วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วาจาหยั่งตื้นลึก



โศลกที่สิบสาม "วาจาหยั่งตื้นลึก"

“ปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องยาก”
ดูเหมือนผู้กล่าวจะลึกซึ้งในธรรม
ผู้กล่าวธรรมต่างกับผู้ปฏิบัติธรรม
คนติดตามพระวิปัสสนาจารย์
ย่อมได้ฟังคำบรรยายในที่ทุกหนแห่ง
การฟังรู้กับการปฏิบัติรู้
รู้ในวิถีสุตตะกับรู้ในวิถีวิปัสสนา
มีลักษณะต่างกันเป็นมุมทแยง

ทักษะอะไรทุกอย่างที่เกิดจากการกระทำที่ช่ำชองย่อมกลายเป็นความสามารถที่น่าตะลึง น่าอัศจรรย์ แม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น การขี่จักรยาน การเล่นกีตาร์ การเล่นยิมนาสติก จะเห็นได้ว่า การฝึกฝนกว่าจะเป็นแต่ละอย่างนั้นต้องผ่านขั้นตอนที่ใช้เวลา และค่าตอบแทนทางร่างกายก่อน การฝึกขี่จักรยาน ใครบ้างฝึกได้โดยไม่เคยล้มเลย ใครบ้างฝึกเล่นกีตาร์โดยไม่เคยแกะหนังนิ้วมือออก ใครบ้างฝึกกายกรรมยิมนาสติกโดยไม่หกล้มบาดเจ็บเลย เพราะกว่าจะเป็นผู้มีทักษะเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ต้องผ่านการทรงตัวให้ได้ ผ่านการยกนิ้วจับคอร์ดไวให้ทัน ผ่านการดีด (spring) ตัวให้ได้ ทักษะเหล่านี้ผู้ฝึกฝนถึงทราบว่ามันยากเพียงไหน ยากอย่างไร ใช้เวลานานเพียงไร

การฝึกฝนทางจิตที่เรียกว่า การปฏิบัติธรรมมีความยากกว่านั้นอีก การฝึกกายเป็นเรื่องทำได้ง่ายกว่าถ้าหากทำถูกวิธี และกระทำติดต่อกัน เห็นผลตามกำหนดเวลาที่เรียน อาจเป็นหนึ่งสัปดาห์บ้าง หนึ่งเดือนบ้าง หรือหนึ่งปีบ้าง แต่การฝึกฝนทางจิตนั้นไม่อาจกำหนดอย่างนั้นได้ เพราะจิตนั้นไม่เคยเชื่อฟังตามที่เคยได้ฝึกมา วันนี้อาจฝึกได้ประมาณเท่านี้ ดูเหมือนมีความก้าวหน้า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะฝึกต่อได้จากวันนี้ไปอีก ก็ต้องมาเริ่มใหม่ ฝึกใหม่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นก็เพราะจิตเป็นธรรมชาติคิด รับและรู้อารมณ์ เมื่อเกิดมีผัสสะกับอะไร อย่างไรในวันหนึ่งจิตก็จะแสดงอาการอย่างหนึ่งอย่างใดออกไป อาจเป็นทั้งคุณและเป็นทั้งอุปสรรคต่อการฝึกได้ การฝึกจิตจึงเป็นงานที่ยากและละเอียดอ่อนมาก


ที่สำคัญมากไปกว่านั้น การประเมินผลการฝึกจิตไม่ใช่อยู่ที่ต้องการฝึกให้จิตช่ำชองและเชี่ยวชาญในสมาธิตามที่เราเข้าใจ สมาธิตามที่คนทั้งหลายเข้าใจก็คือ ทำให้จิตมีพลัง ทำให้จิตมีอำนาจ ทำให้จิตสงบ ทำให้เกิดความสุข ทำให้ลืมเรื่องราวในชีวิต ทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ นั่นไม่ใช่การฝึกจิตตามแนวพระพุทธศาสนา การฝึกจิตตามแนวพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่ว่า กิเลสลดลงหรือไม่ กิเลสเบาบางไปหรือไม่ กิเลสสะเทือนบ้างหรือไม่ ถ้าจะให้เห็นเป็นกระบวนการปฏิบัติก็คือ สติรู้เท่าทันบ่อเชื่อมต่ออารมณ์ภายนอก บ่อเชื่อมต่ออารมณ์ภายใน ณ จุดกระทบที่เรียกว่า ผัสสะ ได้ทันทีหรือไม่


จุดกระทบนี้เป็นจุดฐานที่ตั้งแห่งวิญญาณ สติได้เข้าไปรู้เท่าทันหรือไม่ ถ้ารู้เท่าทัน ผัสสะก็เป็นสักว่าผัสสะ ฐานที่ตั้งแห่งวิญญาณ ก็เป็นเพียงสักว่าฐานที่ตั้งแห่งวิญญาณ ไม่มีผลสืบต่อไปที่ไหนอีก กล่าวคือ ไม่ส่งผลไปสู่อารมณ์ความรู้สึกอะไรอีก เมื่อสติรู้เท่าทันจุดกระทบเช่นนี้ กิเลสก็ลด กิเลสก็ระงับ กิเลสก็เบาบางลง และสิ้นลงในที่สุดอันเป็นผลมาจากการไม่มีฐานให้กิเลสได้ตั้งอยู่สืบต่อไปนั่นเอง ถ้าสติรู้เท่าทันได้มาก ได้เร็ว ได้นาน ได้ตลอด ก็ย่อมทำให้กิเลสสงบระงับไปคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้เท่านั้น นี่คือผลแห่งการฝึกจิตตามแนวพุทธ

โศลกว่า “ผู้กล่าวธรรมต่างกับผู้ปฏิบัติธรรม” ประเทศไทยของเราจึงมีแต่ผู้ใช้ความรู้สึกวัดผู้อื่น เห็นคนอื่นมีทักษะอะไร ก็กล่าวไปโดยง่ายว่า ตนก็สามารถทำได้อย่างนั้น เห็นใครขี่จักรยานปล่อยมือได้ ก็เข้าใจว่าตนสามารถทำได้อย่างนั้น เห็นคนอื่นเขาเล่นกีตาร์ได้ ก็เข้าใจเอาเองว่าตนเองก็สามารถทำได้อย่างนั้น เห็นคนอื่นพูดภาษาอังกฤษได้ ก็เข้าใจว่าตนเองก็สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ จึงทำให้คนไทยเรามีคนประเภทนี้เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งในวงการปฏิบัติธรรม ก็เห็นผู้อื่นปฏิบัติธรรม ก็เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมไม่เห็นยากอะไร ตนก็ทำได้ แค่นั่งสมาธิ บ้างกล่าวว่าไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิด้วยซ้ำ แค่มองเห็นก็เข้าใจว่า ปฏิบัติธรรมแล้ว แน่นอน ถ้าเป็นวาจาที่กล่าวถึงการปฏิบัติธรรมแล้วไม่ยากจริงๆ ด้วยเหตุนี้ คนโดยส่วนมากปฏิบัติธรรมเฉพาะทางวาจา นั่งบรรยาย ยืนบรรยาย กล่าววาจาให้คนสงบ กล่าววาจาให้คนหมดกิเลส กล่าวให้คนระงับความโกรธ กล่าวให้คนมีเมตตา กล่าวให้คนมีความรัก กล่าวให้คนได้ฌาน กล่าวให้คนมีสมาธิ กล่าวให้คนฟังตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงบรรลุธรรม พูดให้เป็นถึงระดับพระอริยบุคคล แต่ทั้งผู้กล่าวและผู้ฟังก็หาได้เคยลิ้มรสแห่งการปฏิบัติตามที่กล่าวนั้นเลย
ดุจดังการอธิบายประเทศสหรัฐอเมริกาให้นักศึกษาในชั้นเรียนในประเทศไทยฟัง โดยที่ทั้งครูและนักศึกษาในห้องก็ไม่เคยได้ไปประเทศสหรัฐเลย พอฟังแล้วก็เข้าใจเอาว่าตนเคยได้ถึงอเมริกาแล้ว เข้าใจอเมริกาแล้ว เคยได้สัมผัสบรรยากาศที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว ฉะนั้น


ผู้กล่าวธรรมย่อมพูดได้ ตรองเอาได้ สำคัญเอาได้ ยึดถือเอาได้ด้วยเพียงวาจา แม้กระทั่งกิเลสมาก น้อย ลด เพิ่ม สงบ ระงับ ก็พูดเอาด้วยวาจา วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อุเบกขา ก็พูดเอาด้วยวาจา นี่จึงแตกต่างกันระหว่างผู้ปฏิบัติธรรมกับผู้เพียงกล่าวธรรม จึงนับเป็นอันตรายที่ต้องเตือน ไม่ใช่เฉพาะกาลปัจจุบันเท่านั้น ในครั้งพุทธกาล พระอานนท์แม้กระทั่งท่านได้บรรลุพระโสดาบันแล้ว ได้ลิ้มรสแห่งธรรมบ้างแล้ว หยั่งรู้และเห็นกระแสแห่งนิพพานบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้อยู่ในแดนแห่งธรรมอย่างสมบูรณ์ ท่านก็เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม (ปฏิจจสมุปบาท) นั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไร เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องตื้นๆ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็คงทำได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสเตือนพระอานนท์ว่า




“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม”

เป็นพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงแสดง สื่อให้ทราบว่า คำว่า เห็น มิได้เห็นด้วยรูปคือตา เห็นด้วยสัญญาคือความจำ เห็นด้วยสังขารคือปรุงแต่ง เห็นด้วยวิญญาณคือคิดเอา แต่เป็นเห็นด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ นั่นคือ ปัญญาญาณ อันเกิดจากการปฏิบัติ เพราะการเห็นเช่นนี้เท่านั้นจึงทำให้กิเลสลดลง กิเลสระงับลง กิเลสหมดสิ้นไปได้จริง
นอกจากนั้น ปัจจุบัน ไม่เพียงแต่นิยมบรรลุธรรมกันทางโวหาร ทางวาจา และการตรองเอาแล้ว ยังชอบบรรลุธรรมกันทางภาษาศาสตร์ โสดาบันคืออะไร สกิทาคามีคืออะไร อนาคามีคืออะไร อรหันต์คืออะไร นิพพานคืออะไร ก็ถกกันให้เห็นถึงรากศัพท์ แยกศัพท์ ตัดต่อศัพท์ สร้างประโยค เห็นถึงรูปประโยค เห็นถึงแก่นภาษา ยกพุทธพจน์มาอ้างกันอย่างเอาจริงเอาจัง บอกได้ด้วยว่า ถ้าจะบรรลุโสดาบันต้องขจัดกิเลสตัวใดได้บ้าง สักกายทิฏฐิเป็นอย่างไร วิจิกิจฉาเป็นอย่างไร สีลพัตตปรามาสเป็นอย่างไร ดุจดังว่า ตนเองเป็นผู้บรรลุธรรมแล้ว เข้าถึงธรรมแล้ว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ลองไปในสำนักเรียนบาลี เข้าไปในสำนักเรียนอภิธรรม เข้าไปในสำนักปฏิบัติธรรมดู ท่านจะเข้าใจถึงการบรรลุธรรมทางโวหารและทางภาษาศาสตร์กันอย่างมากมาย เพียงแค่แปลไม่ถูกตามหนังสือที่กำหนดก็มีอาการหงุดหงิดทั้งคนสอนและคนเรียน ถ้าจำจำนวนจิตไม่ได้ตามที่ระบุไว้ในหนังสือ ผู้เรียนอภิธรรมก็จะถกเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดอย่างไม่มีใครยอมใคร ถ้าคุณลองนั่งที่เจ้าประจำเคยนั่งในสถานปฏิบัติธรรม คุณจะเข้าใจสายตาของผู้บรรลุธรรมแบบโวหารได้ดี
ถ้าหากพระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) มาเยือนประเทศไทยในขณะนี้ ท่านก็คงต้องใช้วิธีเดียวกันกับที่เคยใช้ในประเทศจีน เพราะสถานการณ์ในประวัติศาสตร์ช่างเหมือนกันมาก ไม่ว่าจะเป็นการนิยมสร้างศาลา กุฏิ เจดีย์ วิหาร อุโบสถ นิยมสร้างพระพุทธรูปเช่าบูชา นิยมหล่อรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ นิยมเช่าบูชาและปล่อยเก็งกำไรเหรียญปลุกเสกพิมพ์ต่างๆ นิยมพิมพ์หนังสือธรรมขาย นิยมทำอัลบั้ม VCD DVD จำหน่ายจ่ายแจก นิยมจับกระแสโลกวัยรุ่น

พระโพธิธรรมเมื่อต้องการจะเผยแผ่ธรรมที่แท้จึงได้เข้าไปสู่ถ้ำแล้วปฏิบัติธรรมให้เห็น จนทำให้ชาวพุทธจีนรับพระพุทธศาสนาแห่งการปฏิบัติ มิใช่แบบโวหาร พระโพธิธรรมอาจแปลกใจก็ได้ถ้ามาในประเทศไทย เพราะผลที่ได้อาจไม่เป็นไปดั่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน เพราะอาจถูกตั้งข้อหา ปฏิบัติธรรมมากเกินไป ปฏิบัติธรรมเข้าข่ายทุกกรกิริยาตามความเข้าใจแบบภาษาศาสตร์ของคนไทยได้ และจะถูกประท้วง ถูกขับไล่ไปในที่สุด

โศลกว่า “รู้ในวิถีสุตตะกับรู้ในวิถีวิปัสสนา” ในระดับของการรับรู้จนเป็นปัญญาของคนนั้นมีการระดับของการรับรู้ที่เรียกว่า ทางแห่งปัญญานั้นมี ๓ ทาง

ช่องทางที่หนึ่ง ความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา นั้นได้มาจากการอ่าน การเห็น การฟัง ปัญญาหรือความรู้ที่ได้ในช่องทางนี้เป็นระดับข้อมูล เป็นระบบการรวบรวมข้อมูล ผู้ใดรวบรวมข้อมูลได้มาก ทรงจำไว้มาก ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า มีปัญญามาก จึงเรียกว่ามี สุตตมยปัญญา คนที่มีปัญญาในช่องทางนี้ส่วนมาก เป็นพวกนักวิจัย เป็นพวกนักประวัติศาสตร์ เป็นพวกหนอนตำรา นักวิชาการทั้งหลาย พวกนี้จดจำแม่น อ้างเล่ม ข้อ หน้า วัน เดือน ปี ได้แม่น

ช่องทางที่สอง ความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา นั้นได้มาจากการคิด พิจารณา การจินตนาการ การนึกมโนภาพ ความรู้ในช่องทางนี้เป็นระดับความคิดแยกแยะข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล ผู้ใดคิดได้รอบคอบ คิดได้เก่ง จินตนาการได้บรรเจิด ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า มีปัญญามาก จึงเรียกว่า จินตามยปัญญา คนที่มีปัญญาในช่องทางนี้ส่วนมาก ก็คือ นักออกแบบ นักสร้างภาพยนตร์ นักเขียนนิยาย นักศิลปะ นักกวี นักประดิษฐ์ นักเพ้อฝันทั้งหลาย พวกนี้จินตนาการได้อย่างกว้างไกล ไร้ขอบเขต ไอน์สไตน์ชื่นชมคนจำพวกนี้
ช่องทางที่สาม ความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา นั้นได้มาจากการเห็นแจ้งตามความเป็นจริง เป็นความลุกโพลงขึ้นจากความเต็มเปี่ยมแห่งสติ ความรู้ในช่องทางนี้เป็นระดับแปรเปลี่ยนฐานจิตจากปุถุชนเป็นกัลยาณชน จากกัลยาณชนเป็นอริยชน ผู้ใดเข้าถึงความเป็นสมมติปรมัตถ์ได้ สลายขันธ์ ธาตุ อายตนะได้ ละความพึงพอใจ ถอนความอยาก ดับอวิชชา สลัดคืนอุปาทาน ผู้นั้นชื่อว่า มีปัญญาตามแนวพุทธ จึงเรียกว่า ภาวนามยปัญญา ผู้ที่มีปัญญาในช่องทางนี้ก็คือ ผู้อยู่เหนือโลก ผู้พ้นจากบ่วงแห่งมาร เป็นอเสขบุคคล พระพุทธศาสนาชื่นชมคนจำพวกนี้

ความรู้ระดับปัญญาญาณนี้เท่านั้นสามารถแปรเปลี่ยนฐานจิตจากคนหนึ่งให้เป็นอีกคนหนึ่งได้ เป็นปัญญาเกิดจากการอบรมภาวนา เป็นความรู้ที่ต่างกันแบบทแยงมุมระหว่างสุตตมยปัญญา และต่างกันคนละมิติกับความรู้แบบจินตามยปัญญา การรู้แบบสุตตะนั้นที่เราเรียกว่า พวกพจนานุกรมเคลื่อนที่ พวก Encyclopedia เคลื่อนที่ ปัจจุบันจึงมีคนเปรียบเทียบว่า พวกนี้ไม่ต่างอะไรกับการได้ Computer แบบพกพาสักเครื่องเท่านั้นเอง ถ้าหากจะจ้างหรือให้เงินเดือนกับคนพวกนี้ก็ให้เท่ากับหรือน้อยกว่า Computer แบบพกพาก็พอ

วิปัสสนาเป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งความรู้หรือปัญญานั้นมา เป็นตบะ เป็นความร้อน เป็นเครื่องเผา เปรียบเทียบกับการกลั่นน้ำมัน น้ำมันเตาหรือน้ำมันดิบก็มีคุณสมบัติคล้ายกับคน คือมีศักยภาพที่จะแปรเปลี่ยนได้ขอเพียงให้มีการกลั่น
เมื่อใช้ความร้อนเผาในโรงกลั่นที่มีองศาประมาณหนึ่ง น้ำมันดิบก็จะแปรเปลี่ยนคุณลักษณะไปเป็นน้ำมันอีกประเภทหนึ่งอาจเรียกว่า น้ำมันยางมะตอย แต่เมื่อเผาด้วยองศามากขึ้นประมาณ ๒๐๐ องศาเชียลเซียส น้ำมันก็จะแปรเป็นน้ำมันก๊าด หากกลั่นด้วยองศาที่มากขึ้นประมาณ ๓๗๐ ก็จะได้น้ำมันดีเซล หากกลั่นด้วยองศาประมาณ ๕๐๐ องศา ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นน้ำมันเบนซิน แต่ถ้ากลั่นด้วยองศาที่มากกว่านี้ ก็จะเป็นน้ำมันที่ใช้กับเครื่องบินธรรมดา และถ้ามากขึ้นไปอีกก็จะเป็นน้ำมันเครื่องบินไอพ่น (Aviation Turbine Fuels) ซึ่งมีความบริสุทธิ์สะอาดสูง มีประสิทธิภาพสูง
เช่นเดียวกับคนที่ได้ฝึกวิปัสสนาอันหมายถึงเผาด้วยไฟคือตบะที่มีความร้อนมากขึ้น ฐานจิตก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นลำดับ จากปุถุชนก็จะแปรเปลี่ยนเป็นกัลยาณชน จากกัลยาณชนก็จะเป็นอริยชนชั้นต้น ชั้นกลางและชั้นสูงตามลำดับ น้ำมันที่ถูกกลั่นแล้วไม่กลับกลายแปรเปลี่ยนเป็นอย่างเดิมอีกฉันใด บุคคลที่บำเพ็ญวิปัสสนาด้วยไฟตบะแล้วก็ไม่กลับกลายได้ฉะนั้น ขอให้อย่าได้ดูเบาการเผาด้วยไฟแห่งตบะ ด้วยวิธีวิปัสสนา ด้วยภาวนา มีแต่การเผาอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเปลี่ยนแปลงได้ ฐานจิตจึงจะเปลี่ยนได้ อัตตาจึงกระเทือนได้

นี่คือ โศลกที่สิบสามแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

1 ความคิดเห็น:

puzinnian กล่าวว่า...

ก็มาจากความจริงส่วนหนึ่ง จึงทำให้เหมือนกัน