วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

ไต้หวัน : ปัจจัยพัฒนาประเทศ


ไต้หวัน : ปัจจัยพัฒนาประเทศ
โดย ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์
บทนำ

กล่าวถึงประเทศไต้หวัน ถ้าหากกล่าวแบบเป็นทางการดูเหมือนว่ายังกล่าวไม่ได้ เพราะพอกล่าวทีไรประเทศไทยเกรงว่าจะได้รับผลกระทบทันที เนื่องจากประเทศจีนรับไม่ได้ที่จะให้ไต้หวันเป็นประเทศหนึ่งในโลกใบนี้ เป็นได้ก็แต่เพียงส่วนหนึ่งของจีนเท่านั้น คนไทยรู้จักประเทศไต้หวันในแง่มุมต่างๆ กัน เช่น เกี่ยวกับแผ่นดินไหว เกี่ยวกับแรงงานไทย เกี่ยวกับสินค้าไต้หวัน และอาจเกี่ยวกับสภาไต้หวัน สำหรับผู้ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ก็จะรู้จักไต้หวันในนามของพรรคก๊กมินตั๋ง
ปัจจุบันอาจรู้จักประเทศไต้หวันทางแง่มุมพระพุทธศาสนามหายานมากยิ่งขึ้น ประเทศไต้หวันเดิมนั้นเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมือง หลังจากที่พรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ต่อจีนคอมมิวนิสต์ ผู้นำพรรคตอนนั้นก็คือ เจียง ไคเชก (Chiang Kai-Shek) หรือที่เรียกเป็นภาษาจีนกลางว่า เจียง จง-เจิ้ง (Chiang chung-cheng) เป็นผู้นำของจีนระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๙๒
ต่อมาได้ไปตั้งรัฐบาลจีนคณะชาติที่ไต้หวัน โดยอพยพประชาชนประมาณ ๒ ล้านคน และของมีค่าของจีนไปด้วย ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และถูกถอดชื่อออกจากการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ.๒๕๑๔
เหตุใดประเทศใต้หวันจึงสามารถก้าวข้ามจากประเทศยากจนมาสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งจากปัญหาการเมืองและภัยพิบัติ เพียงระยะเวลาไม่นาน เศรษฐกิจของไต้หวันก็ขยายตัวและทำให้คนไต้หวันมีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยน้อย ถ้าหากเทียบกับประเทศไทย ภายในระยะเวลา ๔๐ ปี ไต้หวันได้ทิ้งห่างการพัฒนาของไทยไปเรียบร้อยแล้ว พอสรุปได้ว่า
๑. ปัจจัยบีบคั้นปัจจัยที่เป็นแรงบีบคั้นให้ประเทศไต้หวันต้องเอาชนะและอยู่ได้ก็คือ๑) ภัยทางธรรมชาติ ได้แก่ แผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น และมรสุม เป็นต้น เนื่องจากไต้หวันตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลก จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อย แผ่นดินไหวแต่ละครั้งนั้นทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ล่าสุด วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ พายุไต้ฝุ่นมรกตได้เข้าภาคใต้ของไต้หวันทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายประมาณ ๕๐๐ คน
๒) ภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่ ภัยด้านนี้เป็นปัญหาสืบเนื่องจากการที่ประธานธิบดีเจียง ไค เชก ได้อพยพคนมาอยู่ที่ไต้หวันและต่อสู้กับจีนคอมมิวนิสต์มาโดยตลอด จนกระทั่งบัดนี้ใช้ระบบร่วมกันทางด้านความสัมพันธ์แต่ต่างกันด้านการบริหารปกครอง ถึงกระนั้นความรู้สึกที่จะถูกคุกคามได้ทุกเมื่อยังคงมีอยู่ในความรู้สึกของผู้นำไต้หวันและชาวไต้หวัน
๒. ปัจจัยสนับสนุนปัจจัยที่เป็นแรงเสริมทำให้ไต้หวันการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดได้แก่
๑) ผู้ที่อพยพมาเป็นคนมีการศึกษาและเป็นระดับมันสมองของจีน เนื่องจากการอพยพมาในครั้งนั้นเป็นการอพยพมาเพราะหนีภัยสงคราม บุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับพรรค บุคคลที่มีบัญชีรายชื่อเป็นผู้นำพรรคและผู้สนับสนุนพรรค ทั้งที่เป็นส่วนของดร.ยุน ยัตเซน และเจียง ไค เชก เอง บุคคลเหล่านี้ถ้าอยู่ต่อไปต้องได้รับโทษทัณฑ์แน่ จึงถือได้ว่า เป็นบุคคลสำคัญและมีการศึกษา เป็นระดับมันสมองของพรรคก๊กมินตั๋ง
๒) ความเป็นคนสู้งาน และมีหัวทางการค้า ปัจจัยด้านนี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่เป็นเชื้อสายคนจีน ที่ไม่ยอมงอมืองอเท้า ต้องต่อสู้ดิ้นรน และโดยเฉพาะเป็นผู้ที่มีความถนัดทางด้านการค้า การขายอยู่ด้วยแล้วจึงกระจายและขยายตัวเร็วมาก
๓) มีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง ปัจจัยด้านนี้ถือว่าอารยธรรมจีนในกาลก่อนที่จะล่มสลายนั้นถือได้ว่า สั่งสมมานานนับหลายพันปี คนจีนได้รับการอบรมพร่ำสอนให้เคารพและศรัทธาในผู้มีพระคุณ รู้จักตอบแทน รู้จักความสงบสุขทางจิตวิญญาณ มีความเด็ดเดี่ยวต่ออารมณ์และความรู้สึก มีอารมณ์ทั้งสุนทรีย์และก็ห้าวหาญ จึงถือว่าเป็นผู้มีวินัยในชีวิตสูง
๔) มีแผนในการปฏิรูปประเทศ ๔ ด้านที่ประสบความสำเร็จ คือ ด้านที่ดิน ด้านประชาธิปไตย ด้านเศรษฐกิจ และด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ปัจจัยทางด้านนี้นับว่าสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าหากไม่มีแผนพัฒนาชาติที่ถูกต้อง พัฒนาไปก็ไม่สำเร็จ ด้านที่ดินก็มีการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ที่อยู่ก่อนและผู้ที่มาใหม่ได้อย่างเหมาะสม
ด้านประชาธิปไตย ประชาชนมีความรู้ที่จะให้ตัวแทนของตนเข้าไปทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างไร ไม่มีการใช้อำนาจทหารเข้าล้มระบบประชาธิปไตย ทุกคนร่วมใจทำเพื่อชาติบ้านเมือง
ด้านเศรษฐกิจ ก็ปรับเปลี่ยนจุดด้อยของตนคือ ไม่เน้นภาคเกษตร แต่เน้นภาคอุตสาหกรรมและบริการ
ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ก็ระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยถือคติว่า “ความรู้คือพลังอำนาจ” และให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรม โดยเฉพาะทางด้านศาสนาและจิตวิญญาณ ส่วนหนึ่งที่ไต้หวันประสบความสำเร็จเพราะอุดมคติพระโพธิสัตว์ที่ช่วยเหลือผู้อื่น จะเห็นได้ว่ามีสมาคมทางศาสนามากนับร้อย และสมาคมเหล่านี้บางสมาคมนั้นมีศักยภาพมากสามารถสร้างสรรค์สังคมได้อย่างดีเยี่ยมทั้งด้านสวัสดิการและจิตวิญญาณ
๕) ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ นับได้ว่าเป็นเรื่องประจวบเหมาะ คือไต้หวันถือเป็นแดนกันชนระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และจีนกับสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐก็ต้องการไต้หวันเข้ามาเป็นพวก จึงได้เข้าไปช่วยเหลือศิลปวิทยาการอันทันสมัยแทบทุกด้าน เพื่อให้ไต้หวันมีเขี้ยวเล็บในการป้องกันตนเองไม่ให้ตกไปเป็นของจีน ซึ่งจะทำให้เกิดการคุกคามทางภูมิภาคได้
๖) กล้าลงทุนและต่อยอด ทางด้านนี้ไต้หวันพยายามที่จะซื้อลิขสิทธิ์สินค้าและอุตสาหกรรมจากต่างประเทศมา จากนั้นก็ทำการศึกษาวิจัยต่อยอดนำมาเป็นของตน การที่กล้าลงทุนและกล้าวิจัยต่อยอดเช่นนี้ ก็ทำให้มีลิขสิทธิ์และความเจริญก้าวหน้าเป็นของตน จากปัจจัยบีบคั้นและปัจจัยสนับสนุนดังที่แสดงไว้นี้จึงทำให้ไต้หวันมีการพัฒนาประเทศไปได้อย่างรวดเร็วเป็นที่จับตามองของหลายๆ ประเทศ
(อ่านต่อหนังสือบัณฑิตวิทยาลัย มมร ออกเร็วๆ นี้)

พระพุทธศาสนาในประเทศลาว

พระพุทธศาสนาในประเทศลาว : การอยู่รอดภายใต้การปฏิวัติการปกครอง
โดย
ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์





บทนำ
การได้ศึกษาอะไรก็ตามหากได้ศึกษาถึงรากเหง้าของสิ่งนั้นๆ หรือเรื่องนั้นๆ ก็ทำให้สามารถนำมาประกอบการพินิจพิจารณามากยิ่งขึ้น ตามหลักของได้ความจริงที่แท้ก็ต้องมีข้อมูลหลักฐานที่จริงก่อน จึงจะได้ความจริง รู้ความจริง หรือเห็นความจริง โดยมากแล้วการศึกษาเรื่องใดๆ ก็มักแต่เป็นการศึกษาจากความรู้และความจริงที่อยู่บนกระดาษ จึงทำให้ไม่อาจเห็นบริบทของสังคมได้ว่า แท้จริงนั้น การได้ไปเห็นและสัมผัสกับความจริง สามารถทดแทนตัวหนังสือที่อธิบายเป็นเล่มๆ ได้
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัยได้จัดไปทัศนศึกษาเสริมเนื้อหาในหลักสูตรหลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา ในรายวิชาพระพุทธศาสนากับศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้การศึกษารายวิชานี้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมในประเทศลาวมากขึ้น หลังจากที่นักศึกษาได้ศึกษาจากการบรรยายของอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว อันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความคิด และทัศนะต่อการศึกษาในรายวิชานี้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างความรู้ให้แก่นักศึกษา ในวันที่ ๓-๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในลาว
ถ้าหากถือเอาตามประวัติศาสตร์แห่งการสร้างพระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าตามหลักฐานทางคัมภีร์ที่ได้ระบุไว้ ก็ถือได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นได้เข้ามาสู่ดินแดนบริเวณแถบในปลายพุทธกาลแล้ว เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า พระพุทธศาสนานั้นเข้ามาสู่ดินแดนที่ชื่อว่า สุวรรณภูมิ ซึ่งก็รวมถึงประเทศลาวด้วย เริ่มมาแต่สมัยพระเจ้าอโศก พ.ศ. ๒๓๘ จากนั้นพระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองอยู่ ณ บริเวณแถบนี้สืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยผลัดเปลี่ยนเป็นพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทและมหายาน
นับตั้งแต่สมัยเจ้าสุวรรณคำผงขึ้นเสวยราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๕-๑๘๙๖ ทรงมีพระ โอรส ๖ พระองค์ ใน ๖ พระองค์นั้น เจ้าฟ้างุ้มมีลักษณะผิดแผกจากพระโอรสองค์อื่น คือมีฟันและลิ้นเป็นสีดำ โหรทำนายว่าเป็นกาลกินีจึงได้นำไปลอยแพ บังเอิญแพได้มาถึงเมืองขอม ได้รับการเลี้ยงดูจากพระมหาปาสมันตเถระ ต่อมาได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในราชสำนักของพระเจ้าอินทปัตถ์ และได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระเจ้าอินทปัตถ์ พระนามว่า พระนางแก้วยอดฟ้า (ฟ้าหญิงคำหยาด)
ต่อมาบิดาให้ไปตีเมืองล้านช้าง และสามารถยึดเมืองล้านช้างได้ในปี พ.ศ. ๑๘๙๖ แล้วขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๓ ของราชวงศ์ล้านช้าง ทรงพระนามว่า พระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี แผ่อาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่อาณาจักรล้านช้างในยุคนี้เป็นที่เด่นชัดอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือพระนางแก้วยอดฟ้าพระมเหสีผู้ทรงเคยนับถือพระพุทธศาสนามาก่อน เมื่อครั้งอยู่ในเมืองขอมทรงเห็นประชาชนนับถือผีสางเทวดา และฆ่าสัตว์บูชาเซ่นสรวงอยู่ในล้านช้าง จึงได้ทูลขอให้พระเจ้าฟ้างุ้มไปอัญเชิญพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ในอาณาจักรล้านช้างจากประเทศขอม
พระเจ้าฟ้างุ้มทรงเห็นด้วยจึงให้ทูตไปทูลขอนิมนต์พระสงฆ์ที่ขอมเข้ามาเผยแผ่ในประเทศลาว ในกาลครั้งนี้ได้มีพระสงฆ์ผู้แตกฉานในพระธรรมและพระไตรปิฎกจากขอม นำโดยพระมหาปาสมัตเถระและพระมหาเทพลังกา พร้อมกับพระสงฆ์อีก ๒๐ รูปและนักปราชญ์ผู้เรียนจบ พระไตรปิฎกอีก ๓ คน และพระราชทานพระพุทธรูป "พระบาง" และหน่อพระศรีมหาโพธิ์ และช่างหล่อพระพุทธรูปไป เมื่อคณะสงฆ์เดินทางมาถึงเวียงจันทน์ เจ้าเมืองจันทน์ได้นิมนต์พักสมโภชพระบางอยู่ ๓ คืน ๓ วัน แล้วคณะสงฆ์ก็เดินทางต่อไปยังเวียงคำ ชาวเมืองเวียงคำได้อาราธนาพระเถระไปในเมืองแล้วสมโภชนพระบางกัน ๓ คืน ๓วัน ครั้นจะเดินทางต่างปรากฏว่าพระพุทธรูปไม่สามารถยกไปได้ จึงเสี่ยงทายว่า “เทวดาอารักษ์คงปรารถนาจะให้พระบางอยู่ที่เวียงคำ” จากนั้นพระเถระและผู้ติดตามก็ได้เดินทางไปยังเมืองเชียงทอง ครั้นถึงเชียงทอง ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าฟ้างุ้มและพระมเหสี พระเถระและคณะจึงได้เผยแผ่พุทธศาสนาในลาวจนเจริญรุ่งเรืองประดิษฐานมั่นคง

....

จุดเปลี่ยนระหว่างพุทธศาสนาในจีนกับลาว
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่า พระพุทธศาสนาได้รับผลกระทบมากเพียงนี้แต่พระพุทธศาสนาในประเทศลาวกลับไม่ไม่สูญหายไปเหมือนกับอีกหลายประเทศที่ถูกปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ ในที่นี้จะนำเสนอสาเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาอยู่ได้ในประเทศลาว ดังนี้

สาเหตุที่ ๑ การให้โอกาสพระสงฆ์เผยแผ่ร่วมกับผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์
สาเหตุนี้ทำให้พระพุทธศาสนาฟื้นฟูขึ้นมาได้ก็เพราะบทบาทของพระเถระที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั้งหลายได้ทำหน้าที่ให้ธรรมแฝงไปกับหลักการของลัทธิคอมมิวนิสต์นั่นเอง จากปรากฏการณ์ที่ว่า ผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ใช้พระสงฆ์ลาวเป็นเครื่องมือเผยแผ่คำสอนลัทธิคอมมิวนิสต์ให้แก่เยาวชนลาวรุ่นใหม่เพื่อล้างสมองให้รับแนวคิดของคอมมิวนิสต์ที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีอย่างไม่คาดคิด จะเห็นได้ว่า ผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ได้ให้โอกาสแก่พระสงฆ์ในประเทศจีนมาเผยแผ่อุดมคติแบบคอมมิวนิสต์ร่วมด้วยกับผู้นำลัทธิจึงทำให้เยาวชนที่ถูกล้างสมองไม่ได้เห็นภาพของพระภิกษุ เพียงไม่นานศาสนาก็ถูกลบไปจากความทรงจำ เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาสูญสิ้นไปจากประเทศจีน เป็นการล้มล้างสถาบันสงฆ์อย่างสิ้นเชิง

แนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์ต้องการให้ทุกคนต้องเสมอภาคกัน สถาบันทางสังคม เช่น สถาบันศาสนาและพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่ขัดขวางอุดมการณ์ ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นับถือแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์นี้มองเห็นศาสนาและพระมหากษัตริย์เป็นตัวขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของการจัดการสังคมภายใต้แนวคิดนี้ ประเทศจีนแม้ว่า จะเป็นประเทศพระพุทธศาสนามาก่อนแต่บริบททางสังคมไม่เหมือนกับประเทศลาว อีกทั้งผู้นำแนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ คือ เหมาเจอตุง ไม่ได้ใช้แนวทางที่คอมมิวนิสต์ในประเทศลาวใช้ คือ ให้พระภิกษุเป็นผู้เผยแพร่คำสอนจึงทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศจีนนั้นหมดไป สถาบันสงฆ์ล้มอย่างไม่เหลือต้นตอ ในประเทศลาวแม้ว่า พระสงฆ์จะถูกบังคับให้นับถือแนวคิดนี้และเผยแผ่แนวคิดนี้ แต่ประชาชนชาวลาวที่เป็นผู้ใหญ่ได้ให้ความเคารพต่อพระสงฆ์ เชื่อฟังพระสงฆ์ สถาบันสงฆ์แม้จะไม่มี แต่ความเป็นพระสงฆ์ยังคงมี ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงดำรงอยู่คู่กับประชาชนชาวลาวได้อย่างกลมกลืนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา กล่าวคือ พระสงฆ์คือที่พึ่งพิงของชาวบ้าน ชาวบ้านคือที่พึ่งพิงของพระสงฆ์ ไม่ต้องผ่านสถาบันศาสนาใดๆ










(อ่านต่อในหนังสือบัณฑิตวิทยาลัย มมร ออกเร็วๆ นี้)




ลาว: มุมมองด้านภาษา




ลาว: มุมมองด้านภาษา
Laos: A Perspective on Language
โดย เสน่ห์ เดชะวงศ์




บทนำ
บทความนี้เป็นผลจากการไปทัศนศึกษาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชนลาวกับคณะ
นักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เมื่อได้
ยินคำว่า “ลาว” หลายคนมักจะโยงไปถึงความนึกคิด(Notion) อื่นๆ เช่น ความซื่อ ความไร้
เดียงสา ความเป็นคนบ้านนอก รวมถึงการหยุดความเจริญด้านวัตถุและสิ่งก่อสร้างไว้เหมือน
เชียงใหม่เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ไม่ว่าเราจะโยงคำว่า “ลาว” กับความคิดอะไรก็ตาม แต่ในความรู้สึกของคนลาวเกือบเจ็ดล้านคนคือความภาคภูมิใจในแผ่นดิน เผ่าพันธุ์ ภาษาและอารยธรรมของตนเอง

ความเชื่อในประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวลาวคล้ายกับชาวไทย คือ ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๘ ชาวลาวได้อพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน แล้วตั้งบ้านเรือนตามที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ ๑๔ จึงได้สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นที่ล้านช้างแล้วสถาปนาเป็นอาณาจักรล้านช้าง ในศตวรรษที่ ๑๗ ล้านช้างตกเป็นเมืองขึ้นของไทยในสมัยสุโขทัย ภายหลังเมื่อฝรั่งเศสได้ครอบครองประเทศเวียตนามแล้วก็ขยายอาณาจักรลงมาถึงเวียงจันทน์ ท้ายที่สุดประเทศลาวก็หลุดพ้นจากการปกครองของไทยไปอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เมื่อเวียตนามขับไล่ฝรั่งเศสออกจากดินแดนของตนได้ ลาวก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่ลาวก็ยังไม่สิ้นวิบากกรรม คือยังคงต่อสู้กับคนชาติเดียวกันอีกนานหลายปี จนกระทั่งปี ๒๕๑๘ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ลาว เป็นการเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบบกษัตริย์มาเป็นระบบคอมมิวนิสต์ และเปลี่ยนชื่อประเทศลาวมาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
จะอย่างไรก็ตาม ถือว่าลาวได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบการปกครอง ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และภาษา ในที่นี้จะกล่าวถึงลาวในแง่ของภาษา เพราะภาษาลาวมีส่วนที่คล้ายคลึงกับภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทยภาคอีสาน จนเคยมีคำกล่าวว่า “ไทยลาวเป็นพี่น้องกัน” และ “เป็นบ้านพี่เมืองน้อง” แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “เพื่อนบ้านและสหายกัน” เพราะไม่รู้จะให้ใครเป็นพี่เป็นน้องดี

ภาษากับการสื่อสาร
ภาษาคือเครื่องมือที่มนุษย์แสดงความในใจเพื่อให้ผู้ที่ตนต้องการสื่อสารถึงได้รู้ เพราะฉะนั้น ภาษาพูดจึงมีองค์ประกอบอยู่ ๒ อย่าง คือ เสียงและความหมาย พูดง่ายๆก็คือ เมื่อพูดออกมาแล้วจะต้องสื่อความหมายได้ แต่จะมีสาระหรือไม่มีสาระก็ได้ นักภาษามองว่า “ภาษา” หมายถึงระบบของเสียงหรือเสียงที่ถูกจัดระบบแล้วมนุษย์นำมาใช้สื่อสารกัน ภาษาอาจจะมาในรูปของเสียงหรือตัวอักษรก็ได้ ระบบของเสียงหมายถึงแต่ละภาษาก็มีระบบหรือระเบียบของเสียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ถ้าวางตำแหน่งเสียงผิดก็จะทำให้ความหมายเปลี่ยนไป หรือทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดและไม่เข้าใจเลยก็ได้ เช่นคนไทยจะรู้โดยอัตโนมัติว่าเสียง /ว/ และ /ร/ จะเกิดตามหลังเสียงไหนได้บ้าง ในมุมมองของนักภาษาจะบอกว่า ถ้าเราต้องการอธิบายลักษณะของภาษาให้สมบูรณ์ เราต้องศึกษาเรื่องเสียง (Sound) รูปคำ (Form) และความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบภาษากับสถานการณ์ที่เราเปล่งเสียงนั้นออกมา

แม้ภาษาจะเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น การเลียนเสียงธรรมชาติ การอุทาน การเปล่งเสียงตามธรรมชาติของเด็ก และการคิด-สร้างคำใหม่ขึ้นมา แต่เป้าหมายของภาษาก็คือความต้องการสื่อสารถึงผู้ฟังหรือผู้รับสาร สื่อที่ใช้แทนเสียงพูดอาจจะเป็นอากัปกิริยา (Gesture) หรือภาษาใบ้ เมื่อคนนั้นเป็นใบ้จริงๆ หรือในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเป็นใบ้เพราะสื่อภาษากันไม่รู้เรื่อง บางทีเราก็ใช้วิธีเขียนรูปให้ดู รวมถึงการตีเกราะเคาะกะลา ทั้งหมดนี้คือสื่อที่ใช้เพื่อบอกความในใจของผู้พูด เพราะฉะนั้น เราอาจจะเขียนเป็นผังแสดงได้ว่า
ผู้พูด → ภาษา/สื่อแทนภาษา → ผู้ฟัง
ผู้พูด ← ภาษา/สื่อแทนภาษา ← ผู้ฟัง
ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็ตาม เมื่อทำได้อย่างนี้ถือว่าทำหน้าที่ของภาษาได้สมบูรณ์แล้ว


(อ่านต่อจากหนังสือของบัณฑิตวิทยาลัย มมร เร็วๆ นี้)

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

การฆ่าตัวตายปัญหาทางจริยธรรม?




การฆ่าตัวตายได้รับการกล่าวถึงอยู่พอสมควรในสังคมปัจจุบัน โดยมากแล้วเป็นการฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นปัญหาทางด้านความเครียด หรือเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพ หรือแม้แต่ปัญหาเกี่ยวกับการแพทย์ที่เรียกว่า การุญฆาตก็ตาม ล้วนแล้วแต่พูดไปในทางที่ไม่ดีทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการฆ่าตัวตายถือเป็นบาปอย่างหนึ่งตามคำสอนของศาสนาหลายๆ ศาสนา ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม การฆ่าตัวตายกลับปรากฏพบในคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า พระภิกษุฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุอันเกิดจากการเบื่อหน่ายต่อสังขารนี้ สรีระนี้ บางรูปการฆ่าตัวตายนำไปสู่การบรรลุพระนิพพานเข้าถึงการหลุดพ้นได้ ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเปลี่ยนไป โดยเฉพาะท่าทีที่เข้าใจว่า การฆ่าตัวตายแล้วนำไปเกิดทุคติภูมิ ด้วยเหตุนี้จะได้นำเสนอประเด็นๆ ที่น่าสนใจต่อไป

ประเด็นที่ ๑ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในสังคมอินเดีย
การฆ่าตัวตายคงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับปัจจุบันนี้เนื่องจากมีการฆ่าตัวตายมาก่อนหน้านานนับหลายพันปี ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งการฆ่าตัวตายอาจได้รับความนิยมก็ได้ ยกตัวอย่างการฆ่าตัวตายของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่เบื่อหน่ายสังขาร พร้อมใจกันฆ่าตัวตายด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะให้ผู้อื่นฆ่า ตนเองฆ่า หรือตั้งบุคคลไว้ในตำแหน่งฆ่าตนเอง ดังมีเรื่องในวินัยปิฎกว่า
โดยสมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงวิธีการเจริญกรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยแสดงการเจริญอสุภกรรมฐาน คือให้พิจารณาร่างกายเป็นของไม่สวยไม่งาม จากนั้นแล้วพระองค์ทรงหลีกเร้นไปอยู่ในป่ามหาวันเพียงรูปเดียวตลอดครึ่งเดือน ทรงอนุญาตให้ภิกษุเฉพาะรูปที่ส่งอาหารบิณฑบาตเท่านั้นเข้าเฝ้าได้ รูปอื่นห้ามเข้าเฝ้า ส่วนภิกษุทั้งหลายได้พากันเจริญอสุภกรรมฐาน จนบางรูป เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิต เพราะเห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยมูตรคูถ จึงได้ฆ่าตัวเองตายไปบ้าง บางรูปก็วานให้ภิกษุอื่นฆ่าตนบ้าง ส่วนภิกษุอีกเหล่าหนึ่งได้จ้างวานให้มิคคลัณฑิกสมณกุตต์ให้ช่วยฆ่าตัวตาย โดยให้บาตรและจีวรเป็นรางวัล มิคคลัณฑิกสมณกุตต์นั้นได้ฆ่าพระตายไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาพระพุทธเจ้าจึงบัญญัติการฆ่าผู้อื่นเป็นอาบัติปาราชิก ส่วนการฆ่าตัวเองตายเป็นอาบัติทุกกฏ
หรือแม้แต่การที่ครูปุราณกัสสปะได้ใช้ก้อนหินแขวนคอตนเอง กระโดดลงน้ำฆ่าตัวตายจากการอับอายต่อเรื่องที่ตนไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้หลังจากที่พระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ นี่ก็เป็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการฆ่าตัวตายของสังคมอินเดีย ซึ่งก็หมายความว่า มีการฆ่าตัวตายด้วยวิธีการต่างๆ อยู่ในขณะนั้น
ประเด็นที่ ๒ การฆ่าตัวตายเป็นปาณาติบาตและเป็นบาปหรือไม่

จากหลักฐานทางคัมภีร์แสดงว่า “การที่ฆ่าตัวตายไม่ถือว่า “ผิดศีลข้อปาณาติบาต” เพราะไม่เข้าเกณฑ์องค์ประกอบแห่งปาณาติบาตข้อ “ปาณสญฺญิตา” “รู้ว่าสัตว์มีชีวิต” หมายถึงการรู้ว่าสัตว์อื่นมีชีวิตไม่ได้หมายเอาตนเอง ดังนั้นการฆ่าตัวตายเป็นเพียงอาบัติทุกกฏ คือการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งไม่ควรทำเท่านั้นเอง

ประเด็นว่า แต่การฆ่าตัวเองตายนี้ทำให้ไปสู่อบายหรือไม่ ประการแรกต้องทราบความจริงว่า ร่างกายสังขารนี้ต้องมีอันเป็นไป ดับไป สลายไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทั้งเป็นเพราะกรรมตัดรอน คือตายเพราะถูกทำให้ตายก่อนหมดอายุ หรือตายเพราะหมดอายุขัย แก่ตาย ดังนั้น ไม่ได้มีเกณฑ์ว่า การที่ร่างกายนี้สิ้นไปจะด้วยสาเหตุใดก็ตามต้องไปสู่อบายหรือไม่ แต่มีเกณฑ์ว่า ถ้าหากก่อนจุติจิต จิตเป็นอกุศล เศร้าหมองด้วยกิเลสครอบงำ ปฏิสนธิจิตก็นำไปสู่ทุคติ “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้” แต่ถ้ากลับกันก่อนสิ้นชีวิตจิตมีสติ พิจารณาบุญกุศลที่ตนทำ พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ หรือแม้แต่ไม่ทันได้พิจารณาแต่บุญกุศลในชาติก่อนส่งหนุน ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิได้ “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคฺคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า “เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้” ความตายไม่ใช่สาเหตุ แต่จิตขณะตายเป็นสาเหตุ เพียงแต่การทำลายตนเองเป็นสิ่งไม่ควรทำเท่านั้น ทำไมจึงไม่ควรทำลาย เพราะขันธ์ในความเป็นมนุษย์นี้มีคุณค่า มีประโยชน์สำหรับการใช้เป็นเครื่องมือเข้าถึงธรรม นอกเหนือจากนั้น การพิจารณาความตายซึ่งเป็นเวทนาอันกล้าสามารถนำไปสู่การบรรลุธรรมได้ด้วย ดังกรณีของพระฉันนะ พระวักกลิ และพระโคธิกะเป็นต้น ซึ่งอาพาธแล้วฆ่าตัวตาย แต่ก่อนตายท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทําให้จิตของท่านดับไปพร้อมกับการบรรลุธรรมขั้นสูงของพระพุทธศาสนา

ประเด็นที่ ๓ การฆ่าตัวตายของอรหันต์
การใช้คำว่า ฆ่าตัวตายสำหรับพระอรหันต์นั้นไม่ถูกต้องตามถ้อยคำนัก เนื่องจากถ้อยคำนี้สื่อไปสู่ความเข้าใจที่ทำให้ปุถุชนคนทั่วไปเข้าใจตามบริบทของตน ไม่ได้เข้าใจตามบริบทของพระอรหันต์ เหมือนกับคำว่า พระภิกษุออกกำลังกาย คำว่า ออกกำลังกายเป็นคำที่ใช้กับชาวบ้านที่เข้าใจทั่วไป ซึ่งไม่ได้ใช้กับพระ แต่ถ้านำมาใช้กับพระก็อาจทำให้เข้าใจไปในทางที่ผิดได้ แล้วทุกคนก็ลงความเห็นว่า พระออกกำลังไม่ได้ การออกกำลังการทางพระภิกษุใช้คำว่า การบริหารขันธ์” หมายถึงการดูแลร่างกายนี้ให้ดำเนินไปด้วยดี กรณีนี้ก็เช่นกัน การใช้คำว่า ฆ่าตัวตายกับพระอรหันต์ไม่ได้ เพราะคำที่ใช้กับพระที่ฆ่าตัวตายในที่นี้ใช้คำว่า “วิโมกขา สุวิมุตโต” ซึ่งแปลว่า ปลดเปลื้องขันธ์ ดังที่พระวักกลิตั้งใจที่จะฆ่าตัวตายด้วยตนเอง

ถามว่า แล้วพระอรหันต์ปลดเปลื้องขันธ์นี้ สละขันธ์นี้ได้หรือ? ตอบว่า ได้ ซึ่งพอใช้คำว่า พระอรหันต์ฆ่าตัวตายได้หรือไม่ คำตอบที่ออกมาก็คือ ไม่ได้ การที่พระอรหันต์จะปลดเปลื้องสละขันธ์นี้นั้น ต้องอยู่ในความเหมาะสมกับกาลเวลาที่จะสละขันธ์นี้ ความเหมาะสมนี้ไม่สามารถจะบอกกล่าวได้ว่า เมื่อไร และก็จะสละขันธ์อย่างไร ในกรณีการใช้อาวุธฆ่าตัวตายเป็นวิธีหนึ่งที่ปรากฏใช้ในพุทธกาล มองว่าเป็นการทำร้ายร่างกายหรือไม่ ก็ตอบว่า คิดตามกรอบของชาวบ้านไม่ได้อีกเช่นกัน ตอบตามวิสัยชาวบ้านก็คือ ใช่ แต่ถ้าเป็นวิสัยของพระอรหันต์นั่นเป็นวิธีที่รวดเร็วอย่างหนึ่ง คือใช้วิธีนำของมีคมมาปาดคอตนเอง เป็นเพียงกระบวนการให้สิ้นไปซึ่งขันธ์ไม่ได้ทำร้ายร่างกายตนเอง ในพุทธกาลนั้น แท่นศิลาดำ ณ ข้างเขาอิสิคิลิ ดูเหมือนจะเป็นที่ปลงชีวิตของพระภิกษุอยู่เหมือนกันเพราะมีปรากฏหลายรูปใช้ที่นี้เป็นที่สละขันธ์ เพื่อความหลุดพ้น นอกเหนือจากนั้นจะเห็นได้จากการสละร่าง หรือการปลดเปลื้องขันธ์นี้ก็ยังใช้วิธีอื่นด้วย เช่น พระอานนท์ได้เข้าเตโชธาตุแยกร่างกลางอากาศแบ่งให้ญาติทั้งสองฝ่าย ดังนั้นการปลดเปลื้องขันธ์ไม่ได้หมายความว่า เป็นการกระทำของวิภวตัณหา คือความไม่อยากที่จะมีชีวิตอยู่ หรือแม้แต่ไม่อยากที่ได้รับการเป็นอยู่ในสภาพนั้นๆ ดังที่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุถุชนไม่อาจหยั่งทราบภาวะของพระอรหันต์ได้เลยว่า เหตุใดจึงทำเช่นนั้น ไม่ทำเช่นนั้น เพราะบางครั้งทำในเรื่องเดียวกันลักษณะเดียวกัน แต่การทำของปุถุชนนำไปสู่ทุคติ แต่การทำของพระอรหันต์ไม่มีผลใด เพราะการกระทำของพระอรหันต์เป็นเพียงกิริยาอาการเท่านั้น นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้

ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีคำว่า ชีวิตสมสีสีพระอรหันต์ คือ ได้บรรลุพระอรหันต์ในขณะที่กำลังนิพพาน ได้แก่คือจุติจิตที่เกิดขึ้นต่อจากการพิจารณามรรค ผล นิพพาน และกิเลสที่ประหารสิ้นแล้วในขณะนั้น มักใช้กับพระอรหันต์ที่เปลื้องชีวิตตนเอง และยังใช้วิธีอภิญญาสมนันตรวิถี หมายถึง จุติจิตที่เกิดขึ้นต่อจากอภิญญาวิถีที่แสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ คือการแสดงฤทธิ์ก่อนนิพพาน

สรุป
การปลดเปลื้องสังขารของพระอรหันต์นั้นเป็นอีกลักษณะหนึ่งของการสิ้นไปแห่งชีวิต ไม่ว่าจะด้วยการฆ่าตัวตาย หรือด้วยวิธีใดๆ ทั้ง ๕ วิธีแห่งการนิพพาน ในประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายไม่ใช่เป็นเพียงแง่มุมทางจริยธรรมเท่านั้น แต่เป็นแง่มุมทางการบรรลุธรรมด้วย ไม่ใช่มีแต่มุมของปัญหาชีวิตเท่านั้น แต่มีมุมของการปลดเปลื้องสังขารด้วย จุดที่สำคัญต่อประเด็นเรื่องนี้ก็คือ การใช้ความตายหรือความสิ้นไปแห่งสังขารนี้อย่างไร เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น และก็ยังมีประเด็นความเหมาะสมแห่งกาลเข้ามาประกอบด้วย ว่ากาลไหนทำได้ กาลไหนทำไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิสัยของพระอรหันต์ทั้งหลาย เพียงแต่ให้รับทราบว่ามุมมองด้านการฆ่าตัวตายของชาวบ้านนั้นอย่างหนึ่ง การสละขันธ์ของพระอรหันต์นั้นอย่างหนึ่ง