วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

ไต้หวัน : ปัจจัยพัฒนาประเทศ


ไต้หวัน : ปัจจัยพัฒนาประเทศ
โดย ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์
บทนำ

กล่าวถึงประเทศไต้หวัน ถ้าหากกล่าวแบบเป็นทางการดูเหมือนว่ายังกล่าวไม่ได้ เพราะพอกล่าวทีไรประเทศไทยเกรงว่าจะได้รับผลกระทบทันที เนื่องจากประเทศจีนรับไม่ได้ที่จะให้ไต้หวันเป็นประเทศหนึ่งในโลกใบนี้ เป็นได้ก็แต่เพียงส่วนหนึ่งของจีนเท่านั้น คนไทยรู้จักประเทศไต้หวันในแง่มุมต่างๆ กัน เช่น เกี่ยวกับแผ่นดินไหว เกี่ยวกับแรงงานไทย เกี่ยวกับสินค้าไต้หวัน และอาจเกี่ยวกับสภาไต้หวัน สำหรับผู้ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ก็จะรู้จักไต้หวันในนามของพรรคก๊กมินตั๋ง
ปัจจุบันอาจรู้จักประเทศไต้หวันทางแง่มุมพระพุทธศาสนามหายานมากยิ่งขึ้น ประเทศไต้หวันเดิมนั้นเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมือง หลังจากที่พรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ต่อจีนคอมมิวนิสต์ ผู้นำพรรคตอนนั้นก็คือ เจียง ไคเชก (Chiang Kai-Shek) หรือที่เรียกเป็นภาษาจีนกลางว่า เจียง จง-เจิ้ง (Chiang chung-cheng) เป็นผู้นำของจีนระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๙๒
ต่อมาได้ไปตั้งรัฐบาลจีนคณะชาติที่ไต้หวัน โดยอพยพประชาชนประมาณ ๒ ล้านคน และของมีค่าของจีนไปด้วย ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และถูกถอดชื่อออกจากการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ.๒๕๑๔
เหตุใดประเทศใต้หวันจึงสามารถก้าวข้ามจากประเทศยากจนมาสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งจากปัญหาการเมืองและภัยพิบัติ เพียงระยะเวลาไม่นาน เศรษฐกิจของไต้หวันก็ขยายตัวและทำให้คนไต้หวันมีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยน้อย ถ้าหากเทียบกับประเทศไทย ภายในระยะเวลา ๔๐ ปี ไต้หวันได้ทิ้งห่างการพัฒนาของไทยไปเรียบร้อยแล้ว พอสรุปได้ว่า
๑. ปัจจัยบีบคั้นปัจจัยที่เป็นแรงบีบคั้นให้ประเทศไต้หวันต้องเอาชนะและอยู่ได้ก็คือ๑) ภัยทางธรรมชาติ ได้แก่ แผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น และมรสุม เป็นต้น เนื่องจากไต้หวันตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลก จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อย แผ่นดินไหวแต่ละครั้งนั้นทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ล่าสุด วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ พายุไต้ฝุ่นมรกตได้เข้าภาคใต้ของไต้หวันทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายประมาณ ๕๐๐ คน
๒) ภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่ ภัยด้านนี้เป็นปัญหาสืบเนื่องจากการที่ประธานธิบดีเจียง ไค เชก ได้อพยพคนมาอยู่ที่ไต้หวันและต่อสู้กับจีนคอมมิวนิสต์มาโดยตลอด จนกระทั่งบัดนี้ใช้ระบบร่วมกันทางด้านความสัมพันธ์แต่ต่างกันด้านการบริหารปกครอง ถึงกระนั้นความรู้สึกที่จะถูกคุกคามได้ทุกเมื่อยังคงมีอยู่ในความรู้สึกของผู้นำไต้หวันและชาวไต้หวัน
๒. ปัจจัยสนับสนุนปัจจัยที่เป็นแรงเสริมทำให้ไต้หวันการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดได้แก่
๑) ผู้ที่อพยพมาเป็นคนมีการศึกษาและเป็นระดับมันสมองของจีน เนื่องจากการอพยพมาในครั้งนั้นเป็นการอพยพมาเพราะหนีภัยสงคราม บุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับพรรค บุคคลที่มีบัญชีรายชื่อเป็นผู้นำพรรคและผู้สนับสนุนพรรค ทั้งที่เป็นส่วนของดร.ยุน ยัตเซน และเจียง ไค เชก เอง บุคคลเหล่านี้ถ้าอยู่ต่อไปต้องได้รับโทษทัณฑ์แน่ จึงถือได้ว่า เป็นบุคคลสำคัญและมีการศึกษา เป็นระดับมันสมองของพรรคก๊กมินตั๋ง
๒) ความเป็นคนสู้งาน และมีหัวทางการค้า ปัจจัยด้านนี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่เป็นเชื้อสายคนจีน ที่ไม่ยอมงอมืองอเท้า ต้องต่อสู้ดิ้นรน และโดยเฉพาะเป็นผู้ที่มีความถนัดทางด้านการค้า การขายอยู่ด้วยแล้วจึงกระจายและขยายตัวเร็วมาก
๓) มีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง ปัจจัยด้านนี้ถือว่าอารยธรรมจีนในกาลก่อนที่จะล่มสลายนั้นถือได้ว่า สั่งสมมานานนับหลายพันปี คนจีนได้รับการอบรมพร่ำสอนให้เคารพและศรัทธาในผู้มีพระคุณ รู้จักตอบแทน รู้จักความสงบสุขทางจิตวิญญาณ มีความเด็ดเดี่ยวต่ออารมณ์และความรู้สึก มีอารมณ์ทั้งสุนทรีย์และก็ห้าวหาญ จึงถือว่าเป็นผู้มีวินัยในชีวิตสูง
๔) มีแผนในการปฏิรูปประเทศ ๔ ด้านที่ประสบความสำเร็จ คือ ด้านที่ดิน ด้านประชาธิปไตย ด้านเศรษฐกิจ และด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ปัจจัยทางด้านนี้นับว่าสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าหากไม่มีแผนพัฒนาชาติที่ถูกต้อง พัฒนาไปก็ไม่สำเร็จ ด้านที่ดินก็มีการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ที่อยู่ก่อนและผู้ที่มาใหม่ได้อย่างเหมาะสม
ด้านประชาธิปไตย ประชาชนมีความรู้ที่จะให้ตัวแทนของตนเข้าไปทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างไร ไม่มีการใช้อำนาจทหารเข้าล้มระบบประชาธิปไตย ทุกคนร่วมใจทำเพื่อชาติบ้านเมือง
ด้านเศรษฐกิจ ก็ปรับเปลี่ยนจุดด้อยของตนคือ ไม่เน้นภาคเกษตร แต่เน้นภาคอุตสาหกรรมและบริการ
ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ก็ระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยถือคติว่า “ความรู้คือพลังอำนาจ” และให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรม โดยเฉพาะทางด้านศาสนาและจิตวิญญาณ ส่วนหนึ่งที่ไต้หวันประสบความสำเร็จเพราะอุดมคติพระโพธิสัตว์ที่ช่วยเหลือผู้อื่น จะเห็นได้ว่ามีสมาคมทางศาสนามากนับร้อย และสมาคมเหล่านี้บางสมาคมนั้นมีศักยภาพมากสามารถสร้างสรรค์สังคมได้อย่างดีเยี่ยมทั้งด้านสวัสดิการและจิตวิญญาณ
๕) ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ นับได้ว่าเป็นเรื่องประจวบเหมาะ คือไต้หวันถือเป็นแดนกันชนระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และจีนกับสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐก็ต้องการไต้หวันเข้ามาเป็นพวก จึงได้เข้าไปช่วยเหลือศิลปวิทยาการอันทันสมัยแทบทุกด้าน เพื่อให้ไต้หวันมีเขี้ยวเล็บในการป้องกันตนเองไม่ให้ตกไปเป็นของจีน ซึ่งจะทำให้เกิดการคุกคามทางภูมิภาคได้
๖) กล้าลงทุนและต่อยอด ทางด้านนี้ไต้หวันพยายามที่จะซื้อลิขสิทธิ์สินค้าและอุตสาหกรรมจากต่างประเทศมา จากนั้นก็ทำการศึกษาวิจัยต่อยอดนำมาเป็นของตน การที่กล้าลงทุนและกล้าวิจัยต่อยอดเช่นนี้ ก็ทำให้มีลิขสิทธิ์และความเจริญก้าวหน้าเป็นของตน จากปัจจัยบีบคั้นและปัจจัยสนับสนุนดังที่แสดงไว้นี้จึงทำให้ไต้หวันมีการพัฒนาประเทศไปได้อย่างรวดเร็วเป็นที่จับตามองของหลายๆ ประเทศ
(อ่านต่อหนังสือบัณฑิตวิทยาลัย มมร ออกเร็วๆ นี้)

ไม่มีความคิดเห็น: