วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ดอกไม้คนที่งดงาม




โศลกที่แปด ดอกไม้คนที่งดงาม

ก่อนนี้สายตาที่มองผู้คน
ที่มาปฏิบัติธรรมแต่ไม่ใส่ใจปฏิบัติ
คือคนขยะที่เกะกะเหลือเกิน
แม้วาจาไม่เอ่ยคำ
แต่ใจกลับพร่ำพรั่งพรูแสดง
บัดนี้กลับเห็นทุกคน
เป็นดอกไม้ที่งดงาม
งามแต่ละกอ แต่ละช่อ แต่ละชนิด
สลับสี กลิ่น ปะปนกันไป
เป็นความงดงามตามธรรมชาติ


ความบกพร่องภายในจิตใจของมนุษย์นั้นเป็นธรรมชาติของจิตที่มีอัตตา เพราะอัตตาตัวนี้เองที่ห่อหุ้มด้วยอวิชชาอันแน่นหนาจึงไม่สามารถที่จะมองอะไรได้ตามความเป็นจริง แต่จะมองให้เป็นไปตามที่ตนต้องการจะให้เป็น เพราะการที่ต้องการให้ทุกสิ่งอยู่ภายใต้อำนาจของอัตตานั้นเป็นธรรมชาติของมัน หากมีสิ่งใดไม่อยู่ภายใต้อำนาจ อัตตาจะแสดงอาการทันที หากใช้อำนาจที่มีอยู่นี้โดยตรงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่มีต่อลูก คือความเป็นพ่อแม่ ต่อภรรยา คือความเป็นสามี ต่อหมู่บ้าน คือผู้ใหญ่บ้านกำนัน ต่อสังคมคือตำรวจทหาร ต่อประเทศ คือผู้นำประเทศ อัตตาก็จะใช้อำนาจผ่านเครื่องมือทางสังคม คือ ประเพณี คุณธรรม จริยธรรม คำสอนและกฎหมายเข้ามาช่วย แต่ละด่านที่อัตตาวางกับดักไว้แล้วนี้น้อยนักที่ใครจะหลุดรอดไปได้

ยิ่งใครก็ตามที่ได้เป็นใหญ่โดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าหากเป็นแบบผู้ดี ก็จะใช้ผ่านกฎหมายอย่างนิ่มนวล ทำให้ใครที่อยู่ภายใต้กฎหมายนั้นไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า กำลังถูกตัดต่อพันธุกรรมทางความคิดและจิตวิญญาณ (Genetically Modified Organism of Humanity or GMOH) ของมนุษย์ให้เป็นไปตามที่มุ่งหวังให้เป็น ตัดกิ่งแห่งความเป็นอิสระ ต่อตาแห่งมิจฉาทิฏฐิ ให้เป็นไปตามที่เขาประสงค์และต้องการ แต่ถ้าหากเป็นการกระทำแบบผู้ร้าย ก็จะใช้กำลังบังคับข่มเหงบีบให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ตัวอย่างของการใช้อำนาจแบบผู้ดีก็คือ การทำตัวเป็นผู้ดีตะวันตกทั้งหลาย ใส่สูท แต่งตัวดี มีวาจาแนบเนียน มียศถาบรรดาศักดิ์ แต่งชุดเข้าคิวรับปริญญา แต่งชุดเข้าคิวทำงานในโรงงาน ส่วนตัวอย่างของการใช้อำนาจอย่างผู้ร้ายก็คือ การเข้าสนามฝึกแบบนาซี การฝึกของลัทธิคอมมิวนิสต์ การฝึกของเหล่าผู้ก่อการร้ายสากล การใช้กำลังบังคับของเหล่านายจ้าง จนมาถึงแม่เล้าและแมงดาทั้งหลาย เป็นต้น

เมื่อใครก็ตามได้รับการล้างสมองให้เดินตามคลองปฏิบัตินั้นแล้ว เขาจะไม่เข้าใจคำว่า อิสระที่แท้ ได้เลย เขาย่อมพร้อมจะเป็นกระบอกเสียงปกป้อง กล่าวแก้แย้งให้กับบุคคล สถาบัน องค์กร และสถานที่นั้นอย่างมีเหตุผล น่าฟัง บางครั้งถ้าหากจำเป็นต้องทำลายกลุ่มอื่นด้วยอาวุธก็ต้องทำ เท่าที่ผ่านมาโดยมาก ก็มีเพียงสองกลุ่มนี้เท่านั้นที่ผลัดกันทำลายกันและกัน ฝ่ายที่เป็นเผด็จการแบบผู้ดีก็กล่าวหาพวกเผด็จการแบบผู้ร้ายว่า เป็นพวกป่าเถื่อน ส่วนพวกเผด็จการแบบผู้ร้ายก็กล่าวหาเผด็จการแบบผู้ดีว่า เป็นพวกซาตานใส่สูท ถ้าจะมองให้ชัดก็คือ ซาตานใส่สูทกับซาตานไม่ใส่สูทกล่าวหากันและกันว่า อีกฝ่ายทำไม่ถูกต้อง หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นอีกมิติหนึ่งก็คือ นกแก้วถูกตัดปีกตั้งแต่แรกหัดบิน กับสุนัขถูกตัดหาง อ้างว่า การถูกตัดปีกของตนดีกว่าถูกตัดหาง ตามสำนวนภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า “ห้าสิบก้าวหัวเราะเยาะร้อยก้าว” ต่างฝ่ายต่างอวดความอัปลักษณ์ของตนว่าเป็นสิ่งที่น่าเอาอย่าง


โศลกว่า “ขยะคนที่เกะกะเหลือเกิน” มีถ้อยคำสนทนาระหว่างท่านวิมลเกียรติอุบาสกกับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ตอนหนึ่งมีใจความว่า “ผู้ที่แสดงตนว่าเป็นคนดี แต่กลับรังเกียจคนอื่น ไหนเลยจะเป็นคนดีได้” เมื่อพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของเนื้อแท้สรรพสัตว์ ทุกคนก็ล้วนมีโพธิจิต เป็นโพธิสัตว์ด้วยกันทั้งนั้น การที่พระโพธิสัตว์คนหนึ่งรังเกียจพระโพธิสัตว์อีกคนหนึ่ง ยังจะได้ชื่อว่า เป็นพระโพธิสัตว์อยู่อีกได้หรือ สายตาของคนที่ถูกอัตตาห่อหุ้มนั้นย่อมไม่สามารถเข้าใจจุดนี้ได้ มีแต่ผู้ที่บำเพ็ญเพียรย่อมเข้าใจได้ การที่ผู้ใดใช้สายตาแบบอัตตา (ซาตาน) มองคนอื่นนั้น นั่นไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่ทางแห่งการบำเพ็ญ


ก็บุคคลที่ยังไม่ได้รับการแนะวิธีเปิดตาปัญญา เขาเหล่านั้นยังคงเดินสะเปะสะปะ ไม่เข้าใจแนวทางปฏิบัติ ไม่เข้าใจการวางจิต ไม่รู้ทันอัตตา ก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ยังเป็นผู้มืดบอดคลำทางอยู่ การที่ใครก็ตามเห็นคนที่มีตามืดบอดคลำทางอยู่ สิ่งที่พึงทำได้ก็คือช่วยเหลือ ประคับประคอง มีจิตกรุณาต่อบุคคลผู้นั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นการตอบแทนบุญคุณของครูอาจารย์ที่เคยช่วยเหลือเราผู้ที่เป็นเช่นนั้นมาก่อนเช่นกัน ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองผู้ไม่สนใจในการกระทำความดีด้วยสายตาที่เหยียดหยาม ประณาม ดูหมิ่น และรังเกียจ

ในสังสารวัฏอันไม่มีที่สุดและเบื้องต้นนี้มีเส้นสายที่มองไม่เห็นอยู่มาก ใครเล่าจะเข้าใจและสามารถโยงใยไปเห็นต้นเงื่อนแห่งเส้นสายที่ชักโยงให้เขาเป็นเช่นนั้นได้เล่า เราอย่าได้ตกเข้าไปในวังวนแห่งเส้นสายนั้น เส้นสายที่ว่าก็คือ สายตาที่รังเกียจสรรพสัตว์ด้วยกันเอง สายตานี้นั่นแหละที่จะเข้าไปเกี่ยวพันผูกมัดเข้าไปกับเส้นสายของเขากับเราให้พัวพัน รัดแน่น ยิ่งนานยิ่งขมวดปม ยิ่งดึงยิ่งแน่นเข้าไปอีก ตัวอย่างของชัมพุกาชีวกเป็นอุทาหรณ์

ชัมพุกะนั้นเกิดในตระกูลมีชื่อที่กรุงราชคฤห์ มีพฤติกรรมไม่นุ่งผ้าและทานอุจจาระของตนตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ พ่อแม่ของเขาเห็นว่า ลูกเราควรไปเป็นอาชีวกดีกว่า เขาเข้าไปบวชเป็นอาชีวกแล้วไม่ยอมไปบิณฑบาต ในยามที่คนอื่นเขาออกไปบิณฑบาตกันหมด ตนเองก็แอบไปที่ส้วมแล้วปั้นอุจจาระทานเป็นอาหาร จนกระทั่งคนอื่นเขารู้ก็ถูกขับออกจากสำนัก ชัมพุกาชีวกไปยืนอยู่ใกล้ๆ ที่เชิงหน้าผาที่ชาวบ้านถ่ายอุจจาระ กลางวันก็ทำท่ายืนขาเดียว ยกแขนยันหน้าผา อ้าปากอยู่ พอชาวบ้านถาม ก็บอกว่าตนทานลมเป็นอาหาร ที่ตนยกเท้าขึ้นข้างหนึ่งเพราะมีตบะมาก เกรงว่า แผ่นดินจะไหวเพราะรับน้ำหนักไม่ได้ ไม่นั่งไม่นอน ชาวบ้านพอฟังอย่างนั้นก็ศรัทธาและนับถือชัมพุกาชีวกเป็นจำนวนมาก นำของสักการะอันประณีตมาให้ เขาบอกปัดแล้วบอกปัดอีกว่า การทานของทั้งหลายเหล่านี้ทำให้ตบะเสื่อม หนักเข้าก็เพียงเอาลิ้นแตะน้ำอ้อยแล้วคายออกเสียเพื่อให้ชาวบ้านสบายใจ แต่พอกลางคืนก็แอบไปทานอุจจาระที่ชาวบ้านมาถ่ายไว้ที่หน้าผานั่นเอง เขาเลี้ยงชีพอยู่อย่างนั้นนานถึง ๔๕ ปี


จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า ชัมพุกาชีวกนั้นมีบุญอันกระทำไว้ก่อนหน้านั้นสามารถบรรลุธรรมได้ พระองค์จึงได้เสด็จไปพบเขา ณ ที่แห่งนั้นในเวลาเย็น พอเสด็จไปถึงจึงตรัสเรียกชื่อเขา แล้วขออยู่ในที่นั้นด้วย ชัมพุกาชีวกไม่อยากให้พระพุทธเจ้าอยู่แต่ก็ไม่สามารถขับไล่ไปได้ ในค่ำคืนนั้นยามต้น เทพจาตุโลกบาลลงมาเฝ้า ยามท่ามกลางพระอินทร์ลงมาเฝ้า ในยามสุดท้ายท้าวมหาพรหมลงมาเฝ้า จนทำให้สถานที่แห่งนั้นสว่างไสวไปทั่ว ชัมพุกาชีวกเห็นเหตุการณ์นั้นตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าจึงเข้าไปถามพระพุทธเจ้าว่าใครกันมาจนสว่างไสวดุจกลางวัน พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่า เทพทั้งหลายมาเฝ้าบำรุงพระองค์ดุจดังสามเณรรับใช้พระเถระฉะนั้น

ชัมพุกาชีวกจึงกล่าวบอกว่า เขาบำเพ็ญตบะอยู่ที่นี่เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี ยังไม่เคยมีเทพตนใดมาหาบ้างเลย พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนว่า ชัมพุกาชีวกท่านไม่ต้องมาหลอกเราหรอก ท่านทนทุกข์ทรมานด้วยการนอนบนหินแข็ง ถอนผมด้วยใบตาล เปลือยกาย และทานอุจจาระชาวบ้านเป็นอาหาร เธอได้รับบาปกรรมนี้ก็เพราะคิดชั่วนั้นมา บัดนี้ยังจะคิดชั่วอย่างนั้นอยู่อีกหรือ

พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้ทราบถึงอดีตของเขาให้ฟังว่า ในอดีตชาติท่านเป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความไม่พอใจ อิจฉา ริษยา คิดชั่วเพียงเพราะเห็นการกระทำของโยมอุปัฏฐากของตนปฏิบัติต่อพระภิกษุอีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นพระขีณาสพด้วยการถวายวัตถุสิ่งของที่ประณีต เธอเข้าไปกล่าววาจาไม่ดีต่อพระภิกษุขีณาสพรูปนั้นอย่างรุนแรงด้วยคำว่า “การฉันอุจจาระ การถอนผมด้วยใบตาล การนอนบนพื้นที่แข็ง และการเปลือยกายเที่ยวไปน่าจะดีกว่าสำหรับท่าน”

ด้วยผลแห่งการเข้าไปเกี่ยวพันกับผู้อื่นด้วยความคิดชั่ว มีจิตอิจฉา ริษยา อันไม่ถูกต้องเช่นนั้นจึงทำให้ท่านต้องไปตกนรกขุมอเวจีนานนับกาลไม่ถ้วน จนกระทั่งมาถึงชาตินี้ ท่านต้องใช้ชีวิตทนทุกข์ทรมานอยู่ด้วยการทานอุจจาระของตน ถอนผมด้วยใบตาล นอนบนพื้นหินที่แข็งกระด้างและเปลือยกาย อันเป็นผลแห่งบาปกรรมที่เหลือที่ตนทำลงไป แต่เนื่องท่านเคยบำเพ็ญเพียรมานานนับได้สองหมื่นปีบุญกุศลนั้นของเธอยังมีอยู่ จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้เขาฟัง ชัมพุกาชีวกจึงได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทา

นี่เป็นอุทาหรณ์ในการใช้สายตาที่เหยียดหยามผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่บำเพ็ญเพียรบารมี มีบุญญาธิการ บุคคลที่เขาไม่ได้ทำอะไรให้ บุคคลที่เขาไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ไม่รู้อะไรด้วย แต่กลับถูกสายตาที่ไม่เป็นมิตรมองไป นั่นเท่ากับการได้นำโซ่กรรมเข้าไปคล้องเข้ามาใส่ตน ผูกพันแน่นหนา กลายเป็นภัยมหันต์ต่อชีวิตอย่างไม่ควรอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังมิให้สายตาที่เต็มเปี่ยมด้วยอัตตาทำหน้าที่อย่างนั้น แม้เพียงสายตาที่มองไม่เป็นมิตรยังไม่ควรทำ ไม่ต้องกล่าวถึงการเข้าไปกล่าววาจาว่าร้าย ประณาม ดูถูก เหยียดหยามเขา ซึ่งเป็นการตอกย้ำจิตใจอันชั่วที่แสดงออกมา ก็ยิ่งต้องไม่กระทำเป็นอันขาด

โศลกว่า “บัดนี้กลับเห็นทุกคน เป็นดอกไม้ที่งดงาม” การที่รู้จักปรับสายตาที่มองสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ข้างนอกให้ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน เป็นการปรับระดับจิตให้เข้าใจสภาวะที่แท้จริง พึงเข้าใจว่า การที่ผู้ใดก็ตามมักใช้ระบบการเปรียบเทียบในการประโลมอัตตาให้กระหยิ่มพอใจ ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง โดยมากแล้ว นักจิตวิทยาและนักพัฒนาบุคลากรตะวันตกมักใช้วิธีนี้เป็นหลัก กล่าวคือ ชอบเปรียบเทียบผู้อื่นที่ด้อยกว่าตน

ด้วยเหตุผลว่า “การมองสิ่งที่เขามี เรายังขาด การมองสิ่งที่เขาขาด เรายังมี” ด้วยเหตุนี้นักจิตวิทยาเหล่านั้นจึงได้เสนอให้ทุกคนต้องมองสิ่งที่เขาขาดจึงจะพอทำใจให้มีกำลังใจได้ เช่น มองคนที่เขาพิการ เราไม่พิการ ตรรกะตรงนี้เป็นคำตอบให้อัตตาพอใจว่า เรายังดีกว่าเขาเยอะ มองคนที่เขาจนเก็บขยะกิน เรายังมีอยู่มีกิน ก็มีกำลังใจขึ้นเยอะ นี่เป็นวิธีเติมเต็มอัตตาให้มีกำลังใจ ประโลมอัตตาให้ฮึกเหิม ตะวันตกนั้นไม่ทราบหรอกว่า การใช้สายตาเช่นนั้นมอง เป็นสายตาที่ดูเหมือนจะดี เพราะทำให้ตนได้กำลังใจ แต่หาทราบไม่ว่านั่นเป็นการให้ท้ายอัตตาไปเรื่อยๆ อัตตานี้จะเพิ่มดีกรีขึ้นจนกลายเป็นเหยียบย่ำคนจนไปเป็นลำดับ มองเห็นคนจนเป็นคนไร้ค่า ไร้ประโยชน์ มองเห็นคนไม่มีความรู้เป็นคนไม่มีความหมายในสายตา

ในพระพุทธศาสนานั้น การมองคนให้มองไปที่ความเป็นคน การมองไปที่ความเป็นคนด้วยกันนั้นทำให้เห็นคุณค่าของความเป็นคน ไม่นำหน้ากากเข้ามากำหนดความเป็นคน คำว่า จนก็ดี ไม่มีความรู้ก็ดี พิการก็ดี ฉลาดหรือโง่ก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นหน้ากากที่เข้าสวมทับความเป็นคนเข้าไปชั้นหนึ่ง ชั้นที่สองก็คือฐานะ ตำแหน่ง หน้าที่ เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นหน้ากากสวมทับเข้าไปอีก หน้ากากเหล่านี้จะกลายเป็นคุณค่าของความเป็นคนไป สายตาของผู้คนทั้งหลายโดยทั่วไปไม่อาจหยั่งทะลุเข้าไปสู่ความเป็นคนที่แท้จริงได้ โดยมากล้วนแล้วแต่สะท้อนได้เพียงหน้ากากชั้นที่หนึ่งหรือชั้นที่สองเท่านั้น

พึงเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า ทุกคนนั้นมีสภาวะแห่งความเป็นจริงอยู่ ๓ ชั้น
ชั้นที่หนึ่ง คือ ความเป็นจริงของหน้ากาก
ชั้นที่สอง คือ ความเป็นจริงของความเป็นคน
ชั้นที่สาม คือ ความเป็นจริงแห่งสภาวธรรม


ยิ่งนับวันสังคมหล่อหลอมให้ทุกคนมองคนที่หน้ากากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้คนที่เข้าใจบริบทนี้จึงได้อาศัยหน้ากากเป็นเครื่องหลอกล่อให้คนเคารพนับถือ ผู้ที่ทำได้เนียนที่สุดก็คือ นักการเมือง รองลงมาก็คือนักการศาสนา การพัฒนาตนของเขาก็คือ การขัดหน้ากากให้เงางาม ได้แก่ การปรับปรุงตัวตนให้ดี ในที่นี้ก็คือการปรับปรุงหน้าที่ของเขาให้ดี เพราะหน้าที่เหล่านั้นเป็นเงาสะท้อนของหน้ากากของเขา
สายตาที่มองทะลุเข้าไปสู่ความจริงชั้นที่สองเป็นสิ่งที่โลกไม่คุ้นเคย การปรับสายตาให้มองทะลุเข้าไปถึงความจริงชั้นที่สองย่อมทำให้เข้าใจว่า ทุกคนก็เป็นคนเหมือนกัน มีการดำรงชีวิตเหมือนกัน กล่าวคือ มีการกิน นอน สืบพันธุ์ ป้องกันภัย เหมือนกัน สุดท้ายทุกคนก็เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ และตายเหมือนกัน

การใช้สายตาเช่นนี้มองจึงเห็นเนื้อแท้ของทุกว่า มีความงดงามของแต่ละบุคคล ผู้หญิงก็งามอย่างผู้หญิง ผู้ชายก็งามอย่างผู้ชาย ความเป็นชายและหญิงเป็นเพียงพันธุ์ดอกไม้เท่านั้น แท้จริงดอกไม้ก็คือดอกไม้ คนก็คือคน การที่ชื่นชมดอกไม้พันธุ์หนึ่ง แล้วประณามดอกไม้พันธุ์อื่นนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง ความงามของดอกไม้เหล่านั้นจะมีขึ้นได้ก็ด้วยสายตาที่มองไปอย่างเท่าเทียมในความจริงขั้นที่สอง คือ ความเป็นพฤกษชาติ ดุจดังการมองคนทั้งหลายเป็นมนุษยชาติ

ความจริงในขั้นนี้นั้นยังไม่เข้าถึงความจริงที่แท้ เพราะแท้จริงผู้คนทั้งหลายนั้นหาได้มีจริงไม่ เป็นแต่เพียงสภาวธรรมที่ประกอบกันเข้าแห่งกองขันธ์เท่านั้นเอง การทำหน้าที่ของขันธ์เหล่านั้นจนกลายเป็นความเข้าใจผิดว่า มีตัวตนอยู่ นี่แหละที่เรียกว่า อวิชชา คือความไม่รู้ ถ้าหากได้ใช้สายตามองทะลุผ่านชั้นที่สองแล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะมองเข้าไปถึงชั้นที่สามได้ ชั้นนี้นั้นไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้ง่าย เพราะอัตตานั้นจะไม่ยินยอมให้เห็นอย่างนั้นเป็นอันขาด เพราะเมื่อใดที่เข้าถึงความจริงขั้นนี้ อัตตาจะสลายไปทันที เมื่อนั้นผู้คนจึงเข้าถึงอิสระที่แท้ เข้าถึงการหลุดพ้นที่แท้

นี่คือ โศลกที่แปดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

ไม่มีความคิดเห็น: