วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การสื่อสารกับการบริหารอารมณ์แนวพุทธ


การสื่อสารกับการบริหารอารมณ์อย่างมืออาชีพ

ผศ.ดร.สุวิญ  รักสัตย์
www.goodthinkingtraining.com

ความเบื้องต้น
          อารมณ์เป็นเจตสิกที่ชักนำจิตให้เกิดสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งนอกเหนือจากที่จิตทำงานของมันเอง มาจากภาษาบาลีว่า “อารมณ์” แปลว่า สภาวะที่เกิดกับจิต สภาวะที่จิตยึดเอาไว้ ตามความเข้าใจในสำนวนไทย คำว่า“อารมณ์”คือความรู้สึกที่สื่อให้เห็นถึงความกระเพื่อมของจิตที่แสดงท่าทีออกมา บางทีก็ใช้คำว่า มีอารมณ์ อารมณ์จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อถูกการกระตุ้นให้ออกมา เช่นการเห็นภาพเย้ายวนของเพศตรงข้าม ก็จะเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมา หรือใครถูกยั่วโมโห ก็จะมีอารมณ์โกรธขึ้นมา หรือใครถูกล่อด้วยเงินทองมาก ๆ ก็เกิดความโลภขึ้นมาด้วยเหตุนี้อารมณ์จึงเป็นเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตให้เคลื่อนไหวรุนแรงยิ่งกว่าปกติ


ที่อยู่ของอารมณ์
          ตามปกติอารมณ์จะนอนเนื่องอยู่ภายในถัดลึกลงไปจากความคิดระดับหนึ่ง ความคิดเป็นทางเดินให้อารมณ์ประกอบเข้ามาได้ ตามกระบวนแห่งหลักปฏิจจสมุปบาทในพระพุทธศาสนา อารมณ์จะอยู่ถัดจากการรับรู้ทางอายตนะและผัสสะ การรับรู้ทางอายตนะและผัสสะนั้นเป็นกระบวนการทางจิต เมื่อจิตรับรู้จากอายตนะภายในและอายตนะภายนอก หรืออารมณ์ภายนอกเข้ามากระทบกับอารมณ์ภายในแล้ว ก็จะนำไปสู่ระดับอารมณ์ทันทีถ้าหากอารมณ์นี้ประกอบไปด้วยอิฏฐารมณ์ คือน่าพอใจ ก็จะทำให้อารมณ์แสดงผลออกมาเป็นอารมณ์น่าพอใจ อยากได้ แต่ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ คือสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์อันไม่น่าพอใจ ก็จะทำให้อารมณ์นั้นไม่น่าพอใจตามไปด้วย อยากไปให้พ้นจากอารมณ์นั้นอารมณ์จึงเป็นขั้นของเวทนาคือความรู้สึกนี่เอง นี่เป็นอารมณ์ปกติธรรมดา ยังไม่แสดงอาการแห่งอารมณ์ในระดับที่เข้มข้นขึ้น


การพัฒนาความคิด

          ก่อนที่จะรู้จักวิธีบริหารอารมณ์ก็ต้องรู้เงื่อนต้นของอารมณ์ก่อน ตามหลักการพัฒนาบุคคลในปัจจุบัน มีการจัดระดับของการพัฒนาอารมณ์ไว้เป็นลำดับที่สอง ได้แก่ การพัฒนาจิต (Mental Development) พัฒนาอารมณ์ (Emotional Development) พัฒนาสังคม (Social Development) และพัฒนาปัญญา (Intellectual Development)ตามหลักการนี้ผู้จะพัฒนาอารมณ์ก็ต้องพัฒนาระดับจิตหรือความคิดก่อน การพัฒนาจิตในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการพัฒนาจิตในระดับ Consciousnessหรือที่เรียกว่าฝึกจิตภาวนาที่ใช้กันตามหลักพระพุทธศาสนาแต่เป็นการพัฒนาจิตที่เป็น Thoughtfulness คือการพัฒนาความคิดให้มีความคิดที่ดี คิดในเชิงบวก (Positive Thinking) เท่านั้นความคิดเชิงบวกเป็นความคิดที่มีวิธีหลากหลาย หนึ่งในวิธีที่ใช้กันมากก็คือ การคิดหาโอกาส การคิดแบบเปรียบเทียบจุดเด่น จุดด้อย แต่ในที่นี้ต้องการให้รู้จักพัฒนาความคิดตามความเข้าใจกระบวนทัศน์ (Paradigm) การรู้จักพัฒนาความคิดนี้ให้ไปถึงระดับที่ ๕ แล้ว การพัฒนาอารมณ์ก็จะง่ายขึ้น
          ความคิด ๕ ระดับ คือ
๑.     ความคิดระดับความลึกลับ (Myth)
๒.     ความคิดระดับศรัทธา (Faith)
๓.     ความคิดระดับทฤษฎี (Bible)
๔.     ความคิดระดับเหตุผลพิสูจน์ได้ (Science)
๕.     ความคิดระดับเข้าใจ (Understanding)

          การพัฒนาความคิดต้องมาถึงระดับความเข้าใจจึงทำให้การพัฒนาอารมณ์ได้ผล เพราะอารมณ์เป็นระดับที่อยู่ต่อเนื่องจากความคิดนี้ ถ้าหากไม่มาถึงระดับที่ ๕ นี้จะก่อให้เกิดอันตรายขึ้น อันเนื่องมาจากการยึดมั่นในความคิดของตนความคิดในระดับที่ ๑ ถึงที่ ๔ นี้ เป็นความคิดที่ยึดมั่นถือมั่นซึ่งทำให้มีนำไปสู่การทำลายกัน ส่วนความคิดในระดับที่ ๕ นั้นไม่นำไปสู่การทำลายกัน ดังแสดงตามแผนผังนี้

ความคิดระดับ๑-๔
ยึดมั่นถือมั่น
 การแบ่งแยก
การแบ่งแยก
 การแข่งขัน
การแข่งขัน
 การไม่ไว้วางใจกัน
การไม่ไว้วางใจกัน
 การทำลายกัน
การทำลายกัน
 ความไม่สงบในสังคม


ความคิดระดับ๕
ไม่ยึดมั่นถือมั่น
 การแบ่งหน้าที่
การแบ่งหน้าที่
 การส่งเสริมกัน
การส่งเสริมกัน
 การไว้วางใจกัน
การไว้วางใจกัน
 การร่วมมือกัน
การร่วมมือกัน
 สันติภาพ


การบริหารหรือพัฒนาอารมณ์

          เมื่อพัฒนาจิตไปถึงระดับที่ ๕ แล้วก็สามารถพัฒนาอารมณ์ได้โดยง่าย เพราะความคิดระดับที่ ๕ นั้นส่งเสริมให้อารมณ์เป็นไปในทิศทางบวก (Positive Thinking)การฝึกบริหารอารมณ์หรือการพัฒนาอารมณ์ตามความเข้าใจที่ใช้กันทั่วไป หมายถึง การรู้จักเก็บอารมณ์ ข่มอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ การระงับอารมณ์โดยเฉพาะอารมณ์รัก โลภโกรธ หลง เช่น การฝึกระงับความโกรธ ข่มอารมณ์ทางเพศปล่อยวางอารมณ์หงุดหงิด การฝึกตามแนวทางนี้นั้นเป็นเพียงแค่การใช้ยาระงับอาการเท่านั้น พอยาหมดฤทธิ์อารมณ์ก็มาดั่งเดิม หรือหนักกว่าเดิม อารมณ์เหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน อารมณ์ยังคงอยู่ภายใน ยังคงก่อตัวเป็นภูเขาไฟรอวันประทุอยู่ภายในนอกจากนั้นการข่มอารมณ์เช่นนี้มีผลข้างเคียงอีกด้วย เพราะจะทำให้อารมณ์ที่ข่มไว้นั้นไหลไปสู่การปลดปล่อยช่องทางอื่นจะเห็นว่า คนที่เก็บกดทางเพศจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวแทน หรือไม่ก็เงียบขรึมแทนหรือไม่ก็ชอบระบายกับผู้อื่น
          การบริหารอารมณ์ที่ถูกต้อง ก็คือ การฝึกเป็นนักสังเกตที่ดี เป็นนักเฝ้าดูที่ดีเท่านั้น โดยมีขั้นตอนดังนี้
           ๑. เฝ้าดูการเกิดขึ้นของอารมณ์
          ๒. รับรู้ถึงอาการของอารมณ์
          ๓. รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงอารมณ์
          ๔. การสังเกตอารมณ์ลักษณะอารมณ์
          ๕. ดูอารมณ์อย่างเดียวไม่ตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น

          การฝึกเรียนรู้อารมณ์ เฝ้าสังเกตอารมณ์ เป็นนักเฝ้าดูที่ดีเพียงอย่างเดียว ยิ่งอารมณ์ใดเกิดขึ้นรุนแรง ก็จะยิ่งเห็นอารมณ์นั้นชัดเจน ถือว่าเป็นช่วงโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต ในชีวิตใครคนหนึ่งจะมีเรื่องหรือมีโอกาสที่จะมีอารมณ์รุนแรงเกิดขึ้นไม่กี่ครั้ง ให้ใช้โอกาสนั้นฝึกฝน อย่าปล่อยโอกาสหลุดไปเป็นอันขาด เมื่อฝึกเฝ้าดู สังเกต เรียนรู้อารมณ์ได้ไวเท่าใด สติที่เฝ้ามองก็เจริญยิ่งขึ้นมากเท่านั้น นี่เป็นการบริหารอารมณ์ที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาอารมณ์แบบผ่าตัด ระดับเปลี่ยนแปลงโมเลกุลทางอารมณ์เลยทีเดียว


การสลายอารมณ์
          หลังจากที่เป็นนักเฝ้าดูที่ดีแล้ว รับรู้ เห็น และเข้าใจอารมณ์แล้ว ยังไม่หมดขั้นตอนเท่านั้น จะต้องเข้าใจวิธีการสลายอารมณ์ด้วย อารมณ์นั้นเป็นกระบวนการทางจิตที่ลึกมาก ถ้าหากไม่มีวิธีสลายก็อาจถูกอารมณ์หวนกลับมาเล่นงานอีกเช่นเคย ดูได้จากบางคนเป็นคนใจเย็น เป็นคนรักษาอารมณ์ได้ดี ที่ทำได้เช่นนั้นก็เพราะไม่เคยได้รับการกระทบอารมณ์ที่รุนแรง มักจะเข้าใจตนเองว่า ตนเองมีอารมณ์ไม่หวั่นไหว รู้ทันได้ แต่เมื่อใดถูกอารมณ์กระทบแรงๆ จึงจะรู้ว่า สติที่มีอยู่นั้นไม่เจริญพอที่จะทันกับอารมณ์ที่เกิดและไม่สามารถสลายอารมณ์ให้กลายเป็นเพียงอาการไปได้ เพราะเมื่อใดยังไม่สลายอารมณ์ เคมีของอารมณ์ที่เป็นพลัง ๓ ประการ ได้แก่ พลังความอยากได้ พลังความอยากมี พลังความอยากเป็น และพลังความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น (กามตัณหาภวตัณหาและวิภวตัณหา) ก็ยังคงครุกรุ่นอยู่ภายใน เป็นเหมือนภูเขาไฟที่เย็นแล้ว แต่ไม่ได้หมายถึงจะไม่ประทุอีก
          เมื่อตรวจสอบดูระดับของอารมณ์ตามมิติทั้ง ๔ แล้ว อารมณ์อยู่ในลำดับที่ ๓ ได้แก่
๑.     ระดับกายภาพ (Body)
๒.     ระดับจิตภาพ (Mind)
๓.     ระดับอารมณ์ (Heart)
๔.     ระดับสภาวธรรม (Soul)
          
เนื่องจากอารมณ์เป็นระดับที่อยู่ใกล้กับฐานสุดท้ายของสภาวธรรม การเลื่อนระดับไปถึงระดับที่ ๔ จึงเข้าถึงระดับสลายอารมณ์ให้เป็นเพียงสภาวธรรม บริหารอย่างไรจึงชื่อว่าบริหารหรือฝึกอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง วิธีการก็คือ เข้าไปเฝ้าดู เห็นอารมณ์โดยความเป็นกิริยาอาการเท่านั้นไม่ต้องตัดสิน ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว มองอย่างเดียว ไม่อะไรในความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีสี สัณฐาน ขนาด และรส การเห็นโดยความเป็นเพียงกิริยาเมื่อเห็นโดยความเป็นกิริยา สภาวะแห่งความเป็นกิริยาไม่สามารถนำมาขยายผลได้ ในที่สุดก็สลายไป กลายเป็นความว่างไปในที่สุด การเห็นอารมณ์โดยความเป็นสภาวะอย่างนี้เองเป็นการผ่าตัดอารมณ์ในระดับปรับเปลี่ยน DNA ทำให้ผู้เฝ้าดูไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในกิริยาอาการ เพราะมันเพียงสภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเท่านั้น ผลแห่งกิริยาเป็นเพียงปฏิกิริยา ไม่ทำให้จิตนำไปสร้างเชื้อเก็บไว้ในภวังคจิตได้อีกต่อไป

สรุป
          อารมณ์เป็นสิ่งที่จะต้องให้ความใส่ใจเป็นอย่างมากสำหรับคนทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงาน การทำงานถ้าหากไม่รู้จักบริหารอารมณ์จะทำให้ชีวิตนี้เกิดปัญหาขึ้นได้ แน่นอนแม้ว่าจะไม่สามารถสลายอารมณ์ในระดับปรับเปลี่ยน DNA เพียงแค่พัฒนาจิตเข้าถึงระดับที่ ๕ ก็นับว่ามาได้ไกลแล้ว แต่ถ้าผู้ใดรู้จักบริหารอารมณ์ที่ถูกต้องได้อีกก็เชื่อได้ว่า ไม่เพียงแต่ทำงานได้อย่างมีความสุขเท่านั้น ชีวิตนี้เข้าถึงเป้าหมายที่สูงสุดแล้วเป็นความสุขสูงสุดในชีวิตที่ไม่กลับกลายมาเป็นความทุกข์อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: