วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ชีวิตคือความฝัน

โศลกที่สามสิบหก "ชีวิตคือความฝัน"

 มีสติอยู่ในกระบวนการปฏิบัติ
 ปฏิเวธเข้าถึงจุดหมายแล้ว
ทั้งปฏิบัติและปฏิเวธ
 ล้วนเป็นประสบการณ์ทั้งสิ้น
 พ้นวิสัยคิดคาดคะเนเอาได้
 ประสบการณ์ไม่ใช่ความคิด
 ความคิดอาศัยอดีตและอนาคต
ไหนเลยเป็นประสบการณ์จริงได้
 ความคิดอยู่ไม่ได้ในปัจจุบัน
สติในการปฏิบัติเป็นปัจจุบัน
ปัจจุบันขณะไม่มีในกาลเวลา


 ในพระพุทธศาสนาแสดงหลักสัทธรรมเอาไว้ ๓ ประการ ได้แก่ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ หลัก ๓ ประการนี้เป็นแนวทางในการเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรม เป็นหลักในการฝึกฝนตนเองให้เข้าถึงความหลุดพ้นจากวัฏฏะ ปริยัติในที่นี้ก็คือ การเรียนรู้วิธีการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางแห่งอานาปานสติ แนวทางแห่งสติปัฏฐาน แนวทางแห่งตจปัญจกกัมมัฏฐาน

แต่เมื่อว่าโดยรวมแล้วไม่ว่าแนวไหนก็ตาม พอเข้าถึงขั้นตอนที่ ๒ แล้วก็เข้าสู่กระบวนการเดียวกันทั้งสิ้น นั่นคือ กระบวนการขั้นปฏิบัติ กระบวนการขั้นนี้เป็นกระบวนการที่ไม่เหลือพื้นที่ให้ความคิดได้ทำงานอีกต่อไป เพราะเป็นขั้นของการมีสติอยู่กับเครื่องมือที่ได้ศึกษามานั่นเอง การปฏิบัติเปรียบเหมือนการได้เคี้ยวอาหารอยู่ในปาก เคี้ยวให้ละเอียด รู้สึกถึงรสอาหารที่เคี้ยวอยู่ ไม่ว่าจิตจะปรุงแต่งไปอย่างไร แต่ความจริงก็คือ การเคี้ยวอาหารอยู่อย่างนั้น จิตที่ปรุงแต่งให้อาหารเลิศรสอย่างไรก็ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น รังแต่จะทำให้การทานอาหารเป็นแต่เพียงทานในความฝัน เพราะการฝันก็เป็นกระบวนการคิดอย่างหนึ่งของจิตที่อยู่ภายใน

ดังนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรมทั้งหลายจึงพิจารณาคำข้าวที่เคี้ยวอยู่นั้น เพื่อให้เป็นการทานอาหารที่แท้จริง ไม่ใช่ทานแต่ในเพียงความฝัน ถึงแม้จะเป็นการทานจริงก็เถอะ แต่ถ้าไม่มีสติในการทานอาหาร การทานนั้นก็เป็นแต่เพียงการทานในความฝันเท่านั้น การเคี้ยวอาหาร การรับทราบรสอาหาร จนกระทั่งการกลืนลงคอไป อาหารได้รับการย่อยสลายกลายเป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตกายนี้อย่างไร การปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรมเจริญภาวนาก็เป็นอย่างนั้น เป็นขั้นของประสบการณ์ เป็นขั้นของการรู้เคี้ยว รู้รส รู้กลืน ไม่หลงเหลือให้จิตได้คิดอะไรกับกระบวนการเหล่านี้เลย

หากว่า คิดในสิ่งที่เคี้ยวอยู่ในปากนั้น ก็เท่ากับว่า การทานอาหารนั้นเป็นการทานในความฝันเท่านั้น เนื่องจากผู้เคี้ยวไม่ได้ทราบว่าตนเองทำอะไรลงไป การเคี้ยวเป็นแต่การเคี้ยวในความฝัน ฝันว่าได้เคี้ยว ฝันว่าได้ทาน ฝันว่าอร่อย นั่นไม่ใช่การทานอาหารที่แท้จริง แม้แต่จะเป็นการทานอาหารจริงๆ ก็ตาม ก็ฝันที่มีอยู่นั้นก็เป็นจริง ก็เพราะเป็นฝันของผู้ฝันนั่นแหละ ใครจะปฏิเสธว่าฝันไม่มีอยู่จริง ก็จิตที่คิดไปก็เป็นความฝันแล้ว ด้วยเหตุนี้โลกนี้ทั้งโลกจึงมีแต่คนหลับฝันอยู่เท่านั้น จะมีสักกี่คนที่ตื่นจากฝันนั้นขึ้นมา ประสบการณ์เฉพาะตนที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น การมีสติอยู่กับกระบวนการปฏิบัตินั้นเท่านั้นจึงเรียกว่า ประสบการณ์ จึงเรียกว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ”

ผู้ปฏิบัติย่อมรู้แจ้งเห็นจริงได้เฉพาะตน ประสบการณ์ที่ใครต่อใครพูดกันว่า “มีประสบการณ์มากี่ปี มีประสบการณ์ชีวิต” นั่นล้วนแต่เป็นความฝันที่เคยฝันไปเท่านั้น ไหนเลยเรียกว่า “ประสบการณ์ได้” เพราะประสบการณ์นั้นไม่มีในความคิด ไม่ใช่สิ่งที่คาดคะเน ไม่ใช่สิ่งหลับฝันไปแล้วบอกว่า เป็นประสบการณ์ ประสบการณ์ในฝันไม่ใช่ประสบการณ์จริง แม้ว่าจะฝันจริงๆ แม้ว่า จะเคยทำสิ่งนั้นจริงๆ แม้ว่าจะมีอายุผ่านร้อนหนาว หลายกาลฝนมาแล้วนานนับหกสิบปี หรือจะมากกว่านั้นก็ตาม ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นผู้มีประสบการณ์อะไรเลย จะกล่าวได้แต่เพียงว่า “เป็นประสบการณ์ฝันมาแล้วหกสิบปี” ก็พอกล่าวได้

โศลกว่า “ทั้งปฏิบัติและปฏิเวธ ล้วนเป็นประสบการณ์ทั้งสิ้น”

