วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

๑๐. อุปนิสณาณปกาสินี

รู้เห็นแจ้งภาวะบรรดาขันธ์
เกิดดับพลันอาสวะที่สะสม
ก็สลายหมดสิ้นการติดปม
กระบวนล้มอัตตาสาระพัง
อิงอาศัยขยญาณปัญญาเห็น
วิมุตติเป็นบันไดเชื่อมไหลหลั่ง
เหล่าองค์ธรรมโพชฌังคะพลัง
ทุกข์เริ่มตั้งจนปิดอวิชชา
คือจุดเปลี่ยนศรัทธาสู่ปราโมทย์
เป็นเหมือนโจทย์สายธรรมที่ล้ำค่า
องค์คุณญาณลำดับสลับมา
ประดุจห่าฝนใหญ่ที่ไหลลง
สมาธิสู่ท่าญาณอาศัย
วิราคะจึงคลายความใหลหลง
นี่คือยอดแห่งธรรมเจตจำนง
จุดประสงค์แห่งศาสน์พระศาสดา
          
กระบวนการอิงอาศัยกันและกันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากในแง่ของทั้งทางโลกและทางธรรม ผู้ใดเข้าใจกระบวนการดังกล่าวได้มากเท่าไรก็สามารถเข้าถึงการสร้างเหตุและปัจจัยให้เกิดกระบวนธรรมอิงอาศัยกันและกันมากขึ้นเท่านั้น ถ้าหากมองโลกมุมนี้ ก็กล่าวได้ว่า เพราะการอิงอาศัยกันและกันนี่เองจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาในโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นโลกในมิติธรรมชาติ (Nature Made) หรือในมิติมนุษยชาติ (Man Made)
มาพิจารณาในส่วนที่เป็นธรรมชาติก่อน อาศัยกระบวนการอิงอาศัยกันและกันของดวงดาวต่าง ๆ ในระบบสุริยะจักรวาล (Solar System) จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ และธรรมชาติเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยที่เปลี่ยนไป ความเหมาะสมของภูมิอากาศในดาวที่เรียกว่า โลก (Earth) ที่เย็นลงจนได้ที่จึงมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น ตามแนวคิดของเจมส์ เลิฟล๊อค (James Lovelock) ที่เรียกโลกนี้ว่า Gaia หมายถึง แม่ผู้ให้กำเนิด เป็นการให้กำเนิดสรรพชีวิตขึ้น ตามหลักฐานในอัคคัญญสูตร แสดงให้เห็นว่า โลกนี้เดิมนั้นมีลักษณะขาวนวลอันเกิดจากน้ำที่ลดลง เรียกครีมที่ปกคลุมโลกนั้นว่า ง้วนดิน ภาษาบาลีว่า รสปฐวี (ที.ปา.๑๑/๕๖/๗๘) ลอยอยู่บนน้ำที่แห้งลงเรื่อย ๆ มีลักษณะเหมือนน้ำนมเคี่ยวแล้วติดอยู่ข้างบน กระบวนการพัฒนาการของโลกนี้เอง คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยตามธรรมชาติ ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปนี้เกิดปฏิกิริยาทางสิ่งมีชีวิตหลากหลายอย่างเกิดขึ้น ถามว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ตอบได้แต่ว่า เป็นเพราะเหตุและปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เปรียบเหมือนเหตุและปัจจัยทำให้เราได้เห็นวิวัฒนาการของพืชพันธุ์สัตว์ที่มีแล้วหายไปและที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากเหตุและปัจจัย สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การกลายพันธุ์ของเชื้อโรคที่เปลี่ยนแปลงไปตามภูมิอากาศ

ในขณะเดียวกัน โลกอิงอาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกดำรงอยู่ เปรียบเหมือนมนุษย์ที่อาศัยปัจจัยภายใน คือ อวัยวะในร่างกายทำงาน และปัจจัยภายนอก คือ ดิน ฟ้า อากาศ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ถ้าเปรียบโลกเป็นคน ตอนนี้ก็มีอายุประมาณ ๕๐ ปี ที่มีโรครุมเร้าหลายโรค เหตุปัจจัยเหล่านี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกทั้งสิ้น เมื่อมีอะไรบางอย่างเปลี่ยนแปลง ก็กระทบกลไกของโลกไปด้วย ปัจจุบันกระบวนการอิงอาศัยเหตุปัจจัยทางธรรมชาติเห็นได้ชัดในเรื่องของผลกระทบอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลกที่เรียกว่า ภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) กระบวนการลูกโซ่ (เหตุปัจจัย) ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของรังสีแสงอาทิตย์ ชั้นบรรยากาศ อากาศ กับไอน้ำ โดยปกติบรรยากาศของโลกที่ประกอบด้วยไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน และไอน้ำ จะทำหน้าที่ในการดูดซับรังสีอินฟราเรดที่ลงมาบนโลก ส่วนรังสีคลื่นสั้นก็จะสะท้อนออกไป เมื่อเกิดเหตุปัจจัยอันเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ ตัดไม้ ทำลายป่า โลกทำปฏิกิริยารูปแบบใหม่ขึ้น ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสมีมากขึ้น ก๊าซเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้มข้นของไอน้ำในบรรยากาศจนเกิดเป็นภาวะเรือนกระจก หรือภาวะตู้อบไอน้ำนั่นเอง นอกจากนั้น ก๊าซที่เกิดจากการปล่อยออกไปนั้นกลับกลายเป็นก๊าซพิษ ทำลายชั้นบรรยากาศทำให้รังสีคลื่นสั้นของแสงอาทิตย์ลงมาบนพื้นโลกได้ อีกทั้งไม่สามารถดูดซับรังสีอินฟราเรดได้ ผลกระทบอันเกิดจากภาวะเรือนกระจกนี้ส่งผลไปสู่ Gia (โลก) ให้เป็นโรคหลายชนิด ยากต่อการรักษา รวมทั้งที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิด เกิดจากการทดลองนิวเคลียร์ทั้งบนดิน ในอากาศ และในดิน ได้ส่งผลทำให้เกิดโรคหลายชนิดขึ้นในมนุษย์เอง นี่ก็สื่อสะท้อนให้เห็นอานุภาพแห่งปฏิกิริยาลูกโซ่ที่มองได้ทั้งระบบโดมิโน (Domino System) ระบบพรีเดเตอร์ (Predator System) หรือระบบวิวัฒนาการ (Revolution System)
มาดูเหตุปัจจัยที่เป็นเรื่องของมนุษย์เองบ้าง (Man Made) กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนี้ ยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งที่สามารถทำให้เห็นได้ชัด ได้แก่ การรักษาโรคของหมอ หมอมีแต่ให้ยารักษาตามเหตุและปัจจัย แต่หมอไม่อาจจะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายตามที่ต้องการได้ ทำได้ก็แต่เพียงให้ยาถูกส่วน ไม่มาก ไม่น้อย ผู้รักษาโรคก็ทำตามเหตุและปัจจัย คือ ทานตามที่หมอบอก ที่เหลือก็เป็นเรื่องของร่างกายจะทำปฏิกิริยาต่อโรคเอง  โดยอาศัยตัวยาเป็นเหตุและปัจจัยของร่างกายเอง ซึ่งเป็นระบบของชีวะ (พีชนิยาม) การที่หมอให้ยา ประกอบยาทั้งหมดนั้นเป็นการสร้างเหตุและปัจจัย (กรรมนิยาม) นอกจากนั้นยังต้องอาศัยอากาศ (อุตุนิยาม) ด้วย ในการสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อให้โรคหาย ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการสร้างเหตุและปัจจัยทั้งสิ้นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อโลกและชีวิต
มาถึงเหตุปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุธรรม เป็นการสร้างเหตุและปัจจัยโดยอาศัย จิตนิยามและกรรมนิยามโดยตรง เพื่อให้กระบวนการแห่งกรรมนิยามนั้นส่งผลต่อจิตนิยาม กระบวนการทำงานตามเหตุปัจจัยที่ไม่อาจใช้ความอยาก หรือไม่อยากอะไรให้จิตทำงานได้เลย มีแต่การสร้างเหตุและปัจจัยเท่านั้นที่สามารถทำได้ ถ้าเหตุปัจจัยถูกต้อง จิตนิยามก็ทำงานไปตามนั้น เพราะการค้นพบกระบวนการแห่งเหตุและปัจจัยอย่างนี้นั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงได้ประกาศธรรม และให้ความสำคัญไปที่อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เพราะสามารถทำให้จิตปุถุชนพัฒนาเข้าถึงจิตอริยชนได้ด้วยกระบวนการแห่งรู้และสร้างเหตุและปัจจัยนี้
คำถามว่า ขันธ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบ ขันธ์เกิดขึ้นเพราะกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทสายเกิด กระบวนการนี้เป็นเหตุและปัจจัยสัมพันธ์กันและกันระหว่าง จิต เจตสิก รูป หรือ มองอีกมิติหนึ่ง เป็นกระบวนการแห่งจิตนิยาม กรรมนิยาม และพีชนิยาม ก็ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอุปนิสสูตรว่า  “อิติ รูปํ  อิติ รูปสฺส สมุทโย อิติ รูปสฺส อตฺถงฺคโม...” (สํ.นิ.๑๖/๖๘/๓๐) รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้...เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
อะไรคือ คือรูปถ้าเราตอบตามคัมภีร์ ก็คือ มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ รวมเป็นรูป ๒๘ แต่ในที่นี้ต้องการตอบให้เห็นเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย ก็คือ กองทุกข์กองหนึ่งในบรรดาขันธ์ทั้ง ๕ กองทุกข์นี้มีเหตุและปัจจัยก็คือ อวิชชา เป็นหัวกระบวน เหตุเกิดของรูปหรือกองทุกข์นี้ก็คือ สมุทัย อันได้แก่ ตัณหาและอุปาทานเป็นกระบวนการแห่งทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรว่า อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ยายํ ตณฺหา โปโนพภวิกา นนฺทิราคสหคตา ตตฺระ ตตฺราภินนฺทินี เสยยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา (วิ.ม.๔/๑๔/๑๕) ก็ทุกขสมุทยอริยสัจนี้แล คือ ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา”
ส่วนความดับแห่งรูปในมิติความทุกข์นั้นทำอย่างไร ในที่นี้จะแสดงความดับแห่งรูปตามนัยแห่งอุปนิสสูตรที่พระพุทธเจ้าได้แสดงความเป็นกระบวนธรรมไว้ชัดเจน ถ้าจะกล่าวว่า นี่คือกระบวนธรรมแห่งเหตุและปัจจัยที่สมบูรณ์ที่สุดก็ว่าได้ กระบวนธรรมแห่งปฏิจจสมุปบาทจากอวิชชาจนถึงทุกข์ เป็นปัจจยการ ๑๒ นั้น เป็นที่ทราบดีสำหรับนักการปฏิบัติและนักการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปแล้ว แต่กระบวนการแห่งความทุกข์ไปจนถึงขยญาณนั้นเป็นอย่างไร น้อยคนที่จะได้ทราบถึงกระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัยนี้
“ทุกฺขูปนิสา สทฺธา สทธูปนิส ปามุชฺช ปามุชฺชูปนิสา ปติ ปตูปนิสา ปสฺสทฺธิ ปสฺสทฺธูปนิส สุข สุขูปนิโส สมาธิ สมาธูปนิส ยถาภูตาณทสฺสน ยถาภูตาณทสฺสนูปนิสา นิพฺพิทา นิพฺพิทูปนิโส วิราโค วิราคูปนิสา       วิมุตฺติ วิมุตฺตูปนิส ขเย าณ” (สํ.นิ.๑๖/๖๙/๓๐) ศรัทธามีทุกข์เป็นที่อิงอาศัย ความปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อิงอาศัย ปีติมีปราโมทย์เป็นที่อิงอาศัย ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อิงอาศัย สุขมีปัสสัทธิเป็นที่อิงอาศัย สมาธิมีสุขเป็นที่อิงอาศัย ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย นิพพิทามียถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่อิงอาศัย วิราคะมีนิพพิทาเป็นที่อิงอาศัย วิมุตติมีวิราคะเป็นที่อิงอาศัย ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไปมีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย
          นี่คือกระบวนแห่งเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยกันและกันทำให้รูปดับไป เป็นกระบวนการสร้างเหตุปัจจัยของกรรมนิยามส่งผลต่อจิตนิยามจนเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเอง มาตรวจสอบว่า อาศัยอะไรจึงนำไปสู่ความดับแห่งขันธ์ทั้งมวลได้ เริ่มที่ศรัทธาที่มีทุกข์เป็นที่อาศัย เมื่อศรัทธา คือ ความเชื่อมั่น ความรู้ ความเข้าใจต่อทุกข์แห่งขันธ์อันเป็นปริญเญยยธรรม คือการกำหนดรู้ทุกข์ว่า เป็นเพียงเหตุและปัจจัยที่อาศัยกันเกิดดับอันมีเวทนาขันธ์เป็นตัวทำหน้าที่ ย่อมเกิดความบันเทิงใจ ความซาบซ่าน ความสุข ความตั้งมั่น เกิดความเห็นแจ้งตามความเป็นจริงในกระบวนที่ผ่านมา จึงเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้น และรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ
          กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนี้เกิดจากการสร้างขึ้นของพระโยคาวจรจนมีผลต่อจิตนิยาม กล่าวคือกระบวนการ หรือกฎของจิต จิตเมื่อถึงระดับที่มีความสะอาดจนมีพลัง ย่อมนำไปสู่เหตุปัจจัยแห่งยถาภูตญาณทัศนะ ซึ่งเป็นตัวปัญญาขยายผลไปสู่การปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปและนาม เห็นแต่กระบวนการทำงานเกิดดับของขันธ์ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป จนถึงนิพพาน คือ ความว่างและความปล่อยวาง กระบวนการแห่งเหตุและปัจจัยนี้เป็นสายดับอวิชชา เมื่อพิจารณาด้วยกระบวนการที่ตรงกันข้ามกันย่อมเห็นเป็นกระบวนการดังนี้ “สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย วิญญาณมีสังขารเป็นที่อิงอาศัย นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อิงอาศัย ผัสสะมีสฬายตนะเป็นที่อิงอาศัย เวทนามีผัสสะเป็นที่อิงอาศัย ตัณหามีเวทนาเป็นที่อิงอาศัย อุปาทานมีตัณหาเป็นที่อิงอาศัย ภพมีอุปาทานเป็นที่อิงอาศัย ชาติมีภพเป็นที่อิงอาศัย ทุกข์มีชาติเป็นที่อิงอาศัย”
          ญาณปัญญาตรงนี้เรียกว่า อาสวักขยญาณ ก็คือ ญาณที่เข้าไปเห็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นส่งทอดกันอย่างนี้ทั้งสายเกิดและสายดับ เห็นตัวปัญหาและตัวปัญญา และเห็นกลไกลที่ทำให้เกิดปัญหาและปัญญา ตัวปัญหาอยู่ที่อวิชชา ตัวปัญญาอยู่ที่ขยญาณ กลไกแห่งปัญหาอยู่ที่ตัณหา กลไกแห่งปัญญาอยู่ที่ยถาภูตญาณทัศนะ กระบวนที่ทำให้เกิดปัญหา คือ เวทนา กระบวนการที่ทำให้เกิดปัญญาคือ สมาธิ ผู้คนในโลกล้วนสร้างเหตุปัจจัยในสายเกิดอย่างไม่รู้ตัว และปล่อยตามการทำงานของขันธ์อย่างไม่รู้ตัว พระโยคาวจรทั้งหลายพยายามสร้างเหตุปัจจัยสายดับให้เกิดขึ้นอย่างนี้  (๑๔/๑/๒๕๖๑)


จบอุปนิสณาณปกาสินี

วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561



๙. ขันธญาณปกาสินี

กองขันธ์พลันมี ณ ที่ไหน
อาศัยเชื้ออะไรจึงไม่ดับ
หมดสิ้นสิ่งไหนจึงหายลับ
ญาณจับจึงรู้เชื้ออยู่นี่
เพราะมีอวิชชาเป็นอาหาร
ไหลสู่ท่อธารความทุกขี
วนเวียนเก่าใหม่อยู่ในที
ฉะนี้เสมอกันเทพสัตว์คน
อาศัยวิราคะอวิชชาดับ
สายโยงร่วงลับมากับผล
กองทุกข์สลายไปจากตน
หลุดพ้นเพราะเพียรไม่เปลี่ยนใจ
สัจธรรมล้ำค่าบนผืนโลก
คือทางสิ้นโศกนำทุกข์ใส่
แจ่มแจ้งขันธญาณะนัย
ฝากไว้แด่ชนฝึกฝนเทอญ

         
          ทศพลญาณและเวสรัชชญาณของพระพุทธเจ้า เป็นญาณปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์ผู้หนึ่งจะพึงมีได้ เป็นญาณที่ทะลุปรุโปร่งในขันธ์แต่ละขันธ์อย่างไม่มีอะไรติดค้างหลงเหลือ ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ของผู้ใดภายใต้ไตรภูมิ เพราะทุกขันธ์ต่างก็ตกอยู่ภายใต้การอาศัยกันเกิด อาศัยกันดับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอะไร ดับไปเพราะอะไร พรหมจักรญาณของพระพุทธเจ้าแทงตลอดขันธ์เหล่านั้น
คำว่า “อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ, อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปชฺชติ. อิมสฺมึ อสติ, อิทํ น โหติ, อิมสฺส นิโรธา, อิทํ นิรุชฺฌติ.” (สํ.นิ. ๑๖/๖๔/๒๘) คำเพียง ๘ คำนี้ คือ “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป” เป็นมัชเฌนธรรมที่สมบูรณ์ที่สุดในใต้หล้าอันจะหาหลักการใดเสมอเหมือนจะพึงมี ทศพลญาณนี้เห็นแจ้งมัชเฌนธรรรมในขันธ์ ได้ช่วยปลดปล่อยสรรพสัตว์ให้มีทางออกจากวัฏฏะ
ถามว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ก็อะไรคือสิ่งนี้มี”
ตอบว่า “ก็เพราะอวิชชามี สังขารจึงมี”
ถามว่า “เพราะอะไรเกิด สิ่งนี้จึงเกิด
ตอบว่า “เพราะสังขารเกิด วิญญาณจึงเกิด”
ถามว่า “เมื่อไม่มีอะไร จึงไม่มีอะไร”
ตอบว่า “เมื่อไม่มีวิญญาณ นามรูปจึงไม่มี”
ถามว่า “เพราะอะไรดับไป จึงทำให้อะไรดับไปด้วย”
ตอบว่า “เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับไปด้วย...”
สายหนึ่งเป็นสายเกิด เป็นสายทางที่นำไปสู่ทุกข์ ส่วนอีกสายหนึ่งเป็นสายที่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์
เพียงแค่พระดำรัส ๘ ประโยค สั้น ๆ ง่าย ๆ ประกอบกับลำดับปัจจการ ๑๒ ที่แฝงอยู่ภายในขันธ์นี้ พระองค์ตรัสว่า “ธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้ว เป็นธรรมเข้าใจง่าย เปิดเผย ประกาศไว้แล้ว เป็นดุจผืนผ้าเก่า...” (สํ.นิ.๑๖/๖๖/๒๙) ข้อความนี้นั้นสื่อสะท้อนอะไร สื่อสะท้อนให้เห็นว่า ถ้อยคำที่ง่าย ชัดเจนเช่นนี้ เป็นเหมือนกับเรื่องที่เราท่านทั้งหลายเห็นกันอยู่แล้ว แต่ไม่ทราบว่า ขันธ์นี้เกิดดับอย่างไร หรือ เมื่อทราบความเกิดดับอย่างนี้แล้ว จะทำอย่างไรต่อ เป็นเหมือนเราท่านเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกกันเป็นประจำ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจถึงการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ที่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งนักดาราศาสตร์ที่เข้าใจการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์แล้ว แต่จะทำไงต่อไปกับการหมุนไปของโลกและดวงอาทิตย์ได้ ก็เพียงเข้าใจและปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น ดุจดังนักศึกษาพระพุทธศาสนาที่พอจะเข้าใจการเกิดดับของขันธ์ รู้ลำดับของปัจจยการ แต่จะทำยังไงได้ ก็คงตกอยู่ภายใต้คำว่า “รู้หมด อดไม่ได้”
เมื่อทราบถึงหลักการแห่งมัชเฌนธรรม คือ ขันธ์นี้อาศัยเหตุและปัจจัยเกิดดับ เข้าใจกระบวนธรรมเหล่านี้แล้ว จะต้องปรับตนให้เข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา คือ การปฏิบัติสายกลาง เพื่อให้การปฏิบัติของตนสอดคล้องกับหลักการ การปฏิบัติตามหลักทางสายกลางนั้นต้องอาศัยพลังความเพียรขั้นสูง ต้องมีมหาปณิธานอันยิ่งใหญ่ว่า “เนื้อและเลือดในร่างกายจะเหือดแห้งไป จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที ผลใดพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ (ปุริสถาเมน) ด้วยความเพียรของบุรุษ (ปุริสวิริเยน) ด้วยความบากบั่นของบุรุษ (ปุริสปรกฺกเมน) (ถ้า) ไม่บรรลุผลนั้น ก็จักไม่หยุดความเพียรของบุรุษ” เพราะถ้าหากไม่มีความตั้งใจสูง ก็ไม่อาจข้ามพ้นพลังผลักดันของสัญชาตญาณไปได้
อะไรคือ พลังสัญชาตญาณของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ “อาหารนิทฺทา ภยเมถุนญฺจ สามญฺเมตปฺปสุภี นรานํ” กล่าวคือ “อาหาร นอนหลับ กลัวภัย และสืบพันธุ์เป็นสามัญของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย”  สัญชาตญาณทั้ง ๔ ประการนี้เป็นพลังผลักดันที่มีอำนาจมาก สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของพลังสัญชาตญาณนี้จนหมดสิ้น ที่เลวร้ายถึงกับ “แย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส แย่งอำนาจกันครอง” ที่ไม่เลวร้ายก็ต้องถูกอาหารบีบคั้นมนุษย์ให้แสวงหามาทานให้ได้ ไม่เพียงเฉพาะอาหารคือคำข้าวเท่านั้น แต่รวมหมายเอาอาหารทั้ง ๔ ด้วย
          เมื่อใดที่ถูกความหิวกระหายบีบคั้น เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า พลังแห่งอาหารนั้นรุนแรงเพียงไหน นั่นยังเพียงแค่อาหารที่เป็นขาทนียะ โภชนียะ เท่านั้น ขยับเข้ามาสู่ผัสสาหารบ้าง เพียงแค่อยู่ห่างโทรศัพท์ก็รู้สึกไม่มั่นใจในชีวิตแล้ว ไปไหนไม่ได้ เมื่อจักขวาหาร โสตาหาร ไม่ได้เสพ จะเกิดอาการกระสับกระส่าย ทำอะไรไม่ถูก ยิ่งปัจจุบัน มือถือเป็นกล่องอาหารชั้นเยี่ยม นี่คือสารเสพติดของมนุษย์ยุคปัจจุบัน การจะออกห่างจากกล่องอาหารเสพติดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายของมนุษย์ ไม่ต้องพูดถึงมโนสัญเจตนาหารและวิญญาณาหาร ที่ละเอียดอ่อนมาก มนุษย์เสพเข้าไปโดยไม่รู้ตัว และเป็นพลังผลักดันที่แฝงอำนาจอยู่ภายในที่ไม่อาจต้านทาน
ข้อควรตระหนักอย่างยิ่งมีว่า “น ภิกฺขเว หีเนน อคฺคสฺส ปตฺติ โหติ, อคฺเคน จ อคฺคสฺส ปตฺติ โหติ.” ประโยคนี้มีความสำคัญอย่างมากทีเดียว “การบรรลุธรรมที่เลิศ ด้วยธรรมอันเลว หามีไม่ การบรรลุธรรมที่เลิศ ด้วยธรรมที่เลิศ จึงมีได้” เปรียบเหมือน การล้างสิ่งสกปรกด้วยน้ำสกปรก หามีไม่ แต่การล้างสิ่งสกปรกด้วยน้ำสะอาด จึงมีได้ การตำหนิผู้อื่น เพื่อให้ตนดี การทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้ตนรอด การได้ของคนอื่นมา ให้ตนมั่งมี ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง การปฏิบัติทางสายกลางในพระพุทธศาสนานั้นเป็นน้ำสะอาด ยิ่งฟอก ยิ่งล้าง ยิ่งชำระ ความหมดจดแห่งจิต ความสะอาดแห่งจิตก็มีมากขึ้น มลทินแห่งขันธ์ก็ลดน้อยลง ย่อมถึงธรรมที่ยังไม่ถึงถึง บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่แจ้ง ทางสายกลางเป็นธรรมที่เลิศ เป็นธรรมที่นำไปสู่การบรรลุธรรมที่เลิศได้
ทางสายกลางปฏิบัติอย่างไร ก็ปฏิบัติให้เป็นธรรมสมังคีกับขันธ์ กล่าวคือ การมีสติ สัมปชัญญะ ความเพียรเครื่องเผากิเลส (อาตาปะ) เห็นขันธ์ทำงานสัมพันธ์กันและกัน รู้ทันขันธ์ที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง เห็นจิตคือวิญญาณทำงานร่วมกันกับเจตสิก คือ เวทนา สัญญา สังขาร แสดงอาการผ่านไปสู่รูป ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเคลื่อนไหวอวัยวะ กำกับดูแลให้เกิดความไม่หวั่นไหวไปกับเจตสิก  จนเกิดเป็นอุเบกขาธรรม เป็นศูนยตธรรม เป็นอนัตตธรรม ดังนั้น กระบวนธรรมแห่งจิต เจตสิก รูป และนิพพาน (ว่าง-ดับ) จึงเกิดขึ้นกับขันธ์นี้นั่นเอง โดยอาศัยความเพียร
ข้อสำคัญในขณะที่เวทนาเกิดขึ้นเชื้อแห่งเวทนาโดยเส้นทางจะนำไปสู่ตัณหา ถ้าหากเป็นความสุข  ก็อยากได้ อยากมี อยากเป็น ถ้าเป็นความทุกก็ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เส้นทางสายเกิดก็ปรากฏขึ้น โดยอัตโนมัติตามเหตุปัจจัยที่อาศัยกันและกันเกิดอย่างนี้ มัชฌิมาปฏิปทาอยู่ตรงนี้ ในขณะที่เวทนาเกิด ก็เห็นเวทนานั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา มีแต่การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา เวทนาก็เป็นสักว่า เวทนา สัญญา ก็เป็นสักว่า สัญญา สังขารก็เป็นสักว่า สังขาร มีสติ สัมปชัญญะ และความเพียรเห็นอยู่ นี่คือกระบวนการสายดับปรากฏ เป็นทางที่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์ ไม่มีอะไรยืนโรงในขันธ์ เป็นแต่กระบวนธรรมล้วน ๆ ที่ทำงานสัมผัสสัมพันธ์จนไม่เหลือช่องว่างให้สรรพสัตว์ได้สังเกตเห็น จึงเข้าใจกันว่า มีบุคคล หรือมีผู้ มีอัตตา แฝงอยู่ในขันธ์ ทำให้ขันธ์เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ได้ตามเจตจำนงของ “ผู้” ที่ซ่อนอยู่ภายในขันธ์นั้น
ความรู้แจ้งในขันธ์เช่นนี้ เรียกว่า ขันธญาณ เป็นทั้งหมดของทสพลญาณ กล่าวคือ รู้ความตื้นลึก หนาบาง ฐานะและมิใช่ฐานะของขันธ์ รู้ถึงการทำงานและผลของการทำงานของขันธ์ รู้ความสิ้นสุดของขันธ์ รู้ต้นราก เหตุปัจจัยของขันธ์ รู้ความเป็นใหญ่ของแต่ละขันธ์ที่ทำงาน รู้ความสั่นไหวของขันธ์ รู้ความเป็นอดีตของขันธ์ รู้ความเป็นอนาคตของขันธ์ รู้ความหลุดพ้นจากอำนาจขันธ์ เพราะการรู้แจ้งขันธ์อย่างนี้ เรียกว่า ขันธญาณปกาสินี จงมีความเพียร บำเพ็ญตนเพื่อรู้ทันขันธ์เถิด เมื่อนั้นความสิ้นไปแห่งทุกข์อย่างสมบูรณ์จึงมีขึ้นได้

         


จบขันธญาณปกาสินี

วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561




๘. สมุปปาท-สมุปปันนปกาสินี

นี่คือกฎจักรวาลผ่านปัจจัย
อิงอาศัยกันและกันคอยปั้นแต่ง
ไม่เป็นอื่นเคลื่อนคลาดใครดัดแปลง
เป็นกฎแห่งชีวิตลิขิตคน
ที่ว่ามีก็มีเพียงไม่เที่ยงแท้
มีเพียงแค่เกิดเสื่อมดับอย่าสับสน
กุญแจฟ้าหยิบยื่นให้เพื่อไขกล
เส้นทางพ้นต้นตอทุกข์ทรงปลุกแจง
หมดสงสัยในอดีตชีวิตก่อน
หรือว่าตอนอนาคตหมดจดแหล่ง
ปัจจุบันตัวสรรหามาแสดง
จงรู้แจ้งในกฎธรรมเกิดดับมี


          ความสงสัยในชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่มนุษย์มีมาอย่างต่อเนื่องนับแต่อดีตกาล จนมาถึงปัจจุบันและก็จะมีต่อเนื่องไปในอนาคต ผู้คนเฝ้าแต่สืบค้นหาว่า เราและผู้อื่นมาได้อย่างไร มนุษย์คนแรกเกิดมาจากไหน หลายคนพยายามแสวงหาต้นตอ ส่วนนักวิทยาศาสตร์ก็พอจะมีคำตอบอยู่บ้าง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ส่วนหนึ่งได้สร้างชีวิตขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการโคลนนิ่ง (Cloning) คือ กระบวนสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศเพื่อคัดลอกลักษณะทางพันธุกรรมให้เหมือนต้นแบบ การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF : in vitro fertilization) หรือ การทำ Gift (Gamete Intra Fallopian Transfer) เป็นต้น แต่นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ต่างล้วนกระทำไปแบบสำนวนจีนว่า “นกซุ่ม เกาทัณฑ์ซ่อน” คือ มุ่งแต่จะทำไปเบื้องหน้า แต่หารู้ไม่ว่าตนเองกำลังจะถูกกลืนกินอีกที
          ในเรื่องเกี่ยวกับโลกและชีวิตต้นเดิมนี้ จัดอยู่ในคำถาม ๑๐ ประการที่ไม่ควรไปใช้ชีวิตทั้งชีวิตไปมุ่งแสวงหาคำตอบ เนื่องจากเป็นความประมาทในชีวิตโดยแท้ คำถาม ๑๐ ประการได้แก่ (๑) โลกเที่ยง  (๒) โลกไม่เที่ยง (๓) โลกมีที่สุด (๔) โลกไม่มีที่สุด (๕) สรีระ (ร่างกาย) และชีพ (วิญญาณ) เป็นอันเดียวกัน (๖) สรีระ (ร่างกาย) และชีพ (วิญญาณ) เป็นคนละอย่างกัน (๗) ตถาคตจะเกิดใหม่อีกเมื่อตายไป (๘) ตถาคตจะไม่เกิดใหม่อีกเมื่อตายไป (๙) ตถาคตทั้งจะเกิดใหม่และไม่เกิดอีกหลังจากตายไป (๑๐) ตถาคตไม่ใช่ทั้งจะเกิดใหม่และไม่เกิดอีกหลังจากตายไป (ที.ปาฏิ.๑๑/๒๒๕/๒๔๑.) ที่พระพุทธศาสนาไม่ให้เสียเวลาในการไปสนใจวุ่นวายกับเรื่องเหล่านี้เพราะชีวิตนี้สั้นนัก ไม่มีเวลาพอที่จะสืบค้นปัญหาอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ เปรียบเหมือนเด็กอนุบาลที่มีความสงสัยความสุขของผู้ใหญ่ อย่างไรก็ไม่อาจรู้ได้เพราะวุฒิภาวะทางร่างกายและสติปัญญายังไม่ถึง มนุษย์ปุถุชนก็เช่นกันไม่อาจรู้ในเรื่องเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน รอตนเองมีวุฒิภาวะที่เข้าสู่กระแส หรือสามารถเปิดกุญแจจักรวาลได้ก่อนจึงจะพอรู้ได้ เข้าใจได้
          จะกล่าวว่า เรื่องโลกและต้นกัปชีวิตนี้ไม่มีในพระพุทธศาสนาหรือ ก็ไม่ใช่ ดังเช่นข้อความในอัคคัญญสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงกาลเสื่อมสลายไปของโลกและการพัฒนาการของโลกและชีวิตว่า “ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหารมีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน
ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้จะกลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจุติจากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ก็แหละสมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฏ กลางวันกลางคืนก็ยังไม่ปรากฏ” (ที.ปาฏิ.๑๑/๑๑๙/๘๘-๘๙)
จากจุดนี้แสดงให้เห็นต้นกำเนิดของโลกที่ล่มสลายไปและเริ่มวิวัฒนาการขึ้นมาใหม่ กลุ่มสัตว์ที่มาอุบัติบนโลกนี้กลุ่มแรกคือ อาภัสสรพรหมที่ลงมากินง้วนดินจนทำให้มีสภาพร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรนี้เช่นกันว่า “สัตว์ทั้งหลาย ปรากฏชื่อแต่เพียงว่า สัตว์เท่านั้น...เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป...เหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน...แล้วเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อเขาเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว เขาจึงเกิดความอยากขึ้น” จากวิวัฒนาการนี้ทำให้เกิดร่างกาย เกิดวิวัฒนาการของโลกติดตามมาดังที่เห็นในปัจจุบัน
ที่นำเรื่องนี้มาไว้ประกอบในเรื่องปฏิจจสมุปาทและปฏิจจสมุปปันนธรรม ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุและปัจจัยที่เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด ผูกเงื่อนกันจนไม่อาจจะหาต้น หาปลายได้อีกสำหรับชีวิตของมนุษย์ที่เกี่ยวกันกันและกัน จนพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ไม่มีมนุษย์คนใดที่ไม่เป็นญาติกัน” ในวัฏฏสงสารอันยาวนานที่หาเบื้องต้นและสิ้นสุดไม่ได้นี้ เราเวียนว่ายตายเกิดกันมานับไม่ถ้วน ถึงขนาดที่ว่าทุกชีวิตในโลกนี้ที่เกิดมานั้น ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยเกิดมาเป็นญาติกัน ภพใดภพหนึ่งในอดีตเราเคยเกิดมาเป็นญาติกันแล้วทั้งนั้น อาจเป็นสามีภรรยา พ่อแม่ ลูก พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา เคยมีความเกี่ยวข้องกันมาแล้วทั้งนั้น การหาชีวิตที่เป็นต้นตอว่าใครเคยเป็นอะไรกับใครในวัฏฏะนี้เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ไม่ควรเสียเวลาไปกับเรื่องอย่างนั้น
การหมุนวนไปมาของกฎวัฏจักรนี้ไม่ใช่ของง่ายที่ใครจะเข้าไปล่วงรู้ถึงกฎเกณฑ์ เหตุปัจจัยของการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกระแสวังวนแห่งทุกข์ แต่บัดนี้ประตูกลนี้มีกุญแจแล้ว เป็นกุญแจไขปริศนาความซับซ้อนของชีวิตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ได้ตรัสรู้นำมาเปิดเผย นำมาแสดง ดังข้อความในปัจจยสูตรว่า “อุปฺปาทา วา ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ฐิตาว สา ธาตุ ธมฺมฏฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา อิทปฺปจฺจยตา ตถาคโต อภิสมฺพุชฺฌติ อภิสเมติ อภิสมฺพุชฺฌิตฺวา อภิสเมตฺวา อาจิกฺขติ เทเสติ ปญฺญเปติ ปฏฺฐเปติ วิวรติ วิภชติ อุตฺตานีกโรติ ปสฺสถาติ จาห” (๑๖/๖๑/๒๕) โดยใจความว่า “ตถาคต เกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ความตั้งอยู่ธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ความที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้ ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้น ตถาคตรู้ บรรลุธาตุนั้น ครั้นรู้ บรรลุแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย และกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงดูเถิด’” พระสูตรนี้ตรงกับธรรมนิยามสูตร คือ พระสูตรว่าด้วยกฎแห่งชีวิต โดยที่ธรรมนิยามนั้นแสดงไว้ส่วนสุดที่เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม คือ ธรรมที่เป็นกฎไตรลักษณ์ ได้แก่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สำหรับพระสูตรนี้นั้นเป็นกุญแจที่ไขทั้งในเบื้องต้นและเบื้องปลาย เบื้องต้นคือ ปฏิจจสุมปบาทส่วนเบื้องปลายคือปฏิจจสมุปปันนธรรม
ความที่กระบวนธรรมส่งต่อกันและกันที่เรียกว่า “ปฏิจจะ” หรือ “อิงอาศัย” (Dependent) เป็นกระบวนธรรมที่เป็นอยู่อย่างนั้น (ตถตา) ไม่คลาดเคลื่อน (อวิตถตา) ไม่เป็นอย่างอื่น (อนัญญถตา) และเป็นปัจจัยแห่งสิ่งนี้ (สิ่งนี้จึงมี) (อิทัปปัจจยตา) กฎที่ลึกซึ้งนี้ต้องอาศัยพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะเป็นและนำมาแสดงได้ อะไรเป็นปัจจัยของอะไร และทำให้อะไรมีขึ้น ดุจดังการแปรสภาพไปของวัตถุธาตุบางอย่างด้วยไฟ เช่น น้ำมันละหุ่ง น้ำมันงา เป็นต้น เพราะอาศัยปัจจัยคือความร้อนจึงทำให้เกิดเป็นวัตถุธาตุอีกอย่างหนึ่ง ในที่นี้ เพราะอาศัยชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี เพราะอาศัยภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะอาศัยอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะอาศัยตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี...เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ความเป็นปัจจัยกันอย่างนี้นับเป็นกฎที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นกุญแจดอกสำคัญในจักรวาลที่จะไขออกจากทุกข์ได้

         


จบสมุปปาท-สมุปปันนปกาสินี