โศลกที่ยี่สิบแปด "ธรรมนี้มหัศจรรย์!"
มหัศจรรย์แห่งธรรม
ธรรมสภาวะที่ลึกซึ้ง
ลึกลงไปในภายในสี่ระดับ
หนึ่ง สภาวะที่เปลี่ยนแปรเกิดดับ
สอง สภาวะที่ถอนการยึดมั่น
สาม สภาวะที่สิ้นสุดการถอนนั้น
สี่ สภาวะปล่อยวาง ว่างเปล่า
สิกขติเข้าไปในสภาวธรรมนั้น
ย่อมเห็นสภาวธรรมในกาย
ย่อมเห็นสภาวธรรมในเวทนา
ย่อมเห็นสภาวธรรมในจิต
ธรรมนี้เป็นเช่นนั้น
มหัศจรรย์แห่งธรรมนี้
หลักการในพระพุทธศาสนานั้นคือการเข้าไปพิจารณาภายในโลกคือ ขันธ์นี้ ผู้ใดเข้าใจขันธ์นี้อย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจน ปฏิบัติต่อขันธ์นี้อย่างถูกต้องและเข้าใจโลกได้อย่างแจ่มแจ้งถูกต้อง ก็ถือได้ว่า ตั้งอยู่ในเส้นทางที่ปลอดภัยแล้ว ขันธ์ที่มองโดยความเป็นขันธ์ ๕ ก็ได้ มองเป็นเพียงนามและรูปก็ได้ มองในแง่ของอายตนะ ๖ ก็ได้ มองในแง่ของธาตุ ๖ ก็ได้ ล้วนแล้วแต่นำไปสู่การเจาะลึกลงไปในภายในทั้งสิ้น การที่มองออกภายนอกนั้นไม่ทำให้ถึงที่สุดแห่งโลกได้ แต่ถ้ามองเข้าไปภายในนี้ย่อมถึงที่สุดได้
เป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่งที่มักไม่มองเข้ามาภายใน เพราะการมองเข้ามาภายในเป็นการมองแบบฝืนโลก ทวนกระแสโลก สายตาของมนุษย์จึงใช้สำหรับมองออกไปภายนอกนั่นเป็นสิ่งที่โลกให้มา เป็นกายภาพปกติที่โลกให้ไว้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือตาข่ายโลกที่ดักสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในบ่วงนี้ เพราะไม่ว่าจะใช้ตาเนื้อ หรือตาในได้แก่ความคิดมอง ก็ล้วนแต่มองออกไปภายนอกทั้งสิ้น สิ่งที่ท่านเห็นภายนอกด้วยตาเนื้อเป็นอย่างไร หากท่านหลับตาลงท่านก็จะเห็นความคิดนั้นแล่นออกไปสู่โลกภายนอกอย่างนั้นเหมือนกัน นี่เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของสรรพสัตว์
ด้วยเหตุนี้ เราจะเห็นว่า คนทั้งหลายวิพากย์ วิจารณ์ วิเคราะห์ ให้ความเห็น ตำหนิ ออกไปจากตัวต่อสิ่งภายนอกทั้งนั้น อธิบายตามทฤษฎีลูกตุ้ม ก็เพราะมีแต่ทำอย่างนี้จึงผลักดันโลกไปได้ตามกระแสโลกที่ไหลไป เนื่องจากทุกคนใช้แนวทางเดียวกันมองผู้อื่น มองออกไปภายนอกเหมือนกันทั้งนั้น
ลูกตุ้มจึงแกว่งไปมากลายเป็นเวลาที่ไหลไปได้ เดินไปได้ วัฏฏะนี้หมุนไปได้ กลายเป็นกิเลส กรรม วิบาก ไม่มีที่สิ้นสุด อธิบายตามทฤษฎีไดนาโม ไดนาโมที่ถูกปั่นเพราะเหตุมองออกไปภายนอกอย่างนี้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าหมุนวนไม่มีที่สุด ยิ่งปั่นก็ยิ่งแรง ยิ่งแรงก็ยิ่งกลับมาปั่นตัวมันมากขึ้น นี่แหละเป็นธรรมชาติของการไหลไปตามกระแสโลกของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
สรรพสัตว์ทั้งหลายปฏิบัติต่อทฤษฎีลูกตุ้มและทฤษฎีไดนาโมเป็น ๒ ด้านเสมอ คนที่ปฏิบัติตามทฤษฎีลูกตุ้มนาฬิกา ด้านหนึ่งคือ เมื่อลูกตุ้มแกว่งไปทางขั้วบวก ก็ยินดีที่ได้ทำดี อีกด้านหนึ่งคือ เมื่อลูกตุ้มแกว่งไปอีกหนึ่งซึ่งเป็นด้านลบก็พึงพอใจที่ได้เอาคืน สรุปแล้วก็คือมีการโต้ตอบเสมอ เป็นการผลักดันลูกตุ้มให้แกว่งไปอยู่นั่นเอง ไม่ว่าลูกตุ้มแกว่งไปด้านใดด้านหนึ่งก็เกิดความพึงพอใจ ความพึงพอใจที่ได้กระทำต่อขั้วบวกและพึงพอใจต่อการกระทบต่อขั้วลบ แต่ล้วนแล้วก็กระทำอยู่ดี
การแกว่งไปข้างโน้นข้างนี้ทำให้เวลาหมุนไป การหมุนไปได้ของเวลานั้นเป็นกระแสโน้มถ่วง กระแสนี้ตรงกับมี ๓ ภาวะอยู่ในนั้น ได้แก่ กระแสพึงพอใจ กระแสด้านบวก กระแสด้านลบ ความพึงพอใจนั้นเป็นกามตัณหา กระแสด้านบวกก็คือภวตัณหา กระแสด้านลบก็คือวิภวตัณหา แต่ล้วนแล้วก็เป็นตัณหาที่ผลักดันนาฬิกาคือชีวิตนี้หมุนไปในวัฏฏะอยู่ดีนั่นเอง
ในส่วนของทฤษฎีไดนาโมก็เช่นเดียวกัน ความยินดีที่จะให้มีไฟนั้นก็คือ กามตัณหา ขั้วบวกนั้นคือภวตัณหา ขั้วลบนั้นคือวิภวตัณหา ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดไฟฟ้าปั่นไดนาโมนั้นให้หมุนไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ความยินดีนั้นเกิดมาจากการมองออกไปภายนอก นั่นคือการจุดหัวเทียนระเบิด เปิดสวิทซ์ไฟฟ้า พบเจอสิ่งที่งามก็พอใจ อยากได้ อยากครอบครอง เป็นขั้วบวก พบเจอสิ่งไม่พอใจ สิ่งที่ไม่งดงาม ก็อยากหนี อยากขจัด นี้เป็นขั้วลบ ความอยากนี่แหละเป็นพลังไฟฟ้าผลักดันให้สองกระแสหล่อเลี้ยงไดนาโม คือ ขันธ์นี้ให้ดำรงอยู่ได้สืบภพสืบชาตินับกาลไม่ถ้วน
โศลกว่า “ธรรมสภาวะที่ลึกซึ้ง ลึกลงไปในภายในสี่ระดับ” การที่จะหยุดยั้งพลังลูกตุ้มก็คือการปฏิบัติต่อขันธ์นี้ให้ถูกต้อง ประการแรกสุดก็คือ แทนที่จะมองออกภายนอก ก็ให้หันกลับเข้ามามองภายใน มองเข้ามาภายในขันธ์เอง ตาเนื้อนี้มองเข้ามาภายในไม่ได้แล้ว เพราะมีขอบเขตจำกัด แต่ตาคือความคิดมองได้ เพียงแค่เริ่มมองภายในก็เท่ากับเป็นการฝืนโลก ไม่เป็นไปตามกระแสโลก ไม่จุดระเบิดหัวเทียนให้ไฟติด ตาความคิดนั้นก็มีข้อจำกัด เพราะความคิดเกิดจากการทำงานของจิต ด้วยเหตุนี้ให้ปรับจากความคิดมาสู่ตาปัญญา ได้แก่ สติเฝ้าดู
สติที่เฝ้าดูขันธ์นี้ ให้เฝ้ามองดูภายใต้กรอบแห่งการมองขันธ์นี้ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมใดก็ตามก็ให้มองผ่านสภาวธรรมทั้ง ๔ มิตินี้ จะทำให้เข้าใจ รู้แจ้ง ประจักษ์ชัด กรอบแห่งสภาวธรรมทั้ง ๔ ก็คือ อนิจจา วิราคา นิโรธา และปฏินิสสัคคา
มองความเป็นอนิจจาด้วยญาณทัสสนะ ซึ่งเป็นขั้นแรกที่จะมองเห็นสภาวะนี้ ก็จะได้ความจริงที่ว่า ขันธ์นี้ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเดิม ความตั้งอยู่อย่างเดิมไม่ได้แห่งขันธ์นี้นั่นแหละคือความโทษของขันธ์ เป็นทุกข์ของขันธ์ เป็นความบีบคั้นของขันธ์เอง ตัวของขันธ์เองมีปฏิกิริยาเคมีทางสภาวธรรมของมันเอง ที่มันต้องตกอยู่ภายใต้ความเป็นเช่นนี้ก็เพราะขันธ์นี้ไม่ได้เป็นตัวของมันเองเกิดขึ้น ดำรงอยู่ ดำเนินไป
แต่เป็นเพราะขันธ์นี้ก็อาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดำเนินไปเช่นกัน ก็ขันธ์นี้เป็นไม่มีสวภาวะในตัวของมันเอง ขันธ์เป็นอนัตตา สภาวธรรมที่ขันธ์อาศัยเกิดขึ้นนั้นก็เป็นอนัตตา คือมีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์บีบคั้นให้เปลี่ยนแปร และดับสลายไป หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เช่นนี้นับกาลไม่ถ้วน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ว่า “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?”
พิจารณาในวิราคาด้วยญาณทัสสนะ ก็เมื่อเห็นความจริงแท้ด้วยญาณทัสสนะเช่นนั้นแล้ว ก็จะเอาอะไรกับสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยนไป และสลายลง หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ การที่ยังเข้าไปยึดในสิ่งที่มีสภาพอย่างนี้ก็แสดงว่า ยังไม่เห็นแจ้งแน่นอน ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
“รูปอย่างใด อย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป เธอทั้งหลาย พึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป...เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด”
พิจารณาในนิโรธาด้วยญาณทัสสนะ การที่เข้าพิจารณาความแจ่มแจ้งในขันธ์ เบื่อหน่ายในขันธ์ เห็นโทษคือความเสื่อมแห่งขันธ์ ถอนความยึดมั่นในขันธ์ชื่อว่า เห็นแจ้งความถอนความยึดมั่นในขันธ์นั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอีกว่า “เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว…”
พิจารณาในปฏินิสสัคคาด้วยญาณทัสสนะ การพิจารณาด้วยญาณทัสสนะเห็นความดับไป ความที่จิตพ้นแล้วจากความยึดมั่นในขันธ์แล้ว จึงชื่อว่า เข้าถึงนิโรธ คือพระนิพพาน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”
พึงเข้าใจตามอุปมาเปรียบเทียบนี้ บุคคลผู้หนึ่งประกอบหุ่นขึ้นด้วยน๊อตที่ยึดติดให้หุ่นเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว กระทำอะไรๆ ได้ แต่ต่อมาเขาเห็นความว่าหุ่นนี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกยึดด้วยน๊อต และอุปกรณ์แต่ละชิ้นนั้นมีแต่เสื่อมโทรม เสียไป ชำรุดไปทุกวัน การหลงใหลในหุ่นยนต์นี้ไม่ใช่เรื่องที่ผู้มีปัญญาจะพึงทำ และการที่จะไปเข้าใจไม่ให้หุ่นนี้เก่าแก่ คร่ำคร่าไปตามที่ตนปรารถนานั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้
ด้วยเหตุนี้เขาจึงคลายน๊อตนั้นออกทีละนิดๆ จนกระทั่งน๊อตนั้นหลุดออก อุปกรณ์ต่างๆ ก็หลุดร่วง หุ่นยนต์ก็สลายไปเหลือแต่เศษเหล็กเท่านั้น ก็ปล่อยเศษเหล็กให้อยู่ไปเช่นนั้นจนกว่ามันจะเสื่อมสลายไปเองตามกาลเวลา การที่ผู้ใดเห็นความไม่เที่ยงของขันธ์ เห็นโทษคือความเสื่อมของขันธ์ คลายความยึดมั่นถือมั่น สลัดหลุดแล้วก็ปล่อยขันธ์นั้นให้ดำเนินไปจนกว่าจะหมดอายุของขันธ์นั้นไปเท่านั้นเอง นี้คือความมหัศจรรย์แห่งธรรมนี้
นี่คือ โศลกที่ยี่สิบแปดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น