วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561





นิโรธมัคคญาณปกาสินี

โอ...ทุกข์เกิดประเสริฐนักควรจักเห็น
ผูกโยงเป็นกระบวนสายธรรมไหลต่อ
สิ่งนี้มีสิ่งนี้เกิดธรรมเปิดรอ
มีขั้วข้อเพราะปัจจัยสืบสายวน
สมุทัยปัจจัยเหตุกิเลสเชื่อม
ผูกพันเหลื่อมขมวดรับจนสับสน
อวิชชาตัณหายึดเหนียวหนืดตน
ปัญญาค้นเห็นวาระสละวาง
สายดับพลันอุบัติขึ้นจิตตื่นแล้ว
เป็นธรรมแถวปฏิโลมคือล้มร่าง
วัฏฏะสิ้นทุกข์หายซากประจักษ์ทาง
ส่องสว่างนิโรธะคามินี
วิสุทธิ์ญาณประกาศชี้อริยมรรค
ประกอบหลักปฏิบัติอัฏฐ์วิถี
ทิฏฐิชอบเสริมปัจจัยธรรมให้มี
เส้นทางนี้อริยพระสัทธรรม




การศึกษาค้นคว้าวิจัยในโลกยิ่งนับวันก็ยิ่งห่างไปไกลออกจากเส้นทางมากขึ้น เส้นทางในที่นี้หมายถึงเส้นทางสายพัฒนามนุษย์ให้เข้าไปสู่จุดหมายสูงสุดของชีวิต คือ เส้นทางสายกลางมุ่งตรงต่อพระนิพพาน ไม่แปลกใจว่า ในที่สุดโลกแห่งการศึกษาแทนที่จะเป็นการศึกษาให้ปัญญาเพื่อแสวงหาความสุข ความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ แต่การศึกษากลับมุ่งหมายไปที่การสะสม กอบโกย สนองการกิน กาม เกียรติ จนกลายพันธุ์ไปกันใหญ่ ไม่น่าเชื่อว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่เข้าใจว่า มีปัญญาโดยแท้ แต่กลับกระทำดุจเหมือนผู้ไร้ปัญญามากขึ้นเรื่อย ๆ ดูจากพฤติกรรมมนุษย์ทั่วไปที่มุ่งแย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส แย่งอำนาจกันครอง ผลแห่งการแย่งก็คือการทำลาย เบียดเบียนกันและกันนั่นเอง
ถามว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ก็ต้องตอบว่า ผู้ที่ดูแลการศึกษาของประเทศและของโลกนั้นไม่มีมุมแห่งความคิดด้านการสร้างความสมบูรณ์ให้กับความเป็นมนุษย์เหลืออยู่เลย มีแต่มุมที่เรียกว่า แข่งขัน โลกแห่งการแข่งขัน โลกแห่งการชิงความได้เปรียบ โลกแห่งการเป็นผู้นำการค้า ทรัพยากร ทหาร อาวุธ เทคโนโลยี เข็มทิศชีวิตชี้ไปสู่สงครามแห่งการแข่งขันเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่เลยสำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากบรรยากาศทั้งมวล สถานการณ์ทุกจุดของโลก ตกอยู่ในภาวะสงครามแย่งชิงข้างต้น หากมีใครคนใดคนหนึ่งเปิดหน้าต่างชีวิตบานอื่นหยิบยื่นให้ เหตุผลนับพันจะอัดเขาทันทีว่า “พวกไม่คิดทำอะไร พวกยอมแพ้” ยังจำเหตุผลของเล่าปี่ที่ไปหาขงเบ้ง แต่ไม่พบ กลับไปพบซุยเป๋งพ่อตาขงเบ้ง ซุยเป๋งหยิบยื่นทางสงบให้ แต่เล่าปี่ก็มีเหตุผลเพราะ ๆ ให้กับตนและสหายว่า “ปราชญ์เต๋ารักสันโดษ แต่เราไหนเลยจะให้ทรราชครองเมือง” ที่ร้ายแรงกว่านั้น คือแนวคิดของคอมมิวนิสต์ที่เห็นผู้มีปัญญาอยู่อย่างมนุษย์ที่มีความสุขสมบูรณ์ว่า เป็นคนไร้ค่า พวกเขามองค่าของมนุษย์อยู่ที่วัตถุ พวกเขาจะบังคับให้บุคคลเหล่านี้ไปทำงาน หาเลี้ยงชีพ สร้างความร่ำรวยให้กับรัฐ แล้วเป็นฐานให้กับอำนาจของพวกเขานั่นแหละคือคุณค่าชีวิต
บุคคลผู้แสวงหาทางสร้างความสมบูรณ์ให้กับชีวิต เห็นแล้วว่า วิถีแห่งการแย่งชิงนั้นนำมาซึ่งความทุกข์ ความเดือดร้อน ทั้งตนเองและผู้อื่น ยังจดจำเหตุผลที่พระเตมีย์โพธิสัตว์เห็นประโยชน์ของการดำรงชีวิตอย่างมนุษย์ที่สมบูรณ์ยินยอมอดทนอยู่ถึง ๑๖ ปี ในที่สุดพระราชา ๓ เมืองก็เห็นด้วยว่า การดำรงชีวิตอยู่อย่างมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นอยู่ได้ และอยู่อย่างผู้มีปัญญานั้นประเสริฐอย่างยิ่ง ถ้อยคำสำคัญในเหตุการณ์นี้ ก็คือ “กษัตริย์เหล่านี้สละสมบัติดุจบ้วนน้ำลายทิ้ง ไม่หวงแหนเสียดาย ไหนเลยเราจะเก็บน้ำลายที่เขาบ้วนทิ้งมาทานอีกเล่า” สำนวนนี้เป็นสำนวนวิเศษสำหรับผู้ที่มีปัญญารู้ว่า อะไรคือคุณค่าแท้ของชีวิต อะไรคือคุณค่าเทียมของชีวิต
มนุษย์เมื่อได้คิดเช่นนี้จึงจะเข้าใจชีวิตที่แท้ได้ ชีวิตที่แท้นั้นคือความสุข ความสุขอันเกิดจากกาม เกิดจากความสงบ และการจากการปล่อยวางหลุดพ้น เป็นแต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็นความสุขแบบไหน ก็ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ชาวโลกล้วนประสงค์สุขอันเกิดจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และซาบซึ้งจิต แต่ไม่ใช่การสะสมทรัพย์สมบัติให้ท่วมท้นล้นธนาคาร ไม่ใช่ต้องเป็นเศรษฐีติดอันดับของโลกจึงจะได้รับความสุขอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ปัจจัยที่ถูกต้อง แต่ปัจจัยที่ถูกต้องก็คือ การรู้จักวิธีได้รับความสุขเช่นนั้น นี่คือ จุดประสงค์ของการศึกษาที่แท้จริง การดำรงชีวิตด้วยการเสพความสุขเช่นนั้นโดยมิใช่มุ่งแข่งขัน มุ่งเสพสื่อ หลงเข้าไปติดกับในเครื่องเสพติดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ เกม เน็ต ไลน์ และอื่น ๆ ใด เพราะนั่นคือ ผู้ที่ยังไม่ได้รับการศึกษา หน้าที่ของผู้ให้การศึกษาต้องทำให้คนมีปัญญา รู้ เข้าใจ ปฏิบัติอย่างเป็นมนุษย์ที่ได้รับการศึกษาในการหาความสุขให้ได้ ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องขยับฐานความสุขขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่ายินดีความสุขแบบหนอน ๆ ที่ต้องกินต้องเสพสิ่งปฏิกูลอยู่อย่างนั้นว่าเป็นสิ่งที่สุดยอดที่สุดในชีวิต หน้าที่การศึกษาคือ ทำให้คนเข้าใจความสุขที่มีระดับสูงขึ้นไป และทำให้คนขยับฐานไปให้ได้
เส้นทางที่ขยับฐานนั้นเรียกว่า ทางแห่งกุศล หรือกุศลกรรมบถ และทางสายกลางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ เรียกว่า อริยอัฏฐางคิกนิโรธคามีนีมัชฌิมาปฏิปทา นี่เป็นทางที่นำไปสู่การเลื่อนระดับสำหรับบุคคลผู้แสวงหาปัญญา เป็นหัวใจปรัชญาของการศึกษา ที่เรียกว่า “ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่ฉลาดรู้จักเลือกสิ่งที่เป็นคุณค่าแท้ของชีวิตได้ดียิ่งขึ้น”
ผู้ที่ยังไม่แน่ใจ ก็ให้พิสูจน์ด้วยตนเองก่อน ให้ฝึกตนเองเป็นนักพิสูจน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักศึกษา ค้นคว้าวิจัยด้วยตนเอง พิสูจน์อย่างไร ก็พิสูจน์โดยการศึกษาเส้นสายกระบวนธรรมที่เกิดขึ้น เห็นความทุกข์อันเกิดขึ้นทั้งหลายกับตนและกับผู้อื่นในลักษณะอย่างลึกซึ้ง สำนวนที่ว่า “เมื่อเห็นทุกข์ ก็ถึงธรรม” ย่อมเกิดขึ้นกับผู้พิสูจน์ ก็ทุกข์คืออะไร ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ได้สิ่งที่ไม่ต้องการได้ ไม่ได้สิ่งที่อยากได้ สรุปแล้วตัวขันธ์คือ ทุกข์ จงใช้ความรู้สึก สติ ปัญญา เข้าไปสัมผัสกับทุกข์เหล่านั้น ให้เห็นความทุกข์เหล่านั้นมีอยู่ในตน มีแต่ทุกข์ที่เกิดกับตนจึงเป็นทุกข์ที่แท้ ถ้ามิใช่ทุกข์เกิดกับตนก็ไม่สำนึก เช่น เราเห็นผู้อื่นบาดเจ็บ ล้มตาย อย่างมากก็รู้สึกเสียใจ อย่างน้อยก็ปล่อยผ่าน ไม่กระเทือนความรู้สึกอย่างใด แต่พอหนามตำเท้าตนเอง ปวดฟัน คนรักทิ้ง ฯลฯ เมื่อนั้นจึงรู้สึกว่า นั่นเป็นทุกข์จริง ๆ การที่เห็นทุกข์อย่างลึกซึ้งเช่นนี้จะทำให้เข้าใจทุกข์ว่า แท้จริงเกิดจากอะไร
ผู้มีปัญญาศึกษาพิสูจน์ความจริงจึงจะเห็นต่อไปว่า แท้จริงความทุกข์ทั้งมวลนั้นเกิดขึ้นก็เพราะอาศัยปัจจัยเหล่านี้ คือ การเกิดมีชีวิต การกระทำให้เกิดมีชีวิต การยึดติดในชีวิต ความมุ่งหมายอยากในชีวิต ความรู้สึกต่อชีวิต การกระทบกันของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์แห่งชีวิต การทำงานร่วมของระบบชีวิต การปรุงขึ้นแห่งชีวิต โดยมีความไม่รู้เป็นฐาน สิ่งที่เรียกว่า ทุกข์จึงปรากฏขึ้น ก็เมื่อปัจจัยเหล่านี้อาศัยกันและกันเกิด ปัจจัยเหล่านี้ก็ต้องอาศัยกันและกันดับได้ นี่คือ ญาณเป็นเครื่องรู้ ในเชิงวิทยาศาสตร์เปรียบเหมือน ไฟเกิดขึ้นเพราะอาศัยเชื้อ ความร้อน อากาศ และประจุไฟ เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งขาดไป ไฟก็ดับไป ความทุกข์ก็ฉันนั้น เมื่อเหตุแห่งทุกข์ คือ ชาติหมดไป ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็หมดไปด้วย นี่คือความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ที่เรียกว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”
ปัญญาที่เห็นแจ้งสายเกิดและสายดับเช่นนี้เป็นการเข้าไปศึกษาในระดับต้นตอของเหตุ ดุจดังนักวิทยาศาสตร์ที่ทราบถึงกระบวนการได้ยินเสียงว่า มีกระบวนการอย่างไรบ้าง ไม่มุ่งหมายไปที่เสียงอะไร แต่มุ่งหมายไปว่า ได้ยินได้อย่างไร เมื่อได้ยินแล้วส่งผลให้เกิดความรู้สึกอย่างไร เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง พระพุทธศาสนาเข้าไปทราบถึงสาเหตุของการได้ยินแล้วว่า เกิดจากอายตนะ ผัสสะ วิญญาณ ทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการได้ยิน ปัญหาอยู่ที่ว่า ได้ยินแล้วรู้สึกอย่างไร มัชฌิมาปฏิปทาจึงจำเป็นอยู่ในขั้นตอนนี้ เช่น ได้ยินคำด่าอย่างรุนแรง ผู้ที่ไม่มีการศึกษาก็จะต้องตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์อันเกิดจากคำด่านั้น เพราะสัญญาเก็บไว้แล้วว่า เป็นคำด่า ด่าใคร ด่าเรา แต่ผู้ที่มีปัญญาและใช้มัชฌิมาปฏิปทาเป็นกระบวนการดับเหตุ มิให้เสียงนั้นเลื่อนไหลไปตามอำนาจอวิชชาโดยปกติ แต่เป็นการเกิดขึ้นแห่งปัญญากำกับ ก็เมื่อมีอายตนะก็ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงเสียง เสียงก็ไม่อาจกำหนดได้ว่าต้องเป็นคำชมหรือคำด่าเท่านั้น คลื่นเสียงกระทบหูเกิดการรับรู้ว่าเป็นเสียง และรู้ว่าเป็นคำด่า ความเพียร ปัญญาและสติ (อาตาปี สัมปชาโน สติมา) เข้าไปย่อยสลายให้เห็นว่า ก็เสียงเป็นเพียงคลื่นชนิดหนึ่งที่กระทบประสาทหู วิญญาณรับรู้ว่าเป็นคำด่า (หรือชม) แต่เมื่อไม่เข้าไปตั้งความยากไว้ว่า มีเขา มีเรา มีคำด่า และไม่ยึดว่าเป็นนั่นเป็นการด่า เป็นแต่อาการของเสียงที่ดังแล้วดับไปเท่านั้น ลองนึกถึงว่า คำนี้เมื่ออ่านเจอก็ดี หรือได้ยินลอย ๆ หรือเป็นภาษาอื่นที่เราไม่รู้ความหมายก็ดี คำนั้น เสียงนั้นก็หายไป จบไป ไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น ก็เพราะไม่เข้าไปตั้งความยากยึดไว้นั่นเองว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา ของเขา คำด่า คำชม เห็นเพียงอาการเกิดดับ เป็นธรรมชาติล้วน ๆ ตกอยู่ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยถาภูตญาณทัศนะก็เกิด อริยมรรคมีองค์แปดก็เกิดขึ้นเพียงลัดนิ้วมือเดียว เกิดขึ้นในจิตและดับในจิตนี้ เกิดขึ้นชั่วลมหายใจเข้า หายใจออกเท่านั้น นี่คือ กระบวนการสร้างเหตุปัจจัยสายดับด้วยมัชฌิมาปฏิปทา
การศึกษาปัจจยการบนฐานอริยสัจ ๔ นี้นำมาซึ่งการเลื่อนระดับชีวิตมนุษย์ให้สมบูรณ์ขึ้น รู้จักมีปัญญาเลือกสรรสิ่งที่เป็นคุณค่าแท้สำหรับชีวิตมากขึ้น มนุษย์ที่ได้ชื่อว่า ผู้มีปัญญาจักต้องพิสูจน์ทราบด้วยตนเอง ธรรมในพระพุทธศาสนามุ่งหวังให้ผู้มีใจเป็นนักพิสูจน์ทราบได้ทดลอง เมื่อนั้นความจริงก็จะประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง การศึกษาของโลกพึงมุ่งพัฒนาชีวิตอย่างนี้จึงจะสมกับเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญาที่แท้


จบนิโรธมัคคญาณปกาสินี





วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561




ทุกขผัสสะปกาสินี

รหัสลับที่สวมในความเห็น
ล้วนกลายเป็นทิฏฐิที่ยิ่งใหญ่
หาต้นตอความทุกข์ที่ผูกใจ
คำตอบใช่สี่มุมตกหลุมมาร
ไม่เป็นเราก็ท่านผู้ปั้นแต่ง
อาจพลิกแพลงสองเราต้องเข้าหาร
หรือทุกข์รอจะเกิดแค่เปิดกาล
สี่มุมม่านชาละคลุมอนันต์
หามีผู้คนใดมาใส่ทุกข์
เพียงแค่ปลุกผัสสะกระทบขันธ์
ปัจจัยก็เลื่อนไหลสืบสายกัน
คอยแค่กั้นกระแสที่แผ่ไป
คือการปรับทิฏฐิแก้มิจฉา
เกิดปัญญาเห็นแจ้งแถลงไข
ทำลายข้อสับสนแห่งกลไก
แก้มัดให้สรรพสัตว์พ้นวัฏวน



นับเป็นหายนะแห่งธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกปิดบังด้วยความไม่รู้มานับกาลไม่ถ้วน จนกลายเป็นความเห็นผิดแบบถาวรที่เรียกว่า วิปลาส ความเห็นผิดนี้มีอยู่ ๓ ระดับใน ๔ เรื่องด้วยกัน คือ
๑.    ระดับสัญญา เรียกว่า สัญญาวิปลาส หมายเอาความจำได้หมายรู้ที่ผิดพลาดใน ๔ ประเด็น ได้แก่ หมายรู้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนว่า ๑) สิ่งไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ๒) สิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าสุข ๓) สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตน ๔) สิ่งที่เป็นของปฏิกูล ว่างดงาม
๒.    ระดับจิต เรียกว่า จิตวิปลาส หมายเอา จิตที่รับรู้ เข้าใจผิดพลาด คลาดเคลื่อนใน ๔ ประเด็น ได้แก่ หมายรู้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนว่า ๑) สิ่งไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ๒) สิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าสุข ๓) สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตน ๔) สิ่งที่เป็นของปฏิกูล ว่างดงาม
๓.    ระดับทิฏฐิ เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส หมายเอา การยึดมั่น ถือมั่น เชื่อตามสัญญาหรือจิตนั้น แล้วกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผิดพลาดต่อเนื่องจนกลายเป็นความเคยชิน และกลายเป็นวัฒนธรรมที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน เช่น ความเชื่อตามจิตตวิปลาสว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีผู้สร้าง (ตัวตน) พอเกิดแผ่นดินไหว ก็เชื่อว่า เป็นเพราะเทพเจ้าบันดาล (พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, ๒๕๕๘ : ๑๓๘)
เพราะความเห็นผิดเข้าใจผิดอย่างนี้จนกลายเป็นธรรมชาติของมนุษย์ จึงไม่แปลกที่มีเหตุการณ์อะไรบางอย่าง บางประการเกิดขึ้นกับตนเองหรือใครก็ตาม มนุษย์ก็ต้องมองหาสาเหตุว่า เป็นใคร เกิดจากสาเหตุอะไร โดยโยงใยไปสู่ความเห็นผิดเช่นดังกล่าว เปรียบเหมือนคนที่ตาบอดอยู่แล้ว เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ไหนเลยคนตาบอดจะรู้ว่า เป็นอะไร ก็ล้วนแต่เดาว่า เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ มีลักษณะอย่างนั้น อย่างนี้ ถกเถียงกันไปทั่วสังคม โดยมากก็จะมีข้อสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนนั้น ไม่ว่าจะเป็นสุข เป็นทุกข์ ก็ตามย่อมเกิดมาจากเหตุทั้ง ๔ ประการนี้เท่านั้น คือ
๑.    สุขหรือทุกข์เป็นเพราะผู้อื่นกระทำให้เกิดขึ้นกับตน
๒.    สุขหรือทุกข์เป็นเพราะตนเองกระทำให้เกิดขึ้นเอง
๓.    สุขหรือทุกข์เป็นเพราะผู้อื่นและตนเองกระทำให้เกิดขึ้นร่วมกัน
๔.    สุขหรือทุกข์ไม่เกี่ยวกับผู้อื่นและตนเองกระทำให้เกิดขึ้นได้ คือ เกิดได้เอง
ความคิดเห็นทั้ง ๔ ประการนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ความคิดผิดที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ กล่าวคือ ความคิดในทัศนะความมีตัวตน หรือมีสิ่งยืนโรง และความคิดผิดว่า ไม่มีอะไรเป็นเหตุเป็นผลกันทั้งนั้น และเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นในโลก คนทั้งหลายก็จะใช้ความคิดเห็นผิดผลาดคลาดเคลื่อนนี้เข้าไปเป็นตัวตัดสิน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเสมอ
เมื่อมองจากการหาคำตอบว่า สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนนั้นมาจากไหน ร้อยละ ๗๐ โดยประมาณต้องบอกว่า เป็นเพราะเขาคนนั้น เนื่องจากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มองออกไปข้างนอกเสมอแล้วก็เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จึงไม่อาจให้คำตอบเป็นอื่นไปได้ ก็ต้องลงความเห็นว่า เพราะคนนั้น กลุ่มนั้น ประเทศนั้นจึงทำให้เราเป็นอย่างนี้ ได้รับความทุกข์หรือสุขอย่างนี้ แต่ก็มีประมาณร้อยละ ๑๕ ที่มองว่า เป็นเพราะตัวเราทำตนเอง คำที่มักจะได้ยินว่า “ก็เพราะเขาทำร้ายตัวเขาเอง” หรือ “เพราะฉันมันไม่ดีเอง” จึงเป็นคำที่สรุปว่า เป็นเพราะตนเองก็ทำขึ้นมาจึงได้รับผลอย่างนั้น แต่ก็มีบ้างประมาณร้อยละ ๑๐ ที่ลงความเห็นว่า เป็นเพราะทั้ง ๒ ฝ่ายทำร่วมกัน ดังที่เรามักได้ยินคำพูดว่า “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” กล่าวคือ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์นั้นก็เพราะทั้ง ๒ ฝ่ายทำขึ้นมา จึงได้รับผลอย่างนั้น ยังคงเหลืออีกประมาณร้อยละ ๕ ที่มองว่า ไม่ว่ายังไง สุขทุกข์นั้นไม่เกี่ยวกับใครทั้งนั้น ดังที่เรามักได้ยินคำพูดว่า “อะไรมันจะเกิด มันก็ต้องเกิด” คือ สุขทุกข์เป็นอิสระ ไม่เกี่ยวกับสิ่งไหน ไร้เหตุผลโยงใย มันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ปัญหานี้มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในปัจจุบัน ในอดีตก็มีผู้สงสัยและสนใจอยากรู้ ดังข้อความที่เหล่าปริพาชกถามพระสารีบุตรที่เข้าไปพบปะทักทายเวลาเช้าก่อนออกบิณฑบาตว่า
“ท่านพระสารีบุตร มีสมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเอง อนึ่ง สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำให้ สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเองด้วย และเป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำให้ด้วย อนึ่ง สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุที่ตนกระทำเองก็มิใช่และคนอื่นกระทำให้ก็มิใช่ท่านพระสารีบุตร ก็ในวาทะเหล่านี้ พระสมณโคดมตรัสไว้อย่างไร ตรัสบอกไว้อย่างไร และพวกข้าพเจ้าจะตอบอย่างไร จึงจะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระสมณโคดมตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระสมณโคดมด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลทั้งไม่มีการคล้อยตามคำเช่นนั้นที่จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้” (สํ.นิ. ๑๖/๗๒/๓๒-๓๓)
          จากข้อความนี้ประเด็นที่น่าสนใจมิใช่เพียงแต่ปัญหาที่ถามเกี่ยวกับเรื่องทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนทำแล้ว ปริพาชกทั้งหลายยังระมัดระวังว่า การที่ตนไม่รู้จริงว่าพระพุทธเจ้าตรัสตอบเรื่องนี้ไว้อย่างไร แล้วนำไปกล่าวต่อ จะเป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า จะทำให้ตนเองได้รับการตำหนิเอาได้ว่า ไม่รู้จริงแล้วกล่าวไป นี่คือ ธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของนักปราชญ์ในยุคนั้น จะไม่เป็นไปตามสำนวนที่ว่า “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด”
          พระสารีบุตรตอบคำถามเหล่านี้โดยสรุปความว่า “ทุกข์ที่สมณพราหณ์กล่าวว่ามีสาเหตุ ๔ ประการนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสภาวะที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ปัจจัยนั้นก็ได้แก่ผัสสะ การตอบเช่นนี้ชื่อว่าตอบตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ถูกตำหนิได้” พระอานนท์ได้ฟังการสนทนานั้นด้วย จึงนำมากราบทูลต่อพระพุทธเจ้าว่า คำตอบเช่นนั้นถูกต้องหรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดีละ ดีละ อานนท์ ตามที่สารีบุตรพยากรณ์นั้น ชื่อว่า พยากรณ์โดยชอบ...” (สํ.นิ. ๑๖/๗๔-๗๕/๓๔)
          พระพุทธศาสนามีคำตอบในเรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่ต้นขั้วที่แท้จริง มิใช่มองไปที่ปลายขั้ว หรือมองออกไปภายนอก การมองออกไปภายนอกก็จะพบสาเหตุที่เป็นคน วัตถุ สิ่งของ พอมองไม่เห็นก็ลงความเห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นเหตุ โลกตกอยู่ภายใต้คำตอบเช่นนี้เป็นเวลานาน ไม่เพียงแต่เป็นคำตอบเท่านั้น แต่เป็นการหาตัวการที่ผิดผลาดทำให้กระทำต่อตัวการที่ผิดพลาดไปด้วย พวกแรกก็มักโทษผู้อื่น พวกที่สองก็มักโทษตนเอง พวกที่สามมักโทษกันและกัน พวกที่สี่ก็ปล่อยประละเลย เมื่อเป็นเช่นนี้จะหาทางออกจากทุกข์ไม่ได้เลย ต่างก็พากันวนเวียนอยู่ในกองทุกข์อยู่ร่ำไป
          สำหรับพระพุทธศาสนามองเห็นทุกข์มีผัสสะเป็นปัจจัย ก็เพราะการกระทบของอายตนะภายในและอายตนะภายนอก ทั้ง ๖ ประการ เวทนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ปรากฏ ถ้าหากพอใจก็เป็นสุขเวทนา หรือมีความสุข ถ้าหากไม่พอใจก็เป็นทุกขเวทนา หรือมีความทุกข์ ถ้าหากไม่มีทั้งความพอใจหรือไม่พอใจก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา คือ เฉย ๆ การที่มองเห็นต้นขั้วของสุข ทุกข์เช่นนี้ย่อมเห็นกระบวนการไหลไปของสายปัจจยการที่จะนำไปสู่การยึดมั่นถือมั่นเอาสุข และทุกข์ที่เกิดในเวทนานั้นเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา จนทำให้กองทุกข์ในขันธ์ทั้งมวลเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อรู้สาเหตุที่แท้อย่างนี้ก็ย่อมเข้าไปตัดตอน ณ จุดกระทบได้ ก็เมื่อผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดสุข ทุกข์ ก็ต้องเห็นอาการกระทบนั้นเป็นเพียงธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นธรรมชาติของอายตนะ เมื่อมีอายตนะ บางครั้งเรียกว่า อินทรีย์ เพราะมีความเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ เปรียบเหมือนอากาศทั้งหลายที่ทำหน้าที่ อากาศหนาวก็ทำให้หนาว อากาศร้อนก็ทำให้ร้อน เมื่อตาเห็นรูป ก็เพราะมีตาและมีรูป มีจุดกระทบ และมีวิญญาณรับรู้ นั่นก็เป็นธรรมชาติของปัจจยการ การที่ตากระทบรูปที่ไม่น่าพอใจนั้นเป็นอกุศลวิบาก ส่วนที่น่าพอใจนั้นเป็นกุศลวิบาก ขณะนั้นจะต้องทำอะไร อย่างไร ก็ต้องพิจารณาเห็นถึงความเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งด้วยสติ ปัญญา และความเพียร ตัดตอนไม่ให้เกิดผลอันเป็นกุศล หรืออกุศลเชิงสาเหตุอีกต่อไป เมื่อเป็นกุศล อกุศล เชิงวิบากก็ให้เป็นอันเห็นและเข้าใจเท่านั้น ณ จุดนี้เป็นจุดที่ตัดตอนไม่ให้เกิดตัณหาต่อจากเวทนาอีก เพราะเมื่อผัสสะดับ เวทนาก็ดับ ตัณหาก็ดับสืบเนื่องต่อไป
          ยกตัวอย่าง การเห็นกองขี้หมาเลอะหน้าประตูบ้าน เป็นอกุศลวิบาก ความเป็นทุกข์ก็เกิด โดยมากล้วนก็ต้องหาว่าใครทำ หรือตัวไหนขี้ จากนั้นกระบวนการทำงานของปัจจยการก็ไหลไปตามอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เริ่มที่จิตเป็นอกุศลกรรม วาจาที่เป็นอกุศลกรรมก็จะพรั่งพรูออกมา จากนั้นการกระทำที่เป็นอกุศลก็จะเกิดตาม กองทุกข์ทั้งมวลก็ไหลรวมเป็นเหตุแห่งทุกข์ต่อไป แต่พอเข้าใจเห็นผัสสะที่กระทบ เข้าใจถึงกระบวนการสืบเนื่องทุกข์ ก็ตั้งสติ มีปัญญา ใช้ความเพียรดับปัจจยการนั้นเสีย มองเห็นเป็นธรรมชาติของการมีอายตนะ มีผัสสะ หรือการเห็น หรือมีขันธ์ มีสุนัข มีคนอื่นหรือขันธ์อื่น มีบ้าน มีที่ว่าง มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้นที่จะต้องมีสิ่งเหล่านี้ การที่จะไปโทษสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ผู้มีปัญญาจะพึงกระทำ ดึงกลับเข้าสู่คลองแห่งธรรมชาติ พลังแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทานก็ลดทอน ถึงขั้นไม่อาจทำงานให้เป็นปัจจยการได้อีกต่อไป ตรงนี้เองที่เรียกเป็นภาษาธรรมแห่งผู้บรรลุว่า “เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน”
          การที่จะทันความไวของจิตที่ทำงานตามปกตินั้นเป็นไปได้ยากมากสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาก่อน แต่สำหรับผู้ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ ความไวของจิตมีเท่าใด ความไวของสติก็มีไวเท่านั้น เพราะสติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตทันทีเช่นกัน ขอเพียงได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างถูกต้อง ถูกทาง ตามธรรมสมควรแก่ธรรม สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ก็ทำงานไปร่วมกันเพื่อระงับยับยั้งมิให้กระแสแห่งปัจจยการที่นำไปสู่ทุกข์ทำงานได้อย่างคล่องตัว เมื่อกระทำได้เช่นนี้เส้นทางในการเดินไปสู่การดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงก็มีได้ กระบวนแห่งปัจจยการสายปฏิโลม หรือสายนิโรธวารก็เกิดขึ้น นี่เป็นสายการสิ้นไปแห่งทุกข์
          สุข ทุกข์ ที่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลกมีผัสสะเป็นปัจจัย ไม่ต้องไปโทษใคร ๆ หรือตัวตนอะไรทั้งสิ้น นี่เป็นธรรมชาติแห่งขันธวิบากที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ไม่อาจหลุดรอดจากผัสสะไปได้ เปรียบเหมือนเมื่อเกิดขึ้นมาบนโลก ก็ไม่อาจหลุดรอดจากพ่อแม่ ดิน ฟ้า อากาศ สังคม สิ่งแวดล้อมไปได้ ความสำคัญอยู่ที่ว่า เข้าใจความเป็นธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้นในแง่ที่สร้างความทุกข์ ๒ ระดับให้กับเราหรือไม่ คือ ระดับเหตุคือเวทนา และระดับผลคือทุกข์ โทมนัส อุปายาส ได้หรือไม่ ถ้าเข้าใจก็ดับเหตุเสีย คือ ตัดตอข้อห่วงบ่วงเกี่ยวที่ผัสสะ ทุกข์ในระดับสาเหตุก็ดับ เมื่อทุกข์ในระดับเหตุดับไป ทุกข์ในระดับผลก็ย่อมไม่มี เปรียบเหมือนการไม่ต้องเกิดมาในโลก คือ ดาวดวงนี้ ก็ไม่ต้องพบกับสภาพธรรมชาติของดาวดวงนี้เช่นกัน
          สมควรให้ทุกท่านได้ปรับมิจฉาทิฏฐิออกเสีย ได้รู้ ได้เห็นธรรมที่เป็นสัจธรรมปรมัตถ์ และพยายามปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือปฏิบัติไปตามการรู้แจ้งธรรมชาติแห่งปัจจยการเช่นนี้ เห็นสาเหตุ ทางออก และกระบวนการปฏิบัติออกจากวงจรแห่งทุกข์ คือการวิปัสสนาต่อผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา และตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน...เมื่อเห็นเช่นนี้กองทุกข์ทั้งมวลก็สิ้นไป     อิมัสสะ เกวลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ นิโรโธ โหติ


จบทุกขผัสสะปกาสินี