วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555



โศลกที่ ๓๒ "เอกภาวะ ทวิภาวะ"




 หัวใจของธรรมอยู่ที่รู้ตัว
เป็นกิริยาอาการนั้นเต็มที่
ไม่เหลือช่องว่างให้ได้คิด
ความคิดเป็นทวิภาวะ
ทุกองคาพยพที่เคลื่อนไหว
ทุกกิริยาอาการที่เดินไป
มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว
หนึ่งนั้นคือสติสัมปชัญญะ
เป็นเอกภาวะแห่งสติ



โศลกว่า “หัวใจของธรรมอยู่ที่รู้ตัว เป็นกิริยาอาการนั้นเต็มที่” อาการสองสิ่งในกิริยาอาการแห่งอิริยาบถนั้นจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน ในขณะเดินก็ไม่ยืน ในขณะยืนก็ไม่นั่ง ในขณะนั่งก็ไม่นอน แต่จะเกิดขึ้นไล่ลำดับกันอย่างต่อเนื่องรวดเร็วจนยากต่อการแยกแยะได้ว่า อาการใดเกิดก่อนหลัง ต้องระมัดระวังไม่ให้เข้าไปในวังวนเดิม ไม่ให้จิตใช้เป็นเครื่องมือเหมือนเดิม คำว่า “เป็นเพียงผู้เฝ้าดู เป็นพยาน (Witness)”และคำว่า “เป็นผู้ตื่นตัว (Awareness)” คำทั้งสองนี้มีความหมายอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นทันทีที่มีความเป็นผู้ตื่นตัว (สติมา) และเป็นผู้เฝ้าดูรู้ตัวทั่วพร้อม (สัมปชาโน) อยู่ ถ้าหากไม่มีคำทั้งสองนี้อยู่ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะสติ สัมปชัญญะ คือเป็นกระบวนการสำคัญในการปฏิบัติธรรม ไม่มีไม่ได้ เป็นธรรมมีคุณมาก มีอานิสงส์มากเหลือเกิน ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นลอย ๆ ต้องบำเพ็ญ ต้องมีความเพียร ต้องมีความต่อเนื่องที่เรียกว่า “อาตาปี”


ความตื่นตัวและการเฝ้าดูเป็นด่านสกัดไม่ให้มีความคิดซึ่งเป็นปาราสิดเข้ามาแทรกแซงกิริยาอาการที่เคลื่อนไหวทุกขณะ ทุกระยะ ทุกรายละเอียด ธรรมเป็นเครื่องตรวจสอบไม่ให้ความคิดผ่านเข้ามาได้ (Scan Dhamma Instrument) เมื่อมีสติและสัมปชัญญะย่อมเห็นหมดอาการเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกอย่างชัดแจ้ง ไม่เหลือช่องให้มีความคิดเข้ามาแทรก ไม่ให้โอกาสจิตปรุงแต่งเข้ามาแทรก ไม่ให้เกิดความพึงพอใจ (อภิชฌาและโสมนัส) ในอาการนั้น ๆ ไม่ให้เกิดความอึดอัดขัดข้อง (อนภิชฌาและโทมนัส) ในอาการนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม ทุกอิริยาบถนั้นมีความเต็มเปี่ยมแห่งอาการนั้นเท่านั้น มีความสมบูรณ์พร้อมแห่งอาการนั้นเท่านั้น

โศลกว่า “ไม่เหลือช่องว่างให้ได้คิด ความคิดเป็นทวิภาวะ” ในการปฏิบัติธรรมสิ่งที่ขัดขวางผู้ปฏิบัติมากที่สุดก็คือ “ความคิด” ของเขาเอง กระบวนการแห่งความคิดเป็นกระบวนการแห่งความทุกข์ ตามลำดับแห่งปฏิจจสมุปบาท เป็นตัวสังขารที่ทำให้เกิดวิญญาณ ในที่สุดก็ถึงการรวมตัวแห่งทุกข์ทั้งมวล เพราะในความคิดนั้นประกอบไปด้วยอวิชชาเป็นพื้นฐาน เป็นปกติของจิตที่ไม่รู้แจ้ง เมื่อไรที่รู้แจ้ง เมื่อนั้นชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะอยู่ เมื่อใดมีสติสัมปชัญญะอยู่ เมื่อนั้นทวิภาวะก็หายไป จักษุคือปัญญาเห็นธรรมก็เกิด ญาณกำหนดรู้ก็เกิด ปัญญาญาณหยั่งรู้เหตุผลก็เกิด วิชชารู้แจ้งก็เกิด อาโลโกความสว่างในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็เกิด กระบวนการทางดับแห่งทุกข์ก็ปรากฏขึ้นทันที ทวิภาวะนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิโดยธรรมชาติ เพราะเป็นธรรมมีสภาวะหลงยึดสมมติสัจจะ หลงยึดดี ชั่ว ชอบ ชัง รัก เกลียด ดีใจ เสียใจ เป็นอย่างนี้เรื่อยไป เพราะไม่เห็นแจ้งในอริยสัจ พอไม่เห็นแจ้งในอริยสัจก็ดำริสะเปะสะปะเป็นเหตุให้กล่าวออกมาทางวาจา


เมื่อใดที่เห็นแจ้งในอริยสัจเมื่อนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเป็นสัมมาทิฏฐินั้นเกิดมาพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่เต็มรอบ สติสัมปชัญญะไม่ให้มีความดำริสะเปะสะปะอีกต่อไป กระบวนการแห่งธรรมก็เกิด ด้วยเหตุนี้กระบวนการแห่งสติปัฏฐานและอานาปานสติจึงเป็นกระบวนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิโดยแท้ ความคิดตามความเข้าใจของชาวโลกนั้นไม่ถูกต้องตรงกันกับชาวธรรม การกินแบบโลกกับการกินแบบธรรมนั้นต่างกัน อยู่แบบโลกกับอยู่แบบธรรมนั้นต่างกันทั้งที่อยู่เหมือนกัน สภาวะนี้ไม่ใช่วิถีแห่งการตรองด้วยตรรกะ เพียงแค่คิดก็ตกหล่นหลุดออกไปจากเส้นทางทันที ต้องไม่คิดเท่านั้นจึงจะอยู่บนเส้นทางได้


โศลกว่า “ทุกองคาพยพที่เคลื่อนไหว ทุกกิริยาอาการที่เดินไป มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว”ตื่นตัวเฝ้าดูจิตที่ประกอบไปด้วยความเชื่อมั่นในการก้าวเดิน ความเป็นทั้งหมดแห่งการก้าวเดิน การก้าวย่างที่ขยับเขยื้อนก้าวไปนั้นเต็มเปี่ยมด้วยความต่อเนื่องเป็นลำดับ ความสมบูรณ์พร้อมเกิดขึ้นเต็มที่ ไม่เหลือช่องให้สิ่งใดหลุดรอดเข้ามาได้ ต้นสายปลายเหตุทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป อาการเดินเช่นนี้คือการเดินที่งดงาม จึงไม่แปลกที่อุปติสสมานพพอพบกับพระอัสสชิครั้งแรกก็เกิดอาการสนใจ พอเฝ้าสังเกตเห็นการเดินของพระอัสสชิ ก็พบเห็นความงดงามแห่งอาการเคลื่อนไหวที่ก้าวเดินทุกย่างก้าวอย่างสมบูรณ์ ไม่หลงเหลือสิ่งใดให้ต้องกังวล ความงดงามแห่งการก้าวเดินของผู้มีสติสัมปชัญญะนั้นสื่อออกมาภายนอกได้ กลายเป็นความสงบกายที่เคลื่อนไหว เป็นความงดงามของท่วงท่าร่างที่ก้าวเดิน


อาการเช่นนี้จะปรากฏขึ้นอย่างไรเล่า จะมีก็แต่เฉพาะผู้มีความเต็มเปี่ยมจากภายในเท่านั้น ผู้มีตาอัจฉริยะสังเกตจึงจะพบเห็น อุปติสสมานพไม่เคยเห็นผู้ที่เดินด้วยความสมบูรณ์พร้อมเช่นนี้มาก่อนจึงได้ติดตามไประยะหนึ่ง เพื่อให้เกิดความแน่ใจในสายตาของตนว่า นี่เป็นของจริง นี่มิใช่ผู้แกล้งลวงสังคม บุคคลเช่นนี้ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในที่สุดท่านจึงได้รับรสแห่งอมตวาจาที่สมบูรณ์พร้อมอีกเช่นกันในยามที่สนทนา


“เย ธมฺมา เหตุปฺภวา เตสํ เหตํุ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ”


โศลกเพียงเท่านี้ยังกระแสแห่งความสว่างในอริยสัจปรากฏขึ้นในดวงตา คือ ปัญญาญาณของอุปติสสมานพ กาลภายหลังท่านก็คือพระสารีบุตรเถระ ธรรมเสนาบดีในพระพุทธศาสนานี่เอง

สำหรับเราท่านแล้ว การก้าวเดินไปยังคงเป็นไปเพื่อบำเพ็ญบารมี เดินไปเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น เดินไปเพื่อให้วิชชาเกิดขึ้น เดินไปเพื่อเห็นแจ้งการเกิดดับ เดินไปเพื่อให้ญาณเกิดขึ้น การเดินเช่นนี้จึงเป็นการเดินที่เป็นธรรม เดินไปด้วยความพากเพียรพยายาม เดินไปด้วยความงดงามแห่งสติสัมปชัญญะ และเดินไปด้วยการยังความเต็มเปี่ยมแห่งการเดินแต่ละก้าวให้ปรากฏ

โศลกว่า “มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว หนึ่งนั้นคือสติสัมปชัญญะ เป็นเอกภาวะแห่งสติ” ผู้เข้าใจความเป็นเอกภาวะย่อมเข้าใจสรรพสิ่งได้ดีขึ้น ความเป็นเอกภาวะนั้น คือ ความว่าง คือนิพพาน คือความดับ คือความเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้น ทุกกิริยาอาการ ความเป็นหนึ่งเดียวไม่ใช่เอกัคคตารมณ์ (One Pointedness) เพราะเอกัคคตารมณ์นั้นเป็นเรื่องของจิตที่มีปกติวุ่นอยู่ตลอดเวลา จิตจะมีความสงบลงได้ก็ต่อเมื่อจิตทำหน้าที่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างเดียว การที่จิตอยู่กับอารมณ์จนเป็นเอกัคคตาจิตนั้นจิตไม่สามารถเข้าใจตัวของมันเองได้ มันได้แต่เข้าใจตัวของสิ่งอื่นเท่านั้น เป็นเพียงการเข้าใจสิ่งที่เป็นภายนอก แต่เอกภาวะในที่นี้เป็นความเต็มเปี่ยมแห่งสติกับทุกกิริยาอาการ สติสัมปชัญญะนั้นรู้ตัวจิตเองได้ เป็นการเข้าใจภายใน มีแต่สติสัมปชัญญะเท่านั้นที่สามารถปราบความคิดที่ยึดอารมณ์ให้กลายเป็นเอกภาวะได้ การที่จะเข้าถึงการรู้แจ้งภายในนั้นต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ ไม่อาจใช้ความคิดได้ เมื่อใดที่ใช้ความคิด เมื่อนั้นเอกภาวะก็ไม่เกิดขึ้น ความสมบูรณ์แห่งสติที่เต็มเปี่ยมมีเมื่อใด เอกภาวะก็ปรากฏเมื่อนั้น


เป็นความยากที่จะเข้าใจเรื่องนี้ ก็เพราะคนโดยมากแล้วตกอยู่ภายใต้การทำงานของจิต โดยเฉพาะโลกตะวันตกซึ่งไม่เคยทราบว่า จิตไม่คิดเป็นอย่างไร เอกภาวะเป็นอย่างไร การเข้าถึงเอกภาวะจึงต้องนำมาคิดก่อนว่า มันเข้าถึงได้อย่างไร จะเป็นเช่นนี้เสมอ ด้วยเหตุนี้คำว่า “สัมมาสมาธิ” ภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า “Right Concentration” และยังสื่อให้เห็นต่อไปอีกว่า “สมาธิ” คือ “เอกัคคตาจิต” หรือ “One Pointedness” ผู้ที่ไม่เข้าถึงอรรถแห่งคำว่า “สัมมาสมาธิ” ก็พลอยเข้าใจตามศัพท์ภาษาอังกฤษที่เขาใช้ จึงทำให้หลงประเด็นกันไปใหญ่ Right Concentration ไม่ใช่สัมมาสมาธิตามที่พระพุทธศาสนามุ่งหมาย การใช้คำว่า “Right Meditation” ยังจะมีอรรถใกล้เคียงกว่าเสียอีก เพราะคำว่า “สมาธิ” ในพระพุทธศาสนานั้น เป็นองค์ธรรมหนึ่งในองค์แห่งพละ ๕ ที่มีหน้าที่กรองสิ่งที่ขุ่นมัวทั้งหมดให้ใสสะอาด มีหน้าที่ทำให้ใสสะอาด เป็นองค์ธรรมที่สนับสนุนสติ ที่ทำหน้าที่เฝ้าดู จากนั้นความเห็นแจ้งในความเป็นจริงของสรรพสิ่งก็เกิด เรียกว่าปัญญา

สมาธิจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะคิดเอาได้ตามตรรกะ อธิบายด้วยเหตุผล เพราะเหตุผลนั้นอยู่ในระดับของความคิด โดยเฉพาะการแปลคำนี้เป็นภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่ความหมายของสมาธิ อีกประการหนึ่งผู้ใช้คำนี้ไม่ทราบเคยรับรู้ถึงสภาวะแห่งสมาธิมาก่อนหรือไม่ อาจเข้าใจเอาเองว่า สมาธินั้นคือการที่จิตอยู่ในเอกัคคตารมณ์ นั่นเป็นการตรองเอาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เข้าใจว่า การที่จิตดิ่งนิ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั่นแหละคือสมาธิ ถือว่าเป็นกับดักใหญ่ หลุมพรางใหญ่ในการปฏิบัติเท่านั้น แท้จริง การที่จิตตรึงอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไม่เคลื่อนไหวนั้น เป็นเพียงกระบวนการใช้จิตสะกดจิต (Mental Hypnotize of Consciousness) เท่านั้น


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วว่า
“มาเถิดภิกษุ ท่านจงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง การแลดู การเหลียวดู การคู้ การเหยียด การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง
พราหมณ์! ในการใดภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าละเมาะ โคนต้นไม้ ภูเขา ซอกห้วย ท้องถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลเป็นปัจฉาภัตต์ กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
ละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา คอยชำระจิตจากอภิชฌา
ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณา มีจิตหวังความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิตจากพยาบาท
ละถีนมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีสติสัมปชัญญะ คอยชำระจิตจากถีนมิทธะ
ละอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน คอยชำระจิตจากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกว่า “นี่อะไร นี่อย่างไร” ในกุศลธรรมทั้งหลาย คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา

ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำปัญญาให้ถอยจากกำลังเหล่านี้ จึงบรรลุฌานที่หนึ่ง มีวิตก วิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่
เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุฌานที่สอง เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่
เพราะความจางหายไปแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ มีการอยู่เป็นสุข แล้วแลอยู่
และเพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงได้บรรลุฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์ ไม่สุข มีแต่ความที่มีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่

พราหมณ์เอ๋ย !
ภิกษุเหล่าใดที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ยังปรารถนานิพพานอันเป็นที่เกษมจากโยคะ ไม่มีอื่นยิ่งไปกว่าอยู่ คำสอนที่กล่าวมานี้แหละเป็นคำสอนสำหรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น
ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันบรรลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ด้วย”

การกระทำที่เป็นหนึ่งเดียวจึงเป็นการกระทำที่มีสติสัมปชัญญะกำกับดูแลอยู่อย่างสมบูรณ์ ความคิดเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็เกิดทวิภาวะทันที เมื่อใดที่มีสติ เมื่อนั้นก็เข้าถึงเอกภาวะ อิริยาบถที่มีสติเต็มเปี่ยม ชื่อว่า เป็นเอกภาวะแห่งอิริยาบถ ความเป็นเอกภาวะนี้เท่านั้นจึงเป็นการปฏิบัติธรรมโดยแท้ ความเพียรเพื่อให้ดำรงอยู่ในเอกภาวะ ในความว่าง ด้วยสติเสมอ จึงนับได้ว่าเป็นอิสระอย่างแท้จริง ขอความเต็มเปี่ยมแห่งสติ ความเป็นเอกภาวะที่สมบูรณ์จงบังเกิดมีแก่ผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรม เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบเถิด

นี่คือ โศลกที่สามสิบสองแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

1 ความคิดเห็น:

puzinnian กล่าวว่า...

สุดยอดแห่งธรรม คือต้องทำ