ประสบการณ์เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ มีแต่ผู้ตื่นแล้วเท่านั้นจึงจะเรียกว่า “มีประสบการณ์” คำๆ นี้ถูกนำมาใช้ในภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษว่า “Experience” ในความหมายว่า เคยเจออะไรมา เคยทำอะไรมา เคยมาแล้วนานเท่านั้นปี เท่านี้เดือน ก็เรียกผู้เคยผ่านสิ่งเหล่านั้นมาว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ ควรจะกล่าวว่า ฝันว่าเคยได้ทำในเรื่องนั้นๆ มานานเท่าใดมากกว่า ฝันเสียจนเข้าใจว่า สิ่งที่ตนเองฝันไปนั่นแหละเป็นจริง จากนั้นก็นำความฝันมาเล่าให้กันและกันฟังว่าเคยทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มา แล้วก็นำความฝันมาเทียบกันว่า ฉันฝันนานกว่า เพราะมีประสบการณ์ฝันนับสิบปี ประสบการณ์เป็นขั้นของการปฏิบัติ การปฏิบัติเป็นเรื่องของผู้ตื่นอยู่เท่านั้น ผู้ตื่นอยู่คือ ผู้มีสติเท่านั้น

คำว่า “ผู้ตื่น” ไม่ได้หมายถึง ผู้ที่นอนตื่นตอนเช้า นอนหลับตอนค่ำ แต่หมายถึง ผู้ตื่นจากความฝันที่เป็นกันอยู่เท่านั้น ตื่นจากการถูกความคิดปรุงแต่ง ผู้ที่ตื่นอยู่คือผู้ที่อยู่ในระดับของการเข้าถึงความว่าง พ้นจากระดับกายภาพ พ้นจากระดับจิตภาพ พ้นจากระดับของอารมณ์ แต่เข้าถึงระดับของความเป็นจริงที่แท้เท่านั้นจึงจะชื่อว่า “ตื่นอยู่”

โศลกว่า “ความคิดอยู่ไม่ได้ในปัจจุบัน สติในการปฏิบัติเป็นปัจจุบัน”

พึงศึกษาพระพุทธศาสนาเสียใหม่ การศึกษาพระพุทธศาสนาที่เป็นมานานแล้วหยุดอยู่แค่การรู้ระดับได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง (สุตะ) เสียส่วนมาก นี่เป็นความรู้ในระดับกายภาพ เป็นเพียงข้อมูลในระดับปรากฏการณ์ สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ได้ยิน ได้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอกสาร ตำรับ ตำรา เทศนา บรรยายธรรม ไม่ได้มีอะไรมากมาย เป็นแต่คนที่ฝันมาเล่าความฝันให้คนที่กำลังฝันได้ฟังเท่านั้น เป็นผู้เล่าความฝันได้อย่างน่าฟังเท่านั้น ผู้ฟังก็เคลิบเคลิ้ม ผู้เล่าก็ภูมิใจที่เล่าความฝันได้อย่างไม่ติดขัด ไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ทำให้ตื่นขึ้น ยิ่งกล่อมทำให้ผู้ฟังหลับลึกลงไปมากยิ่งขึ้นเท่านั้น จะดีขึ้นบ้างก็ผู้รู้จักคิด ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง จนเกิดเป็นความรู้ขึ้นมาเพิ่มเติมจากข้อมูลที่ได้รับ (จินตะ)

พระพุทธศาสนาในระดับนี้เป็นระดับจินตภาพ ก็เป็นเพียงการจมอยู่กับความคิด เป็นความฝันที่ชัดเจนขึ้น เพราะฝันเป็นจริงเป็นจัง ฝันจนรู้วิธีการในฝันได้ นักปรัชญาเมธีทั้งหลาย นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายก็อาศัยความฝันระดับนี้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาให้โลกได้ชื่นชม บ่งบอกถึงความเป็นผู้ฉลาด สามารถ เป็นแต่ผู้ที่ใช้ความฝันให้เป็นประโยชน์สำหรับคนที่ฝันเท่านั้นเอง การศึกษาพระพุทธศาสนาระดับนี้ก็ไม่ใช่การศึกษาของพระพุทธศาสนา

 เพราะการศึกษาอย่างนี้เขาทำกันมานานแล้ว ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการใช้จิตตาภินิหารแสดงให้ผู้คนทั้งหลายได้ชมเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงภายใน มีนวัตกรรมเกิดขึ้นประดับโลกเพิ่มเติม ยังเป็นเรื่องของผู้หลับอยู่นั่นเอง การศึกษาพระพุทธศาสนานั้นมีเพื่อให้สติดำรงอยู่ทุกขณะ อาการกิริยา มีเพื่อฝึกสติให้มากขึ้นที่เรียกว่า ระดับภาวนา ภาวนาแปลว่า เจริญ กระทำให้มาก กล่าวคือ การทำสติให้มาก หลักธรรมทั้งหลายที่มีอยู่นั้นสรุปลงที่สติเท่านั้น การมีสติคือจุดหมายปลายทางของการศึกษาในพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น เรื่องอื่น สิ่งอื่นนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์ให้ปฏิบัติเพื่อให้มีสติเท่านั้น พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการปลุกให้ทุกคนตื่นจากการหลับใหล

ด้วยเหตุนี้ คำว่า “พุทธะ” คือ “ผู้ตื่น” พระอริยะทั้งหลายคือผู้ตื่นแล้ว พระอริยะทั้งหลายคือผู้มีสติ ผู้มีสติคือผู้อยู่ในปัจจุบัน ผู้อยู่ในปัจจุบันจะไม่มีอัตตาใดหลงเหลืออยู่ เพราะปัจจุบันขณะนั้นคือ ความว่าง ความว่างเป็นปัจจุบันขณะ ปัจจุบันนั้นไม่มีกาลเวลา ผู้อยู่ในปัจจุบันขณะ คือผู้มีสติอยู่ ผู้มีสติอยู่จะไม่มีอัตตาดำรงอยู่ ผู้ไม่มีอัตตาอยู่มัจจุราชจะเห็นได้อย่างไรเล่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน นิพเพธิกสูตร พระสูตรว่าด้วยเรื่องของการสลายกิเลสไว้ตอนหนึ่งว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม เราอาศัยอะไรกล่าว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม ก็ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน คือ กรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี ที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี ที่ให้วิบากในมนุษย์โลกก็มี ที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี

ก็วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน คือ ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัดกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลส เป็นที่ดับกรรมนี้”

จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นไม่ได้สอนสิ่งอื่นใดที่จะทำให้เข้าใจเรื่องข้อมูล ความคิด หรือความรู้สึกใดๆ แต่มุ่งเน้นให้ปฏิบัติในอริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นความสมบูรณ์พร้อมแห่งทางปฏิบัติที่จะทำให้มีสติอยู่ เป็นการอยู่ในปัจจุบัน เป็นการพ้นจากกรรม คือ ความคิดได้ ขออย่าได้นำอริยมรรคมีองค์ ๘ ไปอธิบายหรือบรรยายให้อยู่ในระดับข้อมูลความรู้ หรือความคิดเด็ดขาด เพื่อเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ยังไม่พ้นจากกรรม อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางปฏิบัติให้พ้นจากกรรม เมื่อพ้นจากกรรม คือ ความคิดได้ ก็ชื่อว่า “ตื่นแล้ว” ไม่ใช่ผู้หลับฝันอีกต่อไป

 นี่คือ โศลกที่สามสิบหกแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555




โศลกที่สามสิบห้า "บูรณาการแห่งธรรม"

ในอานาปานสติทั้งสี่มิติ
เข้าถึงลมหายใจขั้นที่สาม-สี่
เข้าถึงความรู้สึกขั้นที่สาม-สี่
เข้าถึงจิตสภาวะขั้นที่สาม-สี่
เป็นความสงบเย็นกายสังขาร
เป็นความสงบเย็นจิตสังขาร
เป็นการทำจิตสภาวะให้ตั้งมั่น
ก็ถึงช่วงเวลาเดินวิปัสสนา
ใช้ธรรมสี่มิติเข้าบูรณาการ
สติย่อมมีพลังในการเดินวิปัสสนา
เห็นแจ้งอนิจจตาในกายเวทนาจิต
คลายความหลงใหลในกายเวทนาจิต
สิ้นความยึดมั่นกายเวทนาและจิต
ปล่อยวางกาย เวทนา และจิตไปตามธรรมชาติ
นี่เป็นแนวทางเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรม
นี่เป็นบูรณาการแห่งธรรมในอานาปานสติ





“บูรณาการ” คำๆ นี้กำลังได้รับการความสนใจในหลายๆ วงการ โดยเฉพาะวงการศึกษาได้ใช้คำนี้มาสักระยะหนึ่งแล้วและความเห่อนั้นกำลังจะหายไป แต่ไม่ว่าจะหายไปหรือไม่อย่างไร บูรณาการก็เป็นวิธีการที่เหมาะสมกับทุกศาสตร์ ศัพท์ว่า บูรณาการ (integration) คือ การทำให้สมบูรณ์ กล่าวให้ชัดคือ การนำองค์ประกอบหนึ่งไปรวมกับองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ หรือการมองทั้งระบบที่โยงใยสัมพัทธ์และสัมพันธ์กันแล้วจัดการให้สมบูรณ์ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดตามเป้าหมาย ไม่ได้หมายถึงนำหนึ่งบวกสอง บวกสาม แต่อาจหมายถึงหนึ่งบวกสี่ สองบวกสามหรือกระทำอื่นใดก็ได้ในระบบนั้นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ เพียงแต่ต้องเป็นไปอย่างมีระบบ ไม่ใช่ทำอย่างสะเปะสะปะ ความสมบูรณ์ที่เป็นบูรณาการนั้นมีปรากฏอยู่แล้วเพียงแต่ไม่ได้นำมาศึกษา เช่น บูรณาการของอาหาร บูรณาการของวงดนตรี การบูรณาการของยา การบูรณาการของไอแพท-ไอโฟน เป็นต้น ระบบต่างๆ ที่กำหนดไว้สามารถเชื่อมโยงกันทุกจุดขององค์ประกอบเพื่อประมวลผลออกมาอย่างสมบูรณ์



การบูรณาการนั้นมีความสำคัญอยู่ที่การเข้าใจหน้าที่ของตนๆ ยกตัวอย่างเรื่องดนตรี ดนตรีตัวไหนเป็นตัวนำจังหวะ ตัวไหนเป็นตัวทำนอง ตัวไหนเป็นตัวเคล้าตัวโน๊ต การทำหน้าที่ของแต่ละดนตรีนั้นผู้ทำดนตรีต้องทราบว่า จะให้ทำหน้าที่ตอนไหน เครื่องดนตรีตัวไหนเล่นกับตัวไหน ตัวไหนหยุดในขณะไหน ตอนไหนเล่นร่วมกันทั้งหมด ทุกอย่างมีระบบเพื่อความไพเราะของดนตรี มีทั้งเล่นเอง เล่นกับพวก มีทั้งหยุด มีทั้งส่ง มีทั้งรับ เป็นต้น



ระบบบูรณาการที่สุดมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบบูรณาการของร่างกายนี่เอง จะเห็นได้จากการทำงานของอวัยวะแต่ละส่วนนั้นทำงานประสานกันได้อย่างเป็นระบบ เรียกว่าบูรณาการกันอย่างลงตัว หากมีส่วนไหนบกพร่องก็จะเกิดอาการติดขัดทันที ที่เรียกว่า “ป่วย” “ไม่สบาย” เป็นการฟ้องว่า มีอวัยวะบางชิ้นส่วนไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ทำงานไม่สมบูรณ์ หรือทำงานบกพร่อง ต้องได้รับการดูแล ต้องได้รับการซ่อมแซมบำรุงให้เป็นปกติ ระบบกายก็มีองค์ประกอบของกาย ระบบจิตก็มีองค์ประกอบของจิต เมื่อพิจารณาการบูรณาการของทั้ง ๒ ระบบนี้ภายใต้ระบบใหญ่ที่เรียกว่า “ระบบสากล”(Holistic System)






กายตกอยู่ภายใต้กฎอุตุ (Physical Law) และพีชะนิยาม (Bio-Physical Law) จิตตกอยู่ภายใต้กฎจิต (Psychic Law) และกรรมนิยาม (Karmic Law) แต่ทั้งกายและจิตนั้นตกอยู่ภายใต้กฎธรรมนิยาม (Universal Law) นิยามทั้ง ๕ นั้นก็ทำงานสัมพัทธ์กันเป็นบูรณาการผลักดันให้ขันธ์นี้ดำเนินไป หมุนวนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าหากไม่รู้จักวิธีดับกระแสระบบนี้ ก็ไม่มีทางเลยที่จะหยุดยั้งการหมุนวนแห่งขันธ์นี้ได้ ความเป็นระบบเป็นสิ่งที่วิเศษ ถ้าเข้าใจระบบการทำงานของแต่ละส่วนได้ ก็จะสามารถเข้าไปจัดการกับระบบนั้นได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะทำให้ระบบทำงานดีขึ้นหรือทำให้ระบบหยุดทำงานลง แต่ถ้าหากไม่เข้าใจระบบ การกระทำต่อระบบก็จะผิดพลาด แทนที่จะทำให้ระบบเดินไปด้วยดี แต่กลับแทรกแซงและทำลายระบบอย่างไม่ถูกวิธี ด้วยคิดว่า จะหยุดยั้งระบบนั้นได้ ผลก็คือกลับยิ่งทำให้ระบบยิ่งหมุนไว ซับซ้อน ยิ่งทำยิ่งห่างไกลจากการหยุดระบบยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับคนผิดหวังแล้วฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็ฆ่าคนที่ทำให้ตนผิดหวัง ด้วยคาดหวังว่าจะหยุดระบบ แต่หารู้ไม่ว่านั่นแหละเป็นการกระทำต่อระบบที่ผิด ระบบจะยิ่งซับซ้อนตามพลังแรงกรรมที่ทำให้ระบบหมุนมากขึ้น


โศลกว่า “ก็ถึงช่วงเวลาเดินวิปัสสนา ใช้ธรรมสี่มิติเข้าบูรณาการ”


ก่อนอื่นให้ทราบระบบของกายและจิตให้สมบูรณ์ก่อน กายเป็นเรื่องของรูป (Material Qualities) ระบบของรูปต้องได้รับสารอาหารหล่อเลี้ยง ต้องได้รับการดูแลจากดินฟ้าอากาศหรือจากโรคภัยไข้เจ็บที่มีผลต่อรูป รูปซึ่งมีฐานอยู่ ๔ ส่วน ได้แก่




๑. ส่วนประกอบที่เป็นของแข็ง ไม่ว่าจะเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น
๒. ส่วนประกอบที่เป็นของเหลว ไม่ว่าจะเป็น ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ น้ำลาย เป็นต้น
๓. ส่วนประกอบที่เป็นอุณหภูมิ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ทำให้ร่างกายแก่ชรา ทำให้เป็นไข้ ทำให้อาหารย่อย เป็นต้น
๔. ส่วนประกอบที่เป็นอากาศ ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ ลมในท้อง ลมในไส้ การหาว เรอ ผายลม ลมทั่วร่างที่ทำให้ร่างกายไหวไปมาได้ เป็นต้น




ส่วนประกอบทั้ง ๔ นี้เป็นฐานของกาย ซึ่งต้องได้รับการดูแลให้มีความเป็นปกติ ในแต่ละฐาน ไม่ให้มาก ไม่ให้น้อย ไม่ให้ได้รับความเสียหาย และต้องบำรุงด้วยสารอาหารให้เพื่อให้ส่วนประกอบทั้ง ๔ นี้ ทำงานไปได้ตามปกติ นอกจากนั้นฐานของรูปกายทั้ง ๔ นี้ ยังเป็นที่ประกอบของรูปอื่นๆ อีก ๒๔ ประเภทซึ่งไม่จำเป็นต้องแสดงไว้ในที่นี้


ส่วนของจิต (Psychic Qualities) ส่วนนี้ก็ต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกับทางกาย อันได้แก่ ดูแลช่องทางรับสารอาหารให้ดี ซึ่งมีทางถึง ๓ ทาง ไม่ให้สูญเสียสภาพ ฐานของจิตมี ๒ ฐาน ได้แก่


๑. ส่วนประกอบที่เป็นสภาพของจิตเอง แยกย่อยออกได้ถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ลักษณะ แต่รวมแล้วก็คือ สภาพที่รู้อารมณ์ เห็น ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัส รู้สึกนึกคิด
๒. ส่วนส่วนที่ประกอบกับจิตนี้ แยกย่อยออกได้ถึง ๕๒ ลักษณะ แต่รวมแล้วก็คือ ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ รัก โลภ โกรธ หลง เมตตา ดีใจ หดหู่ เบิกบาน เป็นต้น ปรุงแต่งจิตไปเพื่อให้เกิดการกระทำออกมา


ในขณะเดียวกัน จิตนั้นก็มีระบบการทำงานของตนเอง เรียกว่า จิตวิถี หรือระบบการทำงานของจิต ๑๗ ขั้นตอน รวมแล้ว มีขั้นตอนรักษาภพ ขั้นตอนรับรู้อารมณ์ภายใน ภายนอก รับทราบอารมณ์ เสพอารมณ์ และก็ส่งอารมณ์ไปเก็บไว้


การที่กายสัมพันธ์กับการทำงานของจิตอย่างเป็นระบบเช่นนี้จึงต้องย้อนไปดูระบบปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลที่ปรากฏ การนำผลที่ปรากฏนั้นไปทำปฏิกิริยาทางจิตเคมีให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอีกที นี่คือ การศึกษาระบบการทำงานของกายและจิต จุดที่สำคัญในโศลกนี้อยู่ที่ว่า เมื่อทราบขั้นตอนการทำงานของกายและจิตแล้ว ก็ใช้ระบบแห่งกรรม ซึ่งมีกฎอยู่ที่ว่า เหตุ=ผล ใส่อะไรเข้าไป ผลก็ออกมาเช่นนั้น ใส่เข้าไปในไหน ก็ป้อนเข้าไปให้เป็นอาหารของจิต ให้จิตได้เสพสิ่งนั้น


ในที่นี้ก็คือ เมื่อบำเพ็ญเพียรสมณธรรมเจริญสติภาวนา ปัจจัยนำเข้าได้แก่ ลมหายใจ ความรู้สึก สภาวจิต เป็นตัวป้อนเข้าสู่ระบบ ระบบทำงานได้แก่ สติที่พิจารณาเห็นปัจจัยนำเข้าเหล่านี้ตลอดสาย ผลที่เปลี่ยนแปลงก็เกิด ได้แก่ ความเย็นกาย ความเย็นจิต ความตั้งมั่นของจิต การกำหนดจิตให้เสพลมหายใจ ความรู้สึก และสภาวะจิตเอง จนกระทั่งเข้าสู่ระดับที่สาม ที่สี่ ของทุกปัจจัยนำเข้า การหายใจก็จะหายไป เหลือแต่ลมที่เข้าออกระหว่างภายในกับภายนอก ร่างกายก็จะหายไปเหลือแต่ธาตุที่ผสมผสานกันของธาตุทั้ง ๔ ปีติสุขก็หายไป เหลือแต่ความเย็นแห่งจิต สภาวะจิตที่เสพตัวมันเองอยู่หายไป เหลือแต่ความตั้งมั่นและความเป็นจิตสลายไปเหลือแต่ความว่าง ขณะนี้ชื่อว่า ผลปรากฏแล้ว เมื่อนั้นก็ใช้ผลที่ปรากฏนี้เป็นตัวผลักดันให้จิตทำงานโดยมีสติเป็นตัวควบคุมอยู่ตลอด



ในขณะนี้แหละที่เหมาะแก่การต้องใช้ระบบบูรณาการแห่งธรรม ๔ มิติ ให้เหมาะสม คือการบูรณาการความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของกาย เวทนา และจิต (อนิจจตา) บูรณาการความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นถือมั่นใน กาย เวทนา จิต และแม้กระทั่งธรรมที่เป็นตัวพิจารณาเอง (วิราคา) บูรณาการการไร้ที่ตั้งแห่งกาย เวทนา และจิต (นิโรธา) และบูรณาการการปล่อยวางไว้อย่างนั้น (ปฏินิสสัคคา) เมื่อบูรณาการธรรมทั้งสี่มิติด้วยสติอันคมกล้า สติอันเข้มแข็ง สติที่เต็มเปี่ยม อินทรีย์ทุกส่วนก็เต็มเปี่ยมแก่กล้ากลายเป็นกำลัง (พละ) ที่สมบูรณ์


โศลกว่า “เห็นแจ้งอนิจจตาในกายเวทนาจิต คลายความหลงใหลในกายเวทนาจิต”


เมื่อบูรณาการธรรมทั้งสี่มิติเข้าไปในกระบวนการเช่นนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมเห็นแจ้งด้วยญาณทัสสนะซึ่งความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปร ความไม่มีแก่นอัตตาในกาย เวทนา และจิต เมื่อเห็นแจ้งเช่นนี้ก็ย่อมเห็นภัยที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในกาย เวทนา และจิตนั้น เมื่อเห็นแจ้งด้วยปัญญาญาณเช่นนี้ก็ย่อมคลายความหลงใหลในกาย เวทนา และจิตนั้นเสียได้ เมื่อคลายออกจนสุด คลายออกจนไม่เหลือ ถอนความยึดมั่นจนหมดสิ้นแล้ว ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญาซึ่งความดับไม่เหลือของกาย เวทนา และจิตนั้น ปัญญาเกิดแล้ว วิชชาเกิดแล้ว ญาณเกิดแล้ว ความสว่างเกิดแล้ว จากนั้นก็ปล่อยให้สรรพสิ่งเคลื่อนไหวไปอย่างธรรมชาติ ปล่อยวางกาย เวทนา จิต และธรรมไปตามธรรมชาติอยู่เช่นนั้น



พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปัตตนมฤคทายวันว่า


ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา... เวทนาเป็นอนัตตา... สัญญาเป็นอนัตตา... สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา ถ้าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อม ไม่ได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย


(ก็ในเมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ...เธอทั้งหลายพึงพิจารณารูป เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา


ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟัง ได้พิจารณาอยู่อย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัดจิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นก็ทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


การมีสติที่ดิ่งลงในการพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมเช่นนี้ ก็ย่อมเข้าถึงการหลุดพ้นจากสิ่งร้อยรัดทั้งหลาย การบูรณาการแห่งธรรมนี้เป็นสิ่งสูงสุดในการหลุดออกจากวัฏฏะได้


นี่คือ โศลกที่สามสิบห้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา



วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ข้ามไปอีกขั้น












โศลกที่สามสิบสี่ "ข้ามไปอีกขั้น"

ความสำเร็จทุกอย่าง
มีจุดเริ่มต้น มีด่านทดสอบ
การบำเพ็ญเพียรสมณธรรมก็เช่นกัน
สิ่งแรกสุดคือ ระยะเวลา
เวลาแห่งการปฏิบัติเป็นด่านทดสอบ
หนึ่งชั่วโมงก็เป็นระยะเวลา
ที่จะพิสูจน์ความสำเร็จขั้นต้น
ผ่านด่านเวทนากล้าก่อน
ผ่านด่านเรียกความฟิตให้ได้ก่อน
ผู้บำเพ็ญเพียรผ่านสองชั่วโมง
จึงทะลุด่านทดสอบแรกไปได้
สาระสำคัญอยู่ที่บำเพ็ญอะไร
ไม่ใช่นั่งแล้วเพื่อให้ได้อะไร
การบำเพ็ญจิตภาวนา
เท่ากับเจริญสติให้มากยิ่งขึ้น
บำเพ็ญสมณธรรมมีเท่านี้




เวลาเป็นสิ่งหนึ่งที่ยังความฉงนสนเท่ต่อมนุษย์ทั้งหลาย ต่างพากันตั้งคำถามว่า แท้จริงเวลามีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามี แล้วเวลาเป็นอะไร และเวลาจะมีวันหมดไปหรือไม่ นักปราชญ์ราชบัณฑิตต่างพากันแสวงหาคำตอบกันอย่างมาก และก็ได้คำตอบแบบหลากหลาย กล่าวตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน บอกแต่คำนิยามของเวลาว่า "ชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ โดยนิยมกำหนดขึ้นเป็นครู่ คราว วัน เดือน ปี เป็นต้น" ซึ่งก็ไม่ได้บอกอะไรมากเกี่ยวกับตัวเวลา แต่บอกอาการที่เวลาแสดงออก

นักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์ให้ความคิดเกี่ยวกับเวลาว่า เวลามีความสัมพัทธกับความเร็วแสง หากแสงเดินทางช้าลงก็จะไปดึงเวลาให้เดินเร็วขึ้น เพื่อชดเชยกับความเร็วแสงที่สูญเสียไป ทำให้แสงเดินทางด้วยความเร็วคงที่อยู่ตลอดเวลา โดยปัจจัยที่ทำให้แสงเดินทางช้าลง เช่น แรงโน้มถ่วง กล่าวคือ ในที่ๆ ไม่มีแรงโน้มถ่วงเวลาจะเดินเร็วกว่าในที่ที่มีแรงโน้มถ่วง มุมมองนี้ก็เป็นมุมมองที่แสดงถึงกาลอวกาศ สสาร พลังงานที่ทำหน้าที่แสดงออกมาเป็นลักษณะเวลา แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า เวลาคืออะไรกันแน่ เวลาตั้งอยู่อย่างไร เวลาเป็นสสารหรือพลังงาน หรือเวลาไม่ใช่ทั้งสสารและพลังงาน แต่เป็นอีกมิติหนึ่งที่มนุษย์ยังไม่ทราบ ถ้าหากสามารถหยุดเวลาได้ก็สามารถหยุดสิ่งต่างๆ ได้หรือไม่

ในส่วนของพระพุทธศาสนา เวลาเป็นกฎแห่งไตรลักษณ์ที่เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ว่าอะไรก็ตามหากเกิดขึ้นก็ตกอยู่ภายใต้กฎนี้ทั้งนั้นจะเรียกว่า เวลาหรือกาล หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อมีเกิดขึ้น มีดำรงอยู่และก็จะดับไป เวลาก็คือช่วงของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปนั้นเอง การเกิดขึ้นนับจากเวลานั้นไปก็จะกลายเป็นอดีต ขณะที่ดำรงอยู่ก็เป็นปัจจุบัน การจะดับไปในกาลข้างหน้าก็เป็นอนาคต และก็จะหมุนเวียนอย่างนี้ไปไม่มีวันจบสิ้น จึงเรียกว่า “สังสารวัฏ”



พระพุทธศาสนาเมื่อกล่าวถึงเรื่องเวลา ไม่ได้ให้ใส่ใจในความเป็นเวลาว่ามันจะเป็นอะไร ไม่ใช่หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องไปสนใจ ดังนั้นในคำถาม ๑๐ ประการที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ก็บวกเรื่องเวลาไว้แล้ว นั่นคือ สังสารวัฏ (โลก) มีที่สิ้นสุดหรือไม่ หรือว่า โลก (เวลา สังสารวัฏ) ไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาเหล่านี้จัดเป็นอัพยากตปัญหา พระพุทธเจ้าไม่ใช่ไม่แสดงเรื่องนี้ไว้ แต่ไม่ทรงตอบกับใครๆ ที่เข้ามาถามเพื่ออยากรู้

ดุจดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอุปมาไว้ว่า หากมีชายคนหนึ่งถูกลูกศรยิงเข้าทรวงอก เมื่อมีหมอมารักษา เขากับตั้งคำถามมากมายว่า ลูกศรยิงมาจากทางไหน ทำด้วยอะไร ใครยิง ฯลฯ ถ้ายังไม่รู้คำตอบก็ยังไม่ให้รักษา ชายผู้นี้จัดเป็นคนโง่หรือฉลาด พระพุทธเจ้าทรงเป็นนายแพทย์ผู้รักษาโรคทุกข์ของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนที่ยังไม่หลุดพ้นต่างจมอยู่ในทะเลทุกข์ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงมาช่วย แต่มนุษย์ทั้งหลายพยายามไม่ให้พระองค์ช่วย กลับพากันตั้งคำถามต่างๆ นานา เพราะแม้รู้ไปก็หาได้ช่วยเหลือให้พ้นจากทุกข์ไม่ ก็เพียงแค่ประดับความรู้เท่านั้น ไม่ได้ลดการเกิด ลดกิเลสลงแต่อย่างใด

ท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มองเรื่องเวลามี ๒ ลักษณะ คือ เวลาภายนอกและเวลาภายใน เวลาภายนอกนั้นได้แก่ สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมาแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนมนุษย์และสัตว์ก็ไหลไปตามกรรม หมุนเวียนตามกิเลส รับผลแห่งวิบาก จึงเป็นกิเลส กรรม วิบาก ในส่วนนี้ก็เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งที่มีการเกิดขึ้น ก็ต้องสลายไปตามกาล ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกหรือพิเศษอะไร ส่วนเวลาภายในก็คือความรู้สึกที่มีต่อเวลา หากมีความสุขมากก็อยากให้เวลานั้นอยู่ไปนานๆ หากมีความทุกข์ก็อยากให้เวลานั้นหมดไปเร็วๆ เป็นเรื่องของเวทนา ตัณหาและอุปาทาน คือความรู้สึก ความอยากและความยึด

เมื่อพิจารณาจากมุมมองในพระพุทธศาสนาแล้วก็สามารถเห็นวิธีการหลุดพ้นจากกาลเวลาได้ อยู่เหนือกาลเวลาได้ ไม่จำกัดอยู่ในกาลเวลาได้ ตามทฤษฎีก็คือ หากไม่ต้องเกิดก็ไม่ต้องตั้งอยู่และดับไป หากไม่มีกรรม กิเลส และวิบาก ก็ไม่ต้องหมุนวนอยู่ในวัฏฏะ หากไม่มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็ไม่ต้องมีกาลเวลา กาลเวลามีเพราะมีเรา มีที่ตั้งแห่งเรา หากไม่มีเรา ไม่มีที่ตั้งแห่งเรา ก็ไม่มีเวลา ก็ในสังสารวัฏนี้มี ๓๑ ภูมิ หากไม่ตกอยู่ในขอบเขตนี้ก็ไร้กาลเวลา ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าแล้วจะทำอย่างไร นี่คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง นี่คือสิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความใส่ใจ นี่คือคำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนาเพื่อให้สรรพสัตว์พ้นจากทุกข์ หรือพ้นจากกาลเวลา เพราะกาลเวลาก็คือ ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปร ก็สิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ และสิ่งที่เป็นทุกข์นั้นเพราะเป็นอนัตตา

โศลกว่า “เวลาแห่งการปฏิบัติเป็นด่านทดสอบ หนึ่งชั่วโมงก็เป็นระยะเวลา”

การบำเพ็ญสมณธรรม เป็นการสงบเพื่อรอคอยอย่างอดทน เพื่อรอกาลเวลาเบ่งบาน ดุจดังการรอคอยการเบ่งบานของพืชพันธุ์ดอกไม้ที่มีต่อแสงอาทิตย์ หน้าที่ของดอกไม้ก็คือรอคอยด้วยความอดทน สงบอยู่ นิ่งอยู่ ว่างอยู่ ไม่แกว่งไกว สั่นไหว ด่วนบาน หากไม่มีความอดทน การเบ่งบานก็ไม่ปรากฏ ระยะเวลาแห่งการอดทนนั้นเป็นด่านทดสอบการปฏิบัติ คำว่า “ปฏิบัติ” ในที่นี้ก็คือการเจริญภาวนา การเจริญภาวนาก็คือ “การรักษาสติให้ต่อเนื่องตลอด” การทำให้สติเพิ่มพูนขึ้น เมื่อสติเพิ่มพูนขึ้นมากเท่าใด ความแจ่มชัดแห่งปัญญาก็จะเพิ่มพูนตามเมื่อนั้น

ในช่วงนี้เป็นระยะเวลาแห่งการใช้ความเพียร คือความอดทน หากไม่มีความอดทน สติก็ไม่เจริญ ปัญญาก็ไม่ปรากฏ ทุกอย่างต้องอาศัยเวลาแห่งการเบ่งบาน ดอกไม้ก็ต้องอาศัยเวลาเบ่งบาน การปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรมก็ต้องอาศัยเวลา ไม่อาจคาดคิดด่วนได้เป็นอันขาด เพราะการคาดคิดด่วนได้ทำให้พลาดโอกาสไปทันที หน้าที่ของการปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรมก็คือดำเนินต่อไป ส่วนปัญญาที่จะเบ่งบานนั้นเป็นเรื่องของความเต็มเปี่ยมแห่งอินทรีย์เอง


ความงดงามนั้นต้องอาศัยเวลาของมัน ระยะเวลาระหว่างเมล็ดไปเป็นดอกผลนั้นมีความละเอียดอ่อนมาก มีความซับซ้อนมาก ต้องรู้จักอดทนรอคอย หน้าที่รดน้ำเป็นของเรา หน้าที่ให้ดอกผลเป็นเรื่องของต้นไม้พืชพันธุ์ แต่จุดสำคัญอยู่ที่การรู้จักปลูกเมล็ดพืชพันธุ์ รู้จักรดน้ำให้ถูกเวลา รู้จักการใส่ปุ๋ยพรวนดิน รู้จักกำจัดวัชพืชที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต รู้จักระยะเวลาที่พืชพันธุ์จะให้ผล รู้จักเก็บเกี่ยวช่วงระยะเวลาที่พืชพันธุ์ให้ผล ไม่ใช่รอคอยอย่างเดียว ไม่ใช่อดทนอย่างเดียว ทุกอย่างต้องมีระบบและการบริหารจัดการที่ดีและถูกต้อง

ดุจดังระยะเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง เป็นระยะเวลาเริ่มแรกของการปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรม ระยะเวลาแห่งการเริ่มจนไปถึงกาลที่ผลจะปรากฏ หรือที่เรียกในภาษาธรรมว่า ในระยะปฏิบัติไปสู่ปฏิเวธนั้นมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน แน่นอนระยะเวลาที่ระบุไว้นั้นเป็นเรื่องไม่ใช่กฎเกณฑ์ตายตัวสำหรับทุกคน ทุกคนเป็นพืชพันธุ์ที่ต่างกัน บ้างใช้เวลามาก บ้างใช้เวลาน้อย แต่เพื่อให้เห็นเป็นแนวทางกลางๆ ในการพิสูจน์กระบวนการที่จะเกิดขึ้นตามมาสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติทุกคน นั่นก็คือ เวทนาอันเกิดจากความบีบคั้นทางร่างกายที่ต้องนั่งหรือเดินประมาณ ๑ ชั่วโมง

คำๆ หนึ่งที่มักได้ยินเป็นประจำในขณะที่จะต้องรับมือกับเวทนานี้ก็คือ “ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม” เนื่องจากเวทนาอันเกิดจากแรงบีบคั้นนี้กำลังเป็นขั้นตอนเปลี่ยนถ่ายระดับ พิจารณาดูขั้นตอนการทำอะไรทุกอย่างจะมีจุดเปลี่ยนอยู่ช่วงหนึ่ง จุดเปลี่ยนตรงนี้สำคัญมาก ถ้าหากผ่านจุดเปลี่ยนตรงนี้ไปได้ก็จะขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่งทันที ซึ่งจะรู้สึกง่ายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างการยกตัวของเครื่องบินที่กำลังบินขึ้น ช่วงของการบินขึ้นและช่วงของการไต่ระดับขึ้นไปนั้นต้องใช้กำลังอย่างมาก จุดที่กำลังจะขี่จักรยานเป็นนั้นก็เช่นกันต้องใช้พลังอย่างมาก แต่เมื่อผ่านจุดผันผวนตรงนี้ไปก็จะผ่านด่านทดสอบความตั้งใจ

โศลกว่า “ผู้บำเพ็ญเพียรผ่านสองชั่วโมง จึงทะลุด่านทดสอบแรกไปได้”

ความอดทนที่เป็นความเพียรต่อการบำเพ็ญนั้นมีสองด้าน ถ้าอดทนมากก็จะเป็นความกดดัน เป็นความเครียด เป็นการบีบคั้น แต่ถ้าไม่อดทนก็ทำให้ล้มเลิกและเกิดอาการเกียจคร้าน ไม่ทำต่อไปอีก ดังนั้น ความอดทนพากเพียรนี้ต้องไปคู่กับความมุ่งมั่นแบบปล่อยวาง ผู้ปลูกต้องอดทน แต่เมล็ดพันธุ์ไม่ต้องใช้ความอดทน เมล็ดพันธุ์ต้องพร้อมที่จะเจริญเติบโต หากเมล็ดมีความอดทนก็จะเติบโตยากหรืออาจจะเหี่ยวแห้งตาย จิตวิญญาณที่มุ่งต่อปัญญาที่เบ่งบานนั้นต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ชั่วระยะเวลาหลังจาก ๑ ชั่วโมงผ่านไป สิ่งที่สำคัญในขณะที่เวทนาบีบคั้นนี้เราตั้งหลักอย่างไร วางใจอย่างไร เพื่อจะให้ผ่านพ้นด่านทดสอบไปได้อย่างถูกต้องของการปลูกเมล็ดพันธุ์ทางปัญญาให้เบ่งบาน ความสัมพันธ์ระหว่าง กาย เวทนา จิต นั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกในการทำหน้าที่ประสานกัน เช่น เข่าอยู่ท่าเดียวนานๆ ก็จะเกิดอาการชาและปวด ความปวดเป็นเรื่องของเวทนา เมื่อเกิดเวทนาจิตก็รับรู้ส่งทอดกันไปเป็นหนึ่งเดียวสู่ศูนย์ประมวลผล แยกกันไม่ออก ความเจ็บปวดที่เกิดกับอวัยวะก็เกิดการรับรู้ว่า “เรานี่แหละปวด” นี่คือ ลักษณะทั่วไปของบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะผู้เริ่มปฏิบัติ

การที่มีคำว่า “เราเป็นผู้รับผลแห่งความเจ็บปวดนั้น” เกิดจากหลอมรวมกันของขันธ์ทั้ง ๕ เป็นหนึ่งเดียวอันเกิดอวิชชาให้ยึดในความเป็นขันธ์อยู่ เมื่อใดก็ตามมีสติเข้าไปกำหนดรู้กาย เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณได้ แยกแยะขันธ์ออกได้ เมื่อนั้นก็จะพบว่า ความเจ็บปวดนั้นเป็นเรื่องของเวทนา ไม่เกี่ยวกับอะไร เมื่อสติพิจารณาศึกษา (สิกขติในอานาปานสติ) ก็จะเห็นชัดถึงเวทนานั้นก็เป็นสักว่าเวทนาเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลไปไหน ไม่มีผู้รับผล ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการเข้าไปยึดว่า เวทนาเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา ทุกขันธ์มีแต่ความว่างเท่านั้น นี่แหละผู้ที่สามารถนั่งสมาธิได้เป็นวัน นั่งสมาธิได้หลายวัน ก็เพราะผู้ที่นั่งสมาธิได้ก้าวข้ามระดับการเริ่มต้นไปได้ จากนี้ไปก็ง่ายแล้วสำหรับจะทำงานทางจิตที่มั่นคง

โศลกว่า “การบำเพ็ญจิตภาวนา เท่ากับเจริญสติให้มากยิ่งขึ้น”

สติเป็นธรรมอันเอกที่สามารถแยกแยะสสารพลังงานให้ย่อยสลายไปได้ ไม่ให้เข้ามายึดความเป็นกลุ่มก้อนได้อีก เมื่อสติเข้มแข็งก็จะสว่างไสว สามารถกันและกั้นความมืดไม่ให้เข้ามาได้ ไม่ใช่เป็นการกำจัดความมืด แต่ความมืดเข้ามาไม่ได้ จุดนี้เองเป็นความมุ่งหมายสำคัญของธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ ไม่ว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างไร สุดท้ายก็เพื่อเป็นการเจริญต่อเนื่องแห่งสติทั้งสิ้น การเจริญสติเท่านั้นที่จะสามารถยับยั้งกาลเวลาได้ ยับยั้งไม่ให้จิตปรุงแต่งเป็นสังขารที่เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขารใดใดอีก

กาลเวลาสูญสิ้นไปในขณะที่หยุดการเคลื่อนไหวทางจิต เหลือแต่ความว่างที่ปรากฏอยู่เท่านั้น ไม่มีอดีต ไม่มีปัจจุบัน ไม่มีอนาคตหลงเหลืออยู่ให้ได้ตกอยู่ในวัฏฏะอีก เป็นแต่เพียงความว่างเช่นเดียวกับจักรวาล ไม่มีตัวตน ไม่มีของตน ไม่มีความเป็นตัวเป็นตนอีก การจะไม่มีสภาวะนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีสติอันสมบูรณ์เท่านั้น นี่คือ “พุทธศาสตร์” ศาสตร์แห่งการหลุดพ้นจากกาลเวลา เป็นอกาลิโก ไม่จำกัดกาล ไม่ตกในกาล หลุดพ้นจากวัฏฏะ หลุดพ้นจากการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปในภายใน การที่ร่างนี้จะดับสลายสูญสิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร เป็นปกติของธรรมชาติ แต่การที่ไม่ก่อเกิดร่างนี้ หรือขันธ์นี้ขึ้นมาอีกนี่เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญสูงสุด

คำถามว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชคือความตายจึงจะไม่แลเห็น คือ จักไม่ตามทัน พระเจ้าข้า” เป็นคำถามที่โมฆราชมาณพทูลถามพระพุทธเจ้า คำถามนี้หากแปลง่ายๆ ให้เข้าใจกันก็คือ “ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากความตาย”

พระบรมศาสดาตรัสพยากรณ์ว่า “ดูก่อน โมฆราช ท่านจงมีสติพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัว ของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล้ว มัจจุราชคือความตายจักแลไม่เห็น”

พระดำรัสนี้แสดงให้เห็นถึงการพ้นจากกาลเวลาที่ครอบคลุมสัตว์ทั้งหลาย กาลเวลาก็คือมัจจุราช ที่คร่า ฆ่าและกลืนกินสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้วๆ เล่าๆ การที่เข้าถึงความว่างด้วยการดำรงอยู่ด้วยสติอันสมบูรณ์ที่เกิดจากการบำเพ็ญเพียรเจริญภาวนาปฏิบัติสมณธรรมเท่านั้นเป็นทางอันเอกที่จะข้ามพ้นกาลเวลาและมัจจุราชได้อย่างสิ้นเชิง

นี่คือ โศลกที่สามสิบสี่แห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา