วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

การแก้ปัญหาภาวะโรคร้อน



ปัญหาภาวะโลกร้อน

นักอนุรักษ์โลก (Global Preservationists) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิทยาศาสตร์ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรโลก กลุ่ม Green Peace หรือกลุ่มอื่นๆ ได้สังเกตภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับโลก โดยสังเกตจากอุณหภูมิสูงขึ้น คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ ฤดูกาลแปรปรวน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นถี่ในระยะนี้ แต่ละเหตุการณ์นั้นได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก เมื่อตรวจสอบสาเหตุหลักๆ ก็พบว่า หนึ่งในสาเหตุทั้งหลายก็คือ ภาวะก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect) และภาวะเรือนกระจกนี้ได้ คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน

การแก้ปัญหาภาวะโรคร้อน

“ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุและความดับของธรรมนั้น” ที่ขึ้นต้นด้วยข้อความนี้ซึ่งเป็นข้อความที่พระอัสสชิแสดงต่ออุปติสสะ (พระสารีบุตร) ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งที่เกิดมาเหตุทั้งนั้น การจะดับสิ่งที่เกิดก็ต้องดับที่เหตุ ด้วยเหตุนี้การแก้ภาวะโลกร้อน ก็คือการดับภาวะโลกร้อน การจะแก้สิ่งใด ก็แก้สาเหตุนั้น

มนุษย์ต้องทำความเข้าใจกฎของธรรมชาติ สิ่งใดมีเหตุ สิ่งนั้นก็ต้องมีผล เมื่อกฎเหล่านี้ถูกแทรกแซง ผลก็ต้องปรากฏไปตามกฎของมัน ไม่มีทางหลีกเลี่ยง เป็นความแน่นอน ในขณะเดียวกัน ถ้าหากปฏิบัติตามกฎ รู้เหตุรู้ผล ก็ทำให้แก้ไขปัญหาได้ ในพระพุทธศาสนาได้แสดงกฎของธรรมชาติ เรียกว่า นิยาม คือ ความแน่นอน ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ มี ๕ ประการ คือ
๑) อุตุนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะดินน้ำอากาศ และฤดูกาล อันเป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษย์ (Physical laws)

๒) พีชนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ มีพันธุกรรม สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย (Biological Laws)

๓) จิตตนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงาน หน้าที่ของจิต (Psychic Law)

๔) กรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ กระบวนการให้ผลของการกระทำ (Karmic Laws)

๕) ธรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันแห่งสิ่งทั้งหลาย (Causality and Conditionality Laws)

สาเหตุมีทั้งสาเหตุภายในคือ สาเหตุจากมนุษย์เอง และสาเหตุภายนอก คือสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งสองสาเหตุนั้น เมื่อมาพิจารณาก็สามารถที่จะดับสาเหตุภายในได้ สาเหตุภายนอกนั้นทำไม่ได้ เปรียบเหมือนตัวอย่างที่ได้ยกแสดงไว้ตั้งแต่ต้นว่า เปรียบเหมือนร่างกายที่ทรุดโทรมไปในแต่ละวัน เราไม่สามารถห้ามสาเหตุที่เป็นกฎธรรมชาติอย่างนั้นได้ ร่างกายนี้ต้องทรุดโทรมไป เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดา และในที่สุดก็ต้องแตกสลายไป เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน โลกและจักรวาลก็เช่นเดียวกันก็ต้องถึงกาลที่จะสิ้นสูญไปตามธรรมดาขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น

ผู้เป็นโรคจะแก้ปัญหาได้ก็คือ แก้จากภายใน โดยการดูแลรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว ป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นใหม่ ดูแลรักษาสุขภาพอนามัยให้สมบูรณ์เพื่อไม่ให้โรคเข้ามาได้ง่าย โลกก็เหมือนกันแก้ได้โดยวิธีนี้ รักษาโรคของโลกที่เป็นอยู่แล้วคือพิษร้ายทั้งหลายที่ทำลายระบบนิเวศของโลก ป้องกันภัยไม่ให้เกิดโรคขึ้นใหม่โดยการไม่ให้มีแหล่งพิษภัยเหล่านั้นอีก จากนั้นก็ทำสุขภาพของโลกให้ดีโดยการช่วยกันดูแลรักษาระบบนิเวศของโลกให้ดำเนินไปตามปกติ

ภาวะโลกร้อนในความหมายทางพระพุทธศาสนาโลกนั้นหมายเอาโลกคือชีวิต ชีวิตก็คือโลก ได้แก่ ชีวิตของสรรพสัตว์นั่นเอง การดับภาวะโลกร้อนก็คือ การดับภาวะที่ชีวิตนี้รุ่มร้อน ชีวิตที่ถูกเผาผลาญด้วยพลังแห่งกิเลสทั้งหลาย จะดับภาวะโลกร้อนนี้ได้ที่ไหน ก็ดับที่สาเหตุ ได้แก่ ความยากทั้งหลาย หรือดับตัณหานั่นเอง เมื่อตัณหาดับภาวะแห่งโลกร้อนก็ดับ นี่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุดที่สุด

ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาของโลกที่เกี่ยวข้องและกระทบกับทุกส่วนของสรรพสิ่งบนโลก ปัจจัยหลักอยู่ที่ความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ขึ้นกับโลกนั้นเป็นปัจจัยทั้งทางการเปลี่ยนแปลงของโลกและการกระทำของมนุษย์ แน่นอนว่า ทุกสิ่งนั้นมีความเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา แต่โลกที่เป็นโรคเพราะน้ำมือมนุษย์นั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการดูแลและรักษาโรคของโลกได้

วิธีรักษานั้นก็ต้องเริ่มที่เข้าใจระบบ ปรับพฤติกรรม และสร้างประโยชน์ หรือที่เข้าใจก็คือ แก้ไขได้ด้วยศีล สมาธิและปัญญานั่นเอง ทั้ง ๓ กรอบนี้สามารถแก้ไขได้ทั้งภาวะโลกร้อนและภาวะใจร้อน คือภาวะเรือนกระจกของโลกและของจิต

ภาวะเรือนกระจกของโลกคือ การอบขึ้นของปฏิกิริยาของก๊าซและไอน้ำ ภาวะเรือนกระจกของจิตคือ ปรากฏการณ์เรือนกิเลส ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ใดก็สร้างความเสียหายให้แก่โลกและจิตได้ทั้งนั้น จำเป็นต้องแก้ไขอย่าให้ปรากฏการณ์นี้เลวร้าย เผาไหม้โลกและมนุษย์ให้สิ้นไปเพราะน้ำมือของมนุษย์เอง

อย่าให้โลกนี้ต้องถูกเผารนด้วยไฟคือ ราคะ โทสะและโมหะ
เป็นภาวะโลกร้อนที่อันตรายและน่ากลัวอย่างยิ่ง ต้องรีบลดและขจัดออกไปให้หมดไป


(อ่านต่อในบทความวิชาการเสนอการสัมมนาภาวะโลกร้อน)

วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๘)

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

ทหารหลายสิบนาย ขี่ม้าตรวจตรานอกค่าย
ภายในค่ายก็มีการเดินยามอย่างเข้มแข็ง
กระโจมหลากหลายสีจัดตั้งอยู่อย่างถูกต้องตามตำราพิชัยสงคราม


กระโจมแทบทุกหลังตั้งอยู่บนล้อ มีแอกเทียมม้าสี่ตัวบ้าง หกตัวบ้าง
เหล่าเชลยทำงานกันอย่างน่าสงสาร
บ้างทำกระโจมเพิ่มเติม บ้างหุงหาอาหาร บ้างหาน้ำไปให้กระโจมต่าง ๆ เรียงราย
สตรีที่งามสะคราญทุกคน ไม่ว่านางจะมีสามีหรือไม่

ก็ถูกบังคับให้ปรนนิบัติพวกหัวหน้าทหารตามกระโจม
เสียงร้องไห้ เสียงก่นด่าดังมาพร้อมกับเสียงทุบตี
มีบ้างที่ถูกหามออกมาจากกระโจมด้วยร่างกายพร้อมด้วยเลือดอาบกาย นางได้ยอมพลีชีวิตแล้ว

เมื่อฟ้าจะเล่นตลกกับคน
มันจะเล่นจนถึงที่สุด
มีแต่ต้องหัวเราะใส่ชะตาเท่านั้น
จึงจะคลายความคับแค้นได้บ้าง

ทินเล่ถูกให้ทำหน้าที่เติมน้ำให้แก่กระโจมต่างๆ พร้อมกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง
เพียงสามวันแรกมันก็ไม่อาจลุกขึ้นได้อีกเพราะพิษไข้
“ลากมันลุกขึ้นไปทำงาน” ทหารคนหนึ่งยังคงยืนถือแส้สั่งให้เชลยที่อยู่ตรงนั้นลากมันไปทำงาน
“ให้มันหายไข้ก่อนเถอะ” ชาวบ้านที่ร่วมทำงานร้องขอ




เสียงแส้ฟาดไปยังชายผู้นั้น “ลากมันไปตักน้ำ” เมื่อไม่มีผู้ใดขยับ มันจึงกล่าวขึ้น “เมื่อทำงานไม่ได้ก็อย่าอยู่เลย” พร้อมกับเงื้อดาบหมายจะฟันลง
“ก็ได้” ทินเล่กัดฟันพูด….”พวกท่านไปทำงานเถอะไม่ต้องห่วงเรา”
มันพยุงร่างเกาะตามฝาผนังยืนหยัดขึ้น

เมื่อฟ้าจะมอบความเป็นใหญ่ให้คน
มันจะเคี่ยวกรำร่างกายก่อน
ขอเพียงมีลมหายใจ
ก็ยังคงมีวันสมปณิธาน


มีรอยริ้วของแส้บนแผ่นหลังของมันปรากฏชัด
เลือดที่แห้งกรังเป็นสะเก็ดมองดูคล้ายเป็นศิลปกรรมหนึ่ง เป็นสิ่งที่มนุษย์ด้วยกันเองทำขึ้น
มันเริ่มแข็งแกร่งขึ้นมากกว่าเดิม
มันยังคงยืนหยัดอยู่ได้ หนึ่งเดียวที่ทำให้มันต้องมีชีวิตตอยู่

ก็เพราะยังไม่ได้ทำตามปณิธาน
ตราบที่ปณิธานของมันยังไม่บรรลุ
มันก็จะต้องมีชีวิตต่อไป
สิ่งที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ก็คือ ความหวัง
หากสูญสิ้นความหวังแล้ว แม้จะมีชีวิตก็เฉกเช่นไร้ความหมาย

ความหนักแน่นเยือกเย็นในเวลาประสบเคราะห์กรรม
เป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ความหนักแน่นเยือกเย็น
ดูเหมือนไม่ยากเย็น
แต่ผู้ที่มีความเยือกเย็นเช่นนี้ได้
ต้องฝึกฝนมานานเท่าใด?!

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตถาทัศนวัชรยาน


ตถาทัศนวัชรยาน
ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์

พุทธศาสนาวัชรยานในทิเบตเป็นวิวัฒนาการของพุทธตันตระในอินเดีย พุทธตันตระเป็นการปฏิบัตินำความรู้สึกที่เป็นลบมาแปลงให้เกิดเป็นพลังที่เป็นบวกได้ เป็นที่เข้าใจกันได้ว่าในสภาพของการรู้แจ้งจะไม่ถูกทำลายด้วยพลังที่เป็นลบต่างๆ ไม่มีพิษใดๆ ที่จะทำให้สภาพการรู้แจ้งนี้เป็นพิษไปด้วย สภาพการรู้แจ้งนี้เป็นสภาพซึ่งไม่มีข้อแตกต่างระหว่างดีกับไม่ดี การปฏิบัติวัชรยานสามารถทำให้เราสามารถบรรลุถึงจุดนั้นได้ด้วยเวลาอันสั้น นี่จึงเป็นความสงสัยต่อความเป็นไปได้ของหลักการและแนวทางดังกล่าวแห่งตันตระหรือวัชรยานที่นำเอากิเลสมาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติธรรม

ประเด็นนี้กลายเป็นเป้าโจมตีของพุทธศาสนานิกายอื่นๆ ที่มองเห็นว่า การทำเช่นนี้เป็นการนำพระพุทธศาสนาไปเกลือกกลั้วกับกิเลส เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะพระพุทธศาสนานั้นให้หลีกเลี่ยงกิเลส การใช้ตัณหาถมตัณหานั้นไม่อาจเป็นไปได้ พึงทราบก่อนว่า ตันตระกับพุทธตันตระนั้นเป็นคนละอย่างกัน และยิ่งเป็นวัชรยานก็ยิ่งมีลักษณะที่พิเศษขึ้นไปอีก ดุจดังการที่พระพุทธศาสนายกระดับการปฏิบัติออกจากสองทางที่เป็นทางสุดโต่ง ซึ่งก็เป็นอีกทางหนึ่งอยู่นั่นเอง แต่เป็นทางพิเศษ วัชรยานนั้นเป็นวิธีปฏิบัติของผู้ที่พร้อมไปด้วยวินัยแล้ว คือสมบูรณ์พร้อมไปด้วยพลังของสติ พลังของมนสิการอย่างพอเพียง พลังอันนี้จะเปลี่ยนกิเลสให้เป็นโพธิ์ได้ กล่าวคือเมื่อกิเลสปรากฏก็ตามรู้ ตามเห็นมันด้วยพลังของสติ พลังของมนสิการอย่างพอเพียง ดังนั้นพลังอันนี้จะเปลี่ยนกิเลสให้เป็นโพธิได้ เมื่อนั้นก็จะเกิดความสว่างทางปัญญา หากปราศจากกิเลสก็ไม่มีปัญญา กิเลสนั่นเองทำให้ได้ปัญญา

สำหรับสิทธาถือการเสพมัจฉา มังสะ เมรยะ เมถุน และข้าวสาลี กินเหล้าดื่มสุราเพื่อปลุกพลังชีวิตให้ตื่นตัวขึ้นให้มีพลังขึ้น เป็นเพียงพลังหนึ่ง คือให้อาหารเหล่านั้นเข้าไปเป็นพลัง (Energy) เพื่อทำให้ชีวิตมี “ไฟ” สูง ชาวตันตระนอกเหนือเวลาปฏิบัติแล้ว เป็นผู้มีระเบียบวินัยชั้นสูง ดังนั้นอาการที่มีพลังยุ่งกับพลังต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่ความเหลวแหลก แต่มีการเขียนให้เหลวไหล เลอะเลือนไป เพราะผู้เขียนถึงไม่ทราบถึงเจตนาและแนวทาง ดุจดังการเห็นคนเดินบนมีดได้ ผู้ไม่เชื่อและทำไม่ได้ก็ต้องเขียนให้เห็นว่า นั่นเป็นการหลอกลวง ซึ่งเป็นการโจมตีที่อคติต่อสิ่งที่ตนไม่ทราบ

ชาววัชรยานตันตระนั้น เป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยชั้นสูง ควบคุมตัวเองได้อย่าดี มีพลังสติเต็มเปี่ยม มีพลังสุตะสูงส่ง พลังเหล่านี้คือ สุตพละ สติพละ ปัญญาพละสูง การปฏิบัติวัชรยานเพื่อให้เกิดญาณสายฟ้า ข้อควรระวังอย่างยิ่งคือ ผู้ปฏิบัติต้องมีสติชั้นสูง สิ่งนี้ไม่เป็นสาธารณะต่อผู้ที่ขาดสติ ดังนั้น สายนี้จึงเรียกตัวเองว่า สายกระซิบความหูต่อหู ( Whispering Line ) เป็นการกระซิบตัวต่อตัวเท่านั้น ไม่ใช่การสอนในที่สาธารณะ ซึ่งผู้ไม่มีพลังพอเพียงก็จะถูกทำลายย่อยยับ
กิเลสตัณหาไม่ใช่อะไรอื่น แท้จริงเป็นรูปหนึ่งของปัญญา เพียงแต่เมื่อพลังไม่พอ กิเลสก็ทำลายผู้นั้น เมื่อกิเลสปรากฏขึ้นในจิตใจมนุษย์ เกิดฟั่นเฟือนทางสติทันที ต่อจากนั้นก็คือการยึดถือความทุกข์ทรมานต่าง ๆ แต่ถ้าหากกิเลสสัมผัส ในขณะที่กิเลสสัมผัสมีความไม่ฟั่นเฟือน มีความตั้งมั่นของสติ มีเจตนารมณ์บริสุทธิ์ มีเจตนาที่ผ่องแผ้ว พลังของสติยิ่งมากตามพลังของกิเลส กิเลสมาก กิเลสลึก ปัญญาก็จะมาก ปัญญาก็จะลึก

ดังนั้นปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงกิเลส เพราะว่าตามธรรมดา ไม่ว่าชาววัชรยาน หรือชาวไหนๆ มนุษย์ทุกผู้นามที่ไม่ได้บรรลุพระอริยะต่างก็มีกิเลสกันอยู่แล้ว วิถีโลกมนุษย์ก็ร่วมเพศกันอยู่แล้ว มีราคะ โทสะ โมหะเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามนุษย์ ไม่รู้จักใช้พลังอันนั้นให้ก่อเกิดประโยชน์ทางศาสนธรรม พอได้ยินว่าการนำเมถุนมาเป็นทางของการปฏิบัติ ก็ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็กระทำอยู่แล้ว เป็นเหมือนกับการอยู่กับกองของสกปรกแต่พอมาคนบอกว่า อยู่กับของสกปรกอย่างมีศิลปะสิ กลับไม่ชอบใจที่จะฟังและไม่พอใจที่จะได้ยิน จึงทำให้สูญเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้ไป ไม่เข้าใจต่อขบวนการเหล่านี้ ไม่มีเจตนาบริสุทธิ์ต่อธรรมะ ไม่มีความมุ่งมั่น ไม่ศรัทธาต่อทางของความหลุดรอดและข้อสำคัญคือ ไม่มีพลังของสติพอเพียงที่จะเดินผ่านสิ่งเหล่านี้อย่างอิสระ
ดังนั้นผู้คนจึงหนี หลบเลี่ยงกิเลส การที่เราหลบเลี่ยงกิเลสไปโดยที่เราไม่สามารถเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ นั่นคือ เมื่อมันหวนกลับมาใหม่ก็ทวีขึ้น แต่วิธีการของวัชรยานคือการเข้าไปสัมผัสกับกิเลส ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี กิเลสชนิดหนึ่งชนิดใดที่ปรากฏขึ้นเมื่อเข้าไปสัมผัสมัน เป็นอันเดียวกับมัน เมื่อเป็นเช่นนี้พลังของสติปัญญาจะดูดพิษร้ายออกมาได้ เรื่องนี้ไม่สู้จะเป็นสาธารณะต่อผู้ที่ไม่เจริญภาวนา คิดเอาด้วยเหตุผลสามัญย่อมเข้าใจได้ไม่สมบูรณ์

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะโดยมากมักคิดด้วยระบบตรรกะระบบหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อกิเลสโจมตี ปัญญาก็หมด ก็คือคนโง่ ถูกตัณหาราคะทำร้าย ยิ่งเข้าไปยิ่งเกี่ยวก็ยิ่งโง่นี่เป็นตรรกะ แต่อีกตรรกะหนึ่ง เมื่อมีสติเข้มแข็ง พอมีกิเลสเข้ามาสัมผัส ก็ไม่หวั่นไหว มีความตั้งมั่น มีสมาธิ เจตนาที่ดี ความเข้าใจที่ถ่องแท้และพอเพียง ก็สามารถทำให้กิเลสถูกดูดพิษร้ายออกได้ ไม่กลายเป็นปัญหาอีก เมื่อไม่เป็นปัญหาพลังก็เสริมสร้าง ดังนั้นกิเลสนั่นเอง ที่กลับกลายเป็นปัญญา ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับฐานมนสิการ ๔ ประการด้วย ได้แก่

๑) ฐานมโนนิเวศน์ คือการนำจิตเข้าไปสู่ฐานเดิม ให้จิตรับทราบว่า อะไรเข้ามา ก็รู้ อะไรเคลื่อนไหว ก็รู้ อะไรมีผลกระทบ ก็รู้ เพราะจิตเข้าประจำฐานเดิม คนทั่วไปปล่อยจิตไปตามกระแสจึงไม่เห็นความเคลื่อนไหวของอารมณ์

๒) ฐานวจีจิต คือ การเข้าไปตระหนักรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น เรียกว่า รู้จิต เห็นจิต สนทนากับจิต เป็นวาจาที่พร่ำอบรมจิต ให้จิตจดจ่ออยู่ที่ฐานให้มั่นคง ถ้าไม่ใช้พลังวจีจิต จิตจะเคลื่อนออกจากฐานได้ง่าย ฐานวจีจิตจะช่วยพยุงฐานแรกให้เข้มแข็ง

๓) ฐานวิเวกจิต คือฐานสงบเงียบ ไร้ศัพท์สำเนียงใดๆ ทุกอย่างที่จรมา ไม่ว่าเป็นกิเลสหรือไม่ใช่กิเลส ต่างสลายกลายเป็นความบริสุทธิ์ กิเลส ตัณหา ราคะ ที่เข้ามาแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่บริสุทธิ์หมดสิ้น เพราะเข้าถึงสภาวะแห่งความไร้สัญลักษณะใดๆ ไร้มโนคติ ไร้อัตตา ไร้สังสารวัฏ ไร้อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นเพียงความวิเวกอยู่ภายใน

๔) ฐานยถาภูตทัศนจิต คือฐานที่รู้แจ้งถึงสรรพสิ่งในมีความเป็นจริงตามสภาวะของมันอย่างนั้น ไม่มีผลต่อจิตอีกต่อไป ดังเช่นเป็นการบรรลุธรรมของพระพาหิยะเมื่อได้ฟังพระดำรัสว่า “ดูก่อนพาหิยะ เมื่อตาเห็นรูป สักแต่เห็น หูได้ยินเสียง สักแต่ได้ยิน จิตรู้ธรรมารมณ์ใด สักแต่รู้ เมื่อนั้นเธอจะไม่ปรากฏในโลกนี้ โลกหน้า ในโลกทั้งสอง” ดุจดังการบรรลุธรรมของพระอานนท์ที่เห็นแจ้งในสิ่งที่เป็นจริงอันเกิดจากจิตที่ผ่านภาวะแห่งฐานจิตวิเวก

วัชรยานมุ่งหมายต่อฐานทั้ง ๔ ประการนี้ โดยใช้เครื่องมือทุกประการที่มีอยู่ ยิ่งเครื่องมือมีพลังแรง สติและปัญญาก็แรงตามไปด้วย ในที่นี้ใช้กิเลสเป็นเครื่องมือ เพราะกิเลสมีอยู่กับตนอยู่แล้ว ความต่างกันกับบุคคลธรรมดา ก็คือ ถือเอากิเลสเป็นเป้าหมาย วัชรยานถือกิเลสเป็นเครื่องมือ เป็นการใช้เคมีชีวะเปลี่ยนเคมีชีวะ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในออกมา มิใช่เกิดจากการพร่ำสอนจากภายนอกเข้าไป เมื่อเคมีชีวะสัจจะเปลี่ยน ทุกอย่างจะเปลี่ยนตาม ทุกกิริยาอาการจะเป็นจริยธรรมโดยอัตโนมัติทันที

กระบวนการเหล่านี้เป็นเหมือนการใช้ไฟดับไฟ การกรอกน้ำเข้าหูเพื่อเอาน้ำออกหู การฉีดวัคซีน (เชื้อโรค) เพื่อป้องกันเชื้อ การฉีดเซรุ่ม (พิษงู) เพื่อป้องกันพิษงู เป็นเหมือนแพทย์ผู้ฉลาดถือยาพิษแล้วใช้ยาพิษให้เป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรค สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องอนุมานเอาไม่ได้ตามตรรกะธรรมดา เพราะพิษก็ต้องเป็นพิษ ไม่อาจทราบได้ว่า ถ้าใช้พิษจะดับพิษได้ ความเข้าใจเฉพาะฝ่ายบวก โดยไม่เข้าใจลักษณะฝ่ายลบจึงไม่สามารถเห็นอีกมุมหนึ่งได้ ตามหลักคณิตศาสตร์สิ่งที่เป็นลบสองตัวทำให้สิ่งนั้นเป็นบวกได้ บุคคลที่อ่านและศึกษาวัชรยานหรือพุทธตันตระต้องศึกษาในแง่มุมนี้ คือแง่มุมลบเพื่อให้เป็นบวก ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัชรยาน

(ติดตามในหนังสือพระพุทธศาสนามหายาน)


วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๗)



(ต่อจากฉบับที่แล้ว)


ที่แท้สัตว์ที่เหี้ยมโหดที่สุด ดุร้ายที่สุด
ก็คือคนนี่เอง
เพราะคนทำเรื่องราวบางประการ ที่บอกผู้ใดไปยังไม่อยากเชื่อว่าเป็นฝีมือคนด้วยกัน

ทินเล่ ผ่านหมู่บ้านที่เงียบสงบ
แม้แต่สุนัขที่เคยเห่าก็คล้ายดั่งมองไม่เห็นคน
มันหยิบถุงหนังน้ำเขย่าดู ยังมีน้ำเหลืออยู่
เนื้อวัวตากแห้งยังคงแขวนอยู่ที่ข้างรั้วบ้าน มันหยิบมาริ้วหนึ่ง อย่างน้อยมันก็อยากบอกแก่เจ้าของ

ผู้คนไปไหนหมด?!
มันไม่ทราบจะทำอย่างไรต่อไป?
เส้นทางนี้จะไปถึงที่ใด?
จะต้องเดินทางอีกนานเท่าใดจึงจะถึงวิกรมศิลา

อาชากลุ่มหนึ่งห้อตะบึงมาด้วยความรวดเร็ว ผู้นั่งบนอาชาเหล่านั้นสวมชุดดำเข้มผูกเกราะทองแดงกันสิ้น คาดศีรษะด้วยผ้าขาว หลังคาดกระบี่ ถือทวนในมือ ใบหน้าสีเหลืองดุจดังผู้ไร้ความรู้สึก ไม่มีรอยยิ้มจากพวกมัน

เสียงอาชาร้องด้วยเสียงอันดังเมื่อถูกรั้งบังเหียนอย่างรวดเร็ว
“ท่านหัวหน้า คาดว่าเราได้คนทำงานอีกหนึ่ง มันคงนึกไม่ถึงว่าเราจะตามมาทีหลังกองทัพ” คนผู้หนึ่งพูดด้วยท่าทางดีใจ

“ให้มันไปกับเรา ต้องไปให้ทันก่อนค่ำ” ชายร่างใหญ่ที่นั่งบนอาชาสีแดงคล้ำ บนผ้าที่คาดศีรษะยังสวมหมวกมีผู่สีดำออกคำสั่ง

ยังไม่ทันที่ทินเล่จะคิดอย่างไรต่อไป ชะตาชีวิตที่ไม่ได้กำหนดไว้ก็มาเผชิญ

มนุษย์มักมีเผชิญเหตุการณ์ที่ตนเอง
ไม่ได้คาดหมายเช่นนี้ไม่มากก็น้อย
มนุษย์มักไม่ได้คาดหมายให้มันเป็นไป
ถ้ามันทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนก็คงไม่เลือกเส้นทางเดินนี้

น่าเสียดายเพราะมนุษย์ไม่อาจทราบนี่เอง
จึงทำให้มีเหตุการณ์ทั้งที่น่ายินดี
และน่ารัดทดมากมาย

สิ่งที่สำคัญหาใช่อยู่ที่อะไรจะเกิดขึ้น แต่กลับอยู่ที่เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไร จะเผชิญกับมันอย่างไร

บางครั้งชีวิต ก็ไม่ใช่เราเองจะตัดสินเองเสมอ

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๖)

(ต่อฉบับที่แล้ว)

















ดวงอาทิตย์ลดความรุนแรงลงแล้ว
มันยิ่งไม่เข้าใจว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้น

"ความอยากรู้เป็นพลังขับเคลื่อนประการหนึ่ง
ยิ่งอยากรู้ก็ยิ่งไคว่คว้าแสวงหา
เป็นเหตุให้คลายความเหนื่อยล้าได้"

บ้านเรือนไร้ผู้คน
ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือบางหลังยังมีควันไฟครุกรุ่นเผาไหม้
กลิ่นควันไฟคล้ายเผาสิ่งมีชีวิตอะไรบางอย่างจนทำให้อยากอาเจียน

ชายชราผู้หนึ่งนั่งเงียบซึมอยู่ข้างเกวียนคร่ำคร่า
ดวงตาทั้งสองของเขาขุ่นมัวไม่ทราบว่าเคยเห็นสิ่งใดหรือไม่

ไม่ทราบว่าดวงตาคู่นั้นสูญเสียน้ำตาไปมากเท่าใด?
ริมฝีปากมีรอยช้ำเพราะถูกฟันกัดแน่นคราหนึ่ง เสียงบ่นพึมพำไม่ได้ความดังแผ่วเบาไม่ได้ศัพท์
เสียงเคาะไม้เป็นจังหวะดังมาพร้อมกับเสียงหนึ่ง










...ซ่างซัว ชายแดนกันดาร
เงียบสงบไร้ผู้รุกราน
ครอบครัวเป็นสุขสำราญ
บัดนี้…ถูกเผาผลาญย่ำยี

โอ…ฟ้าไหนว่าเมตตายุติธรรม
กรรมดีย่อมได้ดีน้อมนำ
ใยต้องให้ข้าทนทุกข์

จมอยู่ในความจำ
เสาเรือนซ่างซัว

เป็นแต่ซากผงธุลี เอย….

ทินเล่ไม่ทราบเป็นผู้ใดคร่ำครวญ แต่เพียงทราบว่า
เสียงขับขานนั้นเศร้าจับใจ เสียงขับขานนั้นมาจากจิตใจทุกข์ทนยิ่งแล้ว

เป็นความจริงยิ่ง
"บทกวีที่งดงามไพเราะ
ไม่ทราบแลกมาด้วยน้ำตาเท่าใด"





วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

ผ่าวัฒนธรรมไทย







ผ่าวัฒนธรรมไทย
ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์



มาบัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมาดูเรื่องวัฒนธรรมได้แล้ว เพราะประเทศไทยไม่ได้ให้ความสนใจด้านนี้จึงทำให้ประเทศนี้ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง ใครก็ตามที่ไม่สามารถเข้าใจความเป็นตัวตนของตนได้ชัดเจน ผู้นั้นก็ไม่อาจทำอะไรที่จะทำอย่างมีเป้าหมายและทิศทางได้ ประเทศไทยก็คือ ตัวตนหนึ่งที่ถูกลบเลือนแทบจะสูญสลายไปจากความรู้สึกทางวัฒนธรรม โชคดีที่ประเทศนี้มีรากฐานทางวัฒนธรรมที่บุรพมหากษัตริย์และปูชนียบุคคลได้สร้างไว้อย่างเข้มแข็งจึงยังคงรักษาโครงสร้างนี้ไว้ได้


เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย

เอกลักษณ์หรือลักษณะประจำชาติในทางวิชากรรมความหมาย ๒ ประการ คือ ประการแรก หมายถึง ลักษณะที่เป็นอุดมคติซึ่งสังคมต้องการให้คนในสังคมนั้นยึดมั่นเป็นหลักการดำเนินชีวิต เป็นลักษณะที่สังคมเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามและให้การเทิดทูนยกย่อง อีกประการหนึ่ง หมายถึงลักษณะนิสัยที่คนทั่วไปในสังคมนั้นแสดงออกใสถานการณ์ต่างๆ เช่น ในการทำงาน การพักผ่อนหย่อนใจ กรติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น และในการดำเนินชีวิตทั่วไปในสังคมเป็นลักษณะนิสัยที่พบคนส่วนใหญ่ของประเทศ และส่วนมากมักจะแสดงออกโดยไม่รู้ตัวเพราะเป็นเรื่องของความเคยชินที่ปฏิบัติกันมาอย่างนั้น เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยที่เด่นๆ มีดังนี้

๑) ความรักอิสรภาพหรือความเป็นไท

คนไทยมีลักษณะนิสัยไม่ต้องการอยู่ใต้อำนาจบังคับของผู้อื่น ไม่ชอบการควบคุมบังคับเข้มงวด ไม่ชอบการกดขี่หรือให้ผู้อื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวสั่งการในรายชะเอียดในการทำงานและการดำเนินชีวิตส่วนตัว คนไทยเป็นที่หยิ่งและรักศักดิ์ศรีของตนเอง การบังคับน้ำใจกันหรือฝืนความรู้สึกของกันและกันถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ จะถือความต้องการและความคิดเห็นของแต่ละคนเป็นใหญ่ในทำนอง “ทำอะไรได้ดังใจคือไทแท้”

คนไทยไม่ต้องการเอาตัวเองเข้าไปผูกพันกับเรื่องของคนอื่นและไม่ต้องการเข้าไปมีพันธกรณีซึ่งจะจำกัดเสียภาพของตนเองซึ่งลักษณะนิสัยเช่นนี้ทำให้สังคมไทยดำรงคามเป็นชาติเอกราชมาได้ทุกวันนี้ และช่วยป้องกันมิให้เกิดการปกครองแบบกดขี่ขึ้นในประเทศ การรักความเป็นไททำให้คนนิยมประกอบอาชีพนี้ก็ไม่ใช่อำนาจส่วนตัว ในส่วนเสีย ความรักอิสรภาพทำให้ไม่ค่อยมีความรู้สึกผูกพันกับหน้าที่ การถือตัวเองเป็นใหญ่ในบางครั้งอาจจะทำให้การประสานงานและการทำงานกลุ่มมีปัญหาถึงวัฒนธรรมของคนทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่มซึ่งแตกตางกันเพราะคนทุกกลุ่ม แต่ก็สามารถผสมกลมกลืนกันและอยู่รอดภายใต้สังคมไทยและวัฒนธรรมไทย

๒) เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น สุภาพอ่อนโยน

คนไทยมีลักษณะนิสัยช่วยเหลือกันและกันด้วยน้ำใสใจจริง ไม่ชอบเอาเปรียบใคร ไม่ช้ำเติมผู้แพ้ โกรธง่ายหายเร็ว เป็นมิตรกับทุกคน ต้อนรับแขกแปลกหน้าด้วยความอบอุ่น คนต่างชาติต่างศาสนาที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยจะได้รับสิทธิเท่าคนไทย ประเทศไทยได้ชื่อว่า มีการผสมกลมกลืนทางด้านวัฒนธรรมกับคนจีนได้ดีที่สุด
๓) เคารพผู้มีอาวุโส เชื่อฟังอำนาจ

สังเกตสรรพนามที่ใช้กันอยู่ในสังคม ทำให้เราทราบถึงการเคารพนบนอบเชื่อฟังผั้ท่มีอำนาจ เช่น ฯพณฯ ท่าน ท่าน ใต้เท้า กระผม เคารพนับถือผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจเหมือนร่มโพธิ์ ร่มไทร มีการยกย่องเป็นพิเศษ สมัครเข้าเป็นลูกน้อง รับใช้ด้วยความเต็มใจ ผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมแก่ลูกน้องหรือต่อผู้น้อย ช่วยเหลือลูกน้องอย่างเต็มที่ ถ้าผู้ใหญ่ไม่ทำตามหน้าที่ ผู้น้อยก็ไม่จำเป็นต้องให้ความเคารพ

๔) รักความโอ่อ่า

แต่เดิมคนไทยมักจะหยิ่งและเชื่อมั่นในเกียรติของตนเอง มีคติประจำใจว่า “หยิ่งในเกียรติแต่ไม่เหยียดผู้อื่น” ถือว่าคนเรามีสิทธิเท่ากัน ภายนอกอาจจะดูเป็นคนชนชั้นต่ำ แต่ก็ไม่ชอบให้ใครมาดูถูก ชอบการเคารพยกย่อง จึงมักแสดงความโอ่อ่า ออกมาเพื่อให้ผู้อื่นยามรับ เช่น ชอบยศ ชอบตำแหน่ง ชอบจัดงานเลี้ยงใหญ่ๆ ชอบด้วยความฟู่ฟ่า นิยมการรับประทานอาหารตามภัตตาคารแพงๆ ชอบเที่ยวไทต์คลับราคาแพง นิยมใช้ของต่างประเทศ ชอบจัดงานเลี้ยงใหญ่โต แม้บางครั้งอาจเกินฐานะไป
๕) รักสันโดษ พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ มักน้อย

คนไทยส่วนใหญ่เชื่อเรื่องทำบุญ กรรมแต่ง ไม่ทะเยอทะยาน พอใจในสภาพความเป็นอยู่ของตัวเอง ไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควร ถือว่าคนเราทุกคนอาจหาความสุขให้ตนเอง โดยอยู่ที่ใจเป็นสุข ทุกอย่างก็เป็นสุข ไม่ชอบขอความช่วยเหลือใคร จากการมักน้อยนี้ทำให้คนไทยสามารถเอาตัวรอดมาได้ทุกยุค ทุกสมัย คนไทยเราถือว่า ไม่ควรตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใจเย็นไว้ก่อน เฉยไว้ก่อนเป็นดี ถือคติไม่เป็นไร

๖) ย้ำความเป็นตัวของตัวเอง

ลักษณะของคนไทยได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา ถือว่า ตนของตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ใครจะดีจะเด่นอยู่ที่บุญจากชาติก่อน แข่งเรือแข่งพาย แข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาไม่ได้ ไม่ชอบให้ใครมายุ่งเรื่องส่วนตัว ตนเองสามารถหาความสุขในชีวิตให้ตนเองได้ ไม่ชอบการบังคับจิตใจ

๗) รักอิสรภาพ

คนไทยชอบความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชะความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ทำให้คนไทยดำรงความเป็นเอกราชมาได้ จนถึงทุกวันนี้ นิยมประกอบอาชีพ เช่น ชาวนา ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ข้าราชการ เพราะไม่มีใครมีอำนาจเหนือส่วนตัว ไม่ค่อยชอบทำงานตามห้างร้านบริษัท (นอกจากคนไทยเชื้อสายจีน) นอกจากจะให้ค่าตอบแทนสูง จากลักษณะข้อนี้ทำให้คนไทยบางครั้ง การประสานงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควรไม่ค่อยมีความผูกพันต่อหน้าที่

๘) นิยมหาความสุขจากชีวิต

คนไทยถือว่าควรหาความสุขจากชีวิตให้มากที่สุด ควรทำตัวตามธรรมชาติ ปล่อยให้สบายไปเรื่อยๆ ร่าเริงแจ่มใส คุณสมบัติอันนี้ติดใจชาวต่างประเทศ คนไทยไม่ค่อยทุกร้อนในสิ่งใด การที่คนไทยนิยมหาความสุขจากชีวิต ทำให้คนไทยรู้จักประสานประโยชน์ รู้จักยืดหยุ่นในเรื่องต่างๆ เป็นต้นว่า วัฒนธรรมที่รับมาจาก จีน อินเดีย มาปรับให้เข้ากับสภาพชีวิตชอบใช้ชีวิตง่าย ๆ มีสุขภาพจิตมั่นคง เป็นการยากพอสมควร ในการที่จะเปลี่ยนค่านิยมให้คนไทยรู้จักหน้าที่ระเบียบปฏิบัติ การประหยัดและการควบคุมใจตนเอง

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาประเทศไทยตามภูมิภาค คนไทยแต่ละภูมิภาคก็มีลักษณะนิสัยใจคอไม่เหมือนกัน

๑) ลักษณะของคนไทยภาคกลาง

คนไทยที่อยู่ภาคกลางของประเทศมีลักษณะเด่นคือ รักอิสรภาพและความเป็นตัวเอง จากอดีตคนภาคกลางต้องพบกับสงครามมาโดยตลอด ทำให้รักอิสรภาพ เนื่องจากคนภาคกลางอยู่ในศูนย์กลางแห่งเศรษฐกิจ เป็นที่ตั้งสถานที่สำคัญของประเทศทำให้คนในภาคกลางต้องต่อสู้ดิ้นรน แข่งขัน ต้องพึ่งตนเอง ถือความคิดของตนเป็นใหญ่ เชื่อคนยาก ชอบทำงานด้วยตนเอง ไม่รวมกลุ่ม ตั้งบ้านเรือนแบบเอกเทศ มีรั้วรอบขอบชิด ไม่ชอบอยู่ภายใต้อำนาจของผู้อื่น ไม่ชอบสัมพันธ์กับใคร ชอบชิงดีชิงเด่น มีนักเลงมาก และมักคิดว่าตนเองเก่งเสมอ เป็นพระเอกเสมอ

๒) ลักษณะของคนไทยภาคใต้

ลักษณะเด่นของคนภาคใต้ ตื่นตัวเร็ว และฟุบเร็ว มีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมาก เพราะความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีทั้งภูเขาและทะเล มีช่องทางทำงานมาก ชอบแสวงหาความรู้ เกาะกลุ่มกันมาก เชื่อในผู้นำ

๓) ลักษณะของคนไทยภาคเหนือ

ลักษณะเด่นของคนไทยภาคเหนือชอบช่วยเหลือพึ่งพากันและกัน มองโลกในแง่ดี เพราะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่เป็นภูเขาและน้ำตก มีจิตใจโอบอ้อมอารีย์ เป็นกันเองกับคนทั่วไป ไม่ชอบแสดงตน เชื่อธรรมชาติและบรรพบุรุษ

๔) ลักษณะของคนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ลักษณะเด่นของคนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ รักสันโดษ พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ มักน้อย ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีความอดทน ทำงานหนัก เวลาสนุกก็รื่นเริงเต็มที่ การตั้งบ้านเรือนก็ตั้งเป็นหมู่บ้าน พึ่งพาอาศัยกันและกัน เชื่อธรรมชาติ นับถือผู้อาวุโส

จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในสังคมและความเจริญของประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้มีพระราชดำรัสที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมไทยไว้ว่า “การรักษาวัฒนธรรม คือ การรักษาชาติ” ซึ่งพระราชดำรัสนี้มีความสำคัญและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง สมควรที่คนไทยทุกคนจะได้ตระหนักและถือเป็นจุดยืนอันสำคัญเพื่อใช้เป็นหลักในการวางแผนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชาติไทย

เมื่อรู้จักความพิเศษของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทยอย่างนี้ ก็ต้องรู้จักใช้วัฒนธรรมนี้ให้เป็นประโยชน์ สร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมขึ้น ให้วัฒนธรรมเป็นตัวหล่อหลอมความเป็นไทย ถ้าเป็นไปได้ต้องกลับมาใช้ภูมิภาคเป็นเขตปกครองไปยิ่งดีจะได้ทำความเจริญขึ้นกับถิ่นนั้นๆ อย่างจริงจัง ภายใต้ความเป็นไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานจะงดงามทั้งประเทศ กลับมาเอาจริงเอาจังกันได้แล้ว