะกดจิตของใครต่อใครเอาไว้เพื่อไม่ให้เข้าถึงความจริงได้
กล่าวกันว่า ในขณะที่มีการแห่พระศพของจักรพรรดิเล็กซานเดอร์ไปตามถนนนั้น หลายคนแปลกใจที่เห็นพระหัตถ์ทั้งสองข้างของพระองค์ชูออกมานอกโลง ผู้คนที่พบเห็นต่างถามหาสาเหตุ คำตอบก็คือ  ก่อนสิ้นพระชนม์พระองค์ตรัสสั่งไว้ อย่าให้ใครเอาอย่างอเล็กซานเดอร์อีก ความหมายก็คือ ที่สุดพระองค์ก็ไปแบบมือเปล่า ไม่ได้มีอะไรไปด้วย ชีวิตช่างไร้แก่นสารเมื่อถึงวินาทีสุดท้ายแห่งการจากไปมาเยือน นี่เป็นรางวัลของมายาที่มอบให้กับผู้คน ไม่ว่าจะไขว่คว้ากันไปอย่างไร ไม่ว่าจะเติมเต็มเข้าไปอย่างไร ก็ไม่สามารถเติมเต็มอัตตานี้ให้เต็มได้ อย่าว่าแต่เติมชาตินี้ทั้งชาติเลย ต่อให้เติมมาแล้วนับล้านชาติ อัตตานี้ก็ไม่มีวันเติมเต็ม ตัณหาไม่มีวันถมให้เต็มได้ อัตตานี้ไม่มีทางที่จะถมจากภายนอกเข้าไปได้ มีแต่ถมจากภายในออกมาพอจะเป็นไปได้ การถมจากภายในออกมา หมายถึง การเข้าไปรู้แจ้งอัตตาทีละนิด ๆ รู้แจ้งได้เท่าไร อัตตาก็หายไปเท่านั้น ใช้ความรู้แจ้งถมออกมาจากภายใน
โศลกว่า “ยิ่งบรรยากาศเป็นใจ สัญญินทรีย์ยิ่งได้เชื้อ โยงใยใครที่เคยสนทนาเข้ามา เหตุใดมายาจึงสามารถบดบังไม่ให้ผู้คนเห็นความจริงได้ ก็เพราะการทำงานของเบญจขันธ์นี่เองที่ทำงานได้ดีเยี่ยมจนกลายเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ เบญจขันธ์หนึ่งมองเบญจขันธ์อื่นแล้วเห็นความเป็นตัวเป็นตนของผู้อื่นขึ้นมาได้อย่างไร เบญจขันธ์ของตนก็เข้าใจความเป็นตัวเป็นตนของตนอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อมองเห็นตัวตนผู้อื่นได้ก็ไม่ต้องสงสัยที่จะไม่เห็นตัวตนของตน อวิชชาที่จัดอยู่หัวแถวได้ทำลายญาณรู้แจ้งไว้ก่อนแล้ว ทำลายจนเกือบหมดสภาพแห่งความเป็นพุทธะในตน ดุจดังนกแก้วที่ถูกตัดปีกตั้งแต่แรกเกิดฉะนั้น ไหนเลยนกแก้วจะรู้ได้ว่า ตนนั้นสามารถบินได้ ก็เข้าใจว่า ตนนั้นเป็นนกที่สวยงามอยู่ในกรงให้ผู้อื่นชมเท่านั้น แม้ปล่อยออกมาก็บินไม่ได้ ตนเป็นนกพันธุ์ที่ไม่สามารถบินได้ มนุษย์ก็เช่นกัน เข้าใจว่า เบญจขันธ์นี้ก็มีตัวมีตนอยู่อย่างนี้แหละ จะให้เป็นอย่างอื่นไปได้อีกอย่างไรเล่า การพยายามที่จะบินของนกแก้วก็ดี การพยายามที่จะเป็นอิสระจากเบญจขันธ์ก็ดีเป็นการกระทำที่โง่เขลา เป็นการกระทำที่เสียเวลาเปล่า เป็นการกระทำที่เป็นไปไม่ได้ นี่คือ ความเข้าใจของมนุษย์ที่ถูกอวิชชาลวงผ่านการทำงานของเบญจขันธ์
นอกจากความเข้าใจผิดเพราะมายาบดบังหนึ่งชั้นแล้ว ยังมีบริบทและบรรยากาศอีกที่เอื้อให้ผู้คนไม่สามารถเห็นการทำงานของเบญจขันธ์ได้ บรรยากาศยิ่งเอื้อมากเท่าไร เบญจขันธ์ก็ทำงานดีเท่านั้น บรรยากาศที่เคยสนทนากัน บรรยากาศที่เคยทานข้าวด้วยกัน บรรยากาศที่เคยเล่นหัวด้วยกัน บรรยากาศเก่า ๆ ก็ไหลเข้ามาสู่คลองแห่งสัญญา สัญญินทรีย์ทำงานอย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง หน้าที่ของสัญญาก็คือ การจำได้หมายรู้ในเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น เก็บรวบรวมภาพแห่งความทรงจำในอดีตนำออกมาฉายในขณะที่บรรยากาศเป็นใจ ตัดสินถูกผิดตามที่สัญญาเคยรับไว้ เคยรักใคร หรือเกลียดใครเมื่อสิบปีที่แล้ว สัญญาก็ยังคงรักษาไว้ไม่ให้ตกหล่น อินทรีย์ คือ สัญญาทำงานทบทวนภาพบรรยากาศเก่า ๆ ซ้ำไปซ้ำมา แล้วอย่างนี้มีหรือที่คนบนโลกจะรู้ได้ว่า สัญญินทรีย์ทำงานอยู่ ก็เข้าใจเพียงแต่ว่า เธอคนนั้น เขาคนนี้เคยหลอกลวงเรา เคยทำร้ายเรา นึกขึ้นมาทีไรก็อดแค้นใจไม่ได้สักที หรือแม้แต่จะให้อภัยทางวาจาทุกคราที่เอ่ยถึง แต่สัญญาไม่เคยลืมเลือนคำตัดสินไปแล้วว่า “เขาผิด
 โศลกว่า “สังขารก็พากระเจิงไปไกล” พอสัญญาทำหน้าที่ไปถึงจุดหนึ่ง ไปถึงจุดที่ประทับใจหรือจุดที่ไม่ประทับใจ สังขารก็รับช่วงต่อทันที ตัวสังขารนี่แหละที่นำไปสู่ความเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น จากความไม่มีอะไร สังขารจะปรุงให้มีอะไร จากสัญญาเดิมที่เคยอยู่ด้วยกัน ก็กลายเป็นความคิดเสริมต่อเนื่องจากภาพนั้นออกไป น่าจะทำอย่างนั้น น่าจะทำอย่างนี้ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ก็น่าจะได้อย่างนั้น เพราะไม่ทำอย่างนั้นจึงได้อย่างนี้ ทำให้เกิดเวทนา เป็นความสุข ความทุกข์ ความหวัง สิ้นหวัง ความเศร้า ความหวยหา ความบอบช้ำขยายผลไม่รู้จักจบสิ้น
ในขณะที่ทั้งเวทนา สัญญา สังขาร ทำหน้าที่ของตนไปอยู่อย่างนั้น อินทรีย์ที่คอยรองรับความมีอยู่จริงของเวทนา สัญญา สังขาร ก็คือ มนินทรีย์ การทำหน้าที่ของวิญญาณก็คือ การรับรู้ความมี ความเป็นของอินทรีย์เหล่านั้น รับรู้ว่ามีเราสุข เศร้า สมหวัง ดีใจ เสียใจ รับรู้ว่ามีเราเคยรัก ชอบ เกลียด โกรธ เราถูก เขาผิด รับรู้ว่า เราน่าจะบอกเขาอย่างนี้ ให้เขาทำอย่างนั้น ตอบโต้อย่างนี้ วางแผนอย่างนั้น ขยายผลจากสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้นได้ จากสิ่งที่มีก็ทำให้หายไปได้ ความมีขึ้นนี้เป็นภพ ภพนี้มีทั้งที่เป็นการกระทำขึ้นและที่เป็นการอุบัติขึ้น เช่น การคิดสร้างนวัตกรรมอะไรขึ้นมา การคิดเป็นสังขาร การกระทำให้เกิดขึ้นเป็นกรรมภพ การมี iPad ขึ้นมาจึงกลายเป็นอุปัตติภพขึ้นมาได้ iPad จึงมีขึ้นในโลกนี้ มีขึ้นในกาลบัดนี้ ให้ทำมีขึ้น เป็นขึ้นได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ไหนเลยจะไม่ถูกมายาบดบังจนมิด บังให้เข้าใจในความเป็นตัวเป็นตนของเบญจขันธ์ขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
          โศลกว่า “เฝ้าดูเบญจขันธ์อีกครา บำเพ็ญอินทรีย์ให้เป็นพละ” เมื่อสัญญินทรีย์ทำงานไปได้ขณะหนึ่ง สัญญาได้เรียบเรียงภาพความทรงจำในอดีตขึ้นมา สัญญากำลังจะขยายผลต่อไปเป็นการโหยหาบุคคลที่อยู่ในภาพนั้นให้มีขึ้น ชั่วขณะนั้น ผู้เจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรมพึงใช้สติเข้าไปเฝ้าดูสัญญา ก็จะเห็นตัวสัญญาขันธ์กำลังทำหน้าที่ เห็นสัญญานั้นทำงาน เห็นงานของสัญญา เห็นสัญญาขันธ์ พอเห็นสัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ก็สลาย สลายหน้าที่ของสัญญาขันธ์ สัญญาพอถูกสติเฝ้ามองเท่านั้นก็คลายความเป็นสัญญาขันธ์ของตน หน้าที่ที่ทำอยู่ก็สลายไป ไม่เหลืออะไรในความเป็นสัญญาขันธ์ ไม่มีเชื้อให้สังขารขันธ์ได้ทำงานต่อ ไม่มีเหตุปัจจัยให้วิญญาณได้ถือเอาว่ามี ว่าเป็น สติที่มองดูการทำงานของเบญจขันธ์นั้นช่างน่าอัศจรรย์ เป็นอาวุธที่น่าทึ่งจริง ๆ
จะมีใครเข้าใจได้อย่างแท้จริงถึงความเป็นสันตติภาวะแห่งเบญจขันธ์นี้ สรรพสัตว์ต่างล้วนตกอยู่ภายใต้การทำงานของเบญจขันธ์นี้ และถูกอินทรีย์คือการทำหน้าที่ของขันธ์ลวงเอา บดบังจนไม่เหลือช่องว่างให้เห็นความเป็นอนัตตาของเบญจขันธ์ได้เลย งานเฝ้าดูเบญจขันธ์จึงเริ่มขึ้น ภาระสำคัญของผู้เจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรมก็คือการทำให้อินทรีย์อีกประเภทหนึ่งเข้มแข็งขึ้น เจริญขึ้น เมื่ออินทรีย์ ได้แก่ ความตั้งใจ ความพยายาม การเฝ้าระวัง การตื่นรู้ การเห็นแจ้ง ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ อินทรีย์นี้ก็จะหลอมรวมเป็นพลัง พลังแห่งอินทรีย์จะเป็นกระแสปัญญาสลายเบญจขันธ์ให้สลายไป ธาตุเป็นสักว่าธาตุ รูปนามสักว่าเป็นแต่รูปนาม ปัจจัยเป็นสักว่าปัจจัย อินทรีย์เป็นสักว่าอินทรีย์ ไม่หลงเหลือให้เป็นตัวเป็นตนได้อีก
การได้เข้าสู่สนามฝึกฝนแต่ละครา เป็นการเข้ามาฝึกฝนเพิ่มพลังให้กับอินทรีย์เพื่อสลายอินทรีย์ เข้าไปฝึกใช้ขันธ์เพื่อบริหารขันธ์ให้สิ้นขันธ์ การทำหน้าที่ของศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เข้าสลายการทำหน้าที่ของรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ พละคือเครื่องมือสลายขันธ์ ฝึกฝนอินทรีย์หนึ่งให้มีกำลังเพื่อสลายอีกอินทรีย์หนึ่ง คือ เบญจขันธินทรีย์ บูรณาการทำงานของพละ เรียกว่า มรรคสมังคี นี่เป็นงานในการเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์แปดประเสริฐที่สุด บรรดาบททั้งหลาย บทสี่คืออริยสัจประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะ คือ การปราศจากความกำหนัดยินดีประเสริฐที่สุด บรรดาสัตว์สองเท้า พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด มรรคมีองค์แปดนี่แล เป็นไปเพื่อทรรศนะอันบริสุทธิ์ หาใช่ทางอื่นไม่ เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมรรคมีองค์แปดนี้ อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามมิได้ เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติเพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไป ความเพียรพยายาม เธอทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้นเมื่อปฏิบัติตนดังนี้ พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหา อุปาทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่าง ๆ สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตนเป็นของตนที่จะไม่ก่อทุกข์ ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เพียงสักว่า ๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่าง ๆ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม
ก็เมื่อใดที่ปฏิบัติตามทางสายกลางนี้ ถอนความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์เสีย มีสติเห็นแจ้งหน้าที่ของขันธ์หน้าทั้งหลาย เมื่อนั้นย่อมพ้นจากบ่วงแห่งขันธมาร มารคือความทุกข์ที่เกิดแต่เบญจขันธ์นี้ เบญจขันธ์นี้เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ทั้งมวล เบญจขันธ์ไม่หลงเหลือสิ่งใดให้ต้องเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ขันธ์นี้เป็นเพียงอนัตตา เป็นความว่าง เป็นแต่การทำงานตามหน้าที่ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีความเป็นสัต ความเป็นชีวะอยู่ภายในนั้น เมื่อเห็นแจ้งเบญจขันธ์ดังนี้ ชื่อว่า เข้าถึงความหลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร ขอผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรมทั้งหลายจงใช้ขันธ์นี้บริหารขันธ์เพื่อให้สิ้นขันธ์ บูรณาการอินทรีย์ให้เป็นพละเพื่อสลายขันธ์ กระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด
นี่คือ โศลกที่สามสิบเก้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

บทบาทพระพุทธศาสนาในอาเซียน


บทบาทพระพุทธศาสนาในประชาคมอาเซียน

ผศ.ดร.สุวิญ  รักสัตย์[1]
บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย


ความนำ
          ปัจจุบันโลกไม่อาจอยู่ได้เพียงลำพัง ทุกส่วนของโลกกำลังแสวงหาภาคีเครือข่ายสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนเอง เพื่อประโยชน์ร่วมกันของชาติในภาคีสมาชิก จะเห็นได้ว่า โลกได้แบ่งออกเป็นกลุ่มหลากหลาย มีกลุ่มทางการค้า เศรษฐกิจ น้ำมัน ความมั่นคง การปกป้องธรรมชาติ เป็นต้น แต่ละกลุ่มก็พยายามมีบทบาทในการต่อรองกับกลุ่มอื่น หรือภูมิภาคอื่นให้รับฟังกลุ่มตนเองและต้องรับเงื่อนไข นี่คือโลกปัจจุบัน กลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พิจารณาเห็นว่า ภูมิภาคนี้มีทรัพยากรสำคัญจำนวนมากที่สามารถสร้างเป็นเครื่องมือต่อรองกับโลก สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นเองเพื่อใช้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศของตนได้ แต่หากไม่สร้างเป็นกลุ่มภาคีเครือข่าย ก็ขาดอำนาจในการต่อรอง นับว่าเป็นความขับเคลื่อนโลกยุคใหม่ คือยุคของการรวมกลุ่มกันทำงาน
ปัจจุบันโลกได้กลายเป็นลักษณะของครอบครัวเดียวกันที่เรียกว่า Global Village โดยอาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด การติดต่อสัมพันธ์กันในโลกนี้มีความใกล้ชิดดุจดังอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้มองเห็นโอกาสของความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคใหม่นี้จึงรวมกันและร่วมกันคิดและร่วมกันตัดสินใจดุจดังผู้ถือหุ้นร่วมกันของบริษัทหนึ่งเท่านั้นเอง นอกจากนั้นแต่ละประเทศยังต้องการแสดงให้เห็นจุดเด่นของตนเพื่อขยายไปสู่โอกาสอื่นด้วย ด้วยเหตุนี้นี่เองจึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ ASEAN จึงก่อสร้างตัวขึ้นเป็นบริษัทหนึ่งที่มี ๑๐ ประเทศเข้ามาร่วมหุ้นกันโดยใช้ยุทธศาสตร์ทางเขตแดนเป็นกรอบร่วมกัน (Regional Group) ก็เพราะโลกได้มายุคนี้แล้ว ASEAN เริ่มตอนนี้ยังถือว่ายังไม่สายเกินไปนักในแง่ของบริษัทในครอบครัวโลกใบนี้

ประชาคมอาเซียน
          ในฐานะที่กล่าวถึงอาเซียน ก็ขอเขียนถึงความเป็นมาเล็กน้อยเพื่อเป็นประวัติศาสตร์ทางเอกสาร แม้ว่าปัจจุบันจุดกำเนิดของประชาคมอาเซียนเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันแล้ว “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) เกิดจากสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations-ASEAN) เริ่มจาก “ปฏิญญากรุงเทพฯ” (Bangkok Declaration) ซึ่งมีประเทศสมาชิกตอนนั้นเพียง ๕ ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร ต่อมาอาเซียนได้เพิ่มสมาชิกในภูมิภาคขึ้นอีก ๕ ประเทศ ได้แก่ ประเทศบรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา รวมเป็น ๑๐ ประเทศ จนครบในปี ๒๕๔๐ โดยผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสาร วิสัยทัศน์อาเซียน ๒๐๒๐” และร่วมกันกำหนดเป้าหมายหลัก ๔ ประการ ได้แก่  
๑) ด้านการเมืองและความมั่นคง (ASC)
๒) ด้านเศรษฐกิจ (AEC)
๓) ด้านสังคมและวัฒนธรรม (ASCC)
๔) ด้านโครงสร้างองค์การ (ASAC)
ทั้ง ๔ เป้าหมายนี้อาเซียนต้องทำให้สำเร็จภายในปี ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) แต่ปัจจุบันในด้านเศรษฐกิจ (AEC) เริ่มก่อนกำหนด ๕ ปี จึงเป็นปี พ.ศ.๒๕๕๘
          ประชาคมอาเซียนจึงเป็นการร่วมมือกันสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นในโลกยุคใหม่ โลกแห่งการจับกลุ่มกันทำงานเพื่อสร้างเสถียรภาพทางความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม สร้างมูลค่าเพิ่มในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มอำนาจในการต่อรอง การขยายตลาด และที่สำคัญคือสร้างความเข้าใจกันทางสังคมและวัฒนธรรมต่อกันและกัน

การดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในอาเซียน
          จากเสาหลักที่ ๓ ของอาเซียนทำให้หน่วยงานทางศาสนาต่างขยับตัวเพื่อเตรียมตัวในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนี้ในแง่มุมที่แตกต่างกันไป สำหรับพระพุทธศาสนาก็เป็นศาสนาหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะต้องมองหาจุดร่วมสงวนจุดต่างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอาเซียนทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีกรอบอยู่ ๖ ด้าน ได้แก่
             ๑.   การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
             ๒.   การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม
             ๓.   สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม
             ๔.   ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
             ๕.   การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
๖.   การลดช่องว่างทางการพัฒนา
ก่อนที่จะแสดงถึงแนวทางในการแสดงบทบาทในอาเซียนของพระพุทธศาสนา เป็นที่ทราบกันว่า พระพุทธศาสนามีประวัติศาสตร์ยาวนานในดินแดนแห่งประชาคมอาเซียนหรือสุวรรณภูมิแห่งนี้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกือบทุกประเทศรวมถึงประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนาที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาได้ผูกพันกับวิถีชีวิตของประชาชนในแถบนี้และได้ช่วยสร้างสรรค์อารยธรรมความรุ่งเรืองของประชาคมอาเซียนหลายประเทศภายใต้แนวคิดสังคมแห่งสันติภาพและภราดรภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานั้นยังคงมีการติดต่อสร้างความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา มีการประชุมแลกเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาสังคม มีการดำเนินการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางเพื่ออำนวยสันติสุขแก่มหาชนชาวอาเซียนมากยิ่งขึ้น เช่น มีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำพุทธศาสนาแห่งโลก (World Buddhist Summit) มีการจัดการประชุมในวันสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ วัน วิสาขบูชาในระดับโลก เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทางพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแสวงหาแนวทางเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาและความสงบสุขของประชาคม นอกจากนี้ในระดับประชาชนก็ยังคงมีการติดต่อร่วมประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาของประชาชนภายในกันเสมอ
...
สรุป
บทบาทพระพุทธศาสนาในประชาคมอาเซียนจึงควรมีกรอบที่ชัดเจนโดยยึดสังคมวัฒนธรรมของแต่ละประเทศเป็นหลัก แต่เชื่อมด้วยกรอบทางวัฒนธรรมตามแนวพระพุทธศาสนาทั้ง ๔ ด้านเป็นแกน ก็จะทำให้บทบาทนี้ไม่ได้เป็นการครอบงำวัฒนธรรมของกันและกัน แต่ยิ่งทำให้พระพุทธศาสนาในแต่ละประเทศมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น สิ่งที่จำเป็นก็คือ การสร้างกรอบการส่งเสริมให้ชัดเจนในการสร้างบทบาทพระพุทธศาสนาใน ๔ มิติให้ได้รับการยอมรับร่วมกันก่อนจึงจะทำให้มีพลังและมีความเป็นรูปธรรม ไม่กระทำดังเช่นผ่านมาที่แต่ละประเทศต่างก็ทำในส่วนของตน ประเทศไหนมีแรงมากก็ทำได้ดี ประเทศไหนมีแรงน้อยก็ทำได้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่ได้กระทำในความเข้าใจที่เป็นอาเซียน แต่ต่อไปจะต้องร่วมมือกันในนามอาเซียน เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในความหลากหลาย เพื่อวัตถุประสงค์ทั้ง ๓ ด้านคือ สังคมดี สังคมสันติสุข และสังคมเสมอภาค ผู้ที่จะผลักดันบทบาทเหล่านี้ทั้งหมดก็ต้องอาศัยผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน เชื่อมั่นว่า การรวมตัวกันของประชาคมอาเซียนจะไม่ใช่การแข่งขันกันเอง แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กันและกันตามเจตนารมณ์ของผู้คิดวางแผนในการสร้างประชาคมอาเซียน


(บทความเต็มติดตามอ่านต่อในเอกสารวิชาการบัณฑิตวิทยาลัย มมร)



[1]ผศ.ดร.สุวิญ  รักสัตย์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เลขานุการบัณฑิตวิทยาลัย, อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสน์ศึกษา ระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต, มีงานเขียนพระพุทธศาสนามหายาน, และเป็นเจ้าของนามปากกา ปุ๊ซินเนี่ยน นวนิยายจีนอิงธรรมเรื่องคัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล.

วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โศลกที่ ๓๘ กลิ่นฝน บ่อลึก


โศลกที่ ๓๘ 
กลิ่นฝน บ่อลึก

ฝนตกพร่างพรมปรอย ปรอย
ลมหายใจปนกลิ่นฝนจาง จาง
กลิ่นฝนเคล้าลมหายใจ
ช่างงดงาม สะอาด บริสุทธิ์
สัมผัสธรรมชาติเย็นสงบ
ซึมซับผสมผสานกับอณูชีวิต
พิจารณามองดูลมหายใจ
ที่จมดิ่งลงสู่ก้นบ่อลึก
ก้นบ่อกลายเป็นจุดเล็กเล็ก
แตะก้นบ่อแล้วขึ้นมาใหม่
บ่อลึกเย็นสงบระงับ
สิกขติต่อไปในภาระสำคัญ
ถอนความยึดมั่นถือมั่น



ธรรมชาติเป็นความงดงามจริง ๆ ใครที่เข้าถึงธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ย่อมทราบว่า ไม่มีอะไรที่จะเกินธรรมชาตินี้ไปได้อีกแล้ว เพราะธรรมชาติคือทั้งหมดของสรรพสิ่ง ธรรมชาติมีความยืดหยุ่น มีเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันทั้งสิ้น น้ำเกื้อกูลสรรพสัตว์ เกื้อกูลต่อต้นไม้ ใบหญ้า เช่นเดียวกันสรรพสัตว์ พืชพันธุ์ธัญหาร ต้นไม้ ใบหญ้าก็กตัญญูต่อน้ำ เคารพต่อลำธาร หวนคืนตอบแทนเป็นความชุ่มชื้นให้น้ำเป็นไอ เป็นละออง เป็นฝน เป็นน้ำต่อไป หมุนเวียนอย่างไม่จบสิ้น เวลาเช้ามีฝนพรำ เวลาค่ำมีเมฆครึ้ม กลางคืนเมฆหาย ใกล้รุ่งมีน้ำค้าง ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ให้ต้องปฏิบัติตาม ไม่มีการบังคับ ไม่มีข้อห้าม ข้ออนุญาต ทุกอย่างประสานสัมพันธ์ลงตัว แต่ละขณะไม่มีช่วงหยุด ไร้ขณะงดเว้นใด ๆ กลางวันสู่กลางคืน กลางคืนสู่กลางวัน กลางวันอาทิตย์สาดแสง กลางคืนมีเดือนเด่น มีแต่ความงดงาม ประสานต่อเนื่อง
เมื่อใดก็ตามหลอมความรู้สึกไปในธรรมชาติ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ก็จะได้ยินเสียงดนตรีแห่งธรรมชาติทั้งหลาย เสียงดอกไม้กำลังบาน เสียงไส้เดือนคุ้ยเขี่ยดิน เสียงกุ้ง หอย ปู ปลา แหวกว่ายน้ำเอ่ยภาษาทักทายกัน เสียงผีเสื้อกระพือปีก เสียงแมลงปอหยอกล้อเล่นกัน ประกอบกับเสียงดนตรีในตัวเราบรรเลงเพลงธรรมชาติประสานพร้อมเพรียง ทำให้เบิกบานบันเทิง ในขณะนั้นเบื้องต้นและที่สุดก็หายไป อดีต อนาคตหายไป ตัวตนก็สลายไป เหลือแต่ธรรมชาติดำรงอยู่ ธรรมชาติของสรรพสิ่งเท่านั้น ธรรมชาติที่ดำรงอยู่เช่นนั้น ไม่ต้องมีคำถามว่า อะไร ทำไม เหตุใด เพราะทุกคำถามอยู่ในตัวของผู้เข้าถึงธรรมชาตินั้นเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นขณะที่งดงาม เป็นขณะแห่งความสงบสุข ศานติ
การดำรงอยู่เป็นคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุด ชีวิตก็เป็นสิ่งที่สมบูรณ์ ดำรงอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น (ตถตา) การดำรงอยู่เป็นธรรมชาติสูงสุด เป็นธรรมกาย เป็นการล่วงพ้นทวิภาวะ เป็นการล่วงพ้นขอบเขตเหตุผล (สัมโภคกาย) เป็นการล่วงพ้นมายาภาพ (นิรมาณกาย) การดำรงอยู่ไม่มีภาวะแห่งความเป็นตัวเป็นตนเหลืออยู่ รูปทำหน้าที่ของรูป นามทำหน้าที่ของนาม เมื่อทำหน้าที่จบไปก็จบ ไม่หลงเหลืออะไรให้อาลัยอีก ไม่มีระหว่างว่างเว้น การดำรงอยู่ก็ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ธรรมชาติก็เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ธรรมชาติเหล่านี้กลายเป็นสิ่งผิดธรรมชาติไปเมื่อมีอัตตาเข้าไปบงการ อัตตานี่แหละที่ทำให้ทุกอย่างผิดเพี้ยน ทำให้ธรรมชาติของชีวิตบดเบี้ยว เพราะอัตตามักยึดเอาทุกอย่างมีตัวตน เป็นของ ๆ ตน เป็นตัวเป็นตนของตน ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ
พระโยคาวจร ผู้เจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรม พยายามฝึกฝนให้เป็นธรรมชาติหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติทั้งหลาย บำเพ็ญเพียรให้สติเห็นการทำงานของขันธ์ทั้งหลายประสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ ประสานกับสายลม สายน้ำ แสงแดด อากาศ สายฝน และมวลสรรพสัตว์ สอดคล้องพึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างงดงามพรั่งพร้อม ไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของธรรมชาติ ได้แต่เฝ้ามองให้เห็นแจ้งอยู่อย่างนั้น นี่เป็นอิสระหลุดพ้น
โศลกว่า “ลมหายใจปนกลิ่นฝนจางจาง กลิ่นฝนเคล้าลมหายใจ ลมหายใจที่สะอาด บริสุทธิ์นั้นสดชื่น มีคุณค่าน่าทะนุถนอม อณูชีวิตได้รับพลังงานที่สะอาดเต็มเปี่ยมด้วยอากาศธาตุ โดยเฉพาะลมหายใจที่เจือด้วยกลิ่นฝนจาง ๆ เป็นกลิ่นธรรมชาติ ทำให้เห็นชัดถึงพลังชีวิตทั้ง ๒ ด้าน ได้แก่ พลังแห่งการดำรงอยู่ในรูปแบบนี้กับพลังชีวิตไร้รูปแบบ เป็นพลังที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้และพลังที่ทำให้ชีวิตสิ้นสูญ พลังทั้ง ๒ ด้านที่เปรียบเหมือนกลางวันและกลางคืนสลับหมุนเวียนเปลี่ยนไปมา หายใจเข้าไปเป็นพลังชีวิตที่ทำให้เกิดขึ้น หายใจออกเป็นพลังชีวิตที่ดับสูญ ส่งต่อกันไปกลายเป็นความงดงามแห่งการดำรงอยู่ กลายเป็นการดำรงอยู่แห่งดอกไม้ชีวิต
ความเป็นขั้วบวกและขั้วลบของลมหายใจนั้นทำให้ผู้ปฏิบัติมีสติได้ง่าย ตอนปลายของแต่ละขั้วมีประจุไฟฟ้าอยู่ ให้กำหนดลงไปที่ปลายของแต่ละขั้วนั้น ปลายของแต่ละขั้วก็คือ ปลายของลมหายใจเข้าคือที่สุดแห่งชีวิต เราจะเห็นชีวิตอยู่บนที่สุดแห่งลมหายใจนั้น สติจะชัดเจนมาก เพราะถ้าหากไม่กำหนดดูก็จะไม่เห็นส่วนชีวิต เช่นเดียวกันที่สุดแห่งความสิ้นสูญก็คือ ที่สุดแห่งลมหายใจออก ถ้าหากไม่กำหนดลงไปก็จะไม่ตระหนักถึงความสิ้นชีวิต เพราะพอไม่มีสติกำหนดทุกอย่างก็กลายเป็นชีวิตที่หลับใหลไปทันที ไม่ใช่ชีวิตที่ตื่นรู้ การที่มีสติตื่นรู้นั้นก็เท่ากับเป็นชีวิตที่ตื่นรู้ หากสติไม่ทำงาน อัตตาจะเข้ามาทำงานแทนทันที เพราะอัตตาเกรงว่าตัวตนจะตายทุกครั้งที่หายใจเข้าไม่หายใจออก หรือหายใจออกไม่หายใจเข้า ดังนั้น อัตตาจะทำหน้าที่แทนโดยการให้ระบบหายใจเข้าออกตามอัตโนมัติ เป็นเพียงลมหายใจของคนที่หลับอยู่ เป็นลมหายใจที่ไร้สติเฝ้าดู ทันทีที่มีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกตลอดสาย ตั้งแต่ต้นจนสุดปลายลมหายใจ เมื่อนั้นปัญญาย่อมเกิดขึ้น ปัญญาที่เข้าไปเห็นขั้วบวกและขั้วลบแห่งชีวิตที่ทำให้เกิดการดำรงอยู่ ทำให้เข้าถึงชีวิตระดับการดำรงอยู่ ทำให้เข้าถึงธรรมชาติแห่งชีวิต ธรรมชาติที่เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล
          โศลกว่า “บ่อลึกเย็นสงบระงับ สิกขติต่อไปในภาระสำคัญ ถอนความยึดมั่นถือมั่น ลมหายใจเข้าไปสู่ภายในร่างกายนี้ดุจดังเข้าไปสู่บ่อลึกและเย็น ยิ่งไหลลงไปจนสุดลมหายใจ เข้าไปจนสุดแตะก้นบ่อแล้วก็ขึ้นมาใหม่ ลมหายใจที่เกิดขึ้นในอาการอย่างนี้เป็นลมหายใจที่มีพลัง พึงรักษาพลังลมหายใจนี้ไว้ ปฏิบัติต่อลมหายใจ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง เฝ้ามองลมหายใจ ตามลมหายใจ เห็นลมหายใจเกิดและเห็นลมหายใจดับ ลมหายใจเกิดก็คือ การหายใจเข้าไป ลมหายใจดับก็คือการหายใจออกมา
ประการที่สอง เฝ้ามองส่วนสุดของลมหายใจสายเกิดและสายดับ ที่นั่นมีช่องว่างอยู่เพียงนิดหนึ่ง มองเข้าไปตรงนั้น
การเข้าไปกำหนดสติเฝ้ามองช่องว่างที่สุดแห่งลมหายใจเพื่อจะทำให้เห็นความว่างที่อยู่สุดสายเกิดและสายดับ เพราะท่วงทำนองแห่งชีวิตอยู่ที่นี่ การดำรงอยู่ก็อยู่ที่นี่ ที่สุดแห่งชีวิตก็อยู่ที่นี่
เมื่อใดที่กำหนดสติเฝ้ามองช่องว่างที่อยู่สุดลมหายใจทั้งสายเกิดและสายดับ เมื่อนั้นก็จะเห็นแจ้งระบบชีวิต สายเกิดอยู่ที่นี่ ระบบสายดับก็อยู่ที่นี่ กระบวนการเกิดแห่งทุกข์คือเกิดเบญจขันธ์ก็อยู่ที่นี่ กระบวนการสิ้นทุกข์ คือสิ้นเบญจขันธ์ก็อยู่ที่นี่ นี่คือ ปฏิจจสมุปบาททั้งสายเกิด (สมุทยวาร) และสายดับ (นิโรธวาร) นี่คือกระบวนแห่งปัจจยาการ ที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งลมหายใจ
ลมหายใจแห่งการเกิดเบญจขันธ์ ก็คือ ลมหายใจที่ไม่มีสติเฝ้าดู เป็นลมหายใจของผู้หลับใหล ผู้หลับใหลย่อมมีอัตตาเป็นตัวขับเคลื่อน เมื่อมีอัตตา ก็ย่อมเต็มไปด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ส่วนลมหายใจที่สิ้นสุดเบญจขันธ์ คือลมหายใจที่มีสติกำหนดเห็นแจ้ง เมื่อมีสติ อัตตาก็สลายไป เมื่ออัตตาสลายไป อวิชชา ตัณหา อุปาทานที่เกิดแต่อัตตาก็สลายตามไปด้วย เมื่อนั้นก็เห็นแจ้งความว่าง คืออนัตตา เมื่ออนัตตาปรากฏ จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา และแสงสว่าง ก็ปรากฏ นี่คือภาระสำคัญ เป็นภารกิจสุดท้ายในการเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรม ภาระแห่งการถอนความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ ซึ่งเป็นที่มาแห่งกองทุกข์ทั้งมวลได้สิ้นเชิง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ติมพรุกขปริพาชก ผู้มีความสงสัยว่า ที่มวลหมู่มนุษย์มีสุข มีทุกข์อยู่นี้ ใครเป็นผู้สร้างให้เกิดขึ้น เป็นตนเอง ผู้อื่น หรือทั้ง ๒ ฝ่าย หรือมันเกิดขึ้นได้เอง พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธไม่ให้ติมพรุกขปริพาชกเข้าใจในความเชื่ออย่างนั้น เพราะการเชื่ออย่างนั้นทำให้ตกไปสู่ขั้วบวกและขั้วลบ แท้จริงแล้วความสุขและความทุกข์ที่โลกเป็นอยู่และได้รับอยู่นี้ เป็นเพราะเหตุดังนี้
ดูกรติมพรุกขะ เมื่อบุคคลถืออยู่ว่า นั่นเวทนา นั่นผู้เสวย ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ ตนกระทำเอง เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทงอยู่ว่า เวทนาอย่างหนึ่ง ผู้เสวยเป็นอีกคนหนึ่ง ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ผู้อื่นกระทำให้ ดูกรติมพรุกขะ ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ (นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาส)...ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ (นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาส)...ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
ก็ในเมื่อไม่เข้าไปสู่วงจรแห่งทุกข์ก็ย่อมเข้าถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์ ความสิ้นไปแห่งทุกข์ไม่ได้มีอะไรที่เป็นตัวทุกข์ หรือตัวสุข หรือผู้เสวยสุขทุกข์ เป็นแต่เพราะอวิชชา ความไม่รู้นี่แหละที่นำไปสู่การเข้าใจผิด การรับรู้ผิด และทำให้การปฏิบัติต่อไปผิด ก็ในเมื่อเห็นความว่างในที่สุดแห่งลมหายใจ ก็ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ไม่เข้าใจผิด ไม่รับรู้ผิด และไม่ปฏิบัติผิด ภารกิจก็เสร็จสิ้นแล้ว พรหมจรรย์นี้อยู่จบแล้ว ขอความเห็นแจ้งธรรมชาติ เห็นชัดในที่สุดแห่งลมหายใจบริสุทธิ์จงบังเกิดมีแก่ผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรมเพื่อการทำภารกิจแห่งทุกข์สิ้นไปโดยชอบเถิด
นี่คือ โศลกที่สามสิบแปดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โศลกที่ ๓๗ กายซ้อนกาย


โศลกที่ ๓๗ กายซ้อนกาย






กายหยาบกดทับกายละเอียด
กายเนื้อซ้อนกายสภาวะ
เหลื่อมกันอยู่คนละระดับ
ในขณะปฏิบัตินั่งสงบนิ่ง
เริ่มกระบวนการประสานกาย
มีลมหายใจเป็นเครื่องมือ
มีกำหนดรู้เป็นวิธีการ
มีสติเป็นตัวเฝ้าระวัง
เชื่อมจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
สุดท้ายไม่เหลือกายใดอีก
เมื่อนั้นแรงกดทับก็หายไป
เวทนาทางกายก็คลายลง
สมาธิดิ่งดำรงอยู่ต่อเนื่อง




มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ทราบความพิสดารระหว่างกายกับจิต ทราบแต่เพียงจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ทราบแต่ว่า เมื่อจิตต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร กายต้องปฏิบัติตาม แม้กายอ่อนเพลียง่วงนอน แต่จิตบอกยังนอนไม่ได้ แม้กายหิวท้องร้อง จิตบอกยังไม่ถึงเวลา แม้กายบอกอิ่มแล้ว แต่จิตก็บอกว่า กินเอาน้ำใจเพื่อนหน่อยนะ นี่แหละคือการปฏิบัติต่อกายอย่างบีบบังคับ เป็นการข่มขืนกายอย่างแท้จริง ไม่ได้ให้เกียรติกายเลย
กายเป็นที่อยู่ของใจที่ปลอดภัยที่สุด เป็นวัดของใจที่ซื่อสัตย์ที่สุด เมื่อเราปฏิบัติต่อวัดจริง ๆ เป็นดั่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ก็ควรปฏิบัติต่อกายอย่างนั้น กายนี้เที่ยงตรง ชัดเจน มีระบบ ระเบียบ มีมาตรฐาน มีเกราะป้องกันให้ใจอยู่ได้อย่างอบอุ่น ขอเพียงทำความเข้าใจร่างกายให้ดี ดุจดังหนุ่มสาวที่รักกันอย่างลึกซึ้งเข้าใจกันและกัน ปฏิบัติต่อกันและกันอย่างทะนุถนอม ทั้งกายและจิตก็จะโอบอุ้มคุ้มครองกันและกันอย่างดี
การเข้าใจกายและใจ การปฏิบัติต่อกายอย่างถูกวิธี ไม่เพียงเฉพาะทำให้การดำรงชีวิตทั่วไปมีประสิทธิภาพเท่านั้น แม้ในยามปฏิบัติธรรมก็ส่งเสริมการปฏิบัติให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นด้วย ในยามที่ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรม ยิ่งต้องเข้าใจระบบของกายให้มากกว่าเดิมขึ้นไปอีก เบื้องต้นต้องอาศัยกายเป็นฐานแรกในการจะหยั่งเข้าสู่ฐานอื่น ๆ ถ้าหากฐานแรก หรือสภาพร่างกายไม่พร้อม ไม่สมบูรณ์ ฐานนี้ก็จะรบกวนให้ฐานอื่น ๆ ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ หรือดำเนินไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร คำว่า “ร่างกายไม่พร้อม” บางครั้งไม่ได้หมายถึงเป็นโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน หรือไม่ได้หมายถึงอุปสรรคอันไม่สัปปายะทั้งหลายรบกวนเท่านั้น แต่หมายถึงในขณะที่ปฏิบัตินั้นเกิดเวทนากล้าจนไม่อาจปฏิบัติต่อไปได้ ผู้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาทั้งหลาย มีจำนวนมากไม่อาจผ่านด่านนี้ไปได้ นั่นก็เพราะไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เหตุใดนั่งเล่นไพ่ทั้งคืนนั่งได้ แต่นั่งสมาธิ ๒๐ นาทีไม่ได้
โศลกว่า “ในขณะปฏิบัตินั่งสงบนิ่ง เริ่มกระบวนการประสานกาย” มีบุคคล ๒ ประเภทโดยส่วนมากปฏิบัติต่อกายอย่างนี้
ประเภทที่ ๑ ประเภทยินยอมตามใจ ใจสั่งอะไรก็ทำตามนั้น ไม่ขัดขืน เช่น หากมีอาการเหน็บชา มีอาการปวดเท้า เข่า ขา ก้น ไหล่ ตา หรือกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ใจจะบอกว่า กายเจ้าทำให้ข้าลำบากแล้วนะ ขยับปรับเปลี่ยนเถอะแล้วจะสบาย ผู้ปฏิบัติโดยมากก็ขยับปรับเปลี่ยนท่าทางเพื่อคลายความเจ็บปวดเวทนานั้นเสีย บางคนให้เหตุผลน่าฟังว่า การปฏิบัติธรรมไม่ใช่อยู่ที่นั่งนานหรอก ขยับเถอะ ไม่งั้นเป็นการทรมานตนนะ ไม่ใช่ทางสายกลาง ในที่สุดก็ต้องยอมทำตามใจ
ประเภทที่ ๒ ประเภทบีบบังคับกาย ประเภทนี้ก็เหมือนบางศาสนาที่ชอบทรมานกายให้ได้รับเวทนา ด้วยมุ่งหมายว่า เมื่อกายได้รับเวทนาแล้วใจก็จะถูกทรมานตามไปด้วย โยคีแต่กาลก่อนชอบใช้วิธีนี้ เพื่อต้องการเอาชนะกาย บีบบังคับกายไม่ให้ขยับเขยื้อน เป็นพวกนั่งมาราธอน ยืนมาราธอน นอนมาราธอน เป็นพวกแสดงท่านั้น ๆ ได้นาน ทนทำได้นาน เพื่อนำไปบันทึกสถิติลงในยีเนียสบุ๊ค (Genius Book) หรือไม่ก็เพื่อให้ได้รับการยอมรับนับถือ หรือไม่ก็ภูมิใจในการนั่งได้นานของตน  
ผู้ปฏิบัติต่อกายทั้ง ๒ ประเภทนี้ ชื่อว่าตกลงสู่ขั้วทั้ง ๒ ทั้งนั้น คือ พวกขั้วบวก (Positive Side) พวกขั้วลบ (Negative Side) บุคคลทั้ง ๒ พวกนี้โดยสาระแล้วไม่ได้แตกต่างอะไรกัน ก็เป็นพวกข่มขืนกายให้ทำตามทั้งนั้น พวกหนึ่งยินยอมทำตามใจ ไม่ให้ใจลำบากเพราะกายเป็นเหตุ อีกพวกหนึ่งทรมานกายตามใจต้องการ
การปฏิบัติที่ถูกตามแนวพระพุทธศาสนาไม่ใช่ทั้ง ๒ แนวทางดังกล่าว ไม่ใช่ทั้งทำตามหรือขัดขืน แต่เป็นการเฝ้าดู (Watchfulness) การเฝ้าดูไม่ตกอยู่ในเกมของจิต เป็นการออกจากเกมของจิต แต่เป็นกระบวนการเล่นเกมกับจิต หากอยู่ในเกมของจิต ก็จะถูกจิตปั่นให้ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ตามที่จิตปรารถนาตลอดเวลา พออย่างนี้รู้สึกไม่ไหวก็ไหลไปอย่างนั้น พอขั้วนั้นไม่เป็นไปดั่งที่ใจคาดคิดก็หันไปใช้ขั้วโน้น สลับไปมาระหว่างยินดี ไม่ยินดี เป็นอยู่อย่างนั้นไม่สิ้นสุด แนวทางในที่นี้ต้องดึงมาสู่การเล่นเกมกับจิต นั่นคือ เกมเฝ้าดู นี่เป็นกระบวนการวิปัสสนา มีสติเป็นพระเอก สติจะเป็นผู้ควบคุมให้จิตอยู่ในเกมเอง เมื่อนั้นจิตจะไม่สามารถบงการอะไรได้อีก เพราะสติไม่มียินดี ยินร้าย ดีใจ เสียใจ เป็นสุข เป็นทุกข์ มีแต่เฝ้าดู เฝ้าดูจนรู้แจ้ง (วิปัสสนา) เท่านั้น
เมื่อเฝ้าดูจนถึงระดับหนึ่ง ระดับที่เวทนาปรากฏชัดอันเนื่องจากกาย พระโยคาวจรย่อมพบว่า กายนี้ประกอบด้วยรูปกายและสภาวะกายซ้อนอยู่ หากรูปกายกับสภาวะกายยังไม่ประสานกันได้ดี ยังเหลื่อมกันมาก กล่าวคือ รูปกายก็ยังคงเป็นรูปกายตราบใด หรือยังเป็นกายหยาบชัดเจนอยู่ตราบใด ตราบนั้นก็ยังคงต้องถูกแรงกัดทับจากแรงโน้มถ่วงของโลกตราบนั้น ย่อมเกิดอาการชา อาการปวด อาการร้อน อาการแข้งขาก้นจะระเบิด แต่เมื่อใช้ลมหายใจประสาน ใช้วิธีการเฝ้าดู กายหยาบจะค่อย ๆ สลายไป จะเหลือแต่กายสภาวะ กายสภาวะจะเข้ามาทับซ้อนแทนเข้าไปในกายหยาบหรือกายลักษณะ เมื่อนั้นแรงกดทับจะเบาลง ๆ เบาจนกระทั่งแรงกดทับหายไปเนื่องจากกายสภาวะไม่ตกอยู่ในแรงโน้มถ่วงของโลกอีกต่อไป
โศลกว่า “สุดท้ายไม่เหลือกายใดอีก เมื่อนั้นแรงกดทับก็หายไปการแบ่งกายอีกลักษณะหนึ่งก็คือ กายเนื้อ กายลม และกายสังขาร เมื่อใดที่กายเนื้อกลายเป็นกายลมและเป็นเพียงกายสังขาร เมื่อนั้นย่อมพ้นจากการบีบคั้นจากแรงโน้นถ่วงของโลก ในขณะที่ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรมเริ่มต้นนั้นกายนี้ยังคงรูปเป็นกายเนื้ออยู่เต็มที่ เป็นกายที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการ ทุกอย่างยังมีรูปลักษณ์ สัณฐาน มีความหยาบอยู่ ยังเห็นเป็นแข้ง ขา มือ เท้า เข่า ก้น อย่างชัดเจน ทั้งหมดนี้อยู่ในระดับรูปกาย แต่พอกาลเวลาผ่านไป กระบวนการเริ่มทำงาน กล่าวคือ การกำหนดรู้ลมหายใจ สั้น ยาว เข้า ออก เมื่อนั้นกายลมย่อมปรากฏขึ้น กายที่เหลืออยู่มีแต่ลมหายใจสั้นยาวเข้า ออก เท่านั้น ชั่วขณะนี้นั้นอยู่ในขั้นปรับเปลี่ยนจากกายเนื้อ ผ่านกายลมเข้าสู่กายสังขาร ภาวะระหว่างกายเนื้อไปสู่กายสังขารนี้จะมีอาการเผชิญกับเวทนากล้าต่าง ๆ นานา
จวบจนกระทั่งกายลมได้ปรับสมดุลเรียบร้อยแล้วจึงเข้าถึงกายสังขาร กายสังขารในที่นี้จะไม่เหลือกายใดอีก เป็นแต่สภาวะกาย เป็นแต่กายสภาวะเท่านั้น ไม่เหลือสิ่งใดที่เป็นรูปให้ได้ถูกบีบคั้นอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้พระโยคาวจรทั้งหลายจึงสามารถข้ามพ้นแรงบีบคั้นจากโลกได้ ล่วงอาการเจ็บปวดเวทนากล้าจากกายได้ การดำรงอยู่ในอริยะวิหารธรรมก็ดี (เข้าฌาน) การฝึกปฏิบัติเป็นเวลานาน (บัลลังก์) ก็ดี จึงสามารถทำได้อย่างไม่มีปัญหาใด ๆ ไม่เหลือรูปกายให้ถูกบีบคั้นอีก
พระโยคาวจรผู้รู้จักวิธีการผ่านระบบการก้าวล่วงแรงโน้มถ่วงของโลก เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านระหว่างกายเนื้อ เข้าสู่กายลม เข้าถึงกายสังขารได้โดยไว ย่อมไม่ลำบากต่อการเผชิญแรงโน้มถ่วงนั้นอีก ร่างกายนี้ก็ดี กระบวนการก็ดี วิธีการก็ดี ผู้เฝ้าดูก็ดี เมื่อได้เข้าสู่ระบบทำงานประสานกันและกันดีแล้ว ก็ก้าวข้ามพ้นเวทนาอันกล้านั้นไปได้โดยง่าย ดุจนักขี่จักรยานล้อเดียวแสดงกายกรรม เขายืนบนล้อจักรยานล้อเดียว ปล่อยมือ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เดินหน้า ถอยหลัง ทำได้ดั่งใจ ไม่ยากลำบากฉันใด พระโยคาวจรที่รู้จักวิธีก็ฉันนั้น
อีกประการหนึ่ง ในขณะปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรมอยู่นั้น สภาพภายนอกกับสภาพภายในยังไม่เสมอกัน เบื้องต้น สภาพภายนอกกำลังเย็น เพราะผู้ปฏิบัติกำลังนั่งสงบปฏิบัติอยู่ แต่สภาพภายในจิตนั้นยังคงร้อนอันเกิดจากกองไฟที่สุม ได้แก่ ไฟราคะ ไฟโทสะ และไฟโมหะ การที่ใช้น้ำเย็น คือ สมาธิ รดไฟให้เย็นลงนั้นย่อมเป็นเรื่องลำบากอยู่บ้างในตอนเริ่มต้น ย่อมมีการต่อต้าน ขัดขืน ย่อมมีความกระวนกระวาย เพราะไฟเหล่านั้นกำลังแสดงอาการออกมา แต่เมื่อใดปฏิบัติมากขึ้น รดน้ำสมาธิมากขึ้น ไฟภายในเริ่มลดระดับความร้อนลง ก็จะเริ่มมีความเสมอกันระหว่างสภาพภายในกับภายนอก เมื่อนั้นก็เกิดความสงบในการปฏิบัติบำเพ็ญต่อไป  
โศลกว่า “เวทนาทางกายก็คลายลง สมาธิดิ่งดำรงอยู่ต่อเนื่องเวทนาอยู่ได้ก็เพราะอาศัยกายนี้ดำรงอยู่ เมื่อกายเนื้อสลายไป เวทนาก็ไม่มีที่ให้อยู่อีก ไม่มีสัณฐานให้ได้อาศัยอีก เวทนาก็หายไป เหลือแต่สภาวะเวทนา ไม่ใช่เวทนาอันเนื่องด้วยกาย แต่เป็นเวทนาอันเนื่องด้วยจิต เวทนาที่เนื่องด้วยกายนั้นเกิดเพราะยังมีรูปกายนี้อยู่ ย่อมมีการเจ็บปวดตามอวัยวะที่ถูกกดทับเป็นปกติ เมื่อรูปกายสลายไป กายลมสลายไป เหลือแต่กายสังขารเท่านั้น เวทนาก็ปรากฏขึ้นกับกายสังขาร ได้แก่ ปีติ ปัสสัทธิ และสุข ความเย็นปรากฏขึ้นมาแทนที่ จุดนี้เป็นจุดบรรจบกันระหว่างรูปและนาม จุดบรรจบกันระหว่างกายสังขารและจิตสังขารนั่นเอง
สมาธิที่ดำรงอยู่ในขั้นนี้นั้นเป็นสมาธิที่กำลังไหลไปตามกระแสสมาธิ กระแสสมาธิในที่นี้ก็คือความใสสะอาด การดำรงมั่นแห่งสภาวธรรม สภาวธรรมที่เป็นความสมบูรณ์แห่งอินทรีย์ สภาวธรรมที่ปราศจากนิวรณ์เข้ามารบกวน ในขณะนี้เป็นขณะที่อินทรีย์เหมาะแก่งาน สภาวธรรมแห่งอินทรีย์เหมาะแก่การทำหน้าที่ในขณะต่อไปเพื่อให้เกิดพลัง นั่นคือ “สิกขติ” สภาวะที่ปรากฏขึ้น การพิจารณาด้วยสติอันแรงกล้าหยั่งเข้าไปเห็นรูป เวทนา จิต และธรรม ย่อมเห็นความไม่เที่ยง การคลายความยึดมั่นถือมั่น การไม่เหลือที่ตั้งอยู่แห่งความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์นี้ การปล่อยวางไปตามธรรมชาติของขันธ์ ไม่มีความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีความเป็นเรา ของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา เมื่อสติพิจารณาเห็นแจ้งดังนี้ ปัญญาญาณย่อมเกิด วิชชาย่อมเกิด ความสว่างรู้แจ้งโลกย่อมเกิด ทุกองคาพยพแห่งอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังคงทำหน้าที่ไปเหมือนเดิม แต่บัดนี้กลับสติที่มีกำลังกล้าเฝ้าดูอย่างไม่เสื่อมคลาย เป็นปกติของสติไปแล้ว สติกลายเป็นพลังไปแล้ว เป็นสติที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย สติที่เป็นผลแห่งการปฏิบัติ เป็นผลจากการหลอมละลายกลายเป็นพลังหยั่งทะลุไม่เหลือช่องว่างให้อวิชชาได้ซ่อนตัวอยู่อีก ปฏิจจสมุปบาทสายดับเริ่มแล้ว กองทุกข์ทั้งมวลหมดไปแล้ว ชาติสิ้นแล้ว


          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วว่า  
         ภิกษุ ท. ! เราจักแสดง ซึ่งญาณวัตถุ ๗๗ อย่างแก่พวกเธอทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงฟังความข้อนั้น จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ เราจักกล่าวบัดนี้ ภิกษุ ท. ! ก็ ญาณวัตถุ ๗๗ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า? ญาณวัตถุ ๗๗ อย่างนั้น คือ :-
๑. ญาณ คือความรู้ว่า เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ
๒. ญาณ คือความรู้ว่า เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะ ย่อมไม่มี
๓. ญาณ คือความรู้ว่า แม้ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอดีต เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ
๔. ญาณ คือความรู้ว่า แม้ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอดีต เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะย่อมไม่มี
๕. ญาณ คือความรู้ว่า แม้ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ
๖. ญาณ คือความรู้ว่า แม้ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะย่อมไม่มี
๗.ญาณ คือความรู้ว่า แม้ธัมมัฏฐิติญาณในกรณีนี้ ก็มีความสิ้นไป เสื่อมไป จางไป ดับไป เป็นธรรมดา
ก็เพราะมีภพ คือแดนเกิด จึงทำให้มีชาติ เมื่อไม่มีแดนเกิด จะมีที่ให้เกิดแต่ที่ไหน ก็ในเมื่อสติตื่นอยู่ในปัจจุบัน ก็หลุดพ้นจากวัฏฏะอันเป็นสายเกิดแห่งทุกข์ ขอการปฏิบัติต่อกายและจิตให้ถูกต้องจงบังเกิดมีแก่ผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรมทั้งหลาย เพื่อการทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด
นี่คือ โศลกที่สามสิบเจ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา