วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บทบาทพระพุทธศาสนาในประเทศอาเซียน


บทบาทพระพุทธศาสนาในประเทศอาเซียน
          คำว่า บทบาทของพระพุทธศาสนาในประเทศอาเซียน สามารถแสดงถึงนัยอยู่ ๒ ประเด็นใหญ่ ได้แก่ บทบาทของแต่ละประเทศที่กระทำกันอยู่ในภายในแต่ละประเทศในฐานะที่เป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งก็เป็นปกติของแต่ละประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาที่จะต้องมีข้อวัตรปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนาทั้งในฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายของคฤหัสถ์ และอีกนัยหนึ่งหมายเอาบทบาทของพระพุทธศาสนาที่จะทำร่วมกันในอนาคตในฐานะที่เป็นประชาคมอาเซียนร่วมกัน บทความนี้มีจุดมุ่งหมายของการยกหัวข้อนี้ขึ้นมาก็คงมีจุดประสงค์เพื่อการมองหาจุดร่วมกันในการผลักดันพระพุทธศาสนาให้เข้าสู่เสาหลักที่ ๓ ของประชาคมอาเซียนที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมกันได้อย่างไร
          ข้อควรทราบเบื้องต้น พระพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมทางสังคมที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไปสู่ทิศทางที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นวัฒนธรรมสำหรับการดำเนินชีวิต (Way of life)  อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ กล่าวไว้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นต้นตำรับวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุด แต่ยังทันสมัยและมีหลักอารยธรรม คือการนำให้พ้นความป่าเถื่อนที่ทำกันอยู่เดิม ไม่ว่าการกีดกันทางวรรณะ การบูชายัญ เป็นต้น วัฒนธรรมพระพุทธศาสนาทั้งปฏิวัติและปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้น[1] เช่น ปฏิวัติระบบวรรณะ (Caste System) ไม่ให้ยึดถือการเป็นคนดีไม่ดีอยู่ที่ชาติกำเนิด แต่ให้อยู่ที่การกระทำ ปฏิวัติเรื่องการบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์แล้วได้บุญ แต่ให้บูชายัญด้วยการรักษาศีล ปฏิบัติสมาธิและเจริญปัญญาแทน ปฏิวัติความเชื่อในพรหมลิขิตมาเป็นกรรมลิขิตแทน ปฏิรูปการไหว้ทิศที่ไร้ความหมายมาเป็นทิศที่มีความหมาย เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางพระพุทธศาสนาที่ได้ทำไว้เป็นตัวอย่างในสมัยพุทธกาลและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่ปัจจุบันเริ่มมีความอ่อนแอทางด้านการเน้นย้ำวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาให้เป็นรูปธรรม
จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมที่สามารถพัฒนาคนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ประเสริฐยิ่งกว่าสรรพสัตว์ใด ๆ ได้ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโ เทวมานุเส ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติจึงชื่อว่าประเสริฐในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”  พุทธวัฒนธรรมจึงเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ดีงามและมีคุณค่าเป็นมรดกแห่งสังคมที่ควรรักษา
ในที่นี้จึงขอเสนอกรอบการแสดงบทบาทพระพุทธศาสนาในฐานะรากฐานสำคัญของสังคมและวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศอาเซียนที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลักและที่กำลังได้รับการเผยแผ่เข้าไปสู่ประเทศอื่น ๆ ตามกรอบของวัฒนธรรมทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ กรอบคติธรรม เนติธรรม วัตถุธรรมและสหธรรม โดยมุ่งหมายให้ประชาคมอาเซียนยึดตามกรอบนี้กำหนดบทบาทของพระพุทธศาสนาร่วมกัน ดังนี้
            ๑. บทบาททางด้านคติธรรมในพระพุทธศาสนา   
            “คติธรรม” คือ ความเชื่อที่มีต่อหลักธรรมในพระพุทธศาสนาและต่อหลักความเชื่อ ๔ ประการ จะทำอย่างไรที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันปฏิบัติกันตามคติธรรมนี้อย่างเป็นรูปธรรม หลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา คือ หัวใจพระพุทธศาสนา ได้แก่ ละความชั่ว (สพฺพปาปสฺส อกรณํ) ทำความดีให้สมบูรณ์ (กุสลสฺสูปสมปทา) และทำจิตใจให้ผ่องใส (สจิตฺตปริโยทปนํ) ส่วนการปฏิบัติตามหลักสัทธาทั้ง ๔ ประการ ได้แก่ หลักความเชื่อในกรรม หรือการกระทำ (กมฺมสทฺธา) หลักความเชื่อในผลของกรรม หรือผลของการกระทำ (วิปากสทฺธา) หลักความเชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน (กมฺมสกตฺตาสทฺธา) และหลักความเชื่อที่มีต่อการตรัสรู้พระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสทฺธา)
            การผลักดันกรอบแห่งคติธรรมข้อนี้ร่วมกันเชื่อว่าจะเป็นหลักพื้นฐานให้สังคมในประชาคมอาเซียนมีความเชื่อที่ถูกต้อง บุคคลจะเป็นเช่นไรก็ด้วยการกระทำของบุคคลผู้นั้นเอง หากทำงานก็ย่อมได้รับผลของงาน หากทำความชั่วก็ย่อมได้รับผลของความชั่วแน่นอนทั้งในระดับภายในและภายนอก ภายในได้แก่ความทุกข์ใจ ภายนอกได้แก่ความเสื่อมจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตามหลักแห่งกรรมในจูฬกัมมวิภังคสูตรว่า “สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับมรดกกรรม มีกรรม เป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้องเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมนั่นแหละจำแนกสัตว์ให้ทรามและดี”[2]
          นอกจากนั้นในการดำเนินชีวิต ควรถือแนวคติของพระโพธิสัตว์ ดังที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๓) เคยปฏิบัติมาแล้ว ทำให้บ้านเมืองสงบร่มเย็น เพราะพระโพธิสัตว์นั้นมีชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ปัดเป่าทุกข์ภัยให้กับผู้อื่น คติธรรมเช่นนี้เข้าได้กับความเชื่อในจิตอาสา ถ้าสามารถสร้างจิตอาสา สร้างคติแห่งพระโพธิสัตว์ในการดำเนินชีวิตย่อมทำให้ภูมิภาคนี้โดดเด่นขึ้นมาในด้านความสุข สงบของสังคมแน่นอน
            ๒. บทบาททางด้านวัตถุธรรมในพระพุทธศาสนา
            ในด้านวัตถุธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ปติมากรรม จิตรกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า วัตถุธรรมทางด้านนี้ของพระพุทธศาสนานั้นงดงาม แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมชั้นสูงของสังคมในประเทศอาเซียน จำเป็นต้องกำหนดร่วมกันผลักดันให้พุทธศิลป์ทั้งหมดเหล่านี้ได้รับการศึกษา รักษาไว้ และเผยแผ่ออกไปเพื่อให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ ให้ชาวโลกได้เสพความงดงามทางด้านนี้ พุทธศิลป์ทั้งมวลสร้างขึ้นบนพื้นฐานพุทธปรัชญาเพื่อใช้ศิลปะให้เข้าถึงจริยธรรม เป็นการเติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น บทบาทของประชาคมอาเซียนต้องร่วมมือกันจัดกิจกรรมสื่อวัตถุธรรมให้โดดเด่น ให้เป็นประโยชน์ทุกมิติ ทั้งมิติศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วย
            ๓. บทบาททางด้านเนติธรรมในพระพุทธศาสนา
            หลักเนติธรรม เป็นหลักที่แสดงถึงความเชื่อในกฎเกณฑ์กติกาในสังคม กล่าวได้ว่า เนติธรรมที่เป็นกฎหมายบ้านเมืองนั้นสร้างวัฒนธรรมให้คนกลัวการลงโทษ แต่เนติธรรมที่เป็นความเชื่อทางสังคมนั้นจะทำให้เกิดความกลัวที่มาจากใจ ไม่กล้าทำผิด เป็นการมีหลักหิริและโอตัปปะต่อการกระทำความผิด แม้ไม่มีคนเห็นก็ไม่กล้าทำเนื่องจากเกรงจะเป็นเภทภัยกับตนและครอบครัว การใช้ระบบเนติธรรมที่เรียกว่า การขัดเกลาทางสังคม (Socialization)[3] นั้นมีความยั่งยืนและแน่นอนกว่าการบีบบังคับ
เนติธรรมตามหลักแนวของพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศีล ๕ คือ การไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ ไม่ผิดประเวณีโดยการครอบครองของรักของหวงของผู้อื่น ไม่พูดกลับกลอกหลอกลวง และไม่ดื่มน้ำเมาและสิ่งเสพติดที่ทำให้เป็นที่มาของความประมาท และตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรม ๕ คือ ความมีเมตตากรุณา การรู้จักเสียสละ การยินดีในภรรยาของตน การมีสัจจะรักษาคำพูด และการมีสติสัมปชัญญะ ประชาคมอาเซียนที่นับถือพระพุทธศาสนาจะต้องผลักดันให้ประชาชนในแต่ละประเทศของตนยึดถือเนติธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสังคมคมดี คนดี สร้างสังคมสันติ ไม่ละเมิดทางทั้งกาย วาจา และใจต่อผู้อื่น และสร้างสังคมเสมอภาค กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนย่อมได้รับผลกรรมที่ตนได้กระทำไว้ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตามดังคำสอนในพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ถ้าท่านกลัวทุกข์ก็อย่าทำกรรมชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ถ้าท่านจักทำ หรือทำอยู่ซึ่งกรรมชั่ว ถึงแม้จะเหาะหนีไปก็จะไม่พ้นจากความทุกข์ไปได้เลย[4] เบื้องต้นให้ทำเป็นโครงการนำร่องปฏิบัติในแต่พื้นที่หรือแต่ละโซน (zoning) เป็นลำดับโดยให้แต่ละประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันบทบาทด้านนี้ประสบความสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้กลายเป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและสามารถเชื่อมโยงหลักศีลธรรมนี้ในการพัฒนาสังคมให้สงบสุขได้
            ๔. บทบาททางด้านสหธรรมในพระพุทธศาสนา
                    สหธรรม (Social Cultural) เป็นวัฒนธรรมทางสังคมในด้านการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันตามหน้าที่ และสถานะทางสังคม เช่น หน้าที่ระหว่างมารดาบิดากับบุตรธิดา ครูอาจารย์กับศิษย์ สามีกับภรรยา มิตรกับมิตร นายกับบ่าว และสมณพราหมณ์กับฆราวาส เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีเรื่องการอยู่ร่วมกัน การปฏิบัติร่วมกัน ความเอื้อเฟื้อ การเดิน การยืน และการรับประทานอาหาร ความเคารพ ความอ่อนน้อม การใช้ภาษา กริยามารยาทที่มีต่อกันและกันในสังคม[5] บทบาทในด้านนี้ควรเริ่มที่ภาษา ควรผลักดันให้มีการศึกษาภาษาบาลีในคัมภีร์ให้เป็นรูปธรรมร่วมกัน นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการใช้ภาษาที่มีรากฐานเดียวกันอีกด้วย เพราะให้เกิดความเข้าใจในสายใยร่วมกันที่เชื่อมโยงทางด้านภาษา
          นอกจากนั้นปัจจุบันกำลังจะมีการสร้างธนาคารพระพุทธศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำนุ บำรุงพระพุทธศาสนาเป็นหลัก และเป็นองค์กรทางการเงินร่วมกันในการสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาทุกด้านให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา สถาบันการเงินทางพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่อย่างนี้จะเป็นการเชื่อมประสานการเงินระหว่างประชาคมอาเซียนเพื่อกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะก็ยิ่งทำให้บทบาททางด้านสหธรรมเด่นชัดเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
(อ่านต่อในบทความวิชาการบัณฑิตวิทยาลัย มมร)


            [1]สุชีพ ปุญญานุภาพ, วัฒนธรรมวิทยา, พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๔๐), หน้า ๘๖.
[2]ม.อุปริ. ๑๔/๒๙๐/๓๕๐. (ไทย)
[3]คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สังคมและวัฒนธรรม, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๕), หน้า ๖๙.
[4]ขุ.อุ. ๒๕/๑๑๕/๑๕๐.
[5]จำนงค์  ทองประเสริฐ, ราชบัณฑิต, วัฒนธรรมไทย ภาษาไทย, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๗), หน้า ๓๘.

1 ความคิดเห็น:

9TaoD กล่าวว่า...

เป็นความรู้ที่ดีครับ ขอบคุณที่นำมาแบ่งปัน