วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

พุทธศาสนาในเนปาล





















บทความนักศึกษา ปเอก พุทธสาสน์ศึกษา
พุทธศาสนิกชนทั่วไปมักจะมีความรู้ในประวัติของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ว่าทรงประสูติที่ลุมพินีวัน เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโทธนะกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และพระมารดาสิริมหามายาพระราชธิดาของกษัตริย์กรุงเทวะทะหะซึ่งเป็นดินแดนในชมพูทวีปยุคพุทธกาล แต่หากถามว่าประเทศเนปาลในปัจจุบันมีความสำคัญอย่างไรต่อพระพุทธศาสนา? เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยที่อาจเกิดความงุนงงสงสัยว่าเนปาลมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาด้วยหรือ เพราะได้รับรู้มาว่าเหตุการณ์สำคัญๆทางพุทธประวัติในยุคพุทธกาลล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในชมพูทวีปทั้งสิ้น แต่ถ้าบอกว่าสถานที่ประสูติและเมืองพุทธบิดาและพุทธมารดาของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล แน่นอนว่าทุกคนต้องยอมรับในทันทีว่าประเทศเนปาลมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเพราะเป็นหนึ่งในสี่ของสังเวชนียสถานสำคัญของพระพุทธศาสนา( สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน) ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงถึงสถานที่ควรสังเวช 4 ที่หากภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาได้จาริกไป มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายลงก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ( มหาปรินิพพานสูตร ในทีฆนิกาย มหาวรรค ) นั่นเอง

ในยุคสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนอกจากจะเสด็จไปสักการะสถานที่ประสูติพร้อมกับได้ให้
จารึกศิลาเป็นหลักฐาน ณ ลุมพินีวันดังที่ได้กล่าวไว้ในส่วนแรกแล้วนั้น พระองค์ยังได้สร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาในดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ด้วยการยกพระราชบุตรีพระนามจารุมตีให้อภิเษกกับเจ้าชายเทวปาลแห่งราชวงศ์เนปาลพร้อมกับได้นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ผ่านชนชั้นสูงของเนปาล แล้วยังขยายต่อไปถึงทิเบตผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างสองราชวงศ์ในกาลต่อๆมาจนทำให้พระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาประจำชาติของทิเบตอย่างมั่นคงมาจวบจนปัจจุบัน

นอกจากจะนำพระพุทธศาสนาเข้าไปตั้งมั่นในเนปาลผ่านความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์แล้ว
พระเจ้าอโศกมหาราชยังได้ส่งคณะพระสมณะทูตนำโดยพระมัชฌิมเถระไปประกาศพระพุทธศาสนา(เถรวาท)แก่ประชาชนชาวเนปาลจนเกิดความเลื่อมใสจนทำให้พระพุทธศาสนาเริ่มเจริญรุ่งเรืองในเนปาลอย่างแพร่หลายทั้งชนชั้นสูงและชนทั่วไป จึงกล่าวได้ว่ายุคทองของพระพุทธศาสนาหลังพุทธกาลในเนปาลได้เริ่มต้นในยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชด้วยกลยุทธ์การเผยแผ่อันแยบคายนี้เอง เมื่อได้กล่าวถึงกลวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราชดังกล่าวแล้วจำเป็นต้องย้อนกลับไปศึกษาพุทธวิธีการประกาศพระศาสนาในยุคพุทธกาลเป็นการเปรียบเทียบระหว่างสองยุคสมัยที่ถือว่าพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นคงเพื่อให้เกิดภูมิปัญญายิ่งขึ้นกล่าวคือ วิธีการประกาศศาสนธรรมของพระบรมศาสดานั้นจะทรงเลือกที่จะเผยแผ่แก่ชนสองกลุ่มต่อไปนี้ก่อน ได้แก่

1. นักบวช ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มุ่งดีและเป็นผู้คงแก่เรียนมาแล้วในศาสนาอื่น
2. คฤหัสถ์ที่เป็นหัวหน้าคน เช่น พระมหากษัตริย์ มหาอำมาตย์ และพราหมณ์
คฤหัสถ์ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียน

ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าบุคคลทั้งสองประเภทดังกล่าวเป็นผู้มีพื้นฐานความรู้และความตั้งใจดี
และเมื่อบุคคลเหล่านี้ได้ดวงตาเห็นธรรมและรับนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว คนอื่นๆในอาณัติหรือสาวกก็จะนับถือตามไปด้วยหรือไม่ก็จะเกิดความสนใจใคร่รู้ นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังทำให้พระพุทธศาสนาไม่ไปข้องแวะกับการเมืองและมีความปลอดภัยเพราะทรงมุ่งประกาศผ่านผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจึงได้รับการคุ้มครองและสนับสนุนจากชนชั้นปกครองนั่นเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองยุคหลังพุทธกาลกว่า 300 ปีอีกครั้งนั้น นอกจากจะเกิดจากมีผู้นำที่เป็นพุทธมามกอย่างมั่นคงดังเช่นพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว พระองค์ยังได้อาศัยกุศโลบายการเผยแผ่ตามแนวทางของพระพุทธองค์มาใช้อีกด้วยคือการเผยแผ่ผ่านชนชั้นสูงที่เป็นผู้นำด้วยการผูกความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ควบคู่ไปกับการเผยแผ่ในระดับมวลชนโดยพระธรรมทูต รวมถึงการใช้พระราโชบายการปกครองแบบ ‘ ธรรมาธิปไตย ’ มาเป็นเครื่องมือการปกครองอาณาจักรด้วยการใช้หลักพุทธธรรมประยุกต์ให้สังคมเกิดความสงบร่มเย็นตามหลักธรรม ‘ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ’ [1]

กลยุทธ์การเผยแผ่พระศาสนาที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงนี้ควรนำมาปรับใช้เป็น
แบบอย่างสำหรับการเผยแผ่ในยุคโลกาภิวัตน์ด้วย โดยเฉพาะการมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นปัญญาชนและชนชั้นผู้นำสังคม / ชุมชนเป็นลำดับแรกรวมทั้งการเผยแผ่พุทธธรรมที่กลุ่มเป้าหมายสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันเป็นลำดับแรก แม้ว่าประเทศไทยจะยึดถือเป็นราชประเพณีว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกอยู่แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากพัฒนาทางการเมืองการปกครองที่ต้องอนุวรรตไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ความเป็นพุทธมามกโดยพระราชประเพณีนั้นจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่สืบทอดมาแต่โบราณเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่เป็นพุทธศาสนิกเพียงการสืบทอด ดังนั้นหากมีการผลักดันให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ กำหนดให้ผู้นำประเทศต้องนับถือพุทธศาสนา และมีการนำหลักพุทธธรรมไปปรับใช้เป็นกฎหมายเพื่อจูงใจหรือผลักดันให้มีการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธธรรมอย่างเข้มงวดจริงจังด้วยแล้ว เชื่อได้ว่าพระพุทธศาสนาจะยังมีความมั่นคงอยู่ในประเทศไทยอีกตราบนานเท่านาน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศเนปาลจะมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาในฐานะเป็น
สังเวชนียสถานหนึ่งในสี่แห่งจากการเป็นสถานที่ประสูติของพระบรมศาสดาและเป็นที่ตั้งของเมืองพุทธบิดาและพุทธมารดาที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นดินแดนที่ให้กำเนิดพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับกรุงเยรูซาเล็มอันเป็นสถานที่เกิดของพระเยซูผู้ไถ่บาปของคริสตศาสนิกดังกล่าวแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาจะมีความรุ่งเรืองมั่นคงในดินแดนพุทธภูมินี้ ตรงกันข้ามเนปาลกลับต้องเผชิญกับปัญหาความผันผวนทางสังคมและอิทธิพลจากสถานการณ์ต่างๆจากชมพูทวีปจนในที่สุดพระพุทธศาสนาที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิมจำต้องปรับเปลี่ยน

ตามสภาพอิทธิพลกระแสต่างๆเพื่อความอยู่รอดจนแทบจะสูญสลายไปจากดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้เช่นเดียวกับความเสื่อมสลายไปของพระพุทธศาสนาในดินแดนชมพูทวีป

ทั้งนี้ เหตุการณ์และสถานการณ์ที่ยังความผันผวนที่ส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาใน
ประเทศเนปาลเกิดขึ้นได้อย่างไร? และปัจจุบันพระพุทธศาสนามีสถานภาพเช่นไร? และจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรในดินแดนอันเป็นชาติภูมิของศากยวงศ์แห่งนี้นั้น จะได้นำเสนอเป็นลำดับต่อไป
[1] ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม (มาใน องฺ อฎฺฐก. 23 / 144 / 289 ) เป็นหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขในปัจจุบันที่บุคคล
พึงปฏิบัติให้ถึงพร้อม 4 อย่างคือ อุฏฐานสัมปทา(ถึงพร้อมในความขยันหมั่นเพียรในการงานอันสุจริต) อารักขสัมปทา(ถึง
พร้อมด้วยการรู้จักรักษาโภคทรัพย์หรือผลงานที่เกิดจากความขยันหมั่นเพียรไม่ให้เสื่อมเสีย) กัลยณมิตตตา(ถึงพร้อมด้วยมิตร
ที่เป็นคนดีมีศีลธรรม) และสมชีวิตา(ถึงพร้อมด้วยความเป็นอยู่และการใช้จ่ายที่เหมาะสมแก่ฐานะ)
(อ่านต่อใน phd.mbu.ac.th)

1 ความคิดเห็น:

arts-108.blogspot.com กล่าวว่า...

สวัสดีปีใหม่ส่วงหน้า 1 วันครับ พอดีเข้ามาอ่านแล้วน่าสนใจมากผมก็เลยเป็นผู้ติดตามบล็อกของคุณ
ผม แท็ก ธรรมดา ครับ