วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

การแก้ปัญหาภาวะโรคร้อน



ปัญหาภาวะโลกร้อน

นักอนุรักษ์โลก (Global Preservationists) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิทยาศาสตร์ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรโลก กลุ่ม Green Peace หรือกลุ่มอื่นๆ ได้สังเกตภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับโลก โดยสังเกตจากอุณหภูมิสูงขึ้น คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ ฤดูกาลแปรปรวน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นถี่ในระยะนี้ แต่ละเหตุการณ์นั้นได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก เมื่อตรวจสอบสาเหตุหลักๆ ก็พบว่า หนึ่งในสาเหตุทั้งหลายก็คือ ภาวะก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect) และภาวะเรือนกระจกนี้ได้ คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน

การแก้ปัญหาภาวะโรคร้อน

“ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุและความดับของธรรมนั้น” ที่ขึ้นต้นด้วยข้อความนี้ซึ่งเป็นข้อความที่พระอัสสชิแสดงต่ออุปติสสะ (พระสารีบุตร) ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งที่เกิดมาเหตุทั้งนั้น การจะดับสิ่งที่เกิดก็ต้องดับที่เหตุ ด้วยเหตุนี้การแก้ภาวะโลกร้อน ก็คือการดับภาวะโลกร้อน การจะแก้สิ่งใด ก็แก้สาเหตุนั้น

มนุษย์ต้องทำความเข้าใจกฎของธรรมชาติ สิ่งใดมีเหตุ สิ่งนั้นก็ต้องมีผล เมื่อกฎเหล่านี้ถูกแทรกแซง ผลก็ต้องปรากฏไปตามกฎของมัน ไม่มีทางหลีกเลี่ยง เป็นความแน่นอน ในขณะเดียวกัน ถ้าหากปฏิบัติตามกฎ รู้เหตุรู้ผล ก็ทำให้แก้ไขปัญหาได้ ในพระพุทธศาสนาได้แสดงกฎของธรรมชาติ เรียกว่า นิยาม คือ ความแน่นอน ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ มี ๕ ประการ คือ
๑) อุตุนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะดินน้ำอากาศ และฤดูกาล อันเป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษย์ (Physical laws)

๒) พีชนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ มีพันธุกรรม สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย (Biological Laws)

๓) จิตตนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงาน หน้าที่ของจิต (Psychic Law)

๔) กรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ กระบวนการให้ผลของการกระทำ (Karmic Laws)

๕) ธรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันแห่งสิ่งทั้งหลาย (Causality and Conditionality Laws)

สาเหตุมีทั้งสาเหตุภายในคือ สาเหตุจากมนุษย์เอง และสาเหตุภายนอก คือสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งสองสาเหตุนั้น เมื่อมาพิจารณาก็สามารถที่จะดับสาเหตุภายในได้ สาเหตุภายนอกนั้นทำไม่ได้ เปรียบเหมือนตัวอย่างที่ได้ยกแสดงไว้ตั้งแต่ต้นว่า เปรียบเหมือนร่างกายที่ทรุดโทรมไปในแต่ละวัน เราไม่สามารถห้ามสาเหตุที่เป็นกฎธรรมชาติอย่างนั้นได้ ร่างกายนี้ต้องทรุดโทรมไป เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดา และในที่สุดก็ต้องแตกสลายไป เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน โลกและจักรวาลก็เช่นเดียวกันก็ต้องถึงกาลที่จะสิ้นสูญไปตามธรรมดาขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น

ผู้เป็นโรคจะแก้ปัญหาได้ก็คือ แก้จากภายใน โดยการดูแลรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว ป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นใหม่ ดูแลรักษาสุขภาพอนามัยให้สมบูรณ์เพื่อไม่ให้โรคเข้ามาได้ง่าย โลกก็เหมือนกันแก้ได้โดยวิธีนี้ รักษาโรคของโลกที่เป็นอยู่แล้วคือพิษร้ายทั้งหลายที่ทำลายระบบนิเวศของโลก ป้องกันภัยไม่ให้เกิดโรคขึ้นใหม่โดยการไม่ให้มีแหล่งพิษภัยเหล่านั้นอีก จากนั้นก็ทำสุขภาพของโลกให้ดีโดยการช่วยกันดูแลรักษาระบบนิเวศของโลกให้ดำเนินไปตามปกติ

ภาวะโลกร้อนในความหมายทางพระพุทธศาสนาโลกนั้นหมายเอาโลกคือชีวิต ชีวิตก็คือโลก ได้แก่ ชีวิตของสรรพสัตว์นั่นเอง การดับภาวะโลกร้อนก็คือ การดับภาวะที่ชีวิตนี้รุ่มร้อน ชีวิตที่ถูกเผาผลาญด้วยพลังแห่งกิเลสทั้งหลาย จะดับภาวะโลกร้อนนี้ได้ที่ไหน ก็ดับที่สาเหตุ ได้แก่ ความยากทั้งหลาย หรือดับตัณหานั่นเอง เมื่อตัณหาดับภาวะแห่งโลกร้อนก็ดับ นี่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุดที่สุด

ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาของโลกที่เกี่ยวข้องและกระทบกับทุกส่วนของสรรพสิ่งบนโลก ปัจจัยหลักอยู่ที่ความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ขึ้นกับโลกนั้นเป็นปัจจัยทั้งทางการเปลี่ยนแปลงของโลกและการกระทำของมนุษย์ แน่นอนว่า ทุกสิ่งนั้นมีความเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา แต่โลกที่เป็นโรคเพราะน้ำมือมนุษย์นั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการดูแลและรักษาโรคของโลกได้

วิธีรักษานั้นก็ต้องเริ่มที่เข้าใจระบบ ปรับพฤติกรรม และสร้างประโยชน์ หรือที่เข้าใจก็คือ แก้ไขได้ด้วยศีล สมาธิและปัญญานั่นเอง ทั้ง ๓ กรอบนี้สามารถแก้ไขได้ทั้งภาวะโลกร้อนและภาวะใจร้อน คือภาวะเรือนกระจกของโลกและของจิต

ภาวะเรือนกระจกของโลกคือ การอบขึ้นของปฏิกิริยาของก๊าซและไอน้ำ ภาวะเรือนกระจกของจิตคือ ปรากฏการณ์เรือนกิเลส ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ใดก็สร้างความเสียหายให้แก่โลกและจิตได้ทั้งนั้น จำเป็นต้องแก้ไขอย่าให้ปรากฏการณ์นี้เลวร้าย เผาไหม้โลกและมนุษย์ให้สิ้นไปเพราะน้ำมือของมนุษย์เอง

อย่าให้โลกนี้ต้องถูกเผารนด้วยไฟคือ ราคะ โทสะและโมหะ
เป็นภาวะโลกร้อนที่อันตรายและน่ากลัวอย่างยิ่ง ต้องรีบลดและขจัดออกไปให้หมดไป


(อ่านต่อในบทความวิชาการเสนอการสัมมนาภาวะโลกร้อน)

1 ความคิดเห็น:

nid กล่าวว่า...

อ่านแล้วมีแง่คิดดีมากๆ