วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555



โศลกที่ ๓๓ "แมลงภู่และภูเขา"






ปรากฏการณ์ทางจิต
ขณะที่มีความสงบเย็น
ลมหายใจยังคงออกเข้าเบาบาง
ใจได้ล่องลอยหายไปกับแมลงภู่
ปีติใหญ่ปรากฏพรั่งพรูท่วมทับ
ลมหายใจกลับคืนสู่ปกติอีกครั้ง
ผ่านกาลไปด้วยลมหายใจสงบเย็น
ปรากฏภูเขาใหญ่ในจิตนิมิตอีก
ภูเขากลายเป็นขาทั้งสองข้าง
ลูกหนึ่งเป็นลำตัวยึดโยงชนกัน
เกิดภาวะกดทับแทบจะระเบิดออก
ใช้สติพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป
มายาจิตภาพก็สูญสลาย




ผู้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาย่อมต้องเจอภาวะหนึ่งที่เรียกว่า อาการทางจิต หรือปรากฏการณ์ทางจิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งแล้วแต่ฐานจิตของแต่ละคน จะมากจะน้อย จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ปรากฏการณ์นั้นย่อมเกิด เพราะนี่เป็นกระบวนการทางจิต ดุจดังการย่อยอาหารต้องเกิดขึ้นเมื่อมีการทานอาหารเข้าไป บางคนเกิดมากจนถึงขั้นสั่นไปทั้งตัว บางคนเกิดน้อยเพียงแค่ขนลุกชูชัน บางคนน้ำตาไหลพราก บางคนเพียงแค่กระตุกนิดหนึ่ง บางคนก็น้ำตาขังบ่อ บางคนซาบซ่านไปทั่วทั้งตัว บางคนตัวเบาคล้ายจะลอยขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่ประสบการณ์ของใคร ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ไม่ต้องตื่นเต้น ตื่นกลัว มุ่งหวังให้เกิด หรือไม่ต้องการให้เกิด ภาษาที่เรียกกันในการปฏิบัติธรรมก็คือ อาการของปีติ ในพระพุทธศาสนาได้แสดงอาการของปีติไว้ ๕ ประการ


๑) อาการขนลุกชัน หรือน้ำตาไหล เรียกว่า ขุททกาปีติ คือปีติเกิดเล็กน้อย
๒) อาการเสียวแปล๊บปล๊าบ รู้สึกเหมือนไฟฟ้าในตัวช๊อต เรียกว่า ขณิกาปีติ คือปีติเกิดเพียงชั่วขณะ
๓) อาการสั่นไหวไปทั้งตัว เกิดเป็นระยะแต่ต่อเนื่อง มีลักษณะเหมือนระลอกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง เรียกว่า โอกกันติกาปีติ คือปีติท่วมทับซู่ซ่าเป็นระยะ ๆ
๔) อาการตัวลอย โลดลอย ร่างกายเบาเหมือนล่องลอยไปได้ การหลุดปากอุทาน เรียกว่า อุพเพงคาปีติ คือปีติที่ทำให้ตัวลอย
๕) อาการที่ทั่วร่างเกิดความซาบซ่าน เอิบอาบ เบ่งบาน ยิ้มละไม เอิบอิ่มเปี่ยมไปทั่วร่าง เรียกว่าผรณาปีติ คือปีติที่ทำให้เอิบอิ่มแผ่ซ่าน

อาการเหล่านี้เป็นปกติของนักปฏิบัติธรรม แม้บางคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ทันสังเกต แต่สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่จะไปหวังให้เกิดหรือไม่ให้เกิด เป็นอาการทางจิตที่พอมีความสงบแล้วก็จะเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นก็เท่านั้น เพียงแต่เข้าใจไว้ว่า ปีติเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการบรรลุธรรมที่จะพึงเกิดขึ้น เป็นปีติสัมโพชฌงค์ เพราะเมื่อปีติเกิดขึ้นการยกระดับจิตก็จะตามมา อาการเปลี่ยนแปลงทางจิตก็จะเกิดขึ้น ที่เรียกว่า ภาวะแห่งความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบกายและสงบใจ ซึ่งเรียกเป็นภาษาเฉพาะ (Technical term) ว่า “ปัสสัทธิ” เมื่อปีติและปัสสัทธิเกิดขึ้น พึงทราบได้ว่า เดินมาถูกทางแล้วและความเป็นสมาธิก็จะเกิดขึ้นตามมาเป็นกระบวนการลูกโซ่ เป็นกระบวนการที่เป็นเหตุและเป็นผลของกันและกัน เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เป็นปกติของกระบวนการบำเพ็ญเพียรสมณธรรม


โศลกว่า “ใจได้ล่องลอยหายไปกับแมลงภู่ ปีติใหญ่ปรากฏพรั่งพรูท่วมทับ” สิ่งสำคัญเมื่อเกิดปีติขึ้นมา ไม่ต้องตกใจ หรือไม่หลงใหล ยึดติด หรือหยุดยั้งการบำเพ็ญเพียรภาวนา ให้กำหนดรู้ทุกอาการที่เกิดขึ้น ไม่มีความพึงพอใจหรือตกใจ กำหนดรู้ต่อไป การกำหนดรู้ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากลมหายใจที่สั้นยาวเข้าออก แต่เป็นการกำหนดรู้ปีติและสุขที่เกิดขึ้น หายใจเข้าออกเป็นปกติ มีสติอยู่ที่อาการนั้น ๆ หายใจเข้า หายใจออก ไม่กำหนดลมหายใจแต่หยั่งพิจารณาด้วยสติในปีติและสุขหายใจเข้า ออก จนในที่สุดอาการปีติและสุขก็สงบระงับไปตามกฎธรรมชาติที่เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป


ความสำคัญอยู่ที่เมื่อปีติเกิดแล้วอย่าได้เลือก อย่าได้ปล่อยให้ใจเข้าไปยึดเอามาเป็นสมบัติส่วนตัว อย่าได้เข้าหลงอยู่ภายในความสำเร็จที่เป็นอาการเช่นนี้ เพราะปีติเป็นเพียงอาการด้านหนึ่งของทวิภาวะเท่านั้น ก็คือมีปีติ ก็จะหมดปีติ มีสุข ก็จะหมดสุข เป็นของคู่กันคนละด้านของเหรียญ ความเป็นคุณและโทษของปีติมีอยู่ตลอด เมื่อใดที่ปล่อยใจไม่มีสติก็จะหลงไปกับคุณของปีติ คุณของปีติทำให้ผู้ปฏิบัติพึงพอใจในอาการเช่นนั้น ดุจดังการเห็นของสวย ๆ งาม ๆ ก็พึงพอใจ อาการพึงพอใจในของสวยงามก็กลายเป็นนันทิ เมื่อนันทิมีกำลังก็จะกลายเป็นฉันทะ และกลายเป็นตัณหาในที่สุด แสดงว่าปล่อยให้อาการที่เกิดขึ้นผ่านเข้าไปสู่ระดับที่ยากต่อการถอนมากขึ้น แนวทางปฏิบัติที่มีต่ออาการของปีติก็คือ เข้าไปกำหนดในตัวของปีติเองเห็นเป็นเพียงจิตสังขาร เห็นเป็นเพียงอาการที่เป็นสิ่งที่ประกอบเข้ากับจิตเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นทั้งปีติและสุขที่เกิดขึ้น ดังพุทธพจน์ว่า


“จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามิ
จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามิ
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขารจักหายใจเข้า
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจออก”


ไม่มีอะไร ๆ ให้ต้องเข้าไปยึดถือว่าเป็นเรา ว่าของเรา ว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา เพื่อให้เข้าถึงระดับที่สี่ ก็คือ การเข้าไปพิจารณากำหนดเห็นความสงบระงับไปของจิตสังขารนี้เท่านั้น ปีติและสุขที่เกิดขึ้นสื่อเชื่อมกันระหว่างกายกับจิต เมื่อจิตมีอาการปีติสุข กายก็แสดงอาการออกมาตามลักษณะ ในขั้นนี้คือการสัมพันธ์กันระหว่างอาการทางกายและจิต ปีติและสุขเกิดขึ้นกับจิต กายก็รับรู้แสดงอาการเป็น ๕ ลักษณะตามที่ได้แสดงไว้ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดต่อไปหยั่งเข้าไปในอาการนั้น (สิกขติ) เพื่อให้เห็นถึงความสงบระงับหรือการสิ้นไปของปีติและสุขที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ดังพุทธพจน์ว่า


ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามิ
ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามิ
เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ หายใจเข้า
เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออก”


การพิจารณา ๔ ระดับนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าหากไม่เข้าใจความลึกใน ๔ ระดับนี้ ก็ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากความมีอยู่ เป็นอยู่ได้เลย เพราะในระดับที่ ๑ ถึง ๓ นี้ เป็นระดับของความมีอยู่ เป็นอยู่ทั้งสิ้น ทำให้จิตเข้าไปยึดเอาได้ง่าย จะเห็นได้ว่า ธรรมปฏิบัติในพระพุทธศาสนาจะมี ๔ ระดับเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ สติปัฏฐาน หรืออริยสัจ


มิติที่ ๑ เป็นมิติทางกายภาพ
มิติที่ ๒ เป็นมิติทางความคิด
มิติที่ ๓ เป็นมิติทางอารมณ์
มิติที่ ๔ เป็นมิติแห่งความว่าง

เทียบเคียงกับอานาปานสติในระยะของเวทนาที่เกิดขึ้นก็จะพบว่า เข้าได้กับระดับทั้ง ๔ นี้ ระดับทั้ง ๔ นี้มีความลึกลงไปในแต่ละชั้น และในแต่ละชั้นนั้นก็ต้องมีสติกำหนดรู้เข้าไปให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริง


ระดับที่ ๑ เป็นระดับที่ปีติท่วมทับจิตพรั่งพรูจนจิตแสดงอาการออกมา
ระดับที่ ๒ เป็นระดับที่ปีติแปรเปลี่ยนไปเป็นความสุขแสดงอาการออกมา
ระดับที่ ๓ เป็นระดับที่ทั้งปีติและสุขอยู่ด้วยกันกลายเป็นความดื่มด่ำ สงบเย็น
ระดับที่ ๔ เป็นระดับที่ปีติและสุขสงบระงับไปเหลือแต่สติและอุเบกขา


พึงทราบว่า ในแต่ละระดับที่แสดงไว้นี้เป็นนามธรรมที่กำหนดรู้ได้ด้วยสติที่คมชัดเท่านั้น ถ้าหากสติไม่คมชัด ย่อมไม่อาจแยกแยะและเข้าไปกำหนดรู้ได้เลย เพราะตัวปีติและสุขจะกลายเป็นตัวเราไปทันที กลายเป็นเรามีความสุข ความสุขมีในเรา เมื่อนั้นทุกอย่างก็จบ เป็นการพลาดจากทางเข้าที่เหมาะสมทันที


โศลกว่า “ผ่านกาลไปด้วยลมหายใจสงบเย็น ปรากฏภูเขาใหญ่ในจิตนิมิต” ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตามที่อยู่ในขณะปฏิบัติ ขณะหนึ่งอาจเบิกบานยิ้มแย้ม ขนลุก น้ำตาไหล หรือขณะอื่นอาจเปลี่ยนเป็นภูเขาท่วมทับหนักหน่วง หรือกระแสน้ำถาโถม ทุกภาวะที่เกิดขึ้นอยู่ในวิสัยที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพียงแต่ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางจิตขึ้นเช่นนี้จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพราะอาการเหล่านั้นจะรุนแรงท่วมทับตนเองจนแทบหายใจไม่ออกก็มี แสดงออกมาทางกายภาพทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดอาการขึ้นก็มี บางครั้งต้องอาศัยครูอาจารย์ช่วยแก้ไข ผ่อนคลายให้ บางครั้งก็แก้ไขได้ด้วยตนเอง


ผู้ปฏิบัติพึงต้องศึกษาให้ทราบถึงเส้นทางที่จิตเดินไปเสียก่อน ดุจดังการจะเดินทางไปตามเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งจะต้องสำรวจก่อนว่า จะไปทางไหน เจอกับอะไร เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาอย่างไร มีหลุม มีบ่ออย่างไร ทางโค้ง ทางตรงอย่างไร เหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติที่ต้องศึกษา ที่เรียกว่า ปริยัตินั่นเอง ศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่า เมื่อเดินทางไปแล้วมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจะได้ไม่ตกใจ ไม่พลัดหลงจากทางที่จะไปโดยง่าย ไม่ว่าจะพบกับแรงปะทะทั้งจากสภาพภายนอกและสภาพภายในอย่างไร ก็มีความเข้าใจในสภาวะนั้น รู้วิธีที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้


ภูเขาใหญ่ที่ท่วมทับร่างกายอัดแน่นเข้ามาทั้ง ๓ ทาง ด้านข้างทั้งสอง ด้านบนอีกหนึ่ง ทับกันอัดแน่นเข้า ๆ จนเกิดกายแทบจะระเบิด ขั้นนี้เป็นเพียงอาการที่จิตสื่อออกมาทางกายภาพให้อึดอัดขัดข้อง เพียงแต่เข้าไปกำหนดในอาการนั้นว่า ไม่ใช่อะไรอื่นใด เป็นเพียงเวทนาที่ปรากฏกับจิตเท่านั้น เวทนาก็ไม่เที่ยง กายก็ไม่เที่ยง จิตก็ไม่เที่ยง สิ่งที่เกิดขึ้นจากสิ่งไม่เที่ยงแท้แล้วมันจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ก็ทุกอย่างเป็นแต่เพียงความไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม พิจารณาเห็นถึงความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป หายใจเข้า หายใจออก


การยกระดับจิตจะเกิดขึ้นในระยะนี้ เหมือนดังการเปลี่ยนแปลงของความรู้ไปสู่ทักษะ เป็นเรื่องที่บอกยากว่า เปลี่ยนเมื่อไหร่ เปลี่ยนอย่างไร แต่รวมกันเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความรู้ก็เป็นระดับหนึ่งขององค์ประกอบทางจิต แต่เป็นระดับของจินตามยปัญญา แต่ทักษะนั้นเป็นการยกระดับจากจินตามยปัญญาไปสู่ระดับภาวนามยปัญญา เป็นการรู้แจ้งอันเกิดจากการเข้าไปพิจารณาในความรู้นั่นเอง


คำว่า “พิจารณา” คำนี้ต้องระวัง อย่าในไปปนกับคำภาษาไทยที่ใช้กันในความหมายทั่วไป เพราะไม่ตรงกันกับภาษาสภาวะ ความหมายในภาษาไทยนั้นเป็นคำระดับที่ ๒ เท่านั้นเอง แต่พิจารณาในสภาวธรรมนี้เป็นระดับ “สิกขติ” เป็นระดับที่ ๔ เป็นระดับตัวสติที่เห็นแจ้ง กำหนดรู้ เจาะหยั่งลงไปในอาการทางจิตที่ปรากฏนั้น เพียงแต่ยืมคำมาใช้ให้เข้าใจง่าย เป็นสมมติโวหารเท่านั้น การกำหนดรู้เจาะหยั่งลงไปในอาการนั้นทำให้ยกระดับจิตขึ้นไปสู่มิติที่ ๔ ได้ เป็นภาวนามยปัญญา


โศลกว่า “ใช้สติพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป” ในระดับมิติทั้ง ๔ นี้ ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เพราะมีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าทางจิตได้ง่ายขึ้น เพราะในระดับที่ ๑ ถึงมิติที่ ๓ นั้นเป็นระดับที่มีทวิภาวะซ่อนอยู่ภายในนั้น เมื่อใดที่ยังเป็นระดับทวิภาวะ เมื่อนั้นก็ตกอยู่ภายใต้กฎแกว่งไปมาตามทฤษฎีลูกตุ้มนาฬิกา เพราะความเป็นทวิภาวะนั้นมีสนามแม่เหล็กแห่งตัณหาซ่อนอยู่ภายในนั้น สนามแม่เหล็กนี้แหละที่ผลักชีวิตให้ตกอยู่ภายใต้วงจรอวิชชาอย่างแท้จริง นั่นก็คือวงจรแห่งวัฏฏะ ที่เรียกว่า “วน” คือ “กิเลส กรรม วิบาก” ตราบใดที่ไม่เข้าไปสู่ระดับที่ ๔ ตราบนั้นก็ยังคงตกอยู่วังวนนี้ไปตลอดอนันตกาล


ความพิเศษของระดับที่ ๔ ก็คือ การไม่เป็นตอบโต้ หรือเป็นปฏิปักข์ต่อสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวในประเด็นนั้น แต่กลับเลื่อนระดับไปสู่การเห็นสิ่งที่ปรากฏทั้งหลายทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม นามธรรม ก็มีแต่การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปทั้งนั้น การพิจารณาอย่างนี้ถือว่าไม่ได้เล่นตามเกมของตัณหา แต่กลับเล่นเกมผู้สังเกตการณ์แทน แทนที่จะดีใจ เสียใจ พึงพอใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ มีสุข มีทุกข์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือเกมของตัณหา แต่ระดับที่ ๔ กลายเป็นการเฝ้ามองอาการที่ปรากฏแทน เป็นแต่เพียงผู้มองเท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นใด มองให้เห็นถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และสิ้นไปของปรากฏการณ์เหล่านั้น เมื่อนั้นลูกตุ้มนาฬิกาก็หยุดแกว่ง เมื่อลูกตุ้มนาฬิกาหยุดแกว่ง สนามแม่เหล็กก็ลดพลังดึงดูดลง เพราะการแกว่งของลูกตุ้มเป็นตัวเสริมพลังดึงดูด ความกระจ่างใสย่อมปรากฏขึ้นแทน ตรงนี้แหละคือ ช่วงเวลาแห่ง “ปัญญาญาณ” ย่อมเกิดขึ้น ดังพุทธพจน์ว่า “จกฺขํุ อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ ดวงตาคือ ปัญญาเห็นธรรมเกิดขึ้นแล้ว การกำหนดรู้ความหยั่งรู้เหตุผลเกิดขึ้นแล้ว ความรู้แจ้ง เกิดขึ้นแล้ว ความมีใจสว่างเกิดขึ้นแล้ว”

ตัวสภาวธรรมนั้นไม่ตรงกับตรรกะทางความคิดเหตุผลที่คนทั้งหลายเข้าใจ เพราะตรรกะของคนทั่วไปนั้นมุ่งไปที่ฐานที่ ๑ และ ฐานที่ ๒ กล่าวคือทุกอย่างต้องมีการกระทำให้เกิดขึ้น แต่ในสภาวธรรมนั้นกลับตรงกันข้าม เมื่อใดกระทำไม่ว่าทางกาย วาจา หรือใจ เมื่อนั้นก็ยิ่งห่างไกลจากปัญญาญาณที่จะเกิดขึ้น ปัญญาญาณจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากยังอยู่ในระดับความคิด เปรียบเหมือนความใสสะอาดเกิดไม่ได้ด้วยการเติมความขุ่นลงไป เมื่อใดที่ไม่กวนให้น้ำขุ่น เมื่อนั้นความใสจึงจะปรากฏเอง


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้ได้ตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ดังนี้เถิด”


ความสว่างแห่งธรรมย่อมปรากฏตามกระบวนการที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา ปีติ สุข อันเกิดแต่เวทนาใด เวทนานั้นก็ไม่เที่ยง แปรเปลี่ยน และดับไป ไม่มีอะไรเป็นตัวเวทนาที่แท้ดำรงอยู่อย่างนั้น ดวงตาเห็นธรรมย่อมเกิดเมื่อเห็นชัดอริยสัจในเบญจขันธ์ซึ่งเป็นที่รวมลงแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ขอความเห็นแจ้งในปีติ สุข ความมีสติและอุเบกขาดำรงอยู่ จงมีแก่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรม เพื่อการที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด


นี่คือ โศลกที่สามสิบสามแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา


วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555



โศลกที่ ๓๒ "เอกภาวะ ทวิภาวะ"




 หัวใจของธรรมอยู่ที่รู้ตัว
เป็นกิริยาอาการนั้นเต็มที่
ไม่เหลือช่องว่างให้ได้คิด
ความคิดเป็นทวิภาวะ
ทุกองคาพยพที่เคลื่อนไหว
ทุกกิริยาอาการที่เดินไป
มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว
หนึ่งนั้นคือสติสัมปชัญญะ
เป็นเอกภาวะแห่งสติ



