วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จิตนี้ก็เท่านั้น













โศลกที่ยี่สิบเจ็ด "จิตนี้ก็เท่านั้น"

เหตุปัจจัยส่งทอดกัน
ความสุขสงบได้เจือในจิต
จิตที่เจือด้วยสุขย่อมเอิบอิ่ม
ย่อมแช่มชื่นและผ่องแผ้ว
จิตอาศัยสิ่งใดเกิดภาวะนั้น
ภาวะนั้นก็เกิดขึ้น แปรเปลี่ยน ดับลง
สิกขติเข้าไปในจิตนั้น
ย่อมเห็นความไม่เที่ยงและเสื่อมไป
จึงคลายออกและปล่อยวาง
จิตนี้ก็เท่านั้น



จิตนี้เป็นกระบวนทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของขันธ์ที่มีคุณสมบัติเป็นของจิตเอง ด้วยเหตุนี้จิตจึงมีกฎของจิตที่มีความแน่นอน ไม่บิดพลิ้ว ไม่แปรเปลี่ยนไปตามตรรกะ ตามดินฟ้าอากาศ ตามความคิดของโลก จิตจะทำหน้าที่ของมันเองอย่างตรงไปตรงมา หากมีเหตุปัจจัยเป็นเช่นไร จิตก็รับเหตุปัจจัยนั้นมาทำหน้าที่ของตน ดุจดังบดเมล็ดพืชพันธุ์ ถ้านำพืชพันธุ์ใดใส่ไปในเครื่องบด จิตก็จะบดพืชพันธุ์ออกมาอย่างแน่นอน เที่ยงตรง ผู้ใดที่เข้าใจกระบวนการบดของจิตนี้ย่อมใช้ประโยชน์จากการบดนี้ให้ถูกต้อง หากใส่เมล็ดพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย จิตก็จะบดสิ่งนั้นออกมากลายเป็นพิษ เป็นโทษ เป็นภัยต่อขันธ์นี้ต่อไป สืบไปกลายเป็นสังสารวัฏหมุนวนไม่มีจบสิ้น แต่ถ้าหากใส่เมล็ดพันธุ์ที่เป็นคุณประโยชน์ จิตก็จะบดสิ่งนั้นให้ออกมามีคุณค่าต่อไปอีกเช่นกัน

อะไรคือเมล็ดพันธุ์พืช ก็คือ กรรมนั่นเองที่เป็นเมล็ดพันธุ์พืช บางครั้งจึงเรียกกรรมนี้ว่า “พีชะ”
อะไรคือการบด ก็คือ การทำงานของจิตโดยเฉพาะการทำงานในขณะของชวนจิต

โดยมากแล้วเมล็ดพันธุ์ คือ กรรมพีชะที่ใส่ลงไปในเครื่องบดจะมี ๒ ชนิดเสมอ คือ กุศลพีชะ กับอกุศลพีชะ อันเกิดมาจากการเลือกข้างของความคิด อันเกิดจากการแกว่งไปขั้วใดขั้วหนึ่งของความคิด การแกว่งไปของความคิดนี่เองที่เป็นตัวทำให้ชีวิตหวือหวา เร้าใจ พึงพอใจ หรือเศร้าใจ หดหู่ เศร้าหมอง แต่หารู้ไม่ว่า นั่นแหละคือเชื้อของเมล็ดพันธุ์ที่ใส่เข้าไปอย่างดี เมล็ดพันธุ์ที่เจริญงอกงาม เมล็ดพันธุ์ที่สดอย่างยิ่ง

จิตก็ทำหน้าที่บดได้อย่างชัดเจน ในขณะที่บดไปจิตก็แสดงอาการหม่นหมองและผ่องแผ้วไปด้วย ถ้าเป็นอกุศลพีชะตัวบดก็หม่นหมอง ขุ่นมัว เพราะต้องเก็บพลังชนิดนี้ไว้ ถ้าเป็นกุศลพีชะก็สดใส เพราะเก็บพลังชนิดนี้ไว้ นี่คือจิตที่ทำหน้าที่บดตามธรรมดาของคนที่ใช้ชีวิตปกติสามัญ

แต่ถ้าเป็นการบดด้วยกระบวนการพิเศษอันเกิดจากการเข้าไปรู้ระบบการบดของจิต โดยการใส่เมล็ดพันธุ์พิเศษเข้าไป เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่เป็นกุศลและอกุศล เป็นอัพยากตพีชะ จิตไม่คุ้นกับการบดกรรมเช่นนี้ กรรมนี้เป็นกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นกรรมที่พระพุทธศาสนาได้แสดงเอาไว้ให้ชาวพุทธดำเนินตามกรรมชนิดนี้ เพื่อให้จิตได้บดกรรมชนิดนี้โดยเฉพาะ กรรมชนิดนี้เกิดขึ้นได้เมื่อมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ในการกระทำทุกขณะ การกระทำที่มีสติสัมปชัญญะคอยกำกับตลอดนั่นแหละเป็นกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นอัพยากตพีชะ

เมื่อจิตบดกรรมพีชะชนิดนี้ เกิดอะไรขึ้น ตัวจิตย่อมผ่องแผ้ว ดุจดังการชะล้างเครื่องบดไม่ให้มีทั้งของดีหรือของเสียกักเก็บไว้ เป็นการล้างห้องเครื่อง เป็นการ Format ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลดี หรือ Virus ใน Mainframe ของ CPU ทั้งหมด CPU ก็จะไร้ข้อมูลประมวลผลใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะนี้แหละที่เป็นความผ่องแผ้วของ CPU หละ ซึ่งต้องเกิดจากการล้างเครื่อง จิตก็เช่นกันเป็นการล้างจิต ด้วยการมีสติสัมปชัญญะ มีตบะความเพียรเผากิเลส ในขณะนี้จิตจะผ่องแผ้ว เป็นจิตที่เหมาะแก่การใช้งาน

โศลกว่า “จิตที่เจือด้วยสุขย่อมเอิบอิ่ม” ตามปกตินั้น จิตย่อมประกอบได้ด้วยกุศลมูล และอกุศลมูลเป็นพื้นฐานจิตเสมอ เพราะเหตุนี้จึงทำให้จิตเคลื่อนไหวไป กวัดแกว่งไปสู่ข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลา จนไม่มีขณะที่จิตจะหยุดแกว่ง แต่เมื่อใดก็ตามที่จิตได้รับการอบรม ล้างห้องเครื่องด้วยการไม่ให้กวัดแกว่ง ด้วยการใส่อัพยากตพีชะเข้าไป ใส่เมล็ดแห่งสติลงไปในเครื่องบด จิตจะเอิบอิ่ม ผ่องแผ้ว สะอาด ปราโมทย์ แต่เบื้องหลังของจิตนั้นถูกซ่อนไว้ด้วยโปรแกรมชนิดหนึ่งที่ขับเคลื่อนจิตให้เป็นไป เรียกว่า อวิชชานุสัย ดุจดัง CPU ที่ถูกวางวงจรให้รับข้อมูลไว้ วงจรนี้เองที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้รับข้อมูลต่างๆ อย่างไม่สนใจว่าเป็นอะไร รับหมด เพราะความไม่รู้นั่นเอง เพราะมันไม่สามารถเลือกได้ เพราะมันไม่รู้ว่าควรจะรับไม่รับอะไร เป็นหน้าที่ที่ต้องรับหมด นี่แหละคืออวิชชาหละ

โศลกว่า “จิตอาศัยสิ่งใดเกิดภาวะนั้น ภาวะนั้นก็เกิดขึ้น แปรเปลี่ยน ดับลง” แม้ว่าจิตจะเอิบอิ่ม ปราโมทย์ ก็ต้องรับทราบว่า อยู่ดีๆ จิตจะเกิดภาวะเช่นนี้ไม่ได้ จะต้องมีเหตุปัจจัยแห่งการเกิดอาการเช่นนี้กับจิต เหตุก็คือกายนี้เป็นที่ตั้ง ปัจจัยคือสุขเวทนาที่เกิดขึ้น จึงทำให้จิตปราโมทย์ แช่มชื่น เอิบอิ่ม ผ่องใส ก็เมื่อเหตุและปัจจัยเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนและดับลง ความปราโมทย์นี้จะเที่ยงแท้ ไม่เปลี่ยนแปลง ดับไปได้อย่างไร

โศลกว่า “สิกขติเข้าไปในจิตนั้น” อันตรายจึงเกิดขึ้นมากในภาวะที่จิตอยู่ในความปราโมทย์ แช่มชื้น เอิบอิ่ม เป็นสุขเช่นนี้ เพราะภาวะเช่นนี้เป็นภาวะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในชีวิตประจำวัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับจิตเองอันเกิดจากกระบวนการอบรมภาวนา จิตที่อยู่ในภาวะอบรมนี้จะมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก เป็นประสบการณ์ทางจิตที่ยากยิ่งจะไม่หลงใหล ยากยิ่งที่จะปฏิเสธ ยากยิ่งจะไม่หลงเข้าไปยึดเอาความสุขนั้นไว้เป็นอารมณ์ ขาดผู้เฝ้าดู จิตกลายเป็นเพียงผู้รับรู้อารมณ์นั้นอย่างเดียว ระยะระหว่างผู้เฝ้าดูกับจิตที่รับอารมณ์หายไป จึงทำให้อวิชชายังคงอยู่ภายในนั้น แม้จิตจะเต็มเปี่ยมด้วยคุณสมบัติที่ผ่องแผ้ว มีสุข ปราโมทย์ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการเดินทางต่อไป ดุจดัง การ Format CPU แล้วไม่ได้ทำอะไรต่อไป ย่อมเสียประโยชน์ ไม่นานเครื่องก็เสียไป แต่จิตนั้นพอพ้นจากภาวะผ่องแผ้วนั้น อวิชชาก็ทำหน้าที่ดึงโคจรกุศลและอกุศลเข้ามาเหมือนเดิม


ดังนั้น ต้องเข้าไปกำหนดหยั่งเห็นแจ้งด้วยสติเช่นนี้ จึงเห็นความไม่เที่ยงนั้น เห็นความแปรเปลี่ยนนั้น เห็นคุณสมบัติที่เสื่อมไปของจิตที่ปราโมทย์นั้น เมื่อเห็นเช่นนี้จึงคลายความยึดมั่นได้ จึงถอนความยึดมั่นนั้นได้ จึงสละความยึดมั่นนั้นได้ ทุกอย่างก็เคลื่อนไปเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นจิตและเจตสิกพื้นฐานก็ทำหน้าที่เหมือนเดิม แต่คุณสมบัติไม่เหมือนเดิมแล้ว อันเนื่องจากจิตนั้นถูกถอนความยึดมั่นถือมั่นออกแล้วด้วยอำนาจแห่งสติที่เข้าไปเห็นชัด เกิดเป็นญาณขึ้นแล้ว เมื่อญาณเกิด วิชชาเกิด อวิชชาก็ดับไป

ผัสสเจตสิก สภาพที่กระทบอารมณ์
เวทนาเจตสิก สภาพที่เสวยอารมณ์
สัญญาเจตสิก สภาพที่จดจำหรือคุ้นเคยอารมณ์
เจตนาเจตสิก สภาพที่ตั้งใจ จงใจ บงการสัมปยุตธรรมให้ทำกิจของตนๆ
เอกัคคตาเจตสิก สภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์
ชีวิตินทริยเจตสิก สภาพที่รักษาสัมปยุตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้
มนสิการเจตสิก สภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์


ทุกเจตสิกนี้ทำหน้าที่ภายใต้ญาณ คือ ความรู้แจ้ง ไม่เป็นกรรมที่ส่งผลให้เป็นวิบากอีกต่อไป เป็นเพียงอาการกิริยาทำไป ส่งผลเป็นเพียงปฏิกิริยาเท่านั้น นี่จึงเป็นยถาภูตจิตญาณทัสสนะ การเห็นแจ้งจิตที่เป็นเช่นนั้นเอง

นี่คือ โศลกที่ยี่สิบเจ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

1 ความคิดเห็น:

ผมเอง กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ อยากคุยด้วยครับ ไอดีไลผม sumrongg นะครับ