วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ที่มาพระอวโลกิเตศวร (กวนยิน)




ถ้าพูดชื่อนี้ “พระอวโลกิเตศวร” ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบมหายานก็คงไม่คุ้นชื่อนัก แต่ถ้าบอกว่า “เจ้าแม่กวนอิม” ชาวพุทธในประเทศไทยก็คงรู้จักบ้างไม่มากก็น้อย เพื่อให้เป็นประโยชน์ทางการศึกษาพระพุทธศาสนาจึงขอนำเรื่องนี้มาเสนอลงในหนังสือพิมพ์ไทยพุทธ ฉบับปฐมฤกษ์นี้ สำหรับผู้ที่มีความศรัทธาในพระแม่กวนอิมโพธิสัตว์แล้ว ก็อาศัยมหาเมตตาจากท่านได้เป็นพลังช่วยเหลือเกื้อกูลให้หนังสือพิมพ์ไทยพุทธได้ปรากฎชื่อในบรรณพิภพอีกฉบับหนึ่ง

ที่มาของพระอวโลกิเตศวร

ก่อนที่พระแม่กวนอิม หรือกวนยินโพธิสัตว์จะเป็นที่รู้จักกันในชื่อนี้ กาลก่อนนั้นชื่อที่เรียกพระองค์โพธิสัตว์ว่า อวโลกิเตศวร ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีบทบาทมากทั้งที่ปรากฏในวรรณกรรมเป็นปฏิมากรรม จิตกรรม และเป็นศูนย์รวมของศรัทธาพุทธศาสนิกฝ่ายมหายานกันทุกนิกายในทุกประเทศ คือ พระอวโลกิเตศวร ความเชื่อที่มีต่อพระมหาโพธิสัตว์องค์นี้ ดุจดังความเชื่อของผู้คนที่มีต่อพระนารายณ์ของฮินดูและความเชื่อที่มีต่อท้าวสักกะ (พระอินทร์) ของชาวพุทธเถรวาท พระอวโลกิเตศวรนั้นมีอิทธิพลอย่างมาก ทั้งได้รับความนับถือไม่เสื่อมคลาย

ความเป็นมาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั้นยังไม่ชัดเจน แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เชื่อว่า พระอวโลกิเตศวรคงมีมาแต่ก่อน พ.ศ. ๕๐๐ เพราะคัมภีร์มหายานที่เก่าแก่ที่สุดก็มีอายุประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ แม้ว่าจะมีนักปราชญ์ทางตะวันตกบางท่านเห็นว่า ในบทที่ ๒๔ ของคัมภีร์เล่มนี้ ในสำนวนร้อยแก้วที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระอวโลกิเตศวรที่มีความยิ่งใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า ข้อความนั้นมีว่า

“พระศรีศากยมุนีได้รับสั่งแก่พระโพธิสัตว์อักษยมติว่า บรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดที่ได้แสดงความต่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แม้แต่เพียงครั้งเดียว ก็จักได้บุญกุศลเท่ากับผู้ซึ่งกราบไหว้บรรดาพระพุทธเจ้าซึ่งมีอยู่ ๖๒ เท่าของเม็ดทรายในแม่น้ำคงคามาตลอดชีวิต”

ข้อความเหล่านี้คงมีอยู่ในคัมภีร์อื่นที่เก่ากว่าคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรแล้วนำมาต่อเติมในคัมภีร์นี้ จากข้อความดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า พระอวโลกิเตศวรนั้นมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและวิถีความคิดของประชาชนโดยทั่วไปอยู่ก่อนแล้ว ตามลักษณะและบทบาทของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้นเป็นองค์แห่งการุณ (Goddess of Mercy) คือ ความกรุณา

พระโพธิสัตว์ ผู้ปรากฏกายอยู่ทั่วไปเพื่อช่วยสรรพสัตว์ผู้ได้รับความทุกข์เสมอ ปาฏิหาริย์เช่นนี้ได้รับการสันนิษฐานว่า มีส่วนคล้ายคลึงกับเทพเจ้าสะเราษะ (Srausha) หรือเทพเจ้ามิถระ (Mithra) ของอิหร่าน ซึ่งปรากฏในคัมภีรอเวสตะที่มีบาทบาทว่าเป็น เทพเจ้าแห่งแสงสว่าง เป็นผู้ให้ชีวิต เป็นเทพเจ้าแห่งความจริง แห่งความซื่อสัตว์ ให้คำมั่นสัญญา ลงโทษผู้ไม่ซื่อสัตว์ ช่วยผู้ที่ตายไปแล้วให้ไปสู่สวรรค์ พระอวโลกิเตศวรก็มีปาฏิหาริย์เช่นนี้และช่วยเหลือให้ผู้ที่ทำความดีเมื่อตายไปจะได้ไปสู่สวรรค์ชั้นสุขาวดี




ภาพเหล่านี้ปรากฏที่ถ้ำตุนฮวงของจีน ยิ่งในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ กษัตริย์ราชวงศ์โสสิสานิดของอิหร่านถูกกองทัพอาหรับรบชนะเป็นเหตุให้แนวความคิดของเทพเจ้าของอิหร่านมาผสมกับพระอวโลกิเตศวรมากยิ่งขึ้น ยิ่งมีการพรรณนาอภินิหารมากมายจนทำให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาสับสน เพราะนำไปผสมเข้ากับเทพเจ้าของลัทธิศาสนาอื่น

คัมภีร์ที่พรรณนาอภินิหารและกิจกรรมของพระอวโลกิเตศวร เช่น คัมภีร์สุขาวดีวยูหสูตร, คัมภีร์อมินายุรพุทธานุสมฤติสูตร, คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร, คัมภีร์โลเกศวรศตกสูตร, คัมภีร์การัณฑ วยูหสูตร, คัมภีร์มัญชุศรีมูลกัลปะ, คัมภีร์สาธนมาลา เป็นต้น โดยเฉพาะคัมภีร์อมิตายุรพุทธานุสมฤติสูตร พรรณาว่า
“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทรงมีลักษณะเป็นเจ้าแห่งจักรวาล ขั้นต้นพระองค์มีขนาดที่วัดไม่ได้ มีเศียรสูง ๓ เมตร พระองค์สูง ๘๐๐ เมตร เปรียบเทียบกับภูเขา ทุกขุมขนของพระองค์มีโลกอยู่ภายใน พระองค์ทรงบันดาลให้เกิดมีเทพเจ้า”

ดังนั้น จิตรกรทั้งหลายจึงนำลักษณะเหล่านั้นมาวาดและแกะสลักให้เห็นเป็นรูปลักษณ์ที่น่าศรัทธาเลื่อมใสและบางครั้งก็มีรูปลักษณ์ที่น่ากลัว จากนัยนี้ทำให้สันนิษฐานได้อีกว่า พระอวโลกิเตศวร นั้นมีลักษณะเหมือน “ปชาบดี” ผู้สร้างชีวิตและจักรวาล ในคัมภีร์พระเวท ดุจดังพรหมันในกาลต่อมา ในขณะเดียวกันในคัมภีร์มัญชุศรีมุลกัลปนะได้พรรณาลักษณะของท่านคล้ายดั่งพระอิศวรในศาสนาพราหมณ์นิกายไศวะ คือ พระศิวทฤษฏิคุรุ เทพเจ้าแห่งการมองเห็น จนมีผู้กล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรก็คือพระอิศวรในพระพุทธศาสนา ดังที่ปรากฏในคัมภีร์พฤตัสถกถาของแคว้นแคชเมียร การประทับเหนือดอกบัวก็ดี เทพยดาล้อมรอบก็ดี ล้วนมีส่วนเหมือนกัน

ในรัชสมัยของราชวงศ์กุษาณะ พบรูปสลักของพระอวโลกิเตศวร ศิลปะคันธารและกุษาณะ รูปสลักนั้นมีรูปพระอมิตาภะอยู่เหนือพระนลาฏ หลักฐานนี้สันนิษฐานเทียบใกล้เคียงกับเทพเจ้าของอิหร่านมากคือ เทพเจ้าซุรวานอักนารัก (Zurwan Akanarak) ของชนเผ่ามาจ (Mage) ซึ่งอยู่แถบซินเดรีย เทพองค์นี้เป็นเทพแห่งแสงสว่าง (อมิตาภะ) เป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันตกซึ่งเป็นหนึ่งในห้าองค์สำคัญ ต่อมามีการนับถือเทพเจ้า ๓ องค์ คือ พระอมิตาภะอยู่กลาง พระอวโลกิเตศวร อยู่ด้านขวา พระมหาสถามปราปต์ อยู่ด้านซ้าย ต่อมาเมื่อความเชื่อนี้ไปเจริญในทิเบต พระวัชรปาณีโพธิสัตว์มาแทนพระมหาสถามปราปต์ โดยมีลักษณะ ๓ ประการคือ แสงสว่างเทพเจ้า ปัญญา


อ่านต่อฉบับหน้า

1 ความคิดเห็น:

Nizi กล่าวว่า...

เพิ่งเรียนพุทธปรัชญามหายานเทอมนี้ก็เลยเข้ามาอ่าน จะติดตามตอนต่อไปนะคะ