โศลกว่า “หัวใจของธรรมอยู่ที่รู้ตัว เป็นกิริยาอาการนั้นเต็มที่” อาการสองสิ่งในกิริยาอาการแห่งอิริยาบถนั้นจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน ในขณะเดินก็ไม่ยืน ในขณะยืนก็ไม่นั่ง ในขณะนั่งก็ไม่นอน แต่จะเกิดขึ้นไล่ลำดับกันอย่างต่อเนื่องรวดเร็วจนยากต่อการแยกแยะได้ว่า อาการใดเกิดก่อนหลัง ต้องระมัดระวังไม่ให้เข้าไปในวังวนเดิม ไม่ให้จิตใช้เป็นเครื่องมือเหมือนเดิม คำว่า “เป็นเพียงผู้เฝ้าดู เป็นพยาน (Witness)”และคำว่า “เป็นผู้ตื่นตัว (Awareness)” คำทั้งสองนี้มีความหมายอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นทันทีที่มีความเป็นผู้ตื่นตัว (สติมา) และเป็นผู้เฝ้าดูรู้ตัวทั่วพร้อม (สัมปชาโน) อยู่ ถ้าหากไม่มีคำทั้งสองนี้อยู่ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะสติ สัมปชัญญะ คือเป็นกระบวนการสำคัญในการปฏิบัติธรรม ไม่มีไม่ได้ เป็นธรรมมีคุณมาก มีอานิสงส์มากเหลือเกิน ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นลอย ๆ ต้องบำเพ็ญ ต้องมีความเพียร ต้องมีความต่อเนื่องที่เรียกว่า “อาตาปี”


ความตื่นตัวและการเฝ้าดูเป็นด่านสกัดไม่ให้มีความคิดซึ่งเป็นปาราสิดเข้ามาแทรกแซงกิริยาอาการที่เคลื่อนไหวทุกขณะ ทุกระยะ ทุกรายละเอียด ธรรมเป็นเครื่องตรวจสอบไม่ให้ความคิดผ่านเข้ามาได้ (Scan Dhamma Instrument) เมื่อมีสติและสัมปชัญญะย่อมเห็นหมดอาการเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกอย่างชัดแจ้ง ไม่เหลือช่องให้มีความคิดเข้ามาแทรก ไม่ให้โอกาสจิตปรุงแต่งเข้ามาแทรก ไม่ให้เกิดความพึงพอใจ (อภิชฌาและโสมนัส) ในอาการนั้น ๆ ไม่ให้เกิดความอึดอัดขัดข้อง (อนภิชฌาและโทมนัส) ในอาการนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม ทุกอิริยาบถนั้นมีความเต็มเปี่ยมแห่งอาการนั้นเท่านั้น มีความสมบูรณ์พร้อมแห่งอาการนั้นเท่านั้น

โศลกว่า “ไม่เหลือช่องว่างให้ได้คิด ความคิดเป็นทวิภาวะ” ในการปฏิบัติธรรมสิ่งที่ขัดขวางผู้ปฏิบัติมากที่สุดก็คือ “ความคิด” ของเขาเอง กระบวนการแห่งความคิดเป็นกระบวนการแห่งความทุกข์ ตามลำดับแห่งปฏิจจสมุปบาท เป็นตัวสังขารที่ทำให้เกิดวิญญาณ ในที่สุดก็ถึงการรวมตัวแห่งทุกข์ทั้งมวล เพราะในความคิดนั้นประกอบไปด้วยอวิชชาเป็นพื้นฐาน เป็นปกติของจิตที่ไม่รู้แจ้ง เมื่อไรที่รู้แจ้ง เมื่อนั้นชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะอยู่ เมื่อใดมีสติสัมปชัญญะอยู่ เมื่อนั้นทวิภาวะก็หายไป จักษุคือปัญญาเห็นธรรมก็เกิด ญาณกำหนดรู้ก็เกิด ปัญญาญาณหยั่งรู้เหตุผลก็เกิด วิชชารู้แจ้งก็เกิด อาโลโกความสว่างในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็เกิด กระบวนการทางดับแห่งทุกข์ก็ปรากฏขึ้นทันที ทวิภาวะนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิโดยธรรมชาติ เพราะเป็นธรรมมีสภาวะหลงยึดสมมติสัจจะ หลงยึดดี ชั่ว ชอบ ชัง รัก เกลียด ดีใจ เสียใจ เป็นอย่างนี้เรื่อยไป เพราะไม่เห็นแจ้งในอริยสัจ พอไม่เห็นแจ้งในอริยสัจก็ดำริสะเปะสะปะเป็นเหตุให้กล่าวออกมาทางวาจา


เมื่อใดที่เห็นแจ้งในอริยสัจเมื่อนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเป็นสัมมาทิฏฐินั้นเกิดมาพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่เต็มรอบ สติสัมปชัญญะไม่ให้มีความดำริสะเปะสะปะอีกต่อไป กระบวนการแห่งธรรมก็เกิด ด้วยเหตุนี้กระบวนการแห่งสติปัฏฐานและอานาปานสติจึงเป็นกระบวนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิโดยแท้ ความคิดตามความเข้าใจของชาวโลกนั้นไม่ถูกต้องตรงกันกับชาวธรรม การกินแบบโลกกับการกินแบบธรรมนั้นต่างกัน อยู่แบบโลกกับอยู่แบบธรรมนั้นต่างกันทั้งที่อยู่เหมือนกัน สภาวะนี้ไม่ใช่วิถีแห่งการตรองด้วยตรรกะ เพียงแค่คิดก็ตกหล่นหลุดออกไปจากเส้นทางทันที ต้องไม่คิดเท่านั้นจึงจะอยู่บนเส้นทางได้


โศลกว่า “ทุกองคาพยพที่เคลื่อนไหว ทุกกิริยาอาการที่เดินไป มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว”ตื่นตัวเฝ้าดูจิตที่ประกอบไปด้วยความเชื่อมั่นในการก้าวเดิน ความเป็นทั้งหมดแห่งการก้าวเดิน การก้าวย่างที่ขยับเขยื้อนก้าวไปนั้นเต็มเปี่ยมด้วยความต่อเนื่องเป็นลำดับ ความสมบูรณ์พร้อมเกิดขึ้นเต็มที่ ไม่เหลือช่องให้สิ่งใดหลุดรอดเข้ามาได้ ต้นสายปลายเหตุทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป อาการเดินเช่นนี้คือการเดินที่งดงาม จึงไม่แปลกที่อุปติสสมานพพอพบกับพระอัสสชิครั้งแรกก็เกิดอาการสนใจ พอเฝ้าสังเกตเห็นการเดินของพระอัสสชิ ก็พบเห็นความงดงามแห่งอาการเคลื่อนไหวที่ก้าวเดินทุกย่างก้าวอย่างสมบูรณ์ ไม่หลงเหลือสิ่งใดให้ต้องกังวล ความงดงามแห่งการก้าวเดินของผู้มีสติสัมปชัญญะนั้นสื่อออกมาภายนอกได้ กลายเป็นความสงบกายที่เคลื่อนไหว เป็นความงดงามของท่วงท่าร่างที่ก้าวเดิน


อาการเช่นนี้จะปรากฏขึ้นอย่างไรเล่า จะมีก็แต่เฉพาะผู้มีความเต็มเปี่ยมจากภายในเท่านั้น ผู้มีตาอัจฉริยะสังเกตจึงจะพบเห็น อุปติสสมานพไม่เคยเห็นผู้ที่เดินด้วยความสมบูรณ์พร้อมเช่นนี้มาก่อนจึงได้ติดตามไประยะหนึ่ง เพื่อให้เกิดความแน่ใจในสายตาของตนว่า นี่เป็นของจริง นี่มิใช่ผู้แกล้งลวงสังคม บุคคลเช่นนี้ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในที่สุดท่านจึงได้รับรสแห่งอมตวาจาที่สมบูรณ์พร้อมอีกเช่นกันในยามที่สนทนา


“เย ธมฺมา เหตุปฺภวา เตสํ เหตํุ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ”


โศลกเพียงเท่านี้ยังกระแสแห่งความสว่างในอริยสัจปรากฏขึ้นในดวงตา คือ ปัญญาญาณของอุปติสสมานพ กาลภายหลังท่านก็คือพระสารีบุตรเถระ ธรรมเสนาบดีในพระพุทธศาสนานี่เอง

สำหรับเราท่านแล้ว การก้าวเดินไปยังคงเป็นไปเพื่อบำเพ็ญบารมี เดินไปเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น เดินไปเพื่อให้วิชชาเกิดขึ้น เดินไปเพื่อเห็นแจ้งการเกิดดับ เดินไปเพื่อให้ญาณเกิดขึ้น การเดินเช่นนี้จึงเป็นการเดินที่เป็นธรรม เดินไปด้วยความพากเพียรพยายาม เดินไปด้วยความงดงามแห่งสติสัมปชัญญะ และเดินไปด้วยการยังความเต็มเปี่ยมแห่งการเดินแต่ละก้าวให้ปรากฏ

โศลกว่า “มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว หนึ่งนั้นคือสติสัมปชัญญะ เป็นเอกภาวะแห่งสติ” ผู้เข้าใจความเป็นเอกภาวะย่อมเข้าใจสรรพสิ่งได้ดีขึ้น ความเป็นเอกภาวะนั้น คือ ความว่าง คือนิพพาน คือความดับ คือความเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้น ทุกกิริยาอาการ ความเป็นหนึ่งเดียวไม่ใช่เอกัคคตารมณ์ (One Pointedness) เพราะเอกัคคตารมณ์นั้นเป็นเรื่องของจิตที่มีปกติวุ่นอยู่ตลอดเวลา จิตจะมีความสงบลงได้ก็ต่อเมื่อจิตทำหน้าที่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างเดียว การที่จิตอยู่กับอารมณ์จนเป็นเอกัคคตาจิตนั้นจิตไม่สามารถเข้าใจตัวของมันเองได้ มันได้แต่เข้าใจตัวของสิ่งอื่นเท่านั้น เป็นเพียงการเข้าใจสิ่งที่เป็นภายนอก แต่เอกภาวะในที่นี้เป็นความเต็มเปี่ยมแห่งสติกับทุกกิริยาอาการ สติสัมปชัญญะนั้นรู้ตัวจิตเองได้ เป็นการเข้าใจภายใน มีแต่สติสัมปชัญญะเท่านั้นที่สามารถปราบความคิดที่ยึดอารมณ์ให้กลายเป็นเอกภาวะได้ การที่จะเข้าถึงการรู้แจ้งภายในนั้นต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ ไม่อาจใช้ความคิดได้ เมื่อใดที่ใช้ความคิด เมื่อนั้นเอกภาวะก็ไม่เกิดขึ้น ความสมบูรณ์แห่งสติที่เต็มเปี่ยมมีเมื่อใด เอกภาวะก็ปรากฏเมื่อนั้น


เป็นความยากที่จะเข้าใจเรื่องนี้ ก็เพราะคนโดยมากแล้วตกอยู่ภายใต้การทำงานของจิต โดยเฉพาะโลกตะวันตกซึ่งไม่เคยทราบว่า จิตไม่คิดเป็นอย่างไร เอกภาวะเป็นอย่างไร การเข้าถึงเอกภาวะจึงต้องนำมาคิดก่อนว่า มันเข้าถึงได้อย่างไร จะเป็นเช่นนี้เสมอ ด้วยเหตุนี้คำว่า “สัมมาสมาธิ” ภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า “Right Concentration” และยังสื่อให้เห็นต่อไปอีกว่า “สมาธิ” คือ “เอกัคคตาจิต” หรือ “One Pointedness” ผู้ที่ไม่เข้าถึงอรรถแห่งคำว่า “สัมมาสมาธิ” ก็พลอยเข้าใจตามศัพท์ภาษาอังกฤษที่เขาใช้ จึงทำให้หลงประเด็นกันไปใหญ่ Right Concentration ไม่ใช่สัมมาสมาธิตามที่พระพุทธศาสนามุ่งหมาย การใช้คำว่า “Right Meditation” ยังจะมีอรรถใกล้เคียงกว่าเสียอีก เพราะคำว่า “สมาธิ” ในพระพุทธศาสนานั้น เป็นองค์ธรรมหนึ่งในองค์แห่งพละ ๕ ที่มีหน้าที่กรองสิ่งที่ขุ่นมัวทั้งหมดให้ใสสะอาด มีหน้าที่ทำให้ใสสะอาด เป็นองค์ธรรมที่สนับสนุนสติ ที่ทำหน้าที่เฝ้าดู จากนั้นความเห็นแจ้งในความเป็นจริงของสรรพสิ่งก็เกิด เรียกว่าปัญญา

สมาธิจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะคิดเอาได้ตามตรรกะ อธิบายด้วยเหตุผล เพราะเหตุผลนั้นอยู่ในระดับของความคิด โดยเฉพาะการแปลคำนี้เป็นภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่ความหมายของสมาธิ อีกประการหนึ่งผู้ใช้คำนี้ไม่ทราบเคยรับรู้ถึงสภาวะแห่งสมาธิมาก่อนหรือไม่ อาจเข้าใจเอาเองว่า สมาธินั้นคือการที่จิตอยู่ในเอกัคคตารมณ์ นั่นเป็นการตรองเอาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เข้าใจว่า การที่จิตดิ่งนิ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั่นแหละคือสมาธิ ถือว่าเป็นกับดักใหญ่ หลุมพรางใหญ่ในการปฏิบัติเท่านั้น แท้จริง การที่จิตตรึงอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไม่เคลื่อนไหวนั้น เป็นเพียงกระบวนการใช้จิตสะกดจิต (Mental Hypnotize of Consciousness) เท่านั้น


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วว่า
“มาเถิดภิกษุ ท่านจงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง การแลดู การเหลียวดู การคู้ การเหยียด การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง
พราหมณ์! ในการใดภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าละเมาะ โคนต้นไม้ ภูเขา ซอกห้วย ท้องถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลเป็นปัจฉาภัตต์ กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
ละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา คอยชำระจิตจากอภิชฌา
ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณา มีจิตหวังความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิตจากพยาบาท
ละถีนมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีสติสัมปชัญญะ คอยชำระจิตจากถีนมิทธะ
ละอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน คอยชำระจิตจากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกว่า “นี่อะไร นี่อย่างไร” ในกุศลธรรมทั้งหลาย คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา

ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำปัญญาให้ถอยจากกำลังเหล่านี้ จึงบรรลุฌานที่หนึ่ง มีวิตก วิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่
เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุฌานที่สอง เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่
เพราะความจางหายไปแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ มีการอยู่เป็นสุข แล้วแลอยู่
และเพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงได้บรรลุฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์ ไม่สุข มีแต่ความที่มีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่

พราหมณ์เอ๋ย !
ภิกษุเหล่าใดที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ยังปรารถนานิพพานอันเป็นที่เกษมจากโยคะ ไม่มีอื่นยิ่งไปกว่าอยู่ คำสอนที่กล่าวมานี้แหละเป็นคำสอนสำหรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น
ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันบรรลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ด้วย”

การกระทำที่เป็นหนึ่งเดียวจึงเป็นการกระทำที่มีสติสัมปชัญญะกำกับดูแลอยู่อย่างสมบูรณ์ ความคิดเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็เกิดทวิภาวะทันที เมื่อใดที่มีสติ เมื่อนั้นก็เข้าถึงเอกภาวะ อิริยาบถที่มีสติเต็มเปี่ยม ชื่อว่า เป็นเอกภาวะแห่งอิริยาบถ ความเป็นเอกภาวะนี้เท่านั้นจึงเป็นการปฏิบัติธรรมโดยแท้ ความเพียรเพื่อให้ดำรงอยู่ในเอกภาวะ ในความว่าง ด้วยสติเสมอ จึงนับได้ว่าเป็นอิสระอย่างแท้จริง ขอความเต็มเปี่ยมแห่งสติ ความเป็นเอกภาวะที่สมบูรณ์จงบังเกิดมีแก่ผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรม เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบเถิด

นี่คือ โศลกที่สามสิบสองแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555













ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ใด
ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง
ทรงสั่งสอนสรรพสัตว์ให้รู้ตามเห็นตาม
และดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้ด้วย
ข้าพระองค์ขออภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
โศลกที่สามสิบเอ็ด "ธรรมวาจา"



สงวนคำไม่พร่ำเพรื่อ
ควรกล่าวเมื่อควรกล่าว
ยามไร้วาจาก็สงบ
ยามกล่าววาจาก็ลึกซึ้ง
มีอรรถน่าฟัง อบอุ่น ไพเราะ
เต็มเปี่ยมด้วยเมตตา
ถ้อยคำเป็นโอสถเยียวยาจิต
เป็นธรรมานุธรรมวาจา
ให้แนวทางและกำลังใจ
ผู้ฟังมีแต่ความสุข สงบ
นี่คือทิพยวาจา


ให้พึงสังเกตพระโยคาวจรผู้ปฏิบัติธรรม เหตุใดจึงพูดน้อย สงบปากสงบคำ ไม่กล่าวพร่ำเพรื่อ ไม่แสดงภูมิธรรมพร่ำสอนไปทั่ว ไม่พูดจนเลอะเลือน ซึ่งต่างไปจากผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม แม้ผู้อื่นไม่ให้พูดก็อยากพูด ขอให้ได้พูด แม้พูดแล้วก็จบไม่ลง ใช้วาจาเป็นเหมือนหอกที่ใช้ทิ่มแทงผู้อื่นอยู่ร่ำไป วาจาที่กล่าวขึ้นประโยคแรกก็เป็นประโยคเกี่ยวกับผู้อื่น


เหตุที่ผู้ปฏิบัติธรรมพูดน้อยก็เพราะความสงบเยือกเย็นได้เข้าปกคลุมสภาวะจิตแล้ว ความสงบเยือกเย็นเป็นเหมือนร่มฉัตรจักรพรรดิที่ฉายร่มเงาให้พระเจ้าจักรพรรดิอยู่ภายในนั้น พระเจ้าจักรพรรดิไม่พูดพล่าม ไม่กล่าวพร่ำเพรื่อฉันใด พระโยคาวจรก็เป็นฉันนั้น ในยามที่พระเจ้าจักรพรรดิกล่าวคำย่อมมีน้ำหนัก มีความศักดิ์สิทธิ์ ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น กล่าวคำแต่ละคำย่อมมีความหมาย มีอรรถสาระเสมอ


ผู้ใดที่เริ่มสอนใหม่ ๆ จะเข้าใจดีว่า การพูดนั้นสำคัญไฉน ยิ่งสอนในการศึกษาระดับสูง ๆ ด้วยแล้วจะพบว่า ข้อมูลที่ตนเตรียมนั้นแม้มากก็กลายเป็นน้อย ไม่พอเหมาะกับเวลา เวลาเหลือเป็นชั่วโมงแล้วจะเอาอะไรมาพูดต่อ สอน ๓ ชั่วโมงจะทำยังไง บางท่านเตรียมไปเท่าไรก็จะต้องใส่ให้หมด ด้วยเกรงว่า ผู้ฝังจะติดค้างทุกเรื่องที่เตรียมมา เกรงว่าผู้ฟังจะปรามาสว่าตนไม่รู้เรื่อง จึงมีคำกล่าวว่า “ผู้สอนใหม่ สอนทุกเรื่อง ผู้สอนปานกลาง สอนจนหมดเรื่อง ผู้ตกผลึก สอนเพียงบางเรื่องให้รู้เรื่อง”


สำหรับผู้ปฏิบัติในพระพุทธศาสนาแล้วให้ถือตามลักษณะการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะกล่าวอะไร จะพูดอะไรก็มีความมุ่งหวังอนุเคราะห์สรรพสัตว์เป็นเบื้องต้น “คำใดจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น พึงรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น” วาจาที่ไม่ควรกล่าวเลย ก็คือ คำเท็จ ไม่มีประโยชน์ คำก้าวร้าว ไม่เป็นที่พอใจ วาจาที่เวลาจะพูดต้องดูกาลเทศะ ก็คือ คำจริง มีประโยชน์ น่าพอใจ อาจใช้คำตำหนิ หรือคำชมก็ตาม ด้วยคำนึงถึงหลักการกล่าวคำเหล่านี้ด้วย และคำนึงถึงความสงบเยือกเย็นด้วย ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมจึงพูดน้อย ไม่ทำลายบรรยากาศของร่มฉัตรจักรพรรดิให้เป็นร้านตลาด ผู้ใดปฏิบัติธรรมถึงระดับหนึ่งก็จะเป็นเช่นเดียวกัน ก็คือ พูดน้อย ทานน้อย ปฏิบัติมาก คำว่า “ปฏิบัติมาก” ในที่นี้หมายรวมถึงทำงานอนุเคราะห์หมู่สัตว์มากด้วย


โศลกว่า “ยามไร้วาจาก็สงบ ยามกล่าววาจาก็ลึกซึ้ง” ความเงียบ เยือกเย็น สุขุม สงบ เป็นพลังอย่างหนึ่งทำให้ผู้อยู่ใกล้สัมผัสความสงบเย็นนั้นได้ กล่าวถึงที่สุด แม้เพียงได้เห็นผู้ปฏิบัติธรรมก็ทำให้คลายความทุกข์ได้ส่วนหนึ่ง หากได้ฟังวาจาที่เยือกเย็น ไพเราะ อบอุ่น เปี่ยมเมตตา ความทุกข์โศกเศร้าก็แทบจะคลายมลายสิ้น


ครั้งหนึ่งในพุทธกาล นางปฏาจารา สตรีที่ถูกความทุกข์ในโลกท่วมทับอย่างหนักหน่วง เกินที่จะรับได้ถึงกับกลายเป็นคนบ้าไป เดินซัดเซพเนจรเข้าไปถึงธรรมศาลาที่ที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมอยู่ เธอไม่อยู่ในอาการรับรู้อะไรทั้งสิ้น ผ้าผ่อนหลุดลุ่ยเดินไป เพ้อไป พระพุทธเจ้าทรงตรัสขึ้นเมื่อเธอเดินมาถึงธรรมศาลาว่า


“เจ้าจงมีสติเถิด น้องหญิง
อย่าโศกเศร้าถึงบุตร สามี บิดา มารดา พี่ชายที่ตายไปแล้วเลย
จงเบาใจ จงแสวงหาตัวของตัวเองเถิด
เจ้าทุกข์เดือดร้อนไป ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
เพราะไม่ว่าเครือญาติ หรือใคร ๆ ก็ไม่อาจห้ามกั้น
ความตายได้เลยว่า อย่าเกิดขึ้นกับผู้ที่ถึงที่ตาย
ขึ้นชื่อว่าบุตรสุดที่รัก ไม่อาจเป็นที่พึ่ง
เป็นที่ต้านทานหรือเป็นที่ป้องกันแก่ผู้ไปสู่ปรโลกได้
บุตรเหล่านั้น ถึงจะมีอยู่ก็เหมือนไม่มี
ส่วนผู้รู้ทั้งหลายรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว
ควรชำระทางไปสู่พระนิพพานของตนเท่านั้น
ดูกรน้องหญิงปฏาจารา! น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ยังมีปริมาณน้อย
น้ำตาจากความเศร้าโศกของคนที่ถูกทุกข์ กระทบแล้วนั้น
มีปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เสียอีก ฉะนั้น
เหตุใด เจ้าจึงยังประมาท อยู่เล่า"



พระศาสดาตรัสถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับทุกข์ หาที่สุดไม่ได้ ทำให้ความโศกเศร้าของนางทุเลาลง ได้สติขึ้นมาทันที พระองค์จึงทรงแสดงธรรมอีกว่า


“สัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ ทมะ มีอยู่ในผู้ใด
พระอริยะทั้งหลาย ย่อมคบผู้นั้น นั่นเป็นอมตธรรมในโลก
บัณฑิตรู้ใจความข้อนี้แล้ว ย่อมสำรวมในศีล
รีบเร่งชำระทางไปพระนิพพานทีเดียว”


ถ้อยคำของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงเปี่ยมด้วยเมตตา เป็นธรรมโอสถวาจาที่สามารถชำแรกเข้าไปภายในจิต กำซับซาบซ่านไปถึงเบื้องลึกแห่งจิต ทำลายเชื้อโรคคือความทุกข์เสียได้ ผู้ใดก็ตามได้รับรู้สัจธรรมที่เป็นจริงแล้วย่อมไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ อีก การถอนการยึดมั่นออกเสียนั่นแหละคือ การดับทุกข์ วาจาใดที่แสดงให้ถอนการยึดมั่นนั้นก็เป็นวจีโอสถกำจัดทุกข์


เมื่อใดก็ตามท่านเห็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนในชีวิต ก็จะเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นนับกาลไม่ถ้วนในชีวิต ไม่เพียงแต่ชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติที่ผ่าน ๆ มา ไม่แปลกใจเลยว่า หากผู้ใดสามารถย้อนกลับไปในอดีตได้ ย้อนกลับไปสู่ชาติต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้ ย้อนไปดูชีวิตที่เป็นเหมือนภาพยนตร์ในแต่ละเรื่องของตนที่ผ่านมาสักสิบเรื่องล่าสุดได้ ท่านจะเข้าใจถึงสุขทุกข์ชัดเจนยิ่งขึ้น เข้าใจถึงความยินดีปรีดา ความโศก เศร้า สมหวัง ผิดหวัง ระทม เริงร่า หัวเราะ ร้องไห้ บาดเจ็บ ล้มตายได้อย่างแจ่มชัดยิ่งขึ้น เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น เป็นบทภาพยนตร์ที่ท่านเป็นพระเอกหรือเป็นนางเอกของเรื่อง ทุกบททุกตอนในแต่ละฉากของชีวิตที่ผ่านไปตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องนั้น คือ ภาพยนตร์ชีวิตของท่านเอง ท่านเป็นทั้งผู้กำกับการแสดงและก็เป็นผู้โลดแล่นไปกับฉากนั้นเอง ทุกหยาดหยดน้ำตา ทุกรอยยิ้มที่พริ้มพราย ทุกความเจ็บปวดที่ครองใจท่านอยู่ ทุกความเริงร่าที่ท่านได้รับ และทุกความโศกเศร้าที่ท่านประสบ ล้วนเป็นของจริงไม่อาจตัดพ้อต่อว่าผู้ใดได้เลย ด้วยเหตุนี้ ผู้เห็นอดีตของตนได้แล้วจึงไม่เหลือความพึงพอใจต่อภพชาติอีก ไม่เหลือความยินดีที่มีต่อวัฏฏะนี้อีก


เหตุใดผู้คนทั้งหลายจึงไม่ละความพึงพอใจในชาติ ในวัฏฏะได้เล่า ก็เพราะทุกคนหลับใหลอยู่นั่นเอง คนที่หลับอยู่แล้วฝันไปว่าตนเองเป็นคล้ายเคยได้รับความสุข คล้ายเคยได้รับความทุกข์ ความโศกเศร้า สมหวัง ผิดหวัง เขาไม่เคยตื่นมาเลย เป็นเหตุให้เขาไม่ใส่ใจกับชีวิตที่เป็นภาพยนตร์ของตน เมื่อใดที่เขาตื่นขึ้นมาได้จริง ๆ เห็นภาพยนตร์ที่เป็นจริง เมื่อนั้น เขาจึงจะเข้าใจถึงบทละครชีวิตในแต่ละชาติของตน และเบื่อหน่ายลงได้


ลองนึกจินตนาการดูว่า มีเด็กคนหนึ่งร้องไห้เพราะตุ๊กตาตกแตกเป็นฉันใด ผู้คนก็เป็นเช่นเด็กน้อยผู้นั้น ฉันนั้น ในชาติหนึ่ง ๆ ผู้คนเคยร้องไห้เพราะสูญเสียสิ่งที่รัก สิ่งที่หวงแหนมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่ทราบว่า ทำไมต้องร้องไห้ เสียใจอีก เขาร้อง ๆ หยุดๆ พอได้ตุ๊กตาใหม่ก็หยุด พอตกแตกก็ร้องอีก พอมีคนรักใหม่ก็หยุด พอคนรักจากไปก็ร้องไห้ หากไม่ใช่คนหลับฝันไปก็เป็นคนที่บ้าทั้งนั้น


ที่แปลกยิ่งกว่านั้นก็คือ คนเราไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง ไม่เชื่อลองมีคนมาด่าท่านสิ ท่านจะโกรธทันที ท่านคือหุ่นยนต์ประเภทหนึ่งแท้ ๆ ถูกวางโปรแกรมไว้ พอสิ่งหนึ่งกระทบ หุ่นยนต์ก็ทำปฏิกิริยาตอบโต้ทันที ทำไมท่านต้องโกรธคนที่ด่าด้วย ก็เพราะท่านไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เป็นเหมือนเครื่องไฟฟ้าที่พอถูกเสียบปลั๊กก็ทำงานทันที เป็นเหมือนตุ๊กตาไขลาน พอมีคนหมุนลาน ตุ๊กตาก็ดิ้นตาม ผู้คนทั้งหลายไม่รู้ตัวหรอก


พระเยซูได้ร้องบอกกับคนทั้งหลายในขณะที่ตนเองกำลังจะถูกตอกตะปูตรึงกางเขนอยู่ว่า “พระเจ้าอย่าได้ตำหนิเขาเลย พวกเขาไม่รู้ตัวว่าพวกเขาทำอะไรลงไป” มหาตมคานธีก็กล่าวคำทำนองนี้เช่นกัน หลังจากที่ถูกชายผู้หนึ่งยิง ในขณะที่ท่านกำลังจะสิ้นลม ท่านกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ลงโทษชายผู้นี้ เขาไม่รู้”


คนทั้งหลายในโลกก็ล้วนทำความผิด เข่นฆ่า โหดร้าย ป่าเถื่อน เบียดเบียน ทำร้าย คดโกง กล่าวร้ายกันและกันไปมาอย่างนี้ พวกเขาไม่รู้ตัวว่าเขาทำอะไรลงไป เพราะต่างคนก็ต่างอยู่ในความฝัน เพราะต่างก็ถูกเสียบปลั๊กให้ทำทั้งนั้น มีหรือเขาด่ามาเราไม่โกรธตอบ เขาทำร้ายมา เรายิ้ม เขารักมา เราโกรธไป ก็เราท่านถูกตั้งโปรแกรมไว้แล้ว ให้ตอบสนองไปตามโปรแกรมที่ตั้งไว้แล้วนั้น


โศลกว่า “ให้แนวทางและกำลังใจ ผู้ฟังมีแต่ความสุข สงบ” วาจาหรือคำของคนมีผลส่งไปถึงใจให้มีพลังหรือให้มีความท้อแท้ถดถอยได้ คำกล่าวของคนทำให้เกิดความฮึกเหิมและเกิดความหวาดกลัวได้ ทำให้เกิดความอบอุ่นและทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลได้ เนื่องจากวาจานั้นเป็นพลังอย่างหนึ่งที่เข้าไปครอบครองจิตของตนและผู้อื่นได้


ในการปฏิบัติธรรมนั้นวาจาเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง วาจาที่พูดออกมาจากจิตที่สงบเยือกเย็นนั้นเป็นวาจาที่เชื่อมประสานให้จิตของผู้อื่นสงบเยือกเย็นไปด้วย หากวาจาที่พูดออกมาจากใจที่เร่าร้อน ก็สร้างความเร่าร้อนให้เกิดขึ้นกับจิตผู้อื่นด้วย ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงพูดในสิ่งที่นำใจไปสู่ความสงบเยือกเย็น นำใจให้มีกำลังปฏิบัติ เหนี่ยวโน้มไปสู่การปฏิบัติที่ลึกยิ่งขึ้น หยั่งลึกลงเป็นลำดับ นำไปสู่การพิจารณาเห็นตามความเป็นจริง


วาจาที่เป็นธรรมจึงประกอบไปด้วยความอนุเคราะห์สรรพสัตว์ เป็นวาจาให้กำลังใจ ทำให้เกิดความเอิบอิ่ม ไม่นำไปสู่การกระหายอยาก ไม่นำไปสู่กระตุ้นเร้าอกุศลมูล เป็นธรรมสัจวาจา คำเพียงสั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เช่น “รักษาจิต บำเพ็ญเพียร มีสติ ทำจิตให้งดงาม ตามทันสัมผัส เห็นอรรถอันแจ่มแจ้งเถิด” แต่ทุกคำนั้นออกมาจากความลึกระดับที่สี่


ผู้มีจิตเข้าถึงความลึกระดับที่สี่ วาจาย่อมเป็นสัจวาจาทั้งสิ้น เพราะระดับที่สี่นั้นเป็นระดับที่ไร้ภาษา แต่เมื่อจะกล่าวออกมาเป็นภาษาจึงกล่าวได้แต่คำสภาวะเท่านั้น ยืมคำในระดับที่สามมาใช้ คำกล่าวระดับที่สามมีความใกล้ชิดกับระดับที่สี่ที่สุด เป็นคำที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก เป็นภาษาของแม่ เป็นภาษาของคนรัก เป็นภาษาของผู้บำเพ็ญเพียร ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นภาษาที่ทำให้ผู้ฟังมีความสุข มีความสงบ มีกำลังใจ ผู้กล่าวมีความลึกซึ้งในอารมณ์ที่ประกอบกลั่นออกมาเป็นภาษา


ลองฟังผู้มีความรักพูดกับผู้ไม่มีความรักพูดจะมีน้ำหนักต่างกัน ผู้มีเมตตาพูดกับผู้ไม่มีเมตตาพูดก็ยิ่งต่างกัน มารดาตนพูดกับคนอื่นพูดต่างกัน ผู้ปฏิบัติธรรมพูดกับผู้ไม่ปฏิบัติธรรมพูดนั้นมีความลึกซึ้งต่างกัน ความต่างกันแฝงอยู่ในอารมณ์ แฝงอยู่ในถ้อยคำ แม้จะกล่าวคำเดียวกันก็ตาม



พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วว่า


“ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษในกรณีนี้ แม้มีใครถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏ จะกล่าวไปทำไมถึงเมื่อไม่ถูกใครถาม ก็เมื่อถูกใครถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไปทำให้หลีกเลี้ยวลดหย่อนลง กล่าวความไม่ดีของผู้อื่นอย่างไม่พิสดารเต็มที่ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้เป็นสัตบุรุษ...ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้ไม่ถูกใครถามถึงความดีของบุคคลอื่น ก็ยังนำมาเปิดเผยให้ปรากฏ...กล่าวความดีของผู้อื่นโดยพิสดารบริบูรณ์...ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้ไม่ถูกใครถามถึงความไม่ดีของตน ก็ยังนำมาเปิดเผยให้ปรากฏ...กล่าวความไม่ดีของตนให้พิสดารเต็มที่...ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้มีใครถามถึงความดีของตน ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏ...กล่าวความดีของตนโดยไม่พิสดารเต็มที่ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล เป็นที่รู้กันว่า เป็นสัตบุรุษ”


ธรรมวาจาเป็นโอสถวจี ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายเมื่อจะกล่าวคำใด ก็มักกล่าวแต่ธรรมวาจา ใครที่ประสบพบกับความท้อแท้สิ้นหวังประสบทุกข์จึงต้องการทิพยวาจาเช่นนี้เพื่อชโลมจิตให้สดชื่นขึ้นมาอีกได้ มีกำลังต่อสู้ชีวิตขึ้นมาอีกได้ ขอพลังแห่งธรรมวาจาจงเป็นโอสถวจีแทรกเข้าไปภายในจิตของผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรมเพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด


นี่คือ โศลกที่สามสิบเอ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา