ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์
คำว่า ศิลปวัฒนธรรม (Art and Culture) มักเป็นคำที่มาด้วยกัน คำนี้เป็นคำเรียกลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมอย่างรวมๆ ทั้งที่ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ทั้งที่สามารถจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ แต่ให้ความเพลิดเพลินและความซาบซึ้งและประทับใจ ศิลปวัฒนธรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญสิ่งหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นคงของชาติ การสร้างอุดมการณ์ของชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์และเข้าถึงประชาชนมากที่สุด เป็นสื่อสำคัญในการสร้างประเทศ สร้างความก้าวหน้า การรักษาศิลปวัฒนธรรมเท่ากับเป็นการรักษาเอกลักษณ์ จุดเด่น วิญญาณของชาติ อันเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา สร้างเกียรติภูมิ ตลอดจนศักดิ์ศรีแก่ประเทศชาติประชาชน
พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) ได้กล่าวถึงศิลปะว่า ครั้นเมื่อมนุษย์รู้จักผลิตขึ้นได้ดีกว่าเดิม มีความงดงาม ความเรียบร้อยตามที่ตนต้องการทางจิตใจเจริญเรื่อยเป็นลำดับมา สิ่งที่ผลิตสร้างก็เกิดเป็นศิลปกรรมขึ้น...อารมณ์สะเทือนใจเป็นตัวการทำให้เกิดศิลปะและการแสดงออกให้เกิดเป็นรูปขึ้นได้...เป็นศิลปะอันเป็นขั้นสุดท้ายของความรู้แล้วจะเกิดความสนใจ กระทำให้เป็นสุขใจที่แท้จริง ถ้าความรู้นั้นเป็นไปเพื่อความสุขแก่ส่วนรวมอันเป็นจุดหมายปลายทางแห่งชีวิต
ศิลปะเกิดจากวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมคือผลรวมแห่งชีวิตมนุษย์ เพื่อสนองตอบความต้องการทางร่างกาย ให้มีชีวิตอยู่รอดพร้อมกับความเจริญงอกงาม ในการรับรู้ทางกาย ทางสติปัญญา ทางอารมณ์ ทางสังคม ทางสุนทรียะ และการสร้างสรรค์ ศิลปะช่วยกล่อมเกลาและสนองตอบความต้องการของวิถีชีวิตมนุษย์ได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะสุนทรียะหรือความงามที่ในรูปแบบที่มากหลาย ด้วยรูปแบบของศิลปะที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ เครื่องประดับ และรูปเคารพมาโดยตลอดแต่ดึกดำบรรพ์ มีวิถีชีวิตของมนุษย์เป็นตัวกำหนดทั้งทางตรงและทางอ้อม
ตราบใดที่ศิลปะยังเป็นการสร้างผลงานของมนุษย์เพื่อมนุษย์เช่นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับวัฒนธรรมก็ยังคงเดินคู่กันไปเช่นนี้ เพราะความที่ต่างก็เป็นเหตุและผลของกันและกัน พุทธศิลป์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการทางกายทางใจสำหรับมนุษย์ ที่พอใจกับการได้เห็น ได้ยิน ได้ใช้สอย สิ่งดีงาม ไพเราะเหมาะสม ไม่ว่าประยุกต์ศิลป์ หรือ วิจิตศิลป์ ต่างก็มีวัตถุประสงค์ทางการสร้างสรรค์อันแน่ชัดว่า เพื่อมนุษย์ด้วยกันได้เกิดการรับรู้ถึงความงาม ความไพเราะ ความซาบซึ้ง ที่โอนอ่อนผ่อนคลายทางใจและอารมณ์ รู้จักที่จะปฏิบัติตน แต่งกาย บำรุงตัว ตามแบบแผนของวัฒนธรรมแห่งยุค ใช้มือให้รู้จักทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ดีงาม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัฒนธรรมทั้งสิ้น มีพุทธศิลป์เป็นตัวแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่คอยโน้มนำและชี้มุมสะท้อนของจิตนิยมทางวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย
ศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกได้อย่างชัดเจนได้แก่ พุทธศิลป์ คืองานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นจิตรกรรมประติมากรรม หรือสถาปัตยกรรม ก็ล้วนแล้วแต่เรียกได้ว่าเป็น พุทธศิลป์ ทั้งสิ้น เกิดขึ้นนับแต่มีการค้นพบศิลปวัตถุชิ้นแรกจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ถือเป็นยุคทองของสมัยกรุงสุโขทัย เนื่องจากได้เกิดแบบแผนความเจริญทางวัฒนธรรมที่เป็นของไทย ซึ่งความเจริญทางวัฒนธรรมดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับ ๓ รูปแบบ คือ พุทธศาสนา ภาษาไทย และศิลปะ งานสร้างสรรค์ทางศิลปะของกรุงสุโขทัย เช่น พระพุทธรูป เจดีย์จิตรกรรม มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยดัดแปลงรูปแบบศิลปกรรมจากขอมให้มีลีลาอ่อนช้อยงดงาม ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปปางลีลา ยิ่งกว่านั้นแล้วพุทธศาสนายังมีบทบาทสำคัญต่องานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมด้วย ดังตัวอย่างบทพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) คือ ไตรภูมิพระร่วง โปรดให้พิมพ์รอยพระพุทธบาทจำลอง ทรงสร้างพระมหาธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากศรีลังกา ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกาไว้หลังพระมหาธาตุ
ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาพุทธศาสนาและศิลปะได้รับอิทธิพลจากขอม ศาสนาพราหมณ์ ที่แพร่หลายอยู่ก่อนหน้าการเข้ามาของพุทธศาสนาอยู่มาก การผสมผสานกันของพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์จึงเป็นลักษณะสำคัญของศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสะท้อนให้เห็นใน ศิลปกรรมต่างๆ สถาปัตยกรรมของสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกวังให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ ทรงสร้างวัดจุฬามณีและพระวิหาร ทรงหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ พระชาติ ส่วนศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากขอมและสุโขทัย เช่น พระปรางค์วัดพุทไธสวรรค์ วัดราชบูรณะ เป็นต้น ส่วนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นเจดีย์แบบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เช่น เจดีย์วัดภูเขาทอง วัดชุมพลนิกายาราม เป็นต้น ประติมากรรม พระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมเรียกว่า พระพุทธรูปสมัยอู่ทองและตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยานิยมสร้างพระพุทธรูปแบบทรงเครื่อง อย่างไรก็ตามสมัยกรุงศรีอยุธยาพระพุทธรูปมีลักษณะน่าเกรงขามและไม่งดงามเท่าสมัยสุโขทัย
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ คือการสร้างพระบรมมหาราชวัง ประติมากรรมชิ้นเอก คือ การแกะสลักประตูกลางด้านหน้าพระวิหารวัดสุทัศน์ และงานตกแต่งหน้าบรรณพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
งานจิตรกรรมที่สำคัญ เช่น ภาพเขียนในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น ต่อมามีการปรับปรุงประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก แทนที่จะปรับปรุงประเทศตามแบบอยุธยา อย่างเช่นที่เคยเป็นมา การปรับปรุงประเทศของพระองค์ เป็นการปรับปรุงเพื่อเตรียมรับอารยธรรมตะวันตก ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลอยู่ในขณะนั้น ในเวลาต่อมารัชกาลที่ ๕ ได้ทำการปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณีและส่งเสริมวรรณกรรมและศิลปกรรมอีกหลายประการ ถึงแม้จะมีการผสมผสานกับวัฒนธรรมทางตะวันตกบ้างแต่ก็ยังมีรากฐานจากพระพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น
จึงกล่าวได้ว่า พุทธศิลป์ได้ผสมผสานและมีความสำคัญกับพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยตลอดมาจนกลายเป็นวิถีชีวิตอันเป็นศิลปวัฒนธรรมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ได้กล่าวไว้ว่า “ศิลปกรรมไทยในอดีตนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานความเข้าใจในพุทธปรัชญาอันลึกซึ้งที่หยั่งรากลึกลงในสายเลือดและจิตวิญญาณ ศิลปินทำงานด้วยแรงศรัทธาปสาทะอันมั่นคง โดยมุ่งหวังพระนิพพานอันเป็นเบื้องปลายของการหลุดพ้น”
อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า “ศิลปินไทยใช้ศิลปะเป็นสื่อเพื่อก้าวไปสู่จริยธรรม และศาสนาในสังคม ศิลปะเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเนรมิตความเป็นมนุษย์ของเราให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ศิลปกรรมจะเป็นสื่อวิเศษให้เราเข้าใจแก่นของความเป็นจริงได้อย่างซาบซึ้งและลึกซึ้ง...เป็นสื่อวิเศษ ช่วยน้อมใจเราให้ประจักษ์ซึ้งถึงองค์คุณค่าทิพย์ในพุทธปรัชญา ซึ่งแสดงออกมาอย่างเป็นทิพย์ที่สุดในแง่ศิลปะได้อย่างดี
สังคมไทยมีรากฐานทุกอย่างมาจากพระพุทธศาสนาไม่ว่าประเพณี วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ แม้กระทั่งลักษณะนิสัยใจคอของคนไทยก็มีพื้นฐานมาจากคำสอนทางพระพุทธศาสนา
ร่องรอยวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัฒนธรรมของยุคต่างๆ ได้ถูกบันทึกไว้ว่า มีสติปัญญาความสามารถเพียงใด ด้วยผลงานศิลปะนั้นเอง ศิลปะจึงเป็นรูปธรรมทางวัตถุและเป็นรูปธรรมทางจิตใจซึ่งแสดงออกมา ศิลปะกับวัฒนธรรมต่างเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ศิลปะเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์แห่งสังคมสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ปรากฏเพื่อแสวงหาผลที่จะได้รับทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ให้เกิดการยอมรับเพื่อความเข้าใจ การตัดสินใจ และการกระทำที่ถูกต้องดีงามจากผู้ชื่นชม คุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในศิลปะ จะมิใช่วัตถุที่มีเพียงความงามทางศิลปะเท่านั้น แต่จะเป็นสัญลักษณ์องค์แห่งการรับรู้ ช่วยแผ่ขยายพฤติกรรมทางจิตใจให้เกิดมโนภาพ ความคิดรวบยอด จินตนาการ และเป้าหมายที่ชัดเจนมั่นคง ซึ่งเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ให้มากกว่าเรื่องของความงามและความพึงพอใจ
เนื่องจากวัฒนธรรม เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่สังคมแต่ละยุคแต่ละกลุ่มยอมรับว่าดีงาม มีคุณค่าเป็นมรดกแห่งสังคมที่ควรรักษา และวัฒนธรรมก็มีสถานภาพเป็นนามธรรมทางจิตนิยม โดยศิลปะเองก็มีฐานะเป็นรูปธรรมของวัฒนธรรมนั้นๆ จึงชอบที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมแห่งยุคด้วยกรอบแห่งแบบแผนตามนั้น หลายอย่างของแต่ละยุคย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อแนวคิดและวัสดุสำหรับใช้ในการสร้างสรรค์ได้รับการคิดค้นให้แปลกออกไป บนความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ แท้จริงคือ การสะท้อนภูมิปัญญาความสามารถแห่งยุค
คนไทยและวัฒนธรรมไทยนั้นมีที่มาที่หลากหลายรวมกันอยู่ ณ บริเวณที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ แหลมทองแห่งนี้ ก่อนนั้นประเทศไทยไม่ได้กำหนดตามแผนที่ในปัจจุบันจึงเห็นได้ว่า บุคคลที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมแบบไทยที่อยู่ในประเทศไทยแห่งนี้มีอยู่ในประเทศอื่นๆ โดยรอบ ก็ถือได้ว่า คนไทยนั้นมีความยิ่งใหญ่ดังความหมายของคำว่า “ไท” ที่ใช้ในอดีต แต่ต่อมาคำว่า “ไทย” ได้ใช้ในความหมายว่า “เป็นอิสระ” มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยาเป็นต้นมา
วัฒนธรรมไทยเป็นลักษณะพหุวัฒนธรรม คือหลอมรวมวัฒนธรรมจากแหล่งอื่นๆ เข้าด้วยกับวัฒนธรรมเดิมของตน โดยรวมแล้ววัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาเป็นหลัก แต่ก็ประกอบด้วยวัฒนธรรมอื่นด้วย เช่น วัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมตะวันตก และตะวันออกกลาง ในส่วนของวัฒนธรรมที่ได้รับจากพระพุทธศาสนานั้นยังแบ่งเป็นพระพุทธศาสนาแบบมหายานและเถรวาท เดิมนั้นได้รับจากพระพุทธศาสนามหายาน จากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ต่อมาในกาลภายหลังนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา วัฒนธรรมไทยก็ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาเถรวาทมาโดยตลอด
วัฒนธรรมเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้คนไทยมีลักษณะผสมผสาน กลายเป็นอุปนิสัยของไทยที่โดยรวมแล้วเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนโยน สนใจทางจิตวิญญาณ คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รักในอิสระ รักสงบ ชอบสนุก ยิ้มง่าย เบิกบานง่าย ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอื่นได้ง่าย ปรับตัวตามสภาพได้ง่าย ลักษณะเช่นนี้มีส่วนให้คนไทยขาดความเป็นตัวของตัวเอง แต่กลับทำให้คนไทยอยู่ได้ในทุกที่
1 ความคิดเห็น:
ผมเข้ามาอ่านบทความก็หลายครั้งแล้วครับ แต่ไม่เคยแสดงความเห็นใดๆเลย ต้องยอมรับว่าบล็อกนี้มีบทความที่น่าสนใจเยอะจริงๆ
แท็ก ธรรมดา......
แสดงความคิดเห